คำถาม-คำตอบ ข้อ 1451-1500 |
1500.
เรียน อาจารย์ ดร.สนอง ที่เคารพ
กระผมมีเรื่องที่จะเรียนถามอาจารย์สั้นๆ ดังนี้ครับ
เวลากรวดน้ำ ท่องบทกรวดน้ำ อิมินาฯ เป็นภาษาบาลี แต่ไม่รู้ความหมายจะทำให้ท่านเหล่านั้นได้รับส่วนบุญที่แผ่ไปให้หรือไม่ครับ เปรียบเทียบกับการแผ่ส่วนบุญโดยการกล่าวถึงผู้ที่เราจะให้เป็นภาษาไทยที่เราเข้าใจอย่างไหนจะดีกว่ากัน
กราบขอบพระคุณอาจารย์มากครับ
คำตอบ
กรวดน้ำอุทิศบุญกุศลให้ผู้ล่วงลับ สามารถพูดเป็นภาษาบาลีได้ แต่การกรวดน้ำแล้วกล่าวคำที่ผู้กรวดน้ำเข้าใจความหมาย ย่อมดีกว่า
|
1499.
สวัสดีครับ อาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร
ผมขอแนะนำตัวก่อนนะครับ
ผมชื่อ พงศ์อมร พัฒนพงศ์โสภณครับ
ผมมีความทุกข์เรื่องหนี้สินครับ
ไม่ทราบว่าจะวางหรือจะแก้ไขอย่างไร
อาจารย์โปรดเมตตาตอบคำถามของบัวที่อยู่ใต้น้ำด้วยเถิดครับ
หากคำถามที่ถามมาเป็นเรื่องไรสาระหรือ
รบกวนอาจารย์ก็ขอขมาอาจารย์ด้วยนะครับ
พงศ์อมร พัฒนพงศ์โสภณ
คำตอบ
พระพุทธะตรัสว่า ฆราวาสจะมีความสุขได้ ต้องประพฤติเหตุให้ถูกตรง ดังนี้
๑. สุขจากการมีทรัพย์
๒. สุขจากการใช้จ่ายทรัพย์
๓. สุขจากการไม่เป็นหนี้
๔. สุขจากการทำงานไม่มีโทษ
ฉะนั้นผู้ใดไม่ประพฤติตามคำชี้แนะของผู้รู้ทั่ว (สัพพัญญู) ย่อมประสบกับความทุกข์แน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว หากผู้ถามปัญหาปรารถนาจะลดทุกข์ ต้องนำตัวไม่เป็นหนี้ ด้วยการบริโภคใช้สอยมักน้อย เท่าที่จำเป็นกับชีวิต บริโภคใช้สอยแต่สิ่งที่เป็นสาระ (ประโยชน์) และทำจิตเป็นสันโดษ ไม่นำชีวิตไปเปรียบเทียบกับผู้อื่น จากนั้นหางานดี (ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม) ด้วยความขยันหมั่นเพียร และสุดท้ายประพฤติตนให้มีศีล ๕ คุมใจทุกขณะตื่น
|
1498.
กราบเรียนท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร
หนูมีคำถามที่สงสัย อยากเรียนถามอาจารย์ดังนี้ค่ะ
1. ในเรื่องของการทำบุญ บางที่บอกว่าควรทำเต็มที่ ทำตามศรัทธา แต่ถ้าทำน้อย ก็ได้บุญน้อย
เวลาที่มีงานพิธีของทางวัด ใครที่ทำบุญด้วยปัจจัยน้อย ไม่ถึงหลักแสน หรือมากกว่านั้น ก็จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษ ในการนั่งด้านหน้า หรือติดโบว์หรือได้มีโอกาสทำพิธี ตัวของหนูเองก็รู้สึกไม่ดีกับการกระทำแบบนี้ เพราะเหมือน เป็นการแบ่งชนชั้น และการที่เรารู้สึกต่อต้านกับทางวัด และว่ากล่าวบิดาซึ่งท่านเห็นดีเห็นงามในการทำบุญแบบนี้ ไม่ได้รู้สึกแบบหนู และพร้อมทำบุญด้วยปัจจัย(เงิน)อย่างเต็มที่ บางครั้งถึงหลักแสน ถือเป็นบาปหรือไม่ค่ะ และการทำบุญแบบนี้เป็นการทำบุญด้วยกิเลสรึป่าวคะ
2. หนูเคยทำบุญด้วยเงินจำนวนน้อยที่วัดนี้ แล้วบิดาว่ากล่าวหนูว่า เพราะทำแค่นี้ชีวิตถึงไม่ไปถึงไหน หนูอยากทราบว่า การที่หนูจะมีพฤติกรรมต่อต้าน ในสิ่งที่เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง หนูจะบาปมั้ยคะ
3. แบบที่บิดาหนูเป็น ถือเป็นศรัทธา เป็นเส้นทางของท่านที่เราไม่ควรก้าวก่ายรึป่าวคะ
กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงและอนุโมทนาบุญกับสิ่งต่างๆ ที่ท่านอาจารย์ สนอง วรอุไรได้ตอบคำถาม ให้หนูได้กระจ่างด้วยค่ะ
คำตอบ
(๑). ในครั้งพุทธกาล พระมหากัสสปะ เข้านิโรธสมาบัตินานเจ็ดวัน หลังจากออกนิโรธสมาบัติแล้ว ได้ครองจีวรอุ้มบาตรไปยืนอยู่หน้าบ้านของหญิงชรายากจน หญิงชรายากจนไม่มีอาหารใดๆพอจะนำมาใส่ลงในบาตรได้ จึงได้ใช้ภาชนะตักน้ำดองผักมาใส่ลงในบาตร แล้วพระมหากัสสปะ ลงนั่งฉันน้ำดองผักให้หญิงชรายากจนเห็น ทำให้เกิดปีติอย่างมาก เมื่อตายไปแล้ว นางได้ไปเกิดเป็นเทพนารีอยู่ในสวรรค์ชั้นนิมมานนรดี ดังนั้นผู้ถามปัญหาโปรดพิจารณาเอาเองว่า จำนวนมากหรือจำนวนน้อยของทานที่ให้ มีผลต่อานิสงส์ที่ผู้ให้ทานจะได้รับ มากน้อยเพียงใด การให้ทรัพย์เป็นทาน มีอานิสงส์เป็นบุญ แต่ความอยากได้ที่นั่งข้างหน้า ความอยากได้เข้าร่วมทำพิธี (ตัณหา) นั้นเป็นกิเลส มีอานิสงส์เป็นบาป ซึ่งพระพุทธโคดมมิได้แนะนำให้พุทธบริษัท ประพฤติเช่นนี้
(๒). พระพุทธะ รวมถึงผู้รู้ในพุทธศาสนา ไม่เข้าไปก้าวล่วงในชีวิตของผู้อื่น ฉะนั้นการไม่ประพฤติตามคำของบิดาที่จัดเป็นกิเลส จึงไม่ถือว่าเป็นบาป
(๓). พระพุทธโคดม สอนพุทธบริษัทให้ศรัทธา ด้วยการมีเหตุผลรองรับ และเหตุผลนั้นต้องมาจากความเห็นถูกตามธรรม ฉะนั้นผู้เป็นบิดาท่าน ศรัทธาแบบไหนก็เป็นเรื่องของบิดา เพราะบิดามีสิทธิ์ที่จะบริหารจัดการชีวิต ด้วยตัวของท่านเอง ผู้รู้ในพุทธศาสนาไม่เข้าไปก้าวล่วงในเรื่องของคนอื่น
|
1497.
กราบเรียน ท่านอาจารย์ สนอง วรอุไร ที่เคารพยิ่ง
ผมได้ฟังการบรรยายธรรมของท่านอาจารย์สนองเป็นครั้งแรก ขณะที่ผมทำงานอยู่ที่ประเทศมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2553 ก่อนเข้าพรรษาได้ไม่นานครับ จากการที่หัวหน้าของผมได้นำไฟล์เสียง หัวข้อเรื่อง "ความสุขจากการปล่อยวางอย่างไม่ประมาท" ที่ท่านอาจารย์สนองได้บรรยายไว้เมื่อ วันที่ 21 ธันวาคม 2550 โดยปกติแล้วผมเป็นคนที่มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนา มีการทำทานตามโอกาส รักษาศีล แต่ยังคงมีความด่างพร้อยในศีลที่รักษาอยู่พอสมควร ชอบฟังการบรรยายธรรม เชื่อในเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดและกฎแห่งกรรม และมีความสนใจในเรื่องการเจริญสติอยู่บ้าง แต่ไม่ได้จริงจังมากนัก เนื่องจากจิตใจยังคงลุ่มหลงไปตามอำนาจกิเลสต่างๆ จากการใช้ชีวิตประจำวัน โดยไม่มีความรู้เท่าทัน และไม่เข้าใจว่าการเจริญสติที่ถูกต้องควรจะทำอย่างไร นานๆ ครั้ง ผมจึงจะสวดมนต์และนั่งสมาธิ โดยการหลับตาภาวนา ยุบหนอ-พองหนอ ไปเรื่อยๆ ฟุ้งซ่านบ้าง คิดเรื่องต่างๆ นาๆ บ้าง จิตใจไม่ค่อยจะสงบนัก แต่การฟังธรรมของท่านอาจารย์สนองในครั้งนั้น เป็นการจุดประกายจิตใจในทางใฝ่ดีของผม ผมคิดว่าถึงเวลาที่ของเก่าของผมส่งผลแล้วที่ทำให้ผมได้มีโอกาสได้ฟังการบรรยายธรรมจากท่านอาจารย์ ผมเริ่มเปลี่ยนแนวความคิดและวิถีทางการดำเนินชีวิตไปจากเมื่อก่อน ผมได้เริ่มค้นหาไฟล์เสียงการบรรยายธรรมและหนังสือของท่านอาจารย์จากทาง Internet เพื่อใช้ศึกษาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและแนวทางในการเจริญสติที่ถูกต้อง โดยเริ่มจากหนังสือ "ทางสายเอก" ที่ท่านอาจารย์ได้กล่าวไว้ในการบรรยายธรรมครั้งนั้น ปัจจุบันข้าพเจ้ามีความตั้งใจในการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังมากขึ้น พยายามให้มีศีลคุมใจอยู่เสมอ พยายามลด ละ เลิก อบายมุขทั้งหลายให้ได้มากที่สุด และผมได้อธิษฐานจิตไว้ว่า ผมจะสวดมนต์และเจริญกรรมฐานทุกวัน นอกจากจะเกิดเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ปฏิบัติไม่ได้จริงๆ เพื่อเป็นเหตุปัจจัยให้จิตมีสติ สมาธิและปัญญา มากขึ้น
ผมขออนุญาตสอบถามท่านอาจารย์ในเรื่องที่ผมคิดอยู่ในขณะนี้ เป็นความคิดที่ถูกตรงหรือไม่ครับ
1. ขณะนี้ผมพอจะมีความเข้าใจในการเจริฐสมถกรรมฐานอยู่บ้าง ว่าเป็นการกำหนดจิตให้สงบนิ่งอยู่กับอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่ง ใช่ไหมครับ ผมได้ภาวนา พองหนอ-ยุบหนอ โดยกำหนดจิตอยู่ที่หน้าท้อง ซึ่งผมรู้สึกว่าจิตของผมสงบนิ่งกว่าเมื่อก่อนมาก บางครั้งจะรู้สึกว่าจิตว่าง จิตจะรู้สึกแต่คำที่ภาวนาและอาการพอง-ยุบของหน้าท้อง บางครั้งที่จิตเกิดความฟุ้งซ่าน ก็จะกำหนด คิดหนอ หรือ ฟุ้งหนอ จนจิตเลิกคิดเรื่องต่างๆ เหล่านั้น เมื่อมีอาการคันหรือปวดตามอวัยวะต่างๆ ก็จะกำหนดว่าคันหนอ หรือปวดหนอ จนกว่าอาการเหล่านั้นจะหายไปหรือทุเลาลง เมื่อผมรู้สึกว่าในขณะที่นั่งหลังของผมเริ่มจะโก่งงอหรือเริ่มที่จะก้มหน้า ผมจะกำหนดว่าหลังงอหนอ ก้มหน้าหนอ และพยายามจัดระเบียบร่างกายให้ตรงเหมือนเดิม จึงกลับมากำหนดจิตที่หน้าท้องอีกครั้ง โดยที่ไม่ได้ลืมตาจนกว่าจะครบกำหนดเวลาที่ผมตั้งนาฬิกาปลุกเอาไว้ ประมาณ 30-60 นาที ผมอยากทราบว่าสิ่งที่ผมปฏิบัติอยู่เป็นสมถกรรมฐานใช่ไหมครับ และผมปฏิบัติมาถูกทางหรือไม่ครับ
2. ผมทราบจากการบรรยายธรรมว่าสมถกรรมฐานเป็นพื้นฐานของวิปัสสนากรรมฐาน แต่จากการอ่านหนังสือและการฟังธรรมเกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนากรรมฐานจากท่านอาจารย์สนองและผู้รู้ท่านอื่นๆ ผมยังคงไม่มีปัญญาที่จะทำความเข้าใจได้ครับ ผมควรจะเจริญสมถกรรมฐานไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงเวลาและมีวาสนาได้พบกับท่านอาจารย์ผู้สอนวิปัสสนากรรมฐาน ใช่หรือไม่ครับ เพราะว่าปัจจุบันนี้ผมทำงานอยู่ที่ประเทศมาดากัสการ์ ทวีปแอฟริกา โดยมาทำงานเป็นเวลา 4 เดือน และกลับไปพักผ่อนที่เมืองไทยประมาณ 2 สัปดาห์ เป็นเช่นนี้สลับกันไปเรื่อยๆ ประมาณ 1 ปีกับอีก 4 เดือนมาแล้ว ยังไม่มีกำหนดเวลากลับไปทำงานที่เมืองไทยอย่างถาวร จึงไม่มีโอกาสได้ไปศึกษาการเจริญกรรมฐานจากท่านอาจารย์ต่างๆ โดยตรง ได้เพียงแต่ศึกษาจากการอ่านและการฟังที่ประเทศมาดากัสการ์เท่านั้นครับ ความคิดเช่นนี้เป็นความคิดที่ถูกตรงหรือไม่ครับ
ผมตั้งใจไว้ว่าเมื่อได้กลับไปทำงานอยู่ที่เมืองไทยอย่างถาวรแล้ว จะไปศึกษาการเจริญสติและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่พุทธอิสระ ที่วัดอ้อน้อย นครปฐมครับ ผมขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์สนองด้วยครับ
กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงและอนุโมทนาบุญกับสิ่งต่างๆ ที่ท่านอาจารย์ สนอง วรอุไร ทำไว้ให้กับโลกด้วยครับ
ชาญ เด่นรัศมีเทพ
คำตอบ
(๑). ที่ปฏิบัติอยู่เป็นสมถกรรมฐาน และปฏิบัติได้เกือบถูกทางแล้ว คือต้องนั่งตัวให้ตรง แล้วจะไม่ปวดหลัง เร่งความเพียรในการปฏิบัติให้มากขึ้น ใช้ขันติและสัจจะเป็นเครื่องสนับสนุน ไม่ควรใช้นาฬิกาปลุกให้เกิดเสียงดัง เพราะจะทำให้จิตไปพะวงอยู่กับเสียงของนาฬิกา แต่ควรใช้นาฬิกาปลุก เพื่อกำหนดเวลาเริ่มปฏิบัติและเวลาเลิกปฏิบัติ จะดีกว่าครับ
(๒). คนจำนวนมากที่มาเกิดอยู่ในครั้งพุทธกาล เป็นผู้พัฒนาจิตมายาวนานจากอดีตชาติ จึงมีจิตตั้งมั่นมากกว่าคนในยุคปัจจุบัน จึงไม่จำเป็นต้องปฏิบัติสมถภาวนา เพียงแต่ใช้จิตที่ตั้งมั่น พิจารณาว่า สรรพสิ่งเกิดขึ้น ย่อมมีเหตุที่ทำให้เกิด เมื่อเหตุดับ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงย่อมดับไปด้วย เมื่อใช้จิตพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) แล้วเห็นว่า คำกล่าวข้างต้นเป็นจริงแท้ จิตย่อมปล่อยวางสรรพสิ่งที่ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแท้จริง ดวงตาเห็นธรรมจึงเกิดขึ้นได้โดยวิธีนี้ ตรงกันข้าม คนที่มาเกิดอยู่ในยุคปัจจุบัน มิได้ฝึกจิตมามากพอ จึงจำเป็นต้องปฏิบัติสมถกรรมฐาน เพื่อให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิให้ได้ก่อน แล้วจึงใช้จิตที่นิ่งเป็นอุปจารสมาธิไปพิจารณา กาย เวทนา จิต และธรรม จนเห็นว่าดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ได้แล้ว การเข้าถึงดวงตาเห็นธรรม จึงจะเกิดขึ้นได้
หากผู้ถามปัญหามีโอกาสนำตัวเข้าฝึกปฏิบัติธรรม กับครูบาอาจารย์ผู้มีประสบการณ์เข้าถึงธรรมมาก่อนแล้ว โอกาสที่ผู้ถามปัญหาจะพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าฝึกด้วยตนเอง
อนึ่ง ผู้ถามปัญหาประสงค์จะไปฝึกปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่พุทธะอิสระนั้น ถูกต้องแล้ว เพียงแต่พัฒนาตัวเองให้มีพฤติกรรมถูกตรงตามธรรมวินัยได้เมื่อไรแล้ว การฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงปู่พุทธอิสระ ย่อมนำพาชีวิตไปสู่ความสูงสุดในพุทธศาสนาได้
|
1496.
กราบสวัสดีครับครูสนอง
ผมมีคำถามรบกวนครูกรุณาให้ความรู้เป็นธรรมทาน
1. การเจริญสติในอิริยาบถย่อยในชีวิตประจำวัน มีหลักการทำอย่างไรครับ
คือควรทำเมื่ออยู่คนเดียวหรือไม่ครับ เพราะในชีวิตประจำวันเราต้องอยู่กับคนทั่วไป
ที่เขาไม่ได้ทำแบบเรา เราจะกำหนดยื่นหรอ ตักหนอ ยกหนอ เข้าหนอ รสหนอ เคี้ยวหนอ
กลืนหนอ ได้จริงๆหรือครับ จะไม่ทำให้คนอื่นสงสัยหรือครับว่าเรากำลังทำอะไร
2. ปกติอย่างเช่นการเดิน ผมเป็นคนที่เดินจะก้มหน้าลงมองเพียงก้าวหน้าที่จะก้าวต่อ
ผมเป็นแบบนี้ตั้งนานละครับ จนเพื่อนหรือคนรู้จักจะชอบทักเดินไม่มองหน้าใครเลย
ผมเป็นแบบนี้ก่อนที่ผมจะรู้เรื่องธรรม แต่พอมาเข้าใจเรื่องธรรมะ
ก็จริงอย่างที่ครูสนองเคยกล่าว ว่ามีคนทักครูว่าระวังจะเดินชนเสา
วันนั้นผมตามองพื้นเพียงก้าวหน้า 1 ก้าว ก็มีพี่คนหนึ่งมาจากไหนไม่ทราบ
มาทักเรียกชื่อผม บอกว่าเดินจงกรมหรือ ผมยิ้มแต่คิดในใจ
ที่จริงผมกำลังเดินและท่องพระธัมมจักรครับพี่
ผมจึงเรียนถามครูว่า ผมชอบที่จะเดินแบบปกติ แต่ผมไม่เคยได้รับการฝึกเดินจงกรมเลย
การเดินจงกรม เป็นไปได้ไหมครับที่เราจะเดินแบบฉบับของเราปกติ แต่ระหว่างเดิน
เรากำหนดสมาธิในใจเอง เช่น การท่องบทสวด การใช้นิ้วมือนับสร้อยข้อมือลูกประคำ
เพราะส่วนใหญ่ผมจะเดินแบบนี้ หรือการจะมีสมาธิจำเป็นต้องกำหนดอิริยาบถย่อย ระหว่างดินเสมอจึงจะเกิดสมาธิได้
3. ผมเคยฟังครูสนองเล่าว่า ก่อนที่ครูจะได้ธรรมจักขุ ครูเคยนั่งทำสมาธิ
พอรู้สึกเมื่อยจึงเปลี่ยนอิริยาบถเดิน แต่ครูคิดว่าหากเปลี่ยนไปมาจะไม่สำเร็จ
เลยตั้งอธิษฐานว่าจะยอมตายด้วยธรรมะพระพุทธเจ้า ครูจึงนั่งทำสมาธิจนได้ดวงตาธรรม
ผมสงสัยอย่างหนึ่งว่าการได้สมาธิ การนั่งจะทำให้เกิดได้ง่ายกว่าหรือครับ
ผมขอเล่าเรื่องศีลข้อ 1 และข้อ 2 ให้ครูฟังนะครับ
ผมเคยบอกแม่ว่าให้ไปบอกน้า ว่าอย่าฆ่าหนูที่จับได้เลย ปกติบ้านเขาจะหนูเยอะ
และทุกครั้งที่จับได้ เขาจะทรมานเอากรงไปตากแดดจนหนูตาย เอากรงไปจุ่มในน้ำบ้าง
แม่ผมไปบอกน้าตามคำพูดผม เขาเปลี่ยนพฤติกรรมทันที เอาหนูไปปล่อยพร้อมพ่อผม
ผมเห็นแล้วสาธุ....เพราะน้าผมทั้งบ้านเขามีแต่โรคประจำตัวรุนแรง...
ส่วนศีลข้อ 2 ผมไปว่ายน้ำที่สระ และผมลืมของทิ้งไว้ในห้องแต่งตัว
ผมนึกขึ้นได้ตอนที่ผมกลับบ้านแล้ว แต่ใจคิดว่า เดี๋ยวพรุ่งนี้ค่อยไปเอา
แต่ผมก็ไม่ว่างจนเลยมา 2 วัน ผมคิดเสมอและภาวนาว่าหากเรามีบุญจริง
ของเราคงไม่หายมั้ง... พอวันที่ 2 หลังจากกลับจากนั่งสมาธิที่วัด ตกเย็น
ผมก็ไปที่สระว่ายน้ำ...ผมดีใจที่ของผมยังอยู่ครบ
กราบขอบพระคุณครูในความกรุณาธรรมทาน
คำตอบ
(๑). การเจริญสติในชีวิตประจำวัน ควรทำต่อเมื่อปฏิบัติงานภายนอกแล้วเสร็จ หรือทำในขณะที่ไม่มีเหตุที่ต้องข้องเกี่ยวกับผู้ที่อยู่รอบข้าง ดังเช่นในกรณีของการรับประทานอาหาร ให้เอาจิตจดจ่ออยู่กับทุกอิริยาบถที่เกิดขึ้นขณะนั้น โดยไม่แสดงอาการให้ผู้อื่นสัมผัสได้ ก็ถือว่าเป็นการเจริญสติได้
(๒). ใครพูดอย่างไรก็เป็นเรื่องของเขา แต่การเดินควรมองที่พื้นไม่เกินสี่ก้าว ทั้งนี้เพื่อมิให้ตาไปสัมผัสกับสิ่งกระทบภายนอก แล้วเอาเข้ามาปรุงอารมณ์ให้กับจิต และยังเป็นการป้องกันเท้ามิให้เดินไปเตะ เหยียบ หรือสะดุด สิ่งที่จะทำให้เกิดความเสียหาย
คำถามใดที่ไม่จำเป็นต้องตอบ คือตอบแล้วไม่เกิดประโยชน์กับผู้ฟัง ผู้ถูกถามมีสิทธิที่จะไม่ตอบ คือ นิ่งไว้ เฉยไว้ก็ได้ ครั้งใดที่มีอิริยาบถเกิดขึ้น เช่น การย่างก้าวของเท้า หากผู้ถามปัญหาเอาจิตไปจดจ่ออยู่กับการก้าวเดิน หรือมีจิตจดจ่ออยู่กับอิริยาบถย่อยอื่นใด ถือได้ว่าเป็นการเจริญสติ
(๓). บางคนนั่งภาวนา แล้วทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย บางคนเดินจงกรม แล้วทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย บางคนเอาจิตไปจดจ่ออยู่กับอิริยาบถอื่น แล้วทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย ฯลฯ ความเหมาะสม (สัปปายะ) ในแต่ละอิริยาบถของแต่ละบุคคลมีไม่เหมือนกัน ฉะนั้นพึงเลือกอิริยาบถที่เหมาะกับตน มาใช้เป็นอุบายฝึกจิตให้มีสติ
คำว่า ไม่หายมั้ง ไม่มีในผู้รู้ตามแนวทางของพุทธศาสนา เพราะพุทธศาสนาสอนให้คนเข้าถึงความจริง คือ ความเป็นเหตุเป็นผลของสรรพสิ่ง ฉะนั้นผู้ใดประพฤติตนมีศีลคุมใจ โดยเฉพาะศีลข้อที่สองได้แล้ว ของไม่หายแน่นอน สาธุกับผู้ที่ถามปัญหาด้วยครับ
|
1495.
เรียนท่านอาจารย์ดร.สนอง
ผมอยากทราบ สาเหตุของการเป็นไมเกรนครับ เพราะคนใกล้ตัวได้รับผลกรรม เห็นแล้วรู้สึกสงสารเป็นอย่างมากครับ นอกจากนั้น ผมอยากทราบวิธีการปฏิบัติ เพื่อบรรเทาอกุศลกรรมนี้
หากผู้ใดที่เป็น และได้อ่าน และได้ประโยชน์จากคำถามคำตอบนี้ก็ขอให้กุศลกรรมนี้จงมีจงเกิดแก่เจ้ากรรมนายเวร ของบุคคลใกล้ตัวของข้าพเจ้า ที่ได้รับทุกข์จากไมเกรนนี้
กราบเท้าท่านอาจารย์ครับ
คำตอบ
ผู้ถามปัญหาบอกว่า คนใกล้ตัวได้รับผลกรรม ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้เป็นไมเกรนต้องประพฤติเหตุไม่ดีมาก่อน ผลไม่ดี (ไมเกรน) จึงได้เกิดขึ้น หากผู้ถามปัญหาไปอ่านเรื่องที่คุณ หมออาจินต์ บุณยเกต เขียนบอกเล่าประสบการณ์ตรงที่ท่านเป็นไมเกรน เนื่องด้วยทำเหตุเบียดเบียนไว้ ผู้ถูกเบียดเบียนจึงผูกพยาบาท เมื่อกรรมไม่ดีให้ผล ท่านจึงต้องทุกข์ทรมานด้วยโรคปวดศีรษะ
ผู้ถามปัญหาอยากทราบว่า ผู้เป็นไมเกรนรายนี้ทำเหตุใดไว้ ขอตอบว่าเป็นคนละเหตุกันกับคุณหมออาจินต์ ต้นเหตุของการเป็นไมเกรนของผู้ป่วยรายนี้ คือใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาทฉีดพ่นสัตว์ เมื่ออกุศลกรรมให้ผล ผู้ทำเหตุไม่ดีไว้จึงต้องเป็นไมเกรน คำตอบนี้มิได้ทำให้ผู้ถามปัญหารวมถึงผู้อ่าน พ้นไปจากความทุกข์ ฉะนั้นผู้รู้ไม่ต้องการทราบเหตุของปัญหา แต่ผู้รู้นิยมรักษาอย่างน้อยให้มีศีล ๕ คุมใจ แล้วปัญหาดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นกับตน
การบรรเทาปัญหาของผู้เป็นไมเกรนรายนี้ เจ้าตัวต้องประพฤติบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ โดยเฉพาะประพฤติทาน ศีล ภาวนาอยู่เสมอ แล้วอุทิศบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวรไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะเลิกจองเวร แล้วปัญหาจะหมดไป
|
1494.
จิตไม่สามารถรวมเป็นสมาธิได้
ผมเพียรนั่งสมาธิทุกวันมาสามปีแล้วจิตไม่สามารถรวมเป็นสมาธิได้เลยครับ แต่ก็ไม่เคยละความเพียรคิดเสียว่าทำเหตุปัจจัยไปเรื่อยๆเดี๋ยวถึงเวลาก็ได้เองครับ เวลาปฏิบัติจะมีความฟุ้งซ่านรบกวนมากเหลือเกินก็รู้แล้วก็กลับมาที่คำบริกรรมพุธโธ
รบกวนช่วยด้วยครับ
คำตอบ
นั่งสมาธิแล้วจิตยังฟุ้งซ่านด้วยมีอารมณ์เกิดขึ้น เหตุเป็นเพราะใจไม่มีศีลคุม ผู้ใดเอาศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ลงคุมให้ถึงใจ ผู้นั้นเมื่อเจริญสมถกรรมฐานแล้ว จิตย่อมเข้าถึงความเป็นสมาธิได้แน่นอน
|
1493.
เรียนอาจารย์ สนอง วรอุไร
1. ผมมีปัญหาความสงสัยในการนั่งสมาธิครับ
ผมนั่งสมาธิ แล้ว ลำตัวผมจะเอนลงเรื่อยๆ จนต้องนอนลงกับพื้น
เคยฝืน อดทน ให้ลำตัวเอนลง แล้วจับจิตที่แผ่นหลังว่าเกิดอะไร ก็รู้สึกกำลังเกร้งไม่มาก
และ เฝ้าดูต่อไป ลำตัวก็ค้างลอยๆ กึ่งนั่งนอน เหมือนจะนอนแต่ไม่นอนลงไป เพราะ ลำตัวล๊อคอยู่ จนสักพักก็นอนลง ผมก็ไม่แน่ใจว่า ควรจะกำหนดจิตในท่านั่งขัดสมาธิ ต่อ หรือ จะนอนท่าศพ เหมือนโยคะ แล้วจับลมหายใจดีครับ ?
2. นั่งให้หลังค่อมเล็กน้อย เพื่อให้เกิด โมเมนท์ ตกหน้าฐาน เหมือนรูปนั่งของหลวงปู๋ทวดวัดช้างไห้เหยียบน้ำทะเลจืดครับ เกิดความกังวลเล็กน้อยว่าจะ เสียสุขภาพแผ่นหลัง แต่ก็คิดเชื่อมั่นว่าบุญจากการทำสมาธิ คงไม่ทำให้เราปวดหลัง
และตอนนี้ก็ตั้งใจนั่งแบบนี้อยู่พักหนึ่ง
ครั้งหลังจึงแก้ไขตัวเองโดยนำเบาะมารองที่ก้นทำให้ลำตัวเอนไปข้างหน้าแทน
แต่ถ้าเป็นแบบนี้ครับผมก็ได้สมาธิก็จริง แต่ไม่สามารถผ่านเวทนาได้ใช่ไหมครับ เพราะแค่นี้ปวดหลังผมยังอดทนไม่ได้เลย กลับมาหาทางแก้ไขมันล่วงหน้าก่อนโดยเหตุการณ์ปวดหลังยังไม่เกิด
ในอนาคตผมเจ็บไข้ได้ป่วย หวังใช้การกำหนดสมาธิ แยกจิตจากอาการป่วย อย่างในความหมายของโพชฌังคปริตร ก็จะไม่ได้ ผมต้องอดทนนั่งแบบหลังเอนๆใช่ไหมครับ ?
3. เวลาปวดปัสสาวะ หรือ ถ่ายหนักเบา เราควรจะทำอย่างไร ?
ผมคิดว่าจะเหมือนโยคี ที่มีของเหลวในกระเพาะปัสสาวะแล้วมันหายไปเองได้ไหม
หรือจะเหมือน หลวงพ่อจรัญ กล่าวว่า จะเข้าสมาธิได้ยาก เพราะ กายไม่ปรกติ
( ท่านได้กล่าวถึง เหตุที่จิตไม่เป็นสมาธิ เจ็ดอย่าง มีอาการเจ็บป่วยหรือปวด หรือ ท้องปั่นป่วน เป็นหนึ่งในนั้นครับ)
4. เนื่องจากผมฝึกพัฒนาตนเองในด้านร่างกาย โดยใช้ศิลปะป้องกันตัวด้วย
ถ้าผมจะเปลี่ยนจากการเดินจงกรม มาเป็นการรำไทเก๊ก ได้ไหมครับ ?
