1

 

 

 

                                                       
คำถาม-คำตอบ ข้อ 1151-1200

1200.
เรียนอาจารย์ดร.สนองที่เคารพ

กระผมต้องทำงานที่เข้ากะดึก และต้องเข้าพักที่หอพักของโรงงาน ซึ่งมีผู้เล่าขานว่ามีผีดุ
กระผมขอเรียนถามอาจารย์ถึงวิธีปฏิบัติตัว เพื่อให้เราและสัมภเวสีอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ
วิสิฐ (ศิษย์เดินตามครู)

คำตอบ
   
สัตว์ดุร้ายเป็นเรื่องของสัตว์ คนดุร้ายเป็นเรื่องของคน ผีดุร้ายเป็นเรื่องของผี ผู้ใดประพฤติตนให้เป็นคนมีบุญ (ดูบุญกิริยาวัตถุ ๑๐) เป็นคนมีเมตตา ไม่ประพฤติเบียดเบียน (ไม่ดุร้าย) กับผู้อื่น ตรงกันข้ามประพฤติตนเป็นผู้ให้สิ่งดีงามกับผู้อื่น คืออุทิศบุญให้กับผี (สัมภเวสี) ที่ยังจำเป็นต้องอยู่ร่วมกันที่หอพักของโรงงาน ก็จะอยู่ร่วมกันฉันท์เพื่อนที่ดีต่อกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกัน คบผีดุดีกว่าคบกับคนดุนะครับ ผู้ตอบปัญหาชอบประพฤติเช่นนี้
  

1199.
กราบเรียน อาจารย์ ดร.สนอง วร อุไร

หนูมีปัญหากับชีวิตเรื่องครอบครัวของสามี ทั้งตัวสามีเองและพ่อ แม่ของสามี จนอยากจะเลิกกับเขา แต่สงสารลูก ๆ ที่ต้องทนคิดถึง พ่อหรือแม่ที่เป็นฝ่ายต้องจากไปจึงพยายามทำใจเพื่อลูก ๆ หลาย ๆ ครั้งที่ทนไม่ได้ก็ต้องด่าเขาในใจ หรือ หงุดหงิดกับการกระทำของ พ่อ แม่สามี จึงอยากเรียนขอคำปรึกษาอาจารย์ว่า

1 เราต้องทนรับสภาพที่ต้องอดทนและให้อภัยกับการกระทำของ เขา 3 คน ตลอดชีวิตเลยใช่ ใหม๊ คะ

2 ถ้าเราเลิกกับเขา ก็เป็นบาปที่ทำให้ลูกต้องรับกรรมและเป็นบาปที่ทำให้สามี ต้องแยกกับลูกด้วยใช่ ไหม๊ คะ

3 อยากให้อาจารย์ช่วยให้คำแนะนำกับคนที่อยู่กับสามี หรือ ภรรยา แล้วไม่มีความสุข

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

คำตอบ
   
(๑) ผู้ถามปัญหามีความเห็นผิด จึงต้องรับเอาการกระทำของบุคคลทั้งสาม มาเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ขึ้นกับใจของตัวเอง หากเมื่อใดผู้ถามปัญหาพัฒนาจิตตนเอง ให้มีสติและมีปัญญาเห็นถูกตรงได้ จะสำนึกในบุญคุณของบุคคลทั้งสามว่า เขาเหล่านั้นเป็นครูสอนใจให้เราได้สร้างขันติบารมี สร้างเมตตาบารมี (ให้อภัยเป็นทาน) และสร้างปัญญาบารมีของเราให้มีกำลังมากขึ้น โดยไม่ต้องตระเวนไปหาครูที่อยู่ห่างไกลให้ต้องเสียเงิน เสียทอง เสียเวลาไปเปล่า ผู้ตอบปัญหามองว่า ผู้ถามปัญหาเป็นผู้มีโชคดี

  (๒) ใช่ครับ

  (๓) คนที่อยู่กับสามีหรือภรรยาแล้วไม่มีความสุข โปรดอ่านข้อ (๑) แล้วประพฤติที่แนะนำได้เมื่อใดแล้ว ปัญหาก็จะหมดไปและยังเป็นบุญใหญ่เกิดขึ้นกับตัวเองอีกด้วย .... แนะนำแล้วครับ
  

1198.
กราบเรียนท่านอาจารย์ ดร.สนองค่ะ

   ดิฉันปฏิบัติภาวนาอยู่ ประมาณ 1 ปีแล้วค่ะ จิตใจเปลี่ยนไปมาก ค่ะ

ดิฉันกราบเรียนถามท่านอาจารย์ 2ข้อค่ะ
    1. ดิฉันมักจะโกรธลูกอยู่บ่อยๆ เพราะเขาไม่ได้ดั่งใจเรา ขี้เกียจ และชอบโกหก เรื่องการบ้าน บอกว่าไม่มี ทั้งๆที่มี พูดสอนจนเหนื่อย พูดมากก็ร้องไห้โกรธแม่ และแม่ก็โกรธลูก จนอารมณ์เดือด รู้ทันความโกรธ แต่ความโกรธก็ไม่ดับ ก็เห็นไตรลักษ์ ว่าบังคับไม่ได้ รู้ทัน ว่าจิตเป็นอกุศล ไม่ทราบว่า จะแก้ไขอย่างไรได้บ้างค่ะ

    2. แม่สามี ดิฉัน เป็นเจ้ามือหวยเถื่อน แต่ท่านก็ชอบทำบุญทำทานอยู่เป็นประจำ จะบอกกล่าวให้เลิกก็ไม่ได้ เพราะท่านบอกว่าไม่บาปหรอก เขาก็อยากได้ของเรา ไม่ทราบว่าดิฉันพอจะช่วยท่านได้ด้วยวิธีไหนบ้างค่ะ อยากรบกวนท่านอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยค่ะ

กราบขอบพระคุณในความเมตตาของท่านอาจารย์มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

คำตอบ
   
(๑) แม้จะปฏิบัติธรรมนานเท่าใดก็ตาม แต่ยังพัฒนาจิตให้เข้าถึงธรรมไม่ได้ เป็นเพราะยังประพฤติศีลไม่ถูกตรง ยังเห็นไตรลักษณ์ไม่ถูกตรงตามความเป็นจริง ผู้ถามปัญหาประสงค์จะปรับปรุงแก้ไขตัวเอง สิ่งแรกที่ต้องทำให้ได้คือ ศีลต้องไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย และต้องนำศีลเช่นนี้ลงคุมให้ถึงใจ แล้วลงมือปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรม โดยมีความเพียรและสัจจะเป็นเครื่องสนับสนุน

(๒) แม่สามีบอกว่า เป็นเจ้ามือหวยเถื่อนไม่บาป เป็นการพูดถูกของท่านจึงประพฤติเช่นนั้น แต่ไม่ถูกตามธรรมของพระพุทธะ เพราะหวยเถื่อนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และเป็นอบายมุข นำความวิบัติมาสู่ชีวิต ผู้ถามปัญหาประสงค์จะช่วยท่าน ต้องพัฒนาตัวเองให้มีศีลมีธรรมคุ้มใจอยู่ทุกขณะตื่น เมื่อใดที่แม่สามีศรัทธาในความดีของลูกสะใภ้แล้วเอ่ยปากขอคำแนะนำ เมื่อนั้นผู้ถามปัญหาจึงจะมีโอกาสช่วยท่านได้
  

1197.
เรียนอาจารย์ ดร. สนอง

   หนูขออนุญาตเรียนปรึกษาอาจารย์ดังนี้ค่ะ

หนู และสามี มีอาชีพทำธุรกิจส่วนตัว แต่ขณะนี้จำเป็นต้องพยายามหาอาชีพการงานใหม่เพิ่มเติม เนื่องจากงานที่เข้ามาไม่สม่ำเสมอในแต่ละเดือน แต่ในแต่ละเดือนนั้น ก็มีรายจ่ายที่คงที่อยู่ (อย่างเช่นรายจ่ายเรื่องลูกน้อง, ค่าเช่าสถานที่ทำงาน) หนูเองได้พยายามทำมาหลายอย่าง แต่ไม่สำเร็จผล เพราะบางอย่างต้องอาศัยสายป่านที่ยาว และหนูไม่มีตรงนั้นค่ะ และก็ได้ไปอ่านเจอเรื่องการเพาะเลี้ยงไส้เดือนขาย สามี และหนูเกิดความสนใจ เพราะว่ามีผู้สอนให้เลย และมีตลาดรองรับ การลงทุนไม่สูงมาก หนูขออนุญาตสอบถามดังนี้นะคะ

1. หากหนูเพราะเลี้ยงไส้เดือนขาย เป็นอาชีพที่เป็นการสร้างบาปหรือไม่คะ เพราะผู้ซื้อบางคนก็ซื้อไปเป็นอาหารให้ปลาค่ะ แต่ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ของไส้เดือนที่มีต่อการเกษตร ก็มีมากเหลือเกินค่ะ

2. หากเป็นการทำบาป เป็นการทำบาปที่มากหรือไม่คะ (เพราะหนูคิดเอาเองว่า ไส้เดือนเป็นสัตว์ที่เล็กมาก ) หากจำเป็นต้องทำเพื่อต้องหาเลี้ยงชีพ เราสามารถทำความดีอื่น ๆ ชดเชยกันได้หรือไม่คะ

3. เป็นการกระทำที่คุ้มกันหรือไม่คะ ที่ต้องเบียดเบียนไส้เดือน เพื่อตนเอง ครอบครัว และผู้อื่น ที่เราต้องรับผิดชอบน่ะค่ะ

หนูขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆค่ะ

คำตอบ
   (๑) การเพาะเลี้ยงไส้เดือนขาย เพื่อใช้เป็นอาหารของสัตว์อื่น ถือว่าเป็นบาปด้วยเป็นเหตุให้ประพฤติทุศีลข้อ ๑ แต่หากเพาะเลี้ยงไส้เดือนขาย เพื่อใช้ปรับปรุงดินให้ร่วนซุย ไม่ถือว่าเป็นบาป

  (๒) ไส้เดือนแม้ว่าจะเป็นสัตว์เล็กมีคุณธรรมไม่มาก แต่หากมีการฆ่าเป็นจำนวนมากก็บาปได้เหมือนกัน ผู้ใดมีความจำเป็นต้องเลี้ยงไส้เดือนขายเป็นอาหารของสัตว์อื่น ต้องทำบุญอยู่เสมอ (ดูบุญกิริยาวัตถุ ๑๐) เพื่อให้บุญมีกำลังมากกว่าบาปที่ต้องทำ

  (๓) จะคุ้มค่าหรือไม่ ผู้ถามปัญหาต้องประเมินด้วยตัวเองว่า กำลังของบุญและกำลังของบาปที่ตนเองทำ อย่างไหนมีมากกว่ากัน
  

1196.
เรียน อ.ดร.สนอง

   ผมเริ่มฝึกวิปัสสนา ได้ราว 8-9 เดือนแล้วครับ โดยการดูจิต ยังไม่เคยกราบครูบาอาจารย์เพื่อขอกรรมฐาน เพียงแต่ใช้วิธีดาวน์โหลด ธรรมบรรยายของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช มาฟัง และปฏิบัติตามที่ท่านสอนเท่านั้น

ผมมีคำถามดังต่อไปนี้

1. ผมควรจะเสาะหาครูบาอาจารย์หรือไม่ครับ ผมคิดจะไปกราบขอกรรมฐานจากพระกรรมวาจาจารย์ องค์ที่ผมเคยไปบวช ขอคำแนะนำตรงนี้ด้วยครับ

2. ในการฝึกภาวนา จริตของผมควรฝึกสมาธิให้ได้ฌานหรือไม่ครับ เมื่อช่วงก่อนที่จะเริ่มดูจิต ผมเคยฝึกแบบสัมมาอรหังอยู่ราว 2 ปี รู้สึกจิตรวมลงเป็นสมาธิได้ดีกว่ารู้ลมหายใจ แต่เลิกไป เพราะเพ่งและกด จนมีอัตตาตัวใหญ่และกิเลสครอบอย่างไม่รู้ตัว พอเปลี่ยนเป็นรู้ลม ตลอดเวลา 8-9 เดือน มีอยู่เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น ที่จิตรวมเวลาที่นั่งสมาธิดูลมหายใจตามรูปแบบ ส่วนใหญ่มักจะเห็นจิตเผลอ เพ่ง หลงคิด สลับกับรู้ลม วนเวียนไปมาครับ ส่วนการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็ใช้วิธีตามรู้อาการเผลอคิดเอาครับ ผมมีความคิดอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองน่าจะทำฌานได้ และมีความเห็นว่าควรฝึกพื้นฐานตรงนี้ให้แน่นเสียก่อน

3. ผมมักจะมีปัญหาเวลามีโทสะ หงุดหงิดรำคาญใจ โดยเฉพาะกับภรรยา หลายๆ ครั้ง มักจะหลุดออกทางวาจา พูดไปแล้วก็เสียใจ ขอคำแนะนำตรงนี้ด้วยครับ ว่ามีวิธีฝึกสติอย่างไร

ขอกราบขอบพระคุณด้วยความเคารพ

คำตอบ
    (๑) ผู้ใดมีความมั่นใจว่า ตัวเองมีบุญบารมีสั่งสมมามากจากอดีตชาติ มีมากพอที่จะแก้ปัญหาให้ตัวเองได้ ก็ไม่จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ ส่วนคนที่สั่งสมบุญบารมีมาไม่มาก ต้องแสวงหาครูบาอาจารย์มาเป็นผู้ชี้นำการปฏิบัติธรรมให้

   (๒) พระอรหันต์ผู้เข้าฌานได้ เรียกว่า “ พระสมถยานิก ” พระอรหันต์ที่เข้าฌานไม่ได้ เรียกว่า “ พระสุกขวิปัสสก ” แต่พระอริยบุคคลทั้งสองประเภท มีจิตพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว

     ดังนั้นผู้ใดมีจิตชื่นชอบในการแสดงฤทธิ์ ชอบที่จะมีหูทิพย์ ชอบที่จะมีตาทิพย์ ฯลฯ ควรฝึกสมาธิให้ได้ฌานก่อน ส่วนผู้ใดมีจริตไม่สนใจในอภิญญาข้างต้น ไม่จำเป็นต้องฝึกสมาธิให้เข้าถึงความเป็นฌาน เพราะจะทำให้เสียเวลาในการพัฒนาจิตให้พ้นไปจากความทุกข์ทั้งปวง

   (๓) ต้องภาวนาคำว่า “ ช่างมันเถอะๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆ จนความขัดใจหมดไป หรือจะให้ดีกว่านี้คือ ฝึกจิตให้มีกำลังของสติและกำลังของปัญญาเห็นแจ้งให้เกิดขึ้น แล้วดับอัตตาให้ได้ ปัญหาความขัดใจก็จะไม่เกิดขึ้นอีก
     

1195.
เรียนอาจารย์ดร.สนอง วรอุไร ที่เคารพครับ

ผมเคยได้ถามอาจารย์มาครั้งหนึ่งแล้วครับ เกี่ยวกับการปฎิบัติสติปัฎฐาน 4 แล้วเกิดอาการ ปวดศรีษระ และ อาเจียน มีแต่ลม ผมขอรายงานความก้าวหน้า และขอถามเพิ่มเติมดังนี้ครับ

อาการปวดศรีษระตอนนี้ไม่ค่อยเป็นแล้วครับ แต่ถ้าเป็นขึ้นมาผมก็จะกำหนดไปที่อาการปวดที่ศรีษระ กำหนดไปซักพักจะไปเจอตำแหน่งที่ปวด อาการทรมารก็จะลดลง แต่อาการปวดก็ยังอยู่ แต่ก็อยู่ได้ คือปวด แต่ไม่ทรมานครับ แต่สำหรับอาการอาเจียรนี้ยังแก้ไม่หายครับ คือสมาธิเริ่มสูงเมื่อไร ก็จะเกิดการอาเจียนเป็นลมออกมา ผมกำหนดโดยดูจากลมที่เริ่มเกิดขึ้นที่ท้องจนออกมาที่ปากแต่กำหนดตามไม่ค่อยจะทันคับ และตัวจะโยกด้วยขณะที่อาเจียร เป็นผลให้สมาธิลด แล้วอาการอาเจียรนี้ก็เกิดเสียงดังมาก เกรงข้างบ้านจะตกใจเลยต้องหยุดทุกที และเมื่อหยุดปฏิบัติแล้วประมาณ 30 -60 นาที อาการอาเจียนจึงหายไป ผมจึงตั้งใจว่าจะหาห้องที่สามารถเก็บเสียงได้ แล้วนั่งกำหนดดูอาการอาเจียร จนมันหายนะครับ

คำถาม

1 ลักษณะ รูปแบบ การกำหนดที่ศรีษระแบบนี้ถูกหรือไม่ อย่างไรครับ

2 อยากทราบวิธีการและรูปแบบ การกำหนดอาการอาเจียร ครับ และที่ผมทำอยู่ถูกต้องหรือไม่ครับ และถ้าผมตั้งใจจะนั่งกำหนดจนอาการอาเจียรหาย ควรมิควรอย่างไรครับ

3. ส่วนข้อแนะนำของอาจารย์ทั้ง 3 ข้อ นั้นผมพยายามทำอยู่ครับ แต่จะบกพร่องบ้างบางวันที่ สติอ่อน เช่น เผลอโกรธ เผลอพูดเล่น เผลอในรูปที่สวย หรือพอใจหรือไม่พอใจในสิ่งที่มากระทบ อายะตะนะ ผมคิดว่าจะสามารถทำให้ได้ผลดีได้ 100 % จะต้องเจริญสติมาก ๆ บ่อยๆ เนืองๆ ไม่ทราบว่าผมมีความเห็นถูกผิดประการใดหรือไม่ และขอคำแนะนำของอาจารย์เพิ่มเติมด้วยคับ

กราบของพระคุณด้วยความเคารพครับ

คำตอบ
   (๑) อาการปวดที่ยังเหลืออยู่ ต้องกำจัดให้หมดไป ด้วยการบริกรรม “ ปวดหนอ ๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆ ไม่เลิกปวดไม่เลิกบริกรรม รักษาสัจจะนี้ไว้ให้ได้ แล้วดูสิว่า การบริกรรมจะชนะความเจ็บปวดได้จริงไหม

   (๒) อาการอาเจียรและเป็นลม ต้องประพฤติเช่นเดียวกับข้อ (๑) คือเมื่อมีอาการอาเจียรเกิดขึ้น ให้อาเจียรจนหมด แล้วกลับมากำหนด “ อาเจียรหนอๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆจนกว่าอาการอาเจียรจะไม่เกิดขึ้นอีก อาการลมขึ้นประพฤติเช่นเดียวกัน ..... สู้ไม่ถอย

   (๓) เผลอโกรธ เกิดจาก “ สติอ่อน ” เป็นเหตุทำให้เกิด คือ จิตรับกระทบสิ่งที่เป็นเหตุขัดใจไม่ทัน จึงรับเอาความขัดใจมาปรุงเป็นอารมณ์โกรธ ต้องแก้ไขด้วยการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และต้องรักษาความดีที่ทำได้แล้ว (สติ) ให้คงอยู่ เช่นเดียวก่อน จะพูดจาใดๆออกไปต้องมีสติคุมปาก จะดูสิ่งใดต้องมีสติคุมตา ดังนั้นความคิดที่บอกเล่าไป คิดได้ถูกทางแล้ว แต่ผู้ถามปัญหายังทำตามความคิดของตัวเองไม่ได้
  

