1

 

 

 

                                                       
คำถาม-คำตอบ ข้อ 2101-2150
2150.
เรียนอ.ดร.สนอง วรอุไร

รบกวนดร. ด้วยค่ะ

     สามีปฏิบัติธรรม แต่คงผิดทาง หมกมุ่นเกินไป อยากบรรลุ อยากเข้าใจธรรมเร็วๆ มากๆ ค้นหาอะไรมากมายตอนนี้เครียด และฟุ้งซ่าน เริ่มแยกไม่ได้ว่าอะไรจริง อะไรคือมายา เริ่มมีอาการแปลกๆ เช่น คิดว่าตัวเองเป็นพระเทวทัตบ้าง อะไรบ้าง

     ดิฉันไม่ทราบจะทำอย่างไร ให้ไปหาจิตแพทย์ หรือ พบผู้มีภูมิธรรม หรืออย่างไรดีคะ มืดจริงๆค่ะ เพื่อนทางธรรมคนหนึ่ง แนะนำ ให้ปรึกษาดร. ก่อนค่ะ

     รบกวนด้วยนะคะ / ขอบพระคุณดร. มากค่ะ

       สุภัทรา

คำตอบ
     ในครั้งพุทธกาล พระพุทธโคดมได้ตรัสกับหมู่ภิกษุที่อยู่แวดล้อมในทำนองที่ว่า
       - ภิกษุที่สนใจในฤทธิ์ ย่อมไปรวมกลุ่มอยู่กับท่านมหาโมคคัลลานะ

       - ภิกษุที่สนใจในปัญญา ย่อมไปรวมกลุ่มอยู่กับท่านสารีบุตร

       - ภิกษุที่สนใจในพระวินัย ย่อมไปรวมกลุ่มอยู่กับท่านอุบาลี

          ฯลฯ

     ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสามี ต้องทำให้สามีเกิดความศรัทธาในธรรมะที่ถูกตรงให้ได้ก่อน ด้วยการนำตัวเข้าใกล้แล้วสนทนาอยู่กับผู้มีความเห็นถูกตามธรรม เมื่อศรัทธาเกิดขึ้นแล้ว ปัญหาที่ถามไปจึงจะมีโอกาสหมดไปได้
  

2149.
กราบเรียนอาจารย์สนองที่เคารพ

     หนูมีปัญหาอยากขอความเห็นจากอาจารย์ดังนี้ค่ะ
หนูคิดอยากจะเปลี่ยนงาน สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะงานหนัก เยอะเกินไปที่จะสามารถทำอย่างมีความสุขได้ และส่วนใหญ่เป็นงานด่วน ต้องเร่งรีบอยู่ตลอดเวลา ที่ผ่านมาหนูพยายามดูและรู้ทันจิตตนเองว่ากำลังเครียด และไม่ชอบ พยายามกลับมาอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปอยู่ในความคิดนานๆ ก็จะผ่านมาได้ทุกครั้ง แต่ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา อยู่ๆจิตมันก็ตก รุนแรงกว่าครั้งอื่นๆ เจอปัญหาเข้าหน่อยก็ทุกข์ใจ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถ จิตไม่ค่อยมีสมาธิ จะนั่งภาวนานานๆเหมือนเมื่อก่อนก็ทำไม่ได้ หมดแรง จิตหนักๆ มีแรงแค้นๆ แน่นๆ กลางหน้าอก ถึงเวลาเลิกงานแล้วมันก็ยังเป็นอยู่ หนูคิดว่าที่มันเป็นรุนแรงขนาดนี้ เป็นเพราะกังวลเรื่องงานที่มีปัญหา จะไม่คิดถึงมันก็ไม่ได้เพราะต้องหาทางแก้ไขปัญหา และกังวลเรื่องจะเปลื่ยนงานใหม่ดีหรือไม่ เพราะหนูก็รู้ว่าความทุกข์เกิดที่ใจเราเองรับมาเครียดเอง (แต่หนูก็ห้ามมันไม่ได้) ไม่ได้เกิดจากงาน ถ้าใจยังไม่เปลี่ยนทำงานอะไรก็เป็นทุกข์อยู่ดี คำถามคือว่า

     หนูควรที่อดทนสู้กับกิเลสในใจทำงานที่เก่าไปเรื่อยๆ
รึว่าถอยมาตั้งหลักก่อนโดยการเปลื่ยนงานดีค่ะ เพราะอยู่ที่เดิมแล้วรู้สึกว่าชีวิตไม่มีความสุขเลยค่ะ
(งานเดิมหนูเป็นพนักงานบริษทค่ะ ถ้าเปลื่ยงงานหนูคิดว่าจะไปทำสวนผัก ผลไม้)
และหนูสงสัยว่าการภาวนาของหนูอาจจะผิด เพราะทำไมความทุกข์มันไม่ได้สั้นลง แถมยังเกิดบ่อยๆอีกด้วย

     ขอความกรุณาท่านอาจารย์ขอคำแนะนำด้วยค่ะ ขอบคุณพระคุณอย่างสูงค่ะ

คำตอบ
     พระพุทธโคดม มิได้ทรงแนะนำพุทธบริษัทให้หนีปัญหา แต่ให้อยู่กับปัญหา แล้วใช้ปัญญาแก้ไขจนกว่าปัญหาจะหมดไป ท่านเจ้าคุณโชดกได้กล่าวกับผู้ตอบปัญหาว่า “ จะหนีไปอยู่ที่ใด ก็หนีใจตัวเองไม่พ้น จงอยู่แล้วสู้สิ” คำกล่าวนี้เกิดขึ้นในครั้งที่ผู้ตอบปัญหาไปปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านเจ้าคุณฯ แล้วคิดจะหนีออกจาวัดมหาธาตุฯ

     งานหนักไม่เคยทำให้ใครตาย แต่งานหนักสอนคนให้เรียนรู้ สอนคนให้แกร่งด้วยประสบการณ์หากผ่านพ้นไปได้ นั่นคือต้องเอาชนะใจตนเองด้วยการประพฤติปฏิบัติดังนี้

     (๑) ต้องทำงานด้วยใจ ด้วยวิธีการอันเลิศโดยไม่หวังผลเลิศ

     (๒) ต้องใช้อิทธิบาท ๔ ( หัวใจแห่งความสำเร็จ ) เป็นเครื่องสนับสนุน คือทำงานด้วยใจรัก ( ฉันทะ ) ทำงานด้วยความพากเพียร ( วิริยะ ) ทำงานด้วยใจจดจ่อ ( จิตตะ ) และใช้ปัญญาไต่สวนงานที่ทำ ( วิมังสา )

     (๓) ต้องทำงานให้แล้วเสร็จทันเวลา ด้วยการเว้นอบายมุข

     (๔) ผลงานเข้าตา คือ เจ้านายพอใจ ผู้ใช้บริการพึงใจ เป็นที่เรียกหาเรียกใช้

     และ ( ๕ ) ทำงานเพื่องาน

     ผู้ตอบปัญหามีงานให้ทำตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๐๓ เรื่อยมาจนทุกวันนี้ ยังทำงานอยู่อย่างไม่มีวันจบสิ้น มิได้เคยคิดท้อแท้หรือคิดท้อถอยต่อปัญหาของงานแต่อย่างใด ยังต้องทำงานเรื่อยไปตราบยังมีลมหายใจเข้า - ออกจากร่างกายนี้ ทั้งนี้เป็นเพราะผู้ตอบปัญหาเอาชนะใจตนเองได้นั่นเอง

     ปัญหามีอยู่ว่า ผู้ถามปัญหาจะยอมแพ้ใจตัวเอง ( แพ้กิเลสที่มีอยู่ในใจตน ) หรือจะเอาชนะใจตัวเอง จงเลือกเอาตามที่ชอบๆเถิด
  

2148.
กราบเรียน อาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร

     ดิฉันได้ทำกรรมชั่ว มีจิตคิดอกุศล คิดริษยาและคิดฟุ้งซ่าน จึงมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานอยู่บ่อย ๆ และหลายเดือนก่อน เพื่อนร่วมงานของดิฉัน ได้ไปสอบถามเกี่ยวกับตัวดิฉันกับพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งท่านมีญาณสามารถรู้ความคิดของผู้อื่นได้ และได้กลับมาบอกเล่าเกี่ยวกับตัวดิฉันไปจนทั่วที่ทำงาน เมื่อดิฉันได้รู้จึงรู้สึกโกรธเพื่อนร่วมงานและพระอาจารย์ท่านนั้นมาก และยังได้กล่าวปรามาสท่านไว้อีกด้วย ช่วงนั้นดิฉันเป็นทุกข์มาก เพราะเดินไปไหนก็มีแต่คนมองด้วยสายตารังเกียจ จนคิดจะลาออกแต่หัวหน้ารั้งเอาไว้ไม่ยอมให้ออก ไม่รู้จะทำอย่างไรกับสถานการณ์แบบนี้ จนได้มีโอกาสฟังธรรมะบรรยายของท่านอาจารย์ ดร.สนอง เห็นธรรม เห็นอย่างไร จึงได้กลับมามองตัวเอง และคิดได้ว่าดิฉันควรยอมรับในความผิดของตัวดิฉันเอง และทุกคนเป็นเหมือนกระจกส่องให้เห็นความผิดพลาดในอดีต ซึ่งทำให้ดิฉันสำนึกผิดและกลับมาพัฒนาจิตของตัวเอง ด้วยการรักษาศีล สวดมนต์และนั่งสมาธิ ซึ่งสามารถช่วยให้จิตใจดิฉันไม่ฟุ้งซ่านและคิดร้ายกับผู้อื่นอีก

    ดิฉันจึงอยากจะเรียนถามอาจารย์ว่า

     ก่อนสวดมนต์และนั่งสมาธิ ดิฉันได้สวดบทขอขมากรรมแก่พระรัตนตรัยทุกครั้ง เพียงพอหรือไม่ค่ะที่จะขอขมากรรมต่อพระอาจารย์ท่านนั้น ถ้ายังไม่เพียงพออยากขอคำแนะนำจากอาจารย์ ดร.สนอง ด้วยค่ะ

     กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

คำตอบ
     ควรสวดมนต์บทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยก่อนนอนทุกคืน จะเป็นการกระทำที่ดีที่สุดสำหรับคนที่ยังมีจิตไม่มั่นคงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนเรื่องการขอขมากรรมที่เคยปรามาส ( ดูถูก ) คนอื่นไว้ กระทำเพียงครั้งเดียวก็พอ แต่หลังจากการขอขมากรรมแล้ว ต้องรักษาสัจจะมิให้การปรามาสอื่นใดเกิดขึ้นอีก

    ผู้ใดมีศีล ๕ และมีสัจจะคุมใจ ความศักดิ์สิทธิ์ย่อมเกิดกับผู้นั้น คนที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ปฏิบัติทาน ศีล ภาวนา จนคุณธรรมทั้งสามให้ผล ชะตาชีวิต ( ดวง ) ย่อมดีแน่นอน
  

2147.
กราบอ. ดร. สนอง วรอุไร

     หนูสวดมนต์+นั่งสมาธิดูพองยุบก่อนนอน แต่ไม่ได้ทำทุกวัน วันไหนนั่งสมาธิก่อนนอนจะหลับสบายเป็นสุขมาก เบาเหมือนขึ้นสวรรค์ ไม่อยากตื่นเลย แต่ก็ฝืนตัวเองตื่นขึ้นมาได้เมื่อได้ยินเสียงนาฬิกาปลุก จะบอกตัวเองว่าต้องตื่น รู้สึกว่าตื่นลำบากเพราะฝืนกับกิเลสคืออยากนอนมากๆ

     พอช่วงเดือนนี้มันแย่มากเพราะหนูนอนตื่นสาย 4-5 ครั้ง/เดือน และยังมีเกือบสายอีกหลายครั้ง เนื่องจาก หนูหลับแบบไม่รู้สึกใดๆทั้งสิ้น ศรีษะถึงหมอนนอนดูพองยุบไม่เกิน5-10 ครั้งก็หลับ ไม่ได้รู้สึกเป็นสุขในการนอน แต่รู้สึกเหมือนว่าตายแล้ว (จะรู้สึกถึงสุขเวทนาบ้างเล็กน้อยตอนที่ตื่นแล้ว )นอนทั้งคืนตื่นมาก็เหมือนนอน 5 นาที ตอนเช้านาฬิกาปลุกดังจนดับไปก็ไม่รู้ตัว นาฬิกาดังซ้ำอีกทุกๆ10 นาที อีก4-5 รอบดังจนดับก็ไม่ได้ยินเสียงใดๆทั้งสิ้น หนูคิดว่าสติอ่อนไป ตอนที่เราตื่นก็พยายามกำหนดอิริยาบทให้มากขึ้น เพิ่มนาฬิกาปลุกเป็น3 เครื่อง ก็แก้ไขตัวเองไม่ได้เลย จนเริ่มกังวลหลับยากขึ้น เพราะรู้สึกว่าตอนจะนอนจะฟุ้งจะคิดตลอดกลัวไม่ตื่น

     แต่หนูก็พยายามเจริญสติไว้ก่อน กำหนดอิริยาบทให้มากๆเข้าไว้ จนความฟุ้งหายไป แต่อาการตื่นลำบากไม่หาย จนเมื่อ2 วันก่อนก็ตื่นสายอีก เพราะไม่ได้ยินอะไรเลย เวลาจะตื่นจริงๆเหมือนมันมีความรู้สึกกระตุกที่ใจ เหมือนมีแรงดึงอะไรสักอย่างคิดว่าเป็นจิตมาจากที่ไกลๆ ดึงเข้ามาหาตัว แล้วก็รู้สึกอึ้งๆ ไม่มีอะไรอื่นเลย มีแต่ความรู้สึกว่ารู้อะไรสักอย่างแต่ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร คิดว่าอึ้งอยู่นาน2-3 อึดใจ จึงรู้ถึงผัสสะคือเสียงนาฬิกากระทบหูข้างขวา กระทบแรงและชัด เสียงวิ่งจากหูเข้าที่ใจ รู้ขึ้นมาว่าคือเสียงนาฬิกา กำหนดยินหนอ ตื่นหนอ ต้องตื่น แล้วจึงตื่น

เรียนถามอาจารย์คะ
     1. ตอนที่รู้ว่ามีอะไรสักอย่างหนึ่งแต่ไม่รู้ว่าคืออะไร ใช่จิตหรือไม่ ถ้าใช่ทำไมมีแต่จิต ไม่มีตาดูนาฬิกา ไม่มีหูได้ยินเสียง เพราะช่วงเวลานั้นๆนาฬิกามันก็กำลังดังอยู่ตลอด

     2.ตอนที่รู้ถึงเสียงกระทบหู ยินหนอ ตื่นหนอ แล้วจึงตื่น มันเป็นไปเองโดยไม่ได้ตั้งใจกระทำ เหมือนมันบริกรรมเอง อย่างนี้จะใช่สติหรือไม่ หรือความเคยชินคะ

     3.อาการที่หนูเป็นเกิดจากอะไร ต้องแก้ไขอย่างไรจึงถูกต้อง แบบไม่กลับมาเป็นอีกเลย

     4.เคยมีคนนั่งสมาธิแล้วเข้าญาน แล้วตายไปเลยไหมคะ

     5. ตอนนี้หนูเกิดความรู้สึกกลัวมันดูด กลัวหายไป ไม่กลับ เพราะถึงแม้นั่งตอนกลางวัน ไม่ได้นั่งแล้วนอน แต่นั่งไม่เกิน 15 นาที พองยุบก็หายเป็นว่างมันไม่มีอะไรๆ ก็กำหนดว่างหนอๆๆก็จะรู้ถึงผัสสะไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง แต่มีปัญหาอยู่ที่ว่าบางทีพองยุบหายแล้วมันไม่รู้สึกตัวว่าตอนนี้หายแล้ว ตอนนี้ว่างแล้ว ตอนนี้กำลังทำอะไร อย่างไร มันเหมือนสิ้นสติหายวับไปเลย หนูกลัวมาก ตอนจะเริ่มนั่งสมาธิต้องใช้ความกล้า ต้องเพิ่มกำลังใจให้ตนเองมากๆเลย หนูต้องแก้ไขอย่างไรคะ

    กราบขอบพระคุณคะ

คำตอบ
     (๑) จิตมีหน้าที่รู้ คิด นึก ผู้ที่พัฒนาจิต ( วิปัสสนาภาวนา ) จนเข้าถึงปรมัตถวิถีแล้ว จิตย่อมรับเอาสภาวะสิ่งกระทบที่ไม่มีสมมุติบัญญัติเข้าปรุงอารมณ์ ผลที่เกิดขึ้นคือ จิตไม่รู้ว่าสิ่งกระทบนั้นคืออะไร ด้วยเหตุผลเช่นนี้ผู้ตอบปัญหา จึงไม่อนุญาตให้ผู้ขอ นำเอาวรรณกรรมเรื่อง “ตามรอยพ่อ” ที่เขียนโดยประธานชมรมกัลยาณธรรม และให้สัจธรรมที่เป็นสาระกับชีวิตโดยผู้ตอบปัญหา ไปประกวดวรรณกรรมดีเด่นยังไงล่ะ

     (๒) ที่บอกเล่าไปเป็นการทำงานของสติ

     (๓) เป็นเพราะผู้ถามปัญหา ได้พัฒนาจิตจนเข้าถึงปรมัตถธรรมของสิ่งที่เข้ากระทบจิต ( ไม่มีสมมุติบัญญัติปรุงแต่ง ) ความรู้ เห็น เข้าใจเช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องแก้ไขใดๆทั้งสิ้น เพราะเมื่อพัฒนาจิตจนเข้าถึงโลกุตตรญาณที่สูงขึ้น ปัญหาเช่นนี้ย่อมหมดไปเป็นธรรมดา

     (๔) คำว่า “ญาณ” หมายถึง ความรู้สูงสุดที่เกิดขึ้นกับจิตที่พัฒนาแล้ว ส่วนคำว่า “ฌาน” หมายถึง สภาวะที่จิตสงบประณีต ( อัปปนาสมาธิ ) ที่เกิดจากการพัฒนาจิตตามแนวของสมถกรรมฐาน

     ดังนั้นคนที่เข้าถึงญาณแล้วตายจึงไม่มี แต่คนที่เข้าฌานแล้วทิ้งขันธ์ลาโลก ( ตาย ) จึงมีได้ ดังตัวอย่างการเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระพุทธโคดม การเข้านิพพานของพระอานนท์พุทธอุปัฏฐาก การเข้านิพพานของพระมหาปชาบดีภิกษุณี ฯลฯ

     (๕) สิ่งที่บอกเล่าไปจะหมดไปได้ ต้องพัฒนาจิตให้มีกำลังต้านมาร ด้วยการเจริญพละ ๕ ( ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิและปัญญา ) อยู่เสมอ แล้วปรับศรัทธากับปัญญาให้มีกำลังใกล้เคียงกัน ปรับวิริยะกับสมาธิให้มีกำลังใกล้เคียงกัน ส่วนสติต้องพัฒนาให้มีกำลังมากที่สุด จนสามารถระลึกได้ทันความกลัวที่เกิดขึ้น แล้วปัญหากลัวมันดูด กลัวมันหายไป จะไม่เกิดขึ้น
  

2146.
ขอรบกวนท่าน ดร. ให้ความรู้ในเรื่อง “กรรมนั้นอยู่ที่เจตนา”

' ผู้ทำมีเจตนา ' มีหลักการที่พระพุทธเจ้า
ได้ตรัสไว้ในนิพเพธิกสูตร ฉักกนิบาต อังคุตตรนิกาย ว่า...
' เจตนาหัง ภิกขเว กัมมัง วทามิ '... แปลว่า
ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวว่าเจตนาเป็นกรรม

.. .. เจตนา......
ได้แก่ ความตั้งใจหรือความรับรู้ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 อย่างคือ...
1. บุพเจตนา...เจตนาก่อนทำ
2. มุญจนเจตนา...เจตนาในเวลาทำ
3. อปราปรเจตนา...เจตนาเมื่อได้ทำไปแล้ว

คำถามคือ

1. คนที่มีเจตนาเพราะป่วยทางจิต อาจจะมากบ้างน้อยบ้าง คิด พูด ทำ ไม่ดี หรือใด ๆ ก็แล้วแต่ แต่เป็นเพราะป่วยทางจิต ซึ่งในการตีความเรื่องเจตนาอาจจะลำบาก ในส่วนนี้ขอรบกวนท่าน ดร. ช่วยวิเคราะห์ด้วยครับ

2. ผู้ป่วยบางคนไม่สามารถหยุดความคิดของตัวเองได้ ไปนึกอะไรไม่ดีกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (น่าจะเป็นโรคที่เรียกกันว่า “โรคย้ำคิด ย้ำทำ”) กรณีนี้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะถือไหมครับ

คำตอบ
     (๑) คำว่า “เจตนา” ตามที่พระพุทธโคดมได้ตรัสไว้ ต้องเป็นเจตนาที่มีสติเป็นฐานรองรับ คนที่มีอาการเจ็บป่วย ( อาพาธ ) ทางจิต เป็นคนที่มีจิตขาดสติ

     (๒) คำว่า “สิ่งศักดิ์สิทธิ์” หมายถึง สิ่งที่เป็นของควรเคารพเลื่อมใส หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นเป็นรูปนามที่มีความเห็นผิด แต่สามารถหยั่งรู้ความคิดของคนอื่นได้ ความคิดปรามาส ( ดูถูก ) ย่อมเป็นโทษกับผู้ที่มีอกุศลมโนกรรมได้
  

2145.
กราบเรียน ท่านอาจารย์ สนอง วรอุไร

ตามที่ผมเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นสิ่งสมมุติ มีแต่จิตที่วนเวียนไปตามวัฏฏสงสาร
อยากจะถามว่า จิตเพิ่มขึ้นได้หรือเปล่าครับ
ตามความเข้าใจของผมจิตลดลงได้ จากการที่พระท่านบรรลุอรหันต์ ไม่กลับไปเกิดอีก หลุดออกจากวงจรวัฏฏสงสาร
แสดงว่าจิตมีจำนวนอยู่จำนวนหนึ่งเพิ่มขึ้นไม่ได้ แต่ลดลงได้

คำถามอาจไม่ค่อยเป็นประโยชน์แต่มีความข้องใจมานานแล้วครับ

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง
วรกิตต์

คำตอบ
     ความจริงในขั้นปรมัตถสัจจะ ย่อมเห็นทุกสิ่งทุกอย่างในวัฏสงสารเป็นสิ่งสมมุติ รวมถึงจิตที่มีสิ่งเศร้าหมอง ( กิเลส ) สั่งสมอยู่ภายในด้วย

     คำถามที่ว่า จิตเพิ่มได้หรือเปล่า ตอบว่า เพิ่มไม่ได้ แต่ย้ายที่อยู่ได้ คือ ย้ายจากวัฏสงสาร ไปอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า นิพพาน
  

2144.
กราบเรียนถาม ท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ที่เคารพ

     ช่วงนี้กระผม เดินจงกรม 1 ชม. นั่งสมาธิ 1 ชม. พยายามทำให้ได้ตลอดในแต่ละวัน การเิดิน และนั่ง ก็รู้สึกว่า มีอารมณ์ ไม่วุ่นวายเท่าไหร่ จากที่ผ่านมา เวลานั่ง สมาธิ ก็กำหนด ได้ง่ายขึ้นเย็นในจิตใจมากขึ้น เวลานั่ง ตอนนี้ไม่ค่อยได้ยึดหลังบ่อยแล้ว เพราะไม่ว่าจะไปทำงานหรือที่บ้านจะนั่งบังคับให้หลังตรงตลอด ตอนนี้ นั่งหลังงอ ไม่ค่อยได้แล้ว รู้สึกว่าจะอัตโนมัติ ยึดขึ้นตลอด โดยไม่ต้องบังคับให้ ยึดตัวตรง พระอาจารย์ที่ได้สอนกรรมฐานท่านให้ จับอาการหาว ก็ทำได้ อาการหาวหายไปโดยไม่ต้องกั้นเลยครับ แต่จับหลับยังทำไม่ได้ครับ มีแค่เล็กน้อยที่หู ดับไปไม่ได้เย็น แว็บเดียวครั้งเดียว แต่ก็ไม่ได้ติดใจมากครับ

     อยากจะถาม ท่านอาจารย์ ดร. สนอง วรอุไร คือเวลาผมนั่ง รู้สึกว่าอยู่กับที่ อารมณ์อยู่กับที่ กระผมควรจะต่อไปอย่างไรดีครับ

     ขอบพระคุณครับ ที่กรุณาตอบ ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

คำตอบ
     ตอบว่าปัญหาจะหมดไปได้ ต้องพัฒนาจิตให้มีกำลังของสติกล้าแข็ง ซึ่งในครั้งพุทธกาล พระพุทธโคดมได้ตรัสถามภิกษุที่อยู่แวดล้อมว่า