ผมก็เห็นว่าเป็นการใช้กายทำให้เกิดสมาธิ(กรรมฐาน)เช่นกัน
การรำไทเก๊ก ต้องกำหนดจิตรู้สึกหลายที่กว่า คือ ลิ้นแตะเพดานปาก
หมุนสะโพกให้น้ำหนักลงกลางขา แล้วก้าวขาย่างและวางลักษณะคล้ายๆจงกรม
และขณะก้าวก็จะให้น้ำหนักอยู่กลาง
( ผมอาจอธิบายไม่ดีครับ เพราะผมก็ยังไปไม่ถึง แต่อาจารย์ที่สอนป้องกันตัวท่านก็ไม่พูดสอนมาก
เหมือนที่อาจารย์สนองพูดถึงพระอาจารย์ท่านเจ้าคุณโชดกว่าไม่บอก ปล่อยให้เห็นเองเช่นกัน
ผมไม่แน่ใจว่าอาจารย์สนองเคยรำไทเก๊กหรือไม่ อาจพอช่วยให้อาจารย์เข้าใจมากขึ้นครับ)
ขอบพระคุณมากครับ
และกราบขออภัยด้วยครับที่จดหมายฉบับก่อนไม่ได้แนะนำตัวเองครับ
นพ.ปิยาวัฒน์ ศรีสวัสดิ์นุภาพ
คำตอบ
(๑). ขณะตัวเอนลง ให้กำหนดว่า นอนหนอๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการเอนลงของร่างกายดับไป แล้วดึงจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิมที่ใช้อยู่
(๒).นั่งตัวตรงดีกว่านั่งหลังค้อม เพราะจะไม่ทำให้ปวดหลัง
คำว่า โพชฌงค์ เป็นองค์คุณเจ็ดประการ ที่นำจิตเข้าสู่การตรัสรู้ ผู้ที่จะใช้โพชฌงคปริตร มาสวดเพื่อให้ผู้อื่นหายจากอาพาธได้ ผู้อาพาธต้องมีสภาวะของจิตเป็นพระอรหันต์ให้ได้ก่อน เมื่อฟังบทสวดโพชฌงค์ แล้วพิจารณาคุณธรรมทั้งเจ็ดโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ย่อมหายจากอาพาธได้ ตรงกันข้าม คนที่ยังมีจิตเป็นปุถุชน จะได้ยินได้ฟังโพชฌงค์สักกี่ครั้ง ไม่ทำให้หายจากอาพาธได้ แต่หากเมื่อใดปุถุชนพัฒนาจิต (สมถภาวนา) จนตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ (ฌาน) อาการปวดหลังย่อมหายไปตราบนานเท่าที่จิตยังทรงอยู่ในฌาน ตรงกันข้าม พระอนาคามีหรือพระอรหันต์ที่เข้านิโรธสมาบัติได้ อาการปวดหลัง (เวทนา) ย่อมดับไป ตราบนานเท่าที่จิตยังทรงอยู่ในนิโรธสมาบัติ
(๓). ปลดปล่อยออกนอกร่างกาย
(๔). การเดินจงกรม มีจุดประสงค์ฝึกจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ หากรำไท้เก็ก แล้วทำให้จิตเป็นสมาธิ ใช้ได้ครับ ผู้ตอบปัญหาไม่เคยรำไท้เก็ก จึงไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้
|
1492.
เรียน อาจารย์สนอง วรอุไร
อาจารย์สนอง มีวิธี ลด ระงับ กำจัดโทสะ ที่มีใน จริต อย่างไรบ้างครับ
ขอคำแนะนำด้วยครับ
ตอนนี้ผมทุกข์มากเลย ไม่อยากให้โทสะผุดขึ้นมาเลย แต่มันเร็วกว่าความรู้สึกตัวผมมาก ยิ่งตอนที่มีภาระมากๆมารุมเร้า ผมยังไม่เห็นมัน มันก็ทำงานแล้วครับ
เคยได้ยินว่า มันเป็นตัวที่กำจัดง่ายที่สุด ผมดูตัวเอแล้ว ผมเห็นได้ว่าผมกำจัดได้ง่ายแน่
โดยการหลีก ปลีก ออกห่างตัวกระตุ้น ไปอยู่วิเวก หรือ ไม่กลับบ้าน แต่ผมก็คิดว่ามันยังไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเพราะ มันไม่ได้พัฒนาจิตเป็นเกราะให้ตัวเอง แต่เป็นการหลบเท่านั้น
โทสะที่เกิดกับผม แปลกด้วยครับ มักจะเกิดกับคนที่บ้าน (กับที่ทำงานเป็นคนใจเย็นมากๆๆๆจนมีคนชมครับ) เพราะผมมักจะรู้ว่า หรือ คาดเดาว่า เขาจะทำอะไร ซึ่งไม่ถูกต้อง เมื่อไม่ถูกต้องอย่างที่ใจคะเนไว้ หรือ ทำผิดซ้ำในเรื่องที่ผมเคยบอกแล้ว
ผมก็จะมีอารมณ์โกรธขึ้นมาทันที วจีกรรมออกมาแล้ว แล้วจึงมาห้ามมันทีหลัง
หรือบางครั้งตั้งใจไว้ก่อนแล้วว่าจะไม่ให้มีวจีกรรมหลุดออกมา
แต่พอฟังสิ่งที่ไม่ถูกใจเข้าไปสักสองสามประโยคก็ต้องมีโทสะขึ้นมาจนได้ครับ
ขอบพระคุณครับอาจารย์
ศิษย์ปิยาวัฒน์ ศรีสวัสดิ์นุภาพ
คำตอบ
การบริหารจัดการกับอารมณ์โทสะ ทำดังนี้
๑. นำตัวออกห่างจากแหล่งที่มีเหตุขัดใจ
๒. ให้อภัยได้ทุกเรื่องและทุกครั้งที่มีเหตุขัดใจเกิดขึ้น
๓. พัฒนาจิตให้มีสติและมีปัญญาเห็นถูกตามธรรม มีกำลังกล้าแข็ง
๔. ใช้สติปัญญาเห็นแจ้ง พิจารณาสิ่งขัดใจว่า ดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ จนเห็นสิ่งกระทบที่ขัดใจเป็นอนัตตา แล้วอารมณ์โทสะจะไม่เกิด
๕. เมื่อโทสะเกิดขึ้นแล้ว จงใช้ปัญญาเห็นแจ้งพิจารณาอารมณ์โทสะว่า ดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์จนเป็นอนัตตา เมื่อโทสะดับ จิตจะปล่อยวางอารมณ์ แล้วว่างเป็นอุเบกขา
วิธีบริหารจัดการโทสะ ตามข้อ ๔. ดีที่สุด
ตามข้อ ๕. ดีมาก
ตามข้อ ๒. ดีกว่า
ตามข้อ ๑. ดี
|
1491.
กราบเรียนอาจารย์สนองที่เคารพอย่างสูง
ขอเรียนถามปัญหาอาจารย์ดังนี้
1. อ่านหนังสือวิธีสร้างบุญบารมี ตอนหนึ่งกล่าวว่า ทานนั้นมีผลมากหรือน้อยย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับ คือ
ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉานแม้จะมากถึง 100 ครั้ง.........ฯลฯ อยากทราบว่าการถวายทานแก่พระอรหันต์ ที่ไม่ใช่พระของบุคคลทั่วไป แต่เป็นพระอรหันต์ของลูก นั่นก็คือบิดามารดานั่นเอง ด้วยการเลี้ยงดูตอบแทนพระคุณท่านอย่างเต็มกำลังความสามารถ จะได้บุญเทียบเท่ากับเราถวายทานกับพระอรหันต์จริงๆ หรือไม่ เพราะถ้าได้บุญเท่ากัน เราก็คงไม่จำเป็นต้องดิ้นรนแสวงหาเนื้อนาบุญที่ไกลตัว แต่ดิฉันก็ยังรู้สึกว่า อันว่าบิดามารดาถึงแม้ท่านจะได้ชื่อว่า เป็นพระอรหันต์ของลูกก็จริงอยู่ แต่ท่านก็ยังไม่หมดกิเลส ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เพื่อพาตัวท่านเองและลูกหลานให้พ้นทุกข์ได้ ท่านเป็นผู้ที่ลูกหลานต้องให้ความเคารพบูชา เพราะท่านรักและปรารถนาดีต่อลูกหลานอย่างไม่ปิดบังซ่อนเร้น แต่ท่านอาจจะร้ายกาจกับบุคคลอื่นก็ได้ บุคคลอื่นอาจจะสาปแช่งท่านอยู่ก็ได้ จึงอยากขอความกระจ่างแจ้งจากอาจารย์ว่า ควรจะแยกแยะหรือพิจารณาอย่างไร
2. ช่วงเข้าพรรษานี้มีงานบวชชุกมาก ได้รับบัตรเชิญเหมือนไปงานรื่นเริง มีทั้งดนตรี การละเล่น ร้องรำทำเพลง สุราเมรัย ปิดถนนหนทาง ผู้คนทั่วไปบ้านใกล้เรือนเคียง ต้องทนฟังเสียงเพลงที่ขับร้องโดยคนขาดสติ คือคนเมาทั้งหลาย ทั้งคืนตลอดรุ่งก็มี รู้สึกหดหู่มากเวลาใส่ซองอนุโมทนาบุญ ก็ลำบากใจเหลือเกิน เพราะไม่รู้ว่าส่วนไหนที่เป็นบุญที่เราพอจะอนุโมทนาได้ ด้วยปัญญาอันน้อยนิดนี้ จึงขอความกรุณาจากอาจารย์ให้ช่วยบอก วิธีอนุโมทนาหรืออธิษฐาน หรือตั้งสติกำหนดจิต อย่างไร เพื่อให้ได้บุญบ้างในสภาวการณ์เยี่ยงนี้
ขอขอบพระคุณอย่างสูง
คำตอบ
(๑). ให้ทานกับผู้มีจิตหลุดพ้นจากกิเลส (พระอรหันต์) ได้บุญมากกว่า ให้ทานกับคนที่ยังมีกิเลสมาก (ปุถุชน) ดังนั้นให้ทานกับพ่อแม่ที่ยังมีสภาวะของจิตปุถุชน จึงได้บุญน้อยกว่าถวายทานกับพระอรหันต์ที่มีจิตปลอดจากกิเลสแล้ว
(๒). เอาเงินใส่ซองเพื่อถวายเป็นทาน ถือว่าได้บุญ แต่มีความลำบากใจในการให้ทาน ถือว่าเป็นบาป ฉะนั้นที่บอกเล่าไป จึงได้ทั้งบุญและบาป ส่วนไหนจะมากกว่ากัน ต้องวัดกันด้วยความสบายกาย ความสบายใจ ถวายทานแล้วสบายใจมากกว่า จงถวาย ถวายทานแล้วไม่สบายใจมากกว่า จงอย่าถวาย ผู้ตอบปัญหาเสนอแนะว่า การให้ทานแล้วเกิดเป็นบุญมาก ให้ถวายทานดังนี้
๑. ก่อนให้ทาน มีศรัทธา
๒. ขณะถวายทาน มีความตั้งใจ
๓. ถวายทานแล้ว มีความสบายใจ
|
1490.
เรียนถามท่านอาจารย์ดร.สนองคะ
1. กรณีที่บ้านมีรังปลวกขึ้น จะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรให้ไม่ผิดศีลคะ
2. กรณีที่ทำอาหารแล้วตั้งใจจะไปถวายพระที่วัด แต่ไปไม่ทัน อาหารดังกล่าวจะจัดการอย่างไรได้บ้างคะ นำไปทิ้งบาปมั้ยคะ
3. การซื้ออ้อยจากควาญช้าง เพื่อนำมาเป็นอาหารช้าง ที่ถูกจูงเดินอยู่ตามข้างถนน จะถือว่าเราร่วมกระทำการทรมานช้างด้วยมั้ยคะ หรือ เราไม่ควรซื้อคะ
4. การสวดมนต์ออกเสียง กับ สวดในใจแตกต่างกันอย่างไรคะ ทำไมต้องสวดมนต์โดยการเปล่งเสียงคะ อานิสงส์ต่างกันหรือคะ
ขอบพระคุณท่านอาจารย์ ที่กรุณา
คำตอบ
(๑). ไม้ (เซลลูโลส) เป็นอาหารของปลวก เมื่อปลวกขึ้นบ้าน เพราะปลวกต้องการอาหารกิน ถ้าผู้ถามปัญหาปรารถนามิให้ผิดศีล จะแก้ปัญหานี้ได้ ต้องยกบ้านเป็นทานให้กับปลวก
(๒). ความไม่สบายใจถือว่าเป็นบาป หากทำอาหารดังกล่าวไปทิ้ง แล้วเกิดเป็นความเสียดาย ถือว่าเป็นบาป
เจตนาปรุงอาหารถวายพระ ถือว่าเป็นบุญ แต่ปรุงอาหารแล้วเสร็จไม่ทันพระฉัน จึงมิได้ถวายพระ หากประสงค์จะได้บุญอีก สามารถทำได้โดยนำอาหารนั้นไปเลี้ยงคนชรา หรือผู้ยากไร้ที่อดอยากอาหาร หรือแม้กระทั่งนำอาหารไปเลี้ยงปลา เลี้ยงสุนัข บุญย่อมเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน
(๓). การให้ทานต้องใช้ปัญญาสนับสนุน ผู้ใดคิดว่าซื้ออ้อยจากควาญ แล้วนำไปเลี้ยงช้าง เพื่อให้ช้างคลายจากความหิว การประพฤติเช่นนี้เป็นบุญ ตรงกันข้าม ผู้ใดคิดว่าซื้ออ้อยจากควาญ แล้วนำไปเลี้ยงช้าง เป็นเหตุให้ช้างเกิดการทรมานช้าง แล้วยังซื้ออ้อยเลี้ยงช้าง การประพฤติเช่นนี้เป็นบาป
(๔). มนุษย์ทำกรรมได้สามาทาง คือ ทำกรรมทางกาย ทำกรรมทางวาจา และทำกรรมทางใจ ดังนั้นการสวดมนต์ออกเสียง ถือว่าเป็นการทำกรรมทางใจและทำกรรมทางวาจา จึงได้อานิสงส์มกกว่า การสวดมนต์ด้วยใจเพียงอย่างเดียว ซึ่งมีอานิสงส์น้อยกว่า
|
|
1488.
สวัสดีและขออภัยท่านอาจารย์ดร.สนอง วรอุไรที่เคราพ
ผมขอสาธุบุญต่างๆที่ท่านได้ทำแม้ว่าท่านจะมีอายุมากแต่ก็ยังทำประโยชน์ต่อสังคมไว้มากเหมือนตนไม้ใหญ่ในกลางป่าครับอาจารย์ ดร.สนอง ผมเคยส่งคำถามเขาไปแล้ว แต่รู้สึกว่ามันเพ้อเจ้อเกินไปที่จะทำให้ดีขนาดนั้น สิ่งที่กระผมต้องการก็คือ
1 อาจารย์ครับ ผมเป็นนักเรียนชั้น ม. 4 ( ภาษาไทย สังคม) พ่อแม้ให้ไปสมัคร หลักพีดีกรี(เรียนม. 4 จบม. 6) อยากจะให้อาจารย์แนะแนวทางในการปฎิบัติของนักเรียนพีดีกรี คณะนิติศาสตร์ว่าควรปฎิบัติตัวอย่างไร ที่จะทำให้จบได้ในเวลา ม. 6
2 อาจารย์ครับ โรงเรียนของผมพูดถึง เรื่อง โรงเรียนมาตราฐานสากล แม้ว่าผมเป็นนักเรียนไทยสังคมก็ยังได้เรียน วิชาภาษาจีน ในจดหมายอันแรกที่ผมบอกว่าจะไปสอบทหารอากาศอาจารย์(อาจจะไม่รู้)เพราะ ถึงจะสอบไม่ติดก็ไม่เป็น ไร แค่ผมอยากเก่งวิชาภาษาอังกฤษมากเท่านั้น ทำอย่างไรถึงจะเก่งวิชาภาษาอังกฤษครับ อาจารย์
3 ผมขออภัยในคำถามโง่อีกข้อหนึ่งน่ะครับ อาจารย์ครับ ทำอย่างไรถึงจะเรียนสำเร็จ (ขอคำแนะนำ) ทุกวิชา ทั้ง วิทย์ คณิต อังกฤษ ไทย สังคม ฯลฯ ช่วนแนะนำผมหน่อย เพราะผมอาจจะทำไม่ได้ แต่ก็ลองแนะนำดูเถิดครับ แต่ถ้าผมใช้อิทธบาท 4 กับ พละ 5 จะต้องสำเร็จ แต่อยากฟังคำแนะนำดู ไม่ต้องเยอะมากก็ได้น่ะครับ ต้องการทำให้พ่อแม่ภูมิใจ อย่ากเรียนเก่งทุกวิชา แล้วจบ รามคำแหง คณะนิติศาสตร์ ตอนม.6 แนะนำผมด้วยครับ
4 อาจารย์ครับ อาจารย์ในโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย ดูดวงให้ผมบอกผมว่าเป็นคนเรียนไม่เก่ง แต่ชีวิตไม่มีปัญหาถ้าเป็นคนอื่นผมคงไม่คิดมาก แต่นี้ เขาบอกว่าท่าใครได้ไปปฎิบัติธรรมที่วัดท่าซุ่ง ครูที่วัดฝึกสอนให้ อาจได้ณาน 8 ไปนิพพาน ไปคุยกับพระพุทธเจ้าได้ นิพพานเป็นทิพย์พิเศษ อาจารย์คนนี้บอกว่าถ้าตายชาตินี้เขาจะไปนิพพานด้วย ที่เคยบอกว่า ผมจะไปปฎิบัติธรรมน่ะ อาจารย์เขาบอกว่ายกเลิก คงเพราะยังไม่มีใครให้เงิน ล่ะมั้งผมคิด อาจารย์ครับถ้าผมตั้งใจจริงจะทำให้เป็นเด็กเรียนเก่งได้ไหมครับ
5 อาจารย์คนนี้สอนให้ บริกรรม ว่า หายใจเข้าภาวนาว่า นะมะ ออก พะทะ แล้วนึกถึงพระพุทธรูป กับมี ศีล 5 เขาบอกว่าศีลน่ะง่ายจะตาย ก่อนไป แค่นี้เอง ผมต้องไปพิสูตร์ให้ได้ แต่กลัวเสียสัจจะผมยังไม่รับปาก อยากถามว่าที่จะไปวัดท่าซุ่ง หรือทำตามที่อาจารย์ผมสั่ง คือ นะมะ พะทะ นึกถึงพระพุทธรูป แล้วมีศีล 5 มีส่วนส่วนในการเรียนได้ไหม
6 อีกเรื่องหนึ่ง อาจารย์ครับ ตอนไปสอบที่พิบูล ผมสอบได้ แล้วโรงเรียนให้ไปปฎิบัติธรรม ที่วัดเขาวงกฎ เขาบอกให้เห็นอะไรก็สาธุ และก็ ยังบอกให้ผมรักษา ศีล เจริญสมาธิภาวนา ทุกวัน กับ ให้ท่าน ทำทั้ง 3 อย่าง ทุกวัน สิ่งที่ผมสงสัยก็คือว่า นิพพานแล้วมีพระพุทธเจ้าอยู่ หรือ นิพพานแล้วจิตดับอย่างที่ท่านพุทธทาสบอก (ผมรู้ไม่จริงว่าท่านพุทธทาสพูดอย่างนี้หรือเปล่า)ขอโทษน่ะครับ ผมเชื่อท่านพุทธทาสครับ แต่ก็อยากไปพิสูตร์ที่วัดท่าซุ่งดูว่าจริงไหม อยากคิดว่าอาจารย์ลองไปบางดีก็ดีน่ะครับ จะได้หาเวลาพักผ่อนด้วนน่ะครับ
ขอโทษเรื่อง ที่ 7
7 อาจารย์ครับ ตอนเด็กผมถูกล่อว่า เป็นตุ่ย ตอนปัจจุบัน วัยรุ่น ถูกล่อว่าเป็นเกร์ และยังถูกล่อว่าไม่เต็ม เอ๋อ การที่ผมถูกล่อนั้นก็เพราะ การปฎิบัติตัวของผมเอง เมื่อตอนเป็นเด็กไม่ไม่เขาใจว่าทำไมถึงถูกล่อว่าเป็นตุ่ย อาจเป็นเพราะว่าผมไม่ยอมพูดคำหยาบ เช่น มึง กู ปัจจุบันก็ไม่พูด และนั่งเงียบ(ในตอนเด็ก) แต่ผมก็รู้ว่าคนพูด มึง กู ถ้าไม่พูดเพราะ โกรธก็ไม่หยาบ แต่พอโตไปก็ไม่โดนล่อว่าตุ่ยครับ จนผมสอบเข้า ม. 1 ที่วินิตใช้เส้นเขาไป คับ ก็ไม่ถูกล่อ เพราะจริงๆแล้วผมเป็นผู้ชาย 100% ที่ปัจจุบันตอนเป็นวัยรุ่น ถูกล่อเพราะ เคยไปอ่านนิยายชายรักชาย เป็นนิยายแนว เรื่องบนเตียนด้วยครับ คุณหมอสม สุจิรา เคยบอกในรายการสุริวิภาว่า ผู้ชายทุกคนมีความชอบผู้ชายในตัวซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เขาพิสูตร์มา อาจาย์ครับผมไม่ได้อ่านเฉพาะผู้ชาย แต่ผู้หญิงเช่น แนวแม่กับลูก (ขออภัยครับ) และผมชอบดูทั้งภาพโปร์(ขอโทษครับ)ทั้งชายและหญิง(ขอโทษครับ ขอโทษครับ ขอโทษครับ ขอโทษครับ) ผมมาคิดในทางธรรมว่าร่างกายมนุษย์นั้นสกปรกครับ ไม่สะอาด ไม่ว่าชายหรือหญิง อาจารย์ครับ ผมถูกเด็กตัวเล็กคนหนึ่งเป็นเด็กไร้เดียงสา บอกว่าผมหล่อ (แต่ไม่ได้บอกกับผม แม่ผมเหล่าให้ฟัง) แต่ผมอ้วนครับ (ไม่มาก) เพราะผมออกกำลังกายทุกวัน แต่ที่อ้วนเพราะยิ่งวิ่งเหนื่อยยิ่งกินมากครับ อาจารย์ครับหลวงพ่อฤาษีลิงดำบอกว่า ความคิดที่ว่าตัวเองเป็นคนดีเป็นสิ่งไม่ดี แต่ในสมัยเด็กผมเป็นคนไม่ดี แต่ตอนนี้ผมปรับปรุงตัวแล้วครับ ให้อดีตมันดับไป เอาปัจจุบันดีกว่า และในปัจจุบันนี้เพื่อนมักมองผมว่าไม่เต็ม บางคนก็อาจจะมองเอ๋อ อาจารย์ อาจารย์เคยแนะนำว่าให้ใช้วิธีวิปัสสนา ผมทราบครับ แต่ว่าผมโดนล่อไม่เต็ม มาตั้งแต่เด็ก (อารจารย์ครับ คือว่า ผมมักจะถูกเอาเปรียบ แต่ผมก็ไม่ใช้คนโง่ที่ไม่ยอมให้ใครเอาเปรียบง่ายๆครับ) (ตอนพิมพิ์นี้น้ำตาจะไหล) เพราะผมรู้สึกว่า ผมโกรธ ผมเสียใจเวลาผมถูกล่อว่าไม่เต็ม มันทำให้ผมเกิดอารมณ์ครับอาจจะไม่มาก แต่ผมอยากจะบอกว่าผมไม่ชอบ ทั้งที่โดนล่อว่าเป็นอะไร ถ้าเป็น พวกมันโดนล่อบางก็คงจะโกษร บางครั้งพวกเขาก็ทำเหมือนผมเป็นคนโง่ แต่ผมให้อภัยครับ พวกผู้หญิงก็ด้วย ผมอยากใช้คำที่แรงว่าแต่ผมทำใจให้อภัยเพราะกลัวบาปเพราะเธอเห็นผมเป็นตัวตลก เพราะเวลาที่ผู้หญิงมาคุย เขาชอบทำผมเหมือนตัวตลก ผมให้อภัยทุกคนที่ล่อน่ะครับ ที่บอกว่าเศร้าตอนนี้มันหายไปแล้วครับ (อาจารย์อาจแนะนำผมว่า ผมควรจะขอใจพวกเขา ที่ ทำให้ผมได้ให้อภัยทาน เป็นทานบารมีชนิดหนึ่ง ผมขอสาธุ) ผมเคยรู้สึกเสียในความผมเป็นคนบ้าบ้าบอ ผมเป็นคนฉลาดแต่ฉลาดในเรื่องโง่และเป็นคนเปิ้นครับ อาจจะไม่มาก อาจารย์ครับคนล่อผมเพราะ ตัวผมเอง ผมเคยล่อพระพุทธเจ้าตอนองค์คุลีมานกับเพื่อนตอน ม. 1 มั่งครับ แต่ว่าผมได้กราบพระก่อนนอนและอธิฐานขอลาโทษแล้ว ผมสบายใจแล้วครับ (ผมแน่ะในว่าไม่ใช้เพราะเวรกรรมนี้แน่ะ เพราะผมโดนล่อมาตั้งแต่เด็กแล้ว ผมสบายใจมาที่ได้ขอขมาพระพุทธเจ้าครับ สาธุ) อาจาย์ครับ ความรู้สึกเปลี่ยนอีกแล้วครับ คือว่า ถ้าเขาจะบอกว่าผมเป็นอย่างไร แต่ ผมก็เป็นเช่นนั้นเอง ผมอาจจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้(หรือได้)แต่ที่แน่นอนนั้นผมเชือว่า แม้ตนเองจะถูกล่อ แต่ที่ถูกล่อเพราะตัวเอง ปัญญาทุกอย่างเกิดที่ใจผมเอง เราเกิดมาพบกันในช่วงเวลาสั้นๆ พบกันแล้วตายจากจะมาโกรธกันทำไม แต่มีปัญหาคือ ว่าเวลาโดนเพื่อนว่า (มันว่าอาจะเพราะว่าความสนุก) ผมก็โกรธ (ไม่ใช้อารมณ์โกรธแต่อาจจะเป็นอารมณ์หนึ่งที่ทำให้ผมไม่ชอบ ) ความโกรษทำให้เราผิดศีล เมื่อเราผิดศีลเมื่อใดนรกก็จะตกเมื่อนั้น ไม่ต้องตาย ก่อนนรกมาแล้วครับอาจารย์
7.1 อาจารย์ครับผมอยากได้เพื่อนที่จริงใจ และดีด้วยครับ สอนหนังสือผมได้
7.2 ผมอยากเป็นที่รักของทุกคน ไม่ว่าภพไหนและตลอดไป
7.3 ทำอย่างไรถึงตอบได้หลายคำถามเหมือนอาจารย์ครับ
อาจารย์ครับ ขอให้บุญที่ผมได้ทำจงส่งผมให้ทั้ง ครอบครับ พี่ชาย ญาติผู้ใหญ่ และเพื่อนขอผม มีความสุข รวมทั้งอาจารย์ด้วยครับ สาธุ สาธุ ขอบคุณในความกรุณา
ขอบพระคุณที่อ่านจบ หรือไม่จบก็ไม่เป็นไร แค่ตอบว่าทำอย่างไรถึงเรียนจบรามก็ขอบคุณแล้วครับ
คำตอบ
(๑). ผู้ใดปรารถนาความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนควรพัฒนาตนดังนี้
๑. พัฒนาจิตให้เป็นสมาธิ ด้วยการสวดมนต์ก่อนนอน แล้วกำหนดลมหายใจเข้า-ออก (อานาปานสติ) ๑๕-๓๐ นาที ทุกวัน
๒. ใช้อิทธิบาท ๔ มาสนับสนุนการเรียน คือ เรียนวิชาด้วยใจรัก (ฉันทะ) เรียนวิชาด้วยความพากเพียร (วิริยะ) เรียนวิชาด้วยใจจดจ่อ (จิตตะ) และเรียนวิชาด้วยการใช้ปัญญาไต่สวน (วิมังสา)
๓. คบคนดี (กัลยาณมิตร) เป็นเพื่อนใกล้ชิด กัลยาณมิตรคือ เพื่อนที่คอยป้องกันขัดขวางมิให้เราทำชั่ว และคอยชักชวนให้เราทำในสิ่งดีๆ
๔.มีความกตัญญูต่อผู้มีอุปการคุณ ด้วยการประพฤติจริยธรรมลูกที่ดีของพ่อแม่ ศิษย์ที่ดีของครู นักเรียนที่ดีของโรงเรียน พลเมืองที่ดีของประเทศชาติ ฯลฯ ความกตัญญูกตเวทีเป็นคุณธรรมที่มีผลมาก ส่งผลให้ชีวิตดีงาม การศึกษาเล่าเรียนสำเร็จ ธุรกิจรุ่งเรือง ฯลฯ ได้ในวันข้างหน้า
(๒). บุคคลโดยทั่วไป ใกล้สิ่งไหนเป็นเหมือนสิ่งนั้น ฉะนั้นอยากเก่งภาษาอังกฤษ ต้องนำตัวเข้าใกล้คนที่มีทักษะในด้านภาษาอังกฤษ และคลุกคลีกันนานๆ ภาษาฯ ย่อมซึมซับเข้าสู่จิตวิญญาณ ทำให้เก่งภาษาอังกฤษได้
(๓). ทำตามคำชี้แนะในข้อ (๑). และตั้งโปรแกรมจิตให้ทราบวา ผมต้องสำเร็จในวิชา .... ไม่ต้องสมมุติว่า ถ้าผมใช้ อิทธิบาท ๔ กับ พละ ๕ แต่ต้องใช้ อิทธิบาท ๔ กับ พละ ๕ มากำกับการเรียน โดยมีสัจจะเป็นเครื่องสนับสนุน ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นกับผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นนี้
(๔). ผู้รู้กล่าวว่า ใครจะพูดเช่นไรเป็นเรื่องของเขา แต่ความจริงอยู่ที่การกระทำของเรา ใครผู้ใดพัฒนาตัวเองให้มี ทาน ศีล ภาวนา อยู่เสมอ จนเกิดผลเป็นคุณธรรมแล้ว ดวงดีแน่นอน ผู้รู้ไม่คิดปรามาส (ดูถูก) ผู้ใด แต่ผู้รู้ เอาคนอื่นมาเป็นครูสอนใจตัวเองว่า คนอื่นทำไม่ดี เราจะไม่ประพฤติเช่นเขา ตรงกันข้าม พวกเห็นคนอื่นทำดี เราจะประพฤติเช่นเขา เมื่อทำได้เช่นนี้แล้ว กรรมดีย่อมส่งให้เกิดผลดีแก่ผู้เห็นถูกเสมอ
(๕). วิธีชี้แนะดังกล่าว ผู้ใดประพฤติตามได้อย่างถูกตรง ย่อมทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ แล้วจะส่งผลให้การเรียนดีขึ้นแน่นอน
(๖). เห็นอะไรก็สาธุ คำว่า สาธุ เป็นวาจาที่เปล่งออกหมายถึง ดีแล้ว ชอบแล้ว ถ้าเราเห็นคนทำชั่วแล้วสาธุ เราต้องเข้าร่วมรบกรรมชั่วกับเขา ฉะนั้นพึงสาธุ กับสิ่งดีๆที่จิตสัมผัสได้ แล้วบุญเท่านั้นเกิดขึ้นกับจิตของผู้กล่าวคำว่า สาธุ
(๗). คนที่ไม่ยอมเสียเปรียบให้โจรนั่นแหละ คนไม่ฉลาด แต่กลับไปเอาเปรียบคนอื่นนั่นแหละ คนเห็นแก่ตัว คนที่มีโทษสมบัติ ชีวิตย่อมมีอุปสรรคและปัญหา ตรงกันข้าม คนที่ยอมเสียเปรียบคนอื่นเป็นคนฉลาด คนที่ไม่เอาเปรียบคนอื่นเป็นคนดี คนฉลาดและดี ชีวิตย่อมเจริญ เป็นชีวิตที่มีคุณค่าต่อสังคมฉะนั้นจงเลือกเอาเองว่า ผู้ถามปัญหาชอบที่จะเป็นคนแบบไหน
คนที่มีอารมณ์โกรธ เป็นคนที่ขาดสติ จึงรับเอาสิ่งกระทบที่ขัดใจมาปรุงอารมณ์ หากความโกรธเกิดขึ้นบ่อย จิตย่อมมีบาปสั่งสมเพิ่ม ตายแล้วโอกาสที่บาปผลักดันจิตวิญญาณไปสู่ภพนรก ย่อมมีได้เป็นได้
๗.๑ ต้องตั้งจิตอธิษฐานตามที่ตนปรารถนา เมื่อใดที่เหตุปัจจัยถึงพร้อม ความสมปรารถนาย่อมเกิดขึ้น
๗.๒ ความอยากเป็นตัณหา เป็นกิเลสกวนใจให้ขุ่นมัว ความอยากเพียงเดียว ไม่สามารถบรรลุในสิ่งที่ปรารถนาได้ ผู้ใดพัฒนาจิตให้มีศีล ให้มีเมตตาและมีคุณธรรม เมื่อกรรมให้ผล ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และอมนุษย์ได้แน่นอน
๗.๓ พระพุทธเจ้ามีบารมีสั่งสมอยู่ในจิตครบทั้ง ๓๐ ทัศ คือ บารมีขั้นธรรมดาสิบอย่าง บารมีขั้นอุปบารมีสิบอย่าง และบารมีขั้นปรมัตถบารมีอีกสิบอย่าง รวมเป็นบารมี ๓๐ ทัศ จึงเข้าถึงความเป็นผู้รู้จริงทุกสิ่งทุกอย่างได้ (สัพพัญญู)
ผู้ใดประสงค์มีความรู้เห็นเข้าใจมาก สามารถตอบปัญหาได้มาก ผู้นั้นต้องพัฒนาคนให้เป็นผู้คงแก่เรียน ต้องเล่าเรียนมาก ศึกษามาก ได้ยินได้ฟังมาก (พหูสูต) มาตั้งแต่อดีตชาติและปัจจุบันชาติ
|
1487.
