1

 

 

 

                                                       

คำถาม-คำตอบ ข้อ 1251-1300

1300.
กราบเรียนอาจารย์ค่ะ

หนูขออนุญาตเรียนสอบถามดังนี้ค่ะ

1. จากการที่ได้อ่านหนังสือบางเล่ม ที่ว่าการที่เราทำสังฆทานในทุกวันนี้ นี่ผิดแบบจากในพระไตรปิฎก ซึ่งได้เขียนถึงการทำสังฆทานที่ถูกต้องไว้ การทำไม่ถูกต้องนั้น แม้จะได้ชื่อว่าทำสังฆทานเหมือนกัน แต่ทำให้ได้บุญลดน้อยลง หรือได้บุญไม่เท่ากับการทำสังฆทานอย่างถูกต้อง นั้นเป็นจริงหรือไม่คะ

2. หนูเคยได้ซื้อของเพื่อเตรียมใส่บาตรพระ ในวันรุ่งขึ้น แต่บางครั้งก็ตื่นไม่ทัน ก็กลัวของเสีย ก็ทานเองบ้าง แบ่งคนอื่นทานบ้าง ก็คิดว่าไม่เป็นไร วันต่อไปก็ค่อยซื้อใส่บาตรใหม่ อย่างนี้เป็นบาปหรือไม่คะ

3. หนูมีเงินเก็บอยู่ส่วนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ต้องสำรองไว้ในการทำธุรกิจของครอบครัว ( หนู และสามี)
ซึ่งตอนนี้หนูและสามีเริ่มทำธุรกิจใหม่กัน และขณะนี้ไม่มีรายได้เข้าค่ะ หนูและครอบครัวต้องใช้เงินเก่าที่มี จนกว่าจะทำสำเร็จ และดูต่อไปว่าจะขายได้อย่างที่คิดหรือไม่ (หนูมีลูกสาวหนึ่งคนที่ต้องดูแลค่ะ) และหนูมีพ่อ (ซึ่งบวชเป็นพระ) ท่านอยากได้กุฏิ ในที่บริเวณแห่งหนึ่งในวัดน่ะค่ะ ท่านไม่ได้พูดขอนะคะ เพียงแต่ท่านเคยพูดว่าอยากอยู่ตรงนั้น เงินที่เก็บไว้ก็พอที่จะสร้างกุฎิให้ท่านได้ค่ะ และก็อยากให้ท่านได้สมใจ แต่ในขณะนี้ หนูมีอยู่ 2 ความคิดเห็นค่ะ คือ
หนูควรปลูกให้ท่านตอนทีธุรกิจหนูไปได้แล้ว ครอบครัวจะได้ปลอดภัย และอีกความคิดก็คือถ้าหนูกลัวอนาคตความมั่นคงของตัวเอง และครอบครัวอย่างเดียว และรอ หากเกิดอะไรขึ้นก่อน หนูอาจไม่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่อยากทำให้พ่อ เพื่อตอบแทนบุญคุณน่ะค่ะ

ความคิดแบบใดถึงจะถูกต้อง ขอรบกวนอาจารย์ช่วยชี้แนะแนวทางหนูด้วยนะคะ

ขอกราบขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ นะคะ

คำตอบ
   (๑) ทานที่มีผู้ศรัทธาถวายไว้แก่หมู่สงฆ์ เรียกว่า สังฆทาน ผู้ถวายได้บุญมาก ตรงกันข้าม ทานที่มีผู้ศรัทธาถวายให้แก่สงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง เมื่อสงฆ์รับถวายแล้ว นำไปบริโภคใช้สอยเป็นการส่วนตน อย่างนี้เรียกว่า ปุกคลิกทาน ผู้ถวายได้บุญน้อย

   (๒) เจตนาซื้อของใส่บาตรในวันรุ่งขึ้น แต่ตื่นไม่ทันจึงมิได้ใส่บาตร การประพฤติเช่นนี้มีบาปเกิดขึ้นตรงที่ไม่รักษาสัจจะ แล้วนำของที่เตรียมไว้ใส่บาตรมากิน โดยคิดว่าวันถัดไปค่อยซื้อหามาใส่บาตรใหม่ หากทำแล้วไม่สบายใจถือว่าเป็นบาป และเช่นเดียวกัน ความสงสัยในการกระทำของตน แล้วเขียนมาถามผู้รู้ ความสงสัยนั้นถือว่าเป็นบาป

   (๓) ความคิดทั้งสองรูปแบบ เป็นความคิดที่เกิดขึ้นกับผู้รู้ไม่จริง ผู้รู้จริงรู้ว่า ความคิดที่ดีงามที่เป็นปัจจุบันขณะ ความคิดเช่นนี้ถือว่าเป็นความคิดที่ถูกต้องตามธรรม
  

1299.

อยากให้ท่านช่วยอนเรื่องของขันธ์ 5 หน่อยคะ อันที่จริงรู้ว่า ประกอบด้วย เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนาคือความรู้สึก ก็คือ สุข หรือทุกข์ สัญญ คือความจำได้ สังขาร คือการปรุงแต่ง แต่วิญญาณ ยังไม่ค่อยเข้าใจยังเอาไปสับสนกับเวทนาอยู่คะ อยากให้ท่านช่วยอธิบายหน่อยคะ

ส่วนคำถามนี้ค้างคาใจมานานคะ ว่า ความคิดปรุงแต่งคืออะไร

ใช่ความคิดฟุ้งซ่านหรือป่าวคะ แล้วถ้าเราคิดในชีวิตประจำวันนี้ใช่ความคิดปรุ่งแต่งหรือเปล่าคะ


ถ้าหากเราต้องการที่จะหยุกความคิดปรุงแต่งมีวิธ๊การอย่างไรให้หลุดพ้นจากความคิดปรุงแต่ง

.......... ขอบคุณค่ะ

คำตอบ
   ขันธ์ ๕ ประกอบด้วยรูปขันธ์ ส่วนที่เหลือเป็นนามขันธ์ เรียกว่า เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์

เวทนา หมายถึง ความสุข ความทุกข์ ความไม่สุขไม่ทุกข์ ที่ปรากฏเป็นอารมณ์ขึ้นกับจิต เวทนาล้วนดำเนินตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อใดเวทนาเข้าสู่ความเป็นอนัตตา ผู้เข้าถึงสัจจธรรมนี้แล้ว ย่อมเห็นว่าเวทนาไม่มีตัวตนแท้จริง จิตจะปล่อยวางเวทนา แล้วอารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ ไม่สุข ไม่ทุกข์ จะไม่เกิดขึ้นกับดวงจิต

ส่วนวิญญาณขันธ์ หมายถึง ความรู้ที่เกิดขึ้นกับใจ ผู้เข้าถึงสัจจธรรมนี้ได้แล้ว ย่อมเห็นว่าความรู้ในเรื่องอารมณ์ที่เกิดกับใจเป็นสิ่งไม่มีตัวตนแท้จริง จิตจะปล่อยวางความรู้ที่เกิดขึ้นกับใจ แล้วทำให้จิตว่างเป็นอิสระจากความรู้ที่เกิดขึ้นกับใจนั้น

อนึ่งการอ่านคำตอบเป็นเพียงสุตมยปัญญา ผู้อ่านย่อมจำสิ่งที่ตอบได้ แต่หากผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา จนเข้าถึงปัญญาเห็นแจ้งในวิญญาณขันธ์ได้แล้ว ความถ่องแท้ในการรู้เห็นเข้าใจในวิญญาณขันธ์ย่อมเกิดขึ้น
  

1298.
อาจารย์สนองที่เคารพ

   ดิฉันมีหลาน 1 คน เดิมอยู่ด้วยกันกับดิฉันและคุณแม่ (ย่าเด็ก)ที่ชลบุรี เกเร นักเลง ด่าย่า ไม่เรียนหนังสือ โรงเรียนเชิญออก ดิฉันส่งไปอยู่กลับแม่เขาที่กรุงเทพฯ(พระโขนง) ให้โอกาสทุกเรื่องจนถึงโอกาสสุดท้ายทั้งหมด เรื่องเรียนก็เสียเงินให้โรงเรียนใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ในที่สุดโรงเรียนก็เชิญออก และตัวเขาก็หนีแม่ไปอยู่บ้านที่พ่อเขาเสีย (บางกะปิ) และอยู่คนเดียว ให้ขอเงินจากเพื่อนบ้านใช้วันละร้อย บอกให้เขานั่งคิดนอนคิดไประหว่างที่ไม่มีอะไรทำและไม่ได้เรียน ดิฉันรู้ว่าเขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อกลับมาอยู่กับย่าที่ชลบุรี แต่ดิฉันไม่อนุญาต บอกต้องเรียน จบ ม.3 ก่อนแล้วจะให้กลับมา เพราะกลัวจะกลับมาประพฤติแบบเดิม และย่ามีแต่เสียใจเสียน้ำตาและเสียเงิน ความดันก็ขึ้น ทุกข์ทรมาน

   ในวันนี้ แม่เขาโทรมาบอกว่าเขาต้องการบวชเพื่อทดแทนบุญคุณย่าและแม่ 1 เดือน ให้บอกดิฉันหน่อย(ดิฉันเคยพาไปโครงการคุณแม่สิริที่นครนายก ไปอยู่ 1 คืน หนีกลับ ) เขาเลยไม่กล้าบอกเอง เพราะไม่เคยทำอะไรสำเร็จตามที่พูดสักครั้งหนึ่ง ดิฉันคิดจะบวชให้เขาแต่ต้องการจะให้เขาได้การเจริญภาวนา ปฏิบัติธรรมบ้าง เพราะเขาเคยบวชให้พ่อตอนพ่อตาย อยู่วัดในกรุงเทพฯเล่นเกมส์ ได้อีกด้วย

   จะขอเรียนถามอาจารย์ว่า ด้วยข้อเท็จจริงของหลานคนนี้ ดิฉันควรจะพาเขาไปบวชที่วัดไหน จะเป็นวัดป่า หรือวัดใดที่ต่างจังหวัดห่างไกลจากความเจริญ ดิฉันก็จะพาไป อาจารย์กรุณาเมตตาด้วย

   ด้วยความเคารพอย่างสูง

คำตอบ
    ไม่มีใครแก้ปัญหาใครได้อย่างแท้จริง ดังนั้นผู้มีปัญหาต้องแก้ไขด้วยตนเอง สิ่งที่ผู้ตอบปัญหาชี้แนะให้ได้คือ นำเขาไปบวชเณรและปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงปู่พุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ซึ่งต่อไปในวันข้างหน้า เขาจะเป็นอย่างไรต้องปล่อยวาง คือช่วยเท่าที่ทำได้เท่านั้น แล้วจะไม่ทุกข์ใจ
     

1297.
รบกวนถาม ดร สนอง วรอุไร

กรณีที่เทวดาตั้งแต่ชั้นที่ 1 ถึง 6 นั้น ท่านสามารถจะบรรลุถีงขั้นอรหันเเละนิพานไดไหมครับ โปรดช่วยตอบด้วยครับอาจารย์

ผู้มีความรู้น้อย

คำตอบ
    เทวดาหมายถึงชาวสวรรค์ ทั้งเพศชายและเพศหญิง เทวดาในทุกชั้นของสวรรค์ มีศักยภาพที่จะพัฒนาจิตตนเองให้บรรลุอรหัตตผลได้
  

1296.
เรียนท่านอาจารย์ที่นับถือ

รบกวนเรียนถามอาจารยดังนี้ค่ะ
    1. หากหญิงสาวติดต่อกับพระสงฆ์ผ่านทาง website ธรรมะ หรือทาง Email ส่วนตัว แต่เป็นไปในเรื่องอรรถเรื่องธรรม จะผิดหรือบาปมั้ยคะ ช่วยอธิบายด้วยนะคะ

   2. ดิฉันกับเพื่อนมีข้อสงสัยค่ะ เห็นไม่ตรงกัน ที่สุดจึงต้องมารบกวนถามอาจารย์ค่ะ เพื่อนว่าพระพุทธองค์สอนว่า ทุกอย่างไม่มีเรื่องบังเอิญ สิ่งที่เกิดล้วนมาจากเหตุและปัจจัยทั้งสิ้น เพื่อนบอกว่าดังนั้นการสร้างกรรมใหม่จึงไม่น่าจะมีได้ เพราะทุกการกระทำที่ทำไปนั้น ล้วนต้องมาจากเหตุปัจจัยบันดาลให้ตัดสินใจทำลงไปทั้งสิ้น อาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยนะคะ

   3. การที่เราทำบุญทำทาน จำเป็นต้องอธิษฐานจิตหรือไม่คะ เช่น ปรารถนาว่าจะมี หรือจะเป็นอะไร (เทวดา พรหม หรือแม้แต่พระอริยบุคคล) ปกติเวลาทำบุญดิฉันไม่ค่อยได้อธิษฐาน นานๆครั้งจึงตั้งจิตว่า ขอให้เกิดเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทุกชาติ ตราบที่ยังต้องเดินทางต่อไป และมีโลกุตตรปัญญา พ้นจากกองทุกข์ได้โดยเร็ว

ขอบพระคุณค่ะ

คำตอบ
    (๑). ปฏิสัมพันธ์ระหว่างหญิงสาวกับพระสงฆ์ ผ่านทาง website หรือ e-mail หากเป็นไปเพื่อธรรมะโดยไม่เกิดความเศร้าหมองขึ้นกับจิต ไม่ถือว่าเป็นบาป

   (๒). คำว่า “ เหตุ ” และ “ ปัจจัย ” มีความหมายเป็นสิ่งเดียวกัน หมายถึงสิ่งที่ทำให้เกิด เหตุจะเกิดขึ้นได้ต้องมีสัตว์บุคคลเป็นผู้กระทำ การตัดสินใจทำเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้น เป็นเรื่องของปัญญา ซึ่งมีทั้งปัญญาเห็นถูกตามธรรมและปัญญาเห็นผิดไปจากธรรม ดังนั้นประโยคที่ว่า “ สิ่งที่เกิดล้วนมาจากเหตุทั้งสิ้น ” จึงเป็นคำกล่าวของคนที่มีปัญญาเห็นถูกตามธรรม เมื่อใดกรรมที่ทำไว้ให้ผล ผู้ทำเหตุรวมถึงผู้ร่วมกระทำเหตุ ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ดังนั้นการกระทำมิได้ขึ้นอยู่กับที่เหตุเป็นตัวบันดาลให้เกิด แต่ขึ้นอยู่กับปัญญาในดวงจิตเป็นตัวสั่งให้สัตว์บุคคลกระทำกรรม

   (๓). การประพฤติเหตุตามบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ผลของการประพฤติย่อมแสดงออกเป็นบุญ ส่วนคำว่า “ อธิษฐาน ” หมายถึง การตั้งจิตปรารถนา ด้วยเหตุนี้หลังจากทำบุญแล้ว เจ้าชายสุมนะ (อดีตของพระอานนท์) ได้อธิษฐานต่อพระปทุมุตตรพุทธเจ้า ขอเป็นพุทธอุปัฏฐากในพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งที่จะมีมาในกาลข้างหน้า ผลปรากฏว่า ในสมัยที่พระสมณโคดมมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระอานนท์จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพุทธอุปัฏฐากประจำ ทั้งๆที่พระนาคิตะ พระมหาจุณทะ พระเมฆิยะ พระสาคตะ พระอุปวาณะ ฯลฯ ซึ่งเคยรับใช้พระพุทธโคดมมาก่อน แต่มิได้รับการแต่งตั้ง ทั้งนี้เพราะอดีตชาติ บุคคลเหล่านั้นมิได้อธิษฐานเป็นพุทธอุปัฏฐากมาก่อนนั่นเอง

   ฉะนั้น ที่ผู้ถามปัญหาอธิษฐานเอาไว้ว่า เกิดมาให้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิทุกชาติ มีโลกุตตรปัญญา พ้นไปจากทุกข์โดยเร็ว จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำอย่างยิ่ง  
  

1295.
กราบ นมัสการท่านอาจารย์สนองที่เคารพ

   ดิฉันขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูง สำหรับคำสอน และการทำงานอย่างหนักของท่านอาจารย์เพื่อช่วยเพื่อนให้พ้นอบายภูมิ ดิฉันเป็นบุคคลหนึ่งที่เคารพ และศรัทธาต่อคำสอนของอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง

   จากการที่ได้เข้าฝึกและเรียนกรรมฐาน รวมถึงการฟังธรรมจากอาจารย์สนอง ทำให้ดิฉันมีความตั้งใจอยากที่จะบวชชีตลอดชีวิต เพื่อปฏิบัติธรรม เนื่องจากมีความรู้สึกว่าชีวิตตนเองอาจอยู่ได้ไม่นาน แต่ทว่าตัวเองเป็นคนที่ต้องเลี้ยงดูสามีชาวต่างชาติ เคยบอกกับสามีเกี่ยวกับเรื่องที่ต้องการบวชแล้ว สามีมีความเสียใจอย่างยิ่งเนื่องจากเขาต้องการที่จะอยู่ด้วยกันตลอดชีวิต

   นอกจากนี้ดิฉันจบการศึกษาสูงสุดทางด้านวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันมีอาชีพเป็นอาจารย์ โดยทางองค์กรต้องการให้ผลิตผลงานตีพิมพ์ในวารสาร แต่ในใจดิฉันเห็นตรงตามที่อาจารย์สนองกล่าวว่า งานวิจัยเหล่านี้เป็นเพียงจริงสภาวะ ไม่ยั่งยืน ดิฉันจึงหันมาให้เวลาศึกษาธรรมะของพระพุทธองค์มากกว่า แต่ทว่างานในองค์กรก็ต้องให้สำเร็จตามที่ได้ระบุไว้ ทำให้เกิดความขัดแย้งในความรู้สึกของตนเองอย่างยิ่ง

   ขอความกรุณาอาจารย์สนอง ช่วยแนะแนวทางที่ถูกต้องตามธรรมให้ดิฉันด้วยว่า
1) ควรออกบวชเมื่อไรและควรทำอย่างไรให้สามีเข้าใจ

2) ยังควรทำงานวิจัยต่าง ๆ ต่อไปหรือไม่ เนื่องจากว่าการทำวิจัยแต่ละงาน ต้องทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจอย่างหนัก จึงกลัวว่าจะไม่มีเวลาให้กับการปฏิบัติธรรม

3) มีแนวทางภาวนาอย่างไร ในขณะที่ทำงานและทำวิจัยคะ


กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์สนองอย่างสูงค่ะ

คำตอบ
   (๑). ผู้ถามปัญหาประสงค์บวชเป็นชี ต้องพัฒนาตัวเองให้ดีจนสามีศรัทธา แล้วอนุญาตให้บวชได้ จึงควรบวชตามปรารถนา

   (๒). ตราบใดภาระของสังคมยังมีอยู่ ควรทำงานวิจัยต่อไป เมื่อเสร็จจากงานสังคมแล้ว จึงจะเอาเวลาที่เหลือมาทำงาน (ปฏิบัติธรรม) ให้กับตนเอง

   (๓). ขณะยังทำงานวิจัย ต้องทำงานด้วยใจรัก (ฉันทะ) ทำงานด้วยความพากเพียร (วิริยะ) เอาใจจดจ่ออยู่กับงานที่ทำ (จิตตะ) และใช้ปัญญาไต่สวนผลงาน (วิมังสา)
  

1294.
กราบเรียนท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ที่เคารพ

ผมขอถามปัญหาดังนี้ครับ ขอความกรุณาด้วย

   1.ผมมีนิมิตกสิณครับ แต่ว่าเวลาหลับตาสักพักก็จะเห็น จะว่าเข้าสมาธิได้เร็วก็ใช่ แต่สักพักนิมิตกสิณ ก็จะหายไป แล้วต้องเรียกกลับมาใหม่ คือผมไม่รู้ว่าถ้าจะเข้าอุปปจารสมาธิด้วยนิมิตกสิณ จะดีมั้ยครับ หรือจะใช้พองหนอ-ยุบหนอตามปกติ จะได้ผลดีกว่า ผมยัง งงๆ ครับ แต่ปัจจุบัน
ก็ใช้ยุบหนอ-พองหนอ ตามปกติครับ พยายามเห็นสักแต่ว่าเห็น ไม่สนในในนิมิต แบบนี้ดีแล้วใช่มั้ยครับ เพราะ...บางทีถ้าผมมองนิมิตไปนานๆ เล่นไปทางนั้นหลายๆ วัน บางทีเวลานอนตอนบ่าย มันจะเคลิ้มๆ แล้วหลับ แล้วบางทีไปเห็นนู่นเห็นนี่ เหมือนจิตไปเห็นภาพ ไม่รู้มาได้ไง เหมือนกัน แต่รู้อยู่ว่าตัวเองไม่ได้หลับ แต่จะปลุกตัวเองให้ตื่นก็ไม่ง่าย เลยบางครั้งเหมือนมีอะไรมาแทรก เลยคิดว่ามันไม่น่าจะใช่ เลยไปทาง ยุบหนอ-พองหนอตามปกติที่ครูบาอาจารย์สอนดีกว่า ไม่มีพิษไม่มีภัย

   2. การเกิดนิมิตในดวงจิตนี่มันมาได้อย่างไรครับอาจารย์ ดร.สนอง เพราะผมไม่เคยไปนั่งเพ่งอะไรที่ไหน ที่มันเกิดได้ก็เพราะเมื่อก่อนนั่งสมาธิไปนานๆ โดยยังไม่รูจักวิปัสสนา นั่งไปสักพัก มันเกิดดวงนิมิตมาเองครับ จึงอยากทราบว่า อันนี้มันเป็นของเก่าของผมรึเปล่าครับ


   *ขอกราบขอบพระคุณ ดร.สนอง วรอุไล และทีงานมากครับๆ ที่สละเวลาตอบปัญหา และก็ขอโทษที่ต้องมาถามเรื่องแบบนี้ซึ่งก็เข้าใจว่า มันไม่ใช่ทางแห่งปัญญา แต่มันเป็นสิ่งที่ผมยังค้างคาใจครับ ขอบคุณมากๆครับ.