1194.
กราบเรียน ท่านอ.ดร.สนอง วรอุไร ด้วยความเคารพอย่างสูง

ดิฉันขอเรียนถามปัญหากับท่านอาจารย์ดังนี้ค่ะ

1.ดิฉันรู้สึกว่าตนเองไม่ก้าวหน้าในการปฎิบัติธรรม ดิฉันเคยได้อ่านคำตอบที่ท่านอาจารย์ได้ตอบไว้ในกระทู้ว่า การปฎิบัติธรรมให้ใช้กรรมฐาน 40 และเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งที่ตรงกับจริตของตนเอง ดิฉันได้ปฎิบัติกรรมฐานตามคำสอนของครูบาอาจารย์ ซึ่งมีความรู้สึกว่าตนเองมีกำลังของจิตไม่แข็งพอที่จะทนต่อความเจ็บปวดได้ ดิฉันควรจะเลือกกรรมฐาน คือ การเจริญอาณาปานสติไปก่อนดีหรือไม่ ให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วจึงเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แล้วผิดหรือไม่ที่ดิฉันยังไม่สามารถปฎิบัติตามคำสอนของครูบาอาจารย์ได้ในตอนนี้ (อยากมีกำลังของจิตที่เข้มแข็งมากกว่านี้)

2.ดิฉันทุกข์ใจมากจากการกระทำของตนเอง คือ ล่วงเกินพระสงฆ์ ครูบาอาจารย์ ด้วยมโนกรรม (จินตนาการจนฟุ้งซ่าน) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ ขณะที่จิตว่างจากงานในหน้าที่ ดิฉันจะทำอย่างไรดีค่ะ

3.ดิฉันจะมีความรู้สึกว่าตัวเองมักจะมีความร้อนใจ (โทสะ) ซ่านอยู่ในอกบ่อยครั้ง อยากเรียนถามท่านอาจารย์ว่าเป็นเพราะอดีตจากกรรมเก่าหรือเป็นเพราะว่าดิฉันปล่อยวางไม่ได้สักทีค่ะ

ขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ

คำตอบ
    (๑) เมื่อใดกำลังของสติยังไม่กล้าแข็ง จนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิจวนแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ) ได้ การที่จะทนความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับรูปขันธ์ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ทั้งนี้เพราะกำลังของสติยังอ่อน ยังต้องส่งจิตออกไปรับเอาสิ่งกระทบภายนอกมาปรุงเป็นอารมณ์เจ็บปวดให้เกิดขึ้น ดังนั้นหากผู้ถามปัญหาประสงค์จะผ่านมารตัวนี้ให้ได้ต้อง

     ๑. มีศีล ๕ บริสุทธิ์คุมใจ

     ๒. เร่งความเพียร เจริญสติต่อเนื่องยาวนาน

     ๓. อธิษฐานยอมตายเพื่อธรรมะของพระพุทธองค์

     ๔.  รักษาสัจจะที่กล่าวข้างต้นให้ได้

   (๒) จะแก้ปัญหาเรื่องการล่วงเกินพระสงฆ์และครูบาอาจารย์ ต้องสวดมนต์สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย (อิติปิโส..... , สวากขาโต.... , สุปฏิปันโน.... ) ต่อหน้าพระพุทธรูป แล้วขอขมากรรมที่ตนเองเคยล่วงเกินไว้ และต้องมีสัจจะว่า จะไม่กระทำล่วงเกินใดๆให้เกิดขึ้นอีก

   (๓) เหตุที่ทำให้เกิดความร้อนใจ (โทสะ) คือความขัดใจ ทำได้ดังนี้

     ๑. ให้อภัยเป็นทานต่อทุกคน ทุกสิ่งที่เป็นต้นเหตุทำให้ขัดใจ เมื่ออารมณ์ขัดใจเกิดขึ้น ต้องกำหนด “ ช่างมันเถอะๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆ จนอารมณ์ขัดใจหายไป วิธีนี้คนทั่งไปสามารถทำได้

     ๒. ต้องดับที่ตัวต้นเหตุ คือ ดับอัตตา ด้วยการใช้ปัญญาเห็นแจ้ง พิจารณาขันธ์ ๕ ตามกฎไตรลักษณ์ วิธีนี้คนที่ปฏิบัติธรรมจึงจะสามารถดับได้
  

1193.
กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพอย่างสูงครับ
ผมมีคำถามดังนี้ครับ ยาวหน่อยนะครับ ขอความเมตตาจากอาจารย์ด้วยครับ ผมสงสัยมานานแล้วครับ
  1. เรื่องสังฆทาน ผมเคยศึกษาและรู้มาว่า การกินอาหารที่ถวายสังฆทานไปแล้ว และอาหารนั้นพระในหมู่สงฆ์ไม่อุปโลกน์ หรือสละอาหารนั่น เราฆราวาสจะเป็นเปรตเพราะไปกินของสงฆ์เข้า เหมือนเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิศาลแต่ รู้มาว่าเปรตญาติของพระเจ้าพิมพิศาล กินอาหารก่อนถวายสงฆ์ ผมเลยสงสัยมานานเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะจะได้ไม่ไปกินของสงฆ์เข้า ขอยกตัวอย่างที่ผมปฏิบัติอยู่ดังนี้


     1.1 เวลาผมไปปฏิบัติธรรมบางที่ ที่มีการใส่บาตรเป็นแบบสังฆทาน รูปแบบคือเจ้าภาพจะถวายพระโดยมีอาหารวางเรียงที่โต๊ะยาว แล้วยกถวายพระที่เดินเข้ามารับประเคน โดยยกทีละถาดและวางลง และพระท่านก็ตักอาหารที่ภาชนะเอง โดยรูปต่อๆไปก็มาตักอาหารเอง สุดท้ายพระทุกรูปก็เดินไปฉันอาหารที่กุฏของท่าน เราฆราวาสก็มารัปประทานอาหารกัน แต่ ผมสังเกตไม่มีพระองค์ใดอุปโลกน์ หรือบอกสละเลย เราจะเป็นเปรตหรือไม่ครับ

หากเป็น จะแก้อย่างไร เพราะเราไปปฏิบัติธรรม 2-3 วันที่นั่นต้องกินเพื่อเลี้ยงชีพทุกวัน ไม่สามารถไปหากินที่อื่นได้ครับ
     1.2 และอีกที่นึงเวลาเราประเคนถวายพระที่นั่งรัปประเคนอยู่ อาหารที่ท่านตักแล้ว และเหลือ คนก็จะเอาไปรวมๆกันที่โต๊ะ เราไปกินเราจะมีส่วนเป็นเปรตหรือไม่ครับ

( แต่ผมเคยถามหลวงตาท่าน พระท่านบอกว่าเจตนาท่าน สละแล้ว แต่ผมสังเกตุไม่เห็นท่านกล่าวออกมาเป็นวาจาเลยครับ เลยไม่แน่ใจ )

2. การกินน้ำปานะ ในวันที่ถือศีล 8 ผมเคยศึกษาว่าต้องเป็นน้ำผลไม้ หรือน้ำอัฐบาลที่ผลไม่ใหญ่กว่าผลมะตูม ( ผลเล็กกว่ากำมือเรา ) ที่คั้นแล้วกรองแล้ว ไม่มีกาก แต่ที่สำคัญในพระไตรปิฏกบอก ว่า ต้องไม่สุกด้วยไฟ แต่สุกด้วยพระอาทิตย์ควร

ข้อความอยู่ใน พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๒ - หน้าที่ 152
ผมเคยยกข้อนี้ไปถามท่านที่อ่านพระไตรปิฏกมากว่าผม ท่านบอกว่า อย่าสรุปว่าเล่มนี้ถูก
หากยังอ่านไม่จบทั้ง 91 เล่ม ผมสงสัยว่าข้อสรุปเป็นเช่นไร ผมเห็นเกือบทุกวัดมีการถวายน้ำปานะจำพวก
น้ำเก๊กฮวย มะตูม โอเลี้ยง เป๊บซี่ จั๊บเลี้ยง หากดูแล้วล้วนสุกด้วยไฟทั้งสิ้น

    • ในความคิดผม การที่มีการต้มก็น่าจะเป็นจำพวกอาหาร
    • พระพุทธองค์ อนุญาตให้ฉันน้ำปานะเพื่อประทังความหิว หลังเที่ยงได้ ผมคิดว่าก็ไม่น่าจะอนุญาติซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 ในเล่มอื่นนอกเหนือนี้ก็ไม่น่าจะอนุญาตอีก

ขอคำอธิบายชี้แนะจากอาจารย์เพื่อความกระจ่างแก่ผมด้วยครับ

# ผมนำซีดีเรื่องทางสายเอกไปเปิดให้คุณพ่อคุณแม่ฟัง เป็นปลื้มมากครับ ท่านบอกว่าตั้งแต่ฟังซีดีอื่นๆมาจนถึงเรื่องนี้ ท่านเข้าใจมากครับ และขอฟังซีดีของอาจารย์สนองในแผ่นอื่นๆด้วยครับ

ก่อนหน้าผมนำธรรมะจากที่อื่นท่านก็ไม่ค่อยสนใจครับ ขอบคุณอาจารย์มากเลยครับ ที่เนื้อหาในซีดีทำให้พ่อแม่ผมเริ่มสนใจศึกษาธรรมะครับ

ขอขอบคุณอาจารย์ และขออำนาจคุณพระรัตนตรัยให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรง เพื่อตอบปัญหาธรรมต่อไปเรื่อยๆครับ

คำตอบ
   ๑.๑ ปรกติก่อนที่พระสงฆ์จะรับประทานอาหารจากฆราวาส สงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งในอาวาสนั้น จะได้รับการอุปโลกน์ให้เป็นภัตตุทเทสกะ สงฆ์ผู้ทำหน้าที่นี้จะบอกการแจกภัต (อาหาร) เป็นลำดับนับแต่พระมหาเถระ จนถึงฆราวาสผู้รักษาศีล ๕ เมื่อสงฆ์ผู้แจกภัตได้กล่าววาจาเช่นนี้แล้ว ฆราวาสประพฤติได้ถูกตรงตามลำดับการแจกภัต สามารถนำอาหารไปบริโภคได้ โดยไม่มีอานิสงส์บาปให้ต้องไปเกิดเป็นเปรต 

   ข้อ ๑.๒ หากพระสงฆ์อนุญาตแล้ว ฆราวาสสามารถนำอาหารที่เหลือจากพระมารับประทานได้โดยไม่มีโทษ

  ข้อ ๒ เรื่องน้ำปานะที่อ้างว่าเขียนไว้ในพระไตรปิฏก ซึ่งสังคายนาแล้วที่พระพุทธะนิพพานไปแล้ว แต่ในครั้งพุทธกาล หลังจากออกพรรษาที่ ๕ แล้ว พระพุทธะอนุญาตให้สงฆ์ดื่มน้ำอัฎฐบานได้ (น้ำมะม่วง น้ำลูกหว้าหรือชมพู่ น้ำกล้วยมีเมล็ด น้ำกล้วยไม่มีเมล็ด น้ำผลมะทราง น้ำผลจันทร์หรือองุ่น น้ำเหง้าบัว น้ำมะปรางหรือลิ้นจี่) ต่อมาพระพุทธะได้อนุญาตเพิ่มเติม คือน้ำผลไม้ทุกชนิด (เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก) น้ำใบไม้ทุกชนิด (เว้นน้ำผักดอง) น้ำดอกไม้ทุกชนิด (เว้นน้ำดอกมะทราง) และน้ำอ้อยสด
อนึ่ง คำว่า น้ำผลไม้ทุกชนิด (เว้นน้ำต้มเมล็ดข้าวเปลือก) ถ้าวิเคราะห์ตามพุทธวจนะแล้ว คงไม่มีใครต้มน้ำผลไม้ด้วยแสงอาทิตย์หรอกครับ

                            ผู้ถามปัญหาคิดเอาเองว่า พระพุทธองค์ ไม่น่าจะอนุญาตซ้ำเป็นครั้งที่สอง แต่ในครั้งที่พระพุทธะยังมีชีวิต นอกจากบัญญัติน้ำอัฏฐบานเป็นครั้งแรกแล้ว พระพุทธะยังได้อนุญาตเพิ่มเติมในภายหลัง ให้ภิกษุฉันน้ำปานะที่ทำด้วย น้ำผลไม้ น้ำใบไม้ น้ำดอกไม้ และน้ำอ้อยสด ดังที่กล่าวข้างต้นอีกด้วย
  

1192.
กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพอย่างสูงครับ

คุณแม่ของผมอายุ 56 ปี ท่านเป็นครูและป่วยเป็นโรครูมาตอยมา 20 กว่าปี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ท่านสวดมนต์ นั่งสมาธิทุกวัน ยิ่งหลังจากที่เกษียณก่อนกำหนดออกมาท่านก็สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็น เดินจงกรม นั่งสมาธิมากขึ้น (ท่านเคยไปฝึกที่วัดอัมพวัน สิงห์บุรี)
เมื่อ 3-4 ปีก่อนคุณแม่มีอาการดีขึ้นมาก แต่เมื่อย้ายโรงเรียนอาการกลับทรุดลงมาก บางครั้งเดินได้ลำบาก มีอาการข้อเท้า ข้อศอกและเข่าบวม มือผิดรูป และปวดบริเวณต้นคอมาก บางวันคุณแม่จะรู้สึกเพลีย อยากนอนทั้งวัน ระหว่างที่คุณแม่นอน จะรู้สึกเหมือนมองตัวเอง ท่านจะรู้ตลอดว่าท่านนอนกรนหรือไม่

ผมอยากจะเรียนถามอาจารย์ ดังนี้ครับ

1. ขณะที่คุณแม่นอนแล้วรู้สึกเหมือนมองตัวเอง และรู้ว่าตนกรนหรือไม่นั้น เป็นเพราะเหตุใด เป็นเรื่องปกติหรือไม่ หรือควรทำอย่างไรต่อไป

2. คนรู้จักบางคนที่ห่วงใยกัน แนะนำเรื่องไสยศาสตร์และเจ้าที่ เพราะพื้นที่ที่ย้ายไปอยู่เป็นพื้นที่ของคนเขมร ซึ่งได้ความว่าเป็นเพราะเจ้าที่บ้าง หรือการทำคุณไสย์บ้าง แต่สงสัยว่าถ้าเกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้จริง การที่ท่านสวดมนต์ ปฏิบัติสมาธิภาวนาไม่สามารถเป็นเกราะ คุ้มกันภัยอันตรายต่างๆได้เลยหรือครับ หรือเป็นเรื่องของกรรม เท่าที่ผมเห็นมาตั้งแต่เด็ก คือ การที่ท่านตั้งใจสอนหนังสือ สอนให้ฟรีนอกเวลา ออกเยี่ยมบ้านนักเรียน หาทุนทรัพย์ให้เล่าเรียน ตลอดมา ไม่ทราบว่าจะมีวิธีไหนที่จะทำให้อาการเจ็บป่วยของท่านทุเลาขึ้นบ้างหรือไม่ครับ จะได้มีกำลังใจปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่อการหลุดพ้นต่อไป

3. หลังจากที่ได้ศึกษาธรรมะ ผมเคยคุยกับคุณแม่ว่า อยากให้ท่านตัดสินใจต่างๆด้วยความหนักแน่น ไม่คิดมาก ปล่อยวางและทำใจให้สบาย ด้วยหวังว่าผลของการกระทำเหล่านั้น จะทำให้คุณแม่ได้เกิดมาเป็นผู้ชาย จะได้มีโอกาสศึกษาธรรมะอย่างเต็มที่ ถึงแม้ผมจะไม่ได้มีโอกาสเกิดเป็นลูกของท่านอีกก็ตาม การที่ผมพูดกับคุณแม่เช่นนั้น ผมทำถูก ควรพูดหรือไม่ ผมไม่แน่ใจว่าท่านจะเสียใจในการพูดของผมหรือไม่

อยากรบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายและแนะนำด้วยครับ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

คำตอบ
   (๑) ขณะนอนแล้วรู้สึกเหมือนมองตัวเอง เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า จิตเริ่มมีสติอยู่กับตัว ไม่ออกไปรับกระทบภายนอกมาปรุงอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องปรกติของคนที่มีจิตเริ่มตั้งมั่นเป็นสมาธิ สิ่งที่ควรทำต่อไปคือมองร่างกายตัวเองจนเห็นเด่นชัดว่า เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ต้องแก่ แล้วต้องตายทุกคน มองร่างกายจนเห็นว่า การที่ร่างกายเป็นเช่นนี้ด้วยเหตุประพฤติทุศีลข้อแรกมาก่อน เมื่อกรรมให้ผล เราผู้ประพฤติเบียดเบียนต้องยอมรับความจริง และยอมชดใช้หนี้เวรกรรมไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดสิ้น ผู้รู้ไม่เอาจิตไปกังวลอยู่กับร่างกายที่สักวันต้องทิ้งร่างกายไว้กับโลกใบนี้ แต่ผู้รู้เอาจิตไปประพฤติบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ โดยเน้นข้อภาวนา ด้วยการสวดมนต์ก่อนนอน หลังสวดมนต์จบ เจริญอานาปานสติ ด้วยการบริกรรมคำว่า “พุทโธๆๆๆๆ” ไปเรื่อยๆเท่าที่มีเวลา แต่ต้องกระทำทุกวัน จนเกิดเป็นทรัพย์ภายในเก็บสั่งสมอยู่ในจิต เพื่อใช้เป็นปัจจัยเดินทางชีวิตต่อในปรโลก

   (๒) ผู้ใดมีศีล ๕ และมีสติคุมใจอยู่ทุกขณะตื่น สิ่งกระทบอันเป็นอกุศลใดๆ ไม่สามารถเข้ามากวนใจให้ขุ่นมัวเกิดเป็นกิเลสได้ กุศลกรรมที่คุณแม่ได้ประพฤติแล้วตามที่บอกเล่าไป ไม่สามารถลบล้างผลของบาป ที่คุณแม่เคยประพฤติทุศีลข้อแรกมาก่อน และไม่มีผู้รู้ใดบอกได้อย่างถูกตรงว่า การเจ็บป่วยจะหายหรือทุเลาลงเมื่อใด แต่ผู้รู้บอกว่าต้องประพฤติบุญใหญ่ (จิตตภาวนา) อยู่เสมอ แล้วอุทิศบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวรทุกครั้งที่การปฏิบัติธรรมแล้วเสร็จในแต่ละวัน

   (๓) การกระทำของผู้เป็นลูกตามที่บอกเล่าไป เป็นการกระทำที่ถูกในทางโลก แต่หากเมื่อใดคุณแม่ศรัทธาในตัวลูก และขอร้องให้ลูกแนะนำแม่ประพฤติไปในแนวทางที่ถูก เมื่อนั้นลูกควรจะพูดแนะนำได้ การกระทำเช่นนี้เป็นความถูกต้องในทางธรรม
    

1191.
กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพอย่างสูงครับ

ผมได้มีโอกาสฟังซีดีของอาจารย์เช่น แด่เธอผู้มาใหม่ , อานุภาพของจิต , บทสัมภาษน์ในรายการทไวไลท์โชว์ , บรรยายธรรม MP3 ฯลฯ และหนังสือทางสายเอก , มาดสดใสด้วยใจเกินร้อย และอื่นๆที่ผมซื้อมาจากงานวันวิสาขบูชา เป็นเนื้อหาที่ดีมากๆทุกเล่มเลยครับ อยากให้ผู้ศึกษาธรรมที่เพิ่งเริ่มต้นหรือศึกษามาแล้วลองอ่านและฟังดูครับ

และเห็นว่าอาจารย์จะมาบรรยาย วันอาทิตย์ที่ 10 พ.ค. 52 นี้ที่โคราช ผมเลยถือโอกาสจะพาครอบครัวไปฟังธรรมจากท่านอาจารย์ด้วยครับ
ส่วนตัวผมก็เริ่มศึกษาธรรมะจริงจังช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในหลาย web
และจากพระไตรปิฏกฉบับมหามงกุฏ เพิ่งมาเจอ web นี้ด้วยความบังเอิญจากการฟังซีดีครับ

ตอนนี้ก็มีคำถามถามอาจารย์ดังนี้ครับ
1. หากผมอยากบวชแต่ไม่ใช่ตอนนี้ครับ คิดว่าอีก 15 ปีข้างหน้า ( ตอนอายุ 50 ปี ) แต่ผมมีภาระทางครอบครัวคือมีพ่อแม่ , ภรรยาและลูกชายอีก 2 ( ตอนนั้นลูกจะอายุ 18 และ 16)

ตอนนี้เริ่มคุยกับภรรยาแล้ว แต่ภรรยาท่าทางไม่อยากให้บวชเพราะอยากมีเพื่อนตอนแก่
หากออกบวชตอนนั้นจะบาปหรือไม่ครับ ?