เรียนถาม อ.สนอง
จากที่เคยถามปัญหาและขอคำแนะการปฏิบัติธรรมจากอาจารย์ ผมได้ปฏิบัติธรรมแล้วประมาณวันละ 2 ชั่วโมง ตอนเช้าและตอนกลางคืนโดยการกำหนดอานาปาณสติ แต่มีสิ่งหนึ่งทีั่่ทำให้จิตใจขุ่นมัว คือ เรื่องของศีลข้อที่ 1 และข้อที่ 4
ศีลข้อที่ 1 เรื่องมีอยู่ว่ามันมีมดมาไต่ตามตัว ตอนที่มดไต่ไม่รู้ว่ามด พแเอามือไปลูบมดกับติดมือมาด้วย จึงคิดว่าตัวเองต้องผิดศีลแน่ๆจึงอยากขอคำแนะนำว่าควรทำอย่างไรดี
ศีลข้อที่ 4 ผมระมัดระวังในการพูดแล้ว แต่มันมีคำพูดบางประโยคที่คล้ายว่าผิดศีล อย่างเช่น มีคนถามว่าจะลาสิกขาไหม ทั้งที่ผมจะบวชตลอดชีวิตแต่ตอบไปว่าไม่รู้เหมือนกัน อย่างนี้ถือว่าผิดไหมครับ ยังมีอีกหลายประโยคที่คล้ายกันกับประโยคที่ยกตัวอย่าง จนบางครั้งไม่อยากพูดอะไรเลย เพราะขาดความมั่นใจ จึงขอให้อาจารย์ช่วยแนะนำในเรื่องของการพูดด้วย ในการปฏิบัติผมได้ตั้งเวลากำกับเอาไว้ด้วย เพื่อเป็นสัญญาณ ถือว่าผิดไหมครับ
คำตอบ
เป็นปาณาติบาตที่มิได้ตั้งใจทำให้มดตาย ยังถือว่าเป็นบาปได้ หากจิตวิญญาณของมดยังอาฆาตจองเวรกับผู้ที่ทำให้เขาตาย แต่บาปไม่มากเท่ากับเจตนาฆ่ามด ในกรณีนี้ ผู้ถามปัญหาควรทำบุญใหญ่ (ปฏิบัติธรรม) ให้มากขึ้นแล้วอุทิศบุญให้กับมดที่ตายไป
การพูดแล้วไม่ทำตามที่พูดไว้ ถือว่าไม่มีสัจจะ ปฏิบัติธรรมแล้วย่อมเข้าถึงธรรมได้ยาก โดยเฉพาะเข้าไม่ถึงธรรมขั้นสูงที่สามารถลดทุกข์ หรือปลดทุกข์ให้กับชีวิตได้ ฉะนั้นควรขอขมากรรมต่อพระรัตนตรัย แล้วใช้สติคุมการพูดให้มากยิ่งขึ้น
ผู้ใดศรัทธาในคำสอนของพระพุทธะ ต้องเว้นกล่าววาจาที่เป็นติรัจฉานกถา เช่น เว้นพูดคุยเรื่องโจร เรื่องบ้านเมือง เรื่องลักษณะชายหญิง เรื่องถนน ตรอก ซอย ฯลฯ และหันมาพูดคุยกับในเรื่องกถาวัตถุ ๑๐ ที่พระปุณณมันตานีบุตร นำมาสอนกุลบุตร ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ จนเกิดความศรัทธาเลื่อมใส แล้วนำตัวเข้าบวชในสำนักของท่าน กถาวัตถุ ๑๐ เป็นอุบายทำให้จิตสงบ ได้แก่การพูดสนทนากันในเรื่องของ
๑. ความมักน้อย
๒. ความสันโดษ
๓. ความสงัด
๔. ความไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ
๕. การปรารภความเพียร
๖. ศีล
๗. สมาธิ
๘. ปัญญา
๙. ความหลุดพ้น
๑๐. ความรู้ความเห็นว่าหลุดพ้น
การปฏิบัติธรรม โดยใช้นาฬิกาเป็นเครื่องบอกสัญญาณเตือน เป็นสิ่งที่ผู้ปฏิบัติธรรมควรหลีกเลี่ยง เพราะนั้นเป็นเหตุให้จิตไปจดจ่ออยู่กับเสียงสัญญาณ การพัฒนาจิตให้มีกำลังสติเพิ่มมากขึ้นจึงเกิดได้ยาก
|
1486.
กราบเรียนท่านอาจารย์ ดร. สนอง วรอุไร
หนูมีปัญหาที่จะเรียนถามอาจารย์ดังนี้ค่ะ
1. ขณะนี้คุณแม่ป่วยเกี่ยวกับโรคกระดูก มีความเจ็บปวดทั่วร่างกายทุกข์ทรมานมาก แต่โชคดีมีพี่สาวที่ช่วยดูแลพยาบาลคุณแม่เป็นอย่างดี แต่ทำอย่างไรก็ยังไม่ได้ดั่งใจของคุณแม่สักเท่าไร บางครั้งก็โมโหฉุนเฉียว คงจะเนื่องมาจากความเจ็บปวดนั่นเอง หนูขอเรียนถามอาจารย์ว่า เมื่อลูก ๆ สวดมนต์ไหว้พระ ทำบุญ ปฏิบัติธรรม เมื่อแผ่เมตตา นอกจากแผ่ให้คุณแม่แล้ว ควรแผ่ไปให้เจ้ากรรมของคุณแม่ด้วยหรือไม่
2. เมื่อครั้งพุทธกาล ยังไม่มีเครื่องเสียงใช้กันอย่างสมัยนี้ เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรม มีประชาชนพุทธบริษัทมาฟังธรรมกันเป็นจำนวนมาก แล้วจะได้ยินเสียงได้อย่างไร
กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูงค่ะ
จุฑารัตน์
คำตอบ
(๑). ควรอุทิศบุญที่บรรดาลูกๆมีอยู่ ให้กับเจ้ากรรมนายเวรของคุณแม่ด้วย
(๒). ในสมัยอดีต เสียงรบกวนจากภายนอกมีไม่มากเท่ากับสมัยปัจจุบัน พุทธบริษัทสมัยนั้นจำนวนมาก มีจิตสงบเป็นสมาธิ สาร acetylcholine ในเลือดย่อมเพิ่มปริมาณขึ้น ทำให้ประสาทรับเสียงได้ไวกว่าคนในสมัยปัจจุบัน
|
1485.
กราบเรียนอาจาร์ย ดร.สนอง
หนูมีพี่สาวที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งที่สมองและที่ปอด ตอนนี้พี่สาวกับหนูก็ตั้งใจนั่งปฏิบัติธรรมอยู่ที่บ้าน พี่สาวหนูได้รู้จักกับพี่คนหนึ่ง ที่เขาปฎิบัติได้จนสามารถมองเห็นกรรม (ตามคำบอก ) พี่เขาบอกว่า ให้พี่สาวหนูหยุดการให้ยาเคมีบำบัด เพราะมะเร็งหายแล้ว ถ้าให้ยาต่อไปจะทำให้เสียชีวิต หนูกับพี่สาวเลยไม่กล้าตัดสินใจ จึงอยากเรียนขอคำแนะนำจากอาจารย์
ขอขอบพระคุณอาจาร์ยเป็นอย่างสูงที่ให้ความรู้และชี้ทางธรรมให้ได้เห็น
ด้วยความเคารพ
คำตอบ
ผู้ใดฝากตัวเป็นคนไข้กับหมอ ต้องให้สิทธิหมอบำบัดรักษาร่างกายที่อาพาธ ผู้นั้นทำได้เพียงดูแลรักษาใจมิให้บาปเกิดเพิ่มมากขึ้น รักษาใจให้มีอารมณ์ดีอยู่เสมอ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณของสาร cortisone ในเลือดลดลง ทำให้ภูมิต้านทานโรคมีมากขึ้น โอกาสที่จิตจะอาศัยอยู่กับเซลล์มะเร็งในร่างกายเดียวกันยาวนานจึงเกิดขึ้นได้
|
1484.
สวัสดีค่ะอาจารย์
ขออนุญาติเรียนปรึกษาอาจารย์ค่ะ เหตุเกิดเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นเจอปัญหาในที่ทำงานพอสมควร ถูกให้ร้าย ทำให้คนในที่ทำงานมีทัศนคติในทางลบกับหนูมาก ช่วงเวลานั้นเครียดมากๆ ก็เลยเริ่มสวดมนต์ก่อนนอน พยายามแผ่เมตตาให้คนที่คิดร้ายใส่ร้ายเรา ปกติเป็นคนไม่ค่อยชอบสวดมนต์เท่าไหร่ ยิ่งการนั่งสมาธิยิ่งแล้วใหญ่เพราะคิดว่าตัวเองเป็นคนชอบคิดฟุ้งซ่าน เคยพยายามนั่งก็นั่งได้แป๊บๆ ไม่ได้เป็นสมาธิอะไร ด้วยความที่ช่วงนั้นคิดว่าตัวเองคงดวงไม่ค่อยดีเจอปัญหามากมาย เลยเน้นสวดบทอิติปิโส เท่าอายุตามที่หลวงพ่อจรัลท่านได้แนะนำไว้ในหนังสือ ประกอบกับได้หลักการไหว้พระโดยให้นึกภาพไว้ในใจว่า พระพุทธรูปที่เราก้มลงกราบนั้นท่านคือพระพุทธเจ้าองค์จริงๆที่อยู่ต่อหน้าเรา ทำให้ช่วงนั้นกราบพระแล้วใจปิติมีสุขมาก หลังจากที่สวดมนต์มาสักระยะนึง ก็ทำให้อยากรู้ความหมายของบทสวดมนต์ว่า หมายถึงอะไร ก็ไปสืบค้นจนได้รู้ความหมายโดยเฉพาะบทสวด อิติปิโส ที่เป็นบทสวดสรรเสริญคุณพระพุทธเจ้า เมื่อรู้ความหมายเวลาสวดอิติปิโสยิ่งทำให้รู้สึกปิติ และระลึกถึงบุญคุณพระพุทธเจ้าท่านมากๆ
จนกระทั่งวันนึงวันนั้นก็พาลูกเข้านอนตามปกติ ตัวเองก็เข้าห้องพระสวดมนต์ พอสวดถึงบทอิติปิโส น้ำตาก็ไหลออกมา เกิดจากใจที่ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พอสวดเสร็จก็ก้มลงกราบ (ในขณะที่กราบก็ร้องไห้ออกมาอีก) ใจก็นึกเห็นภาพว่าเรากำลังก้มลงกราบพระพุทธเจ้าองค์จริงๆ แต่คราวนี้ภาพที่นึกเห็นไม่เหมือนทุกครั้ง เห็นเป็นพระพุทธเจ้าท่านยืนอยู่ใต้ต้นไม้ มีสิ่งแวดล้อมเป็นที่เวิ้งๆกว้างๆ ไกลออกไปลิบๆ เห็นทางหางตาเป็นเหมือนสิ่งก่อสร้าง แต่ไม่ทราบว่าคืออะไร แล้วเห็นตัวเองกำลังก้มลงกราบท่าน ในขณะที่กราบ ไม่ทราบว่าใจหรืออะไรบอกตัวเองว่า " นั่งสมาธิสิ แล้วจะดี " ก็เลยนั่งสมาธิต่อทันที โดยกำหนดลมหายใจเข้าพุทธ ลมหายใจออกโธ ไปได้สักแป๊บเดียว การกำหนดลมหายใจก็หยุดโดยที่ตัวเองก็ไม่รู้ตัว แต่เกิดเห็นแสงสว่างๆขาวๆ กว้างๆ และรู้สึกว่าตัวเอง ลอยๆเบาๆ เหมือนไม่มีแขนไม่มีขา ไม่มีร่างกายอยู่เลย รู้สึกว่างๆ สบายๆ ตอนนั้นในใจนึกแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น เวลาผ่านไปนานเท่าไหร่หนูไม่แน่ใจ แต่พอใจเกิดนึกเป็นห่วงลูกกลัวลูกตื่นมาไม่เจอใคร แค่ใจนึกแค่นี้ ความรู้สึกเบาก็หายไป กลับรู้สึกหนักจนไหล่ทรุดแล้วมีความรู้สึกว่ามีแขนมีขามีร่างกาย(แบบหนักๆ)กลับคืนมา ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวที่หนูนั่งสมาธิ จริงๆจังๆ แบบไม่ได้ตั้งใจมาก่อน
ไม่ทราบว่า สิ่งที่หนูเจอคืออะไรคะ แล้วหนูควรทำอย่างไรต่อไป หนูถึงจะสามารถนั่งสมาธิได้แบบนั้นอีก เพราะรู้สึกว่าใจอิ่มมาก ปิติเป็นสุขดีค่ะ หลังจากครั้งนั้น หนูก็ยังไม่ได้นั่งสมาธิจริงๆจังๆอีกเลย
ขอบคุณค่ะ
คำตอบ
พระพุทธโคดมตรัสในทำนองที่ว่า ใครจะพูดให้ร้ายอย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับการกระทำของตนเอง ใครผู้ใดเชื่อสัจธรรมในเรื่องนี้เต็มร้อย และเรามิได้เป็นอย่างที่เขากล่าวให้ร้าย จิตย่อมไม่หวั่นไหว
สิ่งที่บอกเล่าไป ผู้ถามปัญหาเห็นเช่นนั้นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็นไม่จริง หากผู้ถามปัญหา ยังไม่สามารถตัดความยาก(ตัณหา)ให้หมดไปจากใจได้ จะนั่งสมาธิอีกสักกี่ครั้ง ก็ไม่สามารถเข้าถึงสภาวะดังกล่าวได้ เพราะจิตเอากิเลสมาเป็นเครื่องขวางกั้นมิให้การพัฒนาจิตก้าวหน้า
|
1483.
เรียนถาม อ.สนอง ครับ
อาจารย์ครับ... ผมฟังพระอาจารย์มาก็หลายท่านแล้ว... ผมสะกิดใจกับคำนี้มากครับคือ ทำลายกิเลส แล้วเราต้องทำอย่างไรครับ
คำถามครับ
1. ผมเข้าใจว่า การทำลายกิเลส คือ เรารู้ทันอารมณ์ที่จิตมันปรุงแต่งแล้ววางเฉย ไม่ตอบสนองอารมณ์นั้นๆ หรือข่มมันไว้ เช่น โกรธ เกลียด ดีใจ ความอยาก ฯลฯ จนอารมณ์เหล่านั้นไม่เกิดกับดวงจิตแบบถาวร จึงจะเรียกว่าทำลายกิเลสหรือเปล่าครับหรือต้องทำอย่างไร
2 . อาจารย์เคยกล่าวว่า คนทุศีลจะปฏิบัติธรรมไม่ถึงธรรม แล้วเข้าถึงฌานได้ไหม(ธรรมกับฌาน คนละอย่างหรือเปล่า) เพราะผมเคยนั่งสมาธิจนเลยความปวด แต่มานั่งนึกถึงที่อาจารย์บอกผมเลยล้มเลิกกลางคัน เพราะเชื่อว่าถ้าศีลห้ายังไม่บริสุทธิ์ก็ยังเข้าไม่ถึงธรรม แต่อาจารย์บอกให้พวกเราเชิญพิสูจน์ทุกครั้งเมื่ออาจารย์แสดงธรรม ผมเลยสับสนว่าจะเอาไงดี... ถ้าการตอบคำถามเป็นไปทำนองว่า สามารถเข้าฌานได้ผมจะพยายามอย่างเต็มที่ครับ
3 . ผมเคยนั่งสมาธิครั้งแรก (โดยไม่มีความอยากเห็นอะไรทั้งนั้น) แล้วมีอาการหมุนที่จิต ผมรู้สึกได้ครับ ว่าหมุนจากกลางอก แล้วหูเริ่มไม่ได้ยิน ผมกลัวมากเลยลืมตาเหงื่อเต็มฝ่ามือครับ ผมอยากทราบว่าเกิดอะไรขึ้นครับ แล้วถ้าเกิดอีกผมต้องทำอย่างไรครับ
4 . ผมอ่อนภาษาอังกฤษมากจะเริ่มเรียนตอนแก่ครับ (ตอนนี้ 30 ปี เดี๋ยวนี้ข้าราชการต้องเก่งภาษา ระบบใหม่เป็นแบบนี้ถึงก้าวหน้าในทางโลก ซึ่งผมก็เบื่อเต็มที) การนั่งสมาธิเป็นประจำทำให้เป็นคนมีความจำดีได้ไหมครับ อาจารย์พอจะช่วยแนะนำวิธีเรียนภาษาให้ได้ผลหน่อยได้ไหมครับ
ขอขอบพระคุณอาจารย์อย่างสูงครับ
ข้าราชการท่านหนึ่ง
คำตอบ
(๑). จิตใดมีกำลังสติอ่อน จิตนั้นย่อมรับสิ่งกระทบเข้าปรุงอารมณ์ จิตที่มีอารมณ์เป็นจิตที่เศร้าหมองด้วยกิเลส จิตใดมีพลังสมาธิมากกว่ากำลังของกิเลส จิตนั้นย่อมสามารถข่มกิเลสไม่ให้แสดงออก หรือไม่ให้มีอำนาจบงการจิตได้ อย่างนี้เรียกว่า ข่มอารมณ์
จิตใดมีกำลังสติอ่อน จิตนั้นย่อมรับสิ่งกระทบเข้าปรุงอารมณ์ และหากจิตมีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมเห็นอารมณ์ดับไปตามกฎไตรลักษณ์ จิตไม่รับเอาอารมณ์เข้ามามีอำนาจเหนือใจ จิตจึงว่างเป็นอุเบกขา อย่างนี้เรียกว่า รู้ทันอารมณ์
จิตใดมีกำลังของสติกล้าแข็ง จิตนั้นย่อมระลึกได้ทันสิ่งกระทบ แล้วปัญญาเห็นแจ้งในดวงจิตเห็นว่า สิ่งกระทบดับไปตามกฎของไตรลักษณ์ สิ่งกระทบจึงมิใช่ตัวมิใช่ตน จิตปล่อยวางสิ่งที่กระทบ จิตจึงว่างเป็นอุเบกขา อย่างนี้เรียกว่า รู้ทันสิ่งที่กระทบ
คนที่มีกำลังสติอ่อน ย่อมรับสิ่งกระทบเข้าปรุงอารมณ์ แล้วอารมณ์ดำเนินไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือเกิดและดับเร็วช้าต่างกัน อย่างนี้ไม่เรียกว่าทำลายกิเลส จะเรียกว่าทำลายกิเลสได้ ต้องใช้ปัญญาเห็นแจ้งตามพิจารณาอารมณ์ว่ากำลังดำเนินไปตามกฎของไตรลักษณ์ ในที่สุดอารมณ์เข้าสู่อนัตตา อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ทำลายกิเลส
(๒). ธรรม เป็นคำกลางๆ ที่สมมุติใช้เรียก ปรากฏการณ์ที่มนุษย์แสดงออก เป็นธรรมดา เป็นธรรมชาติ เป็นความดี เป็นความถูกต้อง ฯลฯ ดังนั้น ฌาน ก็เป็นธรรมอย่างหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจเข้าถึงสภาวะธรรมประณีต หรือเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่
หากผู้ถามปัญหาประสงค์จะพิสูจน์สัจธรรม ต้องทำตัวเองเข้าปฏิบัติสมาธิภาวนา แล้วดูสิว่า หากศีลยังไม่บริสุทธิ์ ศีลยังขาด ยังทะลุ ยังด่าง ยังพร้อย และไม่เอาศีลลงคุมให้ถึงใจ จะสามารถเข้าถึงสภาวะที่จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ ( ฌาน ) ได้หรือไม่
.. อย่างนี้ดีครับ จะได้มีประสบการณ์ตรง เกิดขึ้นกับตัวเอง ตามที่พระพุทธโคดมสอนมิให้ปลงใจ เชื่อตามหลักกาลามสูตร
(๓). อาการหมุน อาการกลัว อาการหูไม่ได้ยินเสียง ฯลฯ มีเหตุมาจากจิตขาดสติ ผู้ใดประสงค์จะกำจัดอาการเหล่านี้ให้หมดไป ต้องกำหนด หมุนหนอๆๆๆๆ กลัวหนอๆๆๆๆ ไม่ได้ยินหนอๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จนอาการดังกล่าวดับไป แล้วดึงจิตเข้ามาสู่องค์บริกรรมเดิม
(๔). ผู้ใดปฏิบัติสมถะภาวนา แล้วทำให้จิตเข้าถึงคลายตั้งมั่นเป็นสมาธิ คลื่นสมองย่อมปรับเข้าสู่ความเป็นระเบียบ ส่งผลให้มีความจำเพิ่ม สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ รวมถึงภาษาต่างประเทศ ได้ง่าย
|
1482.
กราบ อาจารย์สนอง
ดิชั้นเป็นคนเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอดค่ะ
ดิชั้นอายุ 29 ปี เรียนจบมาไม่เคยทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลยค่ะ ชีวิตดิชั้นเหมือนกับที่อาจารย์เขียนในหนังสือหลายเล่ม เรื่องความเป็นลูกเทวดามาเกิด ประเภทแม้ว่าครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยมหาศาล แต่ก็มีคนรองมือรองเท้าตลอดอย่างนั้นแหละค่ะ แม่ของดิชั้น พี่สาว น้าๆ และญาติๆของดิชั้นทุกคนไม่เคยปล่อยให้ดิชั้นลำบากอะไรเลย เพราะเป็นน้องคนเล็กสุดในบรรดาลูกพี่ลูกน้องและก็เกิดช้ากว่าคนถัดไปค่อนข้างมาก ดิชั้นเป็นประเภทนั้นแหละค่ะ แต่เกรงว่าจะไม่ได้มีบริวารและทรัพย์สมบัติติดตัวมาด้วย แม่ดิชั้นจึงเป็นฝ่ายให้เงินให้ทองดิชั้นฝ่ายเดียวมาตั้งแต่เล็กจนโต
ตั้งแต่เด็กดิชั้นเรียนเก่งค่ะ มีความรับผิดชอบสูง ดิชั้นมีความคิดเป็นผู้ใหญ่ เห็นเด็กอื่นเล่นกันก็มองว่าเป็นเรื่องของเด็กๆ มีเพื่อนไม่มากเพราะดิชั้นเลือกคบคนมาก ถ้าเห็นว่าไม่ดีเมื่อไหร่ก็ตีตัวออกห่างทันที และไม่เคยผูกพันกับใครค่ะ จริงๆนะคะไม่เคยผูกพันกับใครเลย แม้ว่าเพื่อนที่ดูรักกันมากๆไม่เคยทะเลาะกันแม้แต่น้อย เมื่อห่างกันดิชั้นก็ไม่มีความคิดถึง เวลาย้ายโรงเรียนก็ไม่เคยติดต่อใครก่อน ถ้าเพื่อนไม่ติดต่อเราก็เป็นอันห่างกันโดยปริยาย นิสัยนี้ติดมาจนโตค่ะ แต่โชคดีที่ดิชั้นไม่เคยขาดเพื่อนที่จริงใจเลยค่ะ ทุกครั้งที่ย้ายหรือมีการเปลี่ยนแปลงดิชั้นมีเพื่อนสนิทตลอดอย่างน้อย 1 คน อย่างมาก 2 คนค่ะ
อันที่จริง แม้แต่คนในครอบครัวดิชั้นก็แทบไม่ผูกพันกับใครนอกจากแม่ (พ่อดิชั้นเสียไปตอนดิชั้นอยู่ ม. 6 ซึ่งเป็นการสูญเสียครั้งที่ 2 ในชีวิต) ตอนเด็กๆดิชั้นเป็นที่รักของพ่อมาก พ่อเข้าใจและตามใจชั้นแทบทุกอย่าง แต่ดิชั้นก็ไม่เคยเอาแต่ใจนะคะ นอกจากพ่อดิชั้นก็ติดพี่สาวคนนึงค่ะ ครั้งแรกที่ดิชั้นก็ได้ลิ้มรสการจากจากคนที่ตัวเองรัก ดิชั้นต้องกลายเป็นเหมือนลูกคนเดียว เมื่อพี่ๆทุกคนออกจากบ้านไปเรียนต่อ พี่ที่ดิชั้นติดมากก็ไปเรียนต่างประเทศ ดิชั้นเสียใจมากค่ะ ร้องไห้เยอะมากจนใครๆถาม ดิชั้นตอบว่าดิชั้นสงสารตัวเอง ตั้งแต่นั้นมา ดิชั้นก็เป็นเด็กที่ชินกับการอยู่คนเดียว และชอบทำวิปัสสนาค่ะ เมื่อก่อนดิชั้นไม่ทราบว่าสิ่งที่ดิชั้นทำคือการวิปัสสนานะคะ คือดิชั้นชอบเช็คตัวเองน่ะค่ะว่า หนาวมั้ย ร้อนมั้ย มีความสุข ความทุกข์ ป่วยหรือเปล่า สนุกหรือเบื่อ หรือซึมเศร้า หงุดหงิด ? เวลาได้ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือการ์ตูนหรือนิยาย ก็ถามตัวเองตลอดว่าชอบหรือไม่ชอบตรงไหน ชอบมากแค่ไหน ชอบกว่าอันอื่นหรือเปล่าฯลฯ ตลอดเวลานั่นแหละค่ะ ต่อมาดิชั้นก็ต้องไปเรียนต่างจังหวัดเหมือนกันเมื่ออายุ 15 ปีค่ะ ไปอยู่หอกับคนแปลกหน้าทั้งนั้น แต่ก็ไม่เคยมีปัญหาค่ะ เหมือนเดิมคือดิชั้นเลือกคบเพื่อนแล้วก็มีความคิดเป็นผู้ใหญ่ ไม่ยุ่งกับธุระของใครและเรียนเก่งค่ะ
ก่อนจบม. 6 ดิชั้นก็เสียพ่อไปด้วยโรคร้ายค่ะ พ่อของดิชั้นดูแข็งแรงมาตลอดชีวิตท่านทีเดียว พอทรุดก็ทีเดียวเลยค่ะ ทั้งโรคหัวใจ มะเร็งและเส้นเลือดในสมองแตก หมอบอกว่าอยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือนแล้วก็สามเดือนจริงๆ ตอนม. 3 พ่อเคยถามดิชั้นว่าอยากเป็นอะไร ดิชั้นบอกว่าอยากเป็นผู้พิพากษา ดิชั้นก็เลยเลิกเรียนสายวิทย์ไปเลย มุ่งมั่นเต็มที่เพื่อเอ็นทรานซ์นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ค่ะ แต่ก่อนที่พ่อจะพูดไม่รู้เรื่อง(ตอนไม่สบาย) เหมือนพ่อจะเตือนเป็นครั้งสุดท้ายด้วยสายตาที่เฉียบคมเกี่ยวกับตัวชั้นค่ะ อยู่ๆระหว่างที่ท่านนอนอยู่แล้วพูดกับดิชั้นว่า "ลูกจะเป็นได้เหรอผู้พิพากษา เพราะว่าลูกใจอ่อน ใจดี" ทั้งๆที่วันดีคืนดีไม่เคยถามเลยนะคะ ดิชั้นบอกว่าเป็นได้แน่ แต่ที่ไหนได้ล่ะคะ นั่นแหละค่ะ สิ่งที่ดิชั้นเป็นทุกข์มากอยู่ในเวลานี้ล่ะค่ะ อาจารย์คะ
ดิชั้นมีชีวิตตามแนวทางค่ะ เอ็นติด เรียนดีค่ะ แต่ตอนเรืยน 4 ปีที่มหาวิทยาลัย ดิชั้นเริ่มน๊อตคลายค่ะ จากที่ตั้งใจเรียนมาก ก็คลายมาเรื่อยๆเป็นสบายๆค่ะ จบมายังอุตส่าห์ได้เกียรตินิยมอันดับสอง พอเรียนจบปั๊บน๊อตหลุดปุ๊บเลยค่ะอาจารย์ มาตาเริ่มสว่างว่าสังคมเปลี่ยนไปเรื่อย กฎหมายก็ต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆไม่จบสิ้น กระบวนการยุติธรรมก็มีปัจจัยต่างๆที่ทำให้ความจริงมันคลาดเคลื่อนเยอะมาก ไม่น่าเลยเรา ดิชั้นรู้สึกถึงคำว่าตกกระไดพลอยโจนค่ะ ไม่ทันตั้งตัวเลยว่าเลือกผิดเสียแล้ว ดันมาเลือกสาขาอาชีพที่มีกรรมที่สุดสาขาหนึ่งเลยที่เดียว นั่นก็คืออาชีพที่เอาปัญหาคนอื่นมาใส่ตัวน่ะค่ะ ก็คิดส่งๆไปว่า ไหนๆก็ตกกระไดมาแล้วทำให้มันสำเร็จละกัน ทู้ซี้เรียนเนฯไปแบบน๊อตหลุดๆ 4 ปีกว่าจะจบ ระหว่างนั้นอ่านการ์ตูนดูละครเกาหลีญี่ปุ่นกับฟังเพลงเป็นงานหลักค่ะ แต่จุดเปลียนมันอยู่ระหว่างที่น๊อตหลุดนี่แหละค่ะอาจารย์ ดิชั้นฟังเพลงหนักเหมือนเป็นบ้าเลย เพลงนั้นเป็นเพลงที่ฟังไม่ออกค่ะ แต่ให้อารมณผ่อนคลาย ดิชั้นมีสมาธิดีมากเพราะดิชั้นฟังแบบแยกเสียงเครื่องดนตรีทีละชิ้นเลยค่ะ มีความสุขมากเพราะว่าเหมือนไม่มีความทุกข์ใดๆมากร่ำกลายในจิตดิชั้นได้เลย พอไม่ได้ฟังก็เกิดอาการโหยหาค่ะ ถึงขั้นขาดไม่ได้ ช่วงนั้นมันแปลกมากค่ะ และอยู่มาวันนึง มันปิ๊งขึ้นมาเองค่ะ เรื่องการวางให้ได้ หลงรักอย่างสุดๆแต่ตอนหลุดก็หลุดทันทีเลย ฉับพลันมาก ดิชั้นเหมือนกับรู้ความเป็นไปของสิ่งต่างๆเสียแล้ว เพี้ยนค่ะอาจารย์ ชีวิตผกผัน 360 องศา
ตอนที่ชีวิตเปลี่ยนแบบหลังเท้าเป็นหน้ามือนั้นดิชั้นก็ ถ้าจำไม่ผิดก็เรียนเนไป 1 ปีค่ะ อายุประมาณ 22 ย่าง 23 ดิชั้นก็เพื้ยนแบบที่ว่า เพลงที่เคยหลงไหลหลงรักก็ไม่ฟังอีกเลย หน้าตัวเองก็ไม่อยากเห็นเพราะมีความรู้สึกประหลาดที่ว่า ทำไมฉันถึงต้องมีตัวชั้นอยู่ตรงนี้นะ ทำไมทุกอย่างถึงมีนะ แบบว่าตอนนั้นความจริงมันโจมตีไม่หยุดเลย เห็นอะไรในโลก ก็มีความรู้สึกว่ามัน "เกิน"ค่ะ แม้แต่ตัวของดิชั้นเอง ดิชั้นไม่สมควรจะอยู่ตรงนี้ แยกตัวเองออกจากโลกโดยสิ้นเชิง เลิกตบยุงเด็ดขาด แม้แต่มดก็พยายามมองให้ดีก่อนย่างเท้าแต่ละก้าวน่ะค่ะ เชื่อมั้ยคะ ตอนนั้นดิชั้นไฟแรงมากเลย ดิชั้นเลยความเป็นมาเป็นไปค่ะ แต่ไม่รู้ว่าเขาเรียกว่าอะไร จนในภายหลังหลังจากที่ศึกษาจากตำราของอาจารย์ต่างๆ จนมาเจอในหนังสือของท่านพุทธทาสว่า เค้าเรียกว่า "อิทัปปัจยตา" ตอนแรกๆดิชั้นงมทางไม่ถูกเลยว่าต้องไปค้นจากที่ไหนค่ะ ค้นจากหนังสือปรัชญาที่เคยเรียนตอนปี 1 ค่ะ แล้วก็โยงมาเรื่อย จนมาพบขุมทรัพย์ที่หนังสือท่านพุทธทาสนั่นแหละค่ะ