     พระพุทธโคดม : ภิกษุ เธอเจริญสติ ( มรณสติ ) อย่างไร
       ภิกษุที่ ๑ : เราพึงเป็นอยู่ชั่วขณะคืนหนึ่งกับวันหนึ่ง

       ภิกษุที่ ๒ : เราพึงเป็นอยู่ชั่วขณะฉันบิณฑบาตมื้อหนึ่ง

       ภิกษุที่ ๓ : เราพึงเป็นอยู่ชั่วขณะเคี้ยวข้าวคำหนึ่ง

     พระพุทธโคดม : ตามที่กล่าวมาทั้งหมด ยังชื่อว่าเป็นผู้ประมาท เธอพึงเป็นอยู่ชั่วขณะ ลมหายใจเข้าแล้วหายใจออก ลมหายใจออกแล้วหายใจเข้า

     ผู้ใดประพฤติได้ผลเป็นเช่นนี้แล้ว ย่อมระลึกได้ทันว่า ก่อนที่จิตจะเข้าสู่ภวังค์ ( ไม่เกิด - ไม่ดับ ) หรือเรียกว่านอนหลับอย่างแท้จริง ย่อมรู้ เห็น เข้าใจได้ว่า ตนเองได้หายใจเอาลมเข้าสู่ร่างกาย หรือหายใจเอาลมออกจากร่างกาย
  

2143.
เรียนอาจารย์ ดร.สนองที่เคารพ

     เมื่อประมาณ 10 วัน มานี้ หนูรับทราบผลการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน ช่วงเดือนเมษายน - เดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ซึ่งผลการพิจารณา ปรากฏว่าหนูเป็นเพียงคนเดียวที่ได้ครึ่งขึ้น คนอื่นได้หนึ่งขั้นหมด ทั้งที่หลายคนเข้าทำงานทีหลังหนู และผลงานหนูก็ไม่ได้ด้อยกว่าใคร ที่ผ่านมาหนูคิดว่าตั้งใจทำงานอย่างดีที่สุด แต่ไม่ได้หวังว่าจะต้องได้ขั้นนู้นขั้นนี้ แต่ผลการพิจารณาครั้งนี้ หนูคิดว่าไม่ยุติธรรมเลยค่ะ ซึ่งไม่มีเหตุผล หรือหลักเกณฑ์ใดเลยตามระเบียบ ที่จะไม่พิจารณาหนึ่งขั้น โดยเค้าอ้างว่าหนูลาหยุดเกินกำหนด ซึ่งไปตรวจสอบแล้ว ปรากฏว่าไม่ได้เกินแต่อย่างใดค่ะ

     ซึ่งข้ออ้างนี้ เค้าหวังผลอะไรก็แล้วแต่ ทำให้หนูได้รับความเสียหาย และรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับหนูเลยค่ะ หนูไม่เคยโกรธเลยที่ผู้มีอำนาจจะพิจารณาใครให้ขั้นมากกว่า แต่ที่หนูรับไม่ได้คือ หนูไม่ได้ทำอะไรผิดเลย และทุ่มเททำงาน อยากให้งานออกมาดี ไม่ได้หวังผลตอบแทนเป็นอย่างอื่น แต่ในส่วนสิทธิของหนู ซึ่งมันต้องเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ผู้มีอำนาจกลับมาทำอย่างนี้ หนูรับไม่ได้จริงๆ ค่ะ

     ตอนนี้ หนูก็ได้แจ้ง และขอคำอธิบายจากต้นเหตุค่ะ เค้าพยายามไปนับในสมุดเซ็นชื่อ ให้เกินให้ได้ค่ะ แต่นับยังไงก็ไม่เกิน แล้วเค้าก็อ้างว่า รายชื่อตกไป จะแก้ไขให้ … ซึ่งถ้าเค้าอ้างไปอย่างนั้น จะทำให้ขั้นเงินเดือนหนูตามหลังคนที่รับราชการทีหลัง ซึ่งไม่มีเหตุผลสมควรเลยค่ะ

     หนูคิดว่าด้วยอุปนิสัยของหนูที่เป็นคนไม่ค่อยพูด จึงทำให้คนเหล่านั้นคิดจะทำยังไงก็ได้ หนูไม่ได้โกรธที่เค้าทำอย่างนี้กับหนู แต่อยากจะเรียกร้องสิทธิที่หนูควรได้รับตามปกติ ที่พวกเค้าไม่มีสิทธิ์มาทำอะไรตามอำเภอใจได้ค่ะ

     และเหตุผลที่หนูไม่ค่อยพูด คือ มีความรู้สึกว่าการพูดแต่ละครั้งกับบางคนก็ไม่มีสาระเลย หาประโยชน์อะไรไม่ได้ แต่ปกติก็จะพูดในเรื่องงาน แต่ไม่ค่อยจะพูดเล่น เฮฮา … และมีความรู้สึกว่า บางครั้งคำพูดกับความรู้สึก หรือความนึกคิดในใจของแต่ละคน มันก็ไม่ตรงกัน หนูจะชอบทำงานอยู่ในห้องคนเดียวค่ะ

     หนูไม่อยากจะเอาผิดอะไรกับพวกเค้าเลย แต่การทำงานที่ไม่มีความรอบคอบ และไม่เป็นธรรมก็ไม่ใช่คุณลักษณะของผู้มีอำนาจค่ะ และหนูก็ไม่ยอมที่เค้าจะมาทำอะไรตามอำเภอใจอย่างนี้

     หนูอยากขอความเห็น และคำชี้แนะจากอาจารย์ค่ะ ตอนนี้หนูกลุ้มใจมากค่ะ ขอความกรุณาท่านอาจารย์เมตตาหนูด้วยนะคะ

     ขอบพระคุณมากค่ะ
      ผู้ถูกกระทำ

คำตอบ
     ผู้ที่พัฒนาจิต ( วิปัสสนาภาวนา ) จนเข้าถึงความรู้สูงสุด ย่อมรู้ เห็น เข้าใจว่ากฎแห่งกรรมมีจริง แล้วจึงจะยอมรับผลของกรรมโดยดุษณี และไม่โต้แย้งโต้เถียงกับความเห็นทางโลกที่ผู้บังคับบัญชามอบให้ ผู้ตอบปัญหาเคยได้รับประสบการณ์เช่นนี้มาก่อน และคิดจะลาออกจากราชการ แต่ด้วยเหตุแห่งบุญเก่าตามให้ผลได้ทัน จึงมิได้ทำตามที่คิด และตั้งหน้าตั้งตาทำแต่กรรมดี โดยไม่นำไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ผลปรากฏว่า คนที่ได้ดีในครั้งนั้น มีชีวิตวิบัติไปตามกรรม ตรงกันข้ามกับผู้ตอบปัญหา ยังคงมีชีวิตสวัสดีมาจนทุกวันนี้

     ความไม่สบายใจ ( กลุ้มใจ ) ให้ผลเป็นบาป ผู้รู้ยอมรับและยอมชดใช้หนี้บาปไปจนกว่าจะจบสิ้น นอกจากนี้ผู้รู้ยังเร่งทำความดี ( กุศลกรรม ) โดยไม่เอาจิตไปผูกติดเป็นทาสของผลงาน คือทำความดีเพื่อความดี ทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน นี่คือการทำความดีของผู้รู้จริงแท้
   

2142.
กราบอาจารย์ สนอง วร อุไร ครับ

ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่มีปัญหาชีวิตด้านการครองเรือนเป็นเหตุต้องให้เกิดการหย่าร้างกัน ทำให้เกิดความทุกข์มาก สงสารลูกทั้งสองคนที่ต้องมาเจอแบบนี้ ผมเชื่อว่าเป็นกรรมที่ทำเอาไว้ (ก็ยอมรับผลกรรม) แต่เนื่องจากผมต้องการที่จะรับลูกมาดูแล เลยเป็นเหตุให้ต้องให้คนกลางมาช่วยเพื่อให้ทางศาลช่วยตัดสินใน เรื่องการอุปการะบุตร เพราะทางภรรยาไม่ยอมให้ผมดูแล เลยทำให้เป็นทุกข์ ผมเลยเปลี่ยนการดำเนินชีวิตใหม่คือ ปฏิบัติธรรม คือทำตามที่อาจารย์สอนทำถูกกฎหมาย ถูกศีล ถูกธรรม (ศีล สมาธิ ปัญญา) เลยมีคำถามอยากถามอาจารย์ครับ

1. ในทางธรรมผมต้องทำแบบไหนครับกับเรื่อง บุตรทั้งสองคนครับ

ขอความเมตตาอาจารย์ช่วยตอบปัญหาเพียงข้อเดียวครับ

ขอบคุณครับ

คำตอบ
     ผู้ใดพัฒนาจิต ( วิปัสสนาภาวนา ) จนเกิดปัญญาเห็นแจ้งได้แล้ว ผู้นั้นย่อมรู้ เห็น เข้าใจว่ากฎแห่งกรรมมีจริง และบุตร ภรรยา วงศาคณาญาติ ฯลฯ แท้จริงแล้วเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่คนรู้ไม่จริงได้บัญญัติขึ้น และยึดถือกันว่ามีจริงเป็นจริง ในครั้งที่หลวงปู่แหวนยังไม่มรณภาพ กลุ่มบุคคลที่มาจากภาคอีสาน ประสงค์ให้หลวงปู่ฯ กลับไปโปรดญาติที่อีสานบ้าง หลวงปู่แหวน ( พระอรหันต์ ) จึงได้พูดตอบไปว่า “กูไม่มีญาติ” เรื่องนี้เป็นความจริงแท้ ผู้ใดพัฒนาจิต ( วิปัสสนาภาวนา ) จนเข้าถึงโลกุตตรญาณได้แล้ว ย่อมรู้ เห็น เข้าใจความจริงที่เป็นสมมุติทั้งหลาย ที่ตนเห็นผิดได้บัญญัติขึ้นและยึดถือกันว่ามีจริงเป็นจริง แล้วย่อมไม่เอาสิ่งสมมุติมาเป็นของตัว หรือพูดได้ในอีกทางหนึ่งว่า จิตปราศจากสิ่งที่เป็นสมมุติบัญญัตินั่นเอง
  

2141.
กราบเท้าอาจารย์ที่เคารพค่ะ

หนูเพิ่งได้มีโอกาสฟังธรรมะบรรยายของอาจารย์ เมื่อไม่นานมานี้ และได้ติดตามฟังมาโดยตลอด

หนูขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ ที่เมตตาเผยแผ่ธรรมะของพระพุทธองค์ ให้พวกเราได้ดำเนินไปสู่หนทางที่ถูกต้องค่ะ

หนูมีคำถาม กราบขอความเมตตาจากอาจารย์ค่ะ
- หนูฝันร้ายแทบทุกคืน บางคืนฝันทีละหลายๆเรื่อง หนูอยากทราบว่า ตามพระไตรปิฎก สาเหตุแห่งฝันร้าย เกิดจากอะไรได้บ้าง แล้วต้องปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อให้ไม่ฝันร้ายคะ

- สาเหตุของการทำคุณคนไม่ขึ้น เกิดจากอะไรได้บ้างคะ แล้วจักต้องประพฤติตนอย่างไรเพื่อให้ดำเนินในทางที่ถูกต้องคะ

- หนูง่วงนอนแบบบังคับไม่ได้ แบบไม่มีสาเหตุ และ มักง่วงรุนแรง กระทันหัน และ บ่อยครั้งอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงกับชีวิต เช่น ขับรถอยู่ หนูทราบว่าสิ่งที่ประสบอยู่เป็นไปตามกฏแห่งกรรม และหนูพยายามกำหนด พุธโธ และตามตนเองให้ทัน เพื่อให้มีสติ แต่ สติมีขึ้นเพียงชั่วขณะแล้วกลับมาง่วงมากใหม่ อาจารย์ มีอุบายปราบกิเลสความง่วงไหมคะ ตอนนี้ ความง่วงเป็นอุปสรรคสำคัญของชีวิตหนูมากจริงๆค่ะ ตื่นก็ง่วง หลับก็ฝันร้ายค่ะ ทุกครั้งที่จะนอนหนูรู้สึกเหมือนว่าจะต้องตาย และทุกครั้งที่ตื่นนอน เหมือนได้เกิดใหม่ค่ะ หนูกราบขอความเมตตาค่ะ

หนูขอให้อาจารย์มีสุขภาพที่แข็งแรง เป็นเนื้อนาบุญของพระพุทธศาสนาต่อไปนะคะ ธรรมะบรรยายของอาจารย์ เป็นแสงสว่างให้กับผู้คนมากมายเหลือเกินค่ะ

กราบลาอาจารย์ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ
  กิ่งกาญจน์

คำตอบ
     อารมณ์ฝันเร้ายมีเหตุมาจากจิตใต้สำนึก เก็บบันทึกข้อมูลอันเป็นอกุศลไว้ภายใน เมื่อล้มตัวลงนอนใกล้หลับ ข้อมูลได้ถูกส่งเข้ากระทบจิตแล้วจิตปรุงเป็นอารมณ์ไม่ดี ( ฝันร้าย ) จึงได้เกิดขึ้น วิธีแก้ปัญหานี้ทำได้สองวิธีคือ

     วิธีที่ ๑. ขณะตื่นเมื่อสิ่งกระทบไม่ดี ( อายตนะภายนอก ) เข้ากระทบจิต ต้องให้อภัยเป็นทานในทุกเหตุที่ทำให้ขัดใจ แล้วความรักความปรารถนาให้ผู้อื่นได้ประโยชน์และมีความสุข ( เมตตา ) จึงจะเกิดขึ้น แล้วถูกเก็บสั่งสมไว้ภายในดวงจิต ผู้มีเมตตามีอารมณ์สงบเย็น เป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข นอนหลับไม่ฝันร้าย

     วิธีที่ ๒. พัฒนาจิต ( สมถภาวนา ) จนจิตเกิดกำลังสติกล้าแข็งได้แล้ว นอนหลับย่อมไม่เกิดเป็นความฝันทั้งดีและร้าย

     สาเหตุที่ทำคุณคนไม่ขึ้น เป็นเพราะจิตขาดสติ อารมณ์ขุ่นมัวด้วยกิเลสจึงถูกสั่งสมไว้มากในดวงจิต วิธีแก้ปัญหานี้คือ ก่อนนอนสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย หลังสวดมนต์เจริญสติ ( อานาปานสติ ) เมื่อกิจกรรมทั้งสองแล้วเสร็จ ต้องอุทิศบุญกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรทุกครั้ง ผู้ใดมีศีลมีสัจจะ มีความเพียร และทำตนเป็นผู้ให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ปัญหาทำคุณคนไม่ขึ้นจึงจะหมดไปได้

     พระพุทธโคดม สอนวิธีแก้ง่วงนอนให้กับพระมหาโมคคัลลานะ ในทำนองดังนี้
       ๑. กำหนดนึกถึงความง่วงนั้นให้มาก
       ๒. หากยังไม่หายง่วง ต้องพิจารณาถึงธรรมที่ได้ยินได้ฟังจนขึ้นใจ
       ๓. หากยังไม่หายง่วง ต้องท่องบ่นธรรมที่ศึกษาโดยพิศดาร
       ๔. หากยังไม่หายง่วง ต้องใช้วัสดุแยงหูทั้งสองข้างและเอามือลูบตัว
       ๕. หากยังไม่หายง่วง เอาน้ำล้างหน้า แล้วเหลียวซ้ายแลขวา แหงนดูดาว
       ๖. หากยังไม่หายง่วง ต้องกำหนดจิตให้เห็นเป็นแสงสว่างตลอดเวลา
       ๗. หากยังไม่หายง่วง ต้องเดินจงกรมโดยไม่หยุด
       ๘. หากยังไม่หายง่วง ต้องล้มตัวลงนอนแบบสีหไสยา

     ในครั้งที่ผู้ตอบปัญหาไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ แก้ปัญหาง่วงนอน โดยเอาน้ำเย็นราดหัวราดตัว และเดินจงกรมไม่เลิก ผลที่สุดความง่วงหายไปเพราะเอาชนะใจตนเองได้
   

2140.
กราบเรียน อาจารย์ ดร สนองค่ะ

     พึ่งมีโอกาสฟังธรรมที่อาจารย์บรรยาย มีแรงฮึดในการปฏิบัติธรรมมากเลยค่ะ แต่ศรัทธานี้มักตั้งอยู่ไม่นาน อาจเพราะไม่ได้รู้สึกด้วยตัวเอง และได้มีโอกาสไปฟังของพระอาจารย์เจ้าคุณโชดกด้วยค่ะ ท่านเทศน์ดีมาก ๆ เข้าใจและสนุกมาก ๆ แต่เสียดายมีน้อยและตอนนั้นคงใช้เทปอัดคุณภาพเสียงจึงยังไม่ดีเท่าตอนนี้

     ชอบที่อาจารย์ ดร สนองบอกว่า ผมก็มี 10 มือเท่ากับพวกคุณ ผมยังทำได้ ทำไมคุณจะทำไม่ได้ เป็นกำลังใจดีมากเลยค่ะ แต่ก็งงตรงที่อาจารย์เคยตอบคำถาม คนอื่นว่า ถ้าเราไม่เคยฝึกมาจากชาติก่อนเราจะจิตสงบยาก (หรือหนูอ่านผิดไปยังไงกราบขออภัยนะคะ) หมายถึงว่าให้เราพยายามแค่ไหนในชาตินี้ก็ไม่สงบหรอคะ หรือยังไง

     สุดท้ายนี้หนูขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง และมีธรรมะดี ๆ มาให้พวกเราฟังและเกิดศรัทธาในการปฏิบัติตามนาน ๆ นะคะ

      กราบขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ
  

2139.
กราบเรียน อาจารย์ ดร สนอง,

ขอรบกวนสอบถามอาจารย์ในเรื่องการปฏิบัติธรรมว่าหากนั่งสมาธิโดยการบริกรรม ยุบหนอ-พองหนอ จนเกิดอาการปวด ก็ไปกำหนดที่ปวดหนอ มีบางครั้งที่กำหนดปวดหนอแล้ว พอเราบริกรรมปวดหนอทำให้จิตแทนที่จะจดจ่อกับจุดที่ปวด กลับกระโดดมาที่คำบริกรรมแทน อยากเรียนถามว่าการปฏิบัติถูกต้องไหมคะ หากผิดควรแก้ไขอย่างไร

ขอบคุณในความกรุณาคะ

คำตอบ
     เมื่อเกิดอาการปวด แล้วกำหนดว่า “ปวดหนอๆๆๆๆ” ไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการปวดหายไป แล้วจิตเคลื่อนมาจ่ออยู่กับคำบริกรรมเดิม “พองหนอ - ยุบหนอ” ที่ทำอยู่ ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกต้องสำหรับผู้ที่เริ่มมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
  

2138.
กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพค่ะ

ปัจจุบันข้าพเจ้าจะคิดวางแผนงานในอนาคตหรือจินตนาการเรื่องอะไรก็ไม่ค่อยจะได้
เวลาปฎิบัติธรรมที่วัดหากข้าพเจ้าเริ่มมีความคิดภาวนาคิดหนอส่วนใหญ่ 2-3 หนอเร็วที่สุดหนอเดียวแล้วจอดำความคิดหายไป แต่อยู่บ้านบางทีต้องวางแผนการเรียนและงานด้วย คิดไม่ออก เหมือนภาพลางๆว่างๆ ไม่สามารถชัดเจนและเป็นเรื่องราวได้แม้ขณะคิดข้าพเจ้าจะไม่ได้ภาวนาคิดหนอ แต่ถ้าให้ตอบคำถามหรือเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาตอบได้จำได้ค่ะ

อยากทราบว่าเป็นผลจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหรือไม่? ดีหรือไม่ดี? หากไม่ใช่? ข้าพเจ้าควรต้องแก้ไขอย่างไร อะไรบ้างค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงค่ะ

คำตอบ
     คนขาดสติย่อมคิดแต่เรื่องในอดีตที่ผ่านไปแล้ว และคิดถึงเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต ความคิดทั้งสองแบบไม่ทำให้ชีวิตสมปรารถนาได้ ดังนั้นผู้รู้จึงเอาจิตมาจดจ่อ อยู่กับเหตุที่ทำในปัจจุบัน ทำเหตุให้ถูกตรงแล้วความสมปรารถนาจึงจะเกิดขึ้นได้ในวันข้างหน้า

     อกุศลวิบากที่เกิดขึ้นกับผู้ถามปัญหา เนื่องมาจากปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ผู้ใดพัฒนาตัวเองให้มีศีล ( ศีล ๕ ) คุมกาย คุมวาจา และคุมใจให้ได้ทุกขณะตื่นเมื่อนำจิตไปพัฒนา ( สมถภาวนา ) โดยมีความเพียรเป็นแรงสนับสนุน สติย่อมเกิดขึ้นกับผู้นั้น แล้วปัญหาที่ถามไปจะไม่เกิดขึ้น นี่คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง
  

2137.
กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพ

ผมจะทำอย่างไรดี ? ตกงานมาแล้ว 6 เดือน, ทุกอย่างค่อยๆเริ่มเกิดขึ้น จากเมื่อ 5 ปี จับได้ว่าภรรยามีสามีใหม่ซึ่งเป็นเพื่อนรักของผมเอง จากวันนั้นผมกับเธอจากกันด้วยดี และไม่มีการทะเลาะ แต่ต้องพลัดพรากจากลูก "อันนี้ทุกข์มากๆครับ" ที่ต้องจากกันเพราะบ้านเป็นของภรรยา และผมไม่ได้แบ่งทรัพย์สิน, ตอนนั้นก็เครียดมากแต่ก็ ” ไม่ตกงาน ”

ชีวิตลุ่มๆดอนๆ จากนั้นก็เริ่มศึกษาธรรมได้ 3 ปีทางอินเตอร์เนตบ้าง หรือ หนังสือธรรมต่างๆ จนได้ไปเรียนเกี่ยวกับการทำสมาธิ (ทำทุกวันครับและมีพัฒนาการได้ดี) จากนั้นจู่ๆ เจ้านายก็ขอให้ออกจากงาน(ผมถามว่าผมไม่ได้ทำผิดอะไรทำไมคุณทำแบบนี้ ?) ตอนแรกก็คิดว่าจะฟ้องร้อง แต่คิดดูอีกที คงต่อกรรมกันไม่จบสิ้น ก็เลยรับเงินมาตามกฏหมาย

หลังจากตงงาน ก็หางานได้สักพัก ก็เดินทางมาหางานทำที่ประเทศอังกฤษ แต่จู่ๆจิตใจผมก็หล่นเหมือนไม่มีแรง หวาดกลัว “ จิตไม่มีกำลัง ” เลยต้องกลับมาเริ่มต้นที่ กรุงเทพฯใหม่ คนเดียว เพราะถ้าอยู่ต่อที่ประเทศอังกฤษผมคงใช้เงินเก็บหมดลงเร็วกว่าที่คิด เพราะทุกอย่างแพงไปหมด และไม่ขอเบียดเบียน ผู้มีพระคุณครับ (เลยตัดสินใจกลับมา และคิดว่าดีเหมือนกัน ถ้าไม่ไป ก็เหมือนไม่ลองคงไม่รู้ ) ด้วยสภาพจิตใจในตอนนี้นั้นไม่นิ่งเหมือนเมื่อก่อน สับสน วุ่นวาย หวาดกลัว (จิตไม่มีกำลัง) ในระยะเวลาก่อนหน้านั้นและจนถึงปัจจุบัน ผมได้มีการทำบุญ ภาวนา และมีศลี ครบตามที่เคยฟังอาจารย์บรรยายธรรม แต่ดูเหมือนไม่เห็นมีแสงสว่างจากปลายอุโมงค์เสียเลย ,

ไม่ทราบว่าผม ทำอะไรขาดเหลือไปบ้างครับ รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำผมด้วย

  A-Chong

คำตอบ
     ผู้ใดมีห้วงเวลาของชีวิตที่ต้องเสวยอกุศลวิบาก อุปสรรคและปัญหาย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา หากผู้นั้นไม่ยอมแพ้ใจตนเอง พัฒนาจิต ( ทาน ศีล ภาวนา ) จนกระทั่งมีคุณธรรมทั้งสาม สั่งสมอยู่ภายในและยอมชดใช้หนี้เวรกรรมให้หมดสิ้นไป ชีวิตใหม่ย่อมพบกับความสวัสดีแน่นอน ผู้รู้ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา แต่หันมาพัฒนาจิตตามที่แนะนำ ชะตาดีของชีวิตย่อมเกิดขึ้นได้ในวันข้างหน้า … . สู้ครับ
  

2136.
เรียนอาจารย์สนอง วรอุไร

นั่งทำสมาธิยุบหนอพองหนอ เงียบดีแล้ว สงบแล้ว นิ่งแล้ว
แล้วเวลามีเสียงดัง เช่นปิดประตู รถซิ่งวิ่งผ่าน
สะดุ้งตกใจ ทำอย่างไรครับ