2. ขอคำแนะนำอาจารย์ในการฝึกกรรมฐานที่ถูกต้อง ดังเช่นที่อาจารย์ฝึกแล้วสำเร็จ พิสูจน์ความจริงในภพภูมิได้ครับ ผมเองก็อยากพิสูจน์เช่นกันครับ จะได้หายสงสัย และตัดในส่วนวิจิกิจฉาไปเลยตลอดชีวิตครับ
# ผมฝึกมาหลายสำนัก แต่ไม่เป็นผลครับ อาจจะไม่ตรงกับจริต ทราบมาว่ากรรมฐานมี 40 กอง แบ่งเป็น 4 หมวด สุกขวิปัสโก วิชชา 3 ฉฬภิญโญ และปฏิสัมภิทา 4

ที่ผมเคยฝึกมา คือ มโนมยิทธิสายหลวงพ่อฤาษี , รูปฌาน 4 สายหลวงพ่อสรวง มีการกำหนดท่าในฌาน 2 ต้องสั่นๆๆๆ , สัมมาอรหัง สายหลวงพ่อสด กำหนดดวงแก้วใส

ผมคิดว่าดีทุกที่ครับ แต่ต้องการให้อาจารย์แนะนำที่อาจารย์ปฏิบัติ หรือหนังสือที่แนะนำการปฏิบัติเป็นขั้นตอนและข้อห้ามต่างๆในการปฏิบัติ หรือเคล็ดลับครับ

สุดท้ายขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงและได้ตอบปัญหาธรรมไปนานๆครับ
ขอขอบพระคุณอย่างสูงมา ณ . ที่นี้ครับ

คำตอบ
   (๑) เวลาใดที่จิตตกเป็นทาสของกิเลส (โลภ โกรธ หลง ดีใจ เสียใจ เป็นสุข เป็นทุกข์ ฯลฯ ) เวลานั้นมีบาปเกิดขึ้น

   (๒) ผู้ใดนำเอาวิธีปฏิบัติสมถกรรมฐานของครูบาอาจารย์ท่านใด มาพัฒนาจิตแล้วทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ วิธีการนั้นถูกต้อง และผู้ใดนำเอาวิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานของครูบาอาจารย์ท่านใด มาพัฒนาจิตแล้วทำให้จิตเกิดปัญญาเห็นแจ้งได้ วิธีการนั้นถูกต้อง

   ผู้ถามปัญหามีประสบการณ์การฝึกจิตมาหลายวิธี วิธีการใดเมื่อนำมาใช้ฝึกจิตแล้ว ผลที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามที่กล่าวข้างต้น วิธีนั้นเป็นครูสอนใจว่า ต้องไม่นำมาใช้พัฒนาจิต ส่วนวิธีการใด เมื่อนำมาใช้ฝึกจิตแล้ว ผลที่เกิดขึ้นถูกตรงตามที่กล่าวข้างต้น วิธีนั้นเป็นครูสอนใจว่า สามารถนำมาใช้พัฒนาจิตได้

  หลวงพ่อธี พระสงฆ์ชาวไทยใหญ่ ได้ศึกษาวิธีการพัฒนาจิตมาอย่างโชกโชน หลากหลายวิธี ในที่สุดสามารถเข้าถึงความเป็นอนัตตาของสรรพสิ่งได้ เมื่อมีอายุได้ ๗๕ พรรษา (ปัจจุบันอายุ ๘๖ พรรษา)

ผู้ถามปัญหา ขอคำแนะนำในการพัฒนาจิตของผู้ตอบปัญหาว่า ปฏิบัติธรรมอย่างไร จึงได้ผลก้าวหน้ารวดเร็ว ขอตอบเป็นข้อๆดังนี้

  1. ไม่ดู ไม่อ่าน ไม่ฟัง ไม่พูด (เว้นสอบอารมณ์) ไม่คิดเรื่องใดๆที่ทำให้จิตฟุ้งซ่าน
  2. มีศีลบริสุทธิ์ (ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย) คุมใจทุกขณะตื่น
  3. ทำตัวให้เหมือนแก้วน้ำที่ว่างเปล่า รับเอาคำชี้แนะของครูบาอาจารย์มาประพฤติจนเกิดผล ปฏิบัติธรรมวันละประมาณ ๒๐ ชั่วโมงต่อเนื่อง ๓๐ วันมิได้เว้น
  4. สอบอารมณ์ทุกวัน เวลาประมาณ ๒๐ นาฬิกา และอุทิศบุญให้เจ้ากรรมนายเวรทุกวัน หลังปฏิบัติธรรมแล้วเสร็จ
      

1190.
กราบเรียน ท่านอาจารย์ที่เคารพ

อาจารย์เคยกล่าวในหนังสือว่า ความสุขของคนเรามี 3 แบบ คือ
1. สุขจากการสัมผัสทางรูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพผะ ธรรมารมณ์
2. สุขจากจิตสงบด้วยอำนาจของสมาธิ
3. สุขจากจิตที่เป็นอิสระจากสิ่งทั้งปวง

การตามดูจิตโดยไมีมีคำกำหนดว่า โกรธหนอ เสียใจหนอ ...... จนเห็นทุกสิ่งเป็นของชั่วคราว มีปัญญารู้เท่าทันความคิด แล้ววางเฉย ไม่ปล่อยให้ความคิดปรุงจนเกิดความทุกข์ขึ้นในใจ มีความสุขในชีวิต ณ ปัจจุบัน
จัดได้ว่าเป็นความสุขประเภทใดใน 3 เแบบที่กล่าวข้างต้น

ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่กรุณาชี้ทางสว่างให้คะ่

คำตอบ
    เรียกว่าเป็นความสุขจากจิตที่เป็นอิสระจากสิ่งที่เข้ากระทบจิต เพราะมีปัญญาเห็นแจ้งในทุกสิ่ง (สรรพสิ่ง) ว่าเป็นของชั่วคราว แท้จริงแล้วสรรพสิ่งเป็นอนัตตา หาได้มีตัวตนไม่ จิตจึงปล่อยวางสรรพสิ่งแล้วว่างเป็นอุเบกขา ความสุขจากการมีจิตเป็นอิสระจึงได้เกิดขึ้น หากเมื่อใดผู้ถามปัญหา เห็นโลกธรรม วัตถุ กิเลส ตัณหา อุปาทาน และสังโยชน์ทั้งสิบเป็นของว่างเปล่า เป็นของไม่มีตัวตน (อนัตตา) ได้ ..... สาธุ
    

1189.
กราบเรียน อาจารย์ สนอง ที่เคารพ

ที่บ้านผมมีสุราชั้นดีอยู่หลายขวด จะกำจัดทิ้งอย่างไรถึงไม่ทำบาปกับผู้อื่น ถ้านำไปขาย หรือ ให้คนอื่นไป ก็เท่ากับเป็นการส่งเสริมให้ผู้อื่นผิดศีล ข้อ 5 บาปผิดศีลข้อ 5 นี้จะตกอยู่กับตัวเราด้วยหรือไม่ ถ้าหากนำไปขายแล้วนำเงินไปทำบุญ บุญนั้นก็จะไม่สำเร็จเพราะเป็นเงินบาปหรือไม่ครับ

วิธีที่ถูกต้องที่สุดควรจะเป็นอย่างไรครับ ขอขอบพระคุณอย่างสูง

คำตอบ
    สุราชั้นดีที่กล่าวถึง มีใครเป็นเจ้าของ หากผู้ถามปัญหาเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว จะนำไปทำอะไรก็สามารถทำได้ แต่หากสุราชั้นดีมีผู้อื่นเป็นเจ้าของร่วม ต้องได้รับฉันทานุมัติจากเจ้าของร่วมก่อน จึงจะนำไปทำให้สิ่งที่ตนเองต้องการได้

   อนึ่งการนำสุราไปขาย ได้เงินมาถือว่าเป็นเงินที่ไม่บริสุทธิ์ เมื่อนำเงินที่ไม่บริสุทธิ์ไปทำให้เกิดบุญ (ดูบุญกิริยาวัตถุ ๑๐) บุญที่เกิดขึ้นย่อมไม่บริสุทธิ์ตามไปด้วย
  

1188.
เรียน ดร.สนอง ที่เคารพ

ผมมีเรื่องอยู่ว่า ผมอยากจะบวช และได้คุยกับญาติพี่น้องทุกคนแล้ว ซึงทุกคนก็ยินดี แต่ติดปัญหาที่พ่อผม ท่านคนเดียว ที่ยังไม่อยากให้ผมบวช ท่านอยากให้ผมทำงานไปก่อนปีนี้ แล้วปีหน้า ค่อยบวช แต่ตัวผมอยากบวชปีนี้ เพราะเหตุผลที่ว่าช่วงนี้ผมสะดวกที่สุด และใจก็อยากบวชด้วย

ไม่ทราบว่าถ้าผมฝืนบวช จะมีปัญหาอะไรไหมครับ

ที่ผมตั้งใจไว้คือวันที่ 10 พค. 52 นี้ ช่วงนี้ก็ตึงๆ กับพ่อมาก ผมไม่สบายใจด้วย ไม่รู้ว่าถ้าบวชไปท่านจะคิดและรู้สึกยังไง ผมอยากบวชให้พ่อกับแม่มากๆ ครับ

ด้วยความนับถือครับ

คำตอบ
    กาลเวลาหมุนผ่านจากวันเป็นเดือน จากเดือนเป็นปี เป็นหลายปี ทำไมไม่รอให้ถึงปีหน้าค่อยบวชตามที่พ่อต้องการ หากผู้ถามปัญหาฝืนบวช โดยไม่ฟังคำทักท้วงจากบุพการี (พ่อ) ผู้มีอุปการะแก่ตนมาก่อน จะให้ผลเป็นความอกตัญญู มีพลังเป็นบาป ให้ผลบั่นทอนพลังบุญที่เกิดขึ้นจากการบวชได้
    

1187.
กราบเรียน ดร.สนอง วรอุไร ที่เคารพ

   ผมมีเรื่องไม่สบายใจครับ อยากให้อาจารย์ ช่วยให้คำแนะนำหน่อยครับ
ผม อายุ 15 ปี เป็นเด็กต่างจังหวัด ขึ้นมาเรียนที่กรุงเทพครับ ผมเกิดอาการบังคับความคิดตนเองไม่ได้ครับ เช่น ไม่อยากจะคิดแต่กลับคิดขึ้นมา ประมาณนี้อะครับโดยมีอาการแบบนี้มาช่วงนึงแล้วครับ ผมก็ปรึกษาเพื่อน เพื่อนก็บอกผมว่า เกิดจากความเครียดรึเปล่า ผมก็ว่าน่าจะเป็นไปได้เพราะตอนนี้ผมเรียนอย่างเดียวเลย โดยผมมีอาการแปลกๆแบบนี้ครับ คือว่า ทุกๆวันผมจะต้องเดินผ่าน คล้ายๆกับเป็นศาลพระภูมิอะครับ ทุกๆวันผมก็จะเดินผ่าน แล้วยกมือไหว้อธิษฐานเป็นประจำครับ

   แต่มีวันนึงผมไม่ทราบว่าเป็นอะไร อยู่ดีๆความคิดที่ผมไม่อยากคิดก็ขึ้นมากจากสมอง คือ มีอันเป็นไป ตอนนั้นผมตกใจมาก ว่าทำไมตนเองถึงนึกไปแบบนี้ ผมเดินเลยมาแล้ว จึงตัดสินใจเดินย้อนกลับไปที่นั่นใหม่ พร้อมอธิษฐานว่า ผมขอโทษผมไม่ได้ตั้งแต่ที่จะคิด ขอให้ความคิดที่ลูกไม่ได้ตั้งใจจะนึกไม่เป็นความจริง ตอนนี้ผมสั่นมาก เลยเดินต่อมาถึงที่หอ รีบอาบน้ำแล้วก็ไหว้พระตามปกติที่ผมไหว้ทุกวัน โดยผมก็ไหว้ บทบูชาพระรัตนตรัย สวดอิติปิโส แผ่เมตตา แผ่ส่วนกุศล แล้วก็อธิฐาน แล้วท่องคาถาชินบัญชรต่อ โดยเวลาที่ผมอธิษฐาน ผมก็จะนึกไปว่า ถ้าลูกคิดอะไรที่ไม่ได้ไป หรือพูดอะไรที่ไม่ไดีไป ลูกก็ขออภัยไว้ด้วยขอให้ท่านจงอโหสิกรรมให้ผมด้วยผม ผมอยากทราบว่า ผมทำถูกแล้วใช่ไหมครับ โดยผมทำแบบนี้มาเป็นเวลาช่วงนึงแล้ว ตั้งแต่ยังไม่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นแต่คำอธิษฐานประโยคนี้ก็เพิ่มขึ้นมา ตั้งแต่เกิดอาการแบบนี้ขึ้น ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เวลาผมเดินผ่านที่ตรงนั้นผมก็ไม่ค่อยที่จะกล้าอธิษฐานสักเท่าไหร่ ได้แต่รีบเดินไปอย่างเดียว เพราะกลัวว่าจะนึกอะไรที่ไม่ดีไปอีก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมก็บังคับจิตใจของตนเองไม่ค่อยได้ โดยคิดไปต่างๆนาๆ ผมกลัวบาปมาก

   มีวันนึงผมได้เข้าไปในร้านหนังสือ ก็เลยไปที่มุมธรรมมะ ผมก็เจอหนังสือของอาจารย์ เรื่อง ทางสายเอก ผมยืนอ่าน แล้วจึงตัดสินใจซื้อมาอ่าน ผมก็ได้ความรู้มากมายจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมสังเกตตัวเอง ความคิดฟุ้งซ่านมันก็เริ่มที่จะจางๆไปบ้าง แต่ก็ยังมีอยู่ จนอ่านจบเล่มนี้ เลยไปซื้อเล่มที่สองมา คือ ยิ่งกว่าสุข เมื่อจิตเป็นอิสระ ผมว่าหนังสือพวกนี้ดีมาก ทำให้คนเรากลัวบาป แล้วตั้งใจที่จะสร้างบารมีต่อไป

   แต่ผมอยากจะให้อาจารย์แนะนำว่า ผมควรที่จะทำอย่างไรดี ให้กลับมาเหมือนเดิม ผมอยากมีชีวิตที่เหมือนเดิม คือไม่คิดอะไรมาก แต่แค่จุดๆนี้ทำให้ผมคิดมาก เลยไม่สบายใจสักเท่าไรจนมาถึงตอนนี้ ผมอยากจะถามอาจารย์อีกอย่างนึงครับ คือว่า เวลาเราอธิษฐานเวลาไหว้พระเสร็จอะครับ บางทีความคิดที่เราไม่อยากให้คิดก็เกิดขึ้น ผมไม่อยากให้เป็นแบบนี้เลย ถ้าคำอธิษฐานที่เราไม่ได้ตั้งใจที่อธิษฐานเกิดขึ้นมันจะเป็นอะไรไหมครับ ผมว่าอยากรู้ว่าสาเหตุตรงนี้ เป็นเพราะความเครียด หรือว่า ผมไปล่วงเกิดใครไว้รึเปล่าครับ ผมก็ไม่รู้ว่ามันเป็นเพราะอะไรกันแน่ครับ

อยากให้อาจารย์ช่วย อธิบายให้ฟังหน่อยครับ พร้อมกับแนะแนวทางแก้ไขด้วยครับขอบคุณมากครับ

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง

คำตอบ
    อายุ ๑๕ ปี ไม่สำคัญยิ่งไปกว่าบุญบารมีที่เคยทำไว้ให้ผล เริ่มนำพาชีวิตไปสู่ความดีงามในวันข้างหน้า จากคำถามพอที่จะประมวลได้เป็นสี่ข้อ

๑.  เมื่อเดินผ่านสถานที่ ที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่นศาลพระภูมิเจ้าที่ ผู้รู้นิยมอุทิศบุญให้กับเจ้าของศาลนั้น ด้วยการกล่าววาจาว่า “ ขอท่านจงเป็นสุข ” แทนการอธิษฐาน

๒.  การขออภัย เป็นคุณธรรมที่มีอยู่ในใจของผู้เจริญ และจงประพฤติขออภัยทุกครั้งที่คิดพูด ทำไม่ดีไว้กับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์ก็ตาม

๓.  ผู้ถามปัญหาประสงค์ให้ตัวเองมีความคิดดีเหมือนเดิม สามารถทำได้ด้วยการสวดมนต์ก่อนนอน แล้วตามด้วยการเจริญอานาปานสติ และสุดท้ายอุทิศบุญกุศล ให้เจ้ากรรมนายเวรทุกครั้งที่การปฏิบัติธรรมแล้วเสร็จ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงจะหมดไป และยังทำให้เรียนหนังสือเก่งอีกด้วย

๔.  เมื่อใดที่กรรมให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ผู้ทำกรรมต้องเป็นผู้รับและต้องชดใช้หนี้เวรกรรมจนกว่าจะหมดสิ้น ฉะนั้นพึงปฏิบัติตามคำแนะนำไปเรื่อยๆ แล้วปัญหาจะหมดไปได้แน่นอน
     