ตั้งแต่นั้นดิชั้นก็เรียบๆเคียงๆกับแม่ว่า ถ้าวันนึงดิชั้นไปบวช แม่จะว่าไง คิดดูซิคะ เพิ่งเรียนจบแท้ๆ มาบอกว่าไปบวช แม่คงนึกว่าดิชั้นจะไปพรุ่งนี้วันนี้ เลยกลายเป็นเรื่องใหญ่ค่ะ ดิชั้นก็เลยพูดไปคำนึงว่า ความสุขของดิชั้นมันไม่ได้อยู่ในโลกนี้แล้ว ถ้าดิฉันอยู่อย่างนี้ดิชั้นคงไม่มีความสุขเป็นแน่ ตอนนั้นมันคิดอยู่อย่างเดียวว่าถ้าแม่ให้ไป ไปแน่ จริงๆก็ไม่ใช่วันนี้พรุ่งนี้แน่ๆ แต่ดิชั้นพร้อมที่จะทิ้งทุกอย่างไปจริงๆ ขนาดแม่ดิชั้นก็ยังคิดเลยว่าดิชั้นทิ้งได้ แต่มันไม่ง่ายค่ะ แม่ขวางเต็มตัว พี่สาวที่อยู่ต่างประเทศก็รู้ในเวลาอันสั้น ทุกคนขวางเต็มตัวค่ะ จากนั้นก็เป็นเรื่องใหญ่ ดิชั้นก็ได้เรียนรู้ว่าดิชั้นยังอ่อนปัญญานัก เลยเก็บความคิดนี้ไว้กับตัวเองไม่พูดออกมาอีก กลับมาฟังเพลงต่อเรียบร้อยแล้ว(เพราะสำหรับดิชั้นมันคือการทำสมาธิค่ะ) จนทุกคนคิดว่าดิชั้นได้พับความคิดนี้ไว้เรียบร้อย แต่จริงๆมันยังอยู่ตลอดเวลาค่ะ ดิชั้นอ่านหนังสือธรรมะเป็นบ้าเป็นหลังแต่ก็ค่อนข้างจะเป็นความลับนะคะ คนอื่นคิดว่าดิชั้นอ่านแค่พอประมาณ จริงๆแล้วดิชั้นมีเรื่องที่อยากเช็คว่าตัวเองมีมิจฉาทิฐิมากน้อยเพียงใด ก็เลยยึดหนังสือเป็นครูค่ะ จนได้มาพบกับอาจารย์สนองทางหนังสือด้วย ดิชั้นคิดได้ว่าอาจารย์ก็ยังมีชีวิตอยู่ (ท่านอาจารย์พุทธทาส ไม่อยู่ตอบคำถามดิชั้นเสียแล้ว) ดิชั้นจึงอยากสมัครตัวเป็นลูกศิษย์คนนึงค่ะ
เล่ามาเยอะแยะเลย คือมันอัดอั้น ขอโทษนะคะ ดิชั้นมีคำถามจะถามอาจารย์ด้วยค่ะ
1. ดิชั้นกำลังจะสอบผู้ช่วยผู้พิพากษาปีนี้ค่ะ แต่ดิชั้นอ่านหนังสือไม่ได้เลย ใจนึงก็อยากทำให้แม่ภูมิใจซักครั้ง แต่อีกใจก็ไม่อยากทำอาชีพนี้เลยค่ะ ตอนอ่านหนังสือเหมือนมืบางอย่างขัดขวางตลอดค่ะ ดิชั้นไม่มีสมาธิเลยต้องไปอ่านหนังสือธรรมะที่ว่าเราปฏิบัติธรรมในระหว่างทำงานได้ ดิชั้นก็เข้าใจ แต่ลึกๆดิชั้นก็กลัวที่จะทำงานที่เสี่ยงแบบนั้นน่ะค่ะอาจารย์ ดิชั้นคงเหมือนตกนรกทั้งเป็นเลยที่เดียวที่ต้องเห็นปัญหาและความทุกข์ของคนอื่นไปตลอดชีวิต ดังนั้นที่ดิชั้นคิดได้อีกอย่างคือ ดิชั้นต้องหางานใหม่จะเป็นการดีกว่ามั้ยคะอาจารย์
2. ดิชั้นมีปัญหาเรื่องการสนทนากับคนอื่นมากๆเลยค่ะ เวลาคุยไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร เพราะดิชั้นไม่คุยเรื่องที่คนอื่นธรรมดาๆเค้าสนใจกันน่ะค่ะ เวลาเจอคนที่สนใจธรรมะ ดิชั้นดีใจมาก แต่พอคุยๆไปดิชั้นก็ต้องผิดหวังแทบทุกครั้งเพราะว่า มันไม่ใช่น่ะค่ะอาจารย์ ดิชั้นต้องการคุยอะไรที่ลึกกว่านั้น และบางครั้งเวลาคุยดิชั้นก็ทราบเลยว่าบางคนยังมีความเข้าใจผิดอยู่มาก ทั้งๆที่เค้าอายุมากกว่าดิชั้นมาก ดิชั้นไม่กล้าที่จะคุยลึกไปกว่านั้นอีก เพราะกลัวจะไปแตะอัตตาของเค้าแล้วเกิดความขัดใจกันค่ะ แต่ดิชั้นก็ยังสงสัยนะคะ ว่าถ้าเรารู้แล้วว่าเค้ามี มิจฉาทิฐิ เราอายุน้อยกว่า เราควรจะเตือนเค้าหรือเปล่าคะ หรือดิชั้นควรจะทำตัวเหมือนเดิมคือ เงียบๆแล้วตีตัวออกห่างดีคะ
3. มีคนเคยทักค่ะว่า ดิชั้นมีองค์สององค์ใหญ่ๆองค์เล็กที่หนึ่งองค์อยู่กับตัว คืออะไรกันแน่คะ เค้าบอกว่าองค์ของดิชั้นพยายามพาดิชั้นไปปฏิบัติธรรมอย่างเต็มตัวซักที เค้าจะทำให้ดิชั้นไม่ประสบความสำเร็จในทางโลกน่ะค่ะ ดิชั้นควรจะทำอย่างไรดีคะ เพราะตัวดิชั้นก็อยากบวชมากค่ะ
4. แม่ดิชั้นบาปหรือเปล่าคะ รวมทั้งคนที่ขัดขวางน่ะค่ะ
5. ถ้าดิชั้นมีบารมีมากขึ้นจะชักจูงแม่ให้ไปกับดิชั้นได้มั้ยค่ะ
6.หลังจากที่ดิชั้นกลับมาฟังเพลงใหม่ ดิชั้นกลับมีสมาธิไม่ได้เท่าเดิมแล้วค่ะ แต่ก็ให้ความเพลิดเพลินดี ตอนนี้ดิชั้นเจริญสมถสมาธิได้น้อยมากค่ะ แต่วิปัสนาก็ยังทำอยู่ทุกวัน ดิชั้นคิดว่าสาเหตุหนึ่งคือ ดิชั้นไม่ค่อยเห็นประโยชน์จากการทำสมถสมาธิเสียแล้ว แต่มีเหตุการณ์ที่ทำให้ดิชั้นอยากเจริญสมถสมาธิให้ดีขึ้นจนถึงขั้นสูงสุด(เป็นเป้าหมายของดิชั้นในขณะ ควบคู่กับการขูดกิเลสกับนิวรณ์ประจำวัน) ก็คือดิชั้นได้อ่านที่อาจารย์เคยบอกว่า ถ้าเราทำกรรมฐาน แล้วจะได้ญาณแบบที่เปาบุ้นจิ้นมี คือติดต่อกับวิญญาณได้และทำให้ตัดสินคดีไม่ผิดพลาด ดิชั้นจึงอยากทราบมากว่า ดิชั้นควรจะเปลี่ยนวิธีเจริญกรรมฐานเป็นอานาปนสติ หรือยังคงใช้การฟังเพลงเป็นเครื่องมือดีคะ
7.ดิชั้นเคยเรียบเคียงว่าอยากจะเปลี่ยนอาชีพแต่แม่ของดิชั้นก็ค้านอีก โดยที่ท่านบอกว่าคนเราจะทำอะไรก็ต้องมั่นคงในทางนั้น ถ้าสอบคราวนี้ไม่ได้ก็สอบไปเรื่อยๆ เรื่องเงินทองแม่มีให้ จริงๆที่เป็นแบบนี้ก็เป็นกรรมในอดีตของดิชั้นที่เหมือนไปฝังความคิดว่าดิชั้นอยากเป็นผู้พิพากษาให้คนอื่นได้รู้ แต่ดิชั้นก็รู้อยู่แก่ใจว่า เป้าหมายของดิชั้นเปลี่ยนไปนานแล้ว เลยอยากถามอาจารย์ว่าการที่แม่ค้านไม่ให้ดิชั้นเปลี่ยนอาชีพ โดยที่ดิชั้นก็บอกว่าอาชีพนี้เสี่ยงกับความบาปกรรมมาก แม่ก็ไม่เห็นด้วยท่าเดียวค่ะ แต่เราไม่เคยเถียงกันนะคะ แม่ของดิชั้นจะบาปหรือเปล่าคะ คือดิชั้นกลัวว่าถ้าดิชั้นยืนยันความคิดเดิมว่าจะเปลี่ยนแน่นอนแล้วแม่ยังขัดขวางต่อไปเรื่อยๆ แม่ดิชั้นจะบาปน่ะค่ะ
8. บางครั้งเวลาฟังคนพูดเรื่องธรรมะแล้วดิชั้นรู้ว่าเป็นมิจฉาทิฐิรุนแรง ทั้งๆที่ดิชั้นไม่โกรธ(ดิชั้นเช็คแล้วค่ะว่าไม่โกรธเลย)แต่แปลกมากที่ใจดิชั้นเต้นแรงมากค่ะ แรงจนรู้สึกได้มาก ดิชั้นต้องกำหนดตลอดว่า"ใจเย็นๆๆๆๆ" ซักพักก็จะดีขึ้น เกิดอะไรขึ้นคะอาจารย์ เป็นเพราะจิตใต้สำนึกของดิชั้นยังหยาบอยู่มากใช่มั้ยคะ
จริงๆแล้วดิชั้นมีเรื่องสงสัยเต็มไปหมดเลยค่ะ แต่ดิชั้นมีนิสัยอย่างหนึ่งคือชอบคิดเองก่อน แล้วไปหาคำตอบที่ถูกต้องทีหลัง คำถามบางข้อดิชั้นยอมรับว่าได้คิดเองและได้คำตอบเองแล้ว แต่ดิชั้นยังไม่มั่นใจค่ะ ดิชั้นจึงขอรบกวนอาจารย์ชี้ทางที่ถูกต้องแก่ดิชั้นด้วย
สุดท้ายดิชั้นกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ
คำตอบ
(๑). พระพุทธะเป็นผู้มีความเป็นสัพพัญญู จึงนำเอาความรู้ที่เป็นจริงแท้ มาสอนให้ผู้อื่นได้เข้าถึงปัญญาเห็นถูกตามธรรม ผู้เห็นถูกเห็นว่า บุคคลมีชีวิตเป็นของตัวเอง ดังนั้นจึงต้องบริหารจัดการชีวิตด้วยตัวเอง ผู้เห็นถูกไม่เข้าไปก้าวล่วงในชีวิตของคนอื่น ผู้เห็นถูกเป็นได้เพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น จึงขอชี้ทางสว่างว่า อาชีพผู้พิพากษา ต้องเข้าไปตัดสินทางดำเนินชีวิตของผู้อื่น และจากประสบการณ์ตรงของอดีตผู้พิพากษาที่ตายแล้วฟื้น ในห้วงเวลาแห่งการตาย ได้ไปเห็นบุคคลจำนวนมากที่มีอาชีพนี้ ต้องลงไปเสวยอกุศลวิบากอยู่ใน โรรุวมหานรก ที่มีอายุขัย ๔,๐๐๐ ปีนรก ซึ่งเทียบกับปีมนุษย์ได้ ๒๓๔ ล้านปี เป็นวันหนึ่งกับคืนหนึ่งของนรกขุมนี้ เมื่อฟื้นขึ้นมาในร่างเดิม ได้พิจารณ์เห็นทุกข์โทษของอาชีพที่ปฏิบัติอยู่ จึงลาออกจากผู้พิพากษา แล้วไปบวชเป็นภิกษุปฏิบัติธรรม เพื่อหนีอกุศลวิบากที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
ดังนั้น ปัญหาที่ถามไปจึงไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะผู้ตอบปัญหาเป็นได้เพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น
(๒). ในครั้งพุทธกาล พระพุทธโคดมได้ตรัสแก่หมู่ภิกษุที่อยู่แวดล้อมในทำนองที่ว่า ภิกษุ เธอจงดูภิกษุเหล่านั้นสิ ผู้ที่ชอบฤทธิ์ ย่อมเข้ารวมหมู่กับท่านมหาโมคคัลลานะ ผู้ที่ชอบทางปัญญา ย่อมเข้ารวมหมู่อยู่กับท่านสารีบุตร ผู้ที่ชอบพระวินัย ย่อมเข้ารวมหมู่อยู่กับท่านอุบาลี ฯลฯ ดังนั้นจึ้งเป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ผู้มีจริตต่างกัน เข้ามาอยู่รวมหมู่เดียวกัน ย่อมเกิดปัญหา ด้วยเหตุนี้ ผู้ตอบปัญหา จึงแก้ปัญหาให้กับตัวเอง ด้วยการนำตัวออกห่างจากกลุ่มเพื่อนที่มีจริตต่างกัน แล้วนำตัวเองเข้ารวมกลุ่มกับผู้มีจริตเป็นอย่างเดียงกัน
ครูที่ดี ไม่แสวงหาศิษย์ แต่ศิษย์ที่ดีต้องแสวงหาครู ดังนั้นบุคคลผู้เปรียบดังภาชนะคว่ำ ผู้รู้จะไม่นิ่งดูดาย ผู้รู้ย่อมถ่ายทอดสิ่งดีงามที่ตนมีลงสู่ภาชนะนั้น
(๓). ผู้ใดมีศีล มีธรรม สถิตอยู่กับใจทุกขณะตื่น ผู้นั้นมีเทวดา (องค์) คุ้มรักษา อาทิ ในครั้งที่พระโพธิสัตว์ (อดีตพระพุทธโคดม) ไปเสวยพระชาติเป็น พระสุวรรณสาม เพื่อบำเพ็ญเมตตาบารมี พระสุวรรณสามมีสุนทรีเทพธิดาคุ้มรักษาชีวิต ในครั้งที่พระโพธิสัตว์ไปเสวยพระชาติเป็นพระมหาชนก เพื่อบำเพ็ญ วิริยปรมัตถบารมี พระมหาชนกมีนางมณีเมขลาเทพนารีคุ้มรักษาชีวิต
(๔). บาปครับ ด้วยเหตุที่เข้าไปก้าวล่วงในชีวิตของผู้อื่น และจะมีบาปมากยิ่งขึ้น หากผู้อื่นพัฒนาจิตจนสามารถเข้าถึงอริยธรรมในพุทธศาสนาได้
(๕). มีโอกาสเป็นไปได้ จงดูตัวอย่างของพระสารีบุตร ที่สามารถทำให้นางสารี (แม่) เกิดเปลี่ยนใจหันมาศรัทธาในตัวลูก และขอให้ลูกสอนแม่ได้ พระสารีบุตรจึงสอนแม่ผู้มีมิจฉาทิฏฐิ นับถือท้าวมหาพรหม ให้กลับมาเป็นผู้มีสัมมาทิฎฐิ แล้วเกิดดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบันได้ในเบื้องสุด ก่อนที่พระสารีบุตรจะดับรูปดับนามเข้าสู่นิพพาน
(๖). ผู้ถามปัญหาต้องเลือกทางเดินชีวิตด้วยตัวเอง หากปรารถนาความเนิ่นช้าในการนำพาชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์ ต้องประพฤติตามแบบอย่างของเปาบุ้นจิ้น คือทำตนให้มีเทวดาสัมมาทิฏฐิคุ้มรักษา แต่ยังมิอาจประกันได้ว่า จะไม่นำพาชีวิตลงไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในอบายภูมิในกาลข้างหน้า พระนิยตโพธิสัตว์ เช่น ครูบาบุญชุ่ม ได้กล่าวกับศิษย์รวมถึงผู้ตอบปัญหาว่า ต่อไปนี้ โลกจะวิกฤตมากยิ่งขึ้น ขอพวกเราอย่าได้ประมาท พัฒนาจิต แล้วปิดอบายภูมิให้ได้ ซึ่งมีความหมายว่า สิ่งที่ครูบาฯ ได้แนะนำนั้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ผู้ใดปิดอบายภูมิได้แล้ว จะไม่ลงไปเกิดต่ำกว่าภพมนุษย์อีกต่อไป ตราบนำพาชีวิตเข้าสู่พระนิพพานเป็นเบื้องสุด
(๗). พระพุทธะสอนพุทธบริษัท ให้เชื่อในสิ่งที่มีเหตุผลรองรับ ผู้มีสัมมาทิฏฐิระดับโลกุตตระ ย่อมเชื่อและประพฤติได้ถูกตรงตามความเชื่อนั้น ฉะนั้นหากเป็นความมั่นคงของจิตที่เห็นถูกตรงตามธรรม ความเชื่อแบบนั้น ผู้ตอบปัญหาได้ประพฤติให้มวลชนดูเป็นตัวอย่างที่ดีงามอยู่แล้ว ความศรัทธาในคุณธรรมจึงเกิดขึ้นแล้วนำตัวเข้าใกล้
ผู้ใดไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ผู้นั้นมีบาปให้ผล ใครทำกรรมไว้อย่างไรต้องได้ผลอย่างนั้น บาปจึงเกิดขึ้นกับผู้ใช้ปัญญาเห็นผิดส่องนำทางให้ชีวิต ตรงกันข้าม ผู้มีปัญญาเห็นถูกตามธรรมส่องนำทางให้กับชีวิต บุญเท่านั้นที่เกิดขึ้น ฉะนั้นผู้ถามปัญหาพึงเลือกทางชีวิตตามที่ชอบๆครับ
(๘). เกิดขึ้นด้วยผู้ถามปัญหามีกำลังสติอ่อน จึงไปรับสิ่งกระทบเข้าปรุงอารมณ์ ซึ่งนับเป็นความเสียหายต่อจิตวิญญาณ ผู้เข้าถึงอริยธรรมแม้เพียงขั้นต้น มิได้เป็นเช่นนั้น เขาจึงมีความทุกข์เหลือน้อยเท่าขี้ฝุ่นที่ติดปลายเล็บ
|
1481.
กราบสวัสดีครูสนอง วรอุไร
ผมขออนุญาตเรียกครูนะครับ เพราะมีความหมายที่เหมาะสมมากๆครับ
ผมมีคำถามรบกวนครูสนองดังนี้ครับผม
1. พ่อของเพื่อผมตอนนี้เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย หมอที่โรงพยาบาลกล่าวว่ารักษาตามอาการแล้ว
จึงไม่ขอส่งต่อไปรักษาที่กรุงเทพ ผมรู้สึกเห็นใจเพื่อนคนนี้
ก่อนหน้านี้ผมเคยพูดกับเขาว่า เธอมีครอบครัว แล้วได้กลับไปดูแลพ่อแม่บ้างไหม
เขาก็ตอบมีบ้างแต่ไม่บ่อย ผมก็พูดให้เขาฟังว่าคนที่มีครอบครัวเหมือนมีบ่วงและห่วงจริงๆ
ผมไม่นึกว่าคำว่าผมพูดวันนั้น จะมาส่งผลตอนนี้ เพราะพ่อเขาไม่สบายแบบฉุกเฉิน
และช่วงนี้เป็นช่วงที่เพื่อนผมได้มาดูแลพ่อเขามากขึ้น (วัยเพียง 50 กว่า)
พ่อเขาไม่สมารถพูดได้แล้วตอนนี้ ผมทราบดีว่าจิตที่มีสติ จะไปในที่ที่สุคติ
ในช่วงเวลานี้เพื่อนผมสามารถทำอย่างไรให้พ่อเขาได้บ้างครับผม
( พ่อเขาเคยได้แต่ทำบุญตักบาตรบ้าง แต่ก็ต้องจูงกันไปถึงจะทำ ผู้ช่วยผมเล่าให้ฟัง
แต่สำหรับการทำสติปัฏฐาน 4 ไม่น่าจะเคยทำเลยนะครับ)
2. ผมมานั่งนึกย้อนถึงพ่อของผมเอง ซึ่งก็ชราแล้ว ( 74 ปี) แต่สามารถเดินเหินไปไหนมาไหนได้สะดวก ค่อนข้างแข็งแรงไม่เจ็บไข้ พ่อผมเป็นคนใจบุญกับสัตว์ โดยเฉพาะสุนัข
ท่านไปถวายนมกล่องให้พระใกล้บ้านทุกๆเช้าและก็นำอาหารไปเลี้ยงสุนัขในวัดทุกๆวัน(หลายตัวมาก) พ่อเป็นคนที่สวดมนต์ทุกๆคืนก่อนนอนตั้งแต่ผมยังเด็ก
แต่ผมกังวลคือ พ่อผมยังดูละครทุกวัน ทุกวันนี้ผมจึงพยายาม
โหลดไฟล์เสียงเกี่ยวกับกฏแห่งกรรม , นิทานชาดกบ้างและประวัติอัครสาวก
นิทานธรรมะ เช่นพระอานนท์พุทธอนุชา ให้พ่อฟัง
ท่านชอบมากและมีจิตใจที่เปลี่ยนไปมากเช่น ในเรื่องของหนูที่แม่ผมดักได้
ท่านจะไปปล่อยและบอกสงสาร มดก็ไม่บี้เหมือนสมัยก่อน
แต่หากเป็นเรื่องเกี่ยวกับความตาย มรณะสติ ท่านไม่ชอบ
ผมอยากเรียนถามว่า...หากถึงเวลาวันนั้น พ่อผมจำเป็นต้องใกล้จะหมดลม
ผมจะมีวิธีดึงรั้งสติแก่พ่อผมอย่างไรดีครับ ท่านไม่ได้ฝึกกำหนดสติเลยครับเพียงแต่ได้สวดมนต์ก่อนนอนเท่านั้น
3. ผมเข้าใจถูกไหมครับ
3.1 - การทำบุญให้กับคนทุศีลยังได้อานิสงส์มากกว่าการทำบุญกับสัตว์
3.2 - การใส่บาตร ใส่อะไรไปเราจะได้แบบนั้นจริงหรือไม่ครับ
3.3 - ผมเคยได้ยินคนตายแล้วฟื้น ไม่เคยใส่ช้อนส้อมไปก็ไม่มีทานเมื่อละจากโลกไปแล้ว
3.4 - การสวดมนต์ก่อนนอน การมีเครื่องบูชาเช่นดอกไม้ธูปเทียน กับ การสวดมือเปล่า ได้อานิสงส์เท่ากันครับ
4. ผมอยู่จังหวัดราชบุรี ครูสนองพอจะแนะนำสถานที่ปฏิบัติธรรมได้ไหมครับ
ปกติผมจะทำที่บ้าน ไม่ได้ไปหาพระสอนเลยครับ ผมฟังความรู้จากเนต
ถึงผมไปวัด ผมก็ไปนั่งทำสติ คนเดียว หลังพระพุทธรูปครับ
วัดหนองหอย(วัดไทยนะครับ ไมใช่ของเจ้าแม่กวนอิม)
บรรยากาศดีมากๆบนเขาสูง ที่มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่บนเขาเลยครับ
กราบขอบพระคุณคุณครูที่มอบธรรมะเป็นธรรมทานเสมอมาครับ
คำตอบ
(๑). คนที่ใกล้ทิ้งขันธ์ลาโลก หากประสงค์ให้เขาไปเกิดในภพที่ดีที่เป็นสุคติภพ ควรให้จิตของเขาสัมผัสกับสิ่งดีๆ เช่น ให้ได้ฟังเสียงสวดมนต์ ให้ได้เห็นภาพพระอริยสงฆ์ หรือเอาจิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า-ออก ฯลฯ เหล่านี้เป็นเหตุให้มีจิตจดจ่อ (สติ) อยู่กับสุภสัญญา เมื่อจิตทิ้งรูปขันธ์แล้ว พลังสติย่อมผลักดันจิตวิญญาณไปสู่สุคติ
(๒). สิ่งที่พ่อได้ประพฤติอยู่เป็นปกติ จัดว่าเป็นกุศลกรรม เรื่องต่างๆที่ผู้ถามปัญหาบอกเล่าไป เป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า พ่อได้สร้างเหตุไปเกิดในสวรรค์ ผู้เป็นลูกหากประสงค์จะช่วยพ่อ ควรนำสิ่งที่พ่อชอบฟังคือ นิทานธรรมะ ไปเปิดให้ท่านฟังนั้นดีแล้ว จงทำต่อไป เพราะถูกตรงกับจริตของท่านที่ศรัทธาในสวรรคสมบัติ เรื่องใดที่ท่านไม่ปรารถนาจะฟัง ผู้เป็นลูกไม่ควรก้าวล่วง เพราะจะเป็นบาปเกิดขึ้นกับผู้ก้าวล่วง
(๓).
๓.๑ - ถูกครับ ถ้าสัตว์นั้นยังมีสภาวะของจิตเป็นปุถุชน
- ผิดครับ ถ้าสัตว์นั้นเป็นพระโพธิสัตว์ ไปเสวยพระชาติเป็นสัตว์ เพื่อบำเพ็ญบารมี
๓.๒ - จริงครับ แต่ผลจะตอบกลับเมื่อไร ขึ้นอยู่กับกฎแห่งกรรม
๓.๓ - คนที่ตายแล้วฟื้น ขณะยังอยู่ในห้วงเวลาของการตาย ต้องไปรับวิบากเป็นสัมภเวสี จึงยังต้องการสิ่งสมมุติ (ช้อนส้อม) นั้นอยู่
๓.๔ -ได้อานิสงส์เท่ากัน เมื่อมีศรัทธาก่อนสวดมนต์ มีความตั้งใจขณะสวดมนต์ และมีความอิ่มใจหลังสวดมนต์เท่ากัน
- ได้อานิสงส์ไม่เท่ากัน เมื่อปัจจัยทั้งสามข้างต้นมีต่างกัน
(๔). หากผู้ถามปัญหาประสงค์ความก้าวหน้าในทางธรรม ทำไมไม่ตำตัวเองเข้าปฏิบัติธรรม กับครูบาอาจารย์ที่มีประสบการณ์ตรงตามธรรม อาทิ หลวงพ่อมิตสุโอะ แห่งวัดป่าสุนันทวนาราม จังหวัดกาญจนบุรี หรือพระอาจารย์มนตรี แห่งสำนักปฏิบัติธรรมป่าละอู่ ล่ะครับ
|
1480.
ขอความกรุณาจากท่านอาจารย์ด้วยนะครับ
ผมเริ่มปฏิบัติตอนอายุ 16 ครับเริ่มแรกดูลมหายใจเรื่อยๆทั้งวัน แล้วก็กำหนดเวลาปฏิบัติวันละ ครึ่งชั่วโมง ถึง1ชั่วโมงจนเกิดอาการตัวเบา ใจเย็นสบาย สว่าง ผมก็ไปขอปฏิบัติกับครูบาอาจารย์สายวัดหนองป่าพง ศึกษาข้อวัตรกับท่าน จนนั่งเนสัชชิกกับท่านได้ ตอนอยู่กับท่านก็เกิดอากรนี้อีกแต่บ่อยขึ้น เกิดขณะเดินไปเรียน ขณะจงกรม นั่งสมาธิ ท่านเน้นว่าให้มีสติตลอดเวลาบางทีผมเห็นกระดูกตัวเองจาก โพรงจมูก ไล่ไปจนถึงกระโหลกซี่โครง และทั้งตัว ในท่านั่งสมาธิอยู่ แล้วตอนกวาดวัดผมเห็นความคิดเถียงกันในใจ แล้วก็เห็นความคิดต่างๆ แล้วความคิดก็ดับไปจึงสรุปว่าคนเราทุกข์กับความคิดซะส่วนมาก ทำให้ผมรู้สึกเย็นสบาย มีความสุขมาก อยากอยู่อย่างนี้ตลอดไป แล้วอารมณ์ภายนอกทำอะไรไม่ได้เลยครับ แต่ตอนนี้ผมเข้ามหาลัยอยู่ไกลครูบาอาจาร์แล้ว จึงเห็นว่า อาจารย์สนอง น่าจะให้คำปรึกษาได้...จึงอยากถามว่า
1.อาการที่เห็นความรู้สึก นึกคิด เป็นตัวผู้รู้ที่ครูบาอาจารย์สอนรึเปล่า
2.ผมนั่งแล้ว สว่าง รู้สึกสงบนะครับ แต่ร่างกายมันโยกโคลงไปข้างหน้ามาก อย่างกับคนหลับ มีวิธีแก้ไหมครับ
3.อาการเห็นโครงกระดูกคืออะไรครับ
4. แล้วผมเดินมาถูกทางหรือเปล่า มีอะไรแก้ไขไหม
5.ผมเห็นตัวเองโกรธตอนที่ถูกว่าขาดสติ นั่นคือความถือตัวที่คิดว่าเราคือนักปฏิบัติ ทำให้ผมก็รู้ว่ายังมีกิเลสอยู่ จะมีวิธีจัดการอย่างไรครับ
6.นอกจากการดูลมหายใจ แล้วดูกาย ดูใจ แล้วก็เห็นความเปลี่ยนแปลงตลอด แล้วผมต้องทำอะไรอีกไหมครับ
สุดท้ายนี้ขอให้อาจารย์เป็นที่พึ่ง แก่ผู้น้อยอย่างนี้ ตราบเข้าสู่ความสงบนะครับ
คำตอบ
(๑). จิตมีหน้าที่รู้ คิด นึก สิ่งที่บอกเล่าไป เป็นความเห็นถูกตรงตามจิต หรือคือตัวผู้รู้ตามที่ครูบาอาจารย์สอนนั่นเอง
(๒). อาการโยกโคลงของร่างกาย เกิดขึ้นด้วยเหตุที่จิตเคลื่อนออกไปจากองค์บริกรรม แก้ปัญหานี้ด้วยการกำหนดว่า โยกหนอๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จนอาการโยกโคลงดับไป แล้วจึงดึงจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิม
(๓). คือตัวปัญญา (ภาวนามยปัญญา)
(๔). ผู้ใดปฏิบัติธรรมโดยไม่มีครูบาอาจารย์ อยู่ใกล้ ให้ยึด หลักตัดสินธรรมวินัย ๘ มาเป็นครูสอนใจตัวเองว่า ธรรมเหล่าใด เมื่อนำไปประพฤติปฏิบัติแล้ว ต้องเป็นไปเพื่อ
๑. ความคลายกำหนัด
๒. ความไม่ประกอบทุกข์
๓. ความไม่พอกพูนกิเลส
๔. ความมักน้อย
๕. ความสันโดษ
๖. ความสงัด (ไม่คลุกคลีหมู่คณะ)
๗. การประกอบความเพียร
๘. ความเลี้ยงง่าย
ข้างต้นนี้เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นคำสั่งสอนของพระศาสดา ที่ตรัสแก่พระมหาปชาบดีโคตรมี ในพรรษาที่ ๕ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน กรุงเวสาลี แคว้นวัชชี
ผู้ถามปัญหาหากปฏิบัติได้ถูกตรง จงดำเนินต่อไป หากปฏิบัติแล้วผิดไปจากธรรม ผิดไปจากวินัย ผิดไปจากคำสอนของพระศาสดา ต้องแก้ไข
(๕). เหตุที่ทำให้โกรธมีได้สองทาง
๑. มีปัญญาเห็นผิด และมีอัตตาฝังอยู่ในจิต
๒. จิตขาดสติ จึงรับเอาสิ่งกระทบที่ขัดใจ เข้าปรุงเป็นอารมณ์โกรธ
วิธีแก้ ทำได้สองทาง
๑. ให้อภัยในทุกสิ่งกระทบที่เป็นเหตุขัดใจ ผู้ประพฤติได้แล้ว เมตตาย่อมเกิดขึ้น และเก็บสั่งสมในดวงจิตเป็นเมตตาบารมี ผู้มีเมตตาเป็นผู้มีอารมณ์สงบและเย็น
๒. เจริญวิปัสสนาจนเข้าถึงปัญญาเห็นแจ้ง แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งมาพิจารณาขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) ตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อขันธ์ ๕ อนัตตา ความมีอัตตาย่อมดับไปด้วย จิตที่หมดอัตตา เมื่อมีสิ่งกระทบจิต ย่อมไม่เกิดอารมณ์ใจ เข้ามามีอำนาจเหนือใจ แม้สิ่งขัดใจก็ไม่สามารถทำให้ความโกรธเกิดขึ้นได้
(๖). การเห็นความเปลี่ยนแปลงในกายและใจ เป็นการเห็นด้วยปัญญาเห็นแจ้ง ผู้ใดใช้ปัญญาเห็นแจ้งมาพิจารณากิเลสที่หมักหมมอยู่ในใจ (สังโยชน์) ทั้ง ๑๐ อย่างว่า ล้วนต่างเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ได้แล้ว จิตย่อมเข้าถึงความลดทุกข์ และพ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวงได้ นี้เป็นที่สุดของธรรมวินัยที่ระบุอยู่ในพุทธศาสนา
|
1479.