คำตอบ
       (๑) เมื่อนิมิตกสิณหายไป ผู้รู้จะรู้ว่า นิมิตกสิณดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ แล้วปัญญาเห็นแจ้งในนิมิตนั้นจะเกิดขึ้น ส่วนผู้ไม่รู้ เรียกกสิณนั้นให้กลับมาปรากฏขึ้นอีก อย่างนี้เรียกว่า หลง จะใช้องค์บริกรรมเช่นใด ย่อมเลือกได้ตามที่ถูกกับจริต แต่ผลสุดท้ายของการบริกรรม จิตต้องตั้งมั่นเป็นสมาธิ ฉะนั้นเลือกปฏิบัติตามที่ชอบ

   เมื่อใดมีอาการพองยุบเกิดขึ้นที่ผนังหน้าท้อง แล้วทำเป็นไม่สนใจ ท่านเจ้าคุณโชดกเรียกว่า มีจิตเป็นโมหะ

   ส่วนคำว่า “ เห็นสักแต่ว่าเห็น ” นั้นหมายความว่า เอาจิตที่ตั้งมั่นจวนแน่วแน่ ตามดูสิ่งที่ถูกเห็น ว่าดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อสิ่งที่ถูกเห็นเข้าสู่ความเป็นอนัตตา คือไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน แล้วมีจิตปล่อยวางสิ่งที่ไม่มีตัวตนแท้จริง อย่างนี้จึงจะเรียกว่า เห็นสักแต่ว่าเห็น

   การมีจิตส่ายไปรับเอาสิ่งกระทบมาปรุงอารมณ์ เช่นไปเห็นนู่นเห็นนี่ เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่มีจิตขาดสติ คนที่มีสติมั่นคงจะไม่เห็นอะไร แต่จิตจดจ่ออยู่กับอิริยาบถที่เป็นปัจจุบันขณะเท่านั้น

   (๒) นิมิตที่เกิดขึ้นกับจิต มีสาเหตุมาจากจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วทำให้ความถี่คลื่นจิตมีความเป็นระเบียบ มิติใดที่มีความถี่คลื่นตรงกัน ปฏิสัมพันธ์ย่อมทำให้เกิดผลเป็นนิมิตขึ้นได้
   

1293.
กราบเรียนท่านอาจารย์ สนอง วรอุไร

   ผมติดตามฟังการบรรยายธรรมะ ของท่านอาจารย์มาอย่างสม่ำเสมอ แล้วนำมาผนวกกับคำสอนของท่านหลวงพ่อจรัญ แล้วนำปฏิบัติปรับใช้กับชีวิตประจำวันของตัวเองปรากฏว่าชีวิตดีขึ้นโดยลำดับ.. ผมจึงขอปรณาตัวเองขอเป็นลูกศิษย์ของท่าน ขอน้อมนำพระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตามที่ท่านอาจาย์ที่เป็นผู้รู้ได้บอกกล่าว... ผมมีเรื่องขอเรียนถามท่านอยู่1เรื่อง

1.เพื่อนของผมได้จัดทำบุญกฐิน วัตถุประสงค์เพื่อจัดสร้างกุฏิถวายวัด และนำซองมาให้ผมจำนวนหนึ่ง ผมได้แจกจ่ายบุญดังกล่าวแก่ผู้มีจิตศัทธาและจัดเก็บคืนเรียบร้อย แต่พอเสร็จจากงานปรากฏว่ามีซอง1ซองหลงอยู่ ไม่ได้นำถวายผมเคยรู้มาว่า การทำบุญกฐินนั้นอานิสงค์ของบุญใหญ่มาก แล้วซ้ำวัตถุประสงค์คือการสร้างกุฏิถวายวัดทำให้ผมไม่สบายใจ... ผมควรทำอย่างไร กับซองกฐินที่มีคนทำบุญมาแล้วจำนวน1ซองนี้

2.ผมเคยคิดว่าจะนำไปถวายพระ เป็นปัจจัยแต่กลัวว่าไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เพราะคนที่เขาทำบุญเขาคงจะอธิฐานจิตทำบุญกฐิน.. ผมจึงใคร่เรียนถามอาจารย์ช่วยชี้ทางแก่ผมด้วยครับ... สุดท้ายผมขอกราบขอบพระคุณในความเมตตา ขออนุโมทนาในบุญกุศลที่อาจารย์เพียรให้ความรู้เป็นวิทยาทาน..สาธุ


ด้วยความเคารพอย่างสูง

คำตอบ
    (๑) การทำบุญทอดกฐิน ได้อานิสงค์สูงสุดไม่เกินสวรรค์สมบัติ ผู้เห็นถูกแก้ปัญหาความทุกข์ใจ ด้วยการนำซองกฐินค้าง ไปถวายวัดตามที่ถูกระบุบนซองกฐิน ย่อมทำได้

   (๒) นำซองกฐินตกค้าง ไปถวายวัดให้ถูกตรงกับเจตนารมณ์ของผู้ทำบุญ แล้วโทษย่อมไม่มีกับผู้ถามปัญหา   
   

1292.
กราบเรียนถามอาจา่รย์

1. มักจะไ้ด้ยินเสียงพระสวดมนตร์ในโบสถ์หลังออกจากสมาธิ จะเกิดจากจิตใต้สำนึกหรือไม่ ทำไมถึงได้ยินเมื่อเข้าอบรมในวันที่สองและสาม ดีหรือไม่ดี

2. อุคคหินิมิตรและปฏิภาคนิมิตร เกิดได้อย่างไร ทำไมถึงเกิด และถ้าเกิดแล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป และทั้งสองอย่างนีืื้้มีผลแตกต่างกันอย่างไร


ขอกราบอนุโมทนา

คำตอบ
    (๑) การได้ยินเสียงสวดมนต์ดังกล่าว เกิดจากจิตใต้สำนึกเป็นเหตุ การได้ยินเช่นนี้ดีตรงที่ว่า เป็นตัวชี้วัดความตั้งมั่นเป็นสมาธิของจิต ไม่ดีตรงที่ว่า หากเอาจิตไปจดจ่ออยู่กับเสียงสวดมนต์ที่ได้ยิน จะทำให้จิตเข้าไม่ถึงปัญญาเห็นแจ้ง

   (๒) อุคคหนิมิต หมายถึง นิมิตที่เกิดจากการฝึกกำหนด หรือเอาจิตเพ่งดูจนติดตาติดใจ แม้หลับตาก็ยังเห็นสิ่งที่ถูกเพ่งดูนั้น เหตุที่ทำให้เกิดอุคคหนิมิต เพราะใช้จิตเพ่งดูสิ่งสมมุติที่นำเอามากำหนดเป็นอารมณ์กรรมฐานจนเกิดเป็นความชำนาญ ผู้ใดประสงค์พัฒนาจิตให้เข้าถึงปัญญาเห็นแจ้ง ต้องใช้จิตตามดูนิมิตนั้นว่า ดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อใดนิมิตเข้าสู่ความเป็นอนัตตา ปัญญาเห็นแจ้งในนิมิตจะเกิดขึ้น

   ส่วนปฏิภาคนิมิต เป็นการเอาภาพเหมือนของอุคคหนิมิต มานึกขยายให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือนึกหดภาพให้เล็กลง

   ผลที่เหมือนกันของนิมิตทั้งสองแบบ คือเป็นสัญญาที่เกิดขึ้นกับจิต หากไม่นำนิมิตมาพิจารณาตามกฎไตรลักษณ์ ย่อมทำให้จิตเกิดเป็นความหลง เพราะจิตมีอวิชชาครอบงำ
  

1291.
เรียนอาจารย์สนองที่เคารพอย่างสูง

   ดิฉันมีข้อคำถามจะเรียนถามอาจารย์เพื่อนำไปแก้ไขปัญหาทางโลกดังนี้ค่ะ
ดิฉันอายุ 36 ปีแล้ว มีหน้าที่การงานดี ได้คบหารู้จักแฟนมาปีกว่า ซึ่งแฟนก็มีงานการทำดี จบวิศวะ แต่เตี้ยกว่าดิฉัน ที่สำคัญคือ คุณแม่ไม่ชอบและไม่ยอมให้แต่งงานด้วย หากผู้ชายจะส่งพ่อแม่มาสู่ขอก็จะไม่ต้อนรับ บอกว่าคนไม่แต่งงานอยู่กับพ่อแม่ตลอดก็มีถมไป และไม่จำเป็นต้องแต่งงาน คนแต่งงานเลิืกรากันก็มีเยอะแยะไป ดิฉันต้องการแยกครอบครัวโดยไม่ทำให้ท่านโกรธ ดิฉันจะทำอย่างไร หากคุณแม่ไม่ยอมให้แต่งแต่ดิฉันเลือกที่จะแต่งและขอมีชีวิตเป็นขอตนเอง ดิฉันจะบาปหรือไม่อย่างไร และดิฉันจะแก้ปัญหาที่ท่านไม่ยอมให้แต่งกับคนนี้ และจะตัดขาดแม่ลูกหากเลือกคนนี้ได้อย่างไร


กราบขอบพระคุณในความเมตตา ขออนุโมทนาในบุญกุศลที่อาจารย์เพียรให้ความรู้เป็นวิทยาทาน สาธุ สาธุ สาธุ ด้วยความเคารพอย่างสูง

คำตอบ
   สิ่งขัดใจเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเป็นความโกรธกับผู้ที่มีสติรับไม่ทัน ฉะนั้นผู้ใดโกรธก็เป็นเรื่องของผู้นั้น ผู้รู้ไม่สามารถเข้าไปแก้ปัญหาให้คนอื่นได้ ผู้ใดให้อภัยเป็นทานอยู่เสมอ หากประพฤติได้ผลแล้วผู้นั้นมีเมตตา แล้วความโกรธจะไม่เกิดขึ้นได้อีก

   อนึ่ง เรื่องที่แม่ไม่ยอมให้ลูกสาวแต่งงาน เป็นความเห็นผิดของผู้เป็นแม่ ที่เอาความสมมุติว่าเป็นแม่ เข้าไปก้าวล่วงในชีวิตของลูกสาว

   ผู้เป็นลูกประสงค์มีชีวิตเป็นของตัวเอง ถือว่าเป็นความเห็นถูกตามธรรม หากประสงค์บริหารจัดการชีวิตด้วยตัวเองย่อมทำได้ และไม่ถือว่าเป็นบาป แต่ทั้งนี้ต้องไม่ทิ้งความกตัญญูกตเวทีที่มีต่อแม่ ด้วยการประพฤติจริยธรรมของลูกที่ดีที่สามารถทำได้ และเช่นเดียวกันหากแม่ประสงค์จะตัดลูกสาวออกจากความเป็นลูกก็เป็นเรื่องของท่าน ผู้มีความเห็นถูกคือลูกสาว ต้องไม่ตัดท่านอออกจากความเป็นแม่ และยังต้องประพฤติจริยธรรมของลูกที่ดีอยู่เสมออีกด้วย

   อนึ่ง ผู้รู้กล่าวว่า มนุษย์มีทรัพย์สมบัติเป็นห่วงผูกขา มีสามี/ภรรยาเป็นห่วงผูกมือ มีบุตร/ธิดาเป็นห่วงผูกคอ ผู้ใดใคร่ผูกมักชีวิตของตัวเอง หรือมีชีวิตเป็นอิสระ มีสิทธิ์เลือกได้ตามใจปรารถนา
  

1290.
กราบเรียนอาจารย์สนองฯ ขอรบกานอาจารย์ฯ ช่วยตอบคำถามเป็นแนวทางด้วยนะค่ะ

   ดิฉันมีอายุ 40 ปี มีพี่น้อง 3 คน คุณพ่อคุณแม่เลิกกันตั้งแต่มีดิฉัน คุณพ่อมีอาชีพเล่นการพนัน และเสียชีวิตอนดิฉันอายุ 7 ขวบ ดิฉันสามคนพี่น้องจึงมาอยู่กับคุณอา เมื่ออายุได้ 9-12 ปี ดิฉันมีโอกาสกลับไปอยู่กับคุณแม่ ท่านขายเครื่องสำอาง ชอบทานเหล้า และชอบทานยานอนหลับ ความสัมพันธ์กับญาติพี่น้องไม่สู้ดี เพราะท่านชอบพูดจากลับไปกลับมา ท่านมีลูกใหม่กับสามีใหม่ พอดิฉันอายุได้ 12 ปี คุณแม่ทิ้งดิฉันและพี่สาวไป อย่างไม่รู้ต้นสายปลายเหตุ ไม่มีเยื่อใย ส่วนดิฉันกับพี่สาวด้วยความที่เป็นเด็ก ก็ไม่ได้เสียใจหรือร้องไห้เลย ท่านให้เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งมารับไปอยู่ด้วย จากนั้นเราสองคนจึงหาทางกลับไปอยู่กับคุณอา และไม่ได้ติดต่อกับคุณแม่เลย จะทราบข่าวท่านก็สอบถามจากญาติเท่านั้น เมื่อเรียนจบมีรายได้จึงฝากเงินผ่านญาติให้แม่ได้ใช้จนกระทั่งเปลี่ยนเป็นการโอนเข้าบัญชีโดยตรง ดิฉันส่งเสียท่านตามอัตภาพมาโดยตลอด ไม่เคยนึกโกรธ หรือเคียดแค้นเลย จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว ท่านติดต่อผ่านมาทางพี่ชาย (เราไม่ได้เจอกันเกือบ 30 ปี ได้) ดิฉันไปเยี่ยมท่านแต่ไม่ได้แสดงตน เพราะยังกลัวอะไรบางอย่าง จึงให้น้องชายต่างมารดาเข้าเป็นตัวกลางแทน เมื่อท่านออกจากโรงพยาบาลดิฉันแอบไปหา เห็นสภาพสังขารแล้วตกใจ ขาท่านเดินไม่ได้ลีบเล็ก สาวๆ ท่านสวยมาก และรับทราบจากโรงพยาบาลคือ ท่านมีอาการเบลอ สมองฝ่อ คงเป็นเพราะยานอนหลับและเหล้า แต่ปัจจุบันทราบว่าเลิกทานเหล้าแล้ว ส่วนสภาพความเป็นอยู่แย่มาก ดิฉันกับพี่สาวเห็นสภาพแล้วร้องไห้โฮ ทุรนทุรายในความรู้สึกอย่างบอกไม่ถูก อนาถใจจริงๆ เมื่อตั้งสติได้จึงติดต่อหาบ้านให้อยู่ จัดหาข้าวของที่จำเป็นและโอนเงินให้ใช้ในแต่ละเดือน โดยนำค่าใช้จ่ายมาหาร 3 คน พี่ชายดิฉันไม่เคยมาดูหรืออะไรกับแม่เลย แต่ก็ยังโชคดีที่ยอมโอนเงินให้ใช้ในแต่ละเดือน ส่วนญาติพี่น้องทางแม่ไม่มีใครมาดูกลับสาปส่งเสียด้วยซ้ำ ลูกและสามีก็หนีไปหมด ทราบความว่า แม่ชอบด่าว่า ใช้คำพูดหยาบคาย และพูดเท็จจนไม่มีใครเชื่อ

   ทุกวันนี้ดิฉันทำได้เพียงส่งเงินให้ใช้ในแต่ละเดือน เมื่อนึกถึงจะขับรถไปวนดู เคยเข้าไปดูแลแต่ไม่บอกว่าเป็นลูก ความรู้สึกบอกไม่ถูกจริงๆ ท่านก็ไม่ Sense ว่าดิฉันเป็นลูก เยื่อใยหรือสายสัมพันธ์มันหายไปไหนไม่ทราบ

    ดิฉันมีครอบครัว มีการงานดีมั่นคงได้พบเจอแต่คนดีๆ ดิฉันไม่ได้รังเกียจท่านแต่มีเหตุหลายประการ ที่ไม่สามารถนำท่านมาเลี้ยงดูได้ เพราะรู้ว่าปัญหาต้องตามมาอย่างรับไม่ไหว จะเป็นบุญหรือเป็นค่ะและควรจัดวางชีวิตอย่างไร

   อาจารย์ค่ะ ดิฉันคิดเองอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่เป็นเด็กว่า ดิฉันคงทำกรรมไว้ เมื่อเหตุการณ์ที่เลวร้ายผ่านพ้นไป ดิฉันมักมาสรุปบทเรียนให้ตัวเองเสมอ สิ่งเหล่านี้เป็นบาทฐานให้กับชีวิตตัวเองมาตลอด ชีวิตปัจจุบันมีความสุขดี แต่เมื่อคิดเรื่องแม่ขึ้นมาก็อึดอัดใจอย่างบอกไม่ถูก พูดกับตัวเองว่าเราควรจะทำอะไรที่ดีกว่านี้ได้ไหม แต่ก็ตอบตัวเองไม่ได้ทุกครั้ง

   ส่วนคุณอาที่เลี้ยงมา ตลอดเวลาที่อยู่ดิฉันสรุปเองว่าดิฉันทำหน้าที่ตัวเองดีที่สุดแล้ว ดูแลท่านทุกอย่าง

   ทุกวันนี้ ดิฉันสวดมนต์ไหว้พระ ขออุทิศส่วนบุญและนึกรู้คุณกตัญญูตลอดแต่อยากขออยู่ห่างๆ คิดอย่างนี้ผิดไหมค่ะ

   ดิฉันรู้ว่าคงต้องเวียนว่ายตายเกิด แต่หากเลือกเกิดได้อยากได้ครอบครัวดี มีพ่อแม่ดีจะทำอย่างไรค่ะ ดิฉันเคยแปลกใจว่า ดิฉันกับคุณแม่มีอะไรที่ต่างกันมากมาย แต่ทำไม่ถึงได้มาเกิดเป็นแม่ลูกกันกรรมจัดสรรอย่างไร

   อาจารย์ค่ะ ดิฉันเพิ่งหัดนั่งสมาธิ เคยนั่งสมาธิอยู่แล้วสงบมาก มีความสุขมากๆ แต่ลูกชายมาเรียกกระทันหัน ดิฉันตกใจถอนออกจากสมาธิทันที รู้สึกเจ็บสะท้านผิวที่แขน อาการนี้เกิดจากอะไรค่ะ

   เคยเข้านอนพร้อมทำสมาธิกำหนดลมหายใจ เมื่อใกล้หลับ รู้สึกเหมือนถูกกระชากหรือตกจากที่สูงวูบอย่างแรงเป็นเพราะอะไรค่ะ

   รบกวนอาจารย์ฯ ช่วยชี้ทางให้ด้วยนะค่ะ และขอกราบขอบพระคุณอย่างสูง ค่ะ

คำตอบ
     ชีวิตเป็นสิทธิส่วนบุคคล ผู้เป็นเจ้าของต้องบริหารจัดการชีวิตด้วยตัวเอง ในฐานะลูกที่ถูกแม่ทอดทิ้งมาแต่ในวัยเด็ก ความกตัญญูกตเวทีของลูกที่มีต่อแม่ต้องรักษาไว้ ดังที่ผู้ถามปัญหาปฏิบัติอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ผู้เจริญนิยมปฏิบัติกัน เช่นเดียวกับ ยามใดที่แม่เจ็บป่วย ลูกต้องนำท่านไปให้หมอรักษา ส่วนจะช่วยได้มากน้อยแค่ไหนเป็นเรื่องของเวรกรรมที่ท่านต้องรับด้วยตัวเอง

   พระพุทธะสอนให้บุคคลแก้ปัญหาที่ตัวเอง มิได้สอนให้แก้ปัญหาที่ผู้อื่น เนื่องด้วยเหตุที่ทำแล้วในอดีตแก้ไขไม่ได้ แต่ทำเหตุดีอยู่ทุกขณะที่เป็นปัจจุบัน เมื่อกรรมให้ผล จะเกิดเป็นผลดีในวันข้างหน้าแน่นอน ฉะนั้นพึงมีสติระลึกอยู่กับปัจจุบันขณะ แล้วความทุกข์ใจจะไม่เกิดขึ้น บทสรุปที่หันกลับมาดูตัวเอง เป็นสิ่งที่ทำถูกต้องแล้ว อนึ่งผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาจนเกิดปัญญาเห็นแจ้งได้แล้ว ผู้นั้นสามารถเข้าถึงความจริงแท้ได้ทุกเรื่อง และแก้ปัญหาได้ทุกเรื่อง

   การสวดมนต์ไหว้พระและอุทิศบุญกุศลให้ผู้มีอุปการะ (คุณอา) ตลอดจนความดีงามอื่นที่สามารถทำให้ท่านได้ และไม่เบียดเบียนตัวเอง ผู้เจริญนิยมประพฤติเช่นนี้

   ผู้รู้เลือกเกิดได้ ผู้ใดประพฤติศีล ๕ อยู่เสมอ ตายแล้วมีโอกาสกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ หากประสงค์กลับมาเกิดในครอบครัวที่บุคคลมีศีล มีธรรม ต้องอธิษฐานแล้วทำเหตุให้ถูกตรง คือ ทำตัวเองให้มีศีล มีธรรมด้วย ความสมปรารถนาจึงจะเกิดขึ้นได้ ผู้ใดบำเพ็ญทานและรักษาศีล ๕ หรือประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ อยู่เสมอ ตายแล้วมีโอกาสไปเกิดในสวรรค์ ผู้ใดพัฒนาจิตจนเข้าถึงความทรงฌาน แล้วตายในขณะจิตทรงอยู่ในฌาน ตายแล้วมีโอกาสไปเกิดเป็นพรหม และผู้ใดปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา จนเกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดสังโยชน์ อย่างน้อยสามตัวแรกได้ ตายแล้วจะไม่ลงไปเกิดเป็นสัตว์อยู่อบายภูมิ และเกิดอย่างมากไม่เกินเจ็ดชาติ จะสามารถนำพาชีวิตพ้นไปจากวัฏสงสารได้

   นั่งสมาธิแล้วมีจิตสงบจากอารมณ์อื่นใด เมื่อสิ่งกระทบใหม่ที่มีกำลังแรง (เสียงเรียกลูกชาย) เข้ากระทบ แล้วจิตขาดสติรับกระทบเข้าปรุงอารมณ์ทันที ความรุนแรงของการปรุงอารมณ์จึงมีมาก ส่งผลให้เกิดอาการสะท้านผิวที่แขนจึงมีได้ ส่วนอาการวูบเหมือนตกจากที่สูง เป็นเรื่องปรกติของจิตที่ตั้งมั่นเป็นประเดี๋ยวประด๋าว (ขณิกสมาธิ) เมื่อใดที่มีอาการวูบเกิดขึ้น ต้องกำหนดว่า “ วูบหนอๆๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆ จนอาการดังกล่าวหายไป แล้วจิตจะมีกำลังของสมาธิเพิ่มมากขึ้น
   

1289.
กราบเรียน อาจารย์สนอง ครับ

ขอคำชี้แนะจากอาจารย์เรื่องการปฏิบัติ วิปัสนากรรมฐาน ครับ

ผมได้รู้จัก วิปัสนากรรมฐาน ตอน พรรษาปี 49 เนื่องจากผมได้ไป บวชพระแล้ว หลวงพ่อท่านส่งไปปฏิบัติธรรม อยู่สำนักปฏิบัติธรรม ธรรมะโมลี ที่ปากช่องครับ เป็นยุบหนอ พองหนอ สติปฏิฐานสี่
ตอนบวช ได้ปฏิบัติ นั้งกรรมฐาน เดินจงกรม ทุกวัน ครับ จิตนิ่ง กำหนดตลอด
หลังจากหมดพรรษา ผมก็ลาสิขาออกมา ทำงาน และ แต่งงานไปตอนต้นปี 52 ครับ

หลังจาก ลาสิขาออกมาแล้ว ช่วงแรก ก็ปฏิบัติได้อยู่ เป็นประจำ แต่ต่อมา การปฏิบัติน้อยลง อารมณ์กรรมฐานเริ่มลดน้อยลงเช่นกัน

อยากขอคำชี้แนะจากอาจารย์ครับ
- ในการดำรงชีวิต ที่เป็นอยู่ปัจจุบันของคนทำงาน ควรจะปฏิบัติอย่างไร (เวลานั้งสมาธิ จะมีเรื่องงานเข้ามาตลอด ตามจิตไม่ทันครับ) เพราะสภาพ การทำงาน แตกต่างจาก ตอนบวชมากๆ ครับ ไม่เงียบ ไม่สงบ ซึ่งตอนแรกหลังจากลาสิกขามา ผมยัง เข้าใจว่าจะทำได้ แต่พอดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ
แล้ว สภาพแวดล้อม การทำงาน สังคม การเข้าสังคม งานสังสรรค์ ทำให้ผมหลงไปกับมัน พอจะพยายาม ปฏิบัติ อีก มันก็รู้สึก ไม่สงบ กำหนดจิตยาก มากๆครับ
บางครั้งเจอเรื่องทุกข์ตามจิตไม่ทัน ก็ทุกข์ตามเลย บางครั้งก็คิดยังอยากกลับไปบวชอีก อยู่เรื่อยๆ
รบกวนขอคำชี้แนะจากอาจารย์ ครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

คำตอบ
   ผู้ใดประสงค์ความสำเร็จในกิจการงาน ผู้นั้นต้องทำงานด้วยใจรัก (ฉันทะ) ทำงานด้วยความพากเพียร (วิริยะ) ทำงานด้วยใจจดจ่อ (จิตตะ) และใช้ปัญญาไต่สวนงานที่ทำ (วิมังสา) และต้องรักษาความดีให้คงอยู่ ด้วยปฏิบัติธรรมต่อเนื่อง นำมาทำที่บ้านอย่างสม่ำเสมอ แล้วงานที่ทำให้กับสังคมจะไม่เสีย สิ่งดีงามที่ทำให้ตัวเอง (งานภายใน) จะยังคงอยู่ หากประพฤติได้เช่นนี้แล้ว งานทั้งสองอย่างจะไม่เสียหาย จึงไม่มีความจำเป็นต้องกลับไปบวชอีก 
   