1186.
เรียนอาจารย์สนองที่นับถือ

   ดิฉันอ่าน “ ยิ่งกว่าสุขเมื่อจิตเป็นอิสระ ” จบ ก็ตัดสินใจยุติการสร้างอกุศลกรรมใหม่ เพราะเห็นอันตรายของการยึดมั่นถือมั่นอย่างเหนียวแน่น กลัวว่าถ้าจิตดวงสุดท้ายไปตรงกับเฟรมที่ทำอกุศล จะต้องไปอบายภูมิแน่นอน

   ดิฉันจมอยู่ในความทุกข์ทรมานใจมา 2 เดือนค่ะ กับการต้องคบผู้ชายคนนึงอย่างหลบๆซ่อนๆ (เพราะคบเขามา 6 เดือน โดยที่เขาปิดบังเรื่องที่มีแฟนแล้ว) เมื่อดิฉันรู้ความจริงจากแฟนของเขาจึงถอยออกมา แต่เขาขอคืนดีโดยที่ปิดบังแฟนเขาว่าคบกับดิฉันด้วย ดิฉันก็ยอมเพราะรัก(แต่จริงๆคือหลงค่ะ) แต่ก็อยู่อย่างทุกข์เหลือเกิน เพราะเราสามคนอยู่บริษัทเดียวกัน ดิฉันต้องเจอเขาทั้งคู่แทบทุกวัน ภายหลังดิฉันทราบว่าเขาอยู่ด้วยกันมา 4 ปีแล้ว ใจก็ยิ่งดิ้นรนหนัก (ดิฉันยังไม่ทะลุศีลข้อ 3 กับเขา) เพราะสังเกตว่าเขาเริ่มเข้าร.พ.บ่อยๆตั้งแต่เริ่มคบกับดิฉัน (เป็นทั้งโรคเกี่ยวกับสมอง กระดูก และอาจจะรวมไต หัวใจด้วย) คิดเองว่าเขาอาจมีการผิดศีลข้อ1ติดตัวมา แล้วไม่ได้ทำบุญเพิ่มขึ้น แ ละต้องมาผิดศีลข้อ 4 บ่อยๆ (กับแฟนเขาเรื่องดิฉัน) และอาจจะมีการผิดศีลข้อ 3 ในเดือนหน้า (เดือนหน้าเขานัดดิฉันไปต่างจังหวัดกัน 2 คน)

   ดิฉันอธิษฐานทุกครั้งที่สวดมนต์ไหว้พระว่าขอให้ตาสว่าง เลิกยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ยังหลงผิดอยู่ได้เร็วๆ แต่ก็ยังตัดใจไม่ได้เสียที คิดว่าคงตัดไม่ได้จนกว่าเขาจะแต่งงานไป 17-19 เมษา ดิฉันไปปฏิบัติธรรมที่วัดอัมพวัน แต่วันที่ออกจากวัด ดิฉันก็ตัดใจจากเขาไม่ได้ จนคืนวันที่ 19 ดิฉันอ่าน ยิ่งกว่าสุขฯจบ ก็ตัดสินใจบอกเลิกกับเขา จึงโทรไปบอกแฟนเขาว่าดิฉันจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับเขาอีก (สาเหตุที่โทรไปเพราะช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แฟนเขาโทรมาถามดิฉันหลายครั้งว่าเขายังติดต่อดิฉันหรือเปล่า แต่ดิฉันปฏิเสธไปทุกครั้ง ดิฉันไม่อยากติดค้างและไม่อยากให้แฟนเขาระแวงดิฉันอีก) และส่งจดหมายขอจบกับเขา (บอกว่าเปลี่ยนเบอร์โทรแล้วไม่ต้องติดต่อมาอีก) เขาก็ส่ง mail กลับเหมือนจะจบด้วยดี แต่พอเขารู้ว่าดิฉันบอกแฟนเขาเรื่องนี้ เขาก็ไม่พอใจจนถึงขนาดส่ง mail บอกว่า บุญต่างๆที่ดิฉันเคยให้เขาอนุโมทนา เขาคงรับไว้ไม่ได้ (ทั้งที่เขาก็อนุโมทนาไปแล้ว) มันทำให้ดิฉันปวดใจมาก รู้ซึ้งถึงความไม่เที่ยงจริงๆ

   ดิฉันจึงขอเรียนถามอาจารย์ว่า

1. มีวิธีใดบ้างคะที่จะลดโอกาสการผูกเวรทางวิญญาณกันทั้งสามคน เพราะเขาคงโกรธดิฉันมากที่ทำเหมือนหักหลังเขา แฟนเขาก็รู้สึกไม่ดีกับดิฉัน(จะได้ไม่ต้องเป็นเจ้ากรรมนายเวรกันต่อไปน่ะค่ะ) ทุกวันนี้ดิฉันได้แต่แผ่เมตตาให้เขาทั้งคู่ทุกครั้งที่นั่งสมาธิเสร็จ (แต่เพิ่งเริ่มปฏิบัติได้ไม่กี่วัน ยังไม่ตั้งมั่นค่ะ) ทำแบบนี้ต่อไปจะดีไหมคะ

2. ตอนนี้ดิฉันอายุย่าง 33 ปีแล้ว พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ (อายุ 66 ค่ะ) มีน้องสาว 1 คน (แต่ไม่สนิทกันมาก) มีเพื่อนสนิทที่คุยได้ทุกเรื่อง 2-3 คน อาจารย์ช่วยแนะนำการที่จะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปคนเดียว จนกว่าจะทิ้งร่างนี้ไป (เพราะวันนึงพ่อแม่ก็ต้องจากไป) อย่างไรดีคะ (ที่ผ่านมาดิฉันเคยมีแฟนอยู่ข้างๆตลอดตั้งแต่มหา ' ลัยน่ะค่ะ ไม่เคยอยู่คนเดียวเลย) เพราะดิฉันไม่อยากสร้างกรรมผูกพันกับใครให้เป็นทุกข์ หรือมีห่วงอีกแล้ว

3. ตอนนี้ใจดิฉันนึกถึงแต่เขาตลอดเวลา ดิฉันพยายามจะตามดูความรู้สึก (ที่เขาเรียกว่าดูจิต) แต่พอนึกถึงเขาทีไร ใจก็ไหลไปรวมกับความรู้สึกจนหลงไปทุกครั้ง กว่าจะมารู้อีกทีก็นาน ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ดูน่ะค่ะ จะแก้ไขอย่างไรดีคะ หรือวิธีเดียวคือต้องให้ถึงขั้นอุปจารสมาธิ แล้วใช้พิจารณาความไม่เที่ยงเอา (ตอนนี้ได้แต่คิดว่ามันไม่เที่ยง) ดิฉันกลัวว่าถ้าตายตอนนี้ดิฉันอาจต้องไปทุกข์คติน่ะค่ะ เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนอื่น แต่มันทำให้ดิฉันทรมานใจมากๆค่ะ จนต้องเขียนมารบกวนอาจารย์อีกครั้ง

ขอขอบคุณอาจารย์มากนะคะที่สละเวลาอ่านและตอบค่ะ จันทร์นภัส

คำตอบ
    (๑) เวรหมายถึงความพยาบาท การผูกเวรหมายถึงการผูกพยาบาท เช่นพระเทวฑัตผูกพยาบาทพระพุทธเจ้า มาหลายภพชาติ ตั้งแต่ครั้งที่ยังเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ทุกภพชาติที่คู่เวรได้โคจรมาพบกัน พระพุทธะได้ใช้ขันติและพรหมวิหารธรรม เป็นเครื่องคุ้มกันภัยให้กับตัว ในที่สุดผู้ไม่ผูกพยาบาทบรรลุอริยธรรมสูงสุดเป็นพระพุทธเจ้า ผู้ผูกพยาบาทนำพาชีวิตไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในภพนรก เมื่อรู้ดั่งนี้แล้ว ผู้ถามปัญหาหาจะนำพาชีวิตเป็นแบบใด เลือกได้ตามใจปรารถนา

   (๒) ผู้รู้กล่าวว่า “ มนุษย์สมบัติเป็นห่วงผูกเท้า สามี/ภรรยาเป็นห่วงผูกมือ บุตร/ธิดาเป็นห่วงผูกคอ ” ดังนั้นจะผูกตนเองหรือไม่ผูกต้องเลือกเอาเอง และผู้รู้ยังได้กล่าวอีกว่า “ ไม่มีที่พึ่งอื่นใด เทียบได้กับการพึ่งธรรมที่มีอยู่ในใจของตน ”

   (๓) ในบรรดากิเลสใหญ่สามตัว คือ ความโกรธ ความโลภ ความหลง กิเลสตัวแรกแก้ได้ง่ายที่สุด และกิเลสตัวสุดท้ายแก้ได้ยากที่สุด แม้จะยากเพียงใด อรหันตบุคคลก็แก้ได้แล้ว ด้วยการพัฒนาปัญญาเห็นแจ้งให้เกิดขึ้น แล้วนำไปกำจัดความหลง คืออวิชชา ให้หมดไปจากใจให้ได้

ในกรณีของผู้ถามปัญหา การพิจารณาอสุภะบ่อยๆ จนเห็นความเป็นอนัตตาได้แล้ว ความทุกข์ที่มีอยู่ในใจย่อมหมดไป และยิ่งได้เห็นสรรพสิ่งเป็นอนัตตาได้ ความทุกข์ทั้งปวงย่อมไม่มีกับผู้ที่เห็นแจ้งเช่นนั้น
  

1185.
กราบเรียนอ.สนอง วรอุไร ที่เคารพ

ผมได้มีโอกาสไปกราบสักการะ พระเขี้ยวแก้ว ที่เชียงแสน สำนักครูบาบุญชุ่ม ในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา และได้กราบนมัสการครูบาบุญชุ่ม ในวันเดียวกัน ที่ท่านออกจากถ้ำ ทึ่ลำปาง กอปรกับที่ได้ดู วีชีดี ที่อาจารย์บรรยายธรรม เมื่อวันที่ ๒๙ มีค. ๕๒ ที่อาจารย์ได้พูดถึง พระครูบารูปหนึ่ง ที่บำเพ็ญบารมีพระโพธิสัตว์ และท่านได้พยายามที่จะละพุทธภูมิถึง ๓ ครั้ง แต่ไม่สามารถละได้เนื่องจากได้ถูกรับรอง ว่าจะต้องไปตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล เป็นครูบาฯองค์เดียวกันหรือเปล่าครับ และได้รับข้อธรรมจากอาจารย์ ผ่านทางโทรศัพท์ของพระอาจารย์เอกชัย วัดใหม่ศรีร่มเย็น เรื่องสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนเป็นสมมติ เช่น ศาสนา ที่มนุษย์บัญญัติขึ้น โดยเราควรยึดหลักธรรม และความดี ผมมีคำถามที่จะรบกวนอาจารย์ดังนี้ครับ

   ๑.สำหรับผู้ปฏิบัติธรรม เราจะรู้ได้อย่างไรว่าได้อธิษฐานพุทธภูมิมาหรือไม่ และการปฏิบัติธรรมจะทราบได้อย่างไรว่าเมื่อไรจะต้องละพุทธภูมิ การปฎิบัติธรรมของ พระสงฆ์ที่ดำเนินแนวทางพระโพธิสัตว์ จะแตกต่าง หรือเหมือนกับโลกุตรธรรม ที่มุ่งเพื่อเข้าสู่อริยบุคคลในชาติปัจจุบันอย่างไร สามารถที่จะได้เป็นอริยบุคคล ๔ ประเภทได้หรือเปล่าครับ เราสามารถนำแนวทางการปฎิบัติธรรม วิธีการทำสมาธิ ของท่านมาปรับใช้ได้อย่างไร

   ๒.ขณะการนั่งสมาธิในสมัยที่ผมบวชเป็นพระ มีการสวดบทธัมมมจักฯ ได้เกิดการหมุนของร่างกายตั้งแต่ใต้คอลงไปเหมือนล้อหมุน ผมได้กำหนดดูเห็นร่างกายตัวเองเป็นกงล้อธรรมจักรสีขาวนวล ขนาดเท่ากับตัวเราเองหมุนรอบอยู่ จนกระทั่งบทสวดจบลง จึงได้หายไป อยากทราบว่าเกิดจากอะไร เพราะไม่ได้กำหนดหรือระลึกให้เกิดขึ้นเลยในระหว่างการนั่งสมาธิ อาจารย์มีคำแนะนำอย่างไรครับ โดยก่อนที่จะเกิดอาการดังกล่าว จิตทีทำสมาธิในขณะนั้นเหมือนดิ่งเข้าสู่ความไม่รู้สึกว่ามีร่างกายและความคิดอยู่เลย ก่อนที่สมาธิจะถอยเข้าสู่ระดับที่รู้สึกในสังขารเอง และมีอาการของกงล้อธรรมจักรดังกล่าว ระดับสมาธิที่ไม่รู้สึกว่ามีสังขารและความคิดที่เกิดขึ้น เป็นอัปปนาสมาธิใช่ไหมครับ และถอยเข้าสู่อุปปจารสมาธิที่มีความรู้สึกในสังขารถูกต้องไหมครับ ขออาจารย์ได้โปรดชี้แนะด้วยครับ

   ๓.แนวทางการปฏิบัติสำหรับบุคคลผู้มีบารมีมาทาง เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ ควรดำเนินจิตทำสมาธิ เหมือนและแตกต่างกันอย่างไรครับ ขอกราบขอบพระคุณอาจาย์ในคำแนะนำครับ

ด้วยความเคารพในธรรมครับ
ภานุรุจ บุญญพัฒน์

คำตอบ
    ที่บอกเล่าไปเป็นครูบาองค์เดียวกับที่บรรยายไว้เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

(๑) ผู้ใดอธิษฐานนำพาชีวิตให้ดำเนินไปตามแนวทางของพุทธภูมิ ต้องมีปฏิปทาตามแบบอย่างที่ครูบาศรีวิชัย หรือครูบาบุญชุ่มได้ทำให้ดู และจะล้มเลิกเป็นโพธิสัตว์ได้ก็ต่อเมื่อ เกิดความทุกข์อย่างสาหัส มองไม่เห็นทางว่าจะบรรลุโพธิญาณได้เมื่อไร และยังไม่ได้รับการพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ จึงเบื่อหน่ายและล้มเลิกการเป็นโพธิสัตว์ ดังที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หรือครูบาเทืองแห่งวัดบ้านเด่นได้ลาให้ดู

อนึ่ง พระภิกษุที่ดำเนินชีวิตตามแนวทางของพระโพธิสัตว์จะไม่ประพฤติธรรมไปสู่การพ้นทุกข์ ดังที่อริยบุคคลได้กระทำ ซึ่งจะเป็นเช่นนี้ได้ต้องมีสติกล้าแข็ง ยุติความก้าวหน้าในวิปัสสนาญาณไว้แค่สังขารุเปกขาญาณ ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่ออธิษฐานบารมีให้ผลแรงกล้า

(๒) อาการตัวหมุนเป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติธรรมที่ยังมีกำลังของสติไม่กล้าแข็ง การสวดมนต์เป็นการฝึกจิตเบื้องต้น ฝึกจิตให้จดจ่อกับบทมนต์ที่สวด และผู้ใดจะรู้ว่าเป็นสมาธิระดับฌาน (อัปปนาสมาธิ)ได้ ต้องเกิดอารมณ์ฌานขึ้นกับจิตของตัวเอง สิ่งกระทบภายนอกใดๆไม่สามารทำให้จิตรับเข้าปรุงอารมณ์ได้ มีแต่อารมณ์ฌาน (วิตก วิจารณ์ ปีติ สุข อุเบกขา และเอกัคคตา) เท่านั้นที่เกิดขึ้นกับจิต

ฉะนั้นขณะกำลังสวดมนต์บทธัมมจักรกัปปวัตตนสูตร แล้วจิตไปเห็นร่างกายหมุนได้ จึงมิใช่สมาธิระดับฌาน

(๓) ระหว่างผู้บรรลุธรรมแบบเจโตวิมุตติ และบรรลุธรรมแบบปัญญาวิมุตติ มีความเหมือนกันตรงที่ว่า จิตเข้าถึงอาสวักขยญาณได้ และต่างกันตรงที่ว่า ผู้บรรลุอรหัตตผลแบบเจโตวิมุตติ เป็นผู้มีความชำนาญในสมถกรรมฐาน เช่นมีฤทธิ์ทางใจ (มโนมยิทธิ) เป็นต้น ส่วนผู้บรรลุอรหัตตผลแบบปัญญาวิมุตติ เป็นผู้มีความชำนาญในวิปัสสนากรรมฐาน เช่นเห็นสรรพสิ่งเป็นอนัตตาหมด
  

1184.
กราบเรียนถามปัญหาอาจารย์ค่ะ

ตอนนี้หนูพยายามฝึกกำหนดอิริยาบถย่อยอยู่ค่ะ แต่มีปัญหาคือไม่รู้จะใช้คำกำหนดอย่างไร อย่างเช่นบางทีกวาดบ้าน หนูก็จะใช้คำกำหนดเป็น กวาดหนอๆๆ คือจะใช้คำแบบที่เรากำลังทำสิ่งนั้นๆ ไม่ว่าจะล้างจาน อาบน้ำ แปรงฟัน ฯลฯ เพราะไม่รู้จะกำหนดอย่างไร ไม่ทราบว่าใช้คำเหล่านี้กำหนดได้หรือเปล่าคะ หรือต้องใช้คำกำหนดตามอาการเคลื่อนไหวคะ รบกวนอาจารย์ช่วยชี้แนะให้ด้วยค่ะ จะได้ปฎิบัติได้ถูกต้องตรงทางค่ะ

กราบขอบพระคุณอาจารย์อย่างยิ่งค่ะ

คำตอบ
    ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นอิริยาบถใหญ่ ส่วนการเคลื่อนไหวอื่นใดนอกจากที่กล่าวถือว่าเป็นอิริยาบถย่อย ทุกอิริยาบถที่เกิดในปัจจุบัน สามารถนำมาใช้เป็นตัวกำหนดองค์บริกรรมได้ทั้งนั้น ฉะนั้นการมีจิตจดจ่อ (กำหนด) อยู่กับการกวาดบ้าน ล้างจาน อาบน้ำ แปรงฟัน ฯลฯ ตามที่บอกเล่าไป ถือได้ว่าปฏิบัติสมถภาวนามาถูกทางแล้ว จงดำเนินต่อไป
  

1183.
กราบเรียน ท่านอาจารย์ ดร. สนอง วรอุไร ที่เคารพยิ่ง

อาจารย์คะ หนูเคยอ่านหนังสือทางสายเอกของอาจารย์ เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา แล้วประทับใจมาก (ก่อนหน้านี้หนูสนใจปฏิบัติตามแนวหลวงปู่ชา หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ฯลฯ และไปร่วมกิจกรรมการปฏิบัติธรรม ตั้งแต่สมัยเรียน ม.ต้น มาแล้ว แต่ไม่ได้มีความมุ่งมั่นในชีวิตว่า จะไม่อยากเกิดอีก) หนังสือของอาจารย์เป็นแรงบันดาลใจให้มุ่งมั่นคิดว่า ไม่อยากเกิดอีก จึงหยุดกรรมดำ ยึดศีลห้าอย่างเคร่งครัดเป็นสรณะกับชีวิต รวมไปถึงกรรมบทสิบด้วย หาซื้อหนังสือธรรมะ และทางสายเอกจากทางชมรมแจกบุคคลที่ต้องการที่พึ่งทางใจ และตัวหนูเองหันมามุ่งมั่นปฏิบัติ อย่างเต็มกำลัง เพื่อที่จะให้หลุดพ้นจากวัฏสงสาร แต่ด้วยมีภาระครอบครัว ก็ไม่สามารถที่จะปลีกวิเวกไปนั่งหาที่สงบปฏิบัติได้ แต่หนูก็ใช้ทุกขณะจิต(ที่ไม่ต้องคิดเรื่องงาน)ทำกรรมฐาน มาโดยตลอด