กราบเรียนท่านอาจารย์ ดร. สนอง วรอุไร
หนูได้มีโอกาสเข้าร่วมปฏิบัติวิปัสสนา แบบ 7 วันอยู่หลายครั้ง การปฏิบัติธรรมแต่ละครั้งทำให้หนูเห็นตัวเองชัดขึ้น เพราะมีสติไวขึ้น เลยเห็นว่าตัวเองนี้เลวกว่าที่คิดไว้เยอะ หนูรู้ตัวว่าหนูเป็นคนเลวเพราะความคิดของหนูนั้นส่วนใหญ่จะไปในทางอกุศลมากๆ มันทำให้หนูเป็นทุกข์มาก และก็บาปมาก หนูคิดหลหลู่พระรัตนตรัย พระอริยสงฆ์ และก็คิดทำร้ายต่อผู้มีพระคุณและตัวหนูเองด้วย หนูไม่ได้ตั้งใจที่คิดลบหลู่หรือคิดทำร้ายแต่ความคิดมันผ่านเข้ามา หนูพยายามกำหนดแล้วก็ขออโหสิกรรม แล้วก็เอาสติไปตามดูการเคลื่อนไหวของร่างกาย แต่ก็ไม่ค่อยดีขึ้นเท่าไหร เพราะว่าหนูรู้ว่ามันไม่ดี จิตไปเกาะกับอารมณ์ แล้วก็จมไปกับมัน หนูทุกข์มาก หนูบาปมาก กลัวมากค่ะ
1) ท่านอาจารย์ค่ะหนูไม่เข้าใจว่าทำไมหนูถึงคิดอกุศลถึงอย่างนี้
2) หนูได้ยินมาว่าแค่คิดก็ผิดแล้ว หนูไม่ได้ตั้งใจหนูบาปมากใช่ไหมค่ะ
3) หนูอยากขอคำแนะนำค่ะ ว่าควรจะทำอย่างไรดี
สุดท้ายนี้กราบขอขมาท่านอาจารย์ ดร. สนอง หากข้าพเจ้าได้ล่วงเกินท่าน โดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ดี ขอท่่านอาจารย์ได้โปรดอโหสิกรรมให้กับข้าพเจ้าด้วย
คำตอบ
ผู้ใดเห็นความไม่ดี (เลว) ของตัวเองได้ ผู้นั้นเป็นผู้ที่สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนดีได้ในวันหน้า .... สาธุ
(๑). การที่จิตยังระลึกถึงสิ่งอันเป็นอกุศลเหล่านั้น ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ให้เห็นว่า อกุศลธรรม (บาป) ยังถูกเก็บบันทึกอยู่ในใจของผู้ระลึกได้
(๒). คิดอกุศลโดยไม่ตั้งใจ ถือว่าเป็นบาป แต่บาปไม่มากเท่ากับตั้งใจคิดอกุศล
(๓). ผู้ใดมีความประสงค์จะพ้นจากบาปธรรม ที่ถูกเก็บไว้ในดวงจิตเป็นอกุศลสัญญา ผู้นั้นต้องนำดอกไม้ธูปเทียน ไปขอขมากรรมไม่ดีที่เคยประพฤติผิดพลาดมาก่อน ด้วยเอาจิตจดจ่อกับการสวดมนต์บทที่ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย เมื่อสวดมนต์แล้วเสร็จ ต้องกล่าวคำขอขมาที่มีจิตคิดอกุศลต่อพระรัตนตรัยให้ท่านยกโทษให้ เมื่อขมากรรมแล้วต้องรักษาสัจจะ ไม่ประพฤติล่วงเกิดให้เกิดเป็นบาปซ้ำขึ้นอีก จากนั้นนำตัวเข้าปฏิบัติธรรม โดยมีศีล มีความเพียร เป็นแรงสนับสนุน
|
1478.
เรียน ท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร กระผมใคร่ขอรบกวนสอบถามปัญหาดังต่อไปนี้
1. ผมได้ปฎิบัติเจริญสติมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ขณะที่ผมได้ปฎิบัติผมมักจะรู้สึกได้ถึงแสงสว่างทั่วอาณาบริเวณที่เจริญสติ บางครั้งแม้ขณะไม่ได้ปฎิบัติ แต่ก็รู้สึกได้ถึงสิ่งที่เรามองไม่เห็นภายในบ้านหรือแม้แต่นอกบ้าน ไม่ทราบว่าการที่รู้สึกได้นั้นดีหรือไม่
2. ปัจจุบันไม่ได้รู้สึกถึงสิ่งเหล่านั้นอีกแล้ว โดยปัจจุบันทำได้แค่สวดมนต์ ไม่ได้เจริญสติเหมือนที่ทำอยู่ และรู้สึกเหมือนขาดอะไรไป สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะผมไม่ได้ปฎิบัติสม่ำเสมอเหมือนเช่นที่แล้วมาใช่หรือไม่ครับ
3. ปัจจุบันนี้ผมเองก็ไม่ค่อยได้ปฎิบัติมากนัก แต่หากได้ปฎิบัติก็อยากทำไปเรื่อยๆ จนเรื่องได้ว่าเป็นความเพลิดเพลิน แต่เนื่องจากเวลาในแต่ในวันทำให้ปฎิบัติได้ไม่สม่ำเสมอบางวันน่้อยบ้างบางวันมากบ้าง ก็เลยพาลทำให้เกิดอารมณ์เบื่อหน่าย มันเข้ามาครอบงำจิตใจจนไม่อยากปฎิบัติ อาจารย์พอจะมีทางรับมือเรื่องความเบื่อกับความเพลิดเพลินบ้างไหมครับ
ขอบคุณครับ
คำตอบ
(๑). ถ้ามองในทางโลกเห็นว่าดี จะได้ไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกมาทำให้เกิดสัมผัส ตรงกันข้าม ถ้ามองในทางธรรมเห็นว่าไม่ดี เพราะไม่ทำให้พ้นทุกข์ ผู้ตอบปัญหาเคยมีประการณ์ตรงในสัมผัสดังกล่าว หลงเอาจิตเข้าไปผูกติดเป็นทาสของสัมผัสเหล่านั้นมายาวนานถึงเจ็ดชาติ
(๒). ผู้ใดยังมีจิตกังวลระลึกถึง สิ่งที่ไม่เป็นเหตุให้พ้นทุกข์ ผู้นั้นมีพลังสติลดน้อย จิตจึงเข้าไม่ถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิดังที่เคยเป็น แค่สวดมนต์เพียงอย่างเดียว สามารถทำให้มีกำลังสติเกิดขึ้นได้ แต่ไม่มากเท่ากับการเจริญสมถภาวนา
(๓). เรื่องที่ถามไป ถือว่าเป็นความปกติของจิตที่มีกิเลสครอบงำใจ ทางที่จะรับมือกับความเพลิดเพลินและความเบื่อหน่ายมีอยู่ ทางนั้นคือต้องเจริญพละ ๕ (ศรัทธา วิริยา สติ สมาธิ ปัญญา) อยู่ทุกขณะตื่น เมื่อใดจิตมีกำลังของพละ ๕ กล้าแข็งได้แล้ว กิเลสมารย่อมปลาสนาการไปโดยปริยาย
|
1477.
เรียน ท่านอาจารย์ ดร.สนอง ที่เคารพ
อยากเรียนถามท่านอาจารย์ เกี่ยวกับ หัวข้อข้างต้นดังนี้
1. ท่านอาจารย์เคยสอน ว่า การจะมีสมาธิ และปัญญา นั้นต้องมีศีล เป็นบาท ก่อน
ทีนี้ผมสงสัยเหมือนกันว่า ห่ากผมไม่มีศีล สมาธิผมก็จะไม่มี หรือ อาจไม่ตั้งมั่นขั้นสูง ได้ ทีนี้อยากถามว่า คำว่าสมาธินั้น พวกเรียนไสยศาสตร์ หรือ มนต์ดำ พวกนี้บางคนไม่มีศีล มีธรรม ใช้วิชาทำร้าย คนอื่นนั้น เขาก็ต้องมีสมาธิเหมือนกัน และ คงมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป ทำไมพวกเขาถึงมีสมาธิได้ ทั้งที่ศีลไม่ดี ไม่ครบ
หรือ คำว่า ศีล สมาธิ และปัญญา สมาธิในที่นี้ จะหมายถึง สมาธิ สายของ พระกรรมฐาน เท่นนั้น เป็นสมาธิ แบบ สัมมาสมาธิ
2. ตำรา หลายเล่ม สอนว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
เคยมีท่านผู้รู้ พราะสุปฎิปันโนท่านหนึ่ง สอนเน้นเรื่อง ปัญญา มากกว่า สมาธิ เน้นที่ปัญญา เพราะท่านบอกว่าปัญญาไม่ได้เกิดจากสมาธิ
เพราะปัญญามีแล้วในทุกคน เป็นธรรมชาตของคนคนนั้น แต่ปัญญาจะเพิ่มขึ้นก็ขึ้นกับการพัฒนาฝึกฝนอบรม
อบรมจาก การได้ฟังได้ยิน ได้คิด ได้ศึกษา ( สุตมยปัญญา , จินตามยปัญญา) และ ตัวสุดท้ายที่ว่าภาวยปัญญา
ตัวสุดท้ายนี่ เห็นว่าต้องมีการใช้การภาวนา จนเกิดสมาธิ
แต่การทำสมาธิแล้วจิตสงบ ยิ่งจิตสงบลึกมากถึงระดับณาน มันจะมีความคิดได้อย่างไร มีปัญญาได้อย่างไร ต้องถอนออกมาก่อน
แล้วจึงต้ังใจคิด หน้าที่ของสมาธิเป็นเพียงกำลังส่ง หนุน ให้เกิดปัญญา (ที่มากขึ้น)
แต่ต้องระวัง ถ้าหากเรามีความเห็นไม่ถูกต้อง มีความเห็นผิดอยู่ แล้วไปทำสมาธิ กำลังของสมาธิจะหนุนความเห็นผิดต่อไปได้เช่นกัน
ผมก็มาสรุปเอาเองกันว่า ไม่ได้ช่วยให้เกิดปัญญาที่แท้จริงได้เช่นกัน ช่วยให้ถลำลึกลงในความเห็นผิด ( ถ้าไม่ถูกต้องอย่างไร ขอท่านอาจารย์ช่วยแนะนำขยายความด้วย)
3. เคยได้รับฟังและจดจำจากคำบรรยายท่านอาจารย์ว่า คน 100 คน มาปฎิบัติ จะเข้าถึงธรรม มีสัก 2 คนก็โชคดีแล้ว ทีนี้อาจารย์พูดถึงความละเอียดของ ศีล เพื่อเข้าสู่ สมาธิและปัญญา การที่เราจะรักษาศีลให้เข้าถึงระดับ ไม่ด่าง ไม่ทะลุ เป็นศีลที่พระอริยะพอใจ ผมก็ว่ามันยาก เพราะเปอร์เซนต์มันต่ำจริง บางทีผมว่าผมรักษาศีลได้ครบแล้ว ฟังธรรมจากอาจารย์รู้เลยว่า เรายังทำได้ไม่ดี จะขอคำแนะนำ อุบายให้เข้าถึงศีลตัวนี้ให้ได้ครับ เอาแค่ศีล 5 ก็พอ เบื้องต้นผมว่า สติผมคงไม่ไวพอ ที่จะดึงการกระทำของเราที่ทำไป ในขณะที่ทำงานทางโลกอยู่ ซึ่งพลาดจากการทำศีลให้บริสุทธิ
4. อาจารย์เคยพูดว่า อยากพิสูจน์....เงื่อนไขมีนิดเดียว เข้าณาน ให้ได้ ก็จะพิสูจน์ ..ได้ แต่อยากทราบว่า ต้องถึง ณานระดับใดครับ ต้องณาน สี่ หรือเปล่าครับ และ การที่เราจะเข้าณานได้นั้น เราต้องสร้างเหตุอย่างไรบ้างครับ ผมเห็นคนบางคน นั่งสมาธิมาเป้นเวลานาน ยังไม่ได้เลยครับ แต่บางคนเช่นท่านอาจารย์ ช่วงเวลาสั้นๆ ก็ฝึกฝนทำได้แล้ว เหตุที่สร้างนั้นต้องใช้เวลานานขนาดไหนครับ บางคนก็บอกว่่า " ของเก่า " แต่ละคนไม่เท่ากัน
สมมติว่า ผมอยากพิสูจน์ จะมีโอกาสทำได้เพียงใด เพราะ " ของเก่า " อาจไม่มี ต้องทำข้ามภพ ข้ามชาติ สะสมไปก่อนหรือเปล่าครับ ชาดิเดียวชาตินี้จะมีโอกาสไหมครับ
ขอบพระคุณครับ
คำตอบ
(๑). พระพุทธะมีความเป็นสัพพัญญู คือรู้ความจริง (เหตุผล) ของทุกสิ่งทุกอย่าง พระพุทธะตรัสว่า ศีลเป็นฐานรองรับใจให้เกิดสมาธิ ใจที่เป็นสมาธิย่อมเข้าถึงปัญญาสูงสุด ซึ่งเป็นไปตามหลักของไตรสิกขา (ศีล-สมาธิ-ปัญญา) ดังนั้นผู้ใดมีศีลคุมใจมาก่อน ย่อมมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ จิตที่เป็นสมาธิเป็นจิตที่มีพลัง ผู้ใดใช้พลังสมาธิไปในทางผิด (มิจฉาสมาธิ) มีบาปเกิดขึ้นและสั่งสมอยู่ในดวงจิตของผู้ใช้ เมื่อบาปสั่งสมมากขึ้น กำลังของสมาธิย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา ดังนั้นผู้ที่นำพลังสมาธิไปใช้ในทางที่ผิด ย่อมมีผลเป็นความวิบัติของชีวิตได้เป็นเบื้องสุด ตรงกันข้าม ผู้ใดนำพลังสมาธิไปใช้ในทางที่ถูก (สัมมาสมาธิ) นำพลังสมาธิไปใช้พัฒนาจิตให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง ผู้นั้นย่อมมีความเจริญของชีวิตเป็นเบื้องสุด
(๒). คำว่า ผู้รู้ ในทางพุทธศาสนาหมายถึง ผู้มีความรู้เห็น เข้าใจ ถูกตรงตามความเป็นจริงแท้ พระพุทธโคดมสอนว่า ศีลเป็นพื้นฐานให้จิตเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิ สมาธิเป็นพื้นฐานให้จิตเข้าถึงปัญญาสูงสุด (ภาวนามยปัญญา) ดังนั้นปัญหาที่ถามไป จึงถือได้ว่าเป็นความเห็นถูกของเขา มิใช่เป็นความเห็นถูกตามแนวของพระพุทธโคดม
ผู้ใดพัฒนาจิต (สมถภาวนา) จนเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ (อัปปนาสมาธิ) หรือเรียกได้ว่า เป็นสมาธิระดับฌาน ผู้นั้นไม่สามารถพัฒนาจิต (วิปัสสนาภาวนา) ให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งได้ ตรงกันข้าม ผู้ใดถอยจิตให้มาตั้งมั่นอยู่ในระดับจวนแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ) แล้วใช้พลังสมาธิระดับนี้ไปพัฒนาจิตโดยพิจารณาผัสสะว่า ดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อผัสสะหมุนเข้าสู่ความเป็นอนัตตา ปัญญาเห็นแจ้งในผัสสะนั้นย่อมเกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ผู้ถามปัญหาได้วิเคราะห์และส่งผลไปให้ เป็นการวิเคราะห์ที่ถูกต้องแล้ว
(๔). จิตเป็นพลังงานที่ละเอียดอ่อน และมีความฉับไวในการทำหน้าที่ ซึ่งระบบประสาทไม่สามารถสัมผัสได้ทัน การทำงานของพลังงานจิตที่นำเข้าสู่สภาวะความเป็นฌานได้ การเข้าถึงสภาวะความทรงฌานในระดับต่างๆได้ ต้องสั่งสมพลังสมาธิมายาวนานข้ามภพชาติ ฉะนั้นผู้เห็นถูกไม่ละความเพียรที่จะพัฒนาจิตให้เป็นสมาธิ โดยมีสัจจะเป็นแรงสนับสนุน โอกาสที่จะทำให้จิตเข้าถึงสภาวะความทรงฌานในชาตินี้เป็นไปได้ เมื่อมีเหตุปัจจัยถึงพร้อม
|
1476.
คำถามครับ
1. ผมได้บวชและไปฝึกสติปัฎฐาน 4 ที่วัดจอมทองกับหลวงปู่ทอง ในเดือนที่ 1 ขณะเดินจงกรมอยู่ มีความรู้สึกว่าจิตได้รับความรู้ ขึ้นมาอย่างหนึ่ง จิตนั้นบอกผมว่า ดูก้าวแต่ละก้าวสิ มันไม่เคยซ้ำกันเลยนะ แม้มันจะใกล้เคียงกัน แต่ก้าวแต่ละก้าวมันก็ไม่สามารถอยู่ที่เดิมได้แป๊ะ เหมือนเดิม มันเดินแล้วมันก็ผ่านไป ไม่เคยหวนกับมาซ้ำกันได้อีกเลย ผมรู้สึกซึ้งในคำตอบนั้นมาก น้ำตาคลอเบ้า ไม่ทราบว่าเพราะอะไร อยากเรียนถาม ท่านอาจารย์ว่า อาการเช่นนี้เป็นอาการของญาณใช่หรือไม่ และอยู่ในญาณใดครับ และอาการนี้เรียกว่าเห็นรูปนามหรือยังครับ ถ้าคำถามนี้เป็นคำถามที่ไม่สมควร ผมขอขมาท่านอาจารย์ด้วยครับ
2. ในเดือนที่ 3 ขณะที่เดินจงกรมอยู่เช่นกัน ตอนประมาณตี 2 - 3 ผมเดินอยู่ดีดี สักพักการเดินก็คล่องตัวผิดปกติ มีอาการเดินเร็วมาก เหมือนหุ่นยนต์ เดิน หรือมีล้อที่เท้า แต่ไม่รู้สึกขัดและเหนื่อยเลย กับมีความสนุกและชอบขึ้นมาเสียด้วยซ้ำ เก็บข้อสงสัยมาจนวันนี้ยังไม่ทราบว่าตัวเองเป็นอะไร
ขอถามท่านอาจารย์เหมือนข้อ 1. ครับ และถ้าไม่สมควรถาม ผมก็ต้องขอขมาท่านอาจารย์เช่นเดิมครับ
3. น้องสาวผมก็ได้ไปปฏิบัติมา 7 วันครับ หลังจากนั้นน้องสาวผมได้ไปสิงคโปร์ 20 วัน ในวันท้ายๆได้นั่งสมาธิ ยังไม่ถึง 10 นาที น้องผมก็รู้สึกว่า มีจิตของตัวเองออกมานั่งอยู่ข้างๆตัวน้องครับ เขาบอกว่ารู้สึกจริงๆ ไม่เคยรู้สึกอย่างนี้มาก่อน ไม่น่าจะเป็นอุปทาน อาการนี้น้องสาวผมนั่ง 2 วันเป็นทั้ง 2 วันครับ และมีอีกอาการหนึ่งที่น้องสาวผมแปลกใจครับ คือกำลังคุยกับรุ่นพี่อยู่ดีดี ก็มีความรู้สึกว่าเขากำลังจะพูดคำที่น้องสาวผมคิดออกมา และก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ น้อง สาวผมแปลกใจมาก ว่ารู้ได้อย่างไรว่าเขาจะพูดคำนั้นออกมา ผมจึงขอเรียนถามท่านอาจารย์แทนน้องเช่นเดียวกับข้อแรกๆครับ
ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูงครับ
คำตอบ
(๑). น้ำตาคลอเบ้าที่เกิดจากการปฏิบัติธรรม หรือพิจารณาธรรม เรียกว่า ปีติ เป็นผลที่เกิดจากจิตพัฒนาระดับหนึ่ง ไม่ใช่เป็นอาการที่เกิดจากญาณ ยังไม่ใช่ปัญญาเห็นรูปนาม ผู้ใดปรารถนาความก้าวหน้าในการพัฒนาจิต จงอย่าเอาจิตไปจินตนาการกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่จงกำจัดอารมณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดไป เมื่อมีน้ำตาคลอเบ้า ต้องกำหนดว่า น้ำตาไหลหนอๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆจนอารมณ์หรืออาการดังกล่าวหมดไป แล้วดึงจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิม
(๒). เกิดเป็นความสนุกและชอบกับอาการเดินเร็ว เป็นเรื่องของกิเลสมาร ต้องกำจัดมารตัวนี้ให้หมดไป ด้วยการกำหนดว่า เดินเร็วหนอๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จนอาการเดินเร็วดับไป แล้วดึงจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิม
(๓). การที่เห็นตัวเองออกมานั่งอยู่ข้างตัวเนื้อตัวหนัง เป็นเรื่องของจิตเห็น หรือจิตพัฒนาเข้าสู่วิปัสสนาญาณที่เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ และหากผู้ใดปฏิบัติสมถภาวนาแล้ว ไปรู้ความคิดล่วงหน้าของคนอื่น นั่นเรื่องของ โลกิยอภิญญา ที่เรียกว่า เจโตปริยญาณ ซึ่งไม่เป็นเหตุนำพาชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ ผู้รู้จึงไม่เอาจิตเข้าไปผูกติดเป็นทาสของการรู้เช่นนี้
|
1475.
กราบเรียน ท่านอาจารย์ ดร.สนอง
ดิฉันมีโอกาสได้ฟัง การบรรยายธรรมะ ของท่านอาจารย์ ทางคลื่นวิทยุไทยธรรม รู้สึกชอบและเกิดศรัทธามากค่ะ ดิฉันเพิ่งเริ่มได้มีโอกาส เข้ามาศึกษาธรรมะ แต่โดยส่วนตัวเป็นคน มีเมตตา ชอบทำบุญ ทำทาน มาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว รักษาศีล 5 ค่ะ แต่อาจจะไม่บริสุทธิ์เท่าไร และรู้สึกอยากนั่งสมาธิปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน มาตลอด แต่ว่าเนื่องด้วยหน้าที่การงานและภาระครอบครัว และสามีไม่ชอบทำบุญไม่เชื่อเรื่อง บาป บุญ จึงหาโอกาสไม่ได้ แต่ในวันนี้ได้เกิดความทุกข์ครั้งใหญ่ในชีวิตของดิฉัน สามีที่คบกันมา 20 ปี นอกใจไปมีเมียน้อยและลูก และเค้าก็ขอรับผิดชอบดูแลทั้ง 2 ครอบครัว ซึ่งดิฉันเองก็ไม่มีทางเลือกเนื่องจากมีบุตรด้วยกัน 1 คนซึ่งเค้าอายุแค่ 6 ขวบ ดิฉันต้องทนอยู่ ด้วยความเจ็บช้ำใจ ซึ่งด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ดิฉันต้องหันหน้าเข้าหาพระธรรม ศึกษาพระธรรม อย่างจริงจัง ฟังเทป อ่านหนังสือ ศึกษาในเวบไซด์ ตื่นตี 4 ฝึกนั่งสมาธิทุกวันวันละ 1 ชม. ทำมาได้เกือบเดือน รู้สึกมีสมาธินิ่งมากขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตัวเองผ่านความทุกข์ยากมาได้ ทุกวันนี้ก็ดีขึ้นมาก แต่ก็ยังมีความโกรธอยู่บ้าง ก็แผ่เมตตาให้เค้าทุกวันค่ะ
ดิฉันมีคำถามจะกราบเรียนถามท่านอาจารย์ดังนี้ค่ะ
1. ดิฉันเคยทำแท้งบุตรคนแรก กับสามีคนนี้ เนื่องจากสามีพาไปทำแท้งโดยให้เหตุผลว่า ยังไม่พร้อม ดิฉันเสียใจมาก หลังจากนั้นก็ทำบุญใส่บาตรไปให้เค้า และทุกวันนี้ดิฉันก็ทำบุญและแผ่เมตตาไปให้เค้าทุกวัน ดิฉันอยากเรียนถามว่า ดิฉันจะได้รับกรรมอะไรจากเหตุนี้และต้องแก้ไขอย่างไร
2. ดิฉันไม่มีความลำบากกาย ความเป็นอยู่สบาย แต่ทุกข์ใจ ตั้งแต่เริ่มคบกับสามีคนนี้ ตั้งแต่แรกที่ดิฉันพบเค้าดิฉันรู้สึกได้เลยว่าผู้ชายคนนี้เป็นคนที่เราต้องแต่งงานด้วยแต่จะต้องทุกข์ใจตลอดไป และดิฉันก็รู้สึกได้ว่าดิฉันจะต้องมีวันนี้วันที่เค้าไปมีลูกมีเมียใหม่ เหมือนกับดิฉันอยู่กับเค้ามาเพื่อรอความทุกข์อันนี้ ดิฉันไม่เคยมีความสุขเลย เค้าเอารัดเอาเปรียบดิฉันทุกอย่าง เนื่องจากดิฉันมีความสามารถในการหาเงินดิฉันประกอบอาชีพสุจริตนะคะ เงินเดือนดิฉันได้มากกว่าเค้า เค้าทำให้ดิฉันทุกข์ใจตลอดมา ดิฉันอยากทราบว่าเป็นกรรมอะไรของดิฉันคะและต้องแก้ไขอย่างไร
3. ดิฉันมีความรู้สึกว่าบางครั้งเหมือนตัวเองมีลางสังหรณ์ หรือคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง ไม่ทราบเป็นไปได้ไหมคะ
4. ดิฉันได้ตั้ง สัจจะกับตัวเองเอาไว้ว่า ดิฉันจะต้องมีดวงตาเห็นธรรมให้ได้
อยากหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง ไม่อยากเกิดอีกแล้ว รู้สึกว่า
ชีวิตนี้มีแต่ความเปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา ดิฉันมีบารมีพอที่จะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ได้สำเร็จหรือเปล่าคะ
5. สามีดิฉัน และผู้หญิงที่มาแย่งสามีดิฉันเค้าจะได้รับกรรมจากสิ่งที่เค้ากระทำหรือไม่อย่างไร ดิฉันเคยฟังธรรม ของท่านอาจารย์บรรยายว่าถ้าพ่อแม่ไม่มีศีลมีธรรมเด็กที่มา ปฏิสนธิ จะเป็นสัตว์นรกมาเกิด ไม่ทราบถูกต้องไหมคะ
กราบขออภัยที่ต้องเขียนยาวมาก ขอขอบพระคุณในความเมตตาของท่านอาจารย์มากค่ะ
เพชร
คำตอบ
จิตของผู้มีเมตตาไม่มีอารมณ์โกรธ หงุดหงิด รำคาญ ฯลฯ ตรงกันข้าม มีอารมณ์สงบเย็น
ผู้เกิดเป็นมนุษย์มีงานทำอยู่สองอย่าง คืองานภายนอกที่ทำให้กับสังคม ทำให้กับครอบครัว เมื่อตายไปต้องมีบุญเป็นพลังผลักดันจิตวิญญาณให้ไปสู่ภพที่ดี จึงต้องทำงานภายใน คือพัฒนาจิตตนเองให้มีบุญสั่งสม ดังนั้นเมื่อทำงานภายนอกในรอบวันได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ต้องไม่ลืมทำงานภายในให้กับตัวเอง ด้วยการประพฤติบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ การฝึกจิตเป็นบุญกิริยาวัตถุที่มีพลังมาก เพราะให้ผลเป็นบุญใหญ่ จงฝึกสมาธิทุกวันเพื่อสั่งสมบุญให้มีพลังมากขึ้น
(๑). ผลของกรรมที่ผู้ถามปัญหาได้รับคือ ความวิบัติจากการมีครอบครัวที่ไม่สงบสุข วิธีแก้ต้องสั่งสมบุญใหญ่ ด้วยการนำตัวเข้าปฏิบัติธรรม แล้วอุทิศบุญให้กับจิตวิญญาณที่ผู้ถามปัญหาได้ทำให้เขา ต้องพลัดพรากจากร่างที่เข้าอยู่อาศัย (ทำแท้ง) ปฏิบัติบุญใหญ่อยู่เสมอ แล้วอุทิศบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวร จนกระทั่งความวิบัติในการพลัดพรากของผู้ถามปัญหากับสามีจบสิ้นลง
(๒). วิบากของกรรมเป็นได้ทั้งวิบากดีและวิบากไม่ดี วิบากเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว ผู้นั้นต้องรับตามกฎแห่งกรรม เรื่องการถูกเอารัดเอาเปรียบ ผู้มีความเห็นถูกเห็นว่า เป็นเรื่องที่ดี เพราะเรามีสิ่งดีๆให้คนอื่นเอาเปรียบ ตรงกันข้าม หากเราไปเอาเปรียบคนอื่น แสดงว่าตัวเองมีความด้อย มีความขาดแคลน มีความพร่อง ความไม่พอ ผู้ตอบปัญหาเห็นว่า ผู้ถามปัญหามีสิ่งดีๆอยู่ในตัว จงทำความดี จงทำสิ่งดีให้มีมากขึ้น เพื่อทำตัวเป็นผู้ให้ แล้วคุณค่าของชีวิตย่อมเกิดขึ้น ฉะนั้นจงเป็นผู้มีความเห็นถูก แล้วทำตัวเป็นผุ้ให้ต่อไปเรื่อยๆ นี่คือสิ่งที่ผู้ถามปัญหาต้องปรับปรุงแก้ไข
(๓). ลางสังหรณ์ หมายถึง สิ่งที่ทำให้สังหรณ์ใจบอกเหตุล่วงหน้า ลางสังหรณ์สามารถเกิดขึ้นกับบางคนที่มีความดีสั่งสมอยู่ในจิต ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของคนดี
(๔). คำว่า ดวงตาเห็นธรรม หมายถึง ความรู้เห็น เข้าใจ ตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงมีความดับไปเป็นธรรมดา
ผู้ใดมีศีล ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย คุมใจอยู่ทุกขณะตื่นและมีสัจจะร่วมอยู่ด้วย หากนำตัวของเข้าพัฒนาจิต (วิปัสสนาภาวนา) ได้ถูกตรงตามธรรม โอกาสเกิดดวงตาเห็นธรรม มีขึ้นได้
(๕). ผู้มีความเห็นถูกไม่เอาจิตไปผูกติดเป็นทาสในเรื่องของผู้อื่น ตรงกันข้าม เอาจิตมาส่องดูใจตัวเอง แล้วเพียรไม่ให้มีสิ่งเศร้าหมองใหม่เกิดขึ้น เพียรกำจัดสิ่งเศร้าหมองเดิมที่มีอยู่แล้วให้หมดไป เพียรทำความดีใหม่ให้เกิดขึ้น และสุดท้ายเพียรรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่กับใจ ผู้ใดประพฤติได้เช่นนี้ ผู้นั้นมีชีวิตเจริญทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ส่วนที่ถามไปในตอนท้ายนั้นทำได้ถูกต้องแล้ว
|
1474.