ขอบพระคุณครับ

คำตอบ
    คนที่ได้ยินเสียงดังแล้วตกใจ นั่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า จิตยังมีกำลังสติอ่อน จึงรับเอาสิ่งกระทบ ( เสียงดัง ) เข้าปรุงเป็นอารมณ์ตกใจ ดังนั้นอารมณ์ เงียบ สงบ นิ่ง ที่บอกเล่าไป เป็นผลมาจากการใช้สมองคิด มิได้เกิดมาจากการรู้ เห็น เข้าใจ ด้วยจิต
  

2135.
กราบเรียนท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร

ดิฉันติดตามอ่านผลงานของท่านอาจารย์ด้วยความศรัทธา และตั้งใจจะประพฤติ
ตามที่ท่านอาจารย์สอนค่ะ ทั้งนี้ ดิฉันมีเรื่องขอความกรุณาจากท่านอาจารย์ ดังนี้ ค่ะ

     1. เคยตั้งจิตอธิษฐานที่เป็นความเห็นผิดในเรื่องของความรัก
บัดนี้เข้าใจแล้วตามที่ท่านอาจารย์กล่าวสอน
จึงขอทราบวิธีถอนคำอธิษฐานที่เป็นมิจฉาทิฏฐิเหล่านี้ ว่าต้องทำอย่างไร

     2. ต้องไปแก้คำอธิษฐานทุกที่ ที่เคยไปกล่าววาจาไว้หรือไม่ค่ะ
ทำคนเดียวได้หรือไม่ค่ะ

     3. ขอทราบคำอธิษฐานที่ควรตั้งมั่นค่ะ

      ขอกราบอารธนาคุณพระศรีรัตนตรัย จงปกป้องคุ้มครองท่านอาจารย์  ให้อยู่เผยแพร่คำสอนของพระพุทธองค์ต่อไปให้นานแสนนานน่ะค่ะ

คำตอบ
     (๑) ประสงค์ยกเลิกคำอธิษฐาน สามารถทำได้เหมือนกับการขอขมากรรม
โปรดดูคำตอบในข้อ ๒๑๓๑ (๒)

     (๒) ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปแก้คำอธิษฐานในทุกที่ เพียงแต่ทำเหตุให้ถูกตรง แล้วขอขมากรรมที่ไม่ดี ที่ทำไว้ในทุกแห่งที่ระลึกได้และที่ระลึกไม่ได้ และขอขมากรรมด้วยตัวคนเดียวเองได้

     (๓) หากปรารถนำพาชีวิตให้เข้าถึงสิ่งดีงาม หลังจากสร้างมหาทานแล้ว ต้องตั้งจิตปรารถนา ( อธิษฐาน ) ให้เกิดมาพบพุทธศาสนา มีปัญญาเห็นถูก และนำพาชีวิตให้พ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวง
  

2134.
กราบเรียนถาม ดร สนอง ค่ะ

     1. การก็อปปี้ เอกสาร ถ้ายังไม่ได้รับอนุญาติ เท่าที่ทราบคือเป็นบาป ในกรณีการศึกษา หนังสือ จำนวนมากเป็นของต่างประเทศ เป็นไปไม่ได้หรอกคะ ที่เราจะซื้อทุกเล่ม บางเล่ม เป็นหนังสือห้องสมุด เราจะตามซื้อทุกเล่ม เป็นไปไม่ได้ เพราะบางเล่ม เป็นหนังสือเก่า บางเล่มราคาแพงมาก เราซื้อมาก ๆ จะไม่ไหวค่ะ อย่างนี้ เราก็ต้องก็อปปี้ แล้วจะทำอย่างไรค่ะถึงจะบาปน้อยลง เพราะนักศึกษาทั่วไป ในเมืองไทย เขาก็อปกันทั้งนั้นคะ เพราะซื้อทุกเล่ม มันจะไม่ไหวนะคะ

     2. คนที่มีอาการทางจิตเภท เช่น หูแว่ว แต่ตอนนี้ทานยาอยู่ อาการนั้นหายแล้ว เป็นปกติ แต่ตอนเข้ากรรมฐาน เช่นวิปัสสนากรรมฐาน ต้องกำหนอต่อเนื่อง และอยากนอนได้วันละประมาณ ไม่เกิน 4 ชั่วโมงอย่างอาจารย์ ยาที่กินนี้ จะต้องระงับสิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอครบเดือน อาการหูแว่วจะ กลับมา ปรากฎอยู่ คือยาที่กินนี้ลดอาการหูแว่ว แต่ทานก่อนนอน เวลากินแล้วจะทำให้เคลิ้ม อยากนอนหลับ ถ้าอยู่ในกรรมฐานเหมือนจะบังคับให้หลับ ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการทำกรรมฐาน คือถ้าทานยา อาการหูแว่วจะไม่มี แต่อาการอยากหลับจะกลับมา จะทำอย่างไรคะ เพื่อจะแก้ปํญหานี้

    ขอบคุุุณค่ะ

คำตอบ
     (๑) ห้องสมุดได้จัดหาหนังสือไว้ให้ผู้สนใจได้อ่าน ถือว่าเป็นการให้ความรู้เป็นทาน ผู้ที่เข้าไปอ่านหนังสือในห้องสมุดไม่ถือว่าเป็นบาป และไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาหนังสือที่ตนอ่านมาเก็บไว้เป็นของส่วนตัว หากเจ้าหน้าที่ห้องสมุดอนุญาตให้ก๊อปปี้บทความในหนังสือได้ ไม่ถือว่าเป็นบาปเช่นกัน

     (๒) การปฏิบัติสมถกรรมฐานมิใช่เป็นการบังคับจิตให้หลับ แต่เป็นการทำให้จิตมีอารมณ์ปรุงแต่งลดลง ผู้ใดมีสติปล่อยวางสิ่งที่เข้ากระทบจิตได้ จิตย่อมเข้าสู่ภวังค์ ( ไม่เกิด - ไม่ดับ ) หรือที่เรียกว่าหลับนั่นเอง

     อนึ่ง ความรู้ของคนโบราณกล่าวว่า “เมื่อ ดิน น้ำ ลม ไฟ ของร่างกายเข้าสู่ภาวะสมดุลแล้ว ร่างกายย่อมไม่เกิดการเจ็บป่วย”
  

2133.
กราบเรียน อาจารย์ที่เคารพอย่างสูง

หนูขอขอคุณในเมตตาอันสูงส่งของอาจารย์ที่ช่วยกรุณาชี้แนะให้แก่ผู้ที่มืดมนในปัญญาอย่างหนู

หนูมีคำถามจะรบกวนถามอาจารย์ ดังนี้ค่ะ
     คุณพ่อท่านชอบดื่มเหล้า เล่นการพนัน พูดเพ้อเจ้อ และไม่ค่อยมีความซื่อสัตย์ค่ะ สิ่งที่นำไปสู่ความเสื่อมทั้งหลายท่านไม่ละเลย ท่านรู้ผิดชั่วดีหมดค่ะแต่ท่านไม่ทำ หนูกลุ้มใจมากค่ะไม่รู้จะช่วยเหลือท่านยังไง หนูพาท่านไปปฏิบัติธรรมหลายครั้ง สื่อธรรมมะทุกอย่างพยายาม สรรหาให้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรรมมะ ซีดี ธรรมะ พาไปทำบุญ ท่านก็ทำเฉพาะที่อยู่ต่อหน้าหนู พอลับหลังก้อทำเหมือนเดิม หนูส่งเงินให้ท่านไว้ใช้จ่าย ท่านก็นำไปซือเหล้ากิน เล่นการพนัน ใช้ในทางที่ผิด ไปก่อหนี้ไว้หนูก้อตามจ่ายให้ พอจะเอาท่านมาอยู่ด้วยท่านก็ไม่มา ท่านมีปัญหาสุขภาพเยอะมากค่ะอาจารย์ หนูพยายามนำท่านไปรักษาตัว แต่ท่าน ไม่ดูแลตัวเอง หนูเลยตัดปัญหาโดยไม่ส่งเงินให้ใช้ เพราะกลัวท่านจะนำไปใช้ในทางที่ผิดอีก แต่ดูแลเรื่องอื่นแทน ไม่ทราบว่าหนูทำอย่างนี้ถูกหรือป่าวคะ แล้วหนูควรทำอย่างไรถึงจะนำท่านเข้ามา รู้ เห็น และมีธรรม ได้คะ อาจาย์ หนูจนปัญญาจริง ๆ อาจารย์โปรดเมตตาชี้แนะด้วยค่ะ

     หนูเปลี่ยนลิ้นหัวใจมาใส่ลิ้นหัวใจเที่ยมค่ะ(หนูเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว) พอทราบมาบ้างว่ามันมีอายุของลิ้นเที่ยมอยู่ได้ไม่นาน ก้อเลยใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ศีลห้าพยายามให้ครบ สวดมนต์ทุกวัน หลังสวดมนต์หนูจะนั่งสมาธิต่อแล้วแผ่เมตตา ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม(ตามแต่โอกาศเอื้ออำนวย) ฟังธรรมอยู่ประจำ หนูปฎิบัติธรรมมานานแล้วค่ะแต่รู้สึกว่าไม่ก้าวหน้าเลย เพราะทุกครั้งที่เข้าปฏิบัติธรรมก้อจะได้แค่ความรู้สึกสงบเฉย ๆ แล้วหนูเป็นลูกคนเดียวที่พ่อแม่พึ่งพาได้ในทางโลก ส่วนในทางธรรมหนูช่วยพวกท่านไม่ได้เลยหรือเป็นเพราะเหตุนี้หรือป่าวคะ ที่ทำให้หนูปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า หนูต้องทำอย่างไรคะอาจารย์ ขอความเมตตาชี้แนะด้วยค่ะ

     ขอขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงค่ะ ขอบคุณค่ะ

คำตอบ
    ไม่ส่งเงินให้ผู้อื่นนำไปใช้ในทางที่เป็นอกุศล ไม่ถือว่าเป็นบาป

    ผู้ใดจะหันมาและสนใจพัฒนาตัวเองในทางธรรม ผู้นั้นต้องมีศรัทธาในธรรมให้ได้ก่อน ดังนั้นผู้เป็นลูก จึงต้องพัฒนาจิตตัวเองให้มีธรรมคุ้มครองใจให้ได้ก่อน แล้วความศรัทธาในธรรมจึงจะมีโอกาสเกิดขึ้นกับผู้เป็นพ่อได้

     ปฏิบัติสมถภาวนาให้ถูกตรงได้แล้ว ความตั้งมั่นเป็นสมาธิของจิตย่อมเกิดขึ้น การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาให้ถูกตรงได้แล้ว ปัญญาเห็นแจ้งในดวงจิตย่อมเกิดขึ้น ทั้งสองแบบของการปฏิบัติเมื่อได้ผลถูกตรงแล้ว จึงจะเรียกว่าได้ผลก้าวหน้า หากได้ผลเป็นเพียงความสงบเพียงอย่างเดียวถือว่า ความก้าวหน้าในปัญญาเห็นแจ้งยังไม่เกิด

     ฉะนั้น ผู้ใดปรารถนาให้การพัฒนาจิตได้ผลเต็มร้อย ต้องทำจิตที่ตั้งมั่น ไปพัฒนาต่อด้วยวิปัสสนาภาวนา แล้วโอกาสมีปัญญาเห็นแจ้งจึงจะเกิดขึ้นได้ ผู้ที่ช่วยตัวเองได้อย่างนี้แล้ว โอกาสที่จะช่วยผู้อื่นให้เข้าถึงมรรคผล ย่อมมีได้เป็นได้
  

2132.
กราบเรียนดร.สนอง ที่เคารพ

     ดิฉันมีปัญหาที่จะรบกวนให้ท่านแนะนำค่ะ คือว่าคุณพ่อของดิฉันมีพ่น้องหลายคน มีน้องสาว 2 คน ยังไม่มีครอบครัว อายุ 50 ปีขึ้น อยู่คนละบ้านกับครอบครัวหนู แต่บ้านเราอยู่ใกล้กัน ทั้ง 2 คน ดูแลปู่กับย่า ปู่เดินไม่ได้ต้องคอยอุ้มอาบน้ำแต่ย่าเพิ่งเสียไปเมื่อไม่นานนี้ แต่ครอบครัวหนูก็จะไปมาหาสู่กันทุกวัน หลังจากย่าเสียไม่นานพ่อของหนูก็มีปัญหากันแรงมากกับอาทั้ง 2 คน ไม่มีใครยอมง้อกัน ทำให้พ่อไม่ได้ไปหาปู่เหมือนเคย พ่อของหนูหนักใจมากกลัวบาปที่ไม่ได้ไปหาปู่เลย เพราะปู่อายุมากแล้วถ้าเป็นอะไรไปจะเป็นบาปติดตัว อยากให้ท่านดร.แนะนำว่าพ่อของหนูควรจะทำอย่างไรดีค่ะเพื่อไม่ให้เกิดเวรกรรมติดตัว

      ขอกราบขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับคำแนะนำค่ะ

คำตอบ
     ผู้เป็นพ่อควรพัฒนาจิตให้มีเมตตา ด้วยการให้อภัยเป็นทาน แก่ทุกสิ่งที่เป็นเหตุขัดใจ หากทำได้แล้ว ย่อมมีอารมณ์สงบเย็น มีมนุษย์และอมนุษย์ เข้าใกล้
  

2131.
เรียนท่านอาจารย์สนองค่ะ

     หนูมีโอกาสไปเจริญวิปัสสนาเป็นครั้ง เมื่อ2-3วันแรกก็เริ่มจะดีแล้วค่ะ แต่พอวันต่อๆมา มีน้องคนนึงเค้าชอบมากวน มาแตะตัวเรียกอ้างว่าแม่ชีใช้อยู่เรื่อย ทุกครั้งที่เค้าอยุ่ในห้องนั้นเค้าก็มากวนเรื่อยๆ ในใจกนึกว่ายังเป็นด็กอยู่ ตอนจะลาศีลก้ออโหสิให้เค้าต่อหน้าพระพุทธรูปไปแล้วละค่ะ เพราะในใจก็คิดว่าเราคงเคยไปรบกวนเค้ามาก่อน เค้าเลยมากวนเราบ้างเลยอโหสิไปนะค่ะ แต่มาตอนนี้ก็รู้สึกเสียดายเวลาที่มี่โอกาสได้ไป และนึกโมโหเค้าอยู่เป็นเนืองๆ ก็เลยอยากถามท่านอาจารย์สนองว่า

     1. การอโหสิกรรมที่ผ่านไปแล้ว และ ณ ปัจจุบันเรายังแอบเคืองๆน้องเค้าอยู่เนี่ยเป็นบาปมั้ยค่ะ แล้วผลอโหสิกรรมจะเป็นผลสำเร็จมั้ยค่ะ และจะเป็นบาปหรือไม่ หรือ ที่หนูคิดเสียดาย โมโห เป็นเพียงสัญญาค่ะ (เพราะตอนนปฏิบัติก็แอบเสียดายเวลาและโมโหเหมือนกันค่ะ)

     2. ถ้าเราเคยปรามาสพระที่มีคุณธรรมสูงๆ แต่ไม่ได้ตั้งใจแต่ประการใด แต่เพราะฟุ้งซ่าน ถ้าจะขอขมาท่านเราจะต้องทำอย่างไรบ้างค่ะ จะต้องเตรียมอะไรไปขอขมาท่านบ้างค่ะ

     3. ถ้าคนเรามีเวรผูกกันมากระทำชั่วต่อกันมา ตามกฏแห่งกรรมจริงหรือไม่ค่ะ ถ้าจะให้หมดเวรหมดกรรมต่อกันจะต้องอโหสิกรรมให้แก่กันและกันทั้ง 2 ฝ่าย ถึงแม้ฝ่ายใดอโหสิกรรมให้แต่่อีกฝ่ายไม่อโหสิกรรม ฝ่ายที่ไม่อโหสิกรรมก็จะตามราวีอยู่อย่างนั้นจริงหรือค่ะ

     สุดท้ายนี้ขอกราบขอบพระุคุณท่านอาจารย์สนองค่ะที่เมตตา และหนูเองเคยมีอคติกับอาจารย์สุดท้ายนี้หนูกราบขอโทษ ขออโหสิกับอาจารย์ด้วยนะค่ะ

คำตอบ
      (๑) เมื่อใดจิตมีอารมณ์ขุ่นเคือง ( เสียดาย โมโห ) เกิดขึ้น เมื่อนั้นบาปได้เกิดขึ้น ผู้รู้ย่อมให้อภัยเป็นทานในทุกเหตุที่ทำให้ขัดใจ แล้วเมตตาย่อมเกิดขึ้นตามมา อารมณ์ขุ่นเคืองจึงจะหายไปได้ หรือหากรู้จริงแท้ว่าตนเคยทำกรรมไม่ดีไว้ก่อน เมื่อกรรมให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ตนย่อมยอมรับผลของกรรมโดยดุษณี จนกว่าหนี้เวรกรรมจะชดใช้ได้หมดสิ้น

     (๒) นำดอกไม้ ธูปเทียน ไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แล้วสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เมื่อสวดจบแล้ว ต้องกล่าววาจาขอขมากรรมที่เคยปรามาส ( ดุถูก ) พระผู้ทรงคุณธรรมสูง หลังจากขอขมากรรมแล้วต้องมีสัจจะ ไม่ปรามาสผู้อื่นใดอีกต่อไป

     (๓) กฎแห่งกรรมมีจริง และมีผลต่อชีวิตของสรรพสัตว์จริง ส่วนอโหสิกรรมต้องรับรู้ด้วยกันทั้งสองฝ่าย แต่การอโหสิกรรมที่ดีที่สุดคือ พัฒนาจิตตนเองจนเห็นสรรพสิ่งเป็นอนัตตาได้แล้ว หนี้เวรกรรมย่อมหมดโอกาสให้ผลในชาติหน้าได้
  

2130.
กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพ

     หนูอยากถามว่าหนูนั่งสมาธิสายยุบหนอ พองหนอ มีอยู่ครั้งหนึ่งสามารถกำหนดได้ทันนั่งได้ถึง 2 ชั่วโมงแต่เหมือนนั่ง 5 นาที อาการที่เกิดขึ้นเป็นสมาธิขั้นใด แล้วตอนนี้หนูนั่งสมาธิได้ดีขึ้น เนื่องจากตอนกลางพยายามกำหนดสติให้รู้ตัวแบบของหลวงพ่อเทียน แต่หนูไม่เข้าใจว่าถ้านั่งสมาธิจนจับลมหายใจไม่ได้หนูควรทำอย่างไร และ การพิจารณากฎไตรลักษณ์เราควรคิด นึกเหตุการณ์เอาเองหรือ รอให้ความคิดมันเกิดแล้วดู พิจารณา การนั่งกำหนดเวทนา เราควรต้องอดทนจนมันแตกไปหรือไม่บางทีทนได้แค่ 2 ชั่วโมง ก็ทนไม่ไหว

      กรุณาชี้แนะด้วยคะขอบคุณมากคะ
        รักและเคารพ / ต๊อก

คำตอบ
     อาการที่เกิดขึ้นเป็นสมาธิขั้นที่เรียกว่า จิตตั้งมั่นแน่วแน่ ( อัปปนาสมาธิ )

     ควรถอยจิตให้ลงมาตั้งมั่นอยู่ในระดับจวนแน่วแน่ ( อุปจารสมาธิ ) ด้วยการอธิษฐานจิตก่อนนั่งภาวนาว่า เมื่อใดจิตเข้าถึงความตั้งมั่นแน่วแน่แล้ว ให้ถอนจิตมาตั้งมั่นเป็นสมาธิในขั้นจวนแน่วแน่ แล้วจิตจะเกิดผัสสะอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับ กาย เวทนา จิต หรือธรรม ต้องใช้จิตตามดูผัสสะว่าดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อใดผัสสะเข้าสู่ความเป็นอนัตตา ปัญญาเห็นแจ้งในผัสสะนั้นจึงจะเกิดขึ้น ทุกผัสสะต้องพิจารณาตามหลักการนี้
  

2129.
กราบเรียนอาจารย์สนอง วรอุไร ที่เคารพอย่างสูง

เมื่อผมได้ไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งหนึ่งและเริ่มเข้าใจสมมติ และเห็นความเป็นอนัตตา
โดยก่อนไปปฏิบัติธรรมที่วัดแห่งนั้นผมสงสัยว่าสักกายทิฏฐิ และ มานะ ในสังโยชน์ ๑๐ ต่างกันอย่างไร เพราะเข้าใจด้วยปัญญาทางโลกว่า ไม่มีตัวตนเราเขาแล้วจะมีความถือตัวถือตนได้อย่างไร
ถ้าไม่มีสักกายทิฏฐิก็น่าจะไม่มีมานะด้วย และตอนนี้ผมเข้าใจแล้วด้วยการโยนิโสมนสิการว่า สักกายทิฏฐิต่างจากมานะ เพราะผมเข้าใจว่าความจริงไม่มีตัวตนเราเขา
มานะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผมยังต้องละให้ได้

ผมมีคำถามคือ
๑. ที่ผมบอกเล่าไปนั้นเป็นความเข้าใจถูกตรงตามธรรมหรือไม่
ถ้ายังไม่ใช่และผมมีข้อที่ต้องแก้ไขประการใด
ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ

๒. ผมควรปฏิบัติต่อไปอย่างไรเพื่อปิดอบายภูมิให้ได้ในชาตินี้

กราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง
สราวุฒิ

คำตอบ
      คำว่า “สักกายทิฏฐิ” หมายถึง การมีความเห็นผิดว่าเป็นตัวของตน เช่น เห็นว่าร่างกายเป็นลักษณะที่แสดงถึงภาวะการดำรงอยู่ของคนหรือสัตว์ว่ามีอยู่จริง ตรงกันข้าม ผู้ใดมีความเห็นถูก ย่อมเห็นว่าร่างกายของคนหรือสัตว์ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงสมมุติที่เกิดขึ้นชั่วคราวแล้วหายไป ผู้ที่เห็นเช่นนี้ย่อมคลายความเห็นผิดลงได้

     ส่วนคำว่า “มานะ” หมายถึง สำคัญตัวเองว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น ฉันเป็นคนวรรณะสูงสุด ( พราหมณ์ ) เธอเป็นคนชั้นต่ำ ( ศูทร ) จะมาเป็นนักบวชอย่างฉันไม่ได้

     (๑) ผู้ใดเห็นถูกว่า เมื่อไม่มีตัวตนเราเขาแล้ว ความถือตัวถือตน ย่อมหมดไปจากใจ

     (๒) หากผู้ถามปัญหาประสงค์จะปิดอบายภูมิ ต้องใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดอย่างน้อย สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ให้หมดไปจากใจได้เมื่อใด ตายแล้วจะไม่ลงไปเกิดในทุคติภพ ( ปิดอบายภูมิ ) ตายแล้วเกิดอีกไม่เกิดเจ็ดชาติ จิตวิญญาณย่อมโคจรเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า นิพพาน
  

2128.
อยากขอคำแนะนำจากท่านหน่อยค่ะ

คือหนูููููและเพื่อนได้ไปค่ายนั่งสมาธิกับทางชมรมของมหาวิทยาลัย หลังจากกลับมาเพื่อนคนนั้นก็ได้นั่งสมาธิต่อเนื่อง และได้พบความอัศจรรย์บางอย่างขณะนั่งสมาธิ จึงคิดว่าชมรมนี้สามารถเป็นที่พึ่งให้กับเขาได้ และจากนั้นได้ทุ่มแต่เวลาส่วนใหญ่ไปกับทางชมรม ช่วยงานพี่ๆในชมรมจนไม่ค่อยได้เข้าเรียน ถึงกับต้องทิ้งคาบเรียนหลายวันเพื่อไปจัดงานของทางชมรมนี้

หนูคิดว่าการปฏิบัติธรรมและการนั่งสมาธิที่เขาทำเป็นสิ่งที่ดี ถ้าไม่ติดตรงที่พี่ๆในชมรมใช้งานเพื่อนของหนูหนักเกินไปสำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่ง และเพื่อนหลายคนสังเกตถึงพฤติกรรมของพี่กลุ่มนั้น ว่าเคร่งกับวัดๆหนึ่งจนมากเกินไป และพูดถึงคนที่ออกจากชมรมนี้ไปในทางที่ไม่ดีเลย (หนูก็กลัวโดนเอาไปพูดไม่ดีเหมือนกัน เพราะไม่ค่อยได้ช่วยงานชมรม)

หนูเตือนเพื่อนหลายครั้งเเล้วเขาก็ยังไม่ยอมเชื่อ เพราะเขาเป็นคนค่อนข้างจะหัวเเข็งไม่เปลี่ยนความคิดอะไรง่ายๆ แต่อยู่ๆก็มาทุ่มเทชีวิตให้กับชมรมนี้ อย่างไม่ลืมหูลืมตา ไม่รู้ว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ได้อย่างไร เพื่อนหลายคนเตือนเเล้วก็ไม่ได้ผล