1288.
กราบเรียน อาจารย์ ดร.สนอง ด้วยความเคารพค่ะ

หนูมีคำถามดังนี้ค่ะ
    1, หนูเชื่อในกรรม การเวียนว่ายตายเกิด เชื่อในสิ่งที่พระพุทธองค์ตรัส เชื่อว่าพระพุทธเจ้ามีจริง ธรรมของพระองค์จริงแน่นอน ตอนนี้หนูปฏิบัติทุกวันค่ะ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรม อ่านหนังสือธรรม เวลาระหว่างวันก็พยายามไม่ให้จิตเผลอด้วยการกำหนดลมหายใจหรือภาพพระบ้าง สวดมนต์สั้นในใจบ้าง สิ่งที่หนูได้ศึกษาและปฏิบัตินั้นทำให้หนูอยากตัดภพชาติให้สั้นลงไม่อยากเกิดนาน หนูเห็นในโลกมีแต่ทุกข์เต็มไปหมด หนูมีความศรัทธาศาสนาพุทธมากขึ้น ปัญหาหนูคือ หนูมีความรู้สึกว่าไม่อยากทำงานที่ต้องติดต่อลูกค้า พูดคุยเจรจา คิดแผนงานสินค้าตัวใหม่ มันมองเรื่องนี้ว่าไม่เป็นของจริงเพราะวุ่นวายเกี่ยวกับคนในโลกธุรกิจซึ่งมันมีเหลี่ยมการค้า พูดไม่หมดบ้าง ต่างๆนาๆ ไม่อยากเสียเวลากับเรื่องพวกนี้ค่ะ ทำให้ตอนนี้หนูไม่ active กับงานเลย เมื่อเกิดความคิดอย่างนี้แล้วจะทำยังไงคะ หนูจะบริหารอย่างไรระหว่างทางโลกกับทางธรรมคะ หนูไม่อยากเครียดเรื่องธุรกิจการค้าไม่อยากแก้ปัญหาในงาน ซึ่งมันไม่ใช่ของจริง ไม่อยากลงไปเสียเวลา และก็มองว่ามันเป็นทุกข์ในงาน แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่เงินเลี้ยงชีพ ขอความเมตตาจากอาจารย์แนะนำด้วยค่ะ

   2, เวลานั่งสมาธิในห้องพระ จะมีเสียงดังออกมาจากตู้ไม้ 3 ชั้นที่เก็บพระเครื่องต่างๆตู้จะมีประตูปิดทั้ง 3 ชั้น ตู้เล็กค่ะไม่ใหญ่ แต่ ช่วงหลังนี้เสียงจากตู้ไม้ชักจะดังชัดเจนมากขึ้น มีอยุ่วันหนึ่งหนูนั่งสมาธินิ่งในระดับหนึ่งตัวเริ่มเบากำลังจะนิ่งลงไปอีก ก็มีเสียงดังมาอีกจากตู้ไม้ ทำให้ตกใจต้องลืมตา และมีอีกครั้งหนึ่งเสียงดังจากกล่องพระที่วางไว้บนโต๊ะหมู่บูชาพระ เสียงดังแก่กๆ อยู่สักครู่ และอีกสภาวะคือ มีกลิ่นหอมโชยๆเข้ามาเป็นช่วงๆ เวลานั่งสมาธิแต่ไม่ตลอดเวลาที่นั่งเรื่องกลิ่นนี้แทบทุกวันค่ะ หนู เคยสอบถามพระที่ท่านปฏิบัติ ท่านบอกว่ากลิ่นหอมนั้นเป็นเทวดา หนูแผ่เมตตาแทบทุกครั้งหลังนั่งสมาธิ ก่อนนั่งก็มีสวดมนต์หรืออาราธนาพระนะคะ เคยกำหนดจิตบอกต้นเหตุแห่งเสียงว่าให้หยุดทำเสียงเถอะเดี๊ยวจะอุทิศบุญไปให้หลังนั่งสมาธิเสร็จ แต่ก็ยังดังอยู่แต่รู้สึกว่าห่างลง หากเป็นเทวดาจริงทำไมเขาจึงต้องทำให้เราตกใจในขณะที่เราทำความดีอยู่ค่ะ ตอนนี้หนูก็ค่อนข้างขยาดๆเวลานั่งสมาธิค่ะ เพราะเป็นคนกลัวเรื่องวิญญาณ แต่ยังไม่เคยเจอค่ะ หนูเช็คในตู้จะหาว่ามีสัตว์อะไรอยูในตู้ไหมก็ไม่มีค่ะ ขอความเมตตาอาจารย์ชี้แนะด้วยค่ะ

   3, ในอิริยาบทต่างๆ ที่ไม่ได้นั่งสมาธิ คือ ทำธุรต่างๆ ยืน เดิน นั่ง เอนตัวนอน บางทีจะเห็นเป็นแสงสว่าง เป็นกลมๆบ้าง เป็นจุดบ้างมีทั้งสว่างใสและไม่สว่าง ด้วยตาเปล่านี่ค่ะ หนูไม่อยากถามคำถามนี้เลยเขาจะหาว่าบ้า หรือจะมาพูดทำไม หนูเคยคิดว่าหนูเป็นโรคร้ายทางสมองหรือเปล่า เรื่องเห็นอะไรแว้บๆนี่ค่ะ ขอคำแนะนำอาจารย์ด้วยค่ะ ด้วยความเคารพค่ะ

คำตอบ
    (๑) ผู้ใดปรารถนาตัดภพชาติให้หดสั้นลง ผู้นั้นต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนเข้าถึงปัญญาเห็นแจ้งได้ แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดสังโยชน์อย่างน้อยสามตัวแรกได้ (สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส) ให้หมดไปจากใจได้แล้ว เมื่อตายลงจะไม่ไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในอบายภูมิ (เดรัจฉาน เปรต อสูรกาย นรก) อีกต่อไป และมีชีวิตหดสั้นลง อย่างมากเกิดอีกไม่เกินเจ็ดชาติ ก็สามารถนำพาชีวิตพ้นไปจากวัฏสงสารได้

   อนึ่ง มนุษย์มีงานใหญ่ต้องทำอยู่สองงาน คืองานภายนอก ทำเพื่อให้ได้ปัจจัยทรัพย์มาเลี้ยงชีวิต หากยังมีความจำเป็นต้องพึ่งทรัพย์ภายนอก ผู้รู้ไม่ปฏิเสธที่จะทำ ตรงกันข้ามหากหมดความจำเป็น ผู้รู้นิยมทำงานภายใน ด้วยการสร้างและสั่งสมบุญ เพื่อใช้เป็นปัจจัยเดินทางสู่ปรโลก

   ในครั้งพุทธกาล ปิปผลิมาณพ เศรษฐีพราหมณ์แห่งแคว้นมคธ ได้ยกสมบัติทั้งปวงให้ภัททกาปิลานี (ภรรยา) แล้วภัททกาปิลานีได้ยกสมบัติต่อให้บริวาร ทั้งสองได้นำตัวไปบวชในพุทธศาสนา และปฏิบัติธรรมจนบรรลุอรหัตตผลในที่สุด เช่นเดียวกัน ยสะเจ้าของปราสาททสามฤดูแห่งกรุงพาราณสี กัจจายนะปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑมัชโชตแห่งกรุงอุชเชนี อุทายีมหาอำมาตย์ของพระเจ้าสุทโธทนแห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ฯลฯ บุคคลเหล่านี้ฟังธรรมจากพระโอษฐแล้วบรรลุอรหัตตตผล ทิ้งสมบัติภายนอกทั้งปวง แล้วไปบวชเป็นสงฆ์อรหันต์อยู่ในพุทธศาสนา

   (๒) อารมณ์ตกใจ เกิดขึ้นเพราะจิตขาดสติ ไปรับเอาสิ่งกระทบที่มิได้คาดหวังมาปรุงเป็นอารมณ์ ผู้ใดพัฒนาจิตจนรู้แจ้งในสิ่งกระทบได้แล้ว ความกลัวในสิ่งนั้นจะหมดไป

   (๓) สิ่งที่ผู้ถามปัญหาสัมผัสได้ด้วยประสาททางตา เป็นเรื่องจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น เป็นจุดเป็นดวง สว่างไม่สว่าง เป็นของไม่มีอยู่จริง ความคิดว่าตนเองเป็นโรคทางสมอง เป็นความคิดที่ผิด ผู้รู้นิยมคิดตรงข้าม ผู้ใดประสงค์กำจัดสิ่งที่ถูกเห็นให้หมดไป ต้องกำหนดทุกครั้งที่เห็นจุดหรือดวงว่า “ เห็นหนอๆๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆจนกว่าสิ่งที่ถูกเห็นดับไป
   

1287.
กราบเรียนท่านอาจารย์ ดร.สนอง

   ดิฉันมีโอกาสไปปฏิบัติธรรมกลับมาครั้งนี้ ( เป็นครั้งที่ 3 ค่ะ ) แต่ครั้งแรกไป 2 วันเมื่อตอนสิ้นปีและวันขึ้นปีใหม่ตอนปีนี้ ครั้งที่สองไป 5 วัน ส่วนครั้งนี้ไป 6 วัน ครั้งนี้มีโอกาสได้อ่านหนังสือทางสายเอกของท่าน เลยทำให้สนใจในการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานมากขึ้น เพราะแต่เดิมเวลาไปปฏิบัติสำนักปฏิบัติจะเน้นการปฏิบัติ มากกว่าการที่จะได้ศึกษาในเรื่องของเหตุและผลของการปฏิบัติ นอกจากว่าเวลาเรามีปัญหาก็ให้ถาม ตอนที่ไปปฏิบัตินี้มีความประสงค์อยากให้จิตใจนิ่งและมีสติมากขึ้น และต้องการสร้างบุญน่ะค่ะแต่ไม่ได้มีการศึกษาไปก่อน แต่พอได้อ่านก็รู้สึกว่าธรรมะมีอะไรที่น่าศึกษาหลายอย่าง มีคำถามจะเรียนถามท่านดังนี้ค่ะ

   1. เวลาปฏิบัติแล้ว เราจะรู้ไ้ด้อย่างไรคะว่าจิตเราเข้าถึงสมาธิหรือยัง เพราะบางทีกำหนดยุบหนอพองหนอแล้ว จิตเราไม่ได้คิดเรื่องอื่นเลยแต่ก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น ( เพราะเคยได้ยินคนอื่นพูดกันว่าบางทีจิตก็จะได้ยินเสียง หรือรู้สึกอะไรบางอย่าง )

   2. ครั้งล่าสุดที่ไปปฏิบัตินี้ ก่อนที่จะลาศึลตอนก่อนจะเช้าเกิดความฝันว่ามีพระยืนชี้นิ้วมาที่เรา แล้วบอกว่า " ที่ผ่านมายังไม่ใช่ของจริงแต่ 10 วันหลังจากนี้ต่างหากคือของจริง " แล้วก็ตกใจตื่น แต่ไม่เข้าใจว่าเราฝันเพราะอุปาทานไปเอง หรือมีความหมายอะไรหรือไม่ แล้วถ้ามีความหมายก็ไม่เข้าใจเหมือนกันค่ะ แต่ไม่ว่าจะยังไงก็ยังตั้งใจว่าจะพยายามปฏิบัติอยู่ ถึงแม้ว่าจะลาศีลมาแล้วก็ตามค่ะ

   3. แม่ของดิฉันมีอาชีพค้าขายอาหารที่ทำจากปลา ต้องฆ่าปลาเป็นประจำ แต่แม่ของดิฉันก็เป็นคนดีนะคะ ถึงแม้ว่าไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ไปทำบุญบ่อย ๆ แต่ถ้ามีโอกาสแม่ก็จะทำบุญอยู่ อยากเรียนถามว่าอย่างนี้จะมีบาปมากไหมคะ แล้วเวลาที่เรานั่งวิปัสนากรรมฐานอุทิศส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวรของแม่จะมีผลบ้างไหมคะ

ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูงนะคะที่จะช่วยไขข้อข้องใจ
( จริง ๆ แล้วดิฉันมีคำถามอีกมากที่อยากทราบแต่ขอ รบกวนอาจารย์ไว้แค่นี้ก่อนค่ะ ขอขอบพระคุณค่ะ )

คำตอบ
   (๑) ผู้ใดมีจิตจดจ่ออยู่กับสิ่งกระทบในอิริยาบถปัจจุบันขณะ ผู้นั้นย่อมมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ซึ่งมีตัวบ่งชี้ดังนี้

     •  จิตทั้งตั้งมั่นเป็นขณิกสมาธิ เป็นผู้มีจิตสงบจากอารมณ์ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ขณะใดที่จิตขาดสติจะรับเอาสิ่งกระทบ (อุปกิเลส) เข้าปรุงอารมณ์ แล้วทำให้ใจเศร้าหมองขุ่นมัวได้

     •  จิตที่ตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ เป็นผู้มีจิตสงบจวนแน่วแน่ สมาธิระดับนี้สามารถใช้จิตตามดูผัสสะ จะเห็นว่าทุกผัสสะดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ แล้วปัญญาเห็นแจ้งในผัสสะย่อมเกิดขึ้น

     •  จิตที่ตั้งมั่นเป็นอัปปนาสมาธิ เป็นผู้มีจิตสงบแน่วแน่ เรียกว่าเป็นสมาธิระดับฌาน จิตไม่รับสิ่งกระทบภายนอกใดๆเข้าปรุงอารมณ์ มีเพียงอารมณ์ของฌานเท่านั้นที่เกิดขึ้น จิตปลอดจากนิวรณธรรม (ความพอใจในกามคุณ ความคิดร้ายผู้อื่น ความหดหู่ซึมเซา ความฟุ้งซ่านรำคาญ ความลังเลสงสัย) ตราบนานเท่าที่จิตทรงอยู่ในสภาวะความเป็นฌาน

   ฉะนั้นผู้ถามปัญหา ต้องไม่ใช้สมองคิด แต่ต้องใช้จิตที่ตั้งมั่นจวนแน่วแน่ ตามดูอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจของตัวเอง แล้วจะเข้าใจสภาวะของจิตตนเองได้

   (๒) ผู้ใดสามารถพัฒนาจิต จนเห็นอารมณ์ปรุงแต่งของใจ (จิตสังขาร) ดับไปตามกฎไตรลักษณ์ ผู้นั้นจะไม่สงสัยในนิมิต (ความฝัน) ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นจงพิสูจน์ด้วยตนเอง ฝึกพัฒนาจิตต่อไปด้วยมีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์คุมใจ มีสัจจะ และมีความเพียรเป็นเครื่องสนับสนุน โอกาสเข้าถึงความจริงตามที่กล่าว จึงจะเกิดขึ้นได้

   (๓) คนดีที่ประพฤติทุศีล เป็นคนที่มีทั้งบุญและบาปสั่งสมอยู่ในจิตตนเอง จะบาปมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ จำนวนปลาที่ถูกฆ่า และความรุนแรงจากการผูกเวรของปลา ผู้ใดไม่หยุดประพฤติปาณาติบาต แม้เพียงปฏิบัติสมถกรรมฐาน จิตไม่สามารถเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ จิตยังฟุ้งซ่านด้วยอารมณ์หลากหลาย บุญที่เกิดจากการปฏิบัติกรรมฐานจึงเกิดขึ้นน้อย การอุทิศบุญปริมาณน้อยให้เจ้ากรรมนายเวรย่อมมีผลบ้าง แต่เป็นผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
   

1286.
กราบเรียนท่าน ดร.สนอง วรอุไร

เนื่องจากเราแสวงหาการหลุดพ้น มีจริงหรือเปล่า แล้วจุดกำเนิดที่ทำให้เราต้องมาวนเวียนจนต้องแสวงหาทางหลุดพ้นนั้น มาจากไหน

ขอรบกวนท่านอาจารย์ด้วยครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

คำตอบ
    พระพุทธะตรัสกับอาฬวกยักษ์ (เทวดา) ว่า

บุคคลข้ามโอฆะ (เวียนว่ายตายเกิด) ได้ด้วยศรัทธา

บุคคลล่วงความทุกข์ ได้ด้วยความเพียร

บุคคลบริสุทธิ์ ได้ด้วยปัญญา

อาฬวกยักษ์ฟังแล้วพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) แล้วทำให้จิตบรรลุโสดาปัตติผล

ฉะนั้น อวิชชา จึงเป็นจุดที่ทำให้สัตว์บุคคล ต้องเวียนตาย-เกิดอยู่ในวัฏสงสาร และการจะนำพาชีวิตให้พ้นไปจากวัฏสงสารได้ ต้องใช้ปัญญาเห็นถูกตามธรรมกำจัดอวิชชา ซึ่งมีความเป็นไปได้จริง ดังที่อรหันตบุคคล (อนุปาทิเสสนิพพาน) ได้กระทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว
   

1285.
กราบเรียน ท่านอาจารย์สนอง

ดิฉันอยากขอความกรุณาจากอาจารย์ในปัญหาต่อไปนี้ค่ะ

1. คุณพ่อป่วยเป็นมะเร็งค่ะ และกำลังได้รับการรักษา สภาพโดยทั่วไปยังค่อนข้างแข็งแรงดี แต่ที่เป็นห่วงคือปกติแล้วทั้งคุณพ่อ และคุณ แม่ ไม่สนใจในการทำทาน รักษาศีล และภาวนา มีบ้างคือการช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน และได้ทำกิจการงานที่เป็นกุศล คือสร้างถนน หนทางสาธารณะ

ดิฉันควรกับจะทำอย่างไรให้ท่านทั้งสอง ได้มีโอกาสสร้างอริยทรัพย์ และ มี สัมมาทิฏฐิ ก่อนจะหมดเวลาในชิวิตนี้ ท่านทั้งสองอยู่กับความโกรธ ความไม่พอใจ ความไม่ให้อภัย แม้กระทั่งพี่น้องของตนและคู่ครอง มาตลอดเวลา และเนื่องจากการไม่มีกุศลมาคุ้มครอง ทำให้เห็นผิดเป็นถูก เสียหายจากคนที่เข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์คนแล้วคนเล่า

2. ด้วยเหตุที่คุณแม่เป็นผู้ควบคุมการเงินของกิจการ 3 บริษัท มีอยู่หนึ่งธุรกิจ ที่ไม่ประสบความสำเร็จ และต้องการการปรับปรุงแก้ไข แต่คุณแม่ไม่ยอมรับฟัง และ ยังเอาเงินของอีก 2 บริษัท และของน้องสาวไปสนับสนุนค่าใช้จ่ายของธุรกิจนั้นตลอดเวลาสิบกว่าปี ที่ผ่านมา ซึ่งเหมือนเอาเงินไปถมทะเล และเมื่อไม่พอก็ยืมคนรู้จักตลอด นอกจากนี้ไม่ยอมสำรองเงินของกิจการสำหรับเรื่องฉุกเฉิน ทุกคนในครอบครัวก็อดทน เพราะไม่อยากทำร้ายน้ำใจคุณแม่ แต่ความเสียหายก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น จะทำอย่างไรดีคะให้คุณแม่เข้าใจ และลดทิฏฐิลงได้ คุณแม่อายุ 64 ปีแล้ว แต่เพราะท่านทำงานมาตลอดชีวิต คิดว่าความกลัวที่จะสูญเสียอำนาจมีอยู่ด้วยค่ะ

ขอความกรุณาจากอาจารย์ด้วยค่ะ

ขอขอบพระคุณป็นอย่างสูง

คำตอบ
    (๑) การประพฤติทุศีลข้อปาณาติบาต เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ประพฤติวิบัติจากการเจ็บป่วยเป็นมะเร็ง ส่วนการช่วยเหลือคนอื่นและสร้างถนนให้คนอื่นสัญจรได้สะดวก ถือว่าเป็นบุญ แต่พลังบุญมีน้อยกว่าพลังบาป การเจ็บป่วยจึงได้เกิดขึ้น

   การที่จะทำให้ท่านทั้งสองเปลี่ยนความเห็นผิด ให้กลับมาเป็นความเห็นถูก ผู้เป็นลูกต้องพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีคุณธรรม เมื่อท่านทั้งสองเกิดความศรัทธาในตัวลูก แล้วเอ่ยปากให้ลูกสอนได้ เมื่อนั้นโอกาสที่ท่านทั้งสองมีความเห็นถูกและสร้างอริยทรัพย์ให้กับตนเอง ย่อมเกิดขึ้นได้

   (๒) ผู้ใดพัฒนาจิต จนเข้าถึงสัจจธรรมของชีวิตได้แล้ว เรื่องขาดทุนหรือกำไรในธุรกิจ จะเป็นบทเรียนให้กับชีวิตว่า สมบัติทางโลกนำความคับแค้นใจมาให้ผู้เป็นเจ้าของ ตายแล้วไม่มีใครสักคนสามารถนำติดตัวไปสู่ปรโลกได้ ผู้นั้นจะอยู่กับสมบัติทางโลกอย่างรู้เท่าทัน และพร้อมจะจากไปอย่างไม่เสียดายเมื่อวันสุดท้ายของชีวิตเวียนมาถึง ยิ่งไปกว่านั้น ผู้รู้จริงเกี่ยวกับชีวิต นิยมสร้างและสั่งสมทรัพย์ภายใน คือบุญ ให้มากเท่าที่สามารถทำได้ เพราะทั้งหมดที่เป็นบุญ สามารถนำสู่ปรโลกได้

   ดังนั้นเรื่องของแม่จึงเป็นบทเรียนที่ดี ที่ผู้เป็นลูกจะเอามาเป็นครูสอนใจว่า ผู้ใดมีจิตเป็นทาสของมนุษย์สมบัติ ย่อมไม่ต่างไปจากบุคคลผู้ถูกงูพิษกัด ซ้ำเมื่อตายไปแล้วความหลงยังนำสู่การเกิดเป็นสัตว์ในอบายภูมิอีกด้วย
   

1284.
กราบเรียนท่านอาจารย์สนองที่เคารพรัก เมตตาให้คำตอบลูกด้วย

..ลูกไม่อยากให้คุณพ่อทำบาป และไม่ต้องการเป็นลูกที่เนรคุณพ่อแม่ คุณพ่อเป็นข้าราชการและโกงของหลวงเป็นอาชีพมานาน นับล้านบาท....ปัจจุบันก็ทำไม่หยุดถ้าลูก ๆ แจ้งความกับตำรวจจะได้หรือไม่ และถ้าแจ้งความจะบาปมากแค่ไหน ( กลัวเนรคุณพ่อ )

แต่ไม่ต้องการให้พ่อทำผิดไปมากกว่านี้...