เรียน ท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร
ผมเคยศึกษาธรรมจากการอ่านหนังสืออานาปนสติของท่านพุทธทาสเมื่อประมาณห้าปีมาแล้ว และก็ได้ทดลองปฏิบัติตามวิธีการตามหนังสือของท่านพุทธทาสบ้างแต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง ต่อมาเมื่อปลายปี 2552 ประสบปัญหาจากการทำงานอย่างหนัก ผมได้มองเห็นความทุกข์ยากจากการทำงานราชการท้องถิ่น แม้ว่าผมจะยึดมั่นในการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแต่ก็ยังต้องพบกับการกลั่นแกล้ง บีบคั้นทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ผมทำงานโดยไม่สุจริตเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของบางคน ผมได้ต่อสู้เพื่อความถูกต้องตามวิถีทางตามกฏหมายบ้านเมือง ยิ่งต่อสู้มากก็ถูกบีบคั้นกลั่นแกล้งมากขึ้น การทำงานจึงมีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มองเห็นความทุกข์ยากในการดำเนินชีวิตแบบคนธรรมดา จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2553 ผมได้พบเว็บไซต์กัลยานธรรมและได้ฟังธรรมบรรยายของท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ทำให้ผมอยากใช้ธรรมในการแก้ปัญหา และได้ค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติกรรมฐาน ทางอินเทอร์เน็ต จนมีความรู้ความเข้าใจพอสมควร และได้เริ่มเดินจงกรมและนั่งกรรมฐานด้วยตนเองที่บ้านประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2553
การปฏิบัติระยะแรกจะเดินจงกรมประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้วไปนั่งกรรมฐาน เมื่อเดินจงกรมได้ประมาณสิบวันขณะเดินจงกรมเกิดแสงวาบ ๆ คล้ายฟ้าแลบเริ่มจากวาบช้า ๆ และถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ต้องหยุดเดินและเกิดอาการมึนตื้อและอยากอาเจียน ลองค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ตแล้ว พบว่าอาจเกิดจากการตั้งใจบังคับใจให้รู้ที่เท้ามากเกินไป จึงค้นหาวิธีการเพิ่มเติม จากครูบาอาจารย์หลายท่านแล้ว นำมาทดลองปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติของตนเองเรื่อยมา ระยะหลังจะไม่ได้เดินจงกรมแต่นั่งกรรมฐานอย่างเดียว รู้สึกว่าร่างกายเป็นปกติไม่มึนตื้อ จนเมื่อปลายเดือนมิถุนายน 2553 หลังจากนั่งกรรมฐานนานประมาณชั่วโมงครึ่งรู้สึกว่าตัวจะค่อย ๆ สั่นแล้วโยกมากขึ้นแล้วหยุด จากนั้นก็เริ่มสั่นแล้วโยกอีกเป็นช่วง ๆ ไป ระยะเวลาของแต่ละช่วงจะไม่แน่นอน บางครั้งก็เร็ว บางครั้งก็ช้า อาการนั้นเกิดขณะอ่านหนังสือหรือขณะฟังการบรรยายในการประชุมสัมมนาด้วย ผมลองค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ตแล้วได้ความว่าสิ่งที่เกิดกับผมนั้นอาจเป็นอาการของปีติ เพื่อความแน่ใจ จึงอยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่าว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับผมนั้นเป็นอาการของปีติใช่หรือไม่ ถ้าใช่มีแนวทางที่จะปฏิบัติให้ก้าวหน้ามากขึ้นได้อย่างไร และหากไม่ใช่จะต้องแก้ไขอย่างไร ขอขอบพระคุณอย่างสูง
ประจวบ นิ่มนุช
คำตอบ
ที่บอกเล่าไปเป็นอาการของปีติ ซึ่งเป็นกิเลสมารชนิดหนึ่ง ผู้ใดไม่สามารถกำจัดมารตัวนี้ได้ ความก้าวหน้าในการพัฒนาจิตให้มีสติจะไม่เกิดมากไปกว่านี้ ตรงกันข้ามผู้ใดประสงค์พัฒนาจิตให้มีกำลังของสติเพิ่มมากขึ้น ต้องกำจัดมารให้หมดไป ด้วยการกำหนดว่า สั่นหนอๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จนอาการสั่นของร่างกายหมดไป หรือหากเกิดอาการตัวโยก ต้องกำหนดว่า โยกหนอๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆ จนอาการตัวโยกดับไป แล้วดึงจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิมที่ทำอยู่
|
1473.
กราบเรียนถามท่าน อ.ดร.สนอง
หนูรับราชการในส่วนที่เกียวข้องกับงานก่อสร้าง(เป็นสถาปนิก)มีความลำบากใจในหน้าที่การงานมาก หลายครั้งที่โดนหัวหน้าบังคับให้เซ็นต์แบบก่อสร้างที่จะนำไปก่อสร้างโดยที่ราคาเกินสมควร แต่หนูแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่สนับสนุนวิธีการที่ไม่โปร่งใส ภายหลังจึงถูกนำชื่อ และลายเซ็นต์ไปปลอมเพื่ออนุมัติงานออกไปหลายครั้งโดยที่หนูมารู้ทีหลัง ก็ยังรู้สึกผิดอยู่ดี เพราะเป็นชื่อเรา ที่ใช้เงินภาษีของประชาชนไปสร้างความร่ำรวยให้กับคนบางกลุ่ม หนูจึงพยายามทำงานตามหน้าที่ให้ละเอียด และรัดกุมมากที่สุดเพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ที่จะให้ใครหาผลประโยชน์ได้ แต่ก็โดนเจ้านายบังคับให้ลดรายละเอียดลงอีก และหลายครั้งที่ให้ใช้วัสดุบางอย่างที่ราคาแพงเกินไป ไม่สมเหตุสมผล(สำหรับงานราชการ) หนูจึงมักจะขัดคำสั่งเจ้านายอยู่เสมอ โดยจะทำงานให้เสร็จแบบเวลาจวนเจียนเพื่อไม่ให้เจ้านายมีสามารถแก้ไขได้อีก
หนูอยากรู้ว่า
1. การที่หนูขัดคำสั่งเจ้านาย ถือเป็นการสร้างบาปต่อกันหรือเปล่า
2. มีคนเคยบอกว่า ทำงานราชการก็อย่างนี้แหละ ให้ทำใจ ปลงๆซะ หนูจึงไม่แน่ใจว่า การที่หนูไม่ยอมให้เงินภาษี ของประชาชนถูกใช้ไปในทางที่ผิด(ทำให้ใครบางคนได้ประโยชน์มหาศาล) คือการไม่ปลงหรือเปล่า ? หนูควรทำอย่างไรหากอยู่ในหมู่คนพวกนี้ หนูคิดว่าหากเรารู้ว่าสิ่งที่เขากำลังทำคือการโกงกินประเทศชาติ ถ้าเรานิ่งดูดายเท่ากับเรา " ปล่อยให้คนชั่วลอยนวล" ใช่หรือเปล่าคะ ก็เท่ากับว่าเราต้องเหนื่อยกับการสู้รบปรบมือกับคนพวกนี้ตลอดเวลา เป็นการทำให้ใจเราเองไม่สงบหรือเปล่าคะ
ด้วยความเคารพอย่างสูง
กชรัศมิ์
คำตอบ
คนอื่นประพฤติทุจริต เป็นเรื่องของคนอื่น คนอื่นเอาชื่อของเราไปเซ็นปลอม และเรามิได้เห็นดีด้วย ไม่ถือว่าเป็นความผิดของเราผู้ถามปัญหา
เหตุที่ยังรู้สึกว่าตัวเองผิด เป็นเพราะว่า ผู้ถามปัญหายังเห็นผิด ยึดเอาชื่อที่ถูกเซ็นปลอมมาเป็นของตน ความไม่สบายใจ (บาป) จึงได้เกิดขึ้น
ผู้มีหน้าที่ออกแบบก่อสร้าง และประพฤติถูกตรงตามหลักวิชาที่ได้เล่าเรียนมา หากผู้บังคับบัญชาบังคับให้ทำผิดไปจากหลักวิชา ผู้รู้ย่อมไม่ปฏิบัติตาม และไม่ถือว่าเป็นความผิดที่ประพฤติขัดคำสั่งที่ทุจริตนั้น
(๑). การขัดคำสั่งที่ทุจริต ไม่ถือว่าเป็นบาป แต่ถือว่าเป็นการสร้างเวรให้เกิดขึ้นกับผู้บังคับบัญชา ผู้มีเจตนาทุจริต
(๒). คนที่เคยกล่าวว่า ทำใจปลงๆซะ เป็นคนที่มีจิตคล้อยตามกระแสการทุจริต คนที่บอกเช่นนั้น มีโอกาสให้บาปเข้าครองงำจิตได้ง่าย
ผู้เห็นถูกเห็นว่า ชีวิตมิได้มีอยู่เพียงชาตินี้ชาติเดียวเท่านั้น ผู้เห็นถูกย่อมไม่คล้อยตามคำแนะนำที่ผิด และผู้ใดไม่มีหน้าที่ป้องกันกำจัดผู้ประพฤติทุจริต ย่อมเอาผู้ประพฤติทุจริตเป็นครูสอนใจตัวเองว่า เมื่อใดที่โอกาสเปิดให้เรามีอำนาจหน้าที่เช่นเขา เราจะไม่ประพฤติอย่างเขา ตรงกันข้าม หากผู้ถามปัญหามีหน้าที่ป้องกันกำจัดคอรัปชั่น แล้วไม่ทำหน้าที่ให้ถูกตรง อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ปล่อยให้คนชั่วลอยนวล และเหตุที่ผู้ถามปัญหามีจิตไม่สงบ เป็นเพราะผู้ถามปัญหา ไม่รู้จริงในสิ่งที่ตนสัมผัส
|
1472.
กราบสวัสดีท่านอาจารย์ที่เคารพยิ่ง
ครั้งนี้ดิฉันไม่มีคำถามค่ะ แต่จะขอเรียนท่านอาจารย์ว่า ทุกวันนี้ดิฉันยังระลึกถึงคุณของหนังสือ " ยิ่งกว่าสุขเมื่อจิตเป็นอิสระ " และผู้เขียนคือท่านอาจารย์อยู่เสมอที่พออ่านหนังสือเล่มนี้จบ ก็ทำให้ดิฉันตัดสินใจก้าวออกมาจากเหตุแห่งทุกข์ด้วยตัวเอง ก่อนที่จะถูกกิเลสลากลงเหวไม่ทันรู้ตัวทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่คิดว่าจะก้าวออกมาได้ ทั้งที่เพื่อนสนิทพูดไม่รู้เท่าไหร่ทั้งที่เข้าวัดปฏิบัติธรรม (แต่ใจก็ไม่สงบ) และอ่านหนังสือธรรมะมาหลายเล่มไม่ใช่เล่มอื่นไม่ดีนะคะ เพียงแต่เล่มนี้คงจะถูกจริตกับดิฉันค่ะ
ตอนนี้ดิฉันอยากแจกหนังสือนี้เป็นธรรมทาน คิดจะไปตั้งเป็นกระทู้แจกในกระดานธรรมทาน แต่ด้วยทุนที่มีจำกัดตอนนี้ดิฉันจึงแจกทีละเล็กน้อย โดยการที่ดูว่าท่านใดที่กำลังมีทุกข์หนักๆ ( สังเกตจากการตั้งหรือตอบกระทู้) ดิฉันจะส่งข้อความไปขอที่อยู่เค้า และส่งหนังสือเล่มนี้ไปให้ ตอนนี้ให้ไป 5 ท่านแล้วค่ะ และกำลังจะส่งให้อีก 2 ท่านในสัปดาห์หน้าล้วนแต่กำลังเผชิญกับทุกข์ใจทั้งสิ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับความรัก (ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกับที่ดิฉันเคยเจอมา)ซึ่งคนที่ได้อ่านบอกว่าเป็นหนังสือที่ดีมาก
ดิฉันไม่ลืมบอกเค้าว่าให้ฝึกเจริญสติไปด้วย เพราะลำพังการอ่านหนังสืออย่างเดียวไม่ใช่การถอนรากถอนโคนความทุกข์
จึงขอเรียนให้ท่านอาจารย์ทราบ และขออนุโมทนากับท่านอาจารย์ด้วยนะคะ
ด้วยความเคารพและระลึกถึงพระคุณยิ่ง
จันทร์นภัส
คำตอบ
การแจกหนังสือธรรมะให้ผู้อื่นได้อ่าน และเมื่อให้แล้วไม่เบียดเบียนตัวเอง การให้เช่นนี้เป็นบุญสูงสุด สิ่งที่บอกเล่าไปนั้นประพฤติได้ถูกตรงแล้ว .... สาธุ
|
1471.
กราบเรียนถามท่านอ.ดร.สนองที่เคารพอย่างสูง
ตอนนี้หนูมีปัญหาชีวิตหนักอกเรื่องงาน คือหนูทำงานอยู่บริษัทครอบครัวมีพ่อแม่ลูกเป็นเจ้าของ ขณะนี้ทางพ่อกับแม่ไม่พอใจหนูที่ทำงานผิดพลาดอยากให้ออก แต่ลูกชะลอไว้และบอกว่าจะให้โอกาสแก้ตัวอีกครั้ง หนูควรอยู่ทำงานต่อไปก่อน แต่ไม่รู้ว่าเขาจะไล่ออกเมื่อไหร่หรือจะลาออกก่อนดีคะ เพื่อไม่ให้เสียประวัติ
อนึ่งงานมีความจำเป็นต่อหนูเพราะต้องใช้เงินเลี้ยงชีพค่ะ และหนูเป็นคนหางานยากมากค่ะ คงต้องใช้เวลาหาหลายปี (อย่างที่ผ่านมา)เลยค่ะ
กราบขอบพระคุณท่านอ.ในความเมตตา หนูขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านอ.และขออุทิศบุญกุศลทั้งหมดของหนูให้ท่านอ.มีสุขภาพแข็งแรงด้วยค่ะ
คำตอบ
ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนที่ทำให้เราได้แก้ปัญหาด้วยปัญญา ผู้เห็นผิดประพฤติตนเป็นผู้หนีปัญหา ผู้เห็นถูกจะอยู่กับปัญหาและใช้ปัญญาแก้ปัญหาจนหมดไป พระพุทธะสอนให้แก้ปัญหาที่ตัวเอง มิได้สอนให้ไปแก้ปัญหาที่ผู้อื่น ดังนั้นในเรื่องนี้ ผู้ถามปัญหาต้องพัฒนาตนเอง ให้มีปัญญาทางโลกที่ทันสมัยอยู่เสมอ และยังต้องพัฒนาคุณธรรมให้ยิ่งใหญ่ ทั้งนี้เพราะความสำเร็จในชีวิต ต้องใช้ปัญญาทางโลกร้อยละ ๒๐ และต้องใช้คุณธรรมถึงร้อยละ ๘๐ เป็นส่วนประกอบที่ทำให้แก้ปัญหาได้สำเร็จ
เมื่อใดแก้ปัญหาจนจบสิ้นได้แล้ว จะลาออกจากงานหรือไม่ ผู้เห็นถูกนิยมประพฤติตามนี้
ใครผู้ใด พัฒนาตนเองให้มีศักยภาพ คือมีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรม ดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว และได้พัฒนาตัวเองให้เป็นผู้มีดวงดี ด้วยการประพฤติ ทาน ศีล ภาวนา จนคุณธรรมทั้งสามให้ผลได้แล้ว งานย่อมไหลเข้ามาให้ทำ โดยไม่ต้องออกไปหางานทำให้เหนื่อยยาก
|
1470.
กราบเรียนถามอาจารย์
หนูเริ่มฝึก ภาวนาเองที่บ้านที่อเมริกาเคยเล่าให้อาจารย์ฟังว่าฝึกอยู่บ้านคนเดียวเลยกลัว ตอนนี้หนูหายกลัวแล้วเพราะฝึกสติรู้และคิดว่าไม่มีใครตายจากการนั่งสมาธิซักคน ขอคําปรึกษาค่ะ
1. หนูเห็นนิมิตแว๋บนึงว่ามีเด็กไทย 2 คนกับเปรตที่ไม่รู้จักมายืนมองหนู หนูก็กําหนดเห็นก็สักแต่ว่าเห็นแล้วนิมืตนั้นก็หายไป - พอออกจากสมาธิก็แผ่เมตตาให้ จากนั้นนั่งสมาธิครั้งต่อๆมาก็ไม่เห็นอะไรอีก เราไม่รู้จักเขาแล้วมาโผล่ในนิมิตเราได้อย่างไร หนูคิดไปเองหรือเปล่าคะ
2. หนูเริ่มพัฒนาดีขึ้นค่ะ นั่งแล้วจิตแยกออกจากกาย กายหายไปไม่รู้สึกว่าตัวเองมีกาย เหลือแต่จิตเท่านั้น อานิสงส์ นั้นทําให้หนูมีสติและระลึกอยู่เสมอว่าเราแท้จริงคือจิตที่มาอาศัยกายนี้ วันหนึ่งก็ต้องไปจากร่างนี้้ / พอวันนี้นั่งแล้วนิ่งมาก คําบริกรรมหายและเหมือนจิตไปสู่อีกมิติหนึ่งที่กว้างใหญ่ อุปมาเหมือนจิตเห็น 360 องศารอบตนเอง แต่ยังได้ยินเสียงจากภายนอกบ้างแต่เบามาก ลมหายใจเบาบางจนเหมือนบางจังหวะลืมว่าเราหายใจ มันคืออะไรคะ
กราบขอบคุณอาจารย์ที่เสียสละเวลาตอบคําถามเพื่อมวลชนค่ะ สาธุ
คำตอบ
(๑). การเห็นนิมิต (เด็ก, เปรต) แล้วกำหนดเห็นสักแต่ว่าเห็น (กฎไตรลักษณ์) เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว ทุกชนิดของนิมิตต้องกำหนดแบบนี้ แล้วปัญญาเห็นแจ้งในนิมิตก็จะเกิดขึ้น การอุทิศบุญให้กับสิ่งที่เห็นในนิมิตทำได้ถูกทางแล้ว เพราะอมนุษย์ต้องการบุญ เขาจึงมาปรากฏให้เห็น เนื่องจากกาลเวลาหมุนผ่านไปยาวนาน สัญญาที่ถูกเก็บบันทึกไว้ในจิตของผู้ถามปัญหา ระลึกไม่ได้ว่า อมนุษย์ที่มาปรากฏในนิมิต เป็นรูปนามที่เราเคยมีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อน
(๒). ผู้ถามปัญหารู้เห็นเข้าใจว่า ร่างกายเป็นที่อยู่อาศัยของจิตนั้นถูกต้องแล้ว เมื่อใดที่จิตออกจากร่างกายและไปสัมผัสกับสิ่งต่างๆ ให้ตามดูว่าเป็นเรื่องของจิตที่หลุดออกไป ไม่ต้องไปจินตนาการใดๆให้เกิดขึ้น การได้ยินเสียงแผ่วเบา การรู้สึกว่าลมหายใจแผ่วเบา เป็นการระลึกรู้ที่ละเอียดอ่อนของสติ คือ จิตมีกำลังสติดีขึ้น และหากเมื่อใดจิตมีกำลังสติกล้าแข็ง และเห็นว่า เสียงที่ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน ลมหายใจที่แผ่วเบา ก็สักแต่ว่าเป็นลมหายใจแผ่วเบา จิตไม่ยึดเอาทั้งสองอย่างมาปรุงเป็นอารมณ์ ปัญญาเห็นแจ้งในเสียงจะเกิดขึ้น ปัญญาเห็นแจ้งในลมหายใจจะเกิดขึ้น นี่คือปฏิปทาที่ถูกต้องของนักปฏิบัติธรรม ที่ต้องรักษาไว้ให้เป็นเช่นนี้
|
1469.
เรียน ดร.สนอง
หนูมีความสงสัยในเรื่องกรรมอย่างนี้ค่ะ คนที่ไม่สามารถให้กำเนิดลูกได้เพราะอุบัติเหตุหรือเป็นหมัน แต่ไม่ทุกข์ร้อนด้วยเรื่องไม่มีลูก เป็นเพราะกรรมดำในอดีตชาติที่ทำให้ไม่หรือเป็นเพราะอธิษฐานมา หาคำตอบจากหนังสือหรือฟังจากพระผู้รู้ก็ดูจะขัดแย้งกันเองว่าเป็นความโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่
กราบขอบพระคุณค่ะ
คำตอบ
เหตุที่ทำให้ไม่มีลูกเป็นได้สองเหตุคือ อดีตเคยประพฤติกรรมดำ เช่น ผิดศีลข้อ ๓ ทำหมันสัตว์ ทำแท้งให้กับคน ฯลฯ เมื่ออกุศลกรรมให้ผล การไม่มีลูกจึงเกิดขึ้นได้ หรือในแนวทางที่สอง เป็นด้วยเหตุมีจิตตั้งปรารถนา (อธิษฐาน) ไม่มีลูก เมื่อเหตุปัจจัยลงตัว การไม่มีลูกย่อมเกิดขึ้นได้
ส่วนคำว่า โชค หมายถึง สิ่งที่นำผลมาให้โดยคาดเดาได้ยาก ในทางพุทธศาสนา การไม่มีลูกถือว่าโชคดีที่ไม่มีห่วงผูกคอ ในทางโลก การไม่มีลูกถือว่าโชคร้ายที่ไม่มีผู้สืบสกุล ฉะนั้นผู้ถามปัญหา ประสงค์นำพาชีวิตให้ติดอยู่กับโลก หรือนำพาชีวิตให้พ้นไปจากโลก เลือกได้ตามใจปรารถนา
|
1468.
เรียนถามท่านอาจารย์ ที่เคารพครับ
1. สักกายทิฎจิ 2. วิจิกิจฉา 3. สีลัพพตปรามาส 4. กามราคะ 5. ปฎิฆะ 6. รูปราคะ 7. อรูปราคะ 8. มานะ 9. อุทธัจจะ 10. อวิชชา สังโยฃน์อันเป็นเครื่องร้อยรัดสัตว์โลกนี้ การที่เราจะลดละ มันจะต้องเป็นไปตามลำดับหรือไม่ครับ ต้องกำจัดทีละตัว หรือมันจะลดหรือละไปพร้อมๆ กันครับ
อาจารย์ครับ ข้อ 3. สีลัพพตปรามาส แปลว่าอะไร และมีความหมายอย่างไรคับ ดูในหนังสือเห็นว่า ความถือมั่นศีลพรต ผมไม่เข้าใจครับ หลักการกำจัดของสิ่งเหล่านี้ ที่สำคัญคือการทำวิปัสสนาญาน ใช่หรือไม่ครับ
ขอบพระคุณครับ
คำตอบ
การละสังโยชน์ทั้งสิบตัว ต้องละไปตามลำดับ ด้วยการใช้ปัญญาเห็นแจ้งเป็นตัวกำจัด ด้วยเหตุที่จิตมีการเกิดดับเร็ว บางคนมีจิตตามระลึกไม่ทัน จึงเข้าใจเอาเองว่า สังโยชน์หมดไปพร้อมๆกัน
คำว่า สีลัพพตปรามาส เป็นความเห็นผิดที่เป็นเหตุให้ยึดถือว่า บุคคลจะบริสุทธิ์ (จิตหมดกิเลสทั้งปวง) หลุดพ้นไปจากวัฏฏะได้ ต้องมีศีลและประพฤติให้ถูกตรงตามศีล อย่างนี้ถือว่า เป็นศีลและวัตรที่งมงาย หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า สีลัพพตปรามาส
แท้จริงแล้ว กิเลสที่หมักดองอยู่ในใจ (สังโยชน์ ๑๐) จะถูกกำจัดให้หมดไปได้ ต้องใช้ปัญญาเห็นแจ้ง หรือวิปัสสนาญาณเป็นตัวกำจัด
|
1467.
กระผมใคร่ขอคำอธิบาย ขยายความจากอาจารย์ อยู่ 2 คำ
1. คำว่าดวงตาเห็นธรรม
2. และ เข้าถึงธรรม
ได้ยิน ฟังมา แต่ไม่แน่ว่าตนเองจะเข้าใจถูกต้องหรือไม่ อาจารย์ดูเหมือนอธิบายเหมือนกันเวลาบรรยาย จะมีประโยคดังกล่าวอยู่
อยากทราบว่า หากคนปฎิบัติ ฝึกสมถะ หรือ วิปัสสนา แล้ว ต้องมีศีลคุมใจ จึงจะเข้าถึงธรรม หรือ มีดวงตาเห็นธรรม อะไรทำนองนี้กระผมสงสัยว่า คำว่าเข้าถึงธรรม กับ มีดวงตาเห็นธรรม จะมีความหมายต่างกันไหม และ คำว่าเข้าถึงธรรม จะต้องหมายความว่า ต้องเข้าถึง ระดับ โสดาบันขึ้นไปหรือเปล่าครับ บุคคลธรรมดาทั่วไป จะมีโอกาสเข้าถึงหรือไม่ครับ
" คำว่ามีดวงตาเห็นธรรม " จะแตกต่างกับการเข้าถึงธรรม อย่างไรครับ ต้องอยู่ระดับใดครับ
ขอบพระคุณครับ
คำตอบ
(๑). คำว่า ดวงตาเห็นธรรม หมายถึง จิตเกิดปัญญารู้เห็นเข้าใจตามความเป็นจริงว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไปเป็นธรรมดา ในครั้งพุทธกาล โกณฑัญญะ ได้ฟังเทศน์กัณฑ์แรก (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) ที่พระพุทธเจ้าแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ แล้วเกิดดวงตาเห็นธรรม อันเป็นเหตุทำให้จิตหลุดพ้นจากกิเลสที่ผูกมัดใจ (สังโยชน์) สามตัวแรกได้ คือจิตหลุดพ้นจากสักกายทิฏฐิ หลุดพ้นจากวิจิกิจฉา หลุดพ้นจากสีลัพพตปรามาส สภาวะของจิตเช่นนี้ ในทางพุทธศาสนาสมมุติเรียกว่า โสดาบัน คือโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระโสดาบัน ส่วนพาหิยะฟังธรรมจากพระโอษฐ์ แล้วทำให้จิตหลุดพ้นจากสังโยชน์ทั้งสิบ สภาวะของจิตเช่นนี้ในทางพุทธศาสนาสมมุตเรียกว่า พระอรหันต์ คือพาหิยะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นพระอรหันต์
(๒). คำว่า เข้าถึงธรรม หมายถึง จิตเข้าถึงธรรมที่ปฏิบัติ เช่นปฏิบัติสมถกรรมฐาน แล้วจิตเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิระดับต่างๆ หรือจิตเข้าถึงอภิญญาระดับต่างๆ ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แล้วจิตเข้าถึงปัญญาเห็นแจ้ง หรือจิตเข้าถึงความสามารถหยั่งรู้เป็นพิเศษในระดับต่างๆ (ญาณ ,วิปัสสนาญาณ) หรือจิตเกิดปรีชาหยั่งรู้ที่เนื่องด้วยอำนาจของสมาธิ ต่างๆเหล่านี้เรียกว่า เข้าถึงธรรม มิได้จำกัดแต่เพียงว่า เข้าถึงธรรมที่ทำให้เป็นโสดาบันเท่านั้น
บุคคลทั่วไป หากมีบุญบารมีสั่งสมมาแต่อดีตชาติมากพอ เมื่อได้ยินได้ฟังธรรม แล้วใช้จิตพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ก็สามารถนำจิตให้เข้าถึงธรรมได้
|
1466.
กราบ ท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ที่เคารพยิ่ง
หนูขอรบกวนท่านอาจารย์ชี้แนะแนวทางที่ถูกต้องให้หนูด้วยนะคะ ตอนนี้หนูเป็นครูสอนเด็กประถมศึกษาที่โรงเรียนแห่งหนึ่งที่เชียงราย ส่วนตัวหนูเองเป็นคนลำพูนคะ หนูระลึกอยู่เสมอว่าสิ่งที่หนูทำอยู่นี้ การสั่งสอนเด็กให้เป็นคนดี ให้ได้รับวิชาความรู้ที่หนูสอน ไปประกอบอาชีพ ต่อไปในอนาคต หนูจะมองประโยชน์ที่เด็กจะได้รับ และจะเน้นสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์แก่เด็กก่อนเสมอ โดยที่หนูเองไม่สนใจว่า คนอื่นจะมองหนูอย่างไง หนูเองได้เคยปฏิบัติธรรมมาบ้างแล้วและทุกวันนี้ก็ทำอยู่คะ สวดมนต์ นั่งสมาธิ และพยายามใช้ปัญญาในทางธรรมมองทุก สิ่งอย่างที่มากระทบว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ แต่ทุกครั้งที่มีสิ่งกระทบมากระทบหนู หนูก็จะรับสิ่งนั้นมาปรุงแต่งเป็นอารมณ์ คือ ถ้าใคร มาทำให้โกรธ ก็โกรธ ในตอนแรกแต่แป๊บเดียวก็จะหายไป หนูรู้สึกได้ว่าหลังจากที่หนูได้น้อมรับเอาธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ มาเป็นแนว ทางในการ ดำเนินชีวิตนั้น หนูเองได้เปลี่ยนไปมากเลยทีเดียว ดีใจที่สุดที่ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา
คำถามนะคะ
1. วันไหนที่ไม่มีสอนหนูก็จะสวดมนต์ นั่งสมาธิ อ่านหนังสือธรรมะ ดูทีวีช่องหลวงตามหาบัวคือฟังธรรมจากท่านหลวงตา หนูปฏิบัติแบบนี้แล้วรู้สึกไม่อยากที่จะไปเที่ยวไหนกับเพื่อนเลยคะ ไม่อยากคุยไม่อยากรับโทรศัพท์ เพราะหนูรู้สึกว่ามันมีแต่ขยะทั้งนั้น หนูมองว่าตัวหนูเองสติไม่แข็งพอที่จะไปรับเอาสิ่งกระทบที่ไม่ดีทั้งๆที่ความจริงเราน่าจะมองทุกอย่างเป็นครูสอนใจเราใช่ไหมคะ แต่เวลาที่มีสิ่งมากระทบแบบที่เลี่ยงไม่ได้ หนูก็จะมองและพิจารณาให้เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์อย่างที่บอกนะคะ รบกวนอาจารย์ชี้แนะคะ
2. หลังจากที่สวดมนต์ นั่งสมาธิเสร็จ ก่อนจะนอนหนูจะกำหนดพุท โธ แล้วก็หลับ คือหนูฝันว่า หนูอยู่ที่บ้านย่ากับพ่อแม่และใครก็ไม่รู้หลายคนคะ แล้วก็มี ผี กะลังเดินมาเป็นผู้หญิง ทุกคนวิ่งหนีหมดเลยรวมทั้งหนูด้วย แล้วหนูก็นึกได้เลยนั่งลงภาวนา พุท โธ ผีผู้หญิงคนนั้นก็ตรงมาที่หนู มาบีบคอหนูทั้งสองมือเลยคะ หนูว่าหนูหลับตานะคะ แต่หนูก็เห็นหน้าผีผู้หญิงคนนั้นชัดเจน บีบคอหนูแรงขึ้นเรื่อยๆแล้วก็เริ่มโมโหที่หนูไม่กลัว
แต่หนูว่าหนูเองก็กลัวนะคะ แต่หนูก็ไม่ยอมลุกไปไหน พุท โธ อยู่อย่างนั้น แล้วผีผู้หญิงก็บอกว่าไม่กลัวใช่ไหม ก็เอามืออีกข้างนึงมาล้วงไส้หนู ส่วนมืออีกข้างยังบีบคอหนูอยู่ เค้าบีดไส้หนูเป็นแผลใหญ่มีเลือดไหล แต่หนูยังคงพุท โธ อยู่ กลัวมากเลยคะ แต่สุดท้ายผีผู้หญิงนั้นก็หายไปเลย รบกวนอาจารย์ชี้แนะด้วยคะ
3. มีครั้งหนึ่งหนูได้ไปทำบุญที่วัดป่าโรงธรรมสามัคคี ที่สันกำแพง มีหมาตัวนึงเห่าหนูแล้วก็วิ่งมาหาหนู ตัวหนูเองกลัวมากก้าวขาไม่ออก ก็ยืนอยู่ตรงนั้น แล้วคิดในใจว่าหากเป็นกรรมที่หนูที่ทำไว้กับหมาตัวนั้น หนูก็ยินดีให้กัดและขออโหสิกรรม แล้วหนูก็ สัพเพ สัตตา ผิดๆถูกๆ ยืนตัวสั่น
พอหมาตัวนั้นมาถึงก็งับขาหนูเพียงเบาๆแล้วปล่อย แต่ยังคงยืนเห่าหนูอยู่อย่างนั้น และเพื่อนหมาตัวอื่นๆก็มาลุมเห่าหนูด้วย แต่สักพักทุกตัวก็ไปคนละทิศคนละทาง สรุปคือ หนูไม่โดนหมากัดคะ เค้าแค่งับเบาๆ หนูอยากทราบว่า หมาตัวนั้นรับรู้ถึงเมตตาจิตที่หนูแผ่ให้แลอโหสิกรรมไปหรอคะ รบกวนอาจารย์ชี้แนะด้วยคะ
4. บางครั้งหนูคิดว่าหนูไม่อยากแต่งงานมีครอบครัวเลย เพราะหนูไม่อยากมีห่วง หนูอยากใช้ชีวิตแบบพอเพียงอยู่กับพ่อแม่ ดูแลพ่อกับแม่ แล้วก็ปฏิบัติธรรม ให้ดีที่สุดเท่าที่หนูจะทำได้ เพราะหนูเชื่อว่าคนเราเวียนว่ายตายเกิดมาแล้วไม่รู้เท่าไหร่ หากมีแนวทางใดที่ปฏิบัติแล้วให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น หนูเองอยากที่จะน้อมนำตัวเองมาปฏิบัติคะ หนูคิดแบบนี้จริงๆคะ รบกวนอาจารย์แนะนำหนูด้วยนะคะ
หนูขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ อย่างสูงคะ
ขอบุญกุศลที่หนูได้กระทำไว้แล้ว ส่งผลให้ท่านอาจารย์เป็นสุขคะ
และขออนุโมทนาความดีทั้งหลายที่อาจารย์ได้ช่วยเหลือเพื่อนร่วมวัฏฏะนี้ด้วยนะคะ สาธุ
รดาศา
คำตอบ
ผู้ใดปรารถนาเป็นครูที่ดี ผู้นั้นต้องประพฤติป้องกันเด็กมิให้ประพฤติชั่ว อบรมเด็กให้เป็นคนดี สั่งสอนเด็กให้มีวิชาความรู้ที่ถูกต้องชอบธรรม และสุดท้ายต้องช่วยเหลือเด็กในสิ่งที่ถูก ลักษณะทั้งสี่นี้มีอยู่ในจิตวิญญาณของความเป็นครูที่ดี
(๑). ผู้ใดมีสติสัมปชัญญะ ผู้นั้นด้วยระลึกได้ว่า มนุษย์มีงานให้ทำอยู่ ๒ ประเภท คือ งานภายนอกที่ทำให้กับสังคม และงานภายในที่ทำให้กับตัวเองคือเตรียมสั่งสมบุญนำไปเกิดใหม่ ฉะนั้นการเอาเวลาของงานภายนอก มาทำให้เกิดประโยชน์กับตัวเอง ถือว่าผู้นั้นไม่มีสติสัมปชัญญะ แต่หากเมื่อใดหมดเวลาของการทำงานภายนอก และบุคคลเอาเวลามาทำงานภายในให้ตนเอง ถือว่าผู้นั้นมีสติสัมปชัญญะ
การเป็นครูที่ดี ควรพัฒนาจิตตนเองให้มีเมตตาคุ้มครองใจ ด้วยการให้อภัยเป็นทานต่อทุกสิ่งที่เป็นเหตุขัดใจ ผู้ใดทำได้แล้วเมตตาย่อมเกิดขึ้น ผู้มีเมตตาเป็นผู้ไม่มีโทสะ แต่มีอารมณ์สงบเย็น ศิษย์ย่อมนำตัวเข้าใกล้ โอกาสถ่ายทอดความรู้จึงจะเกิดขึ้นได้ง่าย
(๒). จิตใดมีกำลังของสติกล้าแข็ง นอนหลับแล้วย่อมไม่ฝัน
(๓). ความกลัวเกิดขึ้นด้วยเหตุไม่รู้จริงในสิ่งที่กลัว ฉะนั้นกลัวสุนัขแสดงว่าไม่รู้จริงเรื่องสุนัข คนมีเมตตาเมื่อแผ่เมตตาให้กับสัตว์ร้ายหรือศัตรู เวรย่อมถูกระงับโดยปริยาย
(๔). ผู้รู้รู้ว่า บุคคลมีชีวิตเป็นของตนเอง ต้องเลือกบริหารจัดการด้วยตัวเอง พระพุทธะตรัสว่า บุคคลมีทรัพย์สมบัติเป็นห่วงผูกขา มีสามี/ภรรยาเป็นห่วงผูกมือ มีบุตร/ธิดาเป็นห่วงผูกคอ ฉะนั้นเลือกเอาตามที่ชอบๆ
|
1465.