ท่านเป็นผู้ที่มีปัญญามาก ได้โปรดกรุณาแนะนำด้วยว่า จะบอกเพื่อนคนนี้อย่างไรดี หรือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขากระทำได้ถูกต้องเเล้วไม่ต้องทำอะไร หรือว่าเป็นเพราะหนูอิจฉา ที่เพื่อนให้ความสำคัญกับชมรมนี้มากกว่าหนู หนูจึงคิดมากไปเองทั้งๆที่เพื่อนอาจทำถูกแล้ว

ขอความกรุณาช่วยให้คำแนะนำในการลดความอิจฉานี้ด้วยค่ะ
ตอนนี้เพื่อนหนูยอมละทิ้งการเรียนหมด เเล้วยอมหลุดทุนพสวท.เพื่อทุ่มเทกับงานชมรมไปแล้วค่ะ

คำตอบ
      ผู้เห็นผิดย่อมไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ ( เรียนให้สำเร็จ ) ตามความคาดหวังของผู้อุปการะ และผู้มีความเห็นถูก ( สัมมาทิฏฐิ ) ย่อมไม่เข้าไปก้าวล่วงในชีวิตของใครผู้ใด เว้นไว้แต่ว่า ผู้เห็นผิดเกิดความศรัทธาในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม จึงจะยอมรับคำตักเตือนของผู้หวังดีได้
  

2127.
กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพค่ะ

หนูฝึกสมาธิมาได้หลายปีแล้ว ก็พบว่าแบบพองหนอ ยุบหนอ ก็เหมาะกับหนูนะคะ แต่หนูทราบมาว่ามีการฝึกสมาธิแบบ กสิณด้วย หนูอยากลองฝึกดูบ้างน่ะค่ะ อาจารย์ว่าหนูจะเปลี่ยนดีไหมคะ แล้วหนูควรจะฝึกกสิณแบบไหนดี คะ

กราบขอบพระคุณอย่างสูง
ผู้อยากรู้

คำตอบ
     กรรมฐานบทใด เมื่อนำมาใช้พัฒนาจิต ( สมถภาวนา ) แล้วทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ กรรมฐานบทนั้นย่อมเหมาะกับจิตของผู้ปฏิบัติ ผู้ถามปัญหาได้ใช้บทกรรมฐาน พองหนอ - ยุบหนอ มาพัฒนาจิต แล้วทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ ควรใช้กรรมฐานบทนั้นต่อไป และต่อยอดด้วยการพัฒนาจิต ( วิปัสสนาภาวนา ) ตามแนวของสติปัฏฐาน ๔ แล้วปัญญาเห็นแจ้งจึงจะเกิดขึ้นได้
  

2126.
คำถามถึง ดร.สนอง วรอุไร

1. คำว่า "บอกบุญ" ในกรณีที่วัดตั้งตู้รับบริจาคที่ระบุป้าย เช่น "ค่าน้ำ ค่าไฟ" ถือว่าเป็นการบอกบุญหรือเปล่า ช่วยอธิบาย

2. ถ้าพระนำเงินที่ได้จากตู้บริจาคไปใช้นอกเหนือจากที่ป้ายบริจาคระบุไว้ เช่น
     2.1 ป้ายระบุว่า ค่าน้ำ ค่าไฟ แต่นำไปซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัด ได้หรือไม่ ช่วยอธิบาย
     2.2 ป้ายระบุว่า ค่าน้ำ ค่าไฟ แต่นำไปสงเคราะห์ ช่วยเหลือ คน ชาวบ้าน ที่เดือดร้อน ได้หรือไม่ ช่วยอธิบาย
     2.3 ถ้าพระหรือผู้ที่ทำหน้าที่ในการใช้จ่ายเงินที่ได้จากตู้บริจาค ที่จิตที่ไม่ยึดติดในมูลค่าของเงิน นำเงินไปใช้จ่ายทั่วๆ ไป ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ตู้บริจาคระบุไว้ ได้หรือไม่ เพราะอะไร และจะมีผลอย่างไร ช่วยอธิบาย

      ขอบพระคุณอย่างสูงครับ

คำตอบ
      (๑) คำว่า “บอกบุญ” หมายถึง ชักชวนให้มาทำบุญด้วยกัน ใครผู้ใดศรัทธาให้ทรัพย์เป็นทาน ( ค่าน้ำ ค่าไฟ ) ก็สามารถนำเงินไปใส่ลงในตู้รับบริจาคได้

     (๒) ตู้รับบริจาคระบุว่า จะนำไปจ่ายเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ แล้วมีผู้ศรัทธานำเงินไปใส่ลงในตู้รับบริจาคดังกล่าว ด้วยมีเจตนาให้ทรัพย์เป็นทานเฉพาะค่าน้ำ ค่าไฟเท่านั้น
       ๒.๑ หากผู้ที่มีหน้าที่รับเงินบริจาค ไปใช้ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดสามารถทำได้ แต่ผลที่เกิดจากการกระทำดังกล่าว ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของผู้บริจาค การกระทำในลักษณะนี้ให้ผลเป็นบาป
      ๒.๒ เช่นเดียวกับข้อ ๒.๑ ผลจากการทำกรรมไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของผู้บริจาค บางคนเรียกว่าเป็นการย้ายฐานเจดีย์ มีผลเป็นบาปเกิดขึ้นกับผู้ที่ประพฤติเช่นนั้น
      ๒.๓ ผู้ที่มีความเห็นผิด ( มิจฉาทิฏฐิ ) สามารถนำเงินไปใช้ในกิจอย่างอื่นได้ แต่ผู้มีความเห็นถูก ( สัมมาทิฏฐิ ) มิบังอาจประพฤติเช่นนั้นเพราะเมื่อตายไปแล้ว บาปย่อมมีพลังผลักดันจิตวิญญาณไปสู่ทุคติภพได้  
  

2125.
กราบเรียน ดร.สนอง วรอุไร

     ผมมีปัญหามากมายเลยครับ ดร. คือผมเป็นคนที่ขี้กลัวมากๆ ผมกลัวว่าผมจะตายทั้งๆที่ผมรู้ว่าคนเราเกิดมาต้องตาย แต่ผมยังยอมรับมันไม่ได้มันทำให้ผมปฏิบัติไม่คืบหน้าเลยครับ เพราผมยังมีความกลัวใช่มั้ยครับ ผมเป็นคนที่มีสมาธิสั้นมากเลยครับ ไม่สามารถนั่งนับลมหายใจได้นานๆ ดร.ช่วยชี้แนะแนวทางให้ผมอย่างละเอียดหน่อยได้มั้ยครับ เพราะผมรู้ตัวว่าผมมีความกลัวเป็นอารมณ์อยู่ทุกๆวัน เวลากลัวผมก็นับลมหายใจแต่มันได้แปปเดียวครับ ความกลัวมันทำให้ผม นอนไม่หลับ กินไม่อิ่ม ไม่ร่าเริง และก็ทำอะไรๆไม่ได้เต็มที่ ความกลัวของผมก็คือ ผมกลัวภัยธรรมชาติครับ ทุกวันนี้มันรุนแรงมาก ผมกลัวมาตั้งแต่เด็กๆเกี่ยวกับพายุและฝนตกหนัก แต่ตอนนี้มันมีเพิ่มมาหลายอย่างแล้วครับ ดร.โปรดมีเมตตา ช่วยสงเคราะห์ผมให้ไปในทางที่ต้องไปหน่อยครับ ผมต้องการความสงบ และไม่อยากลงมาเกิดบนโลกใบนี้อีกแล้ว แต่เป็นเพราะผมมีบารมีไม่พอ ยังกลัว ยังหวังอยู่อีกหลายๆอย่างนะครับ

     ผมอยากไปปฏิบัติธรรมที่วัด แต่ผมไม่ค่อยกล้าออกจากบ้าน เพราะผมเป็นห่วงแม่ แม่สุขภาพไม่ค่อยจะดี และผมกลัวว่าออกไปแล้ว ฝนจะตกหนัก พายุจะมา เลยไม่กล้าไปไหน ดร.เมตตาผมหน่อยนะครับ ความกลัวทำให้ผมเป็นทุกข์มากแล้วครับ ผมมองหาทางออกไม่เจอแล้วครับ

      ผมมีเรื่องอยากถาม ดร.นะครับ คือว่าผมอยากบวช แต่แม่ไม่ค่อยสบาย ผมควรทำยังไง อีกอย่างคือ ภัยพิบัติครั้งใหญ่กำลังจะเกิดขึ้นจริงเหรอครับ ถ้าจริงเราควรปฏิบัติตัวยังไง

     กราบขอบพระคุณ ดร.สนอง มากๆเลยครับ ที่สละเวลาตอบคำถาม ของผู้ที่ตาบอดคนนี้ให้มองเห็นทางสว่่าง นะครับ

คำตอบ
     ความกลัวเกิดขึ้นจากเหตุแห่งความไม่รู้จริง ผู้ถามปัญหาควรใช้มรณสติ มาเป็นองค์บริกรรมให้จิตเกิดสติ จึงจะมีโอกาสพ้นไปจากความกลัวได้

     ภัยธรรมชาติไม่มีใครสามารถแก้ไขได้ แต่มีใคร ( ผู้รู้จริง ) สามารถป้องกันตัวเองได้ ด้วยการเอาธรรมะมาคุ้มรักษาใจ ธรรมะเบื้องต้นที่บุคคลควรทำให้เกิดขึ้นกับจิตของตัวเอง คือ เอาศีล ๕ และสติมาคุ้มรักษาใจให้ได้ทุกขณะตื่น เพราะคุณธรรมทั้งสอง รักษาคนมิให้ประมาท และหากผู้ใดพัฒนาชะตาชีวิต ให้เป็นผู้มีดวงดี ด้วยการปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา จนคุณธรรมทั้งสามให้ผลแล้ว ดวงชะตาย่อมดีแน่นอน

     สำหรับผู้ถามปัญหาควรทำปัจจุบันให้ดี ด้วยการไหว้พระสวดมนต์ก่อนนอน หลังจากนั้นเอากรรมฐานที่ถูกกับจริต ( มรณสติ ) มาบริกรรม แล้วสมาธิย่อมเกิดได้ง่าย จากนั้นทำตัวเองให้มีศีล มีสัจจะและมีความเพียรเป็นแรงสนับสนุน แล้วปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นจึงจะหมดไปได้
  

2124.
กราบเรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพอย่างสูง

     ผมมีเรื่องอยู่ว่า เมื่อผมกลับจากต่างประเทศแล้ว จะบวชพร้อมกับน้องให้กับพ่อแม่ โดยผมจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด และผมก็บอกกับแม่ว่า ไม่เอาวงดนตรีมาเล่นในงานผมเห็นว่ามันไม่จำเป็น และสิ้นเปลื้องโดยไม่เกินประโยชน์ เพราะวงดนตรีนั้นเป็นพวกแต่งตัวไม่สุภาพนุ่งน้อยห่มน้อย ดูแล้วเกิดตัณหาราคะ ไม่เหมาะสมที่จะเอามาเล่นในงานบวช แต่แม่ว่าต้องเอามาเล่นให้ได้เพราะว่าจะได้ให้แขกได้ดูได้ตอบแทนเขา ที่เขามาร่วมงานมันจะได้ดูไม่น้อยหน้าจนเกินไป ก็เกินการโต้เถียงกันในเหตุผลของแต่ละคน ในที่สุดแม่ก็บอกว่าถ้าไม่พอใจก็ไม่ต้องบวชก็ได้จะบวชเอาแต่น้อง ส่วนตัวผมจะไปหาบวชที่ไหนก็ไป หาว่าผมเป็นคนใจดำไม่เอาหน้าพ่อแม่พี่น้อง ผมก็บอกไปว่าไม่บวชก็ได้ ถ้ามีวงดนตรีมาเล่นจะไปหาที่บวชเอง มันไม่เหมาะสมผมก็ไม่ทำตามเด็ดขาด ผมก็ยังยืนยันเจตนาอย่างหนักแน่นอยู่เหมือนเดิม แม่ผมรู้สึกเสียใจ และผิดหวังอย่างมากที่ผมไม่เชื่อฟัง รู้สึกว่าท่านจะกลุ้มและเป็นทุกข์อย่างมาก ผมก็เสียใจที่ทำให้ท่านเป็นอย่างนั้น

     ขอคำชี้แนะจากท่านอาจารย์ด้วยครับ ว่าผมควรจะทำอย่างไร เพราะผมกล้วบาปที่ทำให้ท่านเป็นทุกข์ การกระทำของผมมันแข็งกร้าวเกินไปหรือเปล่า?

คำตอบ
    ผู้ถามปัญหาให้เหตุผลถูกตรงตามธรรมแล้ว แต่แม่ไม่เห็นด้วยเพราะเห็นผิดไปจากธรรม … พฤติกรรมของลูกไม่ถือว่าเป็นบาป

     ในครั้งพุทธกาล พระเจ้าสุปปพุทธะ ( พ่อตา ) มีความเห็นผิดไปจากธรรม จึงมีพฤติกรรมต่อต้านพระพุทธโคดม ( ลูกเขย ) ผลที่สุดถูกธรณีสูบลงไปเกิดเป็นสัตว์นรก กรณีเช่นนี้พระพุทธเจ้าปล่อยวางใจเป็นอุเบกขา เพราะพระเจ้าสุปปพุทธะมีชีวิตเป็นของตัวเอง ต้องบริหารจัดการด้วยตัวเอง แต่บริหารชีวิตไปในทางที่ผิด เช่นเดียวกับ อุปติสสะ ( พระสารีบุตร ) อุปเสนะ จุนทะ ขทิ น้องชายของอุปติสสะ ได้แก่ จาลา อุปจาลา และสีสุปจาลา ออกเป็นภิกษุณี ทั้งนี้เป็นด้วยเหตุนางสารี ( แม่ ) มีความเห็นผิดไปนับถือท้าวมหาพรหม บรรดาลูกชายและลูกสาวจึงหนีไปบวช ต่อมาพระสารีบุตรไปช่วยแม่ ( นางสารี ) ให้กลับมามีความเห็นถูก และมีจิตบรรลุโสดาปัตติผลได้

     ดังนั้นผู้ถามปัญหาต้องใช้ปัญญาของตัวเอง บริหารจัดการชีวิตตามที่ชอบเถิด
  

2123.
กราบเรียน ท่านอาจารย์ ดร. สนอง วรอุไร

     1. กระผมได้สวด บทพาหุง หรือ บท ถวายพรพระ เป็นประจำก่อนไปทำงาน หรือเดินทาง และก็หลังได้ ปฏิบัติ กรรมฐาน เคยได้ยิน ท่านอาจารย์พูดไว้ว่า ตัวท่านอาจารย์ ก็สวดเป็นประจำ ส่วนกระผมเอง เวลาสวดจะนึกถึงความหมาย ตามบทนั้นๆ และชอบนำไปเป็นสติเวลาเจอกับเรื่องที่้ตรง กับ บทสวด ว่า พระพุทธเจ้า ท่าน ได้ชนะมารด้วยวิธีใด กระผมเลยเอา มาชนะจิตใจและแก้ไข สิ่งที่เกิดในงานที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากคนหรือเครื่องจักร กระผมจะนำไปใช้ สอนตัวเองตลอดเวลา อย่างนี้ ถูกต้องหรือไม่ครับ

     2. กระผมได้ นำคำท่านอาจารย์ที่ได้เตือนสติ ในคำว่า "น้ำชาล้นถ้วย" กระผมนำเป็นเครื่องเตือนสติ และสอบตัวเองตลอดเวลา ก็ได้อ่านบทบรรยาย ของพระครู เกษมธรรมทัต วัดมเหยงค์ จ.พระนครศรีอยุธยา จึงได้เข้าใจคำว่า "น้ำชาล้นถ้วย" ของท่านอาจารย์ ดร.สนอง มากยิ่งขึ้น แล้วยิ่งอ่าน บทบรรยายธรรม ของ พระครู เกษมธรรมทัต "ดูผู้รู้" กระผมก็ได้ นำมาสังเกตุ ตัวเอง ตลอดเวลา ผสมกับตัวเองได้ไปฝึก กับ หลวงพ่อ จรัญ วัด อัมพวันสิงห์บุรี ในเบื้องต้น
ทำให้อ่านหรือฟัง การบรรรยายเรื่องธรรมะ จะไม่รู้สึกยึดว่า ที่ตัวเองทำอยู่ดีอยู่แล้ว แต่กับได้ ธรรมะ เข้ามาพิจาราณา เยอะขึ้น เข้าใจขึ้น ขจัดน้ำในถ้วยชา เพื่อรับสิ่งใหม่ได้ตลอดเวลา ทำให้ตอนนี้ ปรับวิธีที่ปฏิบัติ ทำให้รู้สึก โปร่งขึ้นเบาขึ้น เป็นกลางขึ้น รับแล้ววาง รับใหม่วางใหม่ แบบนี้ ยังถูกต้องหรือเปล่าครับ

     3. จากที่ปฏิบัติมา มีวันหนี่งที่กระผม ได้ตื่นขึ้น ก็จะฝึกกำหนดตื่น ให้ได้ประจำ พอตื่น สิ่งที่่แว็บมาก่อนกำหนดคือ เบื่อกับที่จะต้องตื่น แล้ว คือไม่ได้เบื่อแบบขี้เกรียจนะครับ แต่เบื่อแบบ ปลงน่ะครับ ตัวเองก็กำหนด ตื่นหนอๆๆ ก็หายไป แต่กับ รู้สึกดี ตื่นแบบสบายใจ แล้วก็กำหนดได้ เมื่อเวลาตื่นต่อๆมา สดชื่นตลอดตั้งแต่นั้นมา แบบนี้เรืยกว่า ถูกทางหรือเปล่าครับ

     รบกวนถามท่าน อาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร แค่นี้ครับ

     ขอพระคุณท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ที่สละเวลามาตอบคำถาม สิ่งที่เคยคิดไม่ดีกับ ท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ขอให้ท่าน ดร.สนอง วรอุไร อโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้า ด้วยเทิอญ

     นาย อรุณ สุดวิลัย

คำตอบ
    (๑) โปรดเข้าใจให้ถูกตรงว่า ในขณะที่ผู้ตอบปัญหาไปฝึกพัฒนาจิตอยู่กับท่านเจ้าคุณโชดก ผู้ตอบปัญหาต้องไหว้พระสวดมนต์ก่อนปฏิบัติธรรมทุกครั้ง

     ผู้ถามปัญหาสวดมนต์ด้วยมีปรารถนา ให้จิตมีกำลังของสติเพิ่มขึ้น ขณะสวดมนต์ต้องเอาจิตจดจ่ออยู่กับบทมนต์ที่สวด การระลึกถึงความหมายของบทมนต์เป็นเรื่องของปัญญา ตัวอย่างเช่น พระพุทธโคดมเอาชนะมารได้ด้วยพระปัญญา ( มิได้เนื่องด้วยการสวดมนต์ ) ฉะนั้นผู้ถามปัญหาพึงพัฒนาจิตให้เกิดโลกุตตรปัญญา แล้วใช้ปัญญานั้นปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมของตนเองให้ถูกตรงตามธรรม และใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาการทำงานให้กับสังคม อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ถูกต้องตามธรรม

     (๒) ถูกครับ และถูกยิ่งขึ้น หากปล่อยวางกิเลสที่ผูกมัดใจ ( สังโยชน์ ๑๐ ) ไม่ให้เข้ามามีอำนาจเหนือใจได้แล้ว กิจที่ต้องทำให้กับชีวิตนี้เป็นอันจบสิ้น

     (๓) เมื่อมีอารมณ์เบื่อเกิดขึ้น แล้วไปกำหนดว่า “เบื่อหนอๆๆๆๆ” เป็นการทำให้อารมณ์เบื่อหายไป ด้วยมีสติกลับคืนมา ผู้รู้ไม่กำหนดเช่นนั้น แต่ผู้รู้เอาจิตตามดูอารมณ์เบื่อว่าดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อใดอารมณ์เบื่อหมุนเข้าสู่ความเป็นอนัตตา อารมณ์เบื่อย่อมหายไปพร้อมกับมีปัญญาเห็นแจ้งเกิดขึ้น แล้วทำให้จิตเกิดญาณหยั่งรู้อันใคร่จะพ้นไปเสียจากอารมณ์เบื่อนั้น ( มุจจิตุกัมยตาญาณ ) อย่างนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทาง ที่นำจิตไปสู่ความพ้นทุกข์ … . อโหสิครับ
   

2122.
คำถามวิปัสสนากรรมฐาน

     ข้าพเจ้าปฏิบัติแบบวิปัสสนากรรมฐาน เริ่มจากกับคณะคุณแม่สิริ กรินชัย แล้วปฎิบัติต่อที่บ้านเป็นหลัก การปฏิบัติข้าพเจ้าไม่หวังผลจากการปฏิบัติแต่ปฏิบัติด้วยความตั้งใจ แต่นั่นทำให้สภาวะเกิดขึ้นต่อเนื่องตามลำดับเรื่อยมา เมื่อติดขัดข้าพเจ้าก็ไปปฏิบัติที่วัดแล้วพระอาจารย์จะให้คำแนะนำ ข้าพเจ้าก็ฟังธรรมบรรยายของอาจารย์ด้วย ขอถามและขอคำแนะนำหน่อยค่ะ

     1.เมื่อก่อน นอนปฏิบัติภาวนานอนหนอๆๆก็หลับค่ะ ไม่ฝัน หลับสนิท ตื่นตามเวลาที่กำหนดโดยไม่ต้องใช้นาฬิกาปลุก แต่..ปัจจุบัน เวลานอนภาวนานอนหนอๆๆ จนกระทั่งตืนมาอีกทีเช้าแล้วตามเวลาที่กำหนด แต่เหมือนผ่านไปประมาณ30 นาทีเหมือนยังไม่ได้นอนแบบหลับ รู้สึกเพลียที่ยังไม่หลับแต่ก็ไม่เหนื่อยค่ะ หลังจากนั้นเหมือนกันค่ะอยากหลับก็ต้อง ไม่ภาวนา

     2.ขณะปฏิบัติลมหายใจเข้า-ออกแผ่วเบาลงเรื่อยๆ จนเกือบขาดแต่ไม่ขาดไป คนเราเมื่อจะตายลมหมดก่อนใช่ไหมคะ? แล้วทำครั้งหลังลมหายใจเหมือนขาดไปสัก 2 วินาที (รู้สึกอย่างนั้น) เลยออกจากสมาธิแบบกระทันหันเหมือนปลาอยู่บนเขียง

      3.ปัจจุบันข้าพเจ้ารู้สึกไม่สุขแต่ก็ไม่ทุกข์เหมือนเฉยๆ ไม่ลบ(-) ไม่บวก(+) อยู่ที่ศูนย์ แต่ยังยินดีเมื่อเห็นคนอื่นทำดีและ รักษาศีล5 อย่างเคร่งครัด แม้ว่า สามีของข้าพเจ้าจะเอาใจใส่ทำดีเพียงใด เมือถามข้าพเจ้าว่ามีความสุขไหม? ข้าพเจ้าก็ตอบเลี่ยงๆว่าก็ดีค่ะ (ไม่อยากโกหกและรักษาน้ำใจ) ข้าพเจ้ากำหนดอิริยาบทย่อยแล้วนั่งสมาธิเลยค่ะ ไม่ค่อยเดินจงกรมก่อน และภาวนาแทรกอยู่ในชีวิตประจำวันเลย จะนั่งหรือนอนปฏิบัติเมื่อเกิดสภาวะธรรม แล้วก็ออกจากสมาธิอย่างน้อยประมาณ 30 นาทีไม่เกิน1ชั่วโมง ขอความกรุณาอาจารย์แนะนำว่าข้าพเจ้าควรปรับปรุง แก้ไขอะไร อย่างไร เพื่อนำไปปฏิบัติต่อไป..

    ขอบพระคุณค่ะ..