คำตอบ
    “ กัมมุนา วัตตตี โลโก ” สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม พ่อประพฤติทุศีลข้อสอง คือโกงของหลวงเป็นเรื่องของพ่อ หากพ่อยังไม่ศรัทธาในความดีและยังไม่ขอร้องให้ลูกสอน ในทางธรรมลูกไม่มีสิทธิ์ไปสั่งสอนพ่อ และเช่นเดียวกัน หากลูกหวังดีไม่ให้พ่อประพฤติผิดไปมากกว่านี้ ด้วยการไปแจ้งความกับตำรวจให้ดำเนินการ ถือว่าประพฤติเนรคุณต่อบุพการี เมื่อใดที่กรรมให้ผล ความวิบัติของชีวิตและงานย่อมเกิดขึ้นกับผู้ประพฤติเนรคุณ ผู้รู้เอาพฤติกรรมโกงของหลวงของผู้อื่น มาเป็นครูสอนใจตัวเองว่า เราจะไม่ประพฤติเช่นนั้น แล้วจะไม่วิบัติเมื่อกรรมให้ผล
       

1283.
กราบเรียน ดร.สนอง

การสาบานถ้าเราไม่เต็มใจที่จะสาบานถูกบังคับแต่เราก็สาบานไปต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะมีผลหรือไม่
ถ้าเราผิดคำสาบานและวิธีแก้ไขหรือไม่ช่วยตอบหน่อยนะค่ะหนูไม่สบายใจมากเลยค่ะ


กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ดร.สนอง ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยนะคะ    

คำตอบ
    ศาสนาพุทธมิได้สอนให้พุทธบริษัทประพฤติสาบาน แต่สอนว่า กรรมอยู่ที่เจตนา ฉะนั้น การถูกผู้อื่นบังคับให้ประพฤติสาบาน โดยที่ผู้ถูกกระทำไม่เต็มใจหรือไม่มีเจตนา ผลของกรรมย่อมไม่มี แต่หากจิตของผู้ถูกบังคับให้สาบาน ยังระลึกถึงการผิดคำสาบานแล้วทำให้ไม่สบายใจ นั่นคือ บาปที่เกิดขึ้นแล้วกับใจ ผู้ใดประสงค์ปลอดจากความไม่สบายใจ ต้องไปขอขมาโทษต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น พระพุทธรูป แล้วต้องไม่ประพฤติสาบานให้เกิดขึ้นซ้ำอีก
     

1282.
อาจารย์คะ

ในการอธิษฐานจิต คือทราบมาจาการตอบคำถามของ ดร สนอง ว่าต้องมีสัจจะด้วย ไม่เข้าใจค่ะ ว่าต้องมีสัจจะยังงัยคะตอนอธิษฐาน ชอทราบหลัก และคำอธิบายหน่อยค่ะ

ขอโทษ และขอบคุณ ความเมตตาจิตของท่านค่ะ   

คำตอบ
    มีสัจจะหมายถึง มีความซื่อตรง ไม่กลับเป็นอย่างอื่น เช่น ตั้งใจว่าจะสวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน ต้องประพฤติให้ได้ทุกคืนก่อนนอน หรือตั้งใจว่าจะรักษาศีลข้อสองให้ได้ ่ต้องไม่ประพฤติคอรัปชั่น หรือไม่เอาสิ่งของที่เจ้าของยังมิได้อนุญาตยกให้มาเป็นของตน อย่างนี้เรียกว่ามีสัจจะ

ฉะนั้น ก่อนอธิษฐานจิต ผู้ใดมีสัจจะแล้วกล่าววาจาอธิษฐาน คำอธิษฐานจึงจะมีความศักดิ์สิทธิ์
   

1281.
ถามปัญหา

   1. หากอธิษฐานจะรักษาศีล 5 ให้ครบทั้ง 5 ข้อ แต่หากวันใดทำได้ไม่ครบจะต้องทำอย่างไรเพื่อต่อศีลให้กลับมาสมบูรณ์ดังเดิม เช่น บางครั้งต้องพูดไม่จริงกับลูกค้าบ้าง มีบางท่านบอกว่าให้อธิษฐานขอขมาว่าจะไม่ทำอีก แล้วศีลก็จะกลับมาครบดังเดิม เป็นไปได้หรือ (เพราะหากเป็นไปได้ อย่างนี้ก็พูดปดกันได้ตลอดเวลา ตกเย็นก็มาขอขมา)

   2. หากนั่งสมาธิ (ยังเป็นมือใหม่อยู่) จิตยังไม่นิ่งเท่าไรนัก สามารถแผ่กุศล/แผ่เมตตาให้แก่คนที่ต้องการได้ไหม แล้วจะไปถึงไหม

   3. ครอบครัวชอบรับประทานอาหารทะเลเผา เช่น กุ้งเผา ปูนึ่ง นั้น หากข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนเลือกหรือสั่งเอง แต่ร่วมรับประทานด้วย จะบาปไหม ประมาณใด

คำตอบ
    ( ๑ ) อธิษฐานประพฤติสิ่งดีงามใดไว้ แล้วทำไม่ได้ ถือว่าเป็นการอธิษฐานที่ไร้สัจจะ ผู้หวังความสมปรารถนาในอธิษฐานจะไม่ประพฤติกัน การขอขมาที่ตนอธิษฐานแล้วประพฤติละเมิด สามารถทำได้ แต่ต้องไม่ให้การประพฤติละเมิดเกิดซ้ำขึ้นอีก ผลแห่งการขอขมาจึงจะเกิดการสัมฤทธิ์

   ( ๒ ) การนั่งสมาธิแล้วทำให้จิตตั้งมั่นแม้เพียงหนึ่งนาที บุญย่อมเกิดขึ้นแล้ว ผู้มีบุญสามารถอุทิศบุญที่ตนมีให้กับผู้อื่น ( คน ) ที่ตนปรารถนาได้ หากคนที่อยู่ปลายทางรับทราบการอุทิศ บุญนั้นย่อมส่งไปถึง

   อนึ่ง หากผู้ส่งมีเมตตา แล้วแผ่เมตตาให้คนอื่นที่ตนปรารถนาจะแผ่ให้ ถ้าเขารับทราบ เมตตาย่อมส่งไปถึงเช่นกัน

   ( ๓ ) จะไม่เป็นบาปได้ต่อเมื่อ จิตไม่ได้ระลึกถึงว่า เขาได้นำสัตว์ทะเลเป็นๆมาเผาให้เรารับประทาน แต่จะเป็นบาปหากขณะรับประทานแล้วเกิดความสงสัย เขาเอาสัตว์เป็นๆไปเผาเพื่อเรา ส่วนจะบาปมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการจองเวรของสัตว์ และขึ้นอยู่กับจำนวนของสัตว์ที่ถูกเผา
   

1280.
กราบเรียน ดร.สนอง

   ได้ติดตามอ่านหนังสือสนธนาธรรมของท่านหลายเล่ม จึงขอถามปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ เนื่องจากเพื่อนได้ทักไว้ว่า ในช่วงชีวิตของตัวเองนั้นจะเกิดอุบัติเหตุทางรถปีเว้นปี และที่ผ่านมาได้เกิดเหตุการณ์ที่เพือนว่ามาตลอด และในปีนี้ก็เช่นกันก็ได้เกิดอุบัติเหตุทางรถอีกครั้ง แต่โชคดีที่ไม่ได้โดนกับตัวเองเป็นผู้อื่นโดนแทน แต่เพื่อนก็ได้บอกไว้ว่าอีกไม่นานก็ต้องโดนด้วยตัวเอง จึงอยากถามมีวิธีแก้จากหนักเป็นเบา หรือไม่โดนเลย ได้หรือเปล่า และอยากรู้ด้วยว่าชาติที่ผ่านๆ มาได้ทำกรรมอะไรไว้ ถึงต้องมีเหตุการณ์เช่นนี้ แต่ตัวเองก็ได้ปฏิบัติดูจิตตามสายของพระอาจารย์ปราโมทย์อยู่ พยายามพิจารณากาย แต่ก็กลัวว่าถ้าหากเกิดเหตุการณ์เข้าสักวันจะแยกกายกับใจไม่ได้ คือจะไม่มีสติในเวลาใกล้จะตาย

จึงขอให้ท่านช่วยชี้ทางให้ด้วยค่ะ

คำตอบ
    ผู้ใดไม่ตั้งโปรแกรมจิตไว้กับตนเองว่า “จะประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์” ผู้นั้นย่อมปลอดภัยจากอุบัติภัยอันเนื่องมาจากรถยนต์ ฉะนั้น การมีสติระลึกได้ทุกครั้งก่อนเดินทางด้วยรถยนต์ว่า “การเดินทางครั้งนี้สะดวก ราบรื่น ปลอดภัย” จึงเป็นการตั้งโปรแกรมจิตที่ปลอดจากอุบัติภัยทุกด้าน
   

1279.
เรียน ถามท่านอาจารย์คะ

หนูมีข้อสงสัย
   1.การรักษาศีล 5 ในชีวิตประจำวันนั้น ศีล 5 เป็นการควบคุมทางด้านกายและวาจาใช่หรือไม่ ดังนั้นถ้ามีการคิดที่ไม่ดีแต่ยังไม่มีการแสดงออกทางกายหรือวาจา ก็แสดงว่ายังไม่ผิดศีล 5 ใช่หรือไม่คะ(ทั้ง ๆที่สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือเรื่องจิตหรือมโน และเป็นสิ่งที่ควบคุมอยากมากในปุถุชนว่าให้คิดแต่สิ่งที่ดี ๆอย่างเดียว)

   2. การปฏิบัติกรรมฐาน-วิปัสสนา จะช่วยทำให้จิตบริสุทธิ์ขึ้น ดังนั้นผู้ที่บรรลุธรรมขั้นต้นแล้ว อย่างเช่นโสดาบัน จะไม่มีการคิดในทางที่ไม่ดีแล้วใช่หรือไม่

   3. การถือศีลโดยเฉพาะในข้อที่ 4 ไม่กล่าวเท็จ ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบ ไม่พูดส่อเสียด โดยเฉพาะพูดเพ้อเจ้อทำยากมากคะ เพราะสอนหนังสือบางครั้งต้องสอนให้ตลก ๆ เพื่อให้นักเรียนสนใจในเนื้อหาที่เรียน อย่างนี้ถือว่าผิดศีลไหมคะ


   ขอบคุณท่านอาจารย์คะ

คำตอบ
    ( ๑ ) ตอบว่า ใช่ สำหรับคนที่ศึกษามาทางด้านปริยัติ แต่ไม่ใช่สำหรับนักปฏิบัติธรรม ต้องเอาศีลห้าลงคุมให้ถึงใจ แล้วโอกาสที่ใจจะเข้าสู่ความตั้งมั่นเป็นสมาธิ จึงจะเกิดขึ้น ฉะนั้น การคิดไม่ดี ถือว่ามีศีลไม่บริสุทธิ์ ( ด่างพร้อย ) ปฏิบัติสมถกรรมฐานแล้วจิตไม่สามารถตั้งมั่นเป็นสมาธิได้

   ( ๒ ) ใช่ครับ

   ( ๓ ) การกล่าววาจาที่ทำให้ผู้ฟังรู้สึกขบขัน เรียกว่า พูดตลก นับได้ว่าพูดเพ้อเจ้อ และบางครั้งการพูดที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง พูดแล้วทำให้ผู้ฟังขบขันได้ ฉะนั้น การพูดเพ้อเจ้อไม่ถือว่าผิดศีล แต่ทำให้ศีลไม่บริสุทธิ์ ผู้มีศีลไม่บริสุทธิ์ สามารถปฏิบัติธรรมได้ แต่จิตเข้าไม่ถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิ ในระดับที่จะนำไปใช้เป็นฐานพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งได้
   

1278.
กราบเรียนท่านอาจารย์ดร.สนอง วรอุไร

  ขอขอบพระคุณดร.สนอง วรอุไร และทางทีมงานชมรมกัลยาณธรรมที่สละเวลามาเพื่อทำงานธรรมนี้ ช่วยเหลือผู้คน ให้ที่สุดได้เข้าถึงธรรม ขอกราบขอบพระคุณจากใจ

   กระผมเป็นคนหนึ่งที่ยังอยู่ในกองทุกข์ และพอจะมองเห็นกองทุกข์อยู่เนืองๆในความสุขทางโลก กระผมจึงอยากยกจิตใจของตนเองให้เข้าถึงธรรม ให้เบาบางด้วยกิเลศ และปรารถณาให้เข้าถึงธรรมได้ในที่สุด จึงขอกราบเรียนท่าน อ.ดร.สนอง วรอุไร ดังต่อไปนี้คือ

   1.ถ้าในช่วงเดือนตุลา-ปลายเดือนพฤศจิกายน ผมว่างจากการเรียนหนังสือ ผมพอจะหาเวลาให้ได้สัก 7 วันเป็นอย่างน้อย หรือ1 เดือนเป็นอย่างมาก
กระผมจึงอยากขอให้ อาจารย์ดร.สนอง ช่วยกรุณาชี้แนะว่าตัวกระผม ควรจะไปฝึกสมาธิ ฝึกวิปัสสนากรรมฐาน ที่ใด ที่ๆ ดร.สนองเห็นว่าเป็นที่ๆ ดี มีอาจารย์ที่ดีจริง ,กระผมพักอยู่ประจำที่กรุงเทพ แต่ก็สะดวกไปทุกที่ๆท่านอาจารย์ดร.สนองชี้แนะ ขอบคุณครับ.

   2.ผมเคยไปฝึกนั่งสมาธิวิปัสสนา ที่วัด 2 ครั้ง นั่งไป 1 ชั่วไมง กับ 2 ชั่วโมง พอเวทนาจากความปวดเมื่อยมันเกิด ก็ไม่เปลี่ยนท่า ก็ใข้สติไปจับที่เวทนาที่เกิดจากกายแทน พอใช้สติจับไปเรื่อยๆ ก็เห็นว่าความเมื่อยนั้นมันก็ยังมีอยู่ แต่จิตเรามันเริ่มเบื่อหน่ายจากความเกิด-ดับของความเมื่อย เริ่มเห็นถึงความไม่เที่ยง และสุดท้ายก็ปล่อยวางลงได้ อันนี้ผมมาถูกทางแล้วใช่ไหมครับ ?

   3.ถ้าพิจารณากายอยู่ ลมหายใจอยู่ ถ้าความเมื่อยมันเกิด เราก็ใช้สติไปจับที่เวทนา ใช่ไหมครับ ?

   4.พอนั่งไปนานๆ ไม่ตรงเท้าซ้ายที่ถูกเท้าขวาทับมันร้อนมากๆ เหมือนถูกเอาไฟมาลนยังไงยังงั้น ผมลองทนดูใช้สติจับดูแต่มันก็ไม่หายไม่คิดเปลี่ยนท่า คือผมไม่รูว่ามันมาจากกรรมที่ผมเคยทำหรือ มันมาจากการทับเส้นครับ ส่วนมากนั่งไปนานๆ แล้วถึงจะเกิดครับ ...พอทนไปนานๆ เท้าที่ถูกทับกระตุกเลยครับ แต่ก็ไม่หายสักที แบบนี้ถ้าผมฝึกใหม่ผมจะต้องตั้งใจยอมตายไม่เปลี่ยนท่าเพื่อให้เข้าถึงธรรม หรือต้องเปลี่ยนท่าครับ ขอความกรุณาท่านอาจารย์สนอง ช่วยชี้แนะ .


   * กราบขอขอบพระคุณดร.สนอง วรอุไร และทีมงานที่สละเวลามากๆ ครับขอให้มีบารมียิ่งๆ ขึ้นไป ขอให้สมปรารถณาในธรรม

คำตอบ
    ( ๑ ) แนะนำให้ไปฝึกกรรมฐานกับหลวงปู่พุทธอิสระ วัดอ้อน้อย อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม

   ( ๒ ) ใช่ครับ

   ( ๓ ) ความเมื่อยเป็นอารมณ์ของจิตที่ถูกสมมติเรียกว่า ทุกขเวทนา เกิดขึ้นเพราะจิตมีสติเคลื่อนออกไปจากการพิจารณากาย หรือสติเคลื่อนออกไปจากการพิจารณาลมหายใจ วิธีแก้ปัญหา ต้องกำหนดคำว่า “เมื่อยหนอๆๆๆ” ไปเรื่อยๆ จนความเมื่อยหายไป แล้วนำจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิม นี่เป็นวิธีเรียกสติกลับคืนมา ระลึกอยู่กับกายหรือระลึกอยู่กับลมหายใจ อย่างใดอย่างหนึ่งที่ใช้ฝึกจิตให้มีกำลังสติเพิ่มขึ้น

   ( ๔ ) ต้องเปลี่ยนจากนั่งบริกรรมไปเป็นการเดินจงกรม แล้วจะทำให้จิตมีกำลังสติเพิ่มขึ้น
  

1277.
อยากจะเรียนถามท่านอาจารย์ว่า

  เวลาเราปฎิบัติธรรมเช่นนั่งสมาธิ สวดมนต์ ก็ทำให้จิตใจเราสงบ แต่ในโลกของความเป็นจริง ที่เราจะต้องแข่งขันทำงานเผชิญกับกิเลสมากมาย ที่เข้ามาทาง อายตนะ 6
ผมอยากจะเรียนถามว่าอะไรเป็นตัวยับยังให้จิตของเรานั้นมั่นคงไม่หวั่นไหวหรือหลงกับกิเลสพวกนี้ ครับ

คำตอบ
   สติและสัมปชัญญะระดับโลกุตตระที่มีกำลังกล้าแข็ง จะเป็นตัวยับยั้งไม่ให้จิตตกเป็นทาสของกิเลสครับ
  

1276.
เรียนอาจารย์สนองที่เคารพอย่างสูง

   เมื่อก่อนผมเป็นคนที่ไม่เชื่อในเรื่องบุญบาป เชื่อว่าตายและสูญ และสงสัยว่าสัตว์ต่างที่เราบริโภค เช่น ปลา ไก่ หมูฯลฯ ในปัจุบันมีเป็นจำนวนมาก ประกอบกับประชากรของมนุษย์ก็เพิ่มขึ้นทุกวัน หากทุกชีวิตที่เกิดมาต้องมีดวงจิตทุกชีวิต แล้วดวงจิตมากมายขนาดนี้ มาจากไหนและมันจะเป็นไปได้หรือ ?

    จนกระทั่งวันหนึ่งผมได้มีโอกาสพบกับพระสงฆ์องค์หนึ่ง ในการพบกับท่านครั้งแรกตัวผมเองก็ยังไม่มีความเลื่อมใส ซึ่งในใจก็คิดว่าท่านจะดีจริงหรือเปล่า หรือเป็นพระทุศีล ใบ้ห้วย ดูดวง ตามประสบการณ์ส่วนใหญ่ที่ผมได้ประสบและทราบมา และผมเองก็เริ่มไม่แน่ใจในความคิดและความเชื่อของผมดังที่กล่าวในข้างต้น เมื่อผมถามคำถามท่านเพียงแค่ 1 คำถาม ว่า" หากผมจะบวช แต่ผมไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียวผมจะบวชได้หรือไม่ " ท่านไม่ได้ตอบสิ่งที่ผมถามในทันทีทันใดแต่ท่านกลับสอน และตอบในสิ่งผมเป็นทุกข์อยู่ในใจชึ่งได้ทำผิดมา

    หลังจากนั้นท่านจึงตอบคำถามในสิ่งที่ผมถาม..... ผมเองเก็บความสงสัยว่า ท่านรู้ความคิดและสิ่งที่เราทำผิดมาได้อย่างไรเป็นเวลา 7 ปี จนวันหนึ่งก็ได้มีโอกาสฟัง ผลงานของท่าน ดร. อาจอง และ ดร.สนอง ผมก็พอจะเข้าใจอะไรบ้างแต่ไม่ทุกอย่างหลังจากนั้น ก็ดาวน์โหลดคำสอนของพระอาจารย์ต่างๆ ทั้งมีชิวิตและมรณะมาลองศึกษาดู แต่ก็ยังไม่เข้าใจเพียงลองทำตามที่ท่านแนะนำให้ปฏิบัติ

กระผมขอความเมตาจากอาจารย์ตอบขอสงสัยของกระผมดังนี้

    1. การสวดมนต์เป็นภาษาบาลีแต่ไม่รู้ความหมาย กับการสวดเป็นภาษาไทย ซึ่งแปลความหมายแล้วและเข้าใจความหมาย เหมือนหรือต่างกันอย่างไรและอย่างไหนดีกว่ากันเพราะอะไร?

   2. การถวายปัจจัย(เงิน) แก่พระบาปหรือไม่ทำอย่างไรจะไม่บาป

   3. การทำสังฆทานที่ถูกต้องเป็นอย่างไร เพราะผมเห็นที่บ้านปฏิบัติไม่ตรงกับที่ได้รับทราบมา

   4. การกรวดน้ำหากไม่ต้องเทน้ำ ใช้วิธีการคิดอุทิศส่วนกุศลได้หรือไม่อย่างไหนถูกต้อง

   5. ผมได้ฟังจาก ดร.อาจอง และท่าน ว.วชิระเมธี ว่ากรรมอยู่ที่เจตนา หากมีบุคคลใช้อำนาจหน้าที่ที่สูงกว่า บีบบังคับให้ผู้น้อยต้องคอรับชั่นให้ผู้บังคับบัญชา โดยที่ผู้น้อยไม่มีเจตนาและไม่มีส่วนได้จากทรัพย์นั้น และไม่รู้สึกเศร้าหมองจะบาปและมีผลแห่งบาปหรือไม่อย่างไร

   6. ทำอย่างไรจึงจะได้พบกับอาจารย์และเป็นลูกศิษย์ทางธรรม(ใกล้ชิด)

   7. การฝึกสติ (สมาธิ) จำเป็นต้องมีศีล 5 คุมใจก่อนฝึกใช่หรือไม่ การอาราธนาศีล 5 เราคิดในใจได้หรือไม่โดยไม่ต้องเปล่งวาจา และไม่ต้องขอจากพระสงฆ์ได้หรือไม่

   ด้วยความเคารพอย่างสูง

คำตอบ
    ( ๑ ) สวดมนต์ภาษาบาลีแต่ไม่รู้ความหมาย ไม่ต่างไปจากค้างคาว ๕๐๐ ที่ฟังพระสวดมนต์อยู่ในถ้ำ แต่จิตของค้างคาวจับอยู่กับเสียงที่ฟังแล้วมีความสบายใจ ค้างคาวทั้ง ๕๐๐ ตัว ตายแล้วไปเกิดเป็นเทวดาอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผู้ใดสวดมนต์เป็นภาษาบาลีและรู้ความหมายของบทมนต์ที่สวด ความดีงามจากบทมนต์ที่สวด จะถูกเก็บบันทึกไว้ในใจได้มากกว่าการสวดมนต์ที่แปลเป็นภาษาไทยเพียงอย่างเดียว

   ( ๒ ) การถวายเงินแก่พระผู้ทรงศีล ผู้ถวายได้บุญ แต่หากถวายแด่ภิกษุผู้ทุศีล ผู้ถวายได้บาป ผู้ถามปัญหาประสงค์ถวายเงินแก่พระ ควรเอาเงินใส่ซองแล้วถวาย หากเป็นพระสายธรรมยุต ควรเขียนคำปวารณาแยกออกจากซองบรรจุเงิน แล้วนำใบปวารณาถวาย ส่วนซองบรรจุเงินก็วางไว้ในที่อันควร

   ( ๓ ) การถวายไทยธรรมให้กับหมู่สงฆ์ เรียกว่าถวายเป็นสังฆทาน ฉะนั้นจะอุปโลกน์สงฆ์หลายองค์มาร่วมกันรับของที่มีผู้ถวาย หรือมีสงฆ์เพียงหนึ่งองค์มารับถวาย เมื่อรับแล้วนำเครื่องไทยธรรมไปรวมเป็นส่วนกลางของหมู่สงฆ์ ที่สงฆ์ทุกองค์มีสิทธิ์นำไปบริโภคใช้สอยได้ จึงจะเรียกได้ว่าเป็นสังฆทาน

   ( ๔ ) ถูกทั้งสองอย่าง

   ( ๕ ) ผู้ใดมีจิตระลึกได้ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องชอบธรรม ที่ตนมีส่วนร่วมกระทำ ทำให้ความเศร้าหมองของจิตเกิดขึ้น เรียกว่า บาป เมื่อใดที่กรรมให้ผล ความวิบัติของทรัพย์ย่อมเกิดขึ้นกับผู้มีส่วนร่วมในการประพฤติทุจริตนั้น

   ( ๖ ) เมื่อใดมีผู้ถามปัญหาพัฒนาจิต ให้มีธรรมวินัยสถิตอยู่กับใจ จนมีคุณธรรมสูงเท่ากัน การได้พบและเป็นศิษย์ในทางธรรม ย่อมมีโอกาสเป็นไปได้

   ( ๗ ) ข้อปฏิบัติที่ต้องศึกษาเรียกว่า ไตรสิกขา ( ศีล สมาธิ ปัญญา ) ศีลเป็นฐานรองรับใจให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ สมาธิเป็นฐานรองรับใจให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง ฉะนั้นผู้ใดประสงค์ฝึกจิตให้มีสติ เพื่อนำจิตเข้าสู่ความตั้งมั่นเป็นสมาธิ จำเป็นต้องมีศีลห้าที่ครบและบริสุทธิ์คุมใจให้ได้ก่อน

   การอาราธนาศีลห้า เป็นการเชื้อเชิญหรือนิมนต์ให้พระบอกศีลให้ หากผู้ถามปัญหาอาราธนาศีลด้วยการคิดในใจ แล้วสงฆ์ผู้ถูกนิมนต์ให้บอกศีลรับทราบด้วยใจ แล้วบอกศีลให้ การไม่กล่าววาจาอาราธนาศีลย่อมทำได้