หนูไม่เคยเจอตัวจริงท่านอาจารย์นะคะ แต่หนูฟังท่านอาจารย์สอนธรรมะ ผ่านเวปไซค์ กัลยาณธรรม รวมทั้งเปิดฟังในรถยนต์ และเผยแพร่ให้กับเพื่อน ๆที่สนใจปฏิบัติ หนูถื่อว่าท่านอาจารย์เป็นครูบาอาจารย์ทางธรรมอีกท่านหนึ่งของหนู เหมือนดังที่หนูเคารพในหลวงปู่ชา หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หรือกระทั่งพระพุทธเจ้า โดยที่ไม่เคยได้พบเห็นหรือพูดคุยกันเลยค่ะ

ขณะนี้หนูลาออกจากงานที่ทำในกรุงเทพ มาอยู่ต่างจังหวัด แล้วหางานทำได้เรื่อย ๆ แต่หางานตามที่ตนเองถนัดและอยากทำที่สุดได้ยาก จึงตัดสินใจเรียนต่อปริญญาเอก เรียนได้แล้ว 1 ปี ลงทุนจ่ายเงินไปไม่ต่ำกว่า 2 แสนค่ะ และ

ขณะนี้หนูรู้สึกเบื่อหน่ายมาก ๆ กับการที่ต้องมานั่งเรียนและต้องทำวิทยานิพนธ์ในเชิงการสร้าง ทฤษฎีใหม่เพื่อแก้ปัญหาจุดบกพร่องของทฤษฎีเดิม ๆ ซึ่งหนูวิเคราะห์แล้วว่านำไปใช้ประโยชน์กับคนกลุ่มมากได้น้อย ผนวกกับพบกับผู้คนแวดล้อมที่มีแต่ความต้องการเก่งและเป็นที่หนึ่งในทางโลก และเชื่อมั่นในตนเองสูงมาก ๆ จนลืมใส่ใจในความรู้สึกของคนรอบข้าง ทำให้หนูรู้สึกเบื่อมาก ๆ ไม่อยากเรียนต่อเลยค่ะ แต่ทางครอบครัวอยากให้เรียนให้จบ เพราะลงทุนไปมากแล้ว หนูก็พยายามที่จะเรียนให้จบ แต่ใจหนูไม่ได้อยากเรียนเลย จึงเกิดความรู้สึกว่าไม่มีความสุขเลยค่ะ หนูขอคำชี้แนะจากท่านอาจารย์ด้วยค่ะ ว่าหนูควรจะปฏิบัติหรือคิดอย่างไรคะ

คำตอบ
    มนุษย์เป็นสัตว์สังคม การจะอยู่กับสังคมอย่างมีคุณค่า ต้องประพฤติตนเป็นผู้ให้โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ให้ความรู้กับมนุษย์ ให้ปัญญาช่วยแก้ปัญหาให้กับมนุษย์ นี่คืองานภายนอกที่ชีวิตต้องทำ ด้วยเหตุนี้ยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาความรู้ให้สูงที่สุด และต้องพัฒนาต่อเนื่องจนวันตาย ส่วนงานภายในต้องพัฒนาตัวเองให้เข้าถึงปัญญาสูงสุดคือ ภาวนามยปัญญา แล้วใช้ปัญญาที่พัฒนาได้ สร้างบุญบารมีให้กับตัวเอง เพื่อใช้เป็นทรัพย์เดินทางสู่ปรโลกอย่างปลอดภัย และหากสามารถปิดอบายภูมิได้ จึงจะเรียกได้ว่าเกิดมาไม่สูญเปล่า
     

1182.
กราบแทบเท้าท่านอาจารย์สนอง ที่เคารพ

ดิฉันโชคดีที่ได้นำคำสอนของท่านมานำทางชีวิต ซึ้งใจกับคำว่า “ สัมมาทิฏฐิ ” ที่จะนำชีวิตให้รอด ชาตินี้ก็พยายามบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา อย่างต่อเนื่อง โดยยึดแบบอย่างท่านอาจารย์ค่ะ

ปัจจุบันนี้ คุณพ่อดิฉันอายุ 86 ปี สุขภาพไม่ค่อยดี เป็นทั้งโรคหัวใจ โรคเลือด เข้าโรงพยาบาลบ่อยมาก ดิฉันได้เตรียมใจไว้พอควรกับคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ตั้งจิตอธิษฐานไว้ว่า ถ้าคุณพ่อยังมีบุญอยู่ ก็ขอให้ใช้ชีวิตได้ตามสมควร เดินเหินได้ หากหมดบุญก็ขอให้เป็นไปด้วยความสงบ ไม่ทรมาน ขณะเดียวกัน ก็พยายามทำเหตุให้ตรง โดยการแผ่เมตตาให้เจ้ากรรมนายเวรของคุณพ่อ ปล่อยปลา ปล่อยวัวควาย บ่อยๆ ไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นประจำ พิมพ์หนังสือธรรมแจก อย่างน้อยที่สุดหวังให้คุณพ่อเดินได้ ไม่อยากให้ต้องนอนทนทุกข์ทรมาน ซึ่งน่าเวทนามาก ประกอบกับอยากให้คุณพ่อได้มีเวลาเตรียมตัว “ ตายก่อนตาย ” จะได้ไม่หลงตายค่ะ ดิฉันเข้าใจค่ะว่าในที่สุดก็ไม่สามารถยื้อชีวิตคุณพ่อได้ แต่ก็ยังพยายามทำทุกอย่างเพื่อ ต่อรอง โดยพยายามสร้างเหตุให้ตรงกับคำอธิษฐาน

ขอความเมตตาจากท่านอาจารย์ชี้แนะด้วยค่ะ ว่าดิฉันทำแบบนี้ จะได้ผลหรือไม่คะ

กราบขอบพระคุณอย่างสูงค่ะ
ดารัตน์ เสรีวงษ์

คำตอบ
    การกระทำที่บอกเล่าไป จะได้ผลต่อเมื่อคุณพ่อต้องประพฤติตนมีศีลคุมใจอยู่ทุกขณะตื่น เจ้ากรรมนายเวรของคุณพ่อยอมรับบุญที่ลูกอุทิศให้แล้วเลิกจองเวรกับคุณพ่อ สุดท้ายต้องบอกให้คุณพ่อรับรู้และอนุโมทนาบุญที่ลูกได้ทำให้ท่าน    พระพุทธะได้ตรัสกับแม่ของโสปากะ (อรหัตต์เจ็ดขวบ) ว่า “ เมื่อความตายมาถึง บุตร พ่อ เผ่าพันธุ์ ญาติ ย่อมไม่มีใครต้านทานได้ ” ฉะนั้นสิ่งที่ผู้เป็นลูกได้ทำให้กับพ่อนั้นดีแล้ว ... สาธุ และจะดีที่สุดให้คุณพ่อได้เตรียมตัวก่อนตายด้วยการสวดมนต์และเจริญอานาปานสติอยู่เสมอ
  

1181.
กราบเรียน อาจารย์สนองที่เคารพ

พี่ที่ทำงานที่เดียวกับดิฉัน แม่เค้านั่งสมาธิอยู่ตอนกลางคืน ปรากฏว่า ตอนเช้าขึ้นมา ปรากฏว่าแม่เสียชีวิตค่ะ ขายังอยู่ในท่าขัดสมาธิอยู่เลย แต่หงายหลังลงไปกับพื้น พี่เค้าเลยให้ดิฉันรบกวนสอบถามอาจารย์ให้ ว่าการที่คนเรานั่งสมาธิแล้ว เสียชีวิตนี่เกิดจากสาเหตุอะไร แล้วเค้าจะไปอยู่ที่ไหน แม่พี่เค้าก็ปฏิบัติธรรมมาหลายปีแล้วค่ะ รบกวนอาจารย์ด้วยนะคะ

ขอแสดงความนับถือ
บุษกร

คำตอบ
    เหตุที่ทำให้เสียชีวิต เกิดจากจิตปฏิเสธที่จะอาศัยอยู่กับร่างกาย จึงได้ทิ้งร่างเดิม จิตวิญญาณที่ยังไม่หมดกิเลสจะโคจรไปหาร่างใหม่อยู่อาศัย ตามแรงผลักดันของกรรมที่ผู้นั้นกระทำไว้ก่อนตาย ถามว่า แม่จะไปอยู่ที่ไหน? ตอบว่า แม่ไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมกับแรงกรรมผลักดันให้ไป การนั่งสมาธิ (สมถภาวนา) เพื่อให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ หากจิตทิ้งร่างในขณะมีสติกำกับและยังไม่หมดกิเลส ที่ไปของจิตคือไปได้ร่างอยู่อาศัยในสุคติภพ เป็นเทวดาหรือพรหมนั่นเอง
  

1180.
เรียนถามอาจารย์สนองค่ะ

1. ถ้าเรานั่งสมาธิแล้วยังจิตไม่นิ่งพอ (ยังไม่ใช่แม้แต่ขณิกสมาธิมั้งคะ เพราะไม่มีอาการใดใดปรากฏเลย เช่น เกิดปิติ) แล้วจะเกิดกุศลพอที่จะอุทิศให้ผู้อื่นหรือเจ้ากรรมนายเวรได้หรือคะ

2. แล้วการปฏิบัติธรรมระดับนี้ (ตอนนี้ยังไม่ก้าวหน้าค่ะ) เปรียบเทียบกับบุญที่สร้างกุฏิสงฆ์ กุศลใดจะมากกว่ากันคะ(เพราะอาจารย์เคยตอบว่ากุศลที่เกิดจากกรรมฐานมากที่สุด แต่เรายังไม่สามารถปฏิบัติได้ก้าวหน้าน่ะค่ะ)

3. จากที่อาจารย์ตอบว่าเราสามารถ จัดระเบียบคลื่นสมอง สวดมนต์แล้วตามด้วยการเจริญสติภาวนา ประมาณ 15-30 นาที ก่อนนอนทุกวัน ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนคลื่นความถี่ของสมองให้เป็นระเบียบ แต่ถ้าเรายังปฏิบัติไม่ก้าวหน้า (นั่งสมาธิแต่จิตยังไม่นิ่ง) ความถี่ของสมองจะเปลี่ยนเป็นระเบียบหรือคะ

ขอบคุณค่ะ
จันทร์นภัส ธีระวิทย์

คำตอบ
    (๑) คำว่า “ กุศล ” หมายถึง บุญ , ความดี , ความฉลาด ฯลฯ บุญเกิดจากการประพฤติบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ (ทาน ศีล ภาวนา ขวนขวายรับใช้ ประพฤติอ่อนน้อม อุทิศความดี อนุโมทนาความดี ฟังธรรม เทศน์ธรรม ทำความเห็นให้ถูกตรง) การนั่งสมาธิเป็นบุญที่เกิดจากการภาวนา แม้บุญจากการนั่งสมาธิยังมีไม่มาก แต่เมื่อรวมกับบุญที่ประพฤติอย่างอื่นเข้าด้วยกันแล้ว ย่อมมีบุญมากพอที่จะอุทิศให้ผู้อื่น หรือให้เจ้ากรรมนายเวรได้    

   (๒) บุญที่เกิดจากการภาวนา (นั่งสมาธิ) เป็นบุญใหญ่สุด เพราะสามารถผลักดันจิตวิญญาณไปสู่ความพ้นทุกข์ (นิพพาน) ได้ บุญที่เกิดจากการสร้างกุฏิสงฆ์ มีผลผลักดันจิตวิญญาณไปได้ไกลแค่สวรรค์    การปฏิบัติตนให้มีศีล ๕ มีกุศลกรรมบถ ๑๐ , ไหว้พระ , สวดมนต์ , ฟังธรรม , เรียนธรรม ฯลฯ เป็นการภาวนาเบื้องต้น การนั่งสมาธิเป็นการภาวนาขั้นกลาง แม้จะเข้าถึงสมาธิเพียงเล็กน้อย ก็ถือว่าได้ประพฤติบุญใหญ่ให้เกิดขึ้นแล้ว เปรียบได้กับเดินอยู่บนเส้นทางที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์ แม้จะยังเดินได้ไม่ไกล ก็ยังดีกว่าเดินอยู่บนเส้นทางที่มุ่งสู่สวรรค์

   (๓) เมื่อคลื่นสมองเริ่มมีความเป็นระเบียบ ความจำเริ่มเกิดเพิ่มขึ้น ทำไมไม่พัฒนาให้ถึงที่สุด มนุษย์มีศักยภาพในการพัฒนาจิตได้มากกว่าสัตว์ใดๆในสังสารวัฏ ผู้ไม่ประมาทไม่ปล่อยเวลาให้สูญเปล่า ผู้ไม่ประมาทพัฒนาจิตให้เป็นสมาธิ พัฒนาจิตให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง เมื่อรู้ดั่งนี้แล้วพึงเลือกทางชีวิตด้วยตนเองเถิด
     

1179.
กราบเรียน อาจารย์สนอง ที่เคารพอย่างสูง

หนูได้ฟังธรรมบรรยายของอาจารย์ที่ว่า ความรู้ทางโลกจะหมดลงเมื่อเราละจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ผลการฝึกเจริญวิปัสสนาจะอยู่ในจิตติดเราไปทุกภพทุกชาติได้

    1. หากเราฟังธรรมตามกาล อ่านหนังสือธรรมะ ละชั่วกลัวบาป เมื่อมีโอกาสเกิดเป็นมนุษย์อีกครั้ง เราจะได้เกิดใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนาเพื่อศึกษาธรรมต่อไม้คะ

   2. หากเราได้ศึกษาธรรมศึกษา จนจบนักธรรม ตรี โท เอก ความรู้ทางธรรมนี้ จะสามารถติดตัวเราเป็นเสบียงเลี้ยงตัวเพื่อต่อยอดทางธรรมในภพชาติต่อไปได้รึไม่คะ และผลบุญที่จะได้รับในภพชาตินี้คืออะไรคะ ขอขอบพระคุณอาจารย์ค่ะ

คำตอบ
   (๑) ธรรมของใคร อ่านหนังสือธรรมของศาสนาใด เมื่อใดที่สัญญาที่ฝังอยู่ในจิตให้ผล ขณะที่จิตจะหลุดออกจากร่าง ย่อมมีโอกาสผลักดันจิตวิญญาณไปได้ร่างใหม่ที่เป็นศาสนิกของศาสนานั้น แต่การมีหิริโอตตัปปะ เป็นคุณธรรมของเทวดา ฉะนั้นหากกำลังของหิริโอตตัปปะให้ผลขณะจิตออกจากร่าง ย่อมมีพลังผลักดันให้จิตวิญญาณไปโอปปาติกะเป็นเทวดา    

   (๒) คนที่ศึกษาธรรมและรู้ธรรมในพุทธศาสนามาก อย่างเช่น มหาวาจกอุบาสก ตายจากมนุษย์แล้ว จิตวิญญาณโคจรไปได้ร่างใหม่อยู่ในภพเดรัจฉาน ทั้งนี้เป็นเพราะพลังแห่งความหลงติดในความรู้ เป็นเหตุผลักดันให้เป็นเช่นนั้น    พระมหาสิวะ เป็นอาจารย์สั่งสอนธรรม มีลูกศิษย์จำนวนมากนำไปปฏิบัติจนบรรลุธรรมขั้นสูงสุดได้ แต่พระมหาสิวะยังมีสภาวะของจิตเป็นปุถุชน ยังหลงติดอยู่กับธรรมที่ตัวเองรู้ กว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความหลงของตัวเองได้ ต้องใช้เวลาปฏิบัติธรรมอยู่กลางป่าองค์เดียว นานถึงสามสิบปี พอรุ่งขึ้นปีที่สามสิบเอ็ดจึงได้บรรลุอรหัตตผล เลิกหลงอีกต่อไป

   ฉะนั้นที่ถามว่า ความรู้ในทางธรรมนี้สามารถติดตัวเป็นเสบียงเลี้ยงตัวเองไปในภพถัดไปได้หรือไม่ ตอบว่า ติดตัวไม่ได้แต่ฝังติดอยู่กับใจได้ ความรู้ยังถูกเก็บฝังเป็นสัญญาอยู่ในดวงจิต หากจิตโคจรไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในภพที่เหมาะสมและมีเหตุปัจจัยลงตัว ก็สามารถศึกษาธรรมต่อยอดได้ แต่ต่อยอดให้มีความหลงในความรู้นั้นเพิ่มมากขึ้น   บุญที่จะได้รับในภพนี้ คือเป็นผู้รู้ธรรม มีสัญญาในธรรมที่สามารถนำไปบอกกล่าวให้ผู้อื่นรู้ตามได้
  

1178.
กราบเรียนท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไรที่เคารพเป็นอย่างสูง

ผมมีเรื่องรบกวนถามดังนี้ครับ
1.จากที่ได้ฟังอาจารย์บรรยายเกี่ยวกับพรหมประเภทหนึ่งที่ภาวนาคำว่า อสัญญีปิ แล้วไปเกิดเป็นพรหมไม่มีรูปนั้น อยากทราบว่านั่นเป็นผลจากคำภาวนาหรือไม่ครับ จากที่ผมได้ศึกษาคำสอนของพระอภิญญาหลายๆรูป บางรูปจะมีการสอนให้ภาวนาคาถาหรือบทสวดต่างๆ เช่นสัมปจิตฉามิ หรือบทคาถาบางบทที่ได้จากอภิญญา ซึ่งการภาวนาโดยใช้คาถาเหล่านี้จะมีผลกับเราจริงหรือไม่ครับ เพราะมักมีการอ้างถึงว่าคำภาวนาแบบนี้หรือบทนี้ ทำให้เราได้ผลจากคำภาวนาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นกันผีหรือมีโชคลาภ เป็นต้นครับ หรือว่านี่เป็นแค่อุบายที่ทำให้จิตสงบเหมือน พุทโธ สัมมา อรหังครับ

2.ผมชอบภาวนาโดยใช้บทสวดมนต์มากกว่าการจับลมหายใจเข้าออกในบางครั้ง อยากทราบว่าหากใช้บทสวดมนต์เป็นคำภาวนาจับลมหายใจเข้า-ออก สามารถทำให้จิตสงบจนเข้าอัปปนาสมาธิได้เหมือนกันมั้ยครับ