คำตอบ
     (๑) เป็นเพียงเรื่องบอกเล่า มิได้ถามปัญหา จึงไม่สามารถชี้แนะได้

     (๒) ใช่ครับ

     (๓) เมื่อเห็นคนอื่นทำความดี แล้วมีใจยินดี และยังไม่อยากโกหกเพราะรักษาน้ำใจ นั่นเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ผู้ถามปัญหายังมีสภาวธรรมในดวงจิตเป็นปุถุชน ผู้ใดปรารถนาก้าวข้ามความเป็นปุถุชน ผู้นั้นต้องกำจัดความยินดีและความความอยากรักษาน้ำใจ ( กิเลส ) ให้หมดไปจากใจ ด้วยเอาจิตตามดูกิเลสว่าดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อใดจิตเห็นกิเลสว่าเป็นของที่มิใช่ตัวตน ( อนัตตา ) จิตย่อมปล่อยวางกิเลส แล้วปัญญาเห็นแจ้งจึงจะเกิดขึ้น เมื่อนั้นสภาวธรรมในดวงจิต จึงจะเปลี่ยนจากความเป็นปุถุชน ไปเป็นอริยบุคคลได้
   

2121.
กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพ

    สวัสดีค่ะ ตอนนี้หนูมีความกังวลใจมาก เนื่องจากหนูกระทำสิ่งที่ผิดศีลข้อ 3 ซึ่งทำให้ครอบครัวไม่สบายใจ ตัวหนูเองก็ไม่สบายใจด้วย แต่ก่อนหนูเคยทำผิดและบอกกับตัวเองว่าจะไม่ไปทำอีก เพราะพระอาจารย์ท่านก็เตือนหนู หลังจากนั้นมาประมาณหนึ่งปีเต็ม ครั้งนี้หนูอยู่กับแฟนสองต่อสอง อารมณ์มันพาไปเองค่ะ ตอนนั้นขาดสติมากเลยทั้งคู่ ซึ่งมาถึงตอนนี้หนูกับแฟนก็ตั้งใจนะคะ ว่าจะไม่ทำอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สบายใจอยู่ตลอดค่ะ

     เดือนที่แล้วหนูก็ไปปฏิบัติธรรมที่วัด ตั้งหลายวัน แล้วก็อธิษฐานจิต ขอให้อย่าทำชั่ว แต่ทำไมคำอธิษฐานของหนูไม่ประสบความสำเร็จหรอคะ ตอนนี้หนูไม่มีความสุขเอาเสียเลย หนูไม่อยากชดใช้กรรมเลยค่ะ ถ้าหนูทำความดีเพิ่มมากๆ จะหนีกรรมได้ไหมคะ หนูสังเกตว่า หากช่วงใดหนูกับแฟน ทำศีลข้อสาม บกพร่อง หลังจากนั้นไม่เกินสามเดือนต่อมา ก็ต้องมีเรื่องทะเลอะกันรุนแรง หนูอยากถามอาจารย์ว่า หนูคิดถูกหรือเปล่าคะ หรือหนูคิดมั่วๆไปเอง

     อาจารย์คะ..หนูเองรู้สึกว่าตัวเองผ่านโลกมาเยอะเหลือเกิน บางครั้งเจอปัญหาต่างๆ เป็นเรื่องเล็กน้อย แต่มันทำให้หนูรู้สึกเสียใจอย่างรุนแรง และที่ผ่านมาก็เป็นบ่อยๆ หนูเหนื่อยเหลือเกินค่ะ จนบางครั้งหนูถึงไม่อยากอยู่บนโลกนี้เลย รู้สึกโดดเดี่ยว อยากฆ่าตัวตายเลยด้วยซ้ำ

     หนูควรทำอย่างไรดีคะให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น หรือทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาทำให้หนูเสียใจ เกิดจากรรมเก่าที่เคยทำไว้

      ขอบพระคุณอย่างสูง
       หนูอยากเป็นคนดี

คำตอบ
      ผู้ใดมีศีลและมีสัจจะคุมใจ ผู้นั้นมีกายศักดิ์สิทธิ์ มีจิตศักดิ์สิทธิ์ ผู้มีความศักดิ์สิทธิ์สามารถพัฒนาจิต ( สมถภาวนา ) ให้มีกำลังของสติเกิดขึ้นได้ง่าย ผู้มีสติคุ้มรักษาใจอธิษฐานสิ่งใดแล้ว ย่อมพบกับความสมปรารถนาในสิ่งนั้น ฉะนั้นเมื่อทราบเหตุดั่งนี้แล้ว จงเลือกปฏิบัติเอาตามที่ชอบเถิด
  

2120.
กราบ อ.ดร.สนอง วรอุไร ค่ะ

เรียนถามวิธีการดูปวดคะ
     เคยทราบมา 2 แบบ คือเมื่อนั่งสมาธิแล้วปวดขามากๆ วิทยากรได้แนะนำ บอกว่าสมาธิดีให้ใช้สมาธิดู คือบริกรรม ปวดหนอๆๆๆ ไปเรื่อยๆๆๆ โดยใช้สมาธิจี้ ตอนดูทรมานมากจะขาดใจ แล้วมันก็ดับไปเอง (เคยใช้สมาธิดูปวดที่มากๆแล้วดับหลายรอบ เพราะสภาวะมันขึ้นๆลงๆ) หลังจากหายปวด สภาวะธรรมจะดีขึ้นมาก รู้กายใจได้ว่องไวมากๆ สติไวขึ้น รู้ผัสสะกระทบดับทันทีโดยอัตโนมัติ

     แต่ต่อมาตนเองได้เข้าปฏิบัติกับพระ ท่านแนะนำว่าไม่ให้จี้ ( ท่านพูดประมาณว่าเป็นวิธีที่ผิด )ให้ดูปวดแต่สักว่าปวด ดูแยกปวดไม่ใช่เรา เราไม่ใช่ปวด หนูก็ลองทำก็ทำได้ ปวดมากอยู่ แต่มันก็คือปวดไม่ใช่ตนเองปวด ทรมานมากอยู่ แต่ไม่ปวดแบบจะขาดใจ มันเหมือนปวดแต่อยู่กับปวดได้ ดูจนปวดดับไป หลังจากหายปวด สภาวะธรรมจะดีขึ้น แต่ดีขึ้นไม่มาก เหมือนการดูปวดแบบแรกที่เคยทำๆมา

      เรียนถามอาจารย์ว่าแบบใดถูกต้อง ? (หนูสงสัยมานานมาก ในความเข้าใจของหนูคิดว่าการดูปวดแบบสักแต่ว่าปวดน่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้อง แต่ช่วงหลังๆมานี้หลายต่อหลายครั้งหนูปวดมากๆแล้วมันทนไม่ไหว เช่นเมื่อปวดที่ใดก็ดูว่าปวดมากปวดน้อย มีเบามีหนัก แล้วบริกรรมปวดหนอๆๆๆไปเรื่อยๆ แต่มันชอบเห็นเป็น Anatomy ตรงตำแหน่งที่ปวดนั้นๆเห็นเส้นเลือดเส้นเอ็นกระดูก เห็นกลไกการทำงานภายใน ก็จะรีบบริกรรมเห็นหนอๆ แล้วไม่ค่อยแน่ใจว่าตนเองจี้มากไปหรือเปล่า ก็จะถอยๆ ออกมานิดหนึ่ง แต่ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าพอถอยออกมาไม่จี้มันก็ปวดทรมานมากๆเลย เช่นปวดตาก็เหมือนใครมาควักลูกตา จนช่วงหลังก็ใช้สมาธิจี้จนมันดับไป ผิดหรือเปล่าคะ

กราบขอบพระคุณคะ

คำตอบ
     ถูกทั้งสองแบบ แต่แบบที่หนึ่งนั้นเหมาะสำหรับคนที่เริ่มมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ส่วนแบบที่สองนั้น เหมาะสำหรับคนที่มีจิตเป็นสมาธิดีแล้ว เมื่อเกิดอาการปวดที่ขา ต้องใช้จิตตามดูอาการปวดขาว่าดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่ออาการปวดขาเข้าสู่ความเป็นอนัตตา อาการปวดขาย่อมหายไป พร้อมกับการเกิดขึ้นของปัญญาเห็นแจ้ง

    ส่วนวิธีดูตำแหน่งที่มีอาการปวด แล้วเห็นเส้นเลือด เอ็น กระดูก ฯลฯ เป็นจิตสังขาร เพราะจิตเอาสิ่งที่เห็นเข้าปรุงอารมณ์อย่างต่อเนื่อง เป็นการปฏิบัติธรรมที่ผิดทาง ผู้หวังความก้าวหน้าในธรรมย่อมเว้นที่จะประพฤติ
  

2119.
กราบเรียน อาจารย์ ดร.สนอง ที่เคารพ

      เนื่องจากหนูปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังมาประมาณ 2 ปีโดยรักษาศีล สวดมนต์ ทำสมาธิภาวนา เช้าเย็นมิได้ขาด บุญกิริยาวัตถุสิบก็พยามยามทำตลอด ในการใช้ชีวิตประจำวัน ก็อยู่อย่างสันโดษโดยมิได้รู้สึกฝืน กล่าวคือ หนูไม่ได้โทรศัพท์ คุยเล่นไร้สาระกับเพื่อนหรือญาติพี่น้องเลยเพราะไม่ชอบอยู่แล้ว ไม่อ่านหนังสือนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์หรือบันเทิงใดๆ ดูโทรทัศน์บ้างวันละ 1-2 ชม. บางวันก็ไม่ดู ไม่ฟังเพลง ไม่เดินห้างฯนอกจากจำเป็นไปซื้อของใช้ส่วนตัว

     ในระหว่างวันถ้าไม่เจริญภาวนาก็อ่านหนังสือธรรมะ และฟังซีดีบรรยายธรรมของอาจารย์หรือของพระสุปฏิปันโน เช่น ท่านเจ้าคุณโชดก ญาณสิทธิ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หลวงพ่อจรัญ พระอาจารย์เปลี่ยน เป็นต้น (เนื่องจากหนูมีเวลามากไม่มีตรอบครัวและไม่ได้ประกอบอาชีพ เพราะมีปัญหาสุขภาพรักษากับแพทย์ที่มีชื่อเสียง และความสามาถนับสิบท่านมาร่วม 7 ปีแล้ว ก็ยังไม่หาย มีผู้มีอภิญญาหลายท่านเคยบอกว่าเป็นโรคเวรโรคกรรม แต่หนูยังโชคดีที่มีคนช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ)  

    อย่างไรก็ตามหนูไม่เข้าใจว่า ผลจากการปฏิบัติธรรมแทนที่หนูจะมีความสุข สบายใจ เหมือนที่เคยได้ยินมา กลับรู้สึกหงุดหงิดง่าย อึดอัดขัดข้องใจเบื่อหน่ายชีวิต ท้อแท้   มองว่าทุกสิ่งที่มนุษย์ทำนอกเหนือไปจากการปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องไร้สาระมาก ชีวิตมนุษย์ไม่มีอะไร นอกจากลมหายใจเข้าออกทำให้อยากพ้นไปจากโลกนี้ มีความกังวลใจว่าการถึงมรรคผลนิพพานจะล่าช้าเพราะ เครื่องมือคือร่างกายนี้ไม่อำนวย ถ้าหนูอายุมากกว่านี้จะทำอย่างไร ฟุ้งซ่านมาก จิตรวมเป็นสมาธิไม่ได้

     เคยมีผู้แนะนำว่าให้ไปถือศีลปฏิบัติธรรมที่วัดเจ้ากรรมนายเวรจะได้ไม่รบกวนมาก หนูก็ไปปฏิบัติที่วัดร่ำเปิง ก็ยังคงฟุ้งซ่านอยู่มิหนำซ้ำข้อเข่ายังอักเสบเรื้อรังจนเดิน หรือยืนเหมือนคนปกติไม่ค่อยได้ รักษามาร่วมปียังไม่หาย ซึ่งหมอบอกว่าเพราะสุขภาพมีปัญหาอยู่แล้วยังไปเดินจงกรมมาก แต่หนูก็ยังปฏิบัติธรรมที่บ้านต่อไปไม่ได้ขาด

    หนูไม่ทราบว่าจะแก้ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นอย่างไร เพราะไม่แน่ใจว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริง ไม่ทราบว่าเพราะหนูสติปัญญาน้อยหรือด้อยความเพียร หรือเจ้ากรรมนายเวร เพราะเป็นสิ่งที่หนูไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วนตนเอง ล้วนแต่ฟังจากผู้อื่นมา
   จึงขอความกรุณา อาจารย์ชี้แนะแนวทางให้ทีเพื่อที่หนูจะได้แก้ปัญหา ให้ตรงจุดและมีแรงกายแรงใจปฏิบัติธรรมต่อไป

    กราบขอบพระคุณล่วงหน้าเป็นอย่างสูงค่ะ

คำตอบ
     จงดูอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม เป็นตัวอย่าง แม้ร่างกายจะพิการด้วยโลกกรรม ท่านก็มิได้ท้อแท้ในการปฏิบัติธรรม แล้วยังสามารถเข้าถึงธรรมได้อีกด้วย ฉะนั้น พึงใช้หนี้เวรกรรมไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดหนี้ พร้อมทั้งบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญจิตตภาวนา อยู่ทุกขณะตื่นที่นึกได้หรือระลึกได้ บำเพ็ญคุณธรรมทั้งสามไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทิ้งขันธ์ลาโลก แล้วจะพบว่าความเจริญรุ่งเรืองของชีวิตรออยู่ในภพหน้า ตรงกันข้าม ผู้ไม่ฉลาดระลึกอยู่กับอกุศลวิบากที่ตนเสวย แล้วเกิดเป็นความท้อแท้ ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปโดยมิได้สร้างสิ่งดีงามให้กับชีวิต แล้วความวิบัติเกิดขึ้นได้ในวันข้างหน้า
  

2118.
กราบสวัสดีท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร

ครับกระผมมีปัญหาสงสัยจึงขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยครับ

     ผมมีเข้าใจอยู่ว่าถ้าทั้งก่อนให้ ขณะให้ และหลังจากให้สมมติมีศรัทธา 100 วัตถุที่ให้บริสุทธิ์กับผู้รับมีคุณธรรมสูง เช่นนี้แน่นอนว่าเมื่อเราศรัทธา 100 ถ้าได้ให้ทานแก่ขอทานทั่วๆไปกับให้ทานแด่พระภิกษุที่มีคุณธรรมสูง ผลคงต่างกันแน่นอน ไม่อาจเป็นไปได้เลยที่อานิสงส์ หรือปีติที่เกิดจากการถวายทานแด่พระสงส์ จะน้อยกว่าไปกว่าให้แก่ขอทาน กระผมจึงอยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่า อะไรเป็นตัวชี้วัดว่าการที่เราทำทานไปจะได้อานิสงส์มากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับปีติที่เกิดเป็นสำคัญใช่หรือไม่ครับ เพราะบางครั้ง ให้ทานแก่ขอทานก็ออกจะมีความรู้สึกปีติที่ได้ถวายแด่พระภิกษุสงส์เสียด้วยซ้ำไป ซึ่งอาจเป็นเพราะเมตตธรรมเกิดด้วยหรือเปล่า  .... เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรคือตัวชี้วัดอานิสงส์ของการทำทานกันแน่ ขอความกรุณาด้วยครับ ....

 * ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ .

คำตอบ
    ผู้รู้จริงแท้กล่าวว่า ให้ทานแก่เดรัจฉานมีผลหนึ่งร้อย ให้ทานแก่ปุถุชนผู้ทุศีลมีผลหนึ่งพัน ให้ทานแก่ปุถุชนผู้มีศีลให้ผลหนึ่งแสน ให้ทานแก้ผู้มีจิตเป็นอิสระจากกามมีผลแสนโกฏิ ฯลฯ

     จากตัวอย่างที่ยกมาแสดงจะเห็นว่า ความแตกต่างของสภาวธรรมในดวงจิตเป็นเครื่องบ่งชี้ผล ( ปีติ ) ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ให้ทาน ดังกรณีของหญิงชราถวายน้ำดองผักเพียงจอกเดียวแก่พระมหากัสสปะ ผู้ออกจากนิโรธสมาบัติแล้วเกิดปีติขึ้นอย่างมาก ตายแล้วได้ไปเกิดเป็นเทพนารีอยู่ในสวรรค์ชั้นนิมมานนรดี ลิงป่ารักขิตวันถวายรวงผึ้งป่าแก่พระพุทธโคดม แล้วเกิดปีติอย่างมาก ตายแล้วไปเกิดเป็นเทพบุตรอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ฯลฯ สรุปแล้วผู้ถามปัญหาทราบไหมว่า สภาวธรรมในดวงจิตของขอทาน กับ สภาวธรรมในดวงจิตของภิกษุ ( สงฆ์ ) ที่ตาเห็น ใครมีคุณธรรมมากกว่ากัน ด้วยเหตุนี้ พระพุทธโคดมจึงได้ตรัสกาลามสูตร ไว้เป็นเครื่องคัดกรองความไม่จริงออกจากความจริง ใครผู้ใดพัฒนาจิตจนเข้าถึงโลกิยญาณ ( อภิญญา ๕ ) และพัฒนาจิตจนเข้าถึงโลกุตตรญาณ ( ญาณ ๑๖ ) ได้แล้ว ย่อมพบว่า กาลามสูตรเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์
  

2117.
กราบเรียนถามอาจารย์สนองที่เคารพครับ

     กระผมมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องที่ท่านอาจารย์เคยพูดบ่อยๆว่า ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม แต่ผมมีข้ัอสงสัยว่าทำไมเมื่อเรามีบุญใหญ่ปฏิบัติธรรม หรือความดีใหญ่ๆคนเหล่านั้นโดนเจ้ากรรมนายเวรตามทวงหนี้ อย่างเช่น เจ็บป่วย พิการหรือมีัอุปสรรคปัญหาชีวิตมากมาย ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นปัญหานั้นไม่เกิด แต่ถ้าเป็นแบบนั้น ทำไมธรรมถึงไม่คุ้มรักษาให้ท่านเหล่านั้นเป็นสุข หรือปลอดภัยครับ อย่างเช่นบางท่าน ปฏิบัติธรรมแล้วจากคนปกติกลายเป็นคนพิการ มีหนี้สิน หรืออย่างพระเจ้าพิมพิสาร ทำไมถึงถูกทรมานโดยพระเจ้าอชาติศัตรูเป็นต้นครับ อยากให้อาจารย์อธิบายสิ่งนี้ให้ด้วยครับ

     ผู้ถามมิได้มีความคิดปรามาศต่อวาจาของพระพุทธะ หรือท่านอาจารย์แต่อย่างใดครับ ถ้ามีสิ่งใดล่วงเกินผมขอกราบขอขมาอาจารย์ด้วยครับ

คำตอบ
     ตามปกติแล้ว การปฏิบัติธรรมมีอานิสงส์เป็นบุญใหญ่ เพราะสามารถให้ผลถึงพระนิพพานได้ เมื่อมีบุญใหญ่แล้ว เจ้ากรรมนายเวรย่อมตามทวงหนี้เป็นธรรมดา ในครั้งที่ผู้ตอบปัญหาไปปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านเจ้าคุณโชดก ท่านบอกให้ผู้ปฏิบัติธรรมอุทิศบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวรทุกครั้งที่ปฏิบัติแล้วเสร็จในรอบวัน

    ส่วนคำว่า “ธรรมย่อมคุ้มรักษาผู้ประพฤติธรรม” นั้นหมายถึง ผู้มีธรรมะต้องมีศีลบริสุทธิ์ และมีสติบริบูรณ์คุ้มครองใจอยู่ทุกขณะ ดังตัวอย่างของหลวงปู่สุภา ( ภูเก็ต ) ที่ไปนั่งปฏิบัติธรรมอยู่กลางป่า แล้วถูกงูใหญ่กลืนจากปลายเท้าเข้ามาถึงบั้นเอว หลวงปู่ฯ มีสติ ไม่กลัวตาย จึงพูดกับงูใหญ่ว่า “ชีวิตนี้ไม่เสียดาย หากจำเป็นต้องชดใช้หนี้เวรกรรมด้วยชีวิต ก็กินได้เลย แต่ที่บวชเป็นพระและปฏิบัติธรรมมาจนทุกวันนี้ ก็หวังนำพาชีวิตไปสู่พระนิพพาน หากจำเป็นต้องตาย ก็ขอให้ถึงพระนิพพาน” งูใหญ่ได้ยินดังนั้น ก็ขยอกร่างกายส่วนล่างของหลวงปู่ฯ ออกจากปากที่อมอยู่ นี่แสดงให้เห็นว่า ธรรมะ คือ ศีลและสติ เป็นเครื่องคุ้มรักษาชีวิตให้อยู่รอดปลอดภัย

     ในกรณีของผู้ตอบปัญหา ในครั้งที่ไปปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านเจ้าคุณโชดก ก่อนวันเกิดเหตุท่านเจ้าคุณฯ พูดว่า “จะเข้าถึงธรรมของพระพุทธเจ้าได้ ต้องเอาชีวิตเข้าแลก” และในคืนวันเดียวกันนั้น ในวิหารร้างที่ผู้ตอบปัญหาเข้าไปปฏิบัติธรรมลำพังเพียงผู้เดียว มีผีมาบีบคอจนผู้ตอบปัญหาหายใจแทบไม่ออก จึงได้พูดกับผีว่า “ชีวิตนี้ไม่เสียดาย หากจะตายก็ยอม แต่ขอให้ได้ธรรมะของพระพุทธโคดม” ผลปรากฏว่า ผีคลายมือออกจนหายใจได้สะดวก พร้อมกับได้ปัญญาเห็นแจ้งเกิดขึ้น ทั้งนี้เป็นด้วยเหตุ ผู้ตอบปัญหามีศีลและมีสติคุมใจ จึงมิได้หวั่นไหวต่อความตายที่กำลังจะเกิดขึ้น
  

2116.
เรียนถามดร.สนอง

      ดิฉันอยากจะปฏิบัติธรรมแบบมีพระอาจารย์ แล้วค่อยมาทำเองที่บ้าน จึงอยากให้อาจารย์แนะนำสถานที่ปฏิบัติที่เหมาะกับดิฉันด้วยค่ะ

      ขอบพระคุณมากค่ะ
        สิริรัตน์

คำตอบ
     วัดสังฆทาน จังหวัดนนทบุรี, ถ้ำวัวอนัตตาราม อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่,
วัดมเหยงคณ์ จังหวัดอยุธยา ฯลฯ
  

2115.
กราบเรียนท่านอาจารย์ สนอง วรอุไร ที่เคารพอย่างสูง

       วันนี้อยากจะถามคำถามอาจารย์ ซึ่งก็มาจากคำบรรยายอาจารย์ ที่ได้บรรยายไว้หลายที่   ซึ่งฟังแล้วต่อมาก็มีความคิด ที่สงสัย และกระผมมี คำถามอย่างนี้ครับ

     1. คำว่า ดวงตา เห็นธรรม จะต้อง พัฒนาจิตของเราด้วย ภาวนาปัญญา เท่านั้น ใช่ไหมครับ เราจึงจะเข้าถึงได้   และมีดวงตาเห็นธรรมได้ (นอกจากบุคคลบางกลุ่มเช่นในสมัยพุทธกาล ที่เพียงได้รับโอกาสฟังธรรมจากพระพุทธโอฐ ก็สามารถบรรลุ ธรรม มีดวงตาเห็นธรรม เป็นโสดาบัน    หรือ แม้แต่เป็น พระอรหันต์ เลย แม้นจะไม่จำต้องทำ ปฏิบัติภาวนาเลย ถูกต้องไหมครับ   …. และปัจจุบัน คนประเภทนี้ จะยังมีอยู่หรือไม่ครับ

     2. คนจำนวนมากปฏิบัติธรรมได้ แต่เข้าถึงธรรม ยังไม่ได้ เพราะศีลยังไม่บริสุทธิ์พอ   ในไตรสิกขา ต้องทำตามลำดับก่อนหลัง จึงจะพัฒนา จนถึง ภาวนาปัญญาได้แล้ว สิ่งที่เขาทำและปฏิบัติหรือ พยายามทำ เมื่อศีลยังไม่ถึง ระดับ ที่พระอริยะเจ้าพอใจ จะเป็นโมฆะ หรือ สูญเปล่าไปหรือเปล่า   ?