   อนึ่ง ผู้ใดมีศีลห้าอยู่กับใจเป็นปรกติได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องอาราธนาศีลกับใครผู้ใด
  

1275.
กราบสวัสดีค่ะท่านอาจารย์ดร.สนอง วรอุไร

หนูมีปัญหาอยากกราบเรียนถามท่านอาจารย์ดังนี้ค่ะ

คือตัวหนูทำงานมูลนิธิด้วยกันกับสามี ที่ต่างประเทศค่ะ ได้รับเงินเดือนจากเงินที่บริจาคเข้ามาค่ะ ทีนี้หนูเคยสงสัยหลาย ๆ อย่างเพราะมีความรู้สึกไม่ดี กลัวว่าจะเป็นบาปกรรมติดตัวไปโดยที่เราไม่รู้ตัวอ่ะค่ะ ข้อสงสัยของหนูคือ

1. หนูมีปัญหากับลูกสาวของสามีที่ทำงานด้วยกัน บางครั้งถูกกดดันอยากออกไปทำงานอื่นแทน ทีนี้เพื่อนพูดว่างานที่ทำอยู่เป็นงานที่ได้บุญ หนูเลยสงสัยว่าเราทำงานเพื่อเงินเดือนอยู่แล้ว เราจะได้บุญตรงไหนคะ

2. ลูกสาวของสามีเคยไปทำงานแล้วทำเงินของมูลนิธิหายไปประมาณเกือบ 4000 เหรียญ หนูแนะนำสามีว่าควรจะให้ลูกสาวคุณรับผิดชอบ เพราะถือว่าเงินจำนวนนี้ ไม่ว่าใครทำหาย สามี หนู หรือลูกสาวคุณ ก้อต้องรับผิดชอบเงินจำนวนนี้ เพราะเป็นเงินที่เค้าบริจาคเข้ามา ควรจะดูแลหรือใช้จ่ายให้รัดกุม

ไม่ทราบว่าหนูคิดถูกหรือผิดอย่างไรคะ

3. บางเรื่องหนูเห็นลูกสาวของสามีทำไม่ค่อยถูกต้องหรือเหมาะสมหลาย ๆ อย่าง เช่นบางครั้งเปลี่ยนมือถือบ่อย ๆ โดยใช้เงินของมูลนิธิ บางครั้งออกไปทานข้าวกับแฟน ก้อใช้เงินของมูลนิธิ โดยเขียนอ้างในบิลว่าคุยเรื่องงาน หนูทำบัญชี หนูเลยเห็นในส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ค่ะ หนูก้ออยู่ในลักษณะพูดไม่เข้า คายไม่ออก เพราะรู้สึกว่าสิ่งที่เธอทำไม่สมควร ไม่ทราบว่าหนูคิดผิดถูกอย่างไรบ้างคะ

4. ที่หนูกังวลใจ เพราะเคยมีคนพูดให้ฟังอ่ะค่ะว่า ถ้าใช้เงินของมูลนิธิไม่สมควรและถูกต้องจะกลายไปเป็นเปรตอ่ะค่ะ

ถ้าทราบคำตอบแน่นอนแล้ว หนูจะได้บอกให้สามีเข้าใจสิ่งที่ถูกที่ควรด้วยค่ะ

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ดร.สนอง ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยนะคะ

ผู้สงสัย

คำตอบ
   (๑)การทำงานให้กับมูลนิธิ เป็นการช่วยเหลือผู้อื่น ผู้ทำได้บุญ ส่วนภาวะของจิตที่ถูกกดดัน อันเนื่องมาจากการทำงานร่วมกับผู้อื่น ถือว่าเป็นบาป ฉะนั้นงานที่ทำจึงได้ทั้งบุญและบาป ซึ่งผู้ถามปัญหาต้องประเมินดูด้วยตนเองว่า บุญและบาปที่เป็นผลมาจากการทำงานให้มูลนิธิ อย่างไหนมีมากกว่ากัน หากประเมินแล้ว ได้บุญมากกว่าบาป ถือว่าได้กำไร จงทำงานนี้ต่อไป หากเป็นไปในทางตรงข้าม ประเมินแล้วได้บาปมากกว่าบุญ ถือว่าขาดทุน จงยุติงานนี้แล้วไปหางานอื่นที่ได้บุญทำ

   (๒) จะคิดถูกได้ต่อเมื่อ ต้องระบุหน้าที่และความรับผิดชอบของบุคคลที่ทำงานให้ชัดเจน และบันทึกเป็นหลักฐานด้วยเอกสารที่มีผู้ลงนามกำกับ

   (๓) ผู้ถามปัญหาควรทำบัญชีให้ถูกตรงตามหน้าที่ มีหลักฐานตามข้อ (๒) กำกับ เมื่อใดที่ผลงานของมูลนิธิได้แสดงออกเป็นรายงาน ผู้อ่านเอกสารย่อมรู้เห็นเข้าใจด้วยตนเองว่า ผู้ใดประพฤติถูกตรงตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค ผู้ใดประพฤติผิดไปจากเจตนารมณ์

   (๔) การใช้เงินไม่ถูกตรงตามความประสงค์ของผู้บริจาค ผู้ใดประพฤติแล้ว เป็นการสร้างเหตุให้บาปเกิดขึ้น เมื่อถึงเวลาที่จำเป็นต้องทิ้งขันธ์ลาโลก จิตวิญญาณจะถูกพลังของบาปผลักดันให้โคจร เข้าไปอยู่อาศัยในร่างที่เป็นเปรตในภพถัดไปได้

   อนึ่ง หากประสงค์จะรู้ว่าเปรตมีจริงไหม ต้องพัฒนาจิตจนตั้งมั่นเป็นสมาธิระดับฌาน แล้วถอยจิตออกมาจากความทรงฌาน อธิษฐานพบเห็นเปรต เมื่อเหตุปัจจัยลงตัว ตาทิพย์ (ทิพพจักขุ) ย่อมสัมผัสกับสัตว์เปรตนั้นได้
  

1274.
อาจารย์คะ

ตอนที่นั่งสมาธิ จิตมันเหมือนจะสงบแต่ก็ยังมีความคิดผุดขึ้นมา อย่างนี้ต้องทำยังไงดีคะ ต้องเพิ่มตัวสติใช่มั้ยคะ

คำตอบ
    ทำได้สองทาง คือ เพิ่มกำลังของสติให้มากขึ้น ด้วยการกำหนดว่า “ คิดหนอๆๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆจนกว่าความคิดที่ผุดขึ้นดับไป แล้วดึงจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิม หรือในทางที่สอง หากผู้ปฏิบัติธรรมมีจิตสงบ แล้วความคิดได้ผุดขึ้นมา ให้ใช้จิตที่สงบเป็นสมาธิจวนแน่วแน่ ตามดูความคิดที่ผุดขึ้นว่า ดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อใดจิตเห็นว่า ความคิดที่ผุดขึ้นดับไป (อนัตตา) ความคิดไม่ใช่ตัวตนแท้จริง ปัญญาเห็นแจ้งในความคิดย่อมเกิดขึ้น จิตจะปล่อยวางความคิด แล้วจิตว่างเป็นอิสระจากความคิด ผู้ใดพิจารณาจนเห็นเป็นจริงแท้ได้เช่นนี้แล้ว ปัญญาเห็นแจ้งย่อมเกิดขึ้น
     

1273.
กราบเรียน อาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ที่เคารพค่ะ

อยากเรียนถามอาจารย์ว่า

1. หากต้องการเพิ่ม IQ ให้สูงขึ้นต้องทำสมาธิให้ถึงขั้นไหนและวิธีการอย่างไรคะ คลื่นสมองจึงจะเปลี่ยนได้ (จริงๆนั่งสมาธิอยู่บ้างแล้วค่ะ ครั้งละ 5- 45 นาที แต่ค่อนข้างฟุ้งมากกว่าสงบ)

2.การเปลี่ยนแปลงนี้สามารถเห็นผลได้ในปัจจุบันชาติหรือไม่ หรือเกี่ยวข้องกับการสั่งสมและวิบากกรรมจากอดีตด้วยหรือไม่คะ อยากจะพัฒนาศักยภาพของตัวเองเพื่อการทำงานและการใช้ชีวิตให้ดีกว่านี้ค่ะ เนื่องจากเป็นคนที่สมาธิไม่ค่อยดี เข้าใจช้าและความคิดไม่เป็นระเบียบ เวลามองคนที่ประสบความสำเร็จในสาขาอาชีพที่ทำประโยชน์ได้ในวงกว้างแล้ว รู้สึกมีแรงบันดาลใจอยากทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างนั้นบ้างค่ะ

คำตอบ
    (๑) จิตฟุ้งซ่าน เพราะจิตมีศีลไม่ครบ จิตมีศีลไม่บริสุทธิ์ ผู้ใดประสงค์แก้ปัญหาเช่นนี้ ต้องเอาศีลในลักษณะที่กล่าว คุมใจให้ได้ทุกขณะตื่น แล้วการปฏิบัติสมถภาวนา ย่อมทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย จิตที่เป็นสมาธิ ส่งผลกระทบถึงคลื่นสมองให้มีการปรับตัวเป็นระเบียบมากขึ้น แล้วความจำจะดีขึ้นแน่นอน

  ผู้ถามปัญหาประสงค์พัฒนา IQ ของตัวเองให้มีกำลังมากขึ้น ต้องพัฒนาจิตให้เข้าถึงสมาธิระดับจวนแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ) แล้วใช้สมาธิเป็นฐานพัฒนาปัญญาเห็นแจ้ง (วิปัสสนาภาวนา) เมื่อใดที่ปัญญาเห็นแจ้งได้เกิดขึ้นแล้ว โอกาสเข้าถึงความเป็นผู้มี IQ สูง ย่อมเกิดตามมา

   (๒) การเปลี่ยนแปลงตามข้อ (๑) สามารถเกิดขึ้นได้ในชาติปัจจุบัน ผู้พัฒนาจิตต้องประพฤติเหตุปัจจัยให้ถูกตรง คือมีศีล มีสัจจะ มีความเพียรเป็นเครื่องสนับสนุน
      

1272.
กราบเรียน ท่านอ.ดร.สนอง วรอุไร ด้วยความเคารพ

ขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะให้ด้วยค่ะ เนื่องจากมีความสงสัยค่ะ

หนูเกิดสงสัยในการกระทำของผู้ที่เรียกว่าได้ถือศีล ปฏิบัติธรรมแล้ว แต่ทำไมยังทำผิดอยู่ เช่น เห็นการฆ่ามด ยุง เป็นสัตว์เล็กที่ทำแล้วเชื่อว่าไม่บาป การทำให้ผู้อื่นไม่พอใจ เบียดเบียนทางใจ การบิดเบือนความจริงต่อเวลาในการปฎิบัติงาน โดยไม่คิดว่าผู้ือื่นจะรู้สึกพอใจ หรือไม่พอใจที่ได้ถูกกระทำจากเขา เขาจะทำเสมือนหนึ่งว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น และไม่ทำให้เขารู้สึกต้องทุกข์หรือผิด เนื่องจากเขาได้แสดงว่า ตนเป็นผู้มีความรู้มากในเรื่องการเข้าถึงธรรมว่า สิ่งที่เขาพูดมานั้นถูกต้องทุกเรื่อง ดูเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา แต่เวลาอยู่ใกล้รู้สึกไม่สนิทใจ ไม่เชื่อใจเลยค่ะ หนูควรจะวางใจอย่างไรดีค่ะ เพราะบางทีความคิดมันก็ทำให้คิดไม่พอใจ เมื่อเห็นการกระทำจากเขา หนูจะบาปมากมั้ยค่ะที่รู้สึกไม่ดีกับเขา เพราะเขาก็ปฏิบัติธรรม แต่หนูก็พยายามรู้ตัวอยู่เสมอว่ากำลังคิดไม่ดีอยู่

ขอขอบพระคุณในความเมตตาของอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ

คำตอบ
    ผู้ใดประพฤติฆ่าสัตว์ เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย วาจา ใจ ผู้นั้นได้ชื่อว่าประพฤติทุศีล ผู้ใดศรัทธาคำสอนในพุทธศาสนาด้วยการเรียนรู้จากการอ่านตำราคัมภีร์ (ปริยัติ) จนถ่องแท้ เรียกผู้มีลักษณะเช่นนี้ว่าเป็นผู้รู้ธรรมวินัย แต่ยังไม่เรียกว่าเป็นผู้มีธรรมวินัยคุ้มครองใจ ด้วยเหตุนี้พระมหากัสสปะ ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานปฐมสังคายนาพุทธศาสนา จึงได้กล่าววาจาตักเตือนภิกษุผู้รู้ธรรมวินัยเฉพาะด้านปริยัติ ในทำนองที่ว่า “ เพียงแค่ท่องบ่นคำสอนตามพุทธวจนะได้ ย่อมทำให้คนโง่มองไม่เห็นตัวเอง สำคัญตนว่าประเสริฐกว่าผู้อื่น ” ซึ่งมีความหมายว่า ผู้รู้ธรรมวินัย แต่เข้าไม่ถึงธรรมวินัย เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับชีวิตแล้ว ยังใช้ปัญญาเห็นไม่แจ้ง (สัญญา) แก้ปัญหา ปัญหาจึงดับไปชั่วคราวและไปสร้างปัญหาอื่นให้เกิดขึ้น ซึ่งตรงข้ามกับผู้เข้าถึงธรรมวินัยด้วยการปฏิบัติธรรม ปัญญาเห็นแจ้งหรือเห็นถูกตรงตามธรรมย่อมเกิดขึ้น เมื่อใช้ปัญญาเห็นแจ้งแก้ปัญหาให้กับชีวิต ปัญหาจึงดับไปสิ้นเชิงและไม่สร้างปัญหาอื่นให้เกิดขึ้น

   ฉะนั้นผู้ถามปัญหา ควรยกเอาเขาเป็นครูสอนใจ แม้จะสนใจในธรรม แม้จะนำตัวเข้าปฏิบัติธรรม แต่ยังไม่สามารถพัฒนาจิตให้เข้าถึงธรรมที่ปฏิบัติ พฤติกรรมจึงแสดงออกให้เห็นดังที่บอกเล่าไป คนที่มีลักษณะเช่นนี้ในสังคมชาวพุทธมีอยู่มาก
   

1271.
เรียน อาจารย์ ดร.สนอง ที่เคารพ ครับ

   ผมขอเรียนถามอาจารย์ครับว่า ปกติผมจะสวดมนต์เป็นประจำเกือบทุกวัน มีนั่งสมาธิบ้างเป็นบางครั้งแล้วแต่ เวลาอำนวย แต่บางครั้งทำงานมาเหนื่อยมากทั้งวัน อยากนอนพักผ่อน แต่ก็จะฝืนไหว้พระสวดมนต์ให้ได้ เพราะอยาก ให้ต่อเนื่อง ก็ปรากฏว่าบางครั้งสวดมนต์แล้วหลับ ทั้งที่ปากยังสวดอยู่ หรือบางทีนั่งสมาธิก็หลับ
อยากเรียนถามอาจารย์ครับว่า

   1. การที่ผมหลับในระหว่างสวดมนต์ หรือ นั่งสมาธิ จะได้บาป แทนที่จะเป็น บุญ หรือไม่ครับ หรือ ถึงได้บุญ ก็จะได้ บุญน้อยลงไปกว่าเวลาปกติที่ไม่หลับ หรือไม่ครับ

   2. เนื่องจากผมมีสวดมนต์อัญเชิญ เทวดามาร่วมด้วยทุกครั้ง ถ้าง่วงๆ หลับๆ แบบนี้ เทวดาท่านจะไม่พอใจได้หรือไม่ และ ท่านจะโมทนากับบุญนี้ได้หรือไม่ครับ

   3. อันนี้ไม่เกี่ยวกับสวดมนต์ครับ แต่อยากทราบว่า เวลาไปวัดเพื่อทำสังฆทานยุคสมัยนี้ เราไม่ต้องซื้อถังเตรียมไปเองแล้ว เพราะทางวัดมีสังฆทานที่ใช้เวียนกันแล้วให้เราบริจาคเงินซื้อถังเพื่อใช้ถวาย เมื่อพระรับแล้วก็นำไปเวียนให้คนอื่นใช้ถวาย ซ้ำอีก ขอเรียนถามว่า แบบนี้จะได้บุญหรือไม่ครับ


ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

คำตอบ
    (๑) ขณะใดจิตจดจ่ออยู่กับบทมนต์ที่สวด หรือจดจ่ออยู่กับการปฏิบัติสมาธิ ขณะนั้นบุญได้เกิดขึ้นแล้ว แม้จะเป็นบุญเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้นก่อนหลับ หากประพฤติบ่อยๆ บุญย่อมมีกำลังมากขึ้นได้

   (๒) ผู้ใดมีศีลสถิตอยู่กับใจ ผู้นั้นย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดา ผู้ใดมีศีลมีสัจจะผู้นั้นศักดิ์สิทธิ์ ผู้ศักดิ์สิทธิ์กล่าวอัญเชิญเทวดาให้มาสร้างบุญด้วยการฟังบทมนต์ เทวดาย่อมรับคำเชิญ ปัญหาจึงมีอยู่ว่า ผู้กล่าวคำเชิญเทวดามีคุณสมบัติตามที่กล่าวหรือไม่

   (๓) ถวายสังฆทานแล้วมีจิตเป็นกุศล ผู้ถวายย่อมได้บุญ ผู้ใดเอาจิตไปตามดูของที่ถวายแล้วเกิดอกุศลขึ้นกับจิต ผู้นั้นได้บาป ผู้รู้ผู้ฉลาดจึงไม่เอาจิตไปตามดูของที่ถวาย
     

1270.
เรียนถามอาจารย์ครับ

1.)กระผมได้ฝึกสติปัฐานสี่ แบบตามดูกาย ยืนเดินนั่งนอน เคลื่อนไหวในอิริยาบถต่างๆ ตามที่ครูบาอาจารย์ท่านได้ชี้แนะ (กระผมขอคำชี้แนะกับท่านทุกเดือนครับ)ตอนนี้ทำมาได้ 10 เดือนแล้ว ผลคือ สองเดือนที่ผ่านมาทุกครั้งที่รู้สึกตัวจิตจะรวมเข้ามาหนี่งขณะ แล้วก็คลายออกไปรับรู้เรื่องราวข้างนอกตอนที่เผลอ ระหว่างสองเดือน จะเห็นว่าเวลามี่สิ่งมากระทบเมื่อรู้ว่าเกิดอารมณ์สติจะระลึกถึงความไม่ใช่ตัวตน แล้วก็กลับมาตั้งมั่นชั่วขณะเหมือนเดิมและจิตก็ค่อยๆละเอียดขึ้น มาเรื่อยๆ เข้าใจว่าเป็นขณิกะสมาธิ ไปกราบเรียนครูบาอาจารย์ท่านก็บอกว่าให้อยู่กับความนิ่งนั่นหล่ะ ตอนที่เผลอออกไปแล้วจิตรวมเข้ามานั่นล่ะที่สำคัญมันจะทำให้จิตละเอียดขึ้น

ดังนั้น จึงอยากเรียนถามอาจารย์ว่าสมาธิที่เหมาะกับการวิปัสสนา เป็นขณิกะสมาธิเพียงพอหรือไม่ หรือว่าผมต้องภาวนาไปจนสมาธิตั้งมั่นกว่านี้ครับ

2.)แล้วอาการที่กระผมกล่าวมา ช่วงสองเดือนหลังเรียกว่าเรียกว่าวิปัสสนาหรือไม่ครับ หรือว่าเป็นปัญญาอบรมสมาธิ (กระผมสงสัยเพราะตอนที่จิตของกระผมเริ่มนิ่งตั้งมั่นขึ้นมาได้ เป็นเพราะสติไประลึกถึงไตรลักษณ์ ก่อนหน้านี้8เดือนจิตจะส่ายไปมาไม่รวมแบบนี้ครับ)

คำตอบ
   (๑) สำหรับผู้ฝึกปฏิบัติธรรมที่ยังไม่มีความชำนาญในการใช้จิตตามพิจารณากาย ว่าดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จิตต้องมีความตั้งมั่นจวนแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ) แต่ผู้ที่มีความชำนาญมาก่อนแล้ว เพียงแค่จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิประเดี๋ยวประด๋าว (ขณิกสมาธิ) ก็สามารถเห็นสิ่งที่เข้ากระทบจิตว่า ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) ได้

  (๒) การที่จะเรียกว่าเกิดปัญญาเห็นแจ้ง (วิปัสสนา) ได้ มีเครื่องชี้วัดอยู่สองอย่างคือ เห็นสิ่งที่เข้ากระทบจิตไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา) แล้วจิตปล่อยวางสิ่งที่เข้ากระทบ เกิดเป็นความว่างความเป็นอิสระขึ้นกับจิต อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ปัญญาเห็นแจ้ง หรือเห็นถูกตรงตามธรรม
  

1269.
เรียน ดร.สนอง วรอุไร

   ผมได้ติดตามผลงานของ อาจารย์ ผ่านทางหนังสือทางสายเอก และได้ซื้อแจกเป็นทานไปหลายครั้ง อีกยังฟังเทปสนทนาธรรมของอาจารย์ด้วย

ขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ช่วยให้ผมได้เข้าเรื่องพุทธศาสนามากขึ้นจากเดิมมาก และจะศึกษาเพิ่มเติมมากขึ้นครับ ผมมีข้อสงสัยเล็กน้อยดังนี้ครับ

1)ผมเห็นบางวัดเขามี กุมารทอง ให้บูชา จึงอยากรู้ว่าการที่คนเลี้ยงกุมารทองนั้นบาปหรือไม่ เพราะผมรู้สึกว่าเหมือนเป็นการเหนี่ยวรั้งวิญญานกุมารทองไม่ให้ไปเกิด

2)หากการเลี้ยงกุมารทองเป็นการเหนี่ยวรั้งวิญญานไม่ให้ไปเกิดจริง (ตาม1) แล้วถ้าเราเลี้ยงแล้วทำบุญอุทิศส่วนกุศล สาวดมนต์ จะช่วยปลดปล่อยเขาได้ไหม

คำตอบ
   (๑) กุมารทองเป็นของขลังรูปเด็กไว้ผมจุก คนที่มีความหลงนิยมเลี้ยงกุมารทองไว้เฝ้าบ้านหรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่น ผู้เลี้ยงกุมารทองคิดเอาเองว่าไม่เป็นบาป แต่สำหรับผู้รู้ การประพฤติเช่นนั้นเป็นบาป เพราะเป็นเหตุให้ไม่สามารถพัฒนาจิตไปสู่ความพ้นทุกข์ได้

  (๒) เรื่องที่ถามไป ไม่ต่างจากการจับสัตว์มาขังไว้ในกรงเลี้ยง แม้จะเอาอาหารให้สัตว์กินทุกวัน ยังไม่เรียกว่าได้ปลดปล่อยสัตว์ให้เป็นอิสระ
  

1268.
กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ

ดิฉันมีข้อสงสัยถามปัญหาจากการปฏิบัติดังนี้ค่ะ

1. ทุกวันที่สวดมนต์จะมีสติตั้งมั่นอยู่กับบทสวดค่ะ แต่จะเกิดอาการหาวง่วงนอนทุกครั้ง แต่พอสวดจบแล้วก็ไม่รู้สึกง่วงแต่อย่างใด ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

2. บางครั้ง หลังจากสวดมนต์เสร็จแล้ว ก็จะนั่งสมาธิบ้าง เวลานั่งนั้นมีสตินิ่งตลอดเวลา แทบจะไม่คิดเรื่องอื่นเลย สติจะจับอยู่กับลมหายใจเข้าออกเกือบตลอดเวลา มีเหตุ 2 แบบ ดังนี้
    2.1 หากนั่งนาน เหมือนกับลมหายใจเข้าออกจะหายไป แทบจะจับไม่ได้ และรู้สึกวูบ คล้ายตกจากที่สูง จึงรู้สึกตกใจและกลับมาจับลมหายใจได้ใหม่อีกครั้ง
   2.2 หากนั่งไม่นาน จะเกิดอาการเหมือนตอนสวดมนต์คือ จะรู้สึกง่วงนอน บางครั้งทนไม่ไหว ต้องเลิกนั่ง แล้วนอนค่ะ