3.การที่จะปฏิบัติธรรมหรือพัฒนาจิตให้มีความก้าวหน้าต้องมีศีล5คุมใจใช่มั้ยครับ ผมมีข้อข้องใจเกี่ยวกับศีลข้อ3ครับ เนื่องจากผมเป็นชายหนุ่มก็ต้องมีอารมย์ทางเพศเป็นปรกติ ซึ่งบางครั้งก็เผลอคิดเกินเลยกับผู้หญิงคนอื่น บางครั้งต้องช่วยตัวเองกำจัดให้ความหมกมุ่นเหล่านี้ให้หายไปตลอดวัน โดยพยายามอดกลั้นแล้วระดับหนึ่ง อยากถามท่านอาจารย์ว่าหากเผลอคิดเกินเลยกับผู้หญิงคนอื่นหรือต้องช่วยตัวเองเพื่อกำจัดความใคร่ ศีลข้อ3ของผมถือว่าขาดหรือด่างพร้อยครับ ถ้าต้องการให้ศีลข้อ3คุมที่ใจให้ถูกตรงตามธรรม ต้องพยายามไม่เผลอใจไปคิดเกินเลยกับผู้หญิง(ที่ไม่ใช่ลูกเขาเมียเรา)ให้ได้ตลอดทั้งวันเลยรึเปล่าครับ

ขอบพระคุณอาจารย์สนองที่เมตตาตอบคำถามและให้สติปัญญาความรู้กับผมและทุกๆท่านนะครับ

คำตอบ
    (๑) ผู้ใดภาวนาคำว่า “ อสัญญีปิ ๆๆๆๆ ” จนกระทั่งจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ในระดับรูปฌานที่ไม่มีสัญญา แล้วตายลงจะไปเกิดเป็นรูปพรหมที่ไม่มีนาม (อสัญญีสัตตาพรหม) นี่คือผลที่เกิดจากการภาวนาคำว่า “ อสัญญีปิ ๆๆๆๆ ”

   อนึ่งคำภาวนาอื่นใด เมื่อนำมาบริกรรมแล้ว ทำให้จิตเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ คำบริกรรมนั้นสามารถนำมาใช้ได้ และหากทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ (ฌาน) เมื่อถอนจิตออกจากความทรงฌานแล้ว อภิญญาสามารถเกิดขึ้นได้    

   (๒) การสวดมนต์เป็นการเจริญสติเบื้องต้น ทำให้เกิดสมาธิขึ้นได้ แต่ไม่สามารถตั้งมั่นเป็นอัปปนาสมาธิได้ เพราะจิตยังต้องรับกระทบจากเสียงที่สวดมนต์อยู่ จึงเข้าถึงสมาธิแน่วแน่ไม่ได้    

   (๓) ศีล ๕ ต้องมีครบและบริสุทธิ์ลงคุมถึงใจ ศีลในลักษณะนี้เป็นศีลที่นำสู่ความตั้งมั่นเป็นสมาธิของจิต พฤติกรรมที่บอกเล่าไปเป็นศีลที่ยังไม่บริสุทธิ์ จึงสามารถปฏิบัติธรรมได้ แต่เข้าไม่ถึงธรรมที่ปฏิบัติ
    

1177.
กราบสวัสดีท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร ที่เคารพอย่างสูง หนูขอเรียนถามปัญหาในการปฎิบัติ ดังนี้ค่ะ 1. หนูใช้องค์บริกรรมว่า พองหนอ ยุบหนอ ค่ะ บางครั้งก็จับพองยุบได้ แต่ส่วนมากไม่ได้ จึงใช้นั่งหนอถูกหนอแทน หนูสงสัยว่า ที่ท่านอาจารย์บอกว่า จิตต้องนิ่ง ถึงจะเห็นความจริงได้ แต่การปฎิบัติวิปัสสนาจิตไม่ได้หยุดนิ่งนี่คะ ต้องกำหนดทุกอารมณ์หรือสัมผัสที่กระทบกายและใจ ถ้านิ่งก็จะเป็นสมถะไม่ใช่หรือคะ โปรดให้ความกระจ่างด้วยค่ะ จิตนิ่งที่ท่านหมายถึงนั้นนิ่งอย่างไร 2. ตอนที่หนูเข้าคอร์สปฏิบัติ 8 วัน 7 คืน นั้น มีบางครั้งนั่งกำหนดแล้ว รู้สึกว่าอารมณ์ที่เข้ากระทบกายใจน้อยลง ทำให้เกิดความนิ่ง แต่เมื่อเรารู้สึกเช่นนี้แล้ว เราก็ต้องกำหนดว่า เฉยหนอ หรือ นิ่งหนอ หนูก็ยิ่งไม่เข้าใจเลยว่า แล้วหนูจะมีจิตนิ่งได้ตอนไหน สุดท้ายนี้ หนูขออนุโมทนาบุญกับท่านอาจารย์ด้วยนะคะ และขอขอบพระคุณท่านอาจารย์ล่วงหน้า ที่ได้เมตตาตอบปัญหาให้ความกระจ่างด้วยค่ะ ขอผลบุญที่ท่านได้เพียรสร้างมาอย่างไม่หยุดยั้ง ส่งผลให้ท่านสำเร็จความปราถนาทุกประการและมีสุขภาพแข็งแรง อยู่เป็นกระจกส่องกรรมฐานให้เพื่อนร่วมสังสารวัฏได้รู้แจ้งเห็นจริง ไปตราบนานเท่าที่จะนานได้เถิด บุศรินทร์

คำตอบ
   (๑) คำว่า “ จิตนิ่ง ” หมายถึงจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เป็นจิตที่มีการปรุงแต่งอารมณ์อยู่กับอิริยาบถปัจจุบัน ที่นำมาใช้เป็นองค์บริกรรม ฉะนั้นจะเรียกว่าจิตนิ่งได้ จิตต้องตั้งมั่นเป็นสมาธิ ซึ่งสามารถเกิดได้ด้วยการเจริญสมถภาวนาตามรูปแบบที่ครูบาอาจารย์ชี้แนะให้ทำ    

   (๒) ความสงสัยย่อมเกิดขึ้นกับผู้ที่พัฒนาปัญญาทางโลกมามาก เรียกผู้มีมากไปด้วยความสงสัยว่า “ น้ำชาล้นถ้วย ” เมื่อมาปฏิบัติธรรมแล้วจิตจะไม่สามารถเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ ด้วยเหตุนี้ในครั้งที่ผู้ตอบปัญหาไปปฏิบัติธรรมอยู่กับท่านเจ้าคุณโชดก เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงต้องทำเป็นคนโง่แล้วปฏิบัติตามที่ท่านชี้แนะ ผลจึงเข้าถึงธรรมของพระพุทธะได้ไม่ยากนัก ภายในสามสิบวันก็สามารถเข้าถึงความมีดวงตาเห็นธรรม ลองพิจารณา แล้วพิสูจน์สิครับ
  

1176.
เรียนท่านดร.

อยากถามว่าผู้ที่สำเร็จธรรมแล้วแต่ยังไม่ถึงกับเป็นพระอรหันต์ ตัวอย่างเช่นพระโสดาบัน เมื่อมนุษย์ที่สำเร็จโสดาบันแล้วเมื่อตายไปเป็นเทวดาก็จะเป็นเทวดาโสดาบัน แต่ถ้าเมื่อไปเกิดเป็นมนุษย์อีกหรือเทวดาที่สำเร็จโสดาบันแล้วและไปเกิดเป็นมนุษย์ เขาจะเป็นพระโสดาบันตั้งแต่แรกเกิดเป็นทารกเลยหรือเปล่า หรือว่าอย่างไร ขอบคุณครับ

คำตอบ
   พระสิวลีมีอายุได้เจ็ดวัน หลังคลอดออกจากครรภ์มารดา (อยู่ในท้องแม่นาน ๗ปี ๗เดือน ๗วัน) ได้รับอนุญาตให้บวชเป็นสามเณร ขณะโกนจุกที่หนึ่งแล้วเสร็จ ได้บรรลุโสดาบัน    ทัพพะมัลลบุตร เด็กชายอายุเจ็ดขวบได้รับอนุญาตให้บวชเป็นสามเณร ขณะโกนจุกที่หนึ่งแล้วเสร็จ ได้บรรลุโสดาบัน    โสปากะ ได้บรรลุโสดาบันเมื่อมีอายุได้เจ็ดขวบ ขณะถูกมัดตัวให้อยู่แต่ในป่าช้าแต่เพียงผู้เดียว    อนึ่ง เด็กชายอายุเจ็ดขวบ ก่อนบวชเป็นสามเณร สามารถบรรลุอรหัตตผลได้ก็มี หรือเป็นเด็กหญิงมีอายุได้เจ็ดขวบแล้ว มาบวชเป็นสามเณรีไม่นานก็สามารถบรรลุอรหัตตผลได้ก็มี
   

1175.
สวัดดีครับ ตอนนี้ผมเริ่มจะมาสนใจใน ศาสนาของเราอย่างจริงจังแล้วในตอนนี้
และเพิ่งจะกลับมาจาก การปฎบัติจากวัดอัมพวันที่สิงห์บุรีมาครับ

หลังจากกลับมาแล้วก็นำกลับมาปฎิบัติต่อ แต่ว่าเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าที่ปฎบัติทั่งหมดนั้น เป็นการฝึก สมาธิทั่งหมดใช่ใหม่ครับ ?
ตอนแรกเลยไม่เข้าใจ แล้วจึงหาหลังสือมาอ่านครับ เลยเกิดความเข้าใจมาเล็กน้อยทางด้านนนี้
แต่อยากทราบว่า จริงๆๆแล้ว การปฎิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ นั้นได้อะไรบ่างครับจะเกิดอะไรบ้างกับเรา
แล้วจริงๆๆ แล้วเราจะพัฒนาอะไรได้จากการฝึกบ้างครับ ทั้งหมดนี้เป็นข้อสงสัยในตอนนี้ครับ

ในตอนฝึก เดินจงกรม นั่งสมาธินั้น ผมรูตัวไม่มีสมาธิ นั่งได้ไม่นานเลยปวดตามร่างกายก็เอาจิตไปดู
ตอนนี้เกิดปัญหาว่า เราจะดูไปทำไมทั้งที่เราทราบอยู๋แล้วว่า มันเจ็บปวด รู้ว่าเจ็บปวดบริเวณไหน อย่างไร
แล้ว ทั้งๆที่นั่งอยู๋ นั่น ปวดก็ปวด ทำให้ไม่เกิดสมาธิครับ แล้วไม่ทราบว่าที่เรานั่งๆๆอยู๋นั่น เอาจิตไปตั้งอยู่กับความเจ็บ
แล้วมันจะมีสมาธิอย่างไร

บางที่ผมยังไม่เกิดความเข้าใจในเบื่องต้นครับ ด้วยเหตุ บุญเก่าคงน้อย และปัญญาคงน้อยด้วยจึงไม่เข้าใจมันจริงๆ
ของอาจารย์ ช่วยให้ผมเช้าใจในเรื่อง นี้ด้วยนะครับ และขอข้อแนะนำเพื่อสู่ความก้าวหน้าต่อไปด้วยครับ

ขอบคุณอย่างสูงครับ ภูเมศวร์ วงษ์คำ

คำตอบ
  การปฏิบัติธรรมมีอยู่สองอย่าง คือฝึกจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ (สมถภาวนา) และการฝึกจิตให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง (วิปัสสนาภาวนา) การนั่งสมาธิ การเดินจงกรมเป็นสมถภาวนา หากเมื่อใดนำจิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิจวนแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ) มาตามดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรม ที่เข้ามาปรากฏให้สัมผัสได้ด้วยจิต ว่าดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ได้แล้ว จึงจะเรียกว่าเป็นวิปัสสนาภาวนา   ความเจ็บเป็นทุกขเวทนา เมื่อความเจ็บเกิดขึ้น หากจิตเข้าถึงอุปจารสมาธิได้แล้ว ให้ใช้จิตตามดูความเจ็บว่าดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อความเจ็บเข้าสู่อนัตตา ความเจ็บย่อมไม่ใช่ตัวตน (ความเจ็บหายไป) ปัญญาเห็นแจ้งในทุกขเวทนา (ความเจ็บ) ย่อมเกิดขึ้น

   ฉะนั้นหากผู้ถามปัญหาประสงค์พัฒนาจิตให้ก้าวหน้า จงหยุดอ่าน หยุดสงสัยด้วยทำตัวเองให้เหมือนคนโง่ แล้วเดินหน้าเร่งความเพียรฝึกจิตต่อไป โดยต้องมีศีลและมีสัจจะคุมใจให้ได้ก่อน แล้วโอกาสเข้าถึงธรรมย่อมเกิดขึ้นได้
   

1174.
เรียน อาจารย๋สนอง ที่เคารพ

เรียนถามอาจารย์ว่า ในอดีตถ้าเราเคยอาฆาต /เคยโกรธ / เคยเกียด สามีเรา ทอดทิ้งเราไปอยู่กับผู้หญิงอื่น เพราะเรารักแบบเป็นเจ้าของ ปัจจุบันเมื่อนำตัวเองมาปฏิบัติธรรม เข้าถึงธรรมความรู้สึกนั้นเปลี่ยนแปลงเป็น การให้อภัย ความรักอย่างเมตตาต่อกัน ความเสียสละ ไม่ถือโทษโกรธอีก คำถาม เราจำเป็นต้องกล่าวคำอโหสิกรรม ต่อกันหรือไม่ จะได้ไม่จองเวรต่อกัน ทั้งสองฝ่าย เพราะเราดับแล้วซึ่งความโกรธ แต่อาจคงเหลือซึ่งความรักความปรารถรถนาดี ต่อเขา แต่ความรู้สึกของเขา เราไม่อาจรู้ได้ จำเป็นต้องกล่าวอโหสิกรรมต่อกันหรือไม่ค่ะ ทั้งที่มีชีวิตอยู่ ดีกว่าจะมากล่าวกันตอนจากกันแล้วค่ะ แม่น้องดาว

คำตอบ
   พระพุทธเจ้าไม่เคยขออโหสิกรรมต่อพระเทวทัต พระมหาโมคคัลลานะ (อัครสาวกเบื้องซ้าย) ไม่เคยขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร (พ่อแม่ที่ถูกตนเองฆ่า) พระมหากัสสปะ (ประธานปฐมสังคายนาพุทธศาสนา) ไม่เคยขออโหสิกรรมต่อเจ้ากรรมนายเวร

   พระมหาปชาบดี (พระแม่นม) มิได้ขออโหสิกรรมต่อพระพุทธเจ้า ฯลฯ แต่พระสารีบุตร (อัครสาวกเบื้องขวา) ได้กล่าวขออโหสิกรรมต่อผู้เป็นบริวารในคืนที่จะเข้านิพพานว่า “ หากมีกายกรรมใด มีวจีกรรมใด ที่ทำให้ไม่สบายใจ อภัยให้ผมด้วย ”    พระฉันนะ ผู้ถูกพระพุทธะลงพรหมทัณฑ์ หลังจากสำนึกผิดและเปลี่ยนกลับมาเป็นผู้มีความเห็นถูกได้แล้ว ได้ประพฤติธรรมจนบรรลุอรหัตตผล แล้วกลับไปหาพระอานนท์ ขอให้ระงับการลงพรหมทัณฑ์ พระอานนท์ได้กล่าวแก่พระฉันนะว่า “ เมื่อใดท่านทำให้แจ้งเรื่องซึ่งพระอรหัตแล้ว พรหมทัณฑ์เป็นอันถูกระงับไปโดยปริยาย ”    หลวงพ่อรี พระอริยบุคคลชาวไทยใหญ่ ได้กล่าวกับผู้ตอบปัญหาว่า “ ผู้ใดเห็นสรรพสิ่งเป็นอนัตตาได้ การขออโหสิกรรมเป็นอันถูกยกเลิกโดยปริยาย ”

   ฉะนั้นผู้ถามต้องพิจารณาดูตัวเองว่า ยังจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องขออโหสิกรรม
  

1173.
ขอกราบสวัสวดีค่ะ

กราบขอเรียกว่าอาจารย์นะคะ พักนี้ตัวดิฉันเองสับสนกับการปฏบัติธรรมมากไม่รู้จะไปทางไหนดี ช่วงนี้มันมีทางปฏิบัติหลายสายเหลือเกิน ชักเริ่มงงงวยแล้วค่ะ
ตัวดิฉันเองต้องการปฏิบัตธรรม ซึ่งก็ไม่รูจะไปที่ไหนดี ที่จะได้เจออาจารย์กรรมฐานที่ท่านเชี่ยวชาญ และเข้าใจจริตของลูกศิษย์ เมื่อศิษย์เกิดปัญหา อย่างเช่นที่อาจารย์ดร.สนองได้เจอพระวิปัสสนาที่ท่านเก่งซึ่งตัวดิฉันเองก็ยังเกิดไม่ทัน ช่วงนี้รู้สึกท้อมากพยายามตามหาแต่หลายท่านก็มรณภาพไปแล้ว เหลือเพียงลูกศิษย์ ซึ่งตัวดิฉันเองก็เลยเกิดความไม่มั่นใจ

ขอบุญบารมีและความเมตตาของดร.สนอง ที่มีเมตตาเผยแพร่ธรรม ต่อผู้ที่ยังไม่พบแสงสว่างในการปฏิบัติธรรมของดิฉันด้วยเถิด ดิฉันจะไม่ลืมพระคุณเลยค่ะ

คำตอบ
   จะปฏิบัติธรรมสายใดก็ได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นต้องถูกตรงคือ ปฏิบัติสมถภาวนาแล้ว จิตต้องเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิ ปฏิบัติวิปัสสนาแล้ว จิตต้องเกิดปัญญาเห็นแจ้ง คือเห็นถูกตรงตามความเป็นจริงว่า “ สรรพสิ่งเกิดขึ้น ย่อมมีเหตุที่ทำให้เกิด เมื่อเหตุดับ สรรพสิ่งย่อมดับไปด้วย ” ศาสดาตรัสดั่งนี้
  

1172.
กราบเรียนอาจารย์สนองที่เคารพค่ะ

ดิฉันได้มีโอกาสพบท่านเป็นครั้งแรกในการเข้าฟังการบรรยายจากท่านที่งานแสดงธรรมครั้งที่ 13 ดิฉันรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากค่ะ ดิฉันเคารพท่านเป็นอย่างมากเนื่องจากดิฉันเชื่อในคำตอบของท่านค่ะว่าถูกต้องตามธรรมอย่างแน่นอน ฉันเคยเขียนคำถามถึงท่านครั้งหนึ่งและได้เข้ามาอ่านคำตอบปัญหาจากท่านในเว็บอยู่เรื่อย ๆ ค่ะ วันนี้ดิฉันขออนุญาตกราบเรียนถามท่านอีกดังนี้ค่ะ

1. ดิฉันได้อ่านพบหลายครั้งที่ท่านสอนให้อย่าหนีปัญหาในเรื่องการทำงาน โดยที่ไม่ลาออกแต่ให้พัฒนาปัญญาของตนมาจัดการกับปัญหา ดิฉันสงสัยว่ามีปัญหาในที่ทำงานอื่นใดหรือไม่ที่เราสมควรลาออกค่ะ หรือหากมีปัญหาเราไม่ควรลาออกในทุกกรณีค่ะ