    3. การพิสูจน์ ความจริงเกี่ยวกับ เรื่อง ตายแล้วไม่สูญ เทวดามี่จริงหรือไม่ นรกมีจริงหรือไม่ ต้องพัฒนาจิต จนเข้าญานได้ ถามอาจารย์ว่า เงื่อนไขสำคัญที่ทำ ให้คนส่วนใหญ่ ไม่สามารถพัฒนาจนถึงจุดนี้ คืออะไรครับ นอกจากเรื่องศีลแล้ว (ผมเข้าใจว่า เราต้องมี ความเพียร วิริยะ ความศรัทธา มีสมาธิ สติพอ อาจารย์มีอะไรที่จะแนะนำเพิ่มเติม หรือ ต้องแก้ไขอย่างไร)

     4. เคยได้ยินอาจารย์บอกเล่าว่า ถ้าเข้าณานได้แล้ว ออกจากญานแล้ว อธิษฐาน ก็จะทราบ เรื่องราวตามที่ตั้งใจไวแล้วที่การที่เห็นบุคคลใด ท่านทักทาย โดยไม่ได้หลับตา หรือเข้าสมาธิเลย   เช่น กำลังบรรยาย หรือพูดคุยกับเรา ท่านก็สามารถ รู้เรื่องของเรา หรือ ในใจเราได้ เป็นด้วยวิธีอย่างไรครับ

      ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านผู้พิพากษา ท่านหนึ่ง ที่ท่านชอบนั่งสมาธิ และปฏิบัติธรรม    ปกติเห็นท่านก็ไม่สุงสิงกับใคร แต่ผมมีโอกาสพบท่านโดยบังเอิญ ขณะท่านมางานคอมพิวเตอร์มาร์ท     ไม่รู้เป็นจังหวะประการใด ได้คุยเรื่องคดีความและธรรมะ ท่านเล่าให้ฟังว่า วันหนึ่ง ขณะท่านนั่งอยู่บัลลังก์ วันหนึ่งท่านมีความรู้สึกอยู่บนบัลลังก์ผู้พิพากษา ท่านรู้ว่า เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์กำลังคิดอะไร จะทำอะไร ท่านสงสัย จึงลองเรียบเคียงถาม ปรากฏว่า เรื่องที่เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ กำลังคิด จะทำ ตรงกับเรื่องที่ท่านรับรู้ ผมจึงบอกว่าหากมีผู้พิพากษาอย่างท่านจำนวนมาก ก็จะตัดสินคดีด้วยความเที่ยงธรรม ตัดสินอย่างถูกต้อง แต่ท่านบอกว่าทำอย่างนั้นไม่ได้หรอก บางกรณีแม้ว่ารู้ว่าไม่ผิดก็ต้องลงโทษ เช่น ท่านเล่าว่าได้ตัดสินคดีความเรื่องหนึ่ง   โดยรู้ว่าผู้ต้องหาไม่ผิด แต่ต้องลงโทษ ทั้งนี้เป็นเพราะการนำสืบของ ทนายความ และ พยานหลักฐาน ไม่อาจโต้แย้งพยานหลักฐานของพนักงานอัยการได้ (จำเลยคดีนี้ถูกฟ้องข้อหาร่วมกันค้ายาเสพติด ที่จริงแล้วเป็นความโชคไม่ดีของจำเลยคนนี้ เพราะจำเลยในคดีนี้ แต่ไปอยู่ผิดที่ผิดทาง โดยอยู่ร่วมกับคนค้ายา จำเลยที่ ๑ ในขณะนั้น)  ท่านว่าเป็นกรรมของจำเลยคนนั้นเอง

     สิ่งที่จะถามคือ อะไรทำให้ท่านทราบครับ ท่านคงยังไม่ได้อธิษฐานขอรับรู้เรื่องของ เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ท่านคงยังไม่ได้นั่งสมาธิเข้าณานในขณะนั้นเลย     

     5. การปฏิบัติธรรม มีหลายวิธี ตามที่สำนักต่าง ๆ ได้สอน การที่เราจะทราบ หรือ รู้ว่า ตนเอง เหมาะสมกับ วิธีการไหนที่สุด (เคยไปบางสถานที่ บอกว่า วิธี แบบนี้ ..... ดีกว่าวิธี........   เพราะเป็นทางลัด และทางตรง ไม่อ้อม) แต่ก็มีได้ยินมาว่า ต้องดูว่าตนเอง มีจริตเหมาะกับแบบไหน จึงควรฝึกแบบนั้น)

  ถ้าเป็นอาจารย์จะแนะนำอย่างไรครับ ? เพราะเท่าที่ฟังอาจารย์บรรยาย ไม่ได้มีเรื่องที่อาจารย์ บอกว่าวิธีไหนดีกว่า ...

     6. อาจารย์ครับ คำว่า มหาทาน ถ้าเรามีกำลังทรัพย์ไม่ถึง หากเราร่วมในงานบุญนั้น เช่น ลงแรง   ช่วยงาน หรือทรัพย์จำนวนไม่มาก หรือ ไม่ติดต่อกันจนครบ 7 วัน แต่พยายามทำบ่อย ๆ     ผลของทานนั้นจะเป็นอย่างไรครับ   

     7. ขอกราบขอบพระคุณความเมตตาของอาจารย์ที่ให้ความรู้ มา ณ ที่นี้ด้วย    และหากมีสิ่งใดที่พลาดพลั้งได้เคยล่วงเกินอาจารย์ไป ในทางใดไม่ว่าในอตีต ชาติ หรือ ปัจจุบัน   ขออาจารย์ได้ให้อภัยผู้ถามด้วยครับ

คำตอบ
     (๑) ใช่ครับ ต้องใช้ปัญญาเห็นแจ้ง ( ภาวนามยปัญญา ) ตามดูจนเห็นว่า สิ่งต่างๆดับไปตามกฎไตรลักษณ์ ดวงตาเห็นธรรมจึงจะเกิดขึ้น

     คนในครั้งพุทธกาล มีบุญบารมีสั่งสมมาแต่อดีตชาติมาก เขาเพียงแค่พิจารณาธรรมโดยแยบคาย ( โยนิโสมนสิการ ) ก็สามารถบรรลุดวงตาเห็นธรรมได้ และจากประสบการณ์ของผู้ตอบปัญหา ได้พบแล้วหนึ่งคนที่เข้าถึงดวงตาเห็นธรรมได้ด้วยการโยนิโสมนสิการ

     (๒) นอกจากมีศีลยังไม่บริสุทธิ์แล้ว ยังไม่เอาศีลลงคุมให้ถึงใจ และยังมีบุญบารมีเก่าสั่งสมมาไม่มากอีกด้วย

     ไม่เป็นโมฆะ แต่ต้องใช้ความเพียรและระยะเวลา อบรมสั่งสมบารมีให้กับตัวเองให้มีกำลังมากขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยลงตัวเมื่อใด ความสำเร็จในการเข้าถึงธรรมย่อมเกิดขึ้น

     (๓) เหตุปัจจัยยังไม่ถึงพร้อม เช่น ยังมีศีลไม่บริสุทธิ์ บารมีตัวอื่นยังมีกำลังอ่อน ยังปฏิบัติธรรมไม่สมควรแก่ธรรม ฯลฯ เหล่านี้เป็นเหตุให้จิตมีกำลังสติอ่อน มีอารมณ์เกิดขึ้นกับจิตหลากหลาย แล้วความสงบเป็นสมาธิแน่วแน่ ( ฌาน ) จะยังไม่เกิดขึ้นกับจิต

     (๔) แม้มิได้นั่งหลับตา แต่จิตของเขาเป็นอุเบกขา แล้วเจโตปริยญาณ จึงได้เกิดขึ้น และสามารถหยั่งรู้จิตของสัตว์บุคคลผู้อยู่ใกล้

     ความจริงในทางธรรม ( กฎแห่งกรรม ) กับพยานหลักฐานในทางโลก เป็นสิ่งที่ตรงกันหรือไม่ตรงกันก็ได้ การตัดสินคดีความใช้หลักฐานในทางโลกเป็นหลักตัดสิน ดังนั้นคนที่มิได้ทำความผิดในชาตินี้ แต่อกุศลกรรมในชาติก่อนส่งผล คนที่มิได้ทำความผิดในชาติปัจจุบัน จึงต้องถูกตัดสินให้เป็นคนผิดได้ ดังนั้นผู้รู้จริง เช่น สมเด็จโต จึงตัดสินให้ภิกษุที่ถูกตีที่ศีรษะ และมาฟ้องพระผู้ใหญ่ว่าเป็นฝ่ายผิด ทั้งนี้เพราะพระพุทธโคดมได้ตรัสสอนว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” ซึ่งให้ผลเป็นจริงข้ามภพชาติตามกฎแห่งกรรม

     สิ่งที่ผู้พิพากษา ทราบเรื่องราวต่างๆของเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ โดยที่มิได้นั่งเข้าฌานตามที่ตาของปุถุชนเห็น เป็นเพราะเหตุเนื่องมาจากผู้พิพากษามีเจโตปริยญาณ อันเนื่องมาจากผู้พิพากษามีจิตนิ่งเป็นปกติอยู่ก่อนแล้ว

     (๕) การปฏิบัติธรรมมีอยู่ ๒ แนวทางคือ ปฏิบัติสมถภาวนาเป็นการทำให้จิตนิ่ง และการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา เป็นการทำให้จิตเกิดปัญญาเห็นแจ้ง ส่วนวิธีการทำให้จิตนิ่ง ( สมถภานา ) มีอยู่หลายวิธี ซึ่งผู้ถามปัญหาต้องลองปฏิบัติด้วยตนเอง โดยเอาอย่างใดอย่างหนึ่งในกรรมฐาน ๔๐ มาลองทำดู กรรมฐานใดทำให้จิตสงบเป็นสมาธิได้ง่าย กรรมฐานนั้นเหมาะแก่การพัฒนาจิตของผู้ถามปัญหา ส่วนวิปัสสนาภาวนาต้องใช้จิตที่ตั้งมั่นจวนแน่วแน่ ( อุปจารสมาธิ ) ตามดู กาย เวทนา จิต ธรรม ว่าล้วนดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ แล้วโอกาสเข้าถึงปัญญาเห็นแจ้งจึงจะเกิดขึ้น

     (๖) มหาทาน ทำแล้วต้องเกิดผลกับคนหมู่มาก เช่น รักษาใจให้มีศีลคุมอยู่ทุกขณะตื่น ตั้งโรงทานเลี้ยงคนหมู่มาก สร้างสถานปฏิบัติธรรม การเผยแผ่ธรรมะเป็นทาน ฯลฯ ต่างๆเหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นมหาทานทั้งสิ้น

     (๗) ไม่มีโทษ
  

2114.
สวัสดีครับ อาจารย์ สนอง วรอุไร
 
กระผมมีคำถามที่สงสัยเหลือเกินดังนี้ครับ
      ๑. ถ้าหากจิตเกิดความเศร้าหมอง ขุ่นมัว ฟุ้งซ่าน เราสามารถนึกภาพที่เราได้บริจาคทานมา เเทนกำหนดลมหายใจเข้าออก เพื่อกำจัดความรู้สึกดังกล่าวได้ไหมครับ เพราะบางทีต้องอยู่ในสถานที่ไม่เหมาะต่อการนั่งภาวนา
 
     ๒. มีภาษิตบทหนึ่งที่ว่า การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง กระผมสงสัยว่า การตั้งตู้หนังสือธรรมะกลางที่สาธารณะ เพื่อให้คนที่ศรัทธานำไปอ่านฟรี หรือบริจาคให้ผู้อื่น การทำเช่นนี้เท่ากับว่าเป็นการสร้างมหาทาน หรือไม่ครับ
 
     ๓. ถ้าจะทำหมัน(ตัดท่อลำเลียงอสุจิ)เพื่อเเก้อาการกำหนัด หรือรักษาศีลข้อสาม จะผิดถูกประการใด หรือพอเพียงทางเลือกใดบ้างครับ

     สุดท้ายนี้หากล่วงเกิน ลบหลู่ ต่ออาจารย์ กระผมขออโหสิกรรมมาณที่นี้ด้วยครับ ขอบคุณครับ

คำตอบ
     (๑) ได้ครับ การระลึกถึงทานที่ตนเคยบริจาคนั้น ทำให้เกิดสติ ผู้มีสติ ย่อมมีจิตไม่เศร้าหมอง

     (๒) เป็นการสร้างมหาทาน

     (๓) เป็นการแก้ปัญหาที่ผิดทาง หากผู้ถามปัญหาประสงค์จะให้ใจมีศีล ข้อ ๓ คงอยู่ ต้อง
       ก. บริโภคอาหารเท่าที่ร่างกายจะคงอยู่ได้
       ข. ต้องมีความเพียรปฏิบัติธรรมให้ยาวนาน
       ค. ต้องนอนพักผ่อนให้น้อยลง

     หรือ หากพัฒนาจิตจนมีสภาวธรรมเป็นพระอนาคามี ดังที่ปิปผลิมาณพได้ปฏิบัติให้ดู การประพฤติทุศีลข้อ ๓ ย่อมไม่เกิดขึ้น
  

2113.
กราบเรียนท่านอาจารย์ ดร.สนองที่เคารพอย่างสูง

     หนูได้ฟังซีดีธรรมบรรยายของท่านอยู่บ่อยๆ และมีอยู่เรื่องหนึ่งที่ท่านกล่าวถึงเรื่องกิเลสว่า ไม่มีพระอรหันต์องค์ไหนที่สามารถกำจัดกิเลสได้หมดสิ้นเชิงแม้แต่องค์เดียวเลย
     แต่หนูฟังชุดนี้นานแล้ว และจำเลขที่ชุดไม่ได้ และก็ไม่แน่ใจว่าหนูจำเนื้อหาได้ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ แต่หนู่ก็ได้เผลอพูดเรื่องนี้กับพระรูปหนึ่งขณะสอบอารมณ์ระหว่างปฏิบัติธรรม หนูได้เผลอพูดต่อว่า แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าก็ยังไม่สามารถขจัดกิเลสได้หมดร้อยเปอร์เซนต์เช่นกัน หลังจากนั้นพระรูปนี้แสดงสีหน้าเหมือนไม่พอใจหนู ตำหนิว่าไม่ควรพูด และถามว่าใครพูด หนูไม่ได้ตอบท่าน บอกแต่ว่า

    " อาจารย์ท่านไม่มีเจตนาปรามาสท่านพุทธะ ท่านเพียงบรรยายธรรมให้เห็นว่ากิเลสมีทั้งฝ่ายดี และไม่ดี การอยากไปนิพพานก็ถือเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง แต่เป็นกิเลสฝ่ายดี หนูตอบพร้อมกับไม่ค่อยแน่ใจและกลัวบาปขึ้นมาทันที เพราะหนูเริ่มไม่แน่ใจว่า หนูได้เผลอพูดผิดเหมารวมเอาท่านพุทธะด้วยหรือเปล่า พระรูปนี้ยังยกตัวอย่างว่า เคยมีคนปรามาสแล้วเจอสิ่งไม่ดี ต้องรีบวิ่งมาขอโทษจึงจะหาย แต่ท่านก็ไม่ได้เล่ารายละเอียดต่อ   หนูก็บอกว่า หนูจะีรีบกลับไปขอขมาพระรัตนตรัย  

    แล้วหนูก็กราบลาท่านขึ้นไปห้องพระ ก้มกราบพระพุทธรูป ขอขมาโดยท่อง "วันทามิ พุทธัง สัพพังเมโทสัง ขะมะถะเม ภันเต   วันทามิธัมมัง สัพพัง   เมโทสัง ขะมะถะเมภันเต   วันทามิ สังฆัง สัพพัง เมโทสัง ขะมะถะเม ภันเต กรรมชั่วอันใดที่ข้าพเจ้าได้ประมาทพลาดพลั้ง ล่วงเกินในคุณพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ จะเจตนาหรือหาเจตนามิได้ก็ดีขอให้ท่านจงลุโทษ และโปรดอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้า เพื่อการสำรวมระวังในคราวต่อไป " จากนั้นหนูก็ปฏิบัติต่อ เดินจงกรม นั่งสมาธิ หนูฟุ้งซ่านกลัวบาปคิดถึงแต่เรื่องนี้ และหยุดเดินเป็นระยะๆกำหนดคิดหนอ และท่องขอขมาเหมือนเดิมไปเรื่อยๆ เหมือนกับหนูเริ่มเครียด และรู้สึกปวดศรีษะข้างซ้าย คล้ายไมเกรน แต่หนูก็ไม่ย่อท้อ ยังคงตั้งใจเดินจงกรม และนั่งสมาธิต่อ แม้ว่าจะมีฟุ้งสลับก็กำหนดคิดหนอ สลับกับท่องขอขมาไปเรื่อยๆ เป็นอย่างนี้อยู่ วันครึ่ง แล้วอาการปวดหัวก็หายไป  

    นอกจากนี้หนูได้ถามพระรูปนี้ว่าทำอย่างไรจึงจะมีสติก่อนพูดจะได้ไม่เผลอพูด ท่านบอกให้กำหนด "อยากคุยหนอ" แล้วสติจะกั้นไม่ให้เราพูด

    ที่หนูเขียนมาหาท่านอาจารย์ดร.สนองครั้งนี้ หนูอยากจะขอโทษท่าน ถึงแม้ว่าหนูจะไม่ได้บอกพระรูปนี้ว่าหนูไปได้ยินมาจากใครก็ตาม แต่หนูก็ไม่สบายใจอยากกราบขออภัยท่านอาจารย์ดร.สนองมาณที่นี้ด้วย และโปรดอโหสิให้หนูด้วย ในคราวต่อไปหนูจะระวังกำหนดความคิดก่อนพูดทุกครั้ง   หากหนูเผลอจำเนื้ัอหาการบรรยายของท่านผิด จนทำให้หนูเผลอพูดปรามาสท่านพุทธะจนอาจเป็นบาปได้  

    นอกจากนี้หนูกราบขอความกรุณาจากท่านโปรดช่วยแนะนำด้วยว่า หนูควรแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรอีก เพราะหนูยังเป็นกังวลกลัวบาปอยู่ แม้ว่าหนูไ้ด้ลากรรมฐานมา 3 วันแล้ว ก็ตาม   ทำให้หนูมีความทุกข์มาก ประกอบกับครั้งหนึ่งเมื่อปี 54 ประมาณเดือนเมษายน หนูเคยเข้าหาท่านกราบเรียนถามท่านเรื่องลูกชายและสามี หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ หนูก็หกล้มที่ป้ายรถเมล์ คางแขน มือ กระแทกฟุตบาทจนเขียวช้ำ หนูไม่แน่ใจว่าเกิดจากที่หนูทำให้ท่านเข้าใจผิดในเรื่องชี้ตัวลูกชายหนูหรือไม่ หนูไม่มีเจตนาที่จะให้ท่านเข้าใ่จผิด หนูชี้เด็กผู้ชายสูงใหญ่คนที่นั่งถัดจาก เด็กชายที่นั่งข้างหลังหนูต่างหาก แต่ถ้าไม่ใช่เพราะสาเหุตนี้ หนูก็อยากถือโอกาสกราบขออภัย และขออโหสิกรรมจากท่านเช่นกัน เพื่่อไม่ให้เป็นบาป เป็นเวร สืบไป หลังจากวันนั้นทำให้หนูไม่กล้าที่จะเข้าหาท่านอีก หนููรู้ดีว่า การเข้าหาอริยะบุคคลเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังการคิด พูด ทำ เป็นอย่างมาก  

   กราบขอโทษที่เขียนยาวไป และกราบขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูง ที่ต้ัองทนอ่านเรื่องที่ยาวนี้ ท่านอายุมากแล้ว แต่ยังต้องอดทนเหนื่อยกายเพื่อช่วยให้มวลชนพ้นทุกข์ ท่านไม่ต้องรีบตอบก็ได้ ท่านจะได้พักเหนื่อยบ้าง ท้ายนี้ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย จงดลบันดาลให้ท่านมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บและภัยอันตรายใดๆทั้งสิ้น พร้อมกับได้มรรคผลนิพพานในชาตินี้ด้วยเทอญ

คำตอบ
      พระที่แสดงสีหน้าไม่พอใจ แสดงว่ายังมีจิตเข้าไม่ถึงปรมัตถธรรมของพระพุทธโคดม ผู้ที่พัฒนาจิตจนเข้าถึงอรหัตตผลแล้ว หมายถึงผู้ที่สามารถกำจัดกิเลสที่ผูกมัดใจ ( สังโยชน์ ๑๐ ) ให้หมดไปจากใจได้แล้ว จึงบรรลุอรหัตตผล ส่วนหนี้เวรกรรม ( กิเลส ) ที่ยังเหลืออยู่ในดวงจิต ก็เป็นอโหสิกรรมเมื่อทิ้งรูปขันธ์แล้ว ยกตัวอย่าง จอมโจรองคุลีมาล ได้ประพฤติฆ่าตัดคอคนมาเป็นจำนวนมาก เมื่อจิตบรรลุอรหัตตผลแล้ว ได้ออกบิณฑบาตในเมือง ยังถูกชาวบ้าน ( เจ้ากรรมนายเวร ) ขว้างปาด้วยก้อนดินและท่อนไม้ จนบาตรแตก ตัวเองก็บาดเจ็บ นี่เป็นเครื่องแสดงว่า แม้จิตจะบรรลุอรหัตตผลแล้ว หนี้เวรรกรรมยังมีอยู่และยังต้องได้รับการชดใช้ เมื่อท่านได้ทิ้งรูปขันธ์ลาโลกไปแล้ว ( อนุปาทิเสสนิพพาน ) หนี้เวรกรรมที่ยังเหลืออยู่ ก็เป็นอโหสิกรรมนั่นเอง

    ผู้ถามปัญหายังมีกำลังของสติอ่อน และยังเข้าไม่ถึงปัญญาเห็นแจ้ง จึงเอาคำพูดของคนอื่น เข้าปรุงเป็นอารมณ์ไม่ดีให้กับตัวเอง แล้วส่งผลกระทบถึงร่างกายให้เกิดเป็นไมเกรนอีกด้วย ฉะนั้น จงเอาศีลที่บริสุทธิ์ลงคุมให้ถึงใจ แล้วเร่งความเพียรปฏิบัติธรรม จนเข้าถึงธรรมได้แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงจะหมดไป
  

2112.
รบกวน ดร.สนองได้โปรดช่วยชี้แนะหน่อยครับ

1 . เนื่องจากเวลาผมนั่งสมาธิมักจะมีน้ำมูกตลอด
     (เนื่องจากผมเป็นภูมิแพ้แต่เด็กๆครับ) ทิ้งไว้ก็หายใจไม่ออก
     จับลมหายใจเข้าพุธ ออกโธ ไม่ได้เลยครับ

     ควรแก้ยังไงดี ควรหยุดนั่ง แล้วไปสั่งน้ำมูก หรือมีขันติทำต่อครับ  

2. เวลานั่งสมาธิแล้วปวดหลัง เนื่องจากพยายามทำให้ตรงเลานั่ง หรือปวดขา
    ควรหยุดดูลม แล้วดูรู้อาการปวดแทนใช่ไหมครับ

3. เราจะหยุดดูลมเมื่อไหร่ครับ  

4. ถ้าต้องการฝึกในเวลาปกติ เช่น ตอนเดินเล่น หรือกินข้าวผมควรใช้การจับลม
   หรือการมีสติรู้การกระทำตลอด อย่างไหนดีกว่าครับ
   แล้วการมีสติรู้การกระทำตลอดมันต้องละเอียดแค่ไหนครับ 
   อย่างเช่น แปลงฟันต้อง รู้กระทั่ง การชัก มือเข้าหรือออก หรือป่าวครับ
   หรือภาวนาแค่ แปรงหนอแปรงหนอ    
   แล้วความเร็วของการกระทำช้าลงเนื่องจากตั้งใจดูการกระทำของตัวเองนี่
   ปกติไหมครับ

คำตอบ
      (๑) นั่งสมาธิแล้วน้ำมูกไหล ต้องหาหมอทางโลกเยียวยารักษา แต่ในทางธรรม เมื่อใดที่จิตมีสติ ความสมดุลของ ดิน น้ำ ไฟ ลม จะเกิดขึ้น แล้วอาการน้ำมูลไหลจะหายไป

     (๒) การปฏิบัติสมาธิสามารถทำได้ในทุกอิริยาบถ ( ยืน เดิน นั่ง นอน ฯลฯ ) นั่งสมาธิแล้วปวดหลัง ก็เลือกไปใช้อิริยาบถอื่นที่ไม่ปวดหลัง

     ผู้ที่มีสติอ่อน เมื่อเกิดอาการปวดหลัง ต้องกำหนดว่า “ปวดหนอๆๆๆๆ” ไปเรื่อยๆ จนอาการปวดหายไป แล้วดึงจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิมที่ทำอยู่

     (๓) ผู้มีสติกล้าแข็ง ไม่เคยหยุดดูลมหายใจ ตัวอย่างเช่น พระพุทธโคดม เอาจิตจดจ่อ ( สติ ) อยู่กับลมหายใจเข้า แล้วปล่อยออก เอาจิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจออก แล้วสูดเข้า ทุกขณะที่จิตมีการเกิด - ดับ พระองค์ไม่เคยหยุดบริกรรม เช่นที่กล่าว

     (๔) ดีที่สุด มีจิตระลึก ( จดจ่อ ) อยู่กับอิริยาบถใหญ่ ที่เป็นปัจจุบันขณะ เช่น ขณะเดินเอาจิตจดจ่ออยู่กับเท้าที่ย่างก้าว ขณะเคี้ยวคำข้าว เอาจิตจดจ่ออยู่กับอิริยาบถเคี้ยวข้าว ขณะแปรงฟันเอาจิตจดจ่ออยู่กับการแปรงฟัน ฯลฯ อนึ่ง ขณะแปรงฟัน ต้องไม่กำหนดว่า “แปรงหนอๆๆๆๆ” เพราะการกำหนดเช่นนั้น เป็นการลบสติ มิให้ระลึกอยู่กับการแปรงฟัน
  