    ไม่ทราบว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นมีเหตุปัจจัยอะไรที่เป็นอย่างนั้น และปฏิบัติผิดหรือเปล่าคะ โปรดแนะนำด้วยค่ะ


        กราบขอบพระคุณมากค่ะ

คำตอบ
    (๑) การสวดมนต์เป็นการพัฒนาจิตแบบหนึ่ง แต่การสวดมนต์ไม่เหมาะกับจริตของผู้ถามปัญหา จึงทำให้เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอน

   (๒) ปฏิบัติธรรมไม่ผิด แต่ยังแก้ปัญหาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมไม่ถูกทาง วิธีแก้ปัญหาคือ เมื่อใดที่จิตระลึกได้ว่า ลมหายใจหายไป ต้องสร้างอิริยาบถใหญ่ให้จิตระลึกได้ ด้วยการหายใจเข้าลึกๆ แล้วปล่อยออกด้วยเอาจิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจ วิธีการเช่นนี้เป็นการเพิ่มกำลังสติให้มีกำลังมากขึ้น และเมื่อใดมีอาการวูบเกิดขึ้น ต้องเอาจิตกำหนดว่า “ วูบหนอๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆจนกว่าอาการวูบหายไป แล้วดึงจิตกลับสู่องค์บริกรรมเดิม
   

1267.
เรียน อาจารย์ ดร.สนอง ที่เคารพ

ผมเป็นสัตวแพทย์ เปิดคลินิกรักษาสัตว์ มีงานอย่างหนึ่งที่ผมทำเป็นประจำคือ การทำหมันสุนัขและแมว ทั้งตัวผู้และตัวเมีย วิธีการคือ ตัวผู้ผ่าตัดเอาอัณฑะออก ตัวเมียผ่าตัดเอามดลูกและรังไข่ออก ผมจึงมีคำถามที่จะถามอาจารย์ดังนี้

1. การกระทำดังกล่าวข้างต้นบาปมากไหม และถ้าผลของกรรมข้างต้นให้ผลจะเป็นอย่างไร

2. การกระทำดังกล่าวข้างต้น เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรมหรือไม่ สามาถทำวิปัสนากรรมฐานเพื่อให้เกิดปํญญาเห็นแจ้งได้หรือไม่

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

คำตอบ
    (๑) พฤติกรรมที่ทำถือว่าเป็นบาป ถามว่าบาปมากหรือไม่ อยู่ที่จำนวนของสัตว์ที่ถูกทำหมัน และอยู่ที่การผูกเวรของสัตว์ เมื่อใดที่กรรมให้ผล ความเจ็บป่วย ความไม่มีทายาทสืบสกุล ย่อมเกิดขึ้นได้

   (๒) เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม ตรงที่ยังสามารถปฏิบัติธรรมได้ แต่ไม่สามารถเข้าถึงปัญญาเห็นแจ้งได้
  

1266.
กราบเรียนอาจารย์ ดร.สนอง

หนูขออนุญาตกราบเรียนปรึกษาดังนี้ค่ะ

   หนูและสามี ทำงานธุรกิจส่วนตัวด้วยกัน และเป็นเวลาเกือบ 3 ปีแล้วค่ะ ธุรกิจไม่เจริญก้าวหน้า อย่างที่ควรจะเป็น เป็นลักษณะที่ว่าไม่มีความรู้สึกมั่นคง กระท่อนกระแท่นตลอด งานไม่สม่ำเสมอ แต่ก็ผ่านไปได้แต่ละปีด้วยความทุกข์ค่ะ หนูและสามี พยายามคิดหาทางทำธุรกิจใหม่ ๆ ตลอดเวลาแต่ก็ยังไม่สำเร็จผล ปัจจุบัน หนูและสามี ก็พยายามสวดมนต์ ทำสมาธิ พยายามฝึกทำจิตใจให้ปกติ และพยายามไม่สร้างกรรมทางด้านการทำงานกับใคร แม้แต่เก็บสตางค์ลูกค้าไม่ได้ แต่ก็จ่ายสตางค์ ให้กับซัพพลายเออร์ที่ติดต่อด้วยตรงดิวเสมอ

   หนูอยากจะเรียนถามอาจารย์เป็นแนวทางค่ะ ว่ากรรมอันใดอาจที่ส่งผลต่อความไม่ราบรื่นในอาชีพการงาน และการทำบุญแบบใด ที่จะทำให้กรรมนี้เบาบางลงได้คะ
หนูจะได้เน้นทำบุญทางด้านนี้ และระมัดระวังการกระทำของตนเอง ไม่ให้สร้างกรรมเช่นนั้นอีกค่ะ

   หนูสำรวจตนเอง ก็หาสาเหตุไม่ได้ค่ะ นอกจากเรื่องชอบเถียงบิดา,มารดา (ในอดีต) เพราะคิดแต่ว่า ความคิดเห็นของตนถูกต้องค่ะ (ในปัจจุบันสำนึกได้แล้วค่ะ) สำหรับสามีนั้น กับบิดามารดา แทบไม่เคยมีปัญหากันเลยค่ะ


ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ ค่ะ

คำตอบ
    ผู้ประสบปัญหาด้านธุรกิจ ต้องประพฤติเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

     ๑.  ทำธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ทุศีล ไร้ธรรม

     ๒.  ทำธุรกิจด้วยการหวังผลเลิศ แต่ไม่ใช่วิธีการอันเลิศ

     ๓.  ผู้ทำธุรกิจประพฤติอกตัญญูต่อผู้มีอุปการคุณ อาทิ โต้แย้งโต้เถียงพ่อแม่ ไม่ซื่อสัตย์ต่อลูกค้า ฯลฯ

ตรงกันข้าม ผู้ใดประพฤติทาน ศีล ภาวนา จนกุศลกรรมที่ทำแล้วให้ผล ผู้ประพฤติย่อมมีดวงดี พ้นจากความไม่มี พ้นจากความไม่ดี พ้นจากความไม่ได้ พ้นจากความไม่สบายกายใจได้
   

1265.
กราบเรียนอาจารย์ ดร. สนองที่นับถือ

1. หนูมีปัญหาเรื่อง ศีล ข้อ 3 ค่ะ คือ หนูจับได้ว่าสามี มีเมียน้อย เราจึงแยกบ้านกันอยู่ (มีลูกด้วยกัน 2 คน) แต่เรายังติดต่อพูดคุย และพบปะกันอยู่ โดยในใจหนูตอนนี้ไม่ยึดติดแล้วค่ะ ไม่อยากให้เค้ากลับมาอยู่ด้วยอีกแล้ว คิดในใจอยู่เสมอว่าเราเลิกกันแล้ว (ยังไม่จดทะเบียนหย่า) แต่สามีอยากกลับมาอยู่ด้วยอีก ถ้าสามีกลับมาอยู่ด้วยจริง โดยที่เค้าไปมีเมียอีกคนหนึ่งแล้ว (ยังไม่ได้อยู่ด้วยกัน) หนูจะได้ชื่อว่าแย่งสามีคนอื่น จะผิดศีลข้อ 3 หรือไม่คะ เพราะหนูตั้งใจไว้แล้วว่าจากนี้ไปจะรักษาศีลข้อ 3 ให้บริสุทธิ์ หนูขอรบกวนอาจารย์ เพราะหนูต้องตัดสินใจแล้วค่ะ

2. ถ้าหนูให้อภัยสามี โดยไม่คิดด่าทอ โกรธเคือง หรือพยาบาท เค้าทั้ง 2 คน ถือว่าหนูให้อภัยทานแล้วหรือไม่ และถ้าสามีขอกลับมาอยู่ด้วยอีกครั้ง แต่หนูไม่ยอม เป็นเช่นนี้ หมายความว่าหนูไม่ให้อภัยทานใช่หรือไม่คะ

3. ถ้าสามีทำประกันชีวิตไว้ เมื่อเค้าตายหนูจะได้รับเงินตรงนี้ ถ้าหนูได้รับเงินจริง ๆ จะถือว่าหนูเป็นหนี้เค้าหรือไม่คะ โดยเค้าสมัครใจทำเอง

ขอขอบพระคุณในคำตอบของอาจารย์ ด้วยความเคารพเป็นอย่างสูงค่ะ

คำตอบ
    (๑) หากผู้ถามปัญหาได้รับการยินยอมจากพ่อแม่ยกให้เป็นภรรยาของชายผู้เป็นสามี ไม่ผิดศีลข้อสาม แล้วยังไม่ชื่อว่าแย่งสามีคนอื่น

   (๒) หากผู้ถามปัญหาประพฤติได้อย่างที่บอกเล่าไป ถือว่าได้ให้อภัยเป็นทานแล้ว ความเมตตาย่อมเกิดขึ้น ส่งผลให้มีจิตสงบเย็น

   อนึ่ง การไม่ยินยอมให้สามีผู้จากไปมีหญิงอื่นเป็นภรรยา แล้วกลับเข้ามาอยู่ร่วมกับครอบครัว ถือว่าผู้ถามปัญหามีจิตเป็นอิสระจากสามี และมิได้หมายความว่า มิได้ให้อภัย

   (๓) ไม่ถือว่าเป็นหนี้ ตรงกันข้าม อดีตสามีนั่นแหละที่เป็นหนี้ผู้ถามปัญหา
      

1264.
กราบเรียนถามท่านอาจารย์ ดร. สนอง ดังนี้ค่ะ

   ข้าพเจ้าชื่อ ทรงสุดา สุวงศ์จันทร์ ขณะนี้ อาศัย อยู่ที่ประเทศอังกฤษตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ แต่งงานครั้งแรกกับฝรั่งที่พิการทางหูได้ ๒ ปีก็หย่ากัน และได้คบกับผู้ชายฝรั่งอีก ๒ คน จนมาพบและแต่งงานครั้งที่ ๒ กับสามีคนปัจจุบันเมื่อปี ๒๕๕๑ ขณะนี้ข้าพเจ้าอายุ ๓๕ และ มีความสงสัย เนื่องจาก สามีคนปัจจุบันี้ เป็นคนอินเดีย นับถือ ศาสนา SIKH มีลูกติด ๓ คน ส่วนข้าพเจ้าไม่มีบุตรเลย (เคยทำแท้ง ๑ ครั้ง และ ลูกตายในท้องไม่ทราบสาเหตุ ๑ครั้ง) ข้าพเจ้าเป็นคนในพุทธศาสนาแต่ไม่เคยได้มีดวงตาเห็นธรรม จนเมื่อประมาณ ๒ เดือนมานี้ ข้าพเจ้าได้เริ่มศึกษาพระธรรม คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า โดยการ อ่านหนังสือธรรมมะ ดู และ ฟังสื่อธรรมะ ต่างๆ ทางอินเตอร์เนต รวมทั้ง กัลญาณธรรม ด้วยค่ะ และได้เกิด ดวงตาเห็นธรรม (หลังจากเกิดมาตั้ง ๓๕ ปี) จึงเกิดความเบื่อหน่ายกับการเกิดมาเป็นคน และเวียนว่ายตายเกิดอย่างมาก จนอยากจะไปปฏิบัติธรรมที่วัดที่อยู่ไม่ไกลจากบ้าน ( วัดสันติวงศาราม สาขาของวัดสังฆทาน และวัดป่าสันติธรรม สาขาของวัดหนองป่าพง) แต่ปัญหาก็คือ สามีเกิดต่อต้านอย่างรุนแรง ไม่ยอมให้ไปค้างคืนที่ใหน และไม่พอใจแทบทุกครั้งที่เห็นข้าพเจ้า ดู ฟัง หรือ อ่าน ธรรมมะ และยังมาพูดส่อเสียดพุทธศาสนา และบอกให้ข้าพเจ้าทำตามที่ตนเห็นควรในความเชื่อทางศาสนาของตน ก็เกิดการทะเลาะกัน เพราะข้าพเจ้าศรัทธาในพระรัตนตรัยมากกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็ต้องคอยแอบทำ ทั้งการนั่งสมาธิ และสวดมนต์ที่บ้านก็เช่นกัน ต้องทำในเวลาที่เขาไม่อยู่บ้าน ข้าพเจ้าจึงเกิดความอึดอัดทางใจและยิ่งเพิ่มพูน ความเบื่อหน่ายในวงเวียนชวิตเช่นนี้เป็นอย่างมาก จึงอยากจะหนีไปให้พ้นๆ จึงคิดที่จะหนีกลับไปอยู่ที่เมืองไทย เพื่อที่จะปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก และหากทำได้ข้าพเจ้าก็อยากจะบวชเป็นแม่ชีถือศีล ๘ ไปตลอดชีวิตที่เหลืออยู่นี้ แต่ปัญหาที่ข้าพเจ้าอยากจะถามนี้ก็คือ

   ๑. ข้าพเจ้าจะบาปหรือเปล่าที่จะทิ้งเขาไปเช่นนี้ เขาจะต้องโกรธ และคิดว่าข้าพเจ้าเห็นแก่ตัว และหนีปัญหา (เขาเคยพูดไว้) เรามีหนี้สินที่สร้างขึ้นมาดวยกันที่อังกฤษนี้เป็นเงินไม่น้อย แต่เราก็มีบ้านและรถ ที่เป็นทรัพย์นอกกาย มากกว่าหนี้สินที่มี และข้าพเจ้าเองก็ไม่คิดที่จะเอาอะไรไปด้วยเลย ยกเว้นเงินสดเล็กน้อยที่จะเอาไปให้พ่อและแม่เพื่อตอบแทนบุญคุณท่าน แต่เรื่องของเรื่องก็คือ หนี้สินที่มีกับทางธนาคารนั้นเป็นชื่อของข้าพเจ้าผู้เดียว หากข้าพเจ้าหนีไปเขาคงไม่ยอมจ่ายหนี้นี้แน่ ข้าพเจ้าเองก็คงกลับมาที่อังกฤษไม่ได้อีก แต่ก็ไม่รู้สึกเป็นทุกข์กับเรื่องนี้เลย แต่กลัวจะบาปที่หนีหนี้ไปค่ะ เรียนท่านอาจารย์ โปรดช่วยชี้แนะด้วยค่ะ

   ๒. ข้าพเจ้ารู้มาว่าครอบครัวของสามีข้าพเจ้าเขานับถือวิญญานตนหนึ่งอยู่ และพวกเขาเชื่อว่าวิญญาณตนนี้เป็นผู้ดูแลพวกเขาทุกคน ถึงขนาด สร้างที่อยู่บนที่ดินของตระกูล ที่ประเทศอินเดียให้กับวิญญาณนี้ และกราบไหว้สักการะบูชามาเป็นเวลานาน รวมถึงบ้านทุกหลังของตระกูลนี้ที่อังกฤษ ก็ต้องนำสัญลักษณ์ของวิญญาณนี้มาสักการะบูชาอย่างเข้มงวดด้วย ข้าพเจ้าเลยกลัวว่าเขาจะพากันสาปแช่งข้าพเจ้า หรือใช้วิญญาณนี้ในการสาปแช่ง ทำให้ข้าพเจ้ากลัวว่าจะเป็นบ่วงกรรมทำให้ต้องมาเวียนว่ายตายเกิด และเจอกันอีกในชาติต่อๆไป ข้าพเจ้าหวังอยากให้อโหสิกรรมต่อกัน ข้าพเจ้าเองอโหสิอยู่แล้ว แต่เขานี่ข้าพเจ้าไม้แน่ใจ แล้วอย่างนี้ข้าพเจ้าต้องพบกับแรงอาฆาตนี้หรือไม่ และจะเป็นอุปสรรคใด ในการหนีไปบวชอย่างไรหรือไม่เจ้าคะ ท่านอาจารย์

   ข้าพเจ้าไม่เคยทำสิ่งไม่ดีกับสามีเลย ช่วยเขาดูแลลูกทั้ง ๓ เป็นอย่างดี และเด็ก ๓ คนก็ดีกับข้าพเจ้าด้วย ทำงาน ดูแลบ้าน และเป็นแม่บ้านที่ดี มาตลอด แต่อยู่ๆ ความรักที่มีให้เขามันก็หายไป แต่ก็ไม่ได้เกลียด รู้สึกเฉยชากับความรักมาก ข้าพเจ้าเองก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า จากที่เคยรักมาก ทุ่มเทให้ทุกอย่าง ทนความเจ็บช้ำกับเขามามาก แต่พอวันหนึ่ง มันก็หายไปเฉยๆ ยิ่งได้มาศึกษาธรรมมะ ก็ยิ่งวางเฉย ยิ่งเขามาพูดลบหลู่พุทธศาสนา ก็ยิ่งอยากหนีให้ไกลห่างคนคนนี้ มีแต่อยากจะไปบวช ท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยนะคะ ถ้าข้าพเจ้าจะหนีไปเช่นนี้ จะเป็นอย่างไรบ้าง จะบาป ไหม จะต้องมาเกิดเพื่อเจอกับเขาอีกไหมคะ แต่ข้าพเจ้าไม่อยากมาเกิดอีกเลยไม่ว่าจะเป็นมนุษย์ เทวดา หรืออะไรก็ตามแต่ มันก็ทุกข์เหมือนกันดังที่อาจารย์เคยกล่าวไว้ มันจริงแท้แน่นอนค่ะ และอีก ๑ คำถามสุดท้าย

   ๓. พรหม หรือ เทวดา สามารถสร้างบุญจากการ เจริญภาวนา จนถึงเข้าสู่พระนิพพาน ได้หรือไม่คะ ??

   ท้ายนี้ข้าพเจ้าขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ เป็นอย่างสูงที่ท่านมีจิตเมตตาต่อสัตว์โลกทั้งหลายที่ช่วยชี้แนะ ชี้ทางสว่างให้ทุกผู้ทุกนาม และขออนุโมทนาบุญ กับอาจารย์ ด้วยค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ

คำตอบ
    (๑) กรรมที่เกิดขึ้นจากการกระทำ หากมีสัตว์บุคคลประพฤติเบียดเบียน เรียกว่าหนี้เวรกรรม (บาป) ด้วยเหตุนี้ที่ชีวิตมีการเวียนตาย-เกิดไม่รู้จบ บุญและบาปที่เป็นหนี้เวรกรรมของสัตว์บุคคล จึงมีอนันต์ ไม่มีใครผู้ใดสามารถชดใช้ได้หมดสิ้น แต่มีใครผู้ใดสามารถปลอดจากหนี้เวรกรรมด้วยการบริหารจัดการดังนี้

     ๑.  เมื่อหนี้เวรกรรมตามทัน ผู้เป็นลูกหนี้ต้องชดใช้จนกว่าจะหมดสิ้น

     ๒.  เมื่อหนี้เวรกรรมตามทัน ผู้เป็นลูกหนี้ต้องประพฤติบุญใหญ่ (ปฏิบัติธรรม) ให้เกิดขึ้น แล้วอุทิศบุญใหญ่ชดใช้หนี้ก็จะหมดไปได้เร็ว

     ๓.  ทำดีหนีหนี้ คือหนี้เวรกรรมที่ยังตามให้ผลไม่ทัน ต้องคิด พูด ทำดีอยู่ทุกขณะตื่น

     ๔.  หนีเข้านิพพาน หนี้เวรกรรมที่เหลือเป็นอันยกเลิก (อโหสิ)

     วิธีการสุดท้ายนี้ พระองคุลีมาล หนีบาปที่ถูกขว้างปาด้วยก้อนดินและท่อนไม้จนได้รับบาดเจ็บ ด้วยประพฤติแก่คนมามาก อัฑฒกาสีหนีบาปไม่ต้องไปปีนต้นงิ้วนรก ด้วยเหตุประพฤติตนเป็นโสเภณีแห่งแคว้นกาสี อิสิทาสีหนีบาปจากการคิดฆ่าตัวตาย ด้วยเหตุถูกสามีถึงสามคนปฏิเสธที่จะอยู่ร่วม ฯลฯ

   (๒) พระพุทธะตรัสในทำนองที่ว่า ใครผู้ใดไม่สามารถทำให้บุคคลเป็นไปตามวาจาที่เขาพูด แต่บุคคลเป็นไปตามที่ตนเองประพฤติ ผู้รู้จึงมีจิตเป็นอิสระต่อคำพูด คำสาปแช่งใดๆ ด้วยประพฤติตนให้มีสติ มีปัญญาเห็นแจ้งคุ้มครองใจ แล้วใช้สติปัญญาเช่นนี้ ส่องนำทางให้กับชีวิต

   อนึ่ง ผู้ใดใช้สติปัญญาที่เห็นต่างกันส่องนำทางชีวิต เส้นทางเดินของชีวิตย่อมแยกออกจากกัน โอกาสที่จะโคจรไปพบกันอีกย่อมไม่เกิดขึ้น

   (๓) พรหม (สุทธาวาส) และเทวดาบางองค์สามารถปฏิบัติธรรม แล้วเข้าสู่นิพพานได้
   

1264.
กราบเรียน อ.สนอง ค่ะ

   ดิฉันใส่บาตรตอนเช้า และบางครั้งถวายหนังสือธรรมะที่เหมาะสมแก่พระด้วย(เล่มซื้อใหม่) ท่านก็ได้บอกว่าได้อ่านหนังสือที่ถวายแล้ว ดีมากๆ จะเอาไว้ไปเทศน์ให้ญาติโยมฟัง ดิฉันฟังแล้วปลื้มใจมากเลยค่ะ

    อยากทราบว่า หากดิฉันจะนำหนังสือธรรมะที่ดิฉันอ่านแล้ว (แต่สภาพดีมาก) ถวายไป จะเป็นบาปไหมคะ หรือ ไม่เหมาะสมหรือเปล่าคะ เพราะดิฉันคิดว่าหนังสือเล่มนั้นๆ ดีมากๆ และหนังสือบางเล่มก็ซื้อจากร้านหนังสือเก่าค่ะ

   ขอให้อาจารย์ให้คำแนะนำด้วยค่ะ กราบขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

คำตอบ
    ผู้ใดถวายหนังสือธรรมที่ตนเองได้อ่านแล้วให้พระ ด้วยมีจิตระลึกว่าเป็นธรรมที่ดีความเผยแพร่ การถวายในลักษณะนี้เป็นบุญ ตรงกันข้ามหากจิตของผู้ถวายระลึกได้ว่า เป็นหนังสือที่ตนเองใช้แล้ว นำไปถวายพระ การถวายในลักษณะนี้เป็นบาป

   ฉะนั้น ผู้ถามปัญหาคิดว่า หนังสือเล่มนี้ดีมาก ซื้อมาจากร้านหนังสือเก่า แล้วนำไปถวายพระ ไม่ถือว่าเป็นบาป
  

1263.
กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ

   ขณะนี้ดิฉันมีความทุกข์มากค่ะ ตัวดิฉันมองเห็นทุกข์ที่หลั่งไหลเข้ามา พยายามมองให้เห็นทุกข์ตามสภาพความเป็นจริงที่เกิด มองเห็นว่าทุกอย่างก็เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป แต่อดคิดไม่ได้ว่าทำไมต้องเป็นเรา ที่ต้องช่วยเหลือคนในครอบครัวตลอดเวลา เวลาเราเดือดร้อนก็ต้องดูแลตัวเอง แต่ก็พยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด รู้ทุกข์ทุกอย่าง บางครั้งไม่รู้อาจจะทำให้ทุกข์น้อยลงไหมคะ จิตของดิฉันขณะนี้ไม่เบิกบานเลย อยากลืมทุกอย่าง อยากวางทุกอย่าง

  ขอความกรุณาท่านอาจารย์ช่วยชี้แนะด้วยค่ะว่าดิฉันควรวางใจอย่างไรคะ จิตถึงจะเป็นอุเบกขาและใจเบิกบานค่ะ


กราบขอบพระคุณค่ะ
สิรี

คำตอบ
   ความทุกข์ หมายถึง ความยากลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความเดือดร้อน ฯลฯ ผู้ใดมีจิตเป็นสมาธิจวนแน่วแน่ แล้วใช้จิตตามดูความทุกข์ที่เกิดขึ้น จนเห็นว่าความทุกข์เป็นสิ่งไม่เที่ยง ความทุกข์เป็นภาวะที่คงทนอยู่ไม่ได้ และความทุกข์ย่อมดับไปไม่มีตัวตนแท้จริง ก็จะเกิดปัญญาเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงว่า ความทุกข์เกิดขึ้นแล้วดับไป ความทุกข์จึงไม่มีตัวตนแท้จริง มีแต่คนที่รู้ไม่จริงเท่านั้น ยึดเอาสิ่งที่ไม่มีตัวตน (ความทุกข์) ไว้กับตัว จึงต้องมีความทุกข์

   ฉะนั้น หากผู้ถามปัญหาประสงค์จะพ้นไปจากความรู้ไม่จริง (ความทุกข์) ต้องพัฒนาจิตให้สงบ แล้วใช้จิตตามดูความทุกข์ตามกฎไตรลักษณ์ให้ถึงที่สุด จึงจะสามารถปล่อยวางความทุกข์ได้ ความมีจิตว่าง ความมีจิตอิสระ ความมีจิตเป็นไท ก็จะเกิดขึ้นได้เอง คนที่รู้จริงประพฤติเช่นนี้


1262.
กราบเรียนท่านอาจารย์ สนอง

ขอเรียนถามท่านอาจารย์ ดังนี้คะ

1. เราสามารถช่วยผู้ที่ตายก่อนอายุขัย ได้ด้วยวิธีการทำบุญแบบใด
จึงจะมีผลทำให้ผู้ตายหลุึดพ้นจากสภาพสัมพเวสีไปเป็นเทวดา หรือไ้ด้ไปอยู่ในภพภูมิที่ดี
หากไม่สามารถทำได้จะมีวิธีใดที่จะช่วยให้ดวงวิญญาณนั้นไม่ต้องทนทุกข์ทรมานบ้างคะ

2. ผลบุญที่เราได้กระทำแล้วและอุทิศให้แก่ผู้ตาย เราจะทราบได้อย่างไรว่า ผู้ตายได้มาโมทนาส่วนกุศลนั้นแล้ว หากผู้ตายอยู่ในสภาวะที่สามารถมารับได้ เขาจะทราบไหมคะ ว่าเราเรียกชื่อเขา ให้มาโมทนาในเมื่อเราอยู่กันคนละภพภูมิ

รบกวนท่านอาจารย์ช่วยคลายข้อสงสัยและแนะนำวิธีการทำบุญที่ถูกต้องให้ด้วยคะ


ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูง
ดาว

คำตอบ
    (๑) การช่วยผู้ที่ตายไปเป็นสัมภเวสี ไม่ให้ต้องทนทุกข์ทรมาน สามารถทำได้บางส่วนด้วยการอุทิศบุญ อันเกิดจากการให้วัตถุเป็นทาน ส่วนอกุศลวิบากที่ส่งผลให้ไปเกิดเป็นสัมภเวสี เขาต้องเสวยไปจนครบอายุขัย แล้วจึงสามารถไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในภพภูมิอื่น ตามแรงผลักของกรรมที่ตนทำไว้ก่อนตาย

   (๒) แม้จะไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในต่างภพภูมิ หากผู้อุทิศบุญสามารถสื่อสารถึงกันได้ เขาย่อมรับทราบได้ไม่ว่าจะเอ่ยชื่อหรือไม่เอ่ยชื่อก็ตาม
  

1261.
กราบสวัสดีคะ...ท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร

   เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา วัดแถวบ้านของหนูมีการจัดอบรมภาวนาคะ หนูและคุณแม่สามีคิดว่าเมื่อเรา ไม่ได้เข้าภาวนา น่าจะไปร่วมทำบุญ และ อนุโมทนาบุญ กับชาวบ้านที่ร่วมภาวนา (ส่วนใหญ่เป็นคนวัยกลางคน และ ผู้สูงอายุคะ) ระหว่างนั้น หนูได้สนทนาธรรมกับพระอาจารย์ผู้จัดงาน ท่านทราบว่าหนูพอมีความรู้บ้าง หนูเคยศึกษา พระอภิธรรมมาพอสมควรจบชั้นจุลตรี จบนักธรรมโท และ ผ่านการฝึกอบรมวิปัสสนามาหลายสำนักคะ และ ทุกวันนี้ไม่หยุด ที่จะแสวงหาความรู้ทางธรรมคะ ท่านต้องการให้หนูเป็นวิทยากรบรรยายธรรมะ ให้ผู้ร่วมภาวนาฟังคะ ที่แรกหนูปฏิเสธ เพราะหนูคิดว่าต้องเตรียมตัว และ การพูดธรรมะต้องพูดของจริง แต่ท่านก็ขอร้องเพราะ ไม่มีวิทยากรที่ เป็นฆราวาสมาบรรยายธรรม ต่อมาหนูคิดว่าหากไม่พูดธรรมตอนนี้หนูก็ไม่มีโอกาสจะสั่งสมบุญ 1 ใน 10 บุญกิริยา จึงตัดสินใจรับปากท่าน เรื่องที่หนูพูดในวันนั้น หนูได้นำธรรมของอาจารย์สุรวัฒน์ ที่หนูได้อ่านและง่ายสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติคะ

1. หนูจะบาปรึเปล่าคะ ในการนำธรรมะของครูบาอาจารย์ ไปบรรยายให้ผู้ปฏิบัติธรรมฟัง (แต่หนูมั่นใจว่าเป็นธรรมที่เป็นสัมมาทิฐิคะ) หนูมีเจตนาตั้งใจต้องการให้ผู้ภาวนา (ทั้งสมาธิ หรือ วิปัสสนา) ได้มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น เลยเล่าเรื่องประสบการณ์ของตนเสริม ให้ผู้เข้าภาวนาฟังบ้าง (บ้านหนูอยู่บ้านนอกคะ ชาวบ้านส่วนใหญ่ ไม่เน้นปฏิบัติ และ ปริยัติ ทำไร่ ทำสวน คนแก่)

2. วันที่ 9 ตุลาคม ท่านเจ้าอาวาสต้องการให้หนูไปเป็นวิทยากร อีกคะ หนูอยากขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์คะว่าควรจะไปบรรยายหรือไม่ หากต้องไป ควรทำอย่างไร หรือปฏิเสธท่านไปเลยคะ

3. ในสมัยที่หนูเรียนพระอภิธรรม หนูเคยบรรยายธรรม ให้พระ และ ฆราวาสฟัง (ผู้มีความรู้) แต่ทำไมไม่รู้สึกว่าผิดคะ แต่ตอนนี้พอปฏิบัติมากขึ้น กลับกลัวการบรรยายธรรมะ (ทั้งที่ผู้ฟังเป็นชาวบ้าน)


รบกวนอาจารย์ด้วยนะคะ และหนูขอร่วมอนุโมทนาที่สิ่งที่อาจารย์ที่ได้ทำอยู่ทุกวันนี้คะ

คำตอบ
    (๑) ไม่บาปครับ

   (๒) การบรรยายธรรม ถือได้ว่าเป็นการให้ปัญญาเป็นทาน เมื่อเทียบกับการให้ทานประเภทต่างๆ แล้ว การให้ปัญญาเป็นทาน ถือว่าเป็นบุญสูงสุดในบรรดาทานทั้งหลาย ฉะนั้นผู้ใดประสงค์ให้ปัญญาเป็นทานด้วยการบรรยายธรรม จึงไม่ควรปฏิเสธ แต่การเผยแพร่ธรรมต้องถูกตรงตามธรรมวินัยของพระพุทธโคดม จึงจะไม่เป็นบาปเกิดขึ้น

   (๓) การเรียนอภิธรรมเป็นเพียงรู้ธรรม แต่การปฏิบัติธรรมจนเข้าถึงเหตุผลแท้จริงได้แล้ว ถือว่าเป็นผู้มีธรรม คือ สามารถรู้เห็นเข้าใจความจริงแท้ของสรรพสิ่งได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ที่กลัวการบรรยายธรรม จึงยังเป็นผู้ที่ยังไม่รู้แจ้งในธรรมที่บรรยายนั่นเอง
  

1260.
กราบเรียนท่านอาจารย์สนอง วรอุไร ที่เคารพยิ่งค่ะ

ดิฉันขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า ท่านมีความเห็นอย่างไรบ้าง เกี่ยวกับ "การุณฆาต"
1. ในแง่ของผู้ที่ลงมือกระทำ
2. ในแง่ของผู้ป่วย ที่เต็มใจให้ลงมือกระทำ

ขอทราบไว้เป็นความรู้ค่ะ เพราะเคยดูข่าวแล้วอดสงสัยไม่ได้ ว่าจะเป็นบุญหรือบาปประการใด หรือมีทางออกใดที่ดีกว่านี้บ้างคะ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์อย่างสูงค่ะ

คำตอบ
   คำว่า การุณยฆาต หรือ การุญฆาต หมายถึงทำให้ตายด้วยความสงสารคิดช่วยให้พ้นทุกข์ชั่วคราวในชีวิตนี้

   ๑. ในทางโลก หากได้บัญญัติเรื่องนี้ไว้เป็นหลักฐานในทางกฎหมาย ให้ผู้มีหน้าที่ประพฤติได้โดยไม่ถือเป็นความผิด จึงไม่มีโทษกับผู้ประพฤติการุณยฆาต ในทางธรรมมิได้เป็นเช่นนั้น บุคคลมีกรรมเป็นตัวนำเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ฉะนั้นการเจ็บป่วยของคนไข้จึงเป็นวิบากของกรรม ที่คนไข้เคยทำเหตุเบียดเบียนไว้ก่อน เมื่อใดที่กรรมเบียดเบียนให้ผล คนไข้จึงต้องรับอกุศลวิบากนั้น ผู้ใดเข้าไปทำให้อกุศลวิบาก (การุณยฆาต) ของคนไข้ระงับไปชั่วคราว ผู้นั้นยังมีโอกาสรับอกุศลวิบาก (บาป) ด้วยการถูกจองเวรจากเจ้ากรรมนายเวรของคนไข้นั้นด้วย

   ๒. ในทางโลก หากมีกฎหมายบัญญัติไว้ ให้ผู้มีหน้าที่ประพฤติการุณยฆาตได้ และบัญญัติให้คนไข้ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำการุณยฆาตกับชีวิตของตัวเองได้ โดยไม่ถือว่าผิดกฎหมาย ผู้มีหน้าที่ฯ จึงไม่ต้องรับผิดในทางโลก แต่ยังมีโอกาสรับอกุศลวิบากได้ หากเจ้ากรรมนายเวรของคนไข้ผูกพยาบาทไว้
  

1259.
กราบเรียนท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ที่เคารพอย่างสูง

    ดิฉันเคยฟังธรรมและอ่านหนังสือของท่านอาจารย์ ดร.สนอง แล้วรู้สึกศรัทธาในการยึดมั่น ในการเผยแพร่พระธรรม และโปรดผู้ที่ยังไฝ่ดีทั้งหลายให้พ้นจากไปอบายภูมิ ถือเป็นบุญที่ดิฉันได้เป็นส่วนหนึ่งที่ท่านอาจารย์มาโปรดไม่ให้ไปอบายภูมิ ดิฉันขอสะสมบุญและพยายามพัฒนาจิตให้เข้าถึงธรรมของพระสัมมนาสัมพุทธเจ้า และถือโอกาสถามคำถามกับท่านอาจารย์ดังนี้

   1. เรื่องเบียร์ คุณพ่อดิฉันอายุ 80 ปี แล้ว ท่านยังดื่มเบียร์เลิกไม่ได้ พี่น้องเคยให้คุณพ่อเลิก โดยไม่ซื้อให้ท่าน ท่านก็เป็นทุกข์ เพราะเดินไปไหนมาไหนไม่ค่อยสะดวก แอบฝากคนที่ผ่านไปมาซื้อ เป็นเวลาหลายปี ดิฉันก็สงสารในเมื่อท่านเลิกไม่ได้ บังคับให้ท่านอดท่านก็เป็นทุกข์ ดิฉันจึงขอเป็นผู้ที่ซื้อเบียร์ให้คุณพ่อทาน โดยมีข้อแม้ว่า ขอให้ทานวันเว้นวัน วันไหนตรงกับวันพระ ให้เลื่อนทันไปอีก 1 วัน ท่านก็ตกลงและมีความสุขกับการทานข้าวได้ ดิฉันรู้ว่าเบียร์ไม่ดีผิดศีล ตอนที่ดิฉันให้เบียร์คุณพ่อ ดิฉันคิดในใจไม่ขออนิสงฆ์ของการให้เบียร์ แต่ดิฉันขออนิสงฆ์ขอการให้ของที่พ่อพอใจ ดิฉันไม่อยากเห็นท่านมีความทุกข์ที่เบื่ออาหาร อยากจะกินเบียร์ก่อนอาหารแล้วไม่ได้กิน เรื่องเหล้าท่านอดไม่ได้จริงๆ

   2. เรื่องหวย พอคุณพ่ออายุ 80 ปี คุณพ่อก็ขอหวย 1 ใบ ดิฉันก็ไม่สนับสนุนนัก แต่จะอธิบายท่านก็ยังไม่รับเท่าไร ก็ทำเฉยๆคิดว่าเดี๋ยวท่านก็คงจะลืมไปเอง แต่ท่านถามว่าซื้อหรือยัง ถามหลายครั้ง ก็เลยซื้อให้ท่านและคิดในใจว่า ไม่เอาอานิสงฆ์ของหวย แต่ขออานิสงฆ์ของการให้ตามที่พ่อต้องการ

   3. สำหรับการให้ธรรมะ คุณพ่อของดิฉันยังไม่หงายรับ ผิดศีลข้อ 5 แต่ท่านก็เป็นคนที่ใจดี มีเมตตารักสัตว์ ก็ไม่อยากหักดิบท่าน ท่านอายุมากแล้ว ดิฉันซื้อของทั้งข้อ 1 และ 2 ให้คุณพ่อบาปมั๊ยค่ะ แต่ดิฉันรู้สึกสบายใจที่ได้ให้ท่าน เวลาท่านอยากได้ของกินของใช้ จะถือว่าเป็นโอกาสดี ที่ดิฉันจะสรรหามาให้ท่านได้พอใจ แต่ดิฉันถือศีล เกรงว่าการซื้อเบียร์จะบาปเพิ่มขึ้นหรือไม่

   ขอโอกาสท่านอาจารย์ ดร.สนอง ช่วยแนะนำให้ดิฉันได้ทำในสิ่งที่ถูกไม่ผิดศีลผิดธรรม ได้ตอบแทนคุณพ่อให้ดีเท่าที่ยังมีเวลาเหลืออยู่

   ขอกราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง และขอกราบอนุโมทนาบุญที่ท่านเป็นผู้ให้แสงสว่างทางธรรม และให้ปัญญาเป็นทานมา ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ

คำตอบ
    ผู้ใดมีศรัทธาในกุศลธรรมของพระพุทธะ ผู้นั้นมีโอกาสหนีอบายภูมิได้ และจะดีที่สุดหากนำเอากุศลธรรมมาปิดอบายภูมิให้ได้

   (๑) วันใดที่มิได้ซื้อเบียร์ให้คุณ พ่อดื่ม วันนั้นบาปไม่เกิด ผู้พอใจในการทำกรรมที่เป็นบาป ผู้ร่วมกระทำกรรมต้องรับอานิสงส์ของบาปนั้นด้วย

   (๒) อบายมุขเป็นทางแห่งความฉิบหาย ผู้ใดเข้าไปมีส่วนร่วมกับการกระทำที่เป็นอบายมุข ผู้นั้นต้องได้รับผลแห่งความฉิบหายนั้นด้วย

   (๓) การประพฤติทุศีลข้อห้า มีโทษไม่หนักถึงกับต้องลงไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในนรก แต่ยังหนีอบายภูมิไม่พ้น ตายแล้วยังมีโอกาสลงไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานได้ครับ

   อนึ่ง ความกตัญญูกตเวที เป็นคุณธรรมที่มีพลังผลักดันชีวิตไปสู่ความเจริญ ฉะนั้นผู้หวังความสวัสดิ์ในชีวิต ต้องประพฤติจริยธรรมของการเป็นลูกที่ดี คือประพฤติแล้วต้องไม่ขัดต่อหลักของศีลธรรม ความกตัญญูฯ จึงจะเกิดขึ้นได้
  

1258.
กราบเรียนท่านอาจารย์สนองที่เคารพเป็นอย่างสูง

   กระผมและภรรยาได้ปฏิบัติตามคำสอนของอาจารย์แม้จะยังทำไม่ได้ 100% แต่มีความตั้งใจอยู่ทุกเวลาครับ
   กระผมและภรรยามีข้อสงสัยในเรื่องการกำหนดลมหายใจโดยการภาวนาหลายๆ อย่างเช่น พุทโธ พองหนอ ยุบหนอ หรือ เกษา โลมา ฯ แต่จิตยังไม่นิ่งเท่าที่ควร แต่กระผมก็ทราบว่าเราต้องมีศีล 5 คุมใจก่อน และเมื่อได้อ่านในเรื่องการผิดศีลของอาจารย์ก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดมาก เช่นการใช้สิ่งของที่อีกคนไม่ได้อนุญาตก็ผิดแล้ว (วิสาสะ)
   กระผมจึงใคร่เรียนขอคำแนะนำจากอาจารย์ในเรื่องนี้อีกครั้งครับ


ด้วยความเคารพอย่าสูง
ธนภัทร

คำตอบ
    ศีลที่นำสู่การตั้งมั่นเป็นสมาธิของจิต อย่างน้อยต้องมีศีลห้าข้ออยู่ครบ (ไม่ขาด ไม่ทะลุ) ต้องเป็นศีลที่บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสปนเปื้อน (ไม่ด่าง ไม่พร้อย) และมีศีลคุมใจอยู่ทุกขณะตื่น

   ในเรื่องของศีลข้อสอง คือ อทินนาทาน ในทางกฎหมายคนทั่วไปถือว่า สามีภรรยาเป็นบุคคลเดียวกัน สามารถที่จะเอาของที่แต่ละคนมี มาใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ในการปฏิบัติธรรมผู้ที่ยังประพฤติเช่นนี้ถือว่า มีศีลทะลุ นอกจากนี้ การเอาโทรศัพท์หน่วยงานมาใช้ในเรื่องส่วนตัว เอาเวลาของหน่วยงานมาประกอบอาชีพขายตรง ฯลฯ เหล่านี้เป็นการประพฤติศีลทะลุเช่นเดียวกัน ส่วนการบริโภคใช้สอยทรัพย์ร้อน อาทิบ้านที่ดินที่ซื้อจากหลุดจำนอง รถยนต์ที่หลุดจำนองจากบริษัท ของใช้เครื่องประดับที่หลุดจำนองจากโรงรับจำนำ ฯลฯ เหล่านี้ผู้ใดประพฤติ ผู้นั้นมีศีลด่างพร้อย ปฏิบัติธรรมแล้วเข้าไม่ถึงธรรมที่ปฏิบัติ 
 

1257.
กราบเรียนท่านอาจารย์สนองที่เคารพเป็นอย่างสูง

   หนูได้ติดตามฟังธรรมของอาจารย์ และได้นำไปใช้เป็นแง่คิดในการดำรงชีวิตประจำวัน
ซึ่งก็สามารถแก้ใขปัญหาที่เกิดในชีวิตประจำวันได้มาตลอด แต่มีปัญหาหนึ่งที่หนูไม่ทราบว่า จะเป็นการตัดสินใจถูกหรือผิด จึงใคร่เรียนขอคำแนะนำจากอาจารย์คะ

   คือเมื่อกลางปีนี้ หนูได้เช่าเครื่องชำระเงินผ่านบริษัทในอังกฤษ ( หนูทำธุรกิจที่นี่คะ) เค้าขอให้วางมัดจำเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งหนูก็ได้ใช้เครื่องของเขา และคืนไปให้เขาเรียบร้อย และรอเงินมัดจำคืน แต่ในขณะนี้หนูก็ยังไม่ได้เงินมัดจำคืน ซึ่งเวลาผ่านล่วงเลยไป 3 เดือนแล้ว ซึ่งทางบริษัทได้ให้สัญญาว่า จะส่งเงินกลับคืนภายใน 7 วันหลังจากที่ได้รับเครื่องคืนแล้ว หนูก็ได้ทำการติดต่อไปหลายครั้ง และหนูมีความรู้สึกว่าเค้ากำลังโกหกหนูอยู่ เพราะแต่ละครั้ง เค้าจะบอกว่าส่งมาแล้ววันนั้นวันนี้ แต่พอโทรอีกทีบอกจะส่งในให้ในวันนี้ และทุกครั้งเค้าก็สัญญาว่าจะติดต่อกลับ และจะจัดการส่งเงิน (อสรพิษ) คืนให้ แต่จนบัดนี้ ก็ยังไม่ได้รับเงินคืน

   ซึ่งหนูพยายามตัดใจและก็ใช้คำสอนของอาจารย์ ที่ว่า ช่างมันเถอะ และพิจารณาว่ามันเป็นของนอกกาย และพยายามที่จะไม่โกรธ และไม่เอาเรื่อง แต่มานึกดูอีกทีก็คิดว่าเอ๊ะ บริษัทนี้เค้าโกงเรา เราต้องจัดการฟ้องร้อง ให้เค้าเอาเงินมาคืน แต่มาคิดดูอีกทีอาจารย์ไม่เคยให้สอนให้ใช้วิธีทางโลกแก้ปัญหา ซึ่งวิธีที่ต้องฟ้องร้องเอาความนั้น มันเป็นวิธีทางโลก ที่เป็นการก่อเวรอย่างไม่หยุดยั้ง และต้องมีผู้เดือดร้อนและเป็นการสร้างศัตรู แต่วิธีที่พิจารณาถึงสัจจธรรมความไม่เที่ยง การสูญเสียซึ่งมันเหมือนเป็นการวัดใจว่า เรามีความเข้าใจถึงโลกธรรมนั้น เป็นวิธีทางธรรมที่ไม่ก่อเวรและไม่สร้างศัตรู สิ่งที่เราเสียไปนั้นมันไม่เป็นการบังเอิญ หากเราไม่เอาความและทำใจยอมรับมันได้ ในความคิดหนู หนูว่ามันมีค่ามากกว่าเงินที่สูญเสียไป ส่วนคนที่เขาโกงเราเขาก็ย่อมได้รับผลของเขาเอง และหนูก็พิจารณาตามที่หนูได้รับคำสอนจากหลวงพ่อสนอง กตปุญโญว่า ถูกเขาโกง ดีกว่าไปโกงเขา ซึ่งบางทีหนูก็ทำใจได้ แต่พอคิดถึงเงินที่เราสูญเสียไป ก็อยากฟ้องร้องสั่งสอนให้เขารู้สึก มันเหมือนเป็นการคานกันอยู่กับการแก้ไขปัญหา โดยวิธีทางโลกและทางธรรม

    ตอนนี้หนูก็ได้เขียนจดหมายไปบอกเค้าว่า ถ้าไม่ส่งค่ามัดจำให้เราเราจะฟ้องร้อง แต่ในใจหนู หนูคิดว่าถ้าเค้าไม่ส่งมาหนูก็ไม่เอาความแล้ว หากเขาต้องการหรืออยากได้เงินจำนวนนี้ไป ก็นำไปเถิด หนูคิดว่า บางทีการสูญเสียทางโลกหมายถึงเราจะได้ในทางธรรมซึ่งมีคุณค่ามากกว่า บางคนเค้าหาว่าหนูโง่ ไม่รู้จักสู้ โดนเค้าเอาเปรียบแล้วยังยอมรับสภาพจำยอม เงินไม่ใช่จำนวนน้อยๆ แต่หนูก็นึกถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าเสมอคะ ในบทธรรมจักรที่ว่ามีความปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์ และความพลัดพรากจากสิ่งที่รักที่พอใจก็เป็นทุกข์ หากเราไม่ปรารถนาสิ่งเหล่านี้ เราก็จะไม่เป็นทุกข์ ดังนั้นหนูได้ตัดสินใจในการแก้ไขปัญหานี้โดยที่ว่าวันนี้หนูโทรไปตามเรื่อง เค้าก็โกหกอย่างเช่นเคย หนูรู้สึกสงสารคนที่เค้ากำลังโกงหนู โกหกหนู และหนูก็ตัดสินใจแน่วแน่ว่า หนูจะยกเจ้าอสรพิษนี้ให้เค้าไปโดยที่หนูจะไม่ผูกใจเจ็บใดๆ และถึงแม้ว่าใครจะหาว่าหนูโง่ ถูกหลอกง่ายให้คนเขาเอาเปรียบ หนูก็จะไม่เปลี่ยนใจกลับไปแย่งชิงเจ้าอสรพิษนี้กลับมา และให้อภัยเค้าไม่คิดจองเวรกันต่อไป