2. ดิฉันเป็นผู้ไม่ค่อยสนใจในสิ่งต่างๆ ที่คนทั่วไปให้ความสนใจตั้งแต่เด็กๆ แล้ว (ดิฉันเคยมีปัญหามาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ ที่ทำให้ดิฉันรู้สึกด้อยกว่าคนอื่นเสมอค่ะ ทำให้สมองดูเหมือนชอบตัดเรื่องราวของคนอื่น ซึ่งมักทำให้ดิฉันรู้สึกแย่ออกไป) ทำให้ดิฉันไม่ค่อยสนใจเรื่องราวทางโลก หรือหากรู้ก็ไม่ค่อยให้ความสนใจมากค่ะ หลายครั้งก็คิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระ และพวกเขาใช้เวลามากเกินไปในการคุย แต่มักกลายเป็นว่าดิฉันมีเวลามากกว่าคนอื่นที่คุยกัน แต่ดิฉันก็ไม่สามารถทำงานได้ดีเท่ากับคนอื่น ดิฉันมีความตั้งใจทำงานมาก พยายามคิดเป็นตรรกะเสมอ แต่สมองช้า เรียนรู้ช้ากว่าคนอื่น ทำงานละเอียดแต่ไม่รอบคอบค่ะ คนอื่นก็มองว่าดิฉันโง่ ไม่รู้เรื่อง ไม่เอาเรื่องเอาราวกับใคร ไม่สามารถคุยลงลึกทำความสนิทกับใคร เป็นวัฒนธรรมองค์กรของแผนกดิฉันในถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันผ่านการพูดคุยเล่น เมื่อดิฉันไม่ค่อยคุยลงลึกก็ทำให้มีข้อมูลไม่เท่าคนอื่นในการทำงาน ตอนนี้เพื่อนวัยเดียวกับดิฉันก็ก้าวหน้ากว่าดิฉันมากแล้ว เด็กรุ่นน้องดิฉันเกือบสิบปีก็มาอยู่ตำแหน่งเดียวกับดิฉันแล้ว ดิฉันควรพัฒนาตัวเองทางโลกและเพิ่มความสนิทสนมกลมกลืนกับพวกเขา (ซึ่งหลายอย่างนั้นอาจต้องขัดกับทางธรรมเพื่อให้สนิทกับเขาได้) เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับเขาได้ดีขึ้นหรือไม่คะ หรือดิฉันควรจะทำตัวอย่างไรดีคะ หากดิฉันต้องการพัฒนาเรื่องหน้าที่การงานให้ก้าวหน้าเหมาะสมกับวัย และพัฒนาทางธรรมเป็นหลักค่ะ

3. ดิฉันอายุ 38 ปีแล้ว แต่มีบุคคลิกไม่น่าเชื่อถือ ไม่ค่อยมั่นใจตัวเอง ไม่กล้าว่ากล่าวหรือตำหนิผู้อื่นในเรื่องที่ควรทำ เพราะดิฉันไม่ทราบว่าจะแสดงออกอย่างไร เนื่องจากทุกครั้งที่เคยแสดงออกไปแล้วกลายเป็นว่าดิฉันทำเกินไป ทำให้ดิฉันกลัวการตำหนิผู้อื่น จนกลายเป็นยอมตามผู้อื่นตลอด นอกจากนี้ ดิฉันควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์สีหน้าไม่่ค่อยได้ มีใบหน้าที่ล่อกแล่ก เหมือนกับคนไม่จริงใจ ดิฉันควรพัฒนาตัวเองอย่างไรคะ


4. หากมีคนที่สนิทพอสมควรทำเรื่องไม่ถูกต้อง แต่คนรอบข้างมีความเห็นผิดคือเข้าข้างเขา ดิฉันควรตักเตือนเขาไหมคะ แต่ตัวดิฉันเองก็เป็นผู้ที่ไม่ค่อยมีปัญญาในการตักเตือนผู้อื่น เท่าที่สังเกตดู คนอื่นไม่ค่อยเชื่อถือในสิ่งที่ดิฉันเตือนและมองดิฉันในแบบที่ดิฉันก็ไม่เข้าใจ ดิฉันควรจะทำอย่างไรคะ ปล่อยเลยตามเลย หรือบอกกล่าวเขาเท่าที่เราจะสามารถทำได้ ถ้าไม่ได้ผลก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญคือเราได้บอกเขาในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

กราบขอบพระคุณที่ท่านกรุณาค่ะ ขอให้ท่านอาจารย์และครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ อุปัทวเหตุต่างๆ ค่ะ

คำตอบ
    (๑) หากยังมีความจำเป็นต้องหาทรัพย์มาไว้เลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัว หากที่ทำงานไม่จ่ายเงินหรือทำงานได้เงินน้อย ต้องลาออกไปหางานใหม่ที่ได้เงินดีกว่าทำ ตรงกันข้ามหากตนเองมีทรัพย์มากพอที่จะเลี้ยงตัว เลี้ยงครอบครัวได้ ไม่ควรลาออกจากงาน เพราะการทำงานเป็นการเพิ่มประสบการณ์ให้ชีวิตได้เรียนรู้คน ได้เรียนรู้วิธีทำงาน    (๒) ผู้ใดยังคิดนำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ผู้นั้นยังมีความเห็นแก่ตัว (อัตตา) ยังมีจิตไม่สงบระงับ คนโง่ชอบคิดเช่นนี้ (ขออภัยพูดตรงตามธรรม) ความคิดเป็นเรื่องของจิต สมองเป็นเพียงเครื่องมือให้จิตช่วยคิด หากประสงค์จะพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้คิดไว ต้องพัฒนาสองเรื่อง
      เรื่องแรก ต้องพัฒนาจิตให้มีกำลังสติกล้าแข็ง แล้วจะทำให้อารมณ์ปรุงแต่งของจิตลดลง ส่งผลให้คลื่นความถี่ของสมองมีความเป็นระเบียบ ทำงานได้รวดเร็ว
      เรื่องที่สอง ต้องพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดกิเลสที่มีอยู่ในใจให้ลดน้อยลงหรือหมดไปเมื่อใด ความคิดฉับไวย่อมเกิดขึ้น    การพัฒนาหาความรู้ในทางโลกยังต้องทำ หากยังมีงานของสังคมให้ทำ ฟัง อ่าน คิด อยู่เสมอ จนเป็นพหุสูต แล้วจึงจะสามารถทำงานแข่งขันกับผู้อื่นได้    (๓) ต้องทำอย่างน้อยสามเรื่องคือ      - พัฒนาตัวเองให้เป็นคนเก่ง (ดูข้อ (๒) ย่อหน้าสุดท้าย)      - พัฒนาเองให้เป็นคนดี (มีคุณธรรม) ด้วยการประพฤติจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง      - พัฒนาตัวเองให้มีศีลคุมใจ และบำเพ็ญทาน (สังฆทาน) อยู่เสมอ    ผู้ใดประพฤติคุณธรรมได้ครบทั้งสามอย่างนี้แล้ว ปัญหาดังกล่าวย่อมหมดไป    (๔) หากตัวเองมีตำแหน่งและหน้าที่เปิดให้ทำเช่นนั้นได้ ต้องว่ากล่าวตักเตือน ด้วยจิตเมตตา เว้นอคติ และรู้กันเฉพาะสองคน ตรงกันข้ามหากไม่ใช่หน้าที่ต้องปล่อยวาง
  

1171.
กราบเรียน อ. สนอง

ดิฉันได้รับทราบมาว่า เวลาเปิดเทปธรรมะ ก็ดี หรือเทป บทสวดพาหุง หรือ ยอดพระกัณฑ์ฯ ก็ดี เทพเทวดาจะมาฟัง แต่พวกสัมภเวสี หรือ วิญญาณทีล่องลอย จะปวดร้าวและทุรนทุราย เมื่อได้ยิน

1. จริงหรือไม่คะ ข้างต้น

2.หากจริง เราจะทำอย่างไร ถ้าต้องการเปิดเราฟังด้วย เทวดาฟังด้วย และไม่ไปทำร้ายพวกสัมภเวสีและวิญญาณเหล่านั้น

3.มีผู้รู้บอกว่า ที่บ้านมีเจ้าที่เจ้าทาง และวิญญาณที่ตายในบริเวณบ้านมาช้านานแต่อดีตชาติยาวนาน เมื่อตายก็จะอยู่ตรงนั้น แต่ก็ต่างคนต่างอยู่ คนละมิติกัน เมื่อเราไปเปิดเทปพาหุง หรือ ยอดพระกัณฑ์ หรือเทปเทศนาธรรม พวกเหล่านี้ก็ทุรุนทุราย ก็จะถือโกรธเรา เขาก็แกล้งทำให้ที่บ้านอยู่ไม่เป็นสุข เห็นหน้าพี่น้องกันเองก็หัวเสียหงุดหงิดกันง่ายๆ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง เทพเทวดาไม่ช่วยเราหรอก หรือคะเรื่องที่วิญญาณโกรธทำกับเรา

4.ได้ยินว่า หากเราสวดบทพาหุง หรือยอดพระกัณฑ์ จะ กันภูตผีปีศาจ เวลาเราจะอุทิศบุญกุศลให้เขา เขาก็เข้ามารับไม่ได้ จริงหรือคะ แล้วทำอย่างไรดีเพื่อเราจะอุทิศให้เขาได้ เหมือนเคยฟังอาจารย์ว่า เพียงเขาอนุโมทนาด้วยก็ได้แล้ว ที่นี้จำเป็นต้องเข้ามาใกล้จึงจะมารับได้หรือคะ

5. ที่บ้านบูชาพระพุทธ มีหิ้งพระ แล้ววิญญาณต่างๆเหล่านี้จะอยู่ในบ้านได้หรือคะ แถมยังมียัณฑ์แปดเซียน และอะไรต่ออะไร ซึ่งผู้รู้บอกว่านี่แหละมีส่วนทำให้เขาทุรนทุราย ควรเอาไปเก็บไว้ที่หิ้งพระ? ดิฉันควรทำอย่างไร เพราะอยากมีไว้ให้อุ่นใจ ไม่อยากให้พวกเหล่านี้มาหลอกหลอน หรือ แสดงตัวให้เห็น เข้าใจคะว่าหากเราปฏิบัติดี ทำดี มีศีล แต่ก็ไม่ได้เต็มร้อยตลอดเวลา ก็กลัวเขาจะมาให้เห็นคะ ขอบพระคุณอาจารย์ ที่ให้ความกระจ่าง

คำตอบ
    (๑) จริงหรือไม่ ต้องถามใจตัวเอง เมื่อได้ยินได้ฟังสิ่งที่ชอบใจ และสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบใจ แล้วรู้สึกอย่างไร นั่นแหละเป็นคำตอบ    
   (๒) ก่อนเปิดเทป ควรกล่าวเชิญอมนุษย์ที่ประสงค์จะฟังธรรมะเข้ามาฟังได้ ส่วนอมนุษย์ที่ฟังแล้วทุกข์ใจ ขออภัยและหลีกให้ห่างไกล    

   (๓) ผู้ใดประสงค์ให้มีเทวดาช่วย ต้องพัฒนาจิตตัวเองให้มีศีลและมีธรรมคุมใจอยู่ทุกขณะตื่น แล้วผู้นั้นย่อมมีเทวดาคุ้มรักษาและช่วยเหลือ    

   (๔) ขณะสวดมนต์ ผู้สวดไม่สามารถอุทิศบุญให้ผู้อื่นได้ เมื่อหยุดสวดมนต์ จึงจะมีโอกาสเปิดให้อุทิศบุญได้        การอนุโมทนาบุญแม้จะอยู่ห่างไกลแค่ไหน หากยังมีจิตสื่อถึงกันได้ ก็สามารถอนุโมทนาบุญได้    

   (๕) เมื่อมีผู้มาบอกกล่าวเช่นนั้น ถือว่าเป็นความเห็นถูกของผู้บอกกล่าว แต่จะเห็นถูกตามธรรมหรือไม่ นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผู้ใดกลัวสิ่งที่ถูกเห็น แสดงว่าผู้นั้นมีความไม่รู้จริงในสิ่งที่ถูกเห็น ประสงค์แก้ปัญหาเรื่องความกลัว ต้องพัฒนาจิตให้เข้าถึงความจริงในสิ่งที่กลัว แล้วความกลัวในสิ่งนั้นจะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
   

1170.
เรียน ดร.สนอง วรอุไร

ก่อนอื่นต้องขอเรียนว่าได้ติดตามคำบรรยายของอาจารย์สนอง มาหลายๆครั้ง และรู้สึกชื่นชอบและเข้าใจธรรมะมากขึ้น

แต่ตอนนี้ หนูมีปัญหาที่ร้อนใจเป็นอันมาก และไม่มีความเข้าใจเลยค่ะ
คือว่า หนูไปปฎิบัติธรรมที่วัดสวนโมกข์มาค่ะ ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง 19-27 มีนา 2009 รู้สึกดีมากๆค่ะ แต่ช่วงวันท้ายๆของการนั่งสมาธิเกิดอาการวูบๆขึ้น หลังจากนั้นตอนกลางคืนก็ตาสว่างทั้งคืนนอนไม่หลับเลยค่ะ
พออีกวันหลังจากนั้น ขณะที่นั้งสมาธิ จะเกิดอาการดังนี้คือ หน้าบิดเบี้ยว ฟันบิด หลังจากนั้นพอนั่งไป จะเกิดอาการเอนซ้ายขวา สลับ หน้าหลัง แล้วเกิดอาการว่างๆ แล้วก็เกิดอาการอย่างนั้นซ้ำๆกันค่ะหลังจากวันนั้น จนถึงวันนี้ หนูไม่สามารถนอนหลับได้เลย เป็นเวลาสามวันเต็มๆค่ะ และถึงแม้ว่าไม่ได้นั่งสมาธิแล้วก็ตามก็ยังเกิดอาการอย่างนั้นตลอดเวลาเลยค่ะ
และมีอาการมึนๆแน่นๆ ที่หน้าผากตลอดเวลาเลยค่ะ เหมือนมีพลังงานอ่ะไรซักอย่างค่ะ

หนูเครียดมาก เพราะหนูมีความตั้งใจดีในการศึกษาธรรมะเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาชีวิต แต่เกิดอาการอย่างนี้หนูไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เลยค่ะ และไม่สามารถปรึกษาใครได้เลย เพราะไม่อยากให้พ่อกับแม่ท่านไม่สบายใจค่ะ เพราะท่านเป็นห่วงหนูมาก ทำให้หนูเหมือนอยู่ตัวคนเดียวเลยค่ะ

จะขอบพระคุณอาจารย์มากๆเลยค่ะ ถ้าจะช่วยแนะนำว่าควรจะทำตัวอย่างไรดีเพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม เพื่อให้อาการเหล่านั้นหายไป และอาการต่างๆเหล่านั้นเกิดจากอะไร และหนูควรนั่งสมาธิต่อหรือไม่

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงค่ะ

สิริมน

คำตอบ
    ผู้ใดปฏิบัติธรรมถูกตรงตามธรรม อารมณ์ติดลบย่อมไม่เกิดขึ้นกับใจ ปัญหาตาสว่างแล้วทำให้นอนไม่หลับ วิธีแก้คือเติมกิเลสให้กับใจ เช่นไปท่องเที่ยว ไปดูหนังฟังเพลง ไปออกกำลังกายเล่นกีฬา ฯลฯ    ปฏิบัติธรรมแล้วเกิดอาการวูบขึ้น ต้องกำหนดว่า “ วูบหนอ ๆๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการวูบหายไป แล้วดึงจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิม

   ปฏิบัติธรรมแล้วเกิดอาการเอนซ้ายเอนขวา ต้องกำหนดว่า “ เอนหนอ ๆๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการตัวเอนหายไป ฯ

   ปฏิบัติธรรมแล้วเกิดอาการหน้าบิดเบี้ยว ต้องกำหนดว่า “ บิดเบี้ยวหนอ ๆๆๆๆ ” ไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการบิดเบี้ยวหายไป ฯ
  

1169.
กราบเรียนอาจารย์ ดร.สนอง ที่เคารพอย่างสูง

เมื่อตอนประมาณ 2 ปีที่แล้ว หนูมีปัญหากลิ่นตัวแรงเป็นอย่างยิ่ง คือ เมื่อเลิกงานแล้ว พอขึ้นรถไฟฟ้ากลับบ้าน คนที่นั่งข้างๆ หนูมักจะมีท่าทีที่ค่อนข้างรังเกียจหนู (แต่ไม่มาก) บางครั้งก็ไม่มีใครมานั่งใกล้ๆ หนูเลยค่ะ

เพื่อนๆที่หวังดีก็แนะนำให้หนูใช้โคโลญหรือสเปรย์เพื่อระงับกลิ่นกายค่ะ หลังจากนั้นอาการก็ดีขึ้นค่ะ แต่ต่อมาไม่นาน หนูกลับมีปัญหาเรื่องกลิ่นปากแรงค่ะ แรงชนิดที่ว่าลูกค้าที่มาติดต่อด้วยต้องปิดจมูกคุยค่ะ (หนูทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์ค่ะ) ลูกค้าบางรายพอคุยกับหนูถึงกับต้องเปิดกระเป๋าเอาลูกอมมาอมค่ะ บางที มีคนเดินมาถามทางไปห้องน้ำหรือร้านค้าต่างๆ เขาถึงกับต้องเอามือปิดจมูกคุยกับหนูค่ะ และที่ช้ำใจมากๆ ก็คือเวลาที่หนูต้องคุยกับคนที่หนูแอบชอบ เขาก็มีปฏิกิริยานี้ค่ะ และที่เสียใจทุกข์ใจมากที่สุด ก็คือเรื่องกลิ่นปากนี้มีผลกระทบต่อการทำงานของหนู หนูแทบไม่กล้าคุยกับเจ้านายหรือลูกค้าค่ะ (หนูกลัวว่าเพื่อนจะหาว่าหนูอู้งาน ไม่อยากคุยกับลูกค้าค่ะ แต่จริงๆ แล้ว หนูไม่มั่นใจในกลิ่นปากของตัวเองค่ะ) นอกจากนี้หนูยังมักจะลาออกจากบริษัทที่ดีๆ เหตุเพราะคำบางคำ ทำให้หนู (ในตอนนั้น) ไม่สามารถให้อภัยได้ (แต่ตอนนี้ไม่โกรธแล้วค่ะ) พอหายโกรธ ก็กลับมานั่งคิดว่า ทำไมเราจะต้องเก็บเอามาคิดเป็นฟืนเป็นไฟ (ตอนนั้นโกรธจนรู้สึกได้ว่าอดรีนาลีนจากสมองตรงกลางค่อนไปซ้ายหลั่งทุกครั้งที่มีคำพูดที่ขัดใจ หรือเสียดแทงใจ) (ตอนนั้นก็รู้ตัวว่าโกรธ แต่ไม่สามารถเอาชนะใจได้ รู้สึกว่าไม่ยุติธรรม ที่เขามาว่าเราอย่างโน้นอย่างนี้ ทั้งๆ ที่คนอื่นก็มีจุดบกพร่องเช่นกัน ทำไมเขาไม่ว่า หรือเตือนคนอื่นบ้าง) แต่ตอนนี้กลับมองว่าทำไมเราเอาเรื่องเล็กๆ มาเป็นอารมณ์ สะสมได้ขนาดนั้น พอทนไม่ไหว ก็ลาออกเลย อาจารย์คะ