กราบเรียนถามท่านอ.ดร.สนองที่เคารพ
หนูอยากสอบถามเรื่องการอ่อนน้อมถ่อมตนและช่วยเหลือผู้อื่นที่อยู่ในบุญกิริยาวัตถุ 10 ดังนี้ค่ะ
1. การอ่อนน้อมถ่อมตน หมายถึงเราควรอ่อนน้อมถ่อมตนต่อทุกท่าน เช่น ยาม , แม่บ้าน , ขอทาน , คนพาล , คนมิจฉาทิฐิ , คนขี้โกง หรือเปล่าคะ หรือเราควรอ่อนน้อมถ่อมตนเฉพาะบุคคลที่เป็นคนดี คนสัมมาทิฐิ
2. การช่วยเหลือผู้อื่น หมายถึง ช่วยทุกคนในทุกกรณีที่ไม่ผิดกฏหมาย ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม หรือเปล่าคะ เช่น ช่วยถือของ , ช่วยบอกทาง , ช่วยคนตาบอดข้ามถนน , ช่วยพาป้ากับน้าไปซื้อของ , ช่วยแม่ทำงานบ้าน , ช่วยหาของ , ช่วยสอนหนังสือเด็กกำพร้า , ช่วยเป็นอาสาสมัครทำงานเพื่อพระศาสนา
ขอขอบพระคุณท่านอ.ในความเมตตา หนูขออนุโมทนาในกุศลเจตนาของท่านอ.และขออุทิศบุญกุศลทั้งหมดของหนูให้ท่านอ.มีสุขภาพแข็งแรงด้วยค่ะ
คำตอบ
(๑). การอ่อนน้อม ในที่นี้หมายถึง การแสดงกิริยาวาจานบนอบ ส่วน การถ่อมตน เป็นการแสดงฐานะที่ต่ำกว่าความเป็นจริง
คุณธรรมที่ระบุอยู่ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ระบุให้บุคคลประพฤติอ่อนน้อม มิได้ระบุให้ประพฤติถ่อมตน ดังนั้น ผู้ใดหวังบุญให้เกิดขึ้นกับตนด้วยวิธีนี้ ต้องประพฤติอ่อนน้อมต่อสรรพสัตว์ ผู้มีศีลมีธรรมที่ตนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ยกเว้นคนพาล สัตว์พาล ตลอดจนอมนุษย์ที่สันดานเป็นพาล ต้องหลีกหนีให้ห่างไกล ไม่นำตัวไปประพฤติอ่อนน้อม
(๒). การช่วยเหลือผู้อื่นตามที่บอกเล่าไป ผู้ใดประพฤติได้แล้ว บุญย่อมเกิดขึ้นกับผู้นั้น
|
1464.
กราบเรียนท่านอาจารย์
กระผมขอความเมตาท่านอาจารย์ ช่วยเมตตาแนะนำวัดที่รับบวชในพรรษานี้ให้ด้วยครับ เพราะกระผมตั้งใจจะบวชตอนเข้าพรรษานเพื่อปฏิบัติวิปัสสนาครับ ถ้าเป็นไปได้ ขอความเมตตาท่านอาจารย์ช่วยแนะนำวัดทาง ภาคเหนือ ด้วยครับ เพราะกระผมอยู่ จังหวัดเชียงราย ครับ
ขอกราบขอบพระคุณอย่างสูงครับ
คำตอบ
หากผู้ถามปัญหามีจิตมั่นคงในการพัฒนาจิตให้มีธรรมคุ้มรักษา แนะนำให้ติดต่อที่วัดแพร่ธรรมาราม อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ วัดนี้อยู่ห่างจากสถานีรถไฟเด่นชัยประมาณ ๕๐๐ เมตร
|
1463.
มีข้อสงสัยจะถามอาจารย์นะครับ
อาจารย์ครับคนบ้าสามารถเข้าถึงฌานได้ไหมครับ
ผมอยากปฏิบัติธรรมบ้าง อาจารย์ช่วยแนะนำหน่อยนะครับ ตั้งแต่ขั้นง่ายๆจนไปหายาก ผมอยากออกจากทุกข์มากตอนนี้
ผมเคยฟังอาจารย์บรรยายที่ดอยสัพพัญญูด้วย แต่ผมไม่ค่อยเชื่อ ตอนนี้ผมเชื่อแล้วเต็มร้อย เพราะเคยเจอมา ที่ผมเจอมันจะจริงหรือไม่ผมไม่รู้ แต่ผมเชื่อว่า มันเป็นความจริง แต่มันมีความสงสัยเริ่มบั่นทอนความเชื่อของผมลงเรื่อยๆ ผมจึงอยากปฏิบัติจนให้มันอยู่กับผมตลอดไป
ขอบคุณครับอาจารย์
คำตอบ
คนบ้า คือ คนที่จิตมีกำลังของสติอ่อน จึงรับเอาสิ่งกระทบที่ไม่ดี เข้าปรุงเป็นอารมณ์ไม่ดี แล้วกำจัดให้หมดไปจากใจไม่ได้ พฤติกรรมที่คนบ้าแสดงออก จึงเป็นพฤติกรรมที่ผิดไปจากพฤติกรรมของคนปกติ บุคคลทั่วไปจึงเรียกคนที่มีพฤติกรรมผิดเพี้ยนเช่นนี้ว่าเป็นคนบ้า
คนที่มีจิตขาดสติ ไม่สามารถพัฒนาจิตให้เข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิในระดับฌานได้
ผู้ถามปัญหาประสงค์ปฏิบัติธรรม ควรเริ่มต้นด้วยการทำใจให้มีศีลคุมอยู่ทุกขณะตื่น แล้วกำหนดอานาปานสติ ประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง เมื่อปฏิบัติแล้วเสร็จ ต้องอุทิศบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวร ต้องรักษาปฏิปทาเช่นนี้ไว้ ด้วยเอาความเพียรและสัจจะมาเป็นเครื่องสนับสนุน
|
1462.
เรียน ดร.สนอง วรอุไร
ผมอยากถามเรื่อง การบรรลุธรรม(โสดาบัน ) ผมอยากจะละสังโยชน์ทั้ง 3 ตัวแต่ยังไม่รู้วิธี
อยากสอบถามอาจารย์ว่าอาจารย์มีวิธีละสังโยชน์ทั้ง 3 ตัวยังไงครับ โดยเฉพาะตัวแรกคือ การยึดมั่นในตัวตนมีวิธีละยังไงครับ
คำตอบ
ผู้ใดประสงค์ละสังโยชน์ ๓ (สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส) ให้หมดไปจากใจ ผู้นั้นต้องพัฒนาจิต (วิปัสสนาภาวนา) จนเกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้ง ไปพิจารณาขันธ์ ๕ (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) จนเห็นว่า ขันธ์ทั้งห้า ดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา) เมื่อขันธ์ ๕ เข้าสู่ความเป็นอนัตตา จะรู้เห็นเข้าใจว่า ไม่มีหญิง ไม่มีชาย ไม่มีเรา ไม่มีเขา ขันธ์ ๕ เป็นเพียงรูปนามเท่านั้น แล้วสักกายทิฏฐิย่อมหมดไปจากใจได้
ผู้ใดใช้ปัญญาเห็นแจ้งส่องนำทางชีวิตแล้วเห็นว่า ทุกสิ่งที่เข้ากระทบจิต ดับไปตามกฎไตรลักษณ์ จิตไม่รับเอาสิ่งกระทบที่ไม่ใช่ตัวตนมามีอำนาจเหนือใจ ความลังเลสงสัยในธรรมย่อมหมดไป แล้วจะรู้ว่า ญาณ มรรค ผล นิพพาน นั้นมีอยู่จริงแท้
ผู้ใดใช้ปัญญาเห็นแจ้งส่องนำทางให้ชีวิตแล้วเห็นว่า ความเชื่อที่งมงายว่า การทำจิตให้มีศีลคุมและการประพฤติมีศีลเพียงอย่างเดียว ทำให้จิตหลุดพ้นไปจากวัฏฏะได้ แต่การพัฒนาจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิและเกิดปัญญาเห็นแจ้งเท่านั้น ย่อมนำพาจิตให้พ้นไปจากวัฏฏะได้ ความรู้เห็นเข้าใจเช่นนี้นี่เอง ที่เป็นเหตุทำใจไม่ให้ตกอยู่ใต้อำนาจของความเชื่อที่งมงายว่า การปฏิบัติตนให้เหมือนอย่างโค (โควัตร) การปฏิบัติตนให้เหมือนอย่างสุนัข (กุกกุรวัตร) การบำเพ็ญสมถภาวนาจนเข้าถึงฌานสมาบัติ ฯลฯ เป็นทางแห่งความพ้นทุกข์
ผู้ตอบปัญหาดำเนินตามปฏิปทาทั้งสามดังที่กล่าวมานี้
|
1461.
กราบเรียนดร.สนองที่เคารพอย่างสูงครับ
กระผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ติดตามจากหนังสือที่ท่านเขียนมาพอสมควร และมีความศรัทธาในตัวท่านจึงใคร่ขอถามคำถามท่านดังประการต่อไปนี้
1. กระผมจบสายการเรียนทางกฎหมายมาโดยตัวผมเองไม่ชอบงานด้านนี้เลยเนื่องจากเป็นงานที่เสี่ยงต่ออกุศลกรรมอย่างมาก แต่กระผมก็ไม่อาจทราบได้ว่าจะทำอย่างไรดีจึงควรเบี่ยงสายงานไปได้ผมควรทำอย่างไรต่อไปดีครับ
2. กระผมเป็นคนถือศีลเป็นปกติวิสัยและทำบุญที่รพ.บาลสงฆ์เป็นประจำครับ ปัญหาคือ ตั้งแต่จบมาผมได้เปลี่ยนงานหลายครั้งเนื่องจาก ทุกครั้งที่เจ้าทำงานจะมีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง จนจำเป็นต้องออกจากงานทุกครั้ง กระผมควรสร้างความดีอะไรเพิ่มได้บ้างที่จะบรรเทาผลกรรมอันนี้
3. กระผมอยากเรียนกรรมฐานที่มีครูสอนที่แท้จริงเพื่อคอยแนะนำ กระผมไปในการปฏิบัติที่ถูกต้องกระผมควรไปฝึกที่ใด หรือหากต้องฝึกเองควรต้องเริ่มอย่างไรครับ
ขอขอบคุณท่านที่สละเวลาตอบคำถามให้กระผมล่วงหน้าครับ
คำตอบ
(๑). บุคคลมีชีวิตเป็นของตัวเอง ดังนั้นต้องบริหารจัดการชีวิตด้วยตัวเอง ผู้ใดประสงค์ทำงานที่ไม่เสี่ยงต่ออกุศลกรรม ผู้นั้นต้องเลือกทำงานที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม หรือหากยังมีความจำเป็นต้องเข้าร่วมกับงานที่ต้องเสี่ยงกับอกุศลกรรม ต้องพัฒนาตัวเองให้มีดวงดี ด้วยการประพฤติ ทาน ศีล ภาวนา อยู่เสมอ จนคุณธรรมดังกล่าวให้ผล แล้วความวิบัติของชีวิต ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้
(๒). ผู้ถามปัญหาประพฤติทานและศีลเป็นประจำอยู่แล้ว หากประสงค์จะบรรเทาวิบากกรรมให้ลดน้อยลง ต้องต่อยอดด้วยการประพฤติจิตตภาวนา และทุกครั้งที่บำเพ็ญภาวนาแล้ว ควรอุทิศบุญใหญ่ที่เกิดขึ้น ให้กับเจ้ากรรมนายเวรไปเรื่อยๆ โอกาสที่วิบากของกรรมจะลดน้อยลงหรือหมดไป ย่อมมีได้เป็นได้
(๓). การนำตัวเองเข้าฝึกกรรมฐาน กับครูผู้สอนกรรมฐานที่ประพฤติถูกตรงตามธรรม ซึ่งหมายความว่า ประพฤติสมถภาวนาแล้วจิตต้องมีกำลังของสติเพิ่มขึ้น แล้วใช้กำลังของสติไประลึกรู้ในสติปัฏฐาน ๔ แล้วโอกาสที่จะเกิดปัญญาเห็นแจ้งขึ้นกับจิต ย่อมเกิดขึ้นได้ จิตที่มีปัญญาเห็นแจ้ง ย่อมเห็นสรรพสิ่งเกิดขึ้นแล้วดับ จิตย่อมเป็นอิสระต่อสรรพสิ่ง เช่น เป็นอิสระจากโลกธรรม เป็นอิสระจากวัตถุ ฯลฯ ครูที่สอนไปในแนวทางเช่นนี้ เป็นครูที่ผู้ถามปัญหาควรนำตัวไปฝากเป็นศิษย์ แล้วอยู่ปฏิบัติธรรมกับท่าน
ผู้ถามปัญหาประสงค์ฝึกจิตด้วยตนเอง ย่อมทำได้ด้วยการพัฒนาใจให้มีศีลคุมอยู่ทุกขณะตื่น สวดมนต์ก่อนนอน หลังสวดมนต์แล้วเสร็จ ให้เจริญอานาปานสติ ด้วยหายใจเอาลมเข้าสู่ร่างกาย ต้องกำหนดว่า พุธ หายใจเอาลมออกจากร่างกาย ให้กำหนดว่า โธ กำหนดเช่นนี้นานประมาณ ๓๐ นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง หลังจากนั้นต้องอุทิศบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวรทุกครั้งที่ปฏิบัติแล้วเสร็จ ผู้ใดประพฤติเป็นปกติเช่นนี้ โดยมีสัจจะ มีขันติ และมีความเพียร เป็นแรงสนับสนุน โอกาสที่จิตจะเข้าถึงธรรม ย่อมมีได้เป็นได้
|
1460.
เรียน ท่านอาจารย์ สนอง ที่นับถือ
หนูได้เคยไปฟังท่านที่โรงพยาบาลสวนดอก 2 ครั้งแล้วค่ะ ครั้งแรกเรื่อง ทางสายเอก และครั้งล่าสุด เรื่องพลังจิตค่ะ หนูมีเรื่องรบกวนถามอาจารย์หน่อยค่ะ หนูอยากถามว่า การตักบาตรนั้น ถ้าเราใส่เงินลงนั้นจะผิดหรือเปล่าค่ะ เพราะหนูเคย เห็น พระบางวัดนำอาหารที่ได้รับจากการตักบาตร ไปขายต่อหรือไม่กินกินบ้าง ทิ้งบ้าง ทำให้หนูคิดว่า การใส่เงินตักบาตรนั้น เพื่อที่พระหรือเณรท่านจะได้รับเงินที่ได้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้อีกค่ะ ที่หนูคิดอย่างนี้ผิดมั๊ยค่ะ เพราะมีคนเคยบอกหนูว่า การใส่บาตร ด้วยเงินนั้นเป็นบาปค่ะ และอยากถามต่อว่าเราจำเป็นต้องกรวดน้ำ ทุกครั้งที่ตักบาตรหรือเปล่าคะ (ส่วนใหญ่หนูไม่ได้กรวดน้ำหรอกค่ะ) ถ้าอย่างไรท่านตอบให้หนูหน่อยนะค่ะ
ขอบคุณท่านมากค่ะ คนที่ยังรู้เรื่องธรรมะน้อย
คำตอบ
บาตรเป็นหนึ่งในเครื่องใช้ (บริขาร) แปดอย่างของภิกษุ มีไว้เพื่อจุดประสงค์สำหรับใส่อาหาร การเอาเงินใส่ลงในบาตร จึงเป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์
การเอาเงินใส่ลงในบาตรด้วยคิดว่า พระหรือเณรจะได้นำเงินไปใช้อย่างอื่นที่เป็นประโยชน์ เป็นการคิดไม่ผิด แต่ควรนำเงินไปถวายที่วัดหรือใส่ลงในย่าม
หลังจากตักบาตรแล้ว ไม่จำเป็นต้องกรวดน้ำทุกครั้ง แต่ควรอุทิศบุญให้กับผู้ที่ตนปรารถนาอุทิศให้
|
1459.
เรียน ดร.สนอง วรอุไร
ทำอย่างไรจึงจะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมคะเขาพูดดีด้วยก็ดีใจ เขาพูดร้ายด้วยก็เสียใจ
และหนูขอขมาอาจารย์สนอง วรอุไรด้วยกาย วาจา ใจ กรรมอันหนึ่งอันใดที่หากหนูได้ประมาท พลาดพลั้งต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ต่ออาจารย์สนอง วรอุไร ขออาจารย์โปรดเมตตา อโหสิกรรมให้แก่หนูด้วยค่ะ
คำตอบ
ความดีใจ ความเสียใจ เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตของผู้มีกำลังสติอ่อน ผู้ใดประสงค์ให้การปฏิบัติธรรมเจริญก้าวหน้า ผู้นั้นต้องมีศีลบริสุทธิ์คุมใจให้ได้ก่อน แล้วจึงนำตัวเองเข้าปฏิบัติธรรม โดยมีขันติ มีความเพียร และมีสัจจะเป็นแรงสนับสนุน
|
1458.
กราบเรียน ท่านอาจารย์ ดร. สนอง ที่นับถือ
สอบถามเรื่องการเล่นหุ้นมีผลต่อการปฏิบัติธรรมอย่างไรบ้าง
ดิฉัน ชื่อ น.ส. สมัย ลาภา อายุ 48 ปี ไม่มีครอบครัว ยังทำงานที่บริษัท ในนวนคร ทำมา 22 ปีแล้ว แต่ต้อง รับภาระดูแล ครอบครัว ปัจจุบันกำลังฝึกปฏิบัติธรรม สติปัฐาน 4 ( พองหนอ-ยุบหนอ)อยู่ แต่ขณะนี้มีปัญหาเรื่อง หนี้สิน และการเงิน ซึ่ง เกี่ยวกับ ครอบครัว(พ่อแม่) เขาไม่มั่นใจ ตัวข้าพเจ้า พยายามลด ละ เลิก สิ่งฟุ่มเฟือยทั้งหมด เพื่อฝึกตนเอง เพื่อจะเดินเส้นทางธรรม ในอนาคต แต่เขา(ครอบครัวมองว่าเราลำบาก เขา พยายามผลักดัน ไม่ให้ดิฉันมุ่งมั่นมากเกินไป) เพื่อมาชวนเล่นหุ้น เพื่อจะได้เงิน ให้ครอบครัว และ ตัวดิฉันจะมี เงินใช้หนี้) แต่ตัวดิฉัน ไม่อยากเล่นหุ้น เพราะ เหมือนกับคล้ายกับเล่นหวย แต่ปัจจุบัน ตัวดิฉันยังไม่ได้เล่นหุ้น แต่กำลังพิจารณา ว่า ในเมื่อตัวดิฉันจะเดินทางธรรมะแล้ว ผิดศีลรึไม่ ? หรือ ด่างพร้อย รึไม่ จะมีผลอย่างไร ทั้งในปัจจุบัน และ อนาคตอันใกล้ และไกล
ขอขอบพระคุณอย่างสูง
สมัย ลาภา
คำตอบ
การลด ละ เลิก สิ่งฟุ่มเฟือย หมายถึง การลด ละ เลิก บริโภคใช้สอย สิ่งที่ไม่จำเป็น (อสาระ) กับชีวิต ผู้ที่เข้าใจธรรมะและมีธรรมะคุ้มครองใจเท่านั้น จะสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่ไม่จำเป็นกับชีวิตได้
อนึ่ง การเล่นหุ้น เป็นการเอาจิตเข้าไปผูกติดเป็นทาสของอบายมุข (ช่องทางแห่งความเสื่อม) ไม่ถือเป็นการประพฤติผิดศีล แต่เป็นการประพฤติผิดธรรม ผู้เล่นหุ้นสามารถปฏิบัติธรรมได้ แต่ไม่สามารถพัฒนาจิตให้เข้าถึงธรรม ตรงกันข้าม ผู้ใดมีศีลไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย คุมใจอยู่ทุกขณะตื่น ผู้นั้นสามารถพัฒนาจิต ให้เข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย
|
1457.
กราบเรียน ท่าน อจ.ดร.สนอง วรอุไร ค่ะ
หนูมีคำถามที่สงสัย อยากทราบว่า ทำไมการบวช จึงถือว่าเป็นการทดแทนคุณ บิดามารดาคะ และถ้าเราทำตัวดี ประพฤติตนอยู่ในศีลธรรมดูแล บิดามารดา ถือเป็นการทดแทนคุณบิดามารดาไม่ใช่หรือคะ ถ้าชายไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และไม่ได้บวช เพราะเค้าคิดว่า ทุกวันนี้ก็ดูแลบิดามารดาดีอยู่แล้ว ถือว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องหรือไม่คะ
คำตอบ
การบวช หมายถึง การถือเพศเป็นภิกษุ สามเณร หรือนักพรต บุคคลที่เปลี่ยนเพศเหล่านี้ มีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาจิตตนเองให้เป็นคนดี จึงถือว่าเป็นบุญ การทำตัวเองให้มีบุญเกิดขึ้น ถือว่าเป็นการประพฤติจริยธรรมอย่างหนึ่งของการเป็นลูกที่ดี เป็นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ได้ เช่นเดียวกัน ผู้ใดมิได้บวช แต่ประพฤติตนเป็นคนดีของพ่อแม่ ถือว่าเป็นการทดแทนคุณของพ่อแม่ได้ ในทำนองเดียวกัน ผู้ใดประพฤติตนเป็นคนดีของแผ่นดินที่มีอุปการะ ให้เราได้มาเกิด มาอยู่อาศัยอย่างมีความสุข มาทำกิจกรรมให้กับชีวิต ถือว่าเป็นการทดแทนคุณของแผ่นดินได้
|
1456.
อาจารย์ครับ ถ้าหากว่าเราไม่พูดความจริงทุกอย่างให้เพื่อนฟัง แล้วเขาเดาว่าเราต้องเป็นอย่างที่เขาคิด
แต่มันไม่ใช่ความจริง แล้วเราจะผิด มุสาวาท รึเปล่าครับอาจารย์ครับ
คำตอบ
คำว่า มุสาวาท หมายถึง การพูดเท็จ การพูดคำที่เป็นเท็จ การพูดผิดไปจากความเป็นจริง ฯลฯ ฉะนั้นผู้ใดกล่าววาจา ไม่เป็นไปตามที่ชี้แนะมานี้ ไม่ถือว่าเป็นมุสาวาท
|
1455.
กราบสวัสดีครับท่านอาจารย์สนอง
ผมได้อ่านคำตอบจากท่านอาจารย์รู้สึกซาบซึ้งและชัดเจนมากในคำตอบที่ถาม
ผมมีคำถามรบกวนท่านอาจารย์อีกครั้งผมเป็นทันตแพทย์ที่ช่วยทำงาน
ให้แก่คลินิกรุ่นพี่โดยรายได้ที่ได้จากคนไข้จะแบ่งครึ่งกัน
แต่ด้วยคนไข้บางคนดูเหมือนจะรายได้น้อยและขัดสนหรือมีเงินไม่เพียงพอ
ผมจะลดค่าใช้จ่ายให้แก่คนไข้(ลดในใจ คือหมายถึงผมไม่ได้บอกแก่คนไข้หรอกครับว่าผมลดให้)
จนบางครั้งผมสงสัยว่าผมจะทำให้เจ้าของร้านขาดรายได้หรือไม่
เพราะรุ่นพี่ไม่ได้รับรู้ถึงเรื่องดังกล่าว...
ผมเลยมีคำถามว่า
1. หลังจากสวดมนต์เสร็จผมจะขออุทุศส่วนบุญที่ได้ทำกับคนไข้
ให้แก่ชื่อรุ่นพี่ทั้ง 2 ผมทำถูกหรือไม่ครับ หรือผมจำเป็นต้องให้รุ่นพี่รับโมทนาด้วยหรือไม่ครับ
2. การที่ผมไม่บอกกับคนไข้โดยตรงว่าลดให้แล้วเพราะผมปากหนักที่จะบอกนะครับ
แต่คนไข้บางคนก็บอกว่าช่วยลดหน่อยได้ไหม ผมถึงจะบอกว่าผมลดให้แล้วครับในใจ
เขาหัวเราะและพูดมาว่าหมอจะพูดออกมาก็ได้นะ เขาไม่รู้ ผมควรจะพูดไหมครับอาจารย์
หลังจากเวลาว่างของคลินิกผมใช้เวลาไปออกกำลังกายและสอนหนังสือให้เด็กฟรี
มีเด็กคนหนึ่งเขามักจะไม่รับความรู้ที่ผมให้ไปเท่าไร สมองไม่ไว ไม่หมั่นทบทวน
นอนทำการบ้านและนอนอ่านหนังสือ หลับไวกว่ากำหนด(อยู่ม. 6 แต่นอนหลับ 3-4 ทุ่ม)
สอนไปวันนี้พรุ่งนี้ก็หลงลืม แต่เขาเป็นคนซื่อสัตย์ไม่พูดปดและไม่ลอกข้อสอบเพื่อน
จนทำให้ตัวเขาเองติด 0 เยอะมาก(แต่เพื่อนที่ลอกข้อสอบกลับได้เกรด 3)...
ผมเห็นใจพ่อเขามากกลุ้มใจเพราะลูก จะต้องสอบเรียนต่อแต่ลูกแทบไม่มีความรู้เลย
เขาก็รักพ่อเขามากแต่มักจะไม่ค่อยพูดกับพ่อ
เป็นเด็กเงียบๆชอบอยู่คนเดียว คิดอะไรใจลอยเหมือนไม่มีสมาธิ
ตอนก่อนคลอดแม่เขาเคยคิดจะเอาออกโดยการกินยาขับ
คำถามนะครับ
3. เด็กคนนี้มีกรรมอย่างไรจึงทำตัวเองให้เป็นเช่นนั้น
4. ผมควรให้เขาทำตัวอย่างไรดี จึงจะสามารถรับผิดชอบตัวเองในการเรียนมากกว่านี้
หรือเป็นกรรมเก่าที่เขาต้องรับ เราสามารถเปลี่ยนชะตาตรงนี้ได้ไหมครับ
ป.ล. ผมมีความคิดว่าจะพาเขาไปนั่งอบรมสมาธิกับวัดวะภูแก้วสักครั้ง
เมื่อวานขณะผมขัดหินปูนให้คนไข้ก็พูดให้ความรู้ไป จนมานึกถึงฟัน
ที่จริงฟันของเราก็เปรียบเหมือนจิต ฟันที่สะอาดผิวเรียบก็เหมือนจิตที่ใส
แต่เพราะเรารับทานอาหารเข้าไป เหมือนจิตที่รับสิ่งกระทบภายนอก
หากเราไม่รู้เท่าทันในการกำจัดคราบอาหารที่มีอยู่ออกให้หมดจากตัวฟัน
หวังเพียงเพื่อรสอร่อยของอาหารและกลิ่นปรุงแต่งจากยาสีฟัน
ก็เหมือนจิตที่รับสิ่งกระทบมาแล้วนำมาปรุงแต่งจิต ไม่มองเป็นไตรลักษณ์
ฟันของเรานานวันเข้าจากที่เคยมีชั้นเคลือบที่ทำให้ฟันลื่น
กลับต้องมีสิ่งปกคลุมที่ผิวไม่ละเอียด(โมเลกุลอาหารประเภทแป้ง)
เหมือนจิตที่มีมลทิลครอบคลุมไว้ทำให้จิตเศร้าหมอง
และหากนานวันเข้าคราบอาหารดังกล่าวจะง่ายต่อการติดบนผิวฟันมากขึ้น
เพราะผิวฟันเริ่มสากมากแล้วในตอนนี้เหมือนจิตที่ไม่สะอาดอย่างมากๆ
การที่จะแปรงเพื่อให้คราบอาหารที่แข็งนั้นออกเป็นไปไม่ได้
ดั่งเช่นจิตใจยากต่อการชำระล้างด้วยบุญกุศล
ผมพูดกับคนไข้ในเรื่องของฟันนะครับ ส่วนเกี่ยวกับจิตผมคิดในใจเองครับ
กลัวพูดไปผู้ช่วยกับคนไข้จะหาว่าผมเพี้ยนไป
ผมจะพูดเกริ่นเป็นนัย กรณีมีคนไข้มาทำฟันว่า ได้เข้าวัดบ้างไหม เขาจะเล่าเป็นฉากๆเลย
ไปนอนวัดถือศีล 8 ประจำ ผมฟังปราบปลื้มจังและรู้ว่าป้าคนนี้ไม่พ้นเป็น
นางฟ้านางสวรรค์แน่ๆเลย...