2111.
กราบเรียน อาจารย์ ดร.สนองที่เคารพ

       ในกรณีที่เราปฏิบัติธรรมถือศีล 8 จะมีข้อห้ามมิให้ใช้เคื่องลูบไล้ ของหอม แต่ถ้าเราทาแต่ครีมหรือโลชั่นกันแสงแดด มิให้ผิวหนังเป็นอันตรายจากการเผาไหม้ จะถือว่าผิดศีลหรือไม่คะ

    ขอบพระคุณล่วงหน้าเป็นอย่างสูงค่ะ
      ขอแสดงความนับถือ

คำตอบ
      ผิดครับ
  

2110.
กราบเรียนท่านอาจารย์ดร.สนองที่เคารพ

     ดิฉันได้เริ่มปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังจากเดือนมกราคมเป็นต้นมา พยายามรักษาศีล 5 สวดมนต์ นั่งสมาธิทุกวัน เนื่องจากที่ผ่านมาได้ทำบาปมา และรู้สึกละอายใจและเกรงกลัวต่อบาป จึงตั้งปณิธานว่าจะไม่กระทำชั่วอีก จะทำแต่บุญกุศลไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ การปฏิบัติธรรมของดิฉันเรียกว่า มีความเพียรมากที่สุดในชีวิตที่เคยทำมา อย่างต่อเนื่องวันนี้เป็นวันที่ ๙๐ พอดีและจำทำต่อไป   หวังแค่ว่าเวรกรรมจะทุเลาเบาบางไปบ้างเท่านั้น ดิฉันอยากเรียนถามท่านอาจารย์ดังนี้ค่ะ

     ๑. สามีของดิฉันเป็นชาวต่างชาติคริสเตียน เค้าไม่ชอบเวลาที่ดิฉันขอไปทำบุญที่วัดในบางครั้ง และไม่ชอบให้ดิฉันสวดมนต์ก่อนนอน (สวดมนต์ นั่งสมาธิ กรวดน้ำ แผ่ส่วนกุศล ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ หนึ่งชั่วโมงสิบห้านาที ดิฉันถือว่ายังน้อยไป) บางครั้งดิฉันก็ต่อรองว่าจะสวดแบบสั้นไม่นั่งสมาธิ (ประมาณ ๒๐ นาที) ไม่อยากมีปัญหากับเค้าวันนั้น แต่เค้าก็ไม่ยอมอีก ดิฉันไม่ได้บกพร่องเรื่องงานบ้าน หรือดูแลลูกดูแลสามี นี่เป็นปัญหาใหญ่ของดิฉัน จนบางครั้งอยากจะเลิกกับเค้า เพื่อจะได้ปฏิบัติธรรมอย่างเต็มที่ นี่เรียกว่ากิเลสใช่มั๊ยคะ ถือว่าเป็นการเบียดเบียนครอบครัวหรือเปล่าคะ

     ๒. คุณแม่กับพี่สาวของดิฉันเกรงว่า ดิฉันจะมีปัญหาครอบครัว จึงแนะนำให้ดิฉันอย่าเคร่งมาก ศีล ๕ ก็ไม่ต้องเคร่งมาก (เช่น สามีชอบให้ดื่มไวน์ด้วยบางครั้ง เวลาออกไปทานอาหารนอกบ้าน) แต่ดิฉันมีความเห็นว่าการปฏิบัติธรรมไม่ใช่เรื่องที่จะทำเล่นๆ การปฏิบัติด้วยความวิริยะ และถือศีลอย่างเค่งครัด จึงถือว่ามีธรรมะคุมใจอย่างแท้จริง ท่านอาจารย์มีความเห็นอย่างไรคะ พอจะมีทางที่เป็นสายกลางในกรณีนี้ได้จริงหรือ

     ๓. สามีของดิฉันจัดการซื้อหุ้นให้กับดิฉัน ซึ่งหนึ่งในหุ้นที่ซื้อเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับคาสิโน และเอนเตอร์เทนเม้นท์ ดิฉันขอให้เค้าขายและซื้อหุ้นตัวอื่น เพราะไม่อยากสนับสนุนให้คนเล่นการพนัน เราซื้อหุ้นแบบหวังเงินปันผลไม่ได้ซื้อขายเก็งกำไรค่ะ สามีไม่ยอมขาย อยากให้เก็บหุ้นตัวนี้ไว้เพราะเป็นหุ้นที่อนาคตดี การเจริญเติบโตสูง เค้าบอกว่าถือว่าเธอสนับสนุนกลุ่มเอนเตอร์เทนเม้นท์ก็แล้วกัน อย่างนี้ถือว่าเป็นบาปสำหรับดิฉันหรือไม่คะ ดิฉันไม่เห็นด้วยแต่ต้องจำใจ เดี๋ยวจะมีปัญหากันอีก

     ๔. ดิฉันไม่มีโอกาสไปวิปัสสนาที่วัดตามที่เจตนา เนื่องจากข้อจำกัดที่สามีไม่ยินยอม และมีลูกวัยกำลังซนที่ต้องดูแล จึงได้แต่ฟังซีดีธรรมะของท่านอาจารย์ ที่มีญาติธรรมแจกจ่ายเป็นธรรมทานที่วัด อ่านหนังสือธรรมะ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากอินเตอร์เน็ต นั่งสมาธิเองยังพอได้บ้าง แต่ก็ไม่ถึงระดับมีสมาธิจวนแน่วแน่อะไรแบบนั้น แต่ก็พยายามนั่งให้นานที่สุดพอที่จะมีโอกาสทำ การวิปัสสนานั้นดิฉันคิดว่า การไม่มีครูบาอาจารย์แนะนำอาจหลงทางและเสียเวลา แต่ก็พยายามลองฝึกด้วยตนเอง เวลาที่เราใช้จิตไปรู้สภาวะธรรมต่างๆนั้น เวลาโกรธก็รู้ว่าจิตมันโกรธอยู่มันก็ยังเป็นนามธรรม จึงไม่รู้ว่าปฏิบัติถูกหรือไม่ประการใด แต่ถ้าอย่างสิ่งที่ปรากฎที่อายตนะของเรานั้นให้เรารู้สึกเอา เช่น ถ้าคันที่แขนก็ให้จิตไปรู้สึกที่แขนตรงที่คัน ใช่หรือไม่คะ เพราะบางทีตอนฝึกแรกๆใจมัน "คิด " เอาว่าเรารู้ว่าที่แขนมันคัน อย่างนี้ถือว่าผิดใช่มั๊ยคะ

     ๕. เมื่อมาปฏิบัติธรรมแล้วความทะเยอทะยานมันหายไป ต้นเดือนหน้าจะสอบเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี เป็นวิชาแรกที่ถ้าหากผ่านโปรแกรมนี้ก่อน หรือภายในหกปีนี้ คงจะได้ใบเบิกทางในการประกอบอาชีพให้มีรายได้ดีขึ้น รู้สึกว่าตอนนี้ไม่อยากเป็น ไม่อยากสอบแล้ว ไม่แน่ใจว่านี่เป็นกิเลสที่มาลวงให้เราขี้เกียจไม่อ่านหนังสือ หรือเป็นเพราะกิเลสความอยากไม่มีแล้วกันแน่ค่ะอาจารย์

     ๖. พอปฏิบัติธรรมแล้วก็พยายามฝึกที่ว่า ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่คิดหรือปรุงแต่งต่อ เนื่องจากเรายังอยู่ในสังคมอยู่ การไม่คิดตามหรือออกความเห็นว่าดีไม่ดี อาจทำให้เรากลายเป็นคนเฉยชาไป มีอุบายไหนพอจะประนีประนอมกับการวางตัวในสังคมได้บ้างมั๊ยคะ ดิฉันอยู่ต่างประเทศซึ่งวัฒนธรรมเค้าต่างจากเรา อย่างที่อาจารย์ทราบค่ะ  

     ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่กรุณาเสียสละเวลา ชี้ทางธรรมให้กับผู้ที่ยังด้อยปัญญาอย่างดิฉันอยู่ หากดิฉันล่วงเกินท่านทางมโนกรรม ขออาจารย์ได้โปรดกรุณาอโหสิกรรมให้กับดิฉันด้วยนะคะ ขออนุโมทนากับท่านอาจารย์สำหรับธรรมทานที่ท่านเมตตากรุณากับพวกเราเสมอมาด้วยค่ะ

     ด้วยความเคารพและนอบน้อมอย่างสูง
      วชิรดา

คำตอบ
      (๑) ผู้ปรารถนาทำความดี แต่มีอุปสรรคเข้าขัดขวางมิให้ความดีเกิดขึ้น สิ่งที่เข้าขัดขวางตามที่บอกเล่านั้นเป็นกิเลสมาร อนึ่ง บุคคลสามารถทำความดีได้ทางกาย ทางวาจา และทางใจ และสามารถทำความดีได้ในทุกอิริยาบถโดยไม่เลือกกาลเวลา เมื่อสามีไม่ชอบให้นั่งสวดมนต์ ผู้ถามปัญหาสามารถนอนสวดมนต์ด้วยใจ ย่อมทำได้ หรือหากสามีไม่อยู่บ้าน ก็สามารถนั่งสวดมนต์ได้ สวดมนต์ด้วยการออกเสียงได้ ก็จะไม่เป็นการเบียดเบียนเขา

     (๒) หากมีความจำเป็นต้องดื่มไวน์ที่เป็นแอลกอฮอล์ เพื่อให้เกิดความปรองดองของครอบครัว ก็ดื่มได้เท่าที่จำเป็นแต่จิตต้องไม่เป็นทาสของไวน์ และต้องมีจิตมั่นคงไม่หวั่นไหวในคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีปัญญาร่าเริง และเฉียบแหลมในธรรม ชีวิตย่อมไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา

     (๓) บาป คือ ความไม่สบายใจ ไม่สบายกาย ผลตอบแทนที่เกิดจากหุ้นที่สามีซื้อให้ ( ซื้อบาปให้ ) ผู้เป็นภรรยาควรระลึกอยู่เสมอว่า ผลตอบแทน ( เงิน ) เป็นของไม่บริสุทธิ์ หากไม่มีจิตยินดีในอกุศลกรรมนั้น ไม่ถือว่าเป็นบาป ตรงกันข้าม หากผู้ใดเข้าไปมีส่วนในบาปนั้น ถือว่าเป็นผู้ร่วมกระทำบาปได้ ดังนั้นผู้รู้จึงนิยมพัฒนาจิตตนเอง ให้มีบุญมากกว่าบาป แล้วชีวิตจะยังคงอยู่ได้ด้วยบุญให้ผล

     (๔) การปฏิบัติธรรมที่ให้ผลถูกตรง คือปฏิบัติสมถภาวนา แล้วจิตต้องตั้งมั่นเป็นสมาธิ ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาแล้ว จิตต้องเกิดปัญญาเห็นแจ้ง การปฏิบัติธรรมแล้วมีผลเป็นไปตามที่กล่าวมานี้ ถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติธรรมที่ถูกตรงตามธรรม

     เมื่อใดปฏิบัติธรรมแล้วเกิดอาการคันที่แขน ต้องกำหนดว่า “คันหนอๆๆๆๆ” ไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการคันที่แขนจะหายไป ( ไม่หายคัน ไม่เลิกกำหนด ) เมื่อเกิดอาการอื่นใดเกิดขึ้น ต้องกำหนดให้ถูกตรง เช่น เกิดความคิด ต้องกำหนดว่า “คิดหนอๆๆๆๆ” จนกว่าความคิดจะหายไป เมื่อเกิดความกลัว ต้องกำหนดว่า “กลัวหนอๆๆๆๆ” จนกว่าอาการกลัวหายไป เมื่อเกิดอาการวูบเหมือตกจากที่สู ต้องกำหนดว่า “วูบหนอๆๆๆๆ” ไปเรื่อยๆ จนอาการวูบหายไป ฯลฯ แล้วจึงเอาจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิมที่ทำอยู่ การประพฤติเช่นนี้เป็นอุบายให้จิตมีกำลังสติเพิ่มขึ้น แล้วจิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิโดยอัตโนมัติ

     (๕) การที่จิตปฏิเสธสิ่งที่เป็นสมมุติทางโลก ไม่เรียกว่ากิเลส แต่เรียกว่า จิตเกิดความก้าวหน้าเป็นอิสระจากสิ่งสมมุติ ที่ชาวโลกผู้ไม่รู้จริง ( โมหะ ) หลงเอาจิตไปผูกติดเป็นทาส

     (๖) ทางสังคมเรียกว่า เป็นความเฉยชาหรือเพี้ยน แต่ในทางธรรมเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นอิสระของจิต ฉะนั้นพึงรู้ทันจิตว่า พฤติกรรมของเราที่เกิดขึ้น ทำให้มีชีวิตเป็นอิสระมากขึ้นจริงไหม ? ถ้าเห็นว่าดี จงดำเนินปฏิปทาเช่นนี้ต่อไป ตรงกันข้าม คนที่มีกำลังของสติอ่อน ย่อมคล้อยตามคำพูดของปุถุชน ผู้ยังหลงโลก หลงสังคม แล้วต้องถามตัวเองว่า เราจะเป็นเช่นเขาไหม ? จงเลือกทางเดินของชีวิตด้วยตัวเอง
  

2109.
เรียน..อาจารย์สนอง

ผมกำลังเริ่มฝึกสติ แต่จิตมักฟุ้งไปเรื่องอื่น เหมือนมันออกมาจากจิตเอง ทำให้คิดไม่ดีตลอด แต่ตอนนี้จิตมีสติ-สมาธิ บ้างแล้ว แต่ก็มีที่คิดไม่ดีตลอด จะทำอย่างไรจึงจะสงบ คิดแต่สิ่งดีๆบ้างครับ

สุดท้ายที่เขียนมานี้ เพื่อขอโหสิจากอาจารย์สนอง เนื่องจากมโนกรรมทั้งหลาย ขอให้อาจารย์สนองเมตตายกโทษ ให้อโหสิ แก่ผมด้วยเทอญ

   ด้วยความเคารพอย่างสูง

        ทินพันธุ์

คำตอบ
      ผู้ใดมีศีล มีสัจจะ คุมใจได้แล้ว เมื่อเจริญสติโดยมีความเพียรเป็นแรงสนับสนุน จิตย่อมเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย

     ฉะนั้น ผู้ถามปัญหาปรารถนาให้จิตเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิ ต้องประพฤติเหตุให้ถูกตรง … .

     อโหสิกรรมให้แล้ว
  

2108.
เรียนอาจารย์สนอง ผมมีคำถามที่เกี่ยวข้องกับพระวินัยดังนี้ครับ

      1) การที่พระสงฆ์ยืนรอรับบิณฑบาตอยู่ตามตลาดและ

      2) การที่พระสงฆ์ให้พรกับฆราวาสผู้มาใส่บาตรแล้วรับพรด้วยลักษณะการนั่งยองๆ จะถือว่าผิดพระวินัยหรือไม่ครับ เพราะตามพระวินัย ห้ามภิกษุยืนแสดงธรรมกับฆราวาสที่ไม่ป่วยและกำลังนั่งอยู่
 
     ขอบพระคุณอาจารย์ที่เมตตาตอบคำถามครับ

คำตอบ
     (๑) พระวินัยกำหนดให้ภิกษุโคจรบิณฑบาตไปตามลำดับบ้าน ยกเว้นภิกษุอาพาธอนุญาตให้เว้นประพฤติได้

     (๒) พระวินัยบัญญัติให้ภิกษุนั่งแสดงธรรม พระที่ปฏิบัติธรรมในป่านิยมประพฤติเช่นนั้น
   

2107.
ความในใจจากใจจริง

     กราบสวัสดี ท่านอาจารย์ ดร. สนอง วรอุไร ที่เคารพอย่างสูงครับ
     กระผม ชื่อนาย ปริวัฒน์ แซ่เต็ม ตอนนี้อายุ 29 ปี มีเรื่องที่จะถามท่านอาจารย์ครับ
คือเรื่องมีอยู่ว่า ผมฝันว่าเจ้าแม่กวนอิม ใด้เอาดอกบัวขนาดใหญ่เท่ากับคนนั่งใด้หนึ่งคน มาให้ผมแล้วให้ผมขึ้นไปนั่งอยู่บนดอกบัว และกลีบของดอกบัวมีสีชมภูสวยงามมาก แล้วผมก็พนมมือ พอผมพนมมือ ดอกบัวก็พาผมลอยขึ้นไปในอากาศ ในความฝันเป็นแบบนี้ครับท่านอาจารย์ เหตุที่ผมฝันแบบนี้มีเหตุเป็นยังไงบ้างครับ อันที่จริงในชีวิตของผมมีเรื่องราวต่างๆมากมายเข้ามา ซึ่งผมคิดว่าคงไม่มีใครเคยเจอเหมือนกับผมแน่เลย ถ้าผมมีโอกาสผมอยากจะไปหาอาจารย์ แล้วผมจะเล่าความจริงชีวิตในอดีตของผม ที่ผ่านมาให้อาจารย์ใด้ฟัง ขอให้ผมใด้เจอกับอาจารย์ที่ผมเคารพรัก และศรัทธาด้วยใจจริงเถิดครับ ขอให้ท่านอาจารย์ใด้กรุณาผมด้วยเถิดครับ

     สุดท้ายนี้ ผมขออนุญาติรบกวนเวลาของอาจารย์เท่านี้นะครับ กราบสวัสดีครับ
                                                 
        ด้วยความเคารพอย่างสูง
        จาก นาย ปริวัฒน์ แช่เต็ม

คำตอบ
      ที่บอกเล่าไปเป็นสุภนิมิตบ่งชี้ว่า หากผู้ถามปัญหานำพาชีวิตให้ดำเนินไปถูกตรงตามธรรมแล้ว ความพ้นทุกข์จะเกิดขึ้น … . สาธุ
  

2106.
เรียน อาจารย์ ดร. สนอง วรอุไร ที่เคารพ

    กระผมได้ติดตามศึกษาเว็บไซต์กัลยาณธรรมมาโดยตลอด โดยเฉพาะสนทนาภาษาธรรม จะอ่านเกือบทุกคำถาม คำตอบ ซึ่งอาจารย์ก็ให้ธรรมะในการเป็นผู้ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นผู้ประพฤติและปฏิบัติตนไม่ผิดศีล ผิดธรรมและผิดหมาย แต่ก็มีเรื่องอึดอัดใจเกิดขึ้นกับตนเอง ผมเป็นข้าราชการที่ต้องทำงานร่วมกับชุมชนและวัด มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะทางวัด แต่มาระยะหลังเจ้าอาวาสเปลี๊ยนไป มีกิ๊ก ส่งเรียนหนังสือ เช่าอยู่คอนโด ซื้อรถเก๋งให้ขับ ท่านยืมเงินศรัทธาเขาไปทั่ว แต่ละคนก็ไม่ได้เงินคืน บางรายเป็นแสน และท่านก็โทรมาขอยืมเงินจากผม ผมรู้ข้อมูลท่านอยู่ก็เลยบ่ายเบี่ยงไม่ให้ยืม ล่าสุดท่านทำหนังสือเชิญชวนผมและศรัทธาบางคนที่มีอันจะกินและชอบทำบุญให้ร่วมทำบุญกับวัด ผมรู้สึกอึดอัดใจ ไม่ทำก็ไม่ได้ ทำแล้วก็ไม่ได้...ทุกวันพระอยากไปทำบุญที่วัดอื่น แต่ก็กลัวคำครหาในฐานะเป็นข้าราชการที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน แต่ก็อาศัยวันสำคัญทางศาสนาและวันเสาร์ วันอาทิตย์บ้าง ไปทำบุญนอกพื้นที่

   อาจารย์ครับ ขอความกรุณาได้ช่วยแนะนำวัดในจังหวัดลำพูนที่ไปทำบุญแล้วได้บุญด้วยครับ

คำตอบ
      ความอึดอัดใจให้ผลเป็นบาป ผู้ใดมีสติกำกับจิต ไม่ศรัทธาในสิ่งที่มิใช่ธรรม ผู้นั้นไม่มีบาปเกิดขึ้นกับจิต

     คนที่กลัวคำกล่าวครหา เป็นผู้ที่ไม่มีธรรมคุ้มครองใจ นอกจากนี้ยังมัอัตตาสถิตอยู่กับใจ จึงมีความเห็นผิด คือ ความอึดอัดใจที่ให้ผลเป็นบาป ผู้ใดไม่ศรัทธาแล้วไม่ทำ บาปจะไม่เกิดกับผู้นั้น

     ประสงค์ทำบุญแล้วได้บุญ ต้องไปที่วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย ลำพูน โดยมีพระอริยวังโส เป็นเจ้าอาวาส
  

2105.
สวัสดีครับท่านอาจารย์

ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สนองครับ
     กระผม เรืออากาศโท ชาตรี ศรีด้วง เป็นข้าราชการทหารอากาศครับ สมัยตอนที่ผมเป็นเด็กอายุช่วงประมาณ 12-16 ปี พ่อแม่ของกระผมยากจนมาก ท่านมีอาชีพทำนา จึงอาศัยการเอาข้าวเปลือกไปขายเพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายปีไหนฝนแล้งข้าวได้น้อยปีนั้นจะลำบากมาก ผมต้องช่วยพ่อแม่ทำนาตลอดเพราะผมรู้ว่าถ้าท่านไม่มีข้าวท่านก็ไม่มีเงิน

     จนผมอายุ 17 ปี ผมตั้งใจเรียนเพราะต้องการที่จะผ่านความยากจนและผมก็ทำสำเร็จ ผมสอบเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของกองทัพอากาศได้ และก็ได้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ(เกาหลีไต้) พอผมจบมาผมก็อยากจะเป็นนักบิน เนื่องจากผมเป็นทหารอากาศ แต่ผมสอบตกเพราะสายตาผมสั้นผมรู้สึกเป็นทุกข์มาก ก็เลยเปิดอินเตอร์เน็ทไปเจอคลิบของท่านอาจารย์พูดเรื่อง ...ชีวิตหลังความตาย... ก็เลยฉุกคิดแบบโดนใจมาก ตอนเป็นเด็กทุกข์เพราะบ้านจนแต่พอมีอาชีพแล้ว มีเงินเดือนแล้วทุกข์เพราะความอยากที่จะเป็นอะไรต่อ อยากเลื่อนยศอยากได้ ๒ขั้น สรุปแล้วพอไม่เป็นครับ

      ปัจจุบันผมอายุ ๒๘ ปีได้นำตัวเองเข้าไปปฏิบัติธรรมเพราะใจเห็นแล้วว่า จะรวยหรือจนสุดท้ายก็ต้องทิ้งทั้งหมด ผมพยายามอยู่ ๒ ปีครึ่ง โดยใช้วิธีดูจิตและดูกายโดยการกำหนดรู้กายและใจทำเต็มที่เท่าที่รู้สึกตัว แต่ไม่ค่อยได้นั่งสมาธิเพราะผมเป็นข้าราชการเวลาไม่ค่อยมี   ผมพิจารณาของผมไปเรื่อย มีอยู่วันหนึ่งผมนั่งรถทัวร์ไปต่างจังหวัด ผมนึกภาพเห็นขวดน้ำที่เค้าใส่น้ำกับน้ำมันซึ่งแยกชั้นกันอยู่ และกระผมก็เกิดอาการปิ๊งขึ้นมาในใจเป็นของแปลกๆ ซึ่งมันเกิดของมันเอง มันเห็นว่าจิตเราอยู่อีกส่วนหนึ่ง(อยู่นิ่งๆ)และความคิด(ไม่ว่าคิดดีคิดชั่ว , คิดว่าถูกคิดว่าผิด) , ความรู้สึกอะไรทุกอย่างถูกแยกออกไปและเห็นว่ามันพร้อมจะสลายไปไม่เวลาใดก็เวลาหนึ่ง รวมเวลาของอาการเกิดแล้วไม่น่าจะเกิน 4 วินาทีครับ มันแป็บเดียว แต่มันเป็น 4 วินาทีที่มีค่าสำหรับกระผมมาก เพราะเวลาที่จิตส่งออกนอกความรู้ตัวนี้จะเข้ามาช่วยทันทีว่า สิ่งที่จะเกิดหลังจากที่จิตส่งออกไปนั้นมันไม่ไช่ของจริง หรือบางทีควบคุมจิตไม่ทันจนปรุงเป็นทุกข์เรียบร้อย ความรู้ตัวนี้ก็เข้ามาบอกอีกว่า นี้ก็ไม่ไช่ของจริง จนทุกวันนี้ผมเหมือนมีของวิเศษที่จะบอกใครให้ทราบก็ไม่ได้เพราะไม่รู้จะบอกยังงัย จนต้องเขียนอีเมลย์มาขอขอบพระคุณท่านอาจารย์นี้แหละครับ