   หนูจึงอยากถามคิดเห็นของอาจารย์คะ ว่าสิ่งที่หนูคิดใช้ในการแก้ปัญหานี้ถูกทางหรือไม่คะ

   สุดท้ายนี้หนูขอกราบขอบพระคุณอาจารย์ ในการถ่ายทอดธรรมของพระพุทธเจ้าให้พวกหนูได้เข้าใจ และยึดเป็นแบบอย่างในการดำรงชีวิตในสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้อย่างมีสันติสุขภายในจิตใจ และขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์จงดลบันดาลให้ท่านอาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อเป็นกำลังใจและแบบอย่างที่ดีงามให้พวกหนุตลอดไปนะคะ


ด้วยความเคารพอย่างสูง

สุธีรา

คำตอบ
    จงมีความเห็นถูกว่า ธรรมะที่ได้ยินได้ฟังนั้น เป็นของพระพุทธะ มิใช่เป็นของผู้ตอบปัญหา การใช้ปัญญากำจัดอสรพิษให้ห่างไกลออกไปจากตัว เป็นวิธีบริหารจัดการกับปัญหาที่ผู้รู้จริง ในพุทธศาสนาสรรเสริญ .... สาธุ

   อนึ่ง ผู้รู้เอาสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นบทเรียนสอนใจตัวเองว่า การเอาจิตเข้าไปเป็นทาสกับโลกธรรม วัตถุ กิเลส ตัณหา ฯลฯ แม้เพียงชั่วขณะของชีวิต ย่อมนำทุกข์นำโทษมาทำให้จิตเศร้าหมองได้ ฉะนั้นจงใช้ปัญญาเห็นถูกดังที่บอกเล่าไป ส่องนำการทำงานให้กับโลกและชีวิต เพื่อปลอดจิตให้เป็นอิสระเป็นเบื้องสุด
  

1256.
เรียนอาจารย์ ดร.สนอง ที่เคารพ

ผมมีความรู้สึกว่าตัวเองปราถนาพุทธภูมิ จึงขอความกรุณาอาจารย์ช่วยตอบข้อสงสัยดังนี้ครับ
1.ในชาติปัจจุบัน จะต้องปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน ให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งหรือไม่ครับ

2.ทุกครั้งที่สร้างบารมี จะต้องอธิษฐานเพื่อให้เข้าถึงพุทธภูมิหรือไม่ครับ


ขอขอบพระคุณล่วงหน้าสำหรับคำตอบครับ และก็ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง อยู่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายไปนานๆ

คำตอบ
    (๑) ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานได้ยิ่งดี เพราะจะได้มีปัญญาเห็นถูก ส่องนำทางให้กับชีวิต แต่ทั้งนี้ต้องไม่พัฒนาจิตให้เกิน สังขารุเปกขาญาณ เพราะจะทำให้สภาวะความเป็นพุทธภูมิยังคงอยู่ได้

    (๒) ระลึกได้ก็สามารถอธิษฐานได้ แต่ยังไม่สำคัญเท่ากับทำเหตุให้ถูกตรง ตามแนวทางของพระโพธิสัตว์
  

1255.
กราบเรียน ดร.สนองที่เคารพ อย่างสูง

1. เตี่ยผมเป็นโรคสมองตีบ ผมจะช่วยท่านอย่างไรครับ
2. ผมเคยช่วยคนอื่น แต่ทำให้เขาต้องเดือดร้อนจนผมไม่กล้าช่วยเหลือใคร ผมต้องทำอย่างไรครับ
3. ผมกลัวการเอาเปรียบคนอื่น ทำให้ผมไม่มั่นใจในตัวเอง และโดนเอาเปรียบอยู่เรื่อย

สุดท้ายนี้ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักสิทธิ์ในสากลโลก จงดลบัญดาลให้ ดร.สนองและครอบครัว อยู่เย็นเป็นสุข คิดอะไรสมความปรารถนาทุกประการ

คำตอบ
   (๑) ช่วยพาเตี่ยไปหาหมอที่มีความรู้ทางด้านสมอง ให้หมอแนะนำวิธีบำบัดรักษา

   (๒) การช่วยเหลือผู้อื่น อาจทำให้บุคคลต้องเดือดร้อนได้ในระยะต้น แต่ในบั้นปลายปัญหาของผู้ถูกช่วยเหลือ ย่อมมีโอกาสหมดไปได้ ฉะนั้นจะช่วยเหลือใคร ต้องใช้ปัญญาเป็นตัวพิจารณาให้ถูกตรง

   (๓) ความไม่มั่นใจในตัวเอง เกิดขึ้นจากเหตุไม่รู้จริงเกี่ยวกับตัวเอง ผู้ใดประสงค์จะแก้ปัญหานี้ ต้องทำเหตุให้ถูกตรง ด้วยการนำตัวเองเข้าฝึกวิปัสสนากรรมฐาน

   ผู้ใดถูกผู้อื่นเอาเปรียบ ผู้รู้มองว่า ผู้นั้นเป็นผู้มีดีให้คนอื่นเอาเปรียบ ตรงกันข้าม ผู้เอาเปรียบคนอื่น มีความพร่อง มีความขาดแคลน ไม่มีเหมือนเขาจึงเอาเปรียบเขา ฉะนั้นผู้รู้จึงนิยมเป็นบุคคลประเภทแรก
    

1254.
กราบเรียนถามอาจารย์ เรื่องกำจัดหนูที่เข้ามาในบ้านค่ะ

ดิฉันไม่ใช่คนปฎิบัติธรรมเคร่งครัด แต่แม่สวดมนต์ ไหว้พระ นั่งสมาธิ ใส่บาตร ให้เห็นมาทุกวันตั้งแต่จำความได้ หนังสือธรรมมะก็พอมีให้หยิบจับอ่านอยู่ในบ้าน วิทยุก็ฟังหลวงตาบัวทุกวัน ตั้งแต่เช้ายันค่ำ ดังนั้นก็จะมีเรื่องธรรมซึมๆเข้ามาบ้างตามอัตถภาพ ทำให้ไม่กล้าทำบาปหนัก

ที่บ้านเป็นตึกแถวอยู่ใกล้ตลาดค่ะ มักจะมีหนูวิ่งเข้ามาเรื่อยๆตามซอกประตู หรือไม่ก็จากหลังคา ล่าสุดได้ปิดทางท่อระบายน้ำไม่ให้ขึ้นมาได้ แต่ก็ยังมีหนูเข้ามาวิ่งให้ให้เห็น หรือส่งเสียงร้องให้ได้ยิน สงสารแม่มาก เพราะท่านแก่มากแล้วเดินขึ้นบันไดไม่ไหวเลยต้องนอนอยู่ข้างล่าง ตอนกลางคืนแม่จะได้ยินเสียงหนูร้อง ทำให้กลุ้มใจและนอนไม่หลับ และมักจะบ่นเสมอว่าไม่รู้ว่าไปทำเวรทำกรรมอะไรมาไม่รู้ แม่แผ่เมตตาให้หนูทุกวันเลยค่ะ

แต่ก่อนนี้แม่ก็จะเอากรงมาดัก จับได้ก็เอาไปปล่อย ไม่เคยวางยา หรือวางกาว เนื่องจากไม่มีใครในบ้านกล้าทำค่ะ มาพักหลังๆ หนูฉลาดมากค่ะ ไม่เข้ากรงเลย และมีจำนวนเยอะขึ้นมากด้วยค่ะ แม่เคยบอกว่าเห็นเดินกันเป็นแถว 10 กว่าตัวได้ ทั้งๆที่ได้ติดตั้งเครื่องกำจัดหนูที่จะรบกวนหนูด้วยคลื่นเสียง แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด

ตอนนี้เวลาไปเจอใครก็จะถามเกียวกับปัญหานี้ว่า มีวิธีกำจัดหนูโดยที่ไม่ต้องฆ่าบ้างไหม พอดีได้คุยกับพี่คนหนึ่งซึ่งปฎิบัติธรรม แนะนำให้มาขอปัญญาจากท่านอาจารย์ค่ะ

อาจารย์พอจะแนะนำวิธีกำจัดหรือป้องกันหนูโดยไม่ต้องฆ่าบ้างไหมค่ะ เพราะตอนนี้หนูเริ่มขึ้นบนบ้าน ชั้น2-3 แล้วค่ะ เกรงว่าอีกหน่อย ไม่อยากทำก็อาจต้องทำเพราะอับจนปัญญา และกลัวหนูกันค่ะ


ขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงค่ะ

คำตอบ
    ผู้ใดมีความกลุ้มใจ ผู้นั้นไม่มีเมตตา ผู้ไม่มีเมตตาแล้วยังแผ่เมตตาให้กับสัตว์ (หนู) ถือว่าการแผ่เมตตานั้นว่างเปล่า (โมฆะ) แม้จะแผ่เมตตาให้หนูทุกวัน หนูก็ไม่ได้รับเมตตาตามที่ตัวเองปรารถนา

   อนึ่ง วิธีป้องกันหนูโดยไม่ต้องประพฤติปาณาติบาต คนโบราณใช้วิธีหลายอย่างเพื่อแก้ปัญหาหนูรบกวน อาทิ เลี้ยงแมวไว้ที่บ้าน ใช้พริกไทยป่น ยาฉุนป่น หรือสารอื่นที่หนูไม่ชอบโรยไว้ตามทางที่หนูเดิน หรือใช้วิธีป้องกันหนูเข้ามาในบ้านด้วยการอุดรูโหว่หรือใช้ตาข่ายลวดปิดทางเข้าบ้าน
   

1253.
ตั้งใจทำดีแต่ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี จะทำอย่างไร

รบกวนถามอาจารย์ดังนี้นะคะ

   ตอนนี้กลุ้มใจมากค่ะ ไม่รู้จะทำอย่างไรดี? เรื่องมีอยู่ว่า ดิฉันทำงานอยู่บริษัทการตลาดแห่งหนึ่ง ซึ่งได้คิดแคมเปญรับบริจาคคะแนนสะสมของสมาชิก เพื่อนำมาเปลี่ยนเป็นปัจจัยให้พระสงฆ์ ปรากฏว่ามีคนบริจาคคะแนนสะสมให้มากมาย จนเกินใช้ และในที่สุดจนจบโครงการ ก็มีคะแนนสะสมบางส่วนที่ไม่ได้ใช้ (ทั้งๆที่ในตอนแรกตั้งใจจะใช้ทั้งหมด แต่ด้วยเหตุผลทางการตลาดบางประการ จึงไม่สามารถใช้คะแนนสะสมที่รับบริจาคมาได้ทั้งหมด ซึ่งตรงนี้อยู่เหนืออำนาจการตัดสินใจของดิฉัน)

   ดิฉันรู้สึกว่ามันเป็นบาป ที่เอาของของคนอื่นมาแล้วไม่ได้นำไปทำบุญ อย่างที่คนให้ตั้งใจ ทั้งๆที่การตัดสินใจเด็ดขาดว่า จะมอบคะแนนสะสมจำนวนเท่าไหร่เพื่อเปลี่ยนเป็นปัจจัย ให้พระสงฆ์นั้นไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของดิฉัน ดิฉันไม่สามารถเข้าไปยุ่งในส่วนนี้ได้เลย หลักๆคือ ดิฉันจะเป็นพวกเจ้าไอเดียออกไอเดียเริ่มโครงการต่างๆเท่านั้น และตอนเริ่มโครงการนี้ ก็มีความตั้งใจที่จะให้ทุกคนได้ร่วมทำบุญจริงๆ

   ดิฉันขอถามอาจารย์ว่า ดิฉันจะบาปมากใหมคะ? และจะได้รับผลกรรมเช่นไรจากการกระทำนี้คะ? จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้อย่างไรบ้าง? และถ้าเกิดเหตุการณ์คล้ายๆอย่างนี้อีก จะทำอย่างไรดี เพราะจากความสำเร็จของโครงการในครั้งแรก ทำให้ผู้ใหญ่เริ่มที่จะทำการตลาดจากความศรัทธาแบบนี้อีก และเริ่มที่ทำอย่างเกินงาม ซึ่งดิฉันก็ถูกดึงเข้ามาร่วมออกไอเดียอย่างปฏิเสธไม่ได้ อาจารย์คิดว่าดิฉันควรจะหลีกเลี่ยงอย่างไรดีคะ จึงจะเป็นการเลี่ยงอย่างฉลาด แบบชาวพุทธที่ดีพึงกระทำ

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ

  ผู้มีทุกข์

คำตอบ
    แนวความคิดที่เสนอให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจถือว่า แนวความคิดนั้นเป็นบาป เพราะเอาบุญมาเป็นเหยื่อล่อให้คนหลง ผู้เสนอแนวความคิดจึงเป็นจำเลยบาปที่หนึ่ง ผู้อนุมัติให้นำเอาแนวความคิดนี้ไปใช้ เป็นจำเลยบาปที่สอง ส่วนการปฏิบัติที่ไม่เป็นไปตามหลักการที่ให้ไว้แก่ผู้มาใช้บริการ ถือว่าไม่รักษาสัจจะให้ผลเป็นบาปเกิดขึ้นกับผู้อนุมัติโครงการ ถือว่าไม่รักษาสัจจะให้ผลเป็นบาปเกิดขึ้นกับผู้อนุมัติโครงการ สรุปแล้วงานนี้ผู้อนุมัติฯ มีบาปมากกว่าผู้เสนอแนวความคิด

   กรรมที่ทำจะบาปมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความไม่สบายใจของผู้ที่มีส่วนร่วมในการกระทำกรรม ใครไม่สบายใจมากย่อมบาปมาก ใครไม่สบายใจน้อยย่อมบาปน้อย

   ผลของกรรมคือ เมื่อใดที่กรรมให้ผล ย่อมเป็นเหตุให้ต้องสูญทรัพย์ ติดขัดในเรื่องของทรัพย์ ตายแล้วยังมีโอกาสเปิดให้ลงไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในอบายภูมิได้ ส่วนการแก้ไขบาปที่เกิดขึ้น โปรดดู web site ข้อ 728

   ผู้ใดรู้ว่ากรรมที่ทำแล้วให้ผลเป็นบาป และไม่ประสงค์ให้มีบาปเพิ่มมากขึ้น ต้องไม่ทำบาปนั้นซ้ำ ผู้ถามปัญหามีชีวิตเป็นของตัวเอง จึงต้องเลือกประพฤติด้วยตัวเองครับ
  

1252.
เรียน อาจารย์สนองที่เคารพ

   วันที่ 4 มีนาคม 2552 เป็นวันแรกที่ได้รู้จักอาจารย์สนองผ่านหนังสือ ทำชีวิตให้ได้ดีและมีความสุข กับ ยิ่งกว่าสุขเมื่อจิตเป็นอิสระ ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญจริง ๆ ที่ได้ซื้อหนังสือของอาจารย์ เมื่ออ่านหนังสือทั้งสองเล่มจบ ดิฉันรู้สึกว่าเกิดการรู้แจ้งในเรื่องชีวิตขึ้นมากเลย สงสัยจริง ๆ ว่า 40 ปีที่ผ่านมาทำไมดิฉันไม่เจออาจารย์ให้เร็วกว่านี้

   จากหนังสือของอาจารย์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ดิฉันได้ไปบวชเนกขัมมะ เนื่องในวันวิสาขบูชาที่วัดอ้อน้อย ของหลวงปู่ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ดิฉันได้พบกับหลวงปู่ ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้าที่จะได้อ่านหนังสือของอาจารย์ ดิฉันไม่เคยคิดที่จะไปถือศีลที่ไหนเลย และไม่เคยคิดที่จะอยากรู้จักกับหลวงปู่ทั้ง ๆ ที่พี่ชายของดิฉัน เคยพูดเรื่องหลวงปู่บ่อยมาก แต่ดิฉันก็เฉย ๆ

   วิสาขบูชาปีนี้ทำให้ดิฉันได้สะสมบุญ สำหรับตัวเองเป็นครั้งแรก และได้พบกับหลวงปู่ ผู้ที่ดิฉันจะยึดเป็นแบบอย่างในการสะสมบุญ และทำความดี และได้มีโอกาสเห็นอาจารย์สนองบนเวที เนื่องในงานเสวนาธรรมที่ลุมพินีที่ผ่านมา รู้สึกยินดียิ่ง ที่ได้เห็นตัวจริงของผู้ที่ทำให้ดิฉันตาสว่างจากกิเลส และเข้าใจกับคำว่า สัตว์โลกเป็นไปตามกรรม ปัจจุบันดิฉันพยายามสวดมนต์,ทำบุญ,รักษาศีล 5 , พยายามมีสติอยู่ตลอดเวลา ซึ่งบางครั้งก็ยากในทางปฎิบัติ เพราะยังมีอวิชาอยู่แต่ก็ต้องพยายามต่อไป มีคำถามอยากจะขอคำแนะนำจากอาจารย์คือ

   1) ถ้าในชีวิตของเรามีเพื่อนร่วมงานที่เอาเปรียบ และมีหัวหน้าที่ไม่มีความยุติธรรมนึกถึงแต่เด็กตัวเอง เราไม่ควรไหว้คนพวกนี้ เพราะเป็นผู้ที่ไม่มีคุณธรรมใช่หรือไม่

   2) ในการสวดมนต์แต่ละครั้ง อยากจะตั้งจิตอธิษฐานว่าให้หลุดพ้นจากสังสารวัฎ ไม่ทราบว่าต้องอธิษฐานว่าอย่างไร

สุดท้ายนี้บุญใดที่ดิฉันได้กระทำมาขอฝากบุญให้กับอาจารย์ด้วยค่ะ

คำตอบ
    ผู้รู้จริงในพุทธศาสนา ไม่มีคำว่า บังเอิญ ดังนั้นสี่สิบปีผ่านไป ยังไม่พบและไม่ได้อ่านหนังสือที่อ้างถึง เป็นเพราะความไม่ถึงพร้อมในเหตุปัจจัย คือบุญของผู้ถามปัญหายังไม่ส่งผล บัดนี้บุญนำพาหรือวาสนาส่งผลให้แล้ว จึงไม่ควรประมาทในการดำเนินชีวิต เพราะบุคคลเกิดแล้วต้องแก่ แก่แล้วต้องตาย การตายไปสู่ภพที่ดี มีบุญเป็นปัจจัยนำพาจิตวิญญาณให้โคจรไปสู่ ตราบใดที่ลมหายใจเข้า-ออก ยังมีอยู่ บุคคลยังมีโอกาสสั่งสมบุญเพื่อใช้เป็นปัจจัยเดินทางสู่ปรโลกได้

   (๑) ดูให้ออกว่า เพื่อนร่วมงานที่เอาเปรียบเรา เหตุเพราะเขาไม่มีอย่างที่เรามี เขาจึงประพฤติตนเป็นผู้เอาเปรียบผู้อื่น เขาเอาเปรียบเรายังไม่สำคัญเท่ากับเราไปเอาเปรียบเขา เพราะหากเราประพฤติเช่นนั้น ย่อมเป็นเครื่องแสดงว่า ชีวิตของเราขาดแคลนและด้อยค่า

   ส่วนเรื่องของหัวหน้าที่ไม่มีความยุติธรรม เป็นเรื่องที่เขาประพฤติถูกตามความเห็นของเขา ผู้ถามปัญหาต้องเอาหัวหน้าเป็นครูสอนใจตัวเองว่า เราจะไม่ประพฤติแบบเขา หากเราได้ก้าวขึ้นเป็นหัวหน้าเหมือนเขา

   อนึ่ง หากผู้ถามปัญหาอยู่ในสถานะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ต้องประพฤติจริยธรรมของการเป็นลูกน้องที่ดี อาทิ มาทำงานก่อนเจ้านาย เลิกงานทีหลังเจ้านาย เอาแต่ของที่นาย ให้ มีความรับผิดชอบงาน เอาเฉพาะส่วนที่ดีของเจ้านายไปเผยแพร่ ความไม่ดีของเจ้านายต้องไม่เผยแพร่ เพราะจะเป็นการสร้างบาปให้กับตัวเองได้

   (๒) อธิษฐานตามที่เขียนบอกไป แต่ที่สำคัญคือต้องประพฤติเหตุให้ถูกตรง ความหลุดพ้นจากสังสารวัฏจึงจะเกิดขึ้นได้ เหตุถูกตรงคือ ต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนเข้าถึงมรรคผลแห่งการปฏิบัติได้เมื่อใด ความหลุดพ้นจากสังสารวัฏ จึงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้  
  

1251.
เรียนท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ดิฉันมีคำถามเรียนถามดังนี้ค่ะ

   1.ดิฉันมีคนรู้จักมาพูดให้ฟังเกี่ยวกับการรักษาศีลข้อ มุสาฯ ค่ะ ว่าหากเราพูดโกหก
เพื่อที่จะให้เขาสบายใจหรือพูดเพื่อให้ผู้อื่นไม่เดือดร้อน แต่ทั้งที่จริงเรารู้อยู่ว่าไม่
เป็นความจริงอันนี้ถือว่าเป็นบาปหรือไม่อย่างไรค่ะ

   2.หากเราเป็นสื่อกลางในการโกหกเพื่อสื่อสารระหว่างคน 2 คน ในการติดต่อประสานงาน แต่เรารู้สึกไม่สบายใจที่จะโกหกทั้งที่จริงรู้อยู่และคนที่เราสื่อสารด้วยไม่สบายใจ ข้อนี้ผิดศีลหรือเปล่าค่ะ

   3.หากผิดศีลดิฉันควรจะทำอย่างไรดีค่ะ หากดิฉันยังต้องเป็นสื่อกลางอยู่อย่างนี้

   4.ดิฉันชอบสวดมนต์และนั่งสมาธิ เวลาก่อนนอนค่ะ แต่ไม่ทุกวันอย่างนี้การปฏิบัติของดิฉัน จะเกิดผลหรือเปล่าค่ะ

  
   รบกวนอาจารย์ช่วยตอบให้กระจ่างด้วยค่ะ

คำตอบ
    (๑) ถือว่าเป็นบาปครับ ผู้ใดยังมีพฤติกรรมเป็นเช่นนี้ ผู้นั้นสามารถปฏิบัติธรรมได้ แต่เข้าไม่ถึงธรรมที่ปฏิบัติ

   (๒) ผู้สื่อสารพูดเท็จ แล้วไม่สบายใจ ถือว่าเป็นบาป และผู้รับการสื่อ ไม่สบายใจ ถือว่าเป็นบาปด้วยเช่นกัน

   (๓) หากประสงค์แก้ปัญหาการสื่อที่เป็นเท็จ ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือสื่อสารให้ถูกตรงตามความเป็นจริง

   (๔) การสวดมนต์ นั่งสมาธิ เป็นหนึ่งในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ และยังเป็นบุญใหญ่สุด เพราะสามารถพัฒนาจิตให้เข้าถึงความทรงฌานได้ หากตายในขณะจิตทรงอยู่ในฌาน จะไปเกิดเป็นพรหมอยู่ในพรหมโลก วันใดที่สวดมนต์และนั่งสมาธิ วันนั้นบุญได้เกิดขึ้น วันใดมิได้สวดมนต์ มิได้นั่งสมาธิ วันนั้นบุญจากการประพฤติเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น
     

 

 

 

 

 

 

browser stats