หนูอยากจะขอเรียนรบกวนถามท่านอาจารย์ค่ะว่าหนูได้ทำกรรมอะไรไว้คะ หนูถึงได้ปากเหม็น ตัวเหม็น และมักจะลาออกจากงาน ทั้งๆที่ก็รักงานนั้นมากๆค่ะ บางที ถ้าได้งานก็มักจะเป็นงานที่มีลูกค้ามาต่อว่า (ต่อว่าบริษัท หรือผลิตภัณฑ์ หรือบริการหลังการขายของบริษัท) และหนูต้องทำอย่างไรจึงจะหายจากกรรมนี้คะ (หนูไปหาหมอฟันขูดหินปูน อุดฟัน รักษากระเพราะอักเสบ สุขภาพทุกอย่างดีแล้ว และพยายามไม่กินอาหารที่มีกลิ่นเหม็นแล้วก็ไม่หายค่ะ) อาจารย์คะช่วยหนูด้วยนะคะ หนูทุกข์มากๆค่ะ ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ด้วยความเคารพอย่างสูง

คำตอบ
    ปากเหม็น แล้วไม่สามารถบำบัดรักษาด้วยภูมิปัญญาทางการแพทย์ได้ ถือว่าเป็นโรคที่มีเหตุมาจากกรรม ด้วยการพูดหยาบคายต่อผู้ทรงคุณธรรม เมื่อใดที่กรรมให้ผล ผู้ประพฤติอกุศลวจีกรรม จึงต้องได้รับผลกรรมด้วยมีปากเหม็น ดังมีตัวอย่างเกิดขึ้นในครั้งพระพุทธกัสสปะ กปิลภิกษุชอบด่าพระสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรม ตายแล้วไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในนรก พ้นจากนรกจึงได้ไปเกิดเป็นปลาที่มีกลิ่นเหม็น    

   ส่วนเรื่องมีกลิ่นเหม็น เหตุเป็นเพราะประพฤติทุศีล หากผู้ถามปัญหาประสงค์จะพ้นอกุศลวิบากดังกล่าว ต้องรู้วิธีบริหารหนี้เวรกรรม แล้วประพฤติให้ได้ตามนั้น (ดูสนทนาภาษาธรรม เล่ม ๑๑ ข้อ ๗๘ ) และต้องประพฤติตนให้มีศีล ๕ หรือศีล ๘ คุมใจอยู่เสมอ    ส่วนเรื่องการลาออกจากงาน เหตุเป็นเพราะใช้ปัญญาเห็นผิดแก้ปัญหา ผู้รู้ไม่เคยชี้แนะผู้ใดให้หนีปัญหา แต่ชี้นำให้บุคคลอยู่กับปัญหา แล้วใช้ปัญญาเห็นถูกมาจัดการกับปัญหา จนมีจิตเป็นอิสระจากปัญหา แล้วการลาออกจากงานก็จะไม่เกิดขึ้น
  

1168.
กราบเรียน ท่านอาจารย์สนองที่เคารพอย่างสูง

ดิฉันชอบอ่านหนังสือธรรมะมาก เมื่อเร็วๆนี้ได้อ่านพ็อคเก็ต บุคเล่มหนึ่งเป็นประสบการณ์การปฏิบัติธรรมที่เข้มข้นของแม่ชีคนหนึ่ง (ซึ่งปฎิบัติได้ผลก้าวหน้ามาก-ได้ญาณแล้วด้วย) ดิฉันรู้สึกทึ่งและศรัทธาในความเพียรที่เป็นเลิศของเขามาก จึงหาเบอร์โทร และโทรไปคุยกับเขา จึงได้ทราบว่าตอนนี้เขาสึกออกมาแล้ว มาทำงานและถูกโกงเพราะอ่อนประสบการณ์ทางโลกมาก แต่ใจเขาอยากปฎิบัติธรรม นั่งสมาธิตลอดเวลา ดิฉันรู้สึกสงสารจึงส่งเงินไปช่วยเขา 2 ครั้งแล้ว และเติมเงินมือถือให้เขาอีก 2 ครั้ง (โดยยังไม่เคยพบหน้ากันเลย) ตอนนี้เขาเริ่มตั้งศูนย์ปฎิบัติธรรมเล็กๆค่ะ เพื่อสอนคนนั่งสมาธิ...แต่เพราะการที่ไม่รู้จักเขาเป็นการส่วนตัว จึงเกิดความสงสัย อยากเรียนถามท่านอาจารย์ดังนี้ค่ะ

1) การที่เราสนับสนุนให้คนอื่นเดินไปบนเส้นทางสายธรรม และเขาก็ปฎิบัติได้ก้าวหน้ามาก การทำอย่างนี้ได้อานิสงส์ผลบุญมากแค่ไหนคะ (บางคนบอกว่าเทียบเท่ากับการเป็นเจ้าภาพบวชพระ -จริงหรือไม่คะ)

2) อดสงสัยไม่ได้ว่า เขาปฎิบัติธรรมอย่างจริงจังมาเกือบ 20 ปี แต่ทำไมยังขัดสนเรื่องเงินทองอยู่ (ธรรมย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรมไม่ใช่หรือคะ)

3) ในใจตัวเองคิดว่า การที่เรายังไม่มีโอกาสได้ปฎิบัติเช่นนั้น (เพราะยังติดภาระหลายๆอย่าง) แต่ถ้าเราช่วยให้ผู้ที่ตั้งใจปฎิบัติจริงได้เดินทางล่วงหน้าไปก่อน พอถึงตัวเองคงจะเดินทางได้สะดวกขึ้น จริงหรือไม่คะ กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่กรุณาค่ะ

คำตอบ
    (๑) ปฏิบัติธรรมจนได้ญาณ (ปรีชากำหนดรู้ , ความรู้สูงสุด) แล้วยังถูกหลอก แสดงว่ารู้ความหมายของคำว่าญาณ แต่ยังไม่เข้าถึงปรีชาหยั่งรู้ (ญาณ) นั่นเอง ดังนั้นการสนับสนุนคนให้เดินไปบนเส้นทางธรรมจะได้อานิสงค์ของบุญ เท่าที่ผู้ถูกสนับสนุนพัฒนาคุณธรรมได้    

   (๒) ปฏิบัติธรรมได้ แต่ยังไม่มีธรรมคุ้มครองใจ ความขัดสนเรื่องเงินทองจึงได้เกิดขึ้น ผู้ตอบปัญหาพูดว่า “ ธรรมะของพระพุทธะประกันได้ทุกเรื่อง เว้นไว้แต่ความตายเท่านั้นที่ธรรมะประกันไม่ได้ ”     

   (๓) ช่วยเหลือคนอื่นในทางที่ดีเป็นบุญ ผู้ใดมีบุญให้ผล ผู้นั้นย่อมสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนา
  

1167.
ขอความกรุณาจากอาจารย์ช่วยตอบคำถามให้หายสงสัย ข้องใจ ดังนี้ค่ะ
1......ถ้าจิตเป็นพลังงานชนิดหนึ่ง แล้วเราจะพัฒนาจิตได้เหรอคะ เราจะขัดเกลาหรือฝึกมันได้เหรอคะ ในเมื่อมันเป็นเพียงพลังงาน

2......ถ้าสรรพสิ่งเป็นอนัตตา...คือไม่มีอัตตา ไม่มีตัวตน...สติก็ต้องเป็นอนัตตา.... สติก็ย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไปเช่นกัน เราจะเอาตัวตนที่ไหนมาบังคับให้มันอยู่กับเราตลอดไปล่ะคะ เพราะแม้แต่ตัวเราก็ไม่มี ขอรบกวนอาจารย์ช่วยตอบให้ผู้มีปัญญาน้อยได้กระจ่างด้วยค่ะ

กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง
Byonetty@hotmail.com

คำตอบ
   (๑) พัฒนาได้ครับ ฝึกได้ครับ     

   (๒) ผู้ใดดับรูปดับนามได้แล้ว สติย่อมไม่มีตัวตน แต่พระอรหันต์ที่ยังมีเบญจขันธ์ (สอุปาทิเสสนิพพาน) ยังดับรูปไม่ได้ ยังดับนามไม่ได้ .... ครับ
  

1156.
เรียน อาจารย์สนอง วรอุไร

   เนื่องจากดิฉันมีความเกลียดชังพ่อมาก ไม่ว่าท่านจะทำอะไรก็ขัดหูขัดตาไปหมด รู้สึกทรมาณใจมาก ได้พยายามหาวิธีที่จะทำให้ตนเองไม่เกลียดพ่อ แต่ก็ได้ผลเพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยชี้ทางด้วยค่ะ

   และอีกเรื่องที่ทรมาณใจมากคือการที่ดิฉันเอาใจไปผูกไว้กับคนที่ไม่ได้มีใจต่อดิฉันในทำนองเดียวกัน ทั้งๆที่พยายามตัดใจไปหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะตัดได้อย่างเด็ดขาด ใจมักจะวนเวียนคิดถึงเขาอยู่เสมอ ทั้งๆที่เขาเองก็มิได้ติดต่อหรือตอแยดิฉัน
กรุณาชี้ทางออกของปัญหานี้แก่ดิฉันด้วยค่ะ

ธีรษา

คำตอบ
    ทั้งสองปัญหาแก้ได้ด้วยครกหินแกรนิตที่ใช้ตำน้ำพริก ด้วยการไปซื้อหาครกหินน้ำหนักประมาณ ๑๐ กิโลกรัมไม่รวมสากมาหนึ่งใบ ครั้งใดที่จิตคิดถึงพ่อในทางไม่ดี และครั้งใดที่คิดถึงเรื่องอื่นที่ไม่ดี ให้ยกครกหินด้วยมือทั้งสองข้าง ไม่เลิกคิด-ไม่เลิกยก ยกแช่ไว้ทุกครั้งที่คิดเช่นนี้ ยกบ่อยๆแล้วจะทำปัญหาให้หมดไปได้..... พิสูจน์ไหม?
  

1154.
กราบเรียนถามท่านอาจารย์ดร.สนอง วรอุไร

ครั้งหนี่งดิฉันได้ทำสมาธิและรู้สึกว่ามีจิตที่นิ่งสนิท เหมือนใบไม้ที่ลมพัดก็ไม่ไหวติง และมีตัวรู้ว่าจิตนิ่งคือเหมือนว่ามี2สิ่งในขณะนั้น ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อนั่งดูจิตที่นิ่งอยู่สักพักก็ออกมาจากสมาธิ หลังจากนั้นก็พบว่าจิตยังนอนนิ่งอยู่ไม่ว่าจะต้องมาใช้ชีวิตประจำวันดูแลหลาน ดุว่าหลานแต่กลับพบว่าจิตไม่ได้โกรธไปตามอาการที่แสดงออก ยังนิ่งอยู่อย่างนั้น อาการอย่างนี้เป็นอยู่2 วันไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะดิฉันมักติดข้อสงสัยในปัญหานี้ ไม่ทราบวิธีปฎิบัติที่ถูกต้อง

กราบเรียนถามท่านอาจารย์ค่ะ โดยความเคารพอย่างสูง

ทิพย์วดี เทศสีแดง

คำตอบ
    เมื่อจิตนิ่งดังที่บอกเล่าไปแล้ว ให้ใช้จิตนิ่งตามดูสิ่งกระทบที่เข้าทางหู ตา จมูก ลิ้น ฯลฯ ว่าทุกสิ่งที่เข้ากระทบต้องดับไป (อนัตตา) ตามกฎไตรลักษณ์ แล้วจิตจะปล่อยวางสิ่งกระทบที่แท้จริงแล้วไม่มีตัวตน และจิตเข้าสู่ความว่างเป็นอุเบกขา ปัญญาเห็นแจ้งในสิ่งกระทบจึงเกิดขึ้นด้วยวิธีนี้ นี่คือวิปัสสนาญาณที่ผู้ ปรารถนาความพ้นทุกข์นิยมพัฒนากัน
     

1153.
สวัสดีค่ะอาจารย์

หนูขอรบกวนปรึกษาอาจารย์ค่ะ
หนูรับงานทำรายงานจบให้คนๆหนึ่งค่ะ
หนูก็ให้คำสัญญาเค้าไว้แล้วว่าจะทำ
แต่หนูรู้มาจากหนังสือ ของ อาจารย์เล่มหนึ่ง ว่า ทำรายงานให้คนอื่นไม่ดี

พอมาถึงตอนที่หนูฝึกงาน หนูเคยบอกกับตัวเองตอนเครียดๆว่า " ถ้าได้งานที่นี่จะเลิกทำรายงานให้คนอื่น "

ถึงหนูจะทำหรือไม่ทำรายงานให้เขามันก็ไม่เดือดร้อนหนูเลยค่ะ ทางกายนะค่ะ เพราะหนูทนทำงานหนักได้ ถ้าปฏิเสธไป ก็ไม่เอาเงินที่ขาดไปก็ได้ ไม่เป็นปัญหา
แต่หนูกลัวจะผิดสัจจะ ผิดศีล ลำบากใจ ผิดคำอธิฐาน ทำให้คนอื่นเดือนร้อนเพราะสัญญาไว้แล้ว อีกหลายอย่าง ลำบากใจมากกว่า แต่ถ้าหนูรู้ว่าอย่างไหนดีกว่าหนูจะไม่รีรอที่จะทำค่ะ ทำอย่างไหนผิดอย่างไหนถูกคะอาจารย์

ด้วยความเคารพอย่างสูง

คำตอบ
    ศีลและสัจจะเป็นคุณธรรมที่ทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ผู้ที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความดีงามสูงสุดได้ ผู้นั้นต้องศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้นหากผู้ถามปัญหาประสงค์จะเป็นเช่นนี้ ต้องรักษาศีลและสัจจะไว้ ความดีงามสูงสุดจึงจะเกิดขึ้นกับตัวเองได้
  

1152.
กราบเรียนอาจารย์สนอง ที่เคารพ ผมมีคำถาม เนื่องด้วยมีผู้รู้ได้สอนผมเรื่องการปฎิบัติธรรมให้ได้มรรคผลนั้น ต้องเริ่มต้นที่การศึกษาเรื่องเจตสิกก่อน ไม่ใช่การนั้งสมาธิ เดินจงกลม หรือการเจริญกสิน และให้ผมสวดเจตสิกให้ได้ จิตจะได้บันทึกไว้ ทำให้ผมเกิดความสงสัยมาก และผมเคยมีโอกาสไปกับคณะท่านอาจารย์ท่านนั้นเพื่อทำบุญ ปรากฎว่าทุกคนในรถท่องคาถาต่างๆ ได้อย่างคล่องแคล่วมาก เช่น บทธรรมจักรกัปปวัฒนสูตร บทสวดอกุสลา และบทสวดเจตสิก ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้ผมมาก นอกจากนี้ยังห้ามสวดบทสวดอื่นๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสหรือสวด เช่น ชินบัญชร พาหุงมหากา เป็นต้น และได้สอนผมว่าถ้าปฎิบัติตามหลวงพ่อ และหลวงปู่ จะลงนรกขุม 8 เป็นต้น นอกจากนี้ยังบอกว่าไม่มีพระอริยะ อีกแล้วในปัจจุบัน ซึ่งผมไม่เห็นด้วยครับ แต่รู้สึกประหลาดใจมากๆ จึงอยากกราบเรียนถามอาจารย์ผู้รู้ด้วยครับ โดยเฉพาะเรื่องเจตสิก เช่น ให้อธิษฐานว่า "ขอให้จิตเจตสิกของข้าพเจ้า เข้าสู่กระแสมรรค 4 ผล 4 พระนิพพาน 1 โดยเฉียบพลันในปัจจุบันกาลชาตินี้เทอญ" สามารถอธิฐานได้หรือไม่ครับ เพราะปกติผมจะอธิษฐานว่าให้ปัญญาเห็นถูกตรงตามธรรม และสิ้นอาสวกิเลส ครับ

ขอแสดงความนับถือ ผู้น้อย

คำตอบ
    คำว่า อธิษฐาน หมายถึงตั้งจิตปรารถนาในสิ่งดีงาม ดังนั้นการอธิษฐานให้มีปัญญาเห็นถูกตามธรรม เป็นการอธิษฐานที่ถูก แต่ต้องทำเหตุให้ถูกตรง คือต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เช่นเดียวกันอธิษฐานให้สิ้นอาสวะ ต้องพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดกาม ภพและอวิชชาให้หมดไปจากใจได้แล้ว อาสวะย่อมหมดได้เมื่อนั้น อนึ่งผู้ใดระลึกได้ในกาลามสูตร แล้วใช้กาลามสูตรกรองคำพูดของตน จนเข้าถึงเหตุผลได้ถูกต้องแล้ว ผู้นั้นจะไม่ถูกหลอกให้เชื่อในสิ่งที่ไม่มีเหตุผลรองรับ
  

1151.
กราบเรียนอาจารย์สนอง วรอุไร

ผมมีคำถามจะรบกวนอาจารย์ ครับ ผมเป็นคนเดียวกับที่เคยเขียนมาเล่าและถามอาจารย์ เกี่ยวกับประสบการณ์ธรรมกับกลุ่มสหธรรมมิก ที่ผมเคยประสบ สมัยผมยังเป็นคาทอลิก และตอนหลังได้แยกตัวออกมาปฏิบัติเอง และได้เคยไปกราบหลวงปู่สุภาที่ภูเก็ตครับ

๑. ประมาณวันที่ ๒๕-๒๖ มีนาคม นี้ผมจะเดินทางไปเชียงใหม่ และจะนำหนังสือสวดมนต์ และประสบการณ์ธรรมของหลวงพ่อจรัญ วัดอัมพวัน ที่ผมและเพื่อนๆ พี่น้อง ได้ร่วมกันจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็นแจกธรรมทาน ตั้งใจว่าจะนำหนังสือในส่วนนี้ ไปให้พระสงฆ์ท่านอนุโมทนาเป็นสังฆทานและธรรมทานด้วย จึงจะขอรบกวนอาจารย์สนอง ได้กรุณาแนะนำวัดในเชียงใหม่ ที่ผมสามารถไปดำเนินการได้ครับ และถ้ามีสิ่งใดอาจารย์จะช่วยชี้แนะ ก็จะเป็นพระคุณครับ

๒. อิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ กับ บุญญฤทธิ์ มีความหมายอย่างไร เกิดจากกรรม และภพ ภูมิธรรมอะไรครับ และต่างกันอย่างไรครับ
ผมขอรบกวนอาจารย์ในตอนนี้ เท่านี้นะครับ

ด้วยความเคารพในธรรม
ภานุรุจ บุญญพัฒน์

คำตอบ
    (๑) แนะนำให้ถวายกับวัดที่มีการปฏิบัติธรรม อาทิ วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) วัดอุโมงค์ อ.เมือง
     วัดสันป่าสักวรอุไรธรรมาราม อ.หางดง
     วัดพระธาตุจอมทอง อ.จอมทอง
     สำนักปฏิบัติธรรมตานัง-แลนัง
     