ขออนุโมทนาบุญกับท่านอาจารย์ด้วยครับ

คำตอบ
      สาธุ บุญบารมีเก่าส่งผลให้แล้ว จงดำเนินชีวิตไปตามแนวของปธาน ๔ นะครับ
  

2104.
กราบเรียน อาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร

     ผมมีเรื่องเรียนถามอาจารย์ถึงการปฏิบัติแบบ วิปัสสนากรรมฐาน ครับ   ทุกวันนี้ไม่แน่ใจว่า ปฏิบัติแบบ สมถะ หรือ วิปัสสนา กันแน่ โดยการปฏิบัติของผมคือ จะแบ่ง เป็น 2 แบบคือในรูปแบบกับประจำวัน

     1) ในรูปแบบผมจะนั่งสมาธิกำหนดพุทโธ ไปเรื่อยๆ แต่ถ้า เผลอ หรือ หลงไปคิดเรื่องอะไร ก็จะบอกว่า "เผลอรู้ว่าเผลอ"  " คิดรู้ว่าคิด"  " ฟุ่งซ่านให้รู้ว่าฟุ่งซ่าน" หรือ "สงบนิ่งให้รู้ว่าสงบนิ่ง"   แล้วผมก็จะกำหนด พุทโธต่อ ถ้าคิดอีกหลงอีกก็กำหนดแบบเดิม พอเรารู้ตัวว่าคิด ความคิดมันก็จะดับไป   ตัวสติก็จะกลับมา   ให้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดดับๆ ไป   ปฏิบัติแบบนี้ เรียกว่า    สมถะ หรือ วิปัสสนา ครับ

     แต่ปัญหาอีกอันคือ นั่งไปนานๆจะเกิดอาการปวด ผมก็จะกำหนด "ปวดรู้ว่าปวด" แต่เรื่องปวดนี้มันไม่หายเหมือน ความคิด หรือ ความหลงครับ เลยไม่รู้จะกำหนดยังไงดีให้มันดับไปเหมือน ความคิด หรือต้องกำหนด "ปวดรู้ว่าปวด" ไปเรื่อยๆแทนพุทโธไปเลยครับ รบกวนอาจารย์ช่วยแนะให้ละเอียดนิดนึง ถ้าสมมุติให้กำหนด ปวดรู้ว่าปวด ไปเรื่อยๆมันจะหายยังไงอะครับ  

     2) การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ผมก็จะทำการดูจิต ให้รู้อารมณ์ไป อยากได้ก็รู้ว่าอยาก โกรธรู้ว่าโกรธ คิดรู้ว่าคิด เผลอรู้ว่าเผลอ แบบนี้เป็นวิปัสสนา ผมเข้าใจถูกต้องไหมครับ

     รบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยครับ ผมกลัวติดสมถะ แล้วจะไม่ทำวิปัสสนา

     ผมอยากได้รูปแบบการปฏิบัติวิปสสนาที่ถูกต้องครับ ไม่อยากไปทางสมถะ อาจารย์ช่วยแนะนำ ครูบาอาจารย์ให้ทีครับจะใกล้หรือไกลก็ได้ครับ (ตัวผมอยู่กรุงเทพ) อยากได้หลักสักอันนึงมายึดไว้ แล้วดำเนินไปในทางวิปัสนาให้ถูกต้องจะได้มั่นใจในการปฏิบัติของตน ทุกวันนี้ก็สับสนในการปฏิบัติครับ มันจึงเป็นอุปสรรค์ในการปฏิบัติในบางครั้ง

คำตอบ
      เมื่อเกิดอาการปวด แล้วกำหนดว่า ปวดรู้ว่าปวด แต่อาการยังคงมีอยู่ แสดงว่ากำลังของสติยังด้อยกว่ากำลังของขันธมาร ผู้ตอบปัญหาเคยมีประสบการณ์เช่นนี้ จึงได้กำหนดว่า “ปวดหนอๆๆๆๆ” ไปเรื่อยๆ อาการปวดที่ขาไม่หายไปจะไม่เลิกกำหนด ตั้งใจไว้อย่างนี้โดยเอาชีวิตเข้าแลก ในที่สุดพลังของขันธมาร (ปวดขา) ไม่มีอำนาจเหนือพลังของสติที่เกิดขึ้นกับจิต อาการปวดที่ขาจึงดับไป บัดนี้จิตมีกำลังของสติกล้าแข็งเหนือสิ่งกระทบใดๆ แล้วจิตได้ว่าง เข้าสู่ความเป็นอุเบกขา … . พิสูจน์ไหม ?

     (๒) การดูจิตให้รู้อารมณ์ จะเป็นวิปัสสนาได้ต่อเมื่อ จิตรู้ เห็น เข้าใจ ว่อารมณ์ใดๆที่เกิดขึ้นกับจิต ล้วนต่างดำเนินไปตามกฏไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา)

     ตัวอย่าง เมื่อจิตมีอารมณ์โกรธ ย่อมมีเหตุที่ทำให้เกิด เมื่อเหตุ (ความขัดใจ) ดับตามกฏไตรลักษณ์ อารมณ์โกรธย่อมดับตามไปด้วย

     เมื่อจิตคิด ย่อมรู้ว่าต้องมีเหตุที่ทำให้เกิด เมื่อเหตุ (อภิสังขาร) ดับตามกฏไตรลักษณ์ อารมณ์ที่จิตคิดย่อมดับตามไปด้วย

     เมื่อจิตเผลอ ย่อมรู้ว่าต้องมีเหตุที่ทำให้เกิด เมื่อเหตุ (ขาดสติ) ดับตามกฏไตรลักษณ์ อารมณ์ที่จิตเผลย่อมดับตามไปด้วย ฯลฯ

     การใช้จิตตามระลึกรู้ในลักษณะนี้เรียกว่ วิปัสสนาภาวนา ผู้ตอบปัญหาแนะนำให้ไปปฏิบัติธรรมกับ เจ้าอาวาสวัดมเหยงคณ์ จังหวัดอยุธยา
  

2103.
ขอสอบถาม ดร.สนอง วรอุไร ดังนี้

      1. เวลาผมเดินจงกรมจิตของผมแวบไปนึกถึงคนไม่ถูกกัน จิตจะรู้สึกโมโหแต่ไม่มากนะครับ รู้สึกไม่ชอบ ไม่พอใจ ซะมากกว่า ผมต้องกำหนดขออโหสิกรรมต่อเขา ขอให้เขาจงมีความสุขประมาณ 20 -30 วินาที จิตจึงสงบกลับมาองค์ภาวนาต่อ และจิตจะยิ้มอิ่มเอิบ ปฏิบัติต่อไปได้

      2. ถ้าขณะเดินจงกรมผมเกิดอาการแบบนี้อีก และผมทำเหมือนข้างต้นถูกต้องหรือไม่

     ขอชี้แนวข้อขัดข้องด้วย
     ขออำนาจบุญกุศลจงคุ้มครองให้อาจารย์สนอง วรอุไร สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บด้วยเถิด

คำตอบ
      (๑) วิธีแก้ปัญหามิให้จิตเกิดอารมณ์โมโห ทำได้ถูกตรงแล้ว จงดำเนินต่อไป ทุกครั้งที่จิตระลึกถึงสิ่งที่ทำให้ขัดใจ ต้องให้อภัยเป็นทาน แล้วอารมณ์โมโหจะไม่เกิดขึ้น

      (๒) ถูกต้องครับ
   

2102.
กราบสวัสดีท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ที่นับถือครับ

     ผมได้นำตัวเองไปปฏิบัติธรรม มาแล้ว สองครั้ง ปีที่แล้วไป ได้ 4 วัน
ปีนี้ เมื่อเดือนที่แล้ว(มี.ค. 55)  ไปมาได้ 5 วัน จากครั้งแรกกับครั้งที่สอง แตกต่างกันมากในเรื่องของความเข้าใจ ในครั้งแรก ทำตามวิธีที่พระอาจารย์ได้สอน ก็ทำไปความที่ตัวเองชอบนึกคิดวิเคราะห์ อาการต่างๆหรือสิ่งที่เกิดขึ้นต่างๆ จะเป็นเหตุ ให้ตัวเองก้าวหน้า จะคอยนึกถึง ผลที่ได้ทำตลอดเวลา แล้วกลับมาที่บ้านก็ไม่ได้ทำต่อเนื่อง จากนั้นก็เลิกทำโดยสิ้นเชิง ในปีที่แล้ว ในขณะตื่นก็ไม่กำหนดตามอาการ ตามที่พระอาจารย์ได้สอนไว้ ไปใช้การวิเคราะห์ที่อาจารย์สอนแบบไม่เข้าใจ แต่เป็นการนึกคิดของตัวเองมากกว่า พอปฏิบัติเสร็จ พระอาจารย์ให้พัก   ก็จะมานั่งคุยถึงอาการที่ตัวเองทำได้ไม่ได้ อยากจะอวดตัวเองให้คนอื่นฟัง เมื่อนั่งเงียบๆ ก็จะคิดถึงบ้านคิดถึงเรื่องที่ผ่านมา ก็ไม่ได้กำหนด
 
  มาปีนี้เดือนที่แล้ว (มีนาคม) ก็ตั้งใจไปอีก ตั้งใจไป 5 วัน ก็เอารถไปจอดที่ลานวัด ด้วยความที่ตัวเองเป็นห่วงรถ จึงกำหนดในไว้ก่อน ล่วงหน้าว่า ถ้าไม่ใช่ของเรา หายก็จะไม่เสียดาย คือ หายก็หาย เมื่อตอนปฏิบัติก็ไม่เกิดอาการเป็นห่วงรถเลย ก็เป็นเช่นเดิมในวันแรกๆ จะคุยและจะอวดตัวเองเช่นเดิม ก็มีหลวงพี่รูปหนึ่ง ที่ดูแลโรงนอนที่พัก ก็มาพูดให้ผมได้คิด ทำให้ผมลองพิสูจน์(ตอนนั้นคิดถึงคำอาจารย์ ดร.สนอง ที่กล่าวว่าเราต้องพิสูจน์) ก็เลยลองไม่พูดกับใครเลย เขาจะไม่ปฏิบัติดีไม่ดี สนใจไม่สนใจ เมื่อผมเห็น ก็จะกำหนด ถ้าไม่พอใจเขา ก็กำหนด เพราะจะจับได้ตอนที่เกิดอารมณ์ชอบไม่ชอบแล้ว กำหนดที่ตาไม่ทัน แล้วก็ตั้งมั่นใจตัวเอง ลองกำหนดเวลาเดิน หลังจากฝึกปฏิบัติ เสร็จกลับที่พัก ก็จะกำหนด ทุกอย่างที่รู้สึกได้ในปัจจุบัน จะตามอาการตัวเอง แต่ไม่ได้ละเอียดมากเท่าไหร่ครับ เพราะบ้างครั้งก็เผลอไปไม่รู้ตัว แต่พอรู้สึกได้ก็รีบกลับมากำหนดปัจจุบันทุกอริยาบถครับ กลับมาที่บ้าน ก็ยังกำหนดทุกอริยาบถ ตลอดที่นึกรู้ตัวได้ แลจะคอยห้ามใจตัวเองตลอด ทำให้นึกถึงคำที่ อาจารย์ ดร.สนอง บอกว่า ให้กำหนด ทุกขณะตื่น แล้วก็ที่ อ.ดร.สนองบอกว่า ครูบาอาจารย์สอนอย่างไรไม่ต้องสงสัย ให้ทำตามอย่างเดียว   ก็มีพระอาจารย์ที่วัดรูปหนึ่งที่สอน ท่านก็จะบอกว่า โยมไม่ต้องสงสัย มีหน้าที่ เดินก็เดินไป ถึงเวลานั่งก็นั่งไป กำหนดรู้อยู่ปัจจุบันให้ได้จริงๆ เหอะแล้วจะรู้เอง ผมก็พิสูจน์เลยตั้งใจ เพราะตัวเอง ติดความคิด ที่อยากทำ สงสัยตลอดเวลา วิเคราะห์ตลอดในอาการที่เกิด ทำให้ผมมองแค่ไม่กี่อย่าง คือ ชอบ ไม่ชอบ เวลาที่มีสิ่งกระทบ เมื่อกำหนดที่อยาตนะไม่ทัน ก็ไปดูที่อารมณ์กำหนดตามอารมณ์ที่เกิดขึ้น   ตอนครั้งแรกก็ที่ทำ จะไปยึดติดกับวิธีการเดิน การนั่ง ความคิดจะไม่สนใจสิ่งกระทบอะไรเลย ไม่กำหนดรู้ ถึงอารมณ์ที่เกิดจากการกระทบ ขอให้ตัวเองเดินได้ได้รอบ ก็ใช้ได้
 
     แต่พอตอนนี้ กว่าจะได้เดินนั้นยากมาก ทำให้คิดถึงตอนแรก เราเดินเพราะเราอยากเดินนี่เอง เดินได้เกิดความพอใจ โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้กำหนด ในอารมณ์นั้น เพราะตังเองทำได้ในวิธีการแล้ว ปรุงแต่งต่อว่า ใช้ได้แล้ว สำเร็จในวิธีการนี้แล้ว
 
  สิ่งที่จะรบกวนถาม ท่าน อ.ดร. สนอง วรอุไร
 
     1 ผมปฏิบัติที่บ้าน จะมีเสียงรถ วิ่งผ่านตลอด เวลาที่ผมกำหนด ก็จะไปจับอยู่ที่ หู เสียงหนอๆๆ แต่ก็ยัง คิดรู้อยู่ว่า เป็นเสียงรถประเภทไหน อย่างนี้จะปฏิบัติอย่างไรให้ถูกต้องครับ แล้วเมื่อมี เสียง สุนัขเห่า การเห่าของสุนัขจะเป็นจังหวะ ผมกำหนด ว่าเสียงหนอ ๆๆ ไปเรื่อย จนสุนัขหยุดเห่า แต่ช่วงที่สุนัข เสียงขาดเป็นช่วงๆ ก็จะดูอารมณ์ตัวเอง อย่างนี้ถูกต้องหรือเปล่าครับ แต่เสียงรถวิ่งผ่าน ผมจะชิน ผมกำหนดเมื่อได้ยิน แต่ไม่รู้ให้สิ่งหายไป จะได้หรือเปล่าครับ แต่ถ้ารถที่วิ่ง เสียงดังมาก ผมก็จะกำหนดจนกว่าเสียงจะหายไปครับ
 
     2 ในขณะที่ผมทำอะไรผมจะพยายามกำหนดทุกอย่าง ที่ตัวเองจับได้ เวลาเดินผมจะจับได้แค่ ย่าง หนอ   จับหนอ ดื่มหนอ กลืนหนอ คิดหนอ นั่งหนอ ถ้าเผลอไปไม่รู้ตัวก็จะกลับมาตั้งสติก่อน ตามแบบที่ หลวงพ่อจรัญได้สอนไว้ ตั้งแต่กลับมาจากการปฏิบัติครั้งที่สอง พยายามทำตลอดเวลาที่รู้สึกได้ครับ พยายามจะกำหนดให้ได้มากที่สุด อย่างนี้ถือว่าถูกต้องหรือเปล่าครับ
 
     3 เรื่องของศึล ผมตั้งสัจจะไว้ในใจตอนที่ปฏิบัติว่า จะไม่พูดจา ที่ส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ ตามศีลห้า ข้อสาม เพราะศีลข้อนี้ที่ผมดูแล้วจะผิดมากที่สุด นอกนั้น ไม่กระทำอยู่แล้วครับ ก็เลยตอนนี้ พูดระวังมากครับ แต่ถ้าผมอธิบายในเรื่องของการปฏิบัติให้ผู้ที่ต้องการฟังถึงความเป็นจริง ตามที่ตัวเองเข้าใจ จะผิดหรือเปล่าครับ
 
     4 แต่ก็แปลกครับ เวลาเราพูดน้อยลง คือแทบจะไม่พูดเลย ทำงานก็ทำไป พอใจไม่พอใจ ก็กำหนดไป กินก็จะกินน้อยลง ทำให้ความเบื่อ ต่อสิ่งที่ทำให้ตัวเองติดสบาย คือไม่อยากอยู่กับคนที่เราเคยพูดคุยไร้สาระ เบื่อที่จะอยู่กับคนมากๆ ที่คุยแต่เรื่องคนอื่น ทำให้ตอนนี้เขาใจว่า สิ่งที่เป็นจริงปัจจุบัน นี้ถ้าเราอยู่ให้ได้จริง เป็นสิ่งที่สงบมากกว่า จิตที่คิดว่าอันนั้นดีไม่ดี ชอบไม่ชอบ ผมสวดอิติปิโสเท่าอายุบวกหนึ่ง เมื่อเริ่มสวดก็ท้อ เลยดัดนิสัยจิตนี้ ด้วยการสวด 108 ซะเลยครับ ฝืนตอนนี้เลยชอบฝืนใจ จะทำตรงกันข้ามกับจิตที่คิด ไม่ดีครับ
 
      สุดท้ายขอให้ ท่าน อ.ดร.สนอง วรอุไร มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคภัยเบียดเบียน และขอขอบพระคุณล่วงหน้าที่ ท่านอาจารย์ได้กรุณาตอบคำถาม ขอบพระคุณครับ

    อรุณ สุดวิลัย

คำตอบ
     การปฏิบัติธรรมที่ไม่ต่อเนื่อง ไม่ต่างไปจากการตักน้ำใส่ตุ่ม ตักๆหยุดๆ โอกาสที่น้ำจะเต็มตุ่มย่อมเกิดขึ้นได้ยาก อนึ่ง ผู้รู้ผู้ฉลาดนิยมประพฤติเหตุให้ถูกตรงโดยไม่หวังผล ขออภัยคนโง่ ไม่ประพฤติเหตุให้ถูกตรง แต่หวังผลเลิศให้เกิดขึ้น

     (๑) คำว่า “น้ำชาล้นถ้วย” ยังเป็นจริงในทุกยุคทุกสมัย มีมากล้นจนไม่สามารถรองรับน้ำเข้าบรรจุในถ้วยได้อีก ดังนั้นเมื่อได้ยินเสียง ต้องกำหนดว่า “ได้ยินหนอๆๆๆๆ” ไปเรื่อยๆ จนเสียงที่ได้ยินดับไป แล้วจึงเอาจิตกลับมาสู่องค์ภาวนาเดิมที่ทำอยู่ เรื่องของเสียงสุนัขเห่าเป็นจังหวะ หรือเสียงที่เกิดจากรถยนต์จะดังมากดังน้อย จะต้องไม่เอาจิตเข้าไปปรุงอารมณ์ให้เกิดขึ้น หากจิตปรุงอารมณ์เช่นนั้นเรียกว่า น้ำชาล้นถ้วย ผู้รู้เมื่อได้ยินเสียง แล้วกำหนดว่า “ได้ยินหนอๆๆๆๆ” จนเสียงดับไป อย่างนี้ไม่เรียกว่าน้ำชาล้นถ้วย

     (๒) ถูกต้องครับ แต่หากมีความเพียร และประพฤติได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน การบรรลุธรรมย่อมเกิดขึ้น

     ผู้รู้มีความเพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นให้คงอยู่ แล้วความดีย่อมคุ้มรักษาตัวเองได้ ตรงกันข้าม ผู้ไม่มีความเพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นให้คงอยู่ เรียกว่าเป็นผู้ประมาท จิตจึงตกเป็นทาสของมารได้

     (๓) ศีล ๕ ข้อที่สาม เป็นเรื่องของกาเมสุมิจฉาจาร แต่ศีลข้อที่สี่ เป็นเรื่องของการพูดจา

     การที่จะอธิบายความจริงตามที่ตัวเองเข้าใจ เป็นสิ่งที่ไม่ผิด แต่หากความเป็นจริงนั้น ไม่ถูกตรงตามธรรมวินัยของพระพุทธโคดม ถือว่าผิด

     (๔) ตลอด ๔๕ พรรษาที่พระพุทธโคดมออกเผยแผ่ธรรม พระองค์มิได้แนะนำให้พุทธบริษัท สวดมนต์เท่าอายุบวกหนึ่ง และไม่เคยแนะนำพุทธบริษัทให้ประพฤติฝืนใจตัวเอง
  

2101.
กราบเรียนอาจารย์ ดร. สนองที่เคารพค่ะ

     หนูมีความสงสัย และอยากทราบว่าเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดเพราะเหตุใด และหนูควรปฏิบัติอย่างไร จึงจะมีความก้าวหน้าในธรรมคะ

     ทุกครั้งที่หนูฝันถึงสิ่งเหล่านี้ ไม่นานเหตุการณ์ที่หนูฝันก็จะเกิดขึ้นค่ะ
      1. ประมาณปี 2553 หนูจะฝันเห็นน้ำ และลอยคอในน้ำ เกือบตลอดทุกคืน ฝันถี่มากๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อเมื่อเกิดอุทกภัยในปี 2554 ที่ผ่านมา ก็สงสัยว่า มันจะสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่หนูฝันหรือไม่คะ หลังจากนั้นมา ก็ไม่เคยฝันถึงลักษณะนี้อีกเลยค่ะ

     2. หนูฝันว่าในหลวงเสด็จมา ที่ทำงานหนู จากนั้น ประมาณ 3 เดือน โครงการในพระราชดำริ (กปร.) ก็ได้มาตั้งสำนักงานติดที่ทำงานหนู คือบริเวณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้สะพานพระราม 8 ค่ะ

     3. หนูฝันถึงบุคคลหนึ่ง ซึ่งอยู่ๆ ก็ฝันถึง หลังจากนั้น ประมาณ วันที่ 3 ของการฝัน บุคคลที่หนูฝันถึง ก็มาที่ที่ทำงานหนูค่ะ

     4. และประมาณ หลายปี ตอนที่หลวงตามหาบัวยังดำรงขันธ์อยู่ อยู่ๆ หนูก็เห็นใบหน้าของหลวงตาชัดเจนมากค่ะ หลวงตายิ้ม และมีวงกลมล้อมรอบใบหน้าหลวงตาค่ะ จากนั้น หนูก็ได้ข่าวว่าหลวงตาจะมาที่สวนแสงธรรม ใกล้ๆ ที่พักของหนู หนูดีใจมากๆ ค่ะ

     5. และเหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดในฝัน เกิดตอนที่หนูจะลืมตาลุกขึ้น แต่หนูลืมตาไม่ได้ สิ่งที่แปลกคือ หนูเห็นพระ สงฆ์ยืนอยู่ปลายเตียงของหนู ชัดเจนมากค่ะ แต่มองไม่เห็นหน้าค่ะ เห็นเฉพาะคอลงมาค่ะ พยายามจะมองหน้าท่าน แต่มองไม่ได้ค่ะ

     สิ่งที่หนูอยากเรียนถามอาจารย์ก็คือ เป็นเพราะอะไรหรือคะ จะเรียกว่านิมิตรได้ไหมคะ และหนูควรปฏิบัติ อย่างไร จึงจะมีความก้าวหน้าในธรรมคะ เพราะหนูไม่อยากมาเกิดอีกแล้ว และอยากได้ฌานค่ะ จะได้ทราบเรื่องของ ตนเอง และอยากช่วยผู้อื่นด้วยค่ะ

    กราบขอบพระคุณ อาจารย์มากๆ ค่ะ และหนูต้องกราบขอขมาอาจารย์ด้วยนะคะ หากทำให้อาจารย์ต้องเหนื่อย และหากมีสิ่งใดที่หนูเคยล่วงเกินอาจารย์ ทั้งตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจ ทั้งทางกาย วาจา ใจ ขออาจารย์อโหสิกรรมให้หนูด้วย นะคะ

     กราบขอบพระคุณอาจารย์มากๆ ค่ะ
       ด้วยความเคารพอย่างสูง

คำตอบ
       (๑) ที่บอกเล่าไปเป็นความฝันที่ไม่ดี หากผู้ถามปัญหาไม่ปรารถนาให้ชีวิตเป็นเช่นความฝัน ต้องบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนาอยู่เสมอ บำเพ็ญตลอดชีวิต แล้วจะไม่มีชีวิตเป็นดังที่ฝัน

     (๒) (๓) และ (๔) เป็นนิมิตดี (สุภนิมิต) ผู้รู้ไม่เอาจิตไปผูกติดอยู่กับความฝัน เพราะมิได้เป็นเหตุนำพาชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์

     (๕) เรียกว่าเป็นนิมิตได้ และหากปรารถนานำพาชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์ ต้องพัฒนาตนเองให้มีศีลคุมใจ แล้วนำตัวเองไปปฏิบัติธรรม เมื่อใดจิตเกิดปัญญาเห็นแจ้งได้แล้ว โอกาสนำพาชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์จึงจะเกิดขึ้น

     อนึ่ง การอยากรู้เรื่องของตนเอง มิใช่เหตุแห่งการพ้นทุกข์ และความอยากช่วยเหลือคนอื่น ต้องนำพาชีวิตดำเนินไปตามแนวทางของพระโพธิสัตว์
  

 

 

 

 

 

 

 

browser stats