ผมดีใจมากๆที่ได้พบท่านอาจารย์สนอง แต่ก่อนผมไม่ได้เคยนึกถึงเรื่องแบบนี้
ดำรงชีวิตไปแบบไม่มีจุดหมาย รับประทาน ทำงาน ออกกำลัง
สอนหนังสือ อยู่กับพ่อแม่ นอน วงจรชีวิตสั้นเหมือนยุง
เพียงแต่ผมรู้จากการสังเกตสิ่งรอบๆตัว คนไข้ทุกข์ทรมาน
การมีครอบครัวทำให้เกิดบ่วง เห็นพ่อแม่ลำบากพาลูกมาทำฟัน
บางคนเงินไม่มี ฟันอุดไม่ได้ก็ตัดสินใจถอนแทนการรักษาราก
นี่แค่เรื่องของฟันยังไม่รวมเรื่องอื่นๆที่เขาต้องรับ แต่ผมก็ไม่คิดต่อไป
แล้วเราจะจัดการอย่างไรกับตัวเราดี คิดแต่ว่าตอนนี้เราสบายไม่มีภาระ
เราจะไม่เป็นแบบคนเหล่านั้นเพราะเราเห็น...
พอได้ฟังธรรมะของอาจารย์ในเวปไซต์ที่เปิดเจอแบบไม่ได้ตั้งใจ
ใจผมก็คิดได้ขึ้นมาและนึกว่าชีวิตเราไม่ได้มีแค่นี้จริงๆ
ผมกราบขอบพระคุณมากๆครับสำหรับคำสอนอาจารย์ที่เข้ามาจุดประกายความดีของผมให้สว่างขึ้น
คำตอบ
(๑). การมีชีวิตเป็นผู้ให้ เป็นชีวิตที่มีคุณค่า ตรงกันข้าม การมีชีวิตเป็นผู้รับ เป็นชีวิตที่ด้อยค่า หากผู้ถามปัญหาประสงค์ให้การอุทิศบุญสัมฤทธิ์ผล หลังจากอุทิศบุญแล้ว ต้องสื่อสารให้รุ่นพี่ทราบ เมื่อใดที่ทั้งสองคนอนุโมทนาบุญที่ผู้ถามปัญหาอุทิศให้ เขาจึงจะได้รับบุญนั้น
(๒). การทำความดีโดยไม่บอกกล่าวให้ผู้อื่นทราบ ความดีที่ทำนั้นย่อมเกิดเป็นบุญเต็มร้อย ผู้รู้จริงนิยมประพฤติเช่นนี้ ดังนั้นผู้ถามปัญหาประสงค์ได้บุญเต็มร้อยหรือไม่ ต้องเลือกเอง
วัยรุ่นส่วนใหญ่มีสมาธิสั้น จิตปรุงอารมณ์ได้หลากหลาย จึงทำให้ขี้เกียจ ส่วนเยาวชนที่บอกเล่าไป เป็นผู้มีคุณธรรม (ซื่อสัตย์) เป็นพื้นฐานของใจ หากเขาได้พัฒนาจิตตัวเองถูกทาง เขาจะประสบความสำเร็จได้ง่าย ได้สูง ด้วยการสวดมนต์ก่อนนอน หลังสวดมนต์แล้วพัฒนาสติ ด้วยการหายใจเข้า กำหนดว่า ออกซิเจน หายใจออก กำหนดว่า ซีโอทู นานครั้ง ประมาณ ๓๐ นาที แล้วอุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวรของตัวเอง อุทิศบุญทุกครั้งที่หลังเสร็จการปฏิบัติ การประพฤติเช่นนี้มีผลทำให้คลื่นสมอง จัดเรียงตัวเป็นระเบียบ ความจำจะดีขึ้นเป็นอัตโนมัติ ส่งผลให้การศึกษาเล่าเรียนสำเร็จได้ง่าย และขณะเดียวกัน การกระทำดังกล่าว ยังมีผลให้บุญสั่งสมขึ้นในจิตอีกด้วย
(๓).เป็นกรรมร่วมที่ทำไว้กับแม่ที่มีความเห็นผิด ให้อานิสงส์ที่เป็นบาป คือมีอุปสรรคในการพัฒนาปัญญา ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำที่ให้ไว้ในข้อ (๒).
(๔). ครูมีหน้าที่ปฏิบัติต่อศิษย์อยู่สี่เรื่อง ดังนี้
ก. สั่งสอนศิษย์ให้มีความรู้
ข. ป้องกันศิษย์มิให้ประพฤติไปในทางเสื่อม
ค. อบรมศิษย์ให้เป็นคนดี
ง. ช่วยเหลือศิษย์ในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม
ฉะนั้นผู้ใดที่คิดว่าตัวเองเป็นครู ต้องไม่เว้นที่จะประพฤติดังกล่าวข้างต้น ผู้ถามปัญหาไม่มีสิทธิ์ไปเปลี่ยนชะตาผู้อื่น แต่มีสิทธิ์ชี้แนะให้ลูกศิษย์เปลี่ยนชะตาด้วยตัวของเขาเอง
ขณะขัดฟันให้คนไข้ แล้วยกเอาฟันมาเป็นองค์พิจารณากรรมฐาน วิธีการเช่นนี้เรียกว่า พิจารณา ตจปัญจกกรรมฐาน ซึ่งในครั้งพุทธกาล ทัพพมัลลบุตรบรรลุอรหัตตผลด้วยการพิจารณาเช่นนี้
|
1454.
กราบเรียน อ .ดร สนอง วรอุไรที่เคารพ
ผมขอกราบเรียนถาม อ.ว่าเวลาผมทำบุญถ้า ผมจะอธิษฐานว่า . ข้าพเจ้าขอถวายบุญกุศลนี้เพื่อบูชาพระคุณแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ และขออุทิศบุญกุศลนี้ให้แก่เจ้ากรรมนายเวรทุกภพทุกชาติ. จะได้หรือไม่ครับเพราะว่าได้ถวายบูชาพระพุทธเจ้าแล้ว และผมมีความสงสัยว่าทำบุญครั้งหนึ่งเราสามารถอุทิศให้ใครได้หลายๆคนหรือเปล่าครับทั้ง พ่อแม่ ครูอาจารย์ เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ เทพเทวา พรหม และบุญเดิมนี้ก็อุทิศได้หลายครั้งใช่ไหมครับ
กราบขอบพระคุณครับ
คำตอบ
ได้ครับ ผู้ใดมีสติและอุทิศบุญให้กับผู้ปรารถนาจะให้ และเขามาอนุโมทนาบุญได้ การอุทิศบุญย่อมสัมฤทธิ์ผล ผู้ไม่ประมาทนิยมประพฤติบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ อยู่เสมอ ผู้มีปัญญาเลือกที่จะประพฤติบุญที่ให้อานิสงส์มาก อาทิ ปฏิบัติชอบ ทำทานกับผู้ทรงคุณธรรมสูง ให้ธรรมะเป็นทานแก่สงฆ์ที่มาจากจตุรทิศ ฯลฯ เมื่อมีบุญมากจึงสามารถอุทิศได้มาก ได้หลายครั้ง และอุทิศได้กว้างไกล เมื่ออุทิศบุญมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
|
1453.
เรียนท่านอาจาย์สนองที่เคารพ
ผมมีเรื่องที่สร้างความพุ่งพล่านในใจจึงหวังว่าท่านอาจารย์จะช่วยให้คำแนะนำ
เรื่องมีอยู่ว่าวันนึงผมได้ขับรถแล้วเกิดการเฉี่ยวชนขึ้น ผมจึงได้จอดรถไปต่อว่าคู่กรณีเพื่อให้เขาขอโทษ แต่ดูแล้วเรื่องไม่น่าจะจบเพราะคู่กรณีก็เมาทั้งยังมาสองคนผมเองก็คิดว่าช่างมันเถอะไม่อยากมีปัญหา แต่ผมเองขณะโต้เถียงนั้นอาจจะใช้วาจาที่ไม่ดีไปบ้าง ซึ่งยอมรับว่าเกิดอารมณ์เนื่องจากผมคิดว่าก็เราไม่ผิดนี่นา จึงได้พยายามสงบใจแล้วคิดว่าช่างมัน หลังจากแยกย้ายผมก็ได้ขับรถไปติดไฟแดง คู่กรณีก็ขับรถมอไซค์ตามมาแล้วมาทุบกระจกรถ แต่ผมเองก็ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด
ผมเองก็งงกับเหตุการณืที่เกิดขึ้นทั้งเขาเองก็ปิดป้ายทะเบียนและประกอบกับคราแรกผมเองไม่อยากมีเรื่องจึงไม่ได้จำป้ายทะเบียนไว้ จึงได้ขับรถไปแจ้งความแต่ร่างกายมีอาการสั่น แล้วพลันอารมณ์ขณะนั้นรู้สึกได้ว่าหากเราตายตรงนี้คงจะตายแบบงุนงงเป็นแน่ จึงคิดว่าคนที่ใกล้ตายนั้นเขาคงรู้สึกแบบนี้นี่เองณ.ตอนนี้ผมเอง เมื่อกลับบ้านมา ผมจึงพยายามข่มใจทำสมาธิ แต่ใจมันพุ่งพล่านไม่สงบเลยครับ ผมเองก็ทราบว่าอะไรดีไม่ดี แต่มันไม่อาจข่มใจได้ ใจหนึ่งก็อยากให้อภัยอีกใจก็คิดแก้แค้นตลอดเวลา เนื่องจากบริเวณที่โดนนั้นเป็นเส้นทางที่ต้องผ่านกลับบ้าน กลัวว่าเขาจะมาทำร้ายอีก ตอนนี้ใจผมมันระแวงกลัวเข้าจะมาดักทำร้ายอีก ไอ้ครั้นจะติดตามตัวมาให้กฎหมายลงโทษ ผมเองคิดว่าไม่น่าจะก่อให้เกิดผลอะไรมากนัก รังแต่จะสร้างความแค้นเพิ่มขึ้น อย่างที่บอกอาจารย์ไปผมไม่อาจข่มใจได้จริงๆ ตอนนี้ในหัวเองพอว่างจะคิดแต่ว่าแก้แค้นเนื่องจากกลัวว่าเขาจะมาดักทำร้ายอีก แต่สักพักก็ให้อภัย มันจะเป็นอย่างนี้อยู่ตลอดครับ ผมเองก็สังเกตตัวเองว่ามีอาการเครียด เนื่องจากจะหายใจถี่อยู่ตลอดเวลาที่คิด ผมก็พยายามกำหนดตามอารมณ์ที่เกิด แต่ยอมรับว่าบางครั้งกลับสร้างความสับสนหนักขึ้นอีก เพราะผมกลัวว่าเราให้อภัยเขา ให้อภัยตัวเอง แต่เขาจะไม่ยอมให้อภัยเราแล้วจะกลับมาล้างแค้น หากบังเอิญมาเจอกันอีก
ผมจึงใคร่ถามปัญหาท่านอาจารย์ว่า อาจารย์พอจะมีวิธีแนะนำแก้ไขปัญหาและทำให้ใจผมสงบได้ไหมครับ
คำตอบ
ปัญหานี้แก้ได้ด้วยการทำเหตุใหม่ให้ถูกตรงเป็นสองทางคือ ให้อภัยเป็นทาน ทุกครั้งที่มีเหตุขัดใจเกิดขึ้น ต้องกำหนดว่า ช่างมันเถอะๆๆๆๆ ไปเรื่อยๆจนกว่าความขัดใจหมดไป และในทางที่สอง สวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย แล้วต่อด้วยบทสวดมนต์ป้องกันภัยมิให้เข้าถึงตัว (โมรปริตร) ซึ่งแบ่งการสวดออกเป็นสองตอน
ตอนเช้า ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น สวดมนต์ที่ขึ้นต้นด้วย อุเทตะยัง ..... ทิวะสัง แล้วสวดต่อด้วย เย พฺราหฺมะณา .... เอสะนา
ตอนเย็น ก่อนดวงอาทิตย์ตกดิน (น้ำ) สวดบทมนต์ที่ขึ้นต้นด้วย อะเปตะยัง .... รัตติง แล้วสวดต่อด้วย เย พฺราหฺมะณา .... เอสะนา
ผู้ใดสวดมนต์บทดังกล่าว ด้วยใจจดจ่ออยู่กับบทมนต์ที่สวด และมีสัจจะเป็นแรงสนับสนุน ด้วยการสวดทุกวันได้แล้ว ภัยอันตรายย่อมไม่เข้าใกล้ผู้นั้น
|
1452.
กราบท่านอาจารย์สนอง วรอุไรที่เคารพอย่างสูง
จดหมายฉบับนี้หนูตั้งใจเขียนมาขอขมาอาจารย์สนองคะ อาจารย์คะจริงๆแล้วหนูเป็นคนที่ใจดีมาตั้งแต่เป็นเด็ก ชอบทำทานมากเพราะมันเห็นผลเป็นรูปธรรม แล้วหนูมักจะเป็นคนขี้สงสารคนอื่นเสมอ ช่วยเหลือใครได้ก็พยายามทำ แม้ที่เมืองนอก บางทีเดินไปมหาวิทยาลัยเห็นขอทานนั่งหนาวกลางหิมะกับสุนัข หนูมีเงินอยู่ 10 ยูโร ก็แบ่งให้เค้าไปครึ่งหนึ่ง ให้ไปหาซื้อแซนวิสทานในที่อุ่นๆ หนูทำงานส่งตัวเองเรียนที่เมืองนอกตั้งแต่ปริญญาโทคะ
แต่เหตุเกิดเพราะเมื่อประมาณ สามปีกว่าหนูได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ทำชีวิตให้ได้ดีและมีสุข หนูเกิดความศรัทธา เห็นตามเหตุและผลที่อาจารย์เขียน จึงหาหนังสือ ยิ่งกว่าสุขเมื่อจิตเป็นอิสระ มาอ่านเพิ่ม พออ่านถึงบทที่ 5 เรื่อง "ความตาย" ผ่านไปหน้าที่ 88-89 เกี่ยวกับพระเจ้าอโศกมหาราช สรุปได้ความตามความเข้าใจของหนูว่า จิตดวงสุดท้ายก่อนจะละจากร่างกาย ถ้าหวนระลึกถึงสิ่งไม่ดี หรืออกุศลกรรมแม้เพียงเล็กน้อยในช่วงวินาทีนั้น ทั้งที่ตลอดชีวิตหมั่นสร้างบุญ ทานและมหากุศลมาตลอด จิตสามารถไปเกิดในอบายภูมิได้... ขณะนั้นหนูรู้สึกว่าไม่ยุติธรรม และขาดสติพิจารณา เลยปาหนังสือที่ถืออยู่ลงที่พื้นปลายเตียง ไม่หยิบมาอ่านอีกจนกระทั่งปีต่อมา 2551 หนูมีโอกาสกลับบ้านที่เมืองไทยเพื่อไปเยี่ยมครอบครัว และเก็บข้อมูลงานวิจัยปริญญาเอก ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ คุณแม่เกิดป่วยที่ลำไส้ และคุณหมอเรียกหนูเข้าไปคุยว่าจากการตรวจผลเลือด พบว่าคุณแม่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะเป็นมะเร็งขั้นแรก หนูจัดการแนะนำให้คุณแม่ค่อยๆเปลี่ยนวิถีการกินใหม่ ทานข้าวกล้อง และอื่นๆที่หนูค้นหาจากหนังสือเกี่ยวกับแพทย์ทางเลือก... และตัวหนูเองช่วงนั้นก็มีความไม่สบายใจหลายเรื่อง ทั้งเรื่องงาน สุขภาพ และเรื่องเพื่อน พอเพื่อนสนิทคนหนึ่งทราบปัญหาของหนู จึงชวนหนูไปถือศีล 8 และฝึกปฏิบัติกรรมฐานที่วัดอัมพวัน หนูตอบตกลงทันทีรู้สึกว่าเป็นโอกาสดี ที่หนูควรทำเพื่อแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวร และทำบุญสร้างกุศลให้คุณแม่ที่กำลังป่วย
ที่วัดอัมพวัน ทุกคนได้ทำพิธีขอศีล 8 จากหลวงพ่อจรัลในศาลารัชกาลที่ 5 นับตั้งแต่วันแรกที่ฝึกจิตให้มีสติโดยการเดินจงกลม นั่งสมาธิกำหนดลมหายใจเข้าออก จบลงด้วยการแผ่กุศลทุกวัน ระหว่างปฏิบัติหนูรู้สึกถึงบางสิ่งบางอย่างวนเวียนใกล้ตัว บางวันเห็นแสงทองเป็นรูปทรงแปลกๆตอนนั่งสมาธิ แต่ทุกครั้งที่เห็นหนูพยายามข่มใจระลึกรู้สติจนครบกำหนดเวลาฝึก... รู้สึกปวดทรมานร่างกายมากอยู่หลายครั้ง... พอจิตหลุดหายก็พยายามเรียกกลับ... ปฏิบัติตามที่ทางวัดกำหนด จนกระทั่งวันที่ 3 หรือ 4 ช่วงกลางวันมีเหตุ ให้ทุกคนต้องย้ายไปฝึกปฏิบัติกรรมฐานชั่วคราว ที่ระเบียง นอกอาคาร หนูนั่งสมาธิปฏิบัติได้สักพัก ก็เห็นเป็นภาพนิ่งเคลื่อนไหวในมุมสูง ค่อยๆเลื่อนผ่านหน้าหนูหายไป เป็นภาพเรือพระที่นั่งโบราณล่มจมลงในแม่น้ำ แล้วปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์มาคู่กัน และสุดท้ายภาพหน้าเพื่อน ที่กำลังมีปัญหากันแต่ในที่นี้เค้าตาบอดหนึ่งข้าง... หลังจากนั้นแม่ชีประกาศให้ทุกคนเปลี่ยนสถานที่ไปปฏิบัติที่ศาลารัชกาลที่ 5 ในช่วงเย็น ในช่วงเย็นนี้ระหว่างนั่งสมาธิฝึกจิต ได้สักพักหนูรู้สึกคล้ายตัวเองหลุดหายไปจากคนอื่นๆ... มันเงียบมาก... แต่รู้สึกว่ายังคงอยู่ที่ศาลาเดิมนี้ แล้วจิตไปเห็นหน้าพระภิกษุชรารูปหนึ่ง เห็นแต่หน้าช้ำๆ ใหญ่โตผิดปกติมาก แลดูหน้ากลัวอยู่ทางด้านหล้งโต๊ะหมู่บูชาทางขวามือด้านหน้าศาลา ตอนนั้นพยายามตั้งสติ รู้เลยว่าไม่ใช่มนุษย์ คล้ายเปรต แต่ก็งงว่าพระจะเป็นเปรตได้อย่างไร... มองมาที่หนู หนูรวบรวมสติแล้วแผ่กุศลให้ตอนนั้น (ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าทำถูกไหม... ไม่รู้ว่าเรามีบุญพอที่จะทำแบบนั้นหรือเปล่า...) หลังจากนั้นเห็นพราหมณ์ 3 องค์ด้านซ้ายมือของศาลา จริงๆหนูไม่แน่ใจว่าเป็นพราหมณ์หรืออะไร เพราะทั้งหมดนุ่งโจงกระเบนขาว มีสไบขาว ไม่ใส่เสื้อ เกล้าผมมวย ผิวพรรณขาวเหลือง ละเอียด ผ่องใสมาก กำลังรีบเดินลงจากศาลาคล้ายกลัวใครเห็น เห็นเหล่านางละครสาวๆนุ่งโจงกระเบนแดง กำลังซ้อมรำคล้ายเหล่านางฟ้าด้านขวาของศาลา เห็นคนจีนแต่งกายสบายๆแบบคนมีฐานะ นั่งบนม้านั่งอย่างดีด้านหน้าศาลา ภาพสุดท้ายหนูเห็นหลวงพ่อจรัล ยืนด้านหน้าเวทีห่มจีวรเรียบร้อยงดงาม มองมาที่หนู น้ำตาหนูไหลออกมาจากตาด้านซ้าย... ตอนแรกหนูไม่อยากจะเชื่อ คิดว่าเราผิดเพี้ยนเพราะอาหาร หรืออากาศแต่หลังจากนั้นไม่นาน คุณแม่ไปฟังผลตรวจเลือดอีกปรากฏว่า ความเสี่ยงจากมะเร็งลดลงไปมากแถบจะเป็นปกติ (ปัจจุบันคุณแม่ดีขึ้นมาก คุณแม่มักพูดเสมอว่าตั้งแต่หนูเกิดมา แม่ป่วยมาตลอด เดี๋ยวเป็นโน้นเป็นนี่ ยิ่งทำให้หนูรู้สึกรับผิดชอบต่อสุขภาพของคุณแม่)
จากนั้นมา หนูจึงเริ่มศึกษาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนามากขึ้น และเลิกมองแบบฝรั่งที่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นปรัชญาหนึ่ง หนูอ่านหนังสือที่มีเหตุและผลปรากฏตามผู้รู้เคยมีประสพการณ์ตรงมากขึ้น รวมทั้งย้อนกลับไปอ่าน ยิ่งกว่าสุขเมื่อจิตเป็นอิสระ ของอาจารย์จนจบเล่ม หนูก้มลงกราบหนังสือ รู้สึกละอายใจมาก หนูสำนึกผิดที่ปาหนังสือลงพื้น และไม่เชื่ออาจารย์สนองในครั้งแรกที่อ่าน เดี๋ยวนี้หนูอ่านทวนไปมา ทางสายเอก ได้อ่านเช่นกัน หนูอ่านหนังสือธรรมะไปพร้อมกับการฝึกพัฒนาจิตตามที่ได้เรียนมาช่วง 5 วันและหาอ่านเพิ่มจากหนังสือคู่มือปฏิบัติธรรม จากพระปฏิบัติและอาจารย์ผู้รู้ท่านอื่น รวมทั้งหมั่นคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนที่เมืองไทย ที่หันมาฝึกพัฒนาจิตตามทางสายเอกนี้ หนูเปิดฟังการบรรยายธรรมทางอินเตอร์เนต ของอาจารย์บ่อยมาก ฟังแล้วพิจารณาตาม จดบันทึก ทบทวนเพื่อให้เข้าใจท่องแท้ หนูเห็นจริงว่า การใช้แต่สมองและแนวคิดตะวันตกบางอย่าง มองดูความจริงนั้นไม่สามารถทำให้เราเข้าถึงความจริง ที่ตาเนื้อตาหนังมองไม่เห็นได้ ชีวิตหลังความตายรอเราอยู่ทุกคน สิ่งที่หนูเห็นในการฝึกจิตครั้งแรกที่วัดอัมพวัน ทำให้หนูทบทวนได้ในขณะนี้และพิจารณาว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ให้โอกาสหนู ได้เห็น สัมผัสตัวอย่างเบื้องต้นของภพภูมิหลังความตาย และทุกครั้งที่หนูสวดมนต์ แผ่กุศล หนูจะขอขมาพระรัตนตรัย บิดามารดา ครูบาอาจารย์ และหนูระลึกถึงอาจารย์สนองเสมอ ระลึกถึงเมตตาที่อาจารย์นำความรู้ และประสพการณ์จริงมาถ่ายทอดแก่พุทธศาสนิกชน
วันนี้หนูขอกราบขอขมาอาจารย์สนอง วรอุไรด้วยกายกรรม 3 วจีกรรม 4 มโนกรรม 3 กรรมอันหนึ่งอันใดที่หนูได้มีความสบประมาท พลาดพลั้งต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ต่ออาจารย์สนอง วรอุไร ขออาจารย์จงโปรดเมตตา ให้อภัยทานอโหสิกรรมให้แก่หนูด้วยคะ
และขอผลจงพึงสำเร็จแก่สุขภาพ ของบิดามารดาของหนู และขอให้สิ่งติดขัดใดๆ ที่เกี่ยวกับงานวิจัยจงผ่านพ้นไปตามเหตุ และปัจจัยที่หนูพยายามพิจารณา และปฏิบัติ แก้ไขในขณะนี้ (หนูได้รับทุนวิจัยโดยผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ของมูลนิธิที่เมืองไทย ท่านเห็นความสำคัญ และเสนอทุนช่วยเหลือให้ ซึ่งหนูจำเป็นต้องจบอย่างช้าต้นปี 2554 คะ)
สุดท้ายนี้หนูขออนุญาตอวยพรให้อาจารย์นะคะ ขอให้พลังแห่งบุญกุศล มหากุศล เมตตา ทาน และการเข้าถึงซึ่งภาวนามยปัญญา ที่อาจารย์หมั่นเพียรสรัาง สั่งสมมายาวนานกว่า 30 ปีจงช่วยให้อาจารย์สนอง วรอุไรได้พบพระนิพพานด้วยเทอญ
ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์สนอง วรอุไรเป็นอย่างสูงคะ
ผู้รักการเรียนรู้
ปล: หนูขอประทานโทษที่เขียนอธิบายมายาวมาก จุดประสงค์เพื่อให้อาจารย์ชี้แนะ ตักเตือนว่าสิ่งที่หนูเห็นและเข้าใจตรงตามเหตุและผลหรือเปล่าคะ
สักวันเมื่อมีโอกาสหนูจะกลับเมืองไทยไปไหว้อาจารย์ด้วยตัวเองคะ กราบขอบพระคุณอาจารย์สนองอีกครั้งคะ
คำตอบ
ผู้ตอบปัญหาได้อโหสิแล้ว เจ้าของจดหมายเปรียบได้กับดอกบัวที่กำลังแย้มบาน .... สาธุ จงบานต่อไปและบานให้ถึงที่สุด แล้วจะเห็นว่าปริญญาเอกทางโลกนั้น ยังจำเป็นต้องใช้ทำงานให้กับโลก แต่ปัญญาเห็นถูกตามธรรมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาใจ จำเป็นสำหรับส่องนำทางชีวิตให้ดำเนินไปอย่างไร้อุปสรรคขัดขวาง และใช้แก้ปัญหาให้กับชีวิตดีที่สุด
|
1451.
กราบเรียนท่านอาจารย์สนอง วรอุไรที่เคารพ
1. ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำไปเป็นบาปหรือเปล่า... ด้วยความที่บ้านภรรยาผม ที่ผมอยู่นั้นมีเนื้อที่ในบ้านค่อนข้างจำกัด..คือมีชั้นเดียว แล้วผมก็ได้นำโต๊ะหมู่บูชา และพระพุทธรูป พระเครื่อง(สมเด็จพระญาณสังวร หลวงปู่เณรคำ ฉัตติโก ฯลฯ) ไปไว้ในห้องนอนด้วยเพื่อความสะดวกในการสวดมนต์นั่งสมาธิ มันจะเป็นบาปไหมที่ผมทำแบบนี้... เพราะห้องนอนต้องมีกิจของฆราวาส... แต่เรื่องการวางเท้าผมจะไม่ชี้ไปทางพระพุทธรูปเด็ดขาด
ผมพยายามคิดในทางที่ดีว่าผมมีความจำเป็น ผมไม่มีเจตนาคิดและทำแบบนี้ ผมมีความศรัทธาด้วยซ้ำ ถ้าผมจำไม่ผิด หลวงพ่อจรัญเคยบอกไว้ในหนังสือไว้ว่า ใครมีโต๊ะหมู่บูชาไว้ในห้องนอน เทวดาจะไม่สถิตย์พระพุทธรูป... ผมไม่ติดใจว่าจะมีอะไรมาสถิตย์หรือไม่ แต่ที่ผมทำมันเป็นบาปไหมครับ
2. ทุกเดือน ผมจะส่งเงินเลี้ยงดูพ่อแม่ตามกำลัง (ผมทำงานรับราชการเงินเดือนเพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน) ไม่เคยขาดการส่งตั้งแต่รับราชการมาเกือบสามปีแล้ว ตั้งแต่เด็กจนทำงานไม่เคยทำตัวให้พ่อแม่เสียใจในเรื่องไม่ดี.. แต่ผมไม่ค่อยได้มีโอกาสปรนนิบัติอยู่ใกล้ๆเพราะทำงานที่กรุงเทพ อยู่กรุงเทพตั้งแต่มาเรียนจนทำงานเกือบ 13 ปีแล้ว ยังดีที่มีพี่สาวดูแลอยู่ ยากถามอาจารย์ว่า การดูแลพ่อแม่แค่ส่งเงินให้แต่ละเดือนมันเพียงพอหรือไม่กับการเลี้ยงดูบิดามารดา มันดูน้อยไปไหม ขาดตรงไหน ควรเพิ่มตรงไหนครับ
3. ขณะที่ภรรยาตั้งครรภ์ ถ้าได้ฟังธรรมะเพื่อเผื่อแผ่ถึงลูก ลูกจะได้สิ่งดีๆติดตัวมาตอนคลอดไหมครับ (ถ้าไม่รวมกับกรรมเก่าที่ติดตัวมา)
4. ผมเป็นช่างวาดรูป เคยวาดรูปพระบฏ(ผืนผ้ายาวๆ วาดรูปเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า) บางครั้งมีความจำเป็นต้องนั่งทับพระพักตร์พระพุทธเจ้า เพื่อจะวาดได้ถนัด แบบนี้ถือว่าเป็นบาปไหมครับ (แต่ก่อนวาดก็กราบขอขมาก่อน)
5. ก่อนผมและเพื่อนอีกคนจะสอบเข้ารับราชการได้ ได้ร่วมกันวาดรูปพระเจ้าสิบชาติจำนวน 120 รูป เพื่อแสดงนิทรรศการในงานวันอาสาฬหบูชาที่ท้องสนามหลวง ในตอนกลางคืนของวันสุดท้ายที่กำลังจะวาดสำเร็จ ได้มีกลิ่นโชยเข้ามาในห้อง ผมกับเพื่อนถึงกับมองหน้ากัน กลิ่นที่ได้รับนั้นเหมือนกลิ่นน้ำหอมโบราณ หอมมากครับ(หอมอยู่นาน) ถ้าผมจะคิดว่า เป็นกลิ่นของเทพยดามาอนุโมทนาในอานิสงส์ครั้งนี้ จะเป็นไปได้ไหมครับ เพราะไม่ทราบว่าเทวดามีกลิ่นประจำองค์ด้วยหรือไม่ หรือถ้าอาจารย์จะกรุณา ถ้าอาจารย์เคยได้รับรู้กลิ่นเทวดาช่วยอธิบายลักษณะกลิ่นได้ไหมครับ
( บางเรื่องที่ถามอาจไร้สาระ ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยสงเคราะห์ด้วยครับ เพราะติดข้องในใจอยู่นานแล้วครับ)
ขอบพระคุณอย่างสูงครับ
ภูชัย
คำตอบ
(๑). ไม่มีเจตนาลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ถือว่าเป็นบาป
(๒). การเลี้ยงดูพ่อแม่ด้วยการส่งเงินไปให้ ถือว่าเป็นจริยธรรมที่ลูกดีพึงปฏิบัติ นอกจากนี้ยังมีจริยธรรมของลูกที่อยู่ห่างไกล สามารถประพฤติได้ เช่น ดำรงวงศ์สกุลมิให้เสื่อมเสีย ประพฤติตนเป็นทายาทที่ดี ไม่นำความไม่สบายใจไปสู่พ่อแม่ เมื่อใดที่ไปทำบุญแทนท่าน (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ต้องสื่อสารให้พ่อแม่ทราบ ด้วยการโทรศัพท์บอกให้รู้ เมื่อท่านกล่าวอนุโมทนา พ่อแม่ย่อมได้รับบุญนั้น อนึ่งการส่งหนังสือธรรมะไปให้พ่อแม่อ่าน ส่งซีดีธรรมะไปให้ท่านฟัง ส่งวีดีโอธรรมะไปให้ท่านดู ฯลฯ ยังเป็นการตอบแทนคุณของพ่อแม่ได้อีกด้วย
(๓). ได้แน่นอนครับ
(๔). อิริยาบถใดที่ผู้ถามปัญหาได้กระทำแล้ว หากมีจิตระลึกได้และทำให้ไม่สบายใจ อิริยาบถนั้นถือว่าเป็นบาป
การขอขมากรรม หมายถึง กล่าวคำขอโทษที่ประพฤติล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ด้วยกาย วาจาและใจ เพื่อให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ยกโทษให้ ผู้ขอขมากรรมต้องไม่ประพฤติล่วงเกินเช่นนั้นอีก การขอขมากรรมจึงจะถือว่าสัมฤทธิ์ผล
(๕). กลิ่นหอมที่ผู้วาดรูปสัมผัสได้นั้น เป็นการแสดงความยินดีของเทวดา กลิ่นหอมอันเป็นทิพย์มีลักษณะหอมทวนลม หอมได้ไกลกว่ากลิ่นหอมใดๆที่มีอยู่ในภพมนุษย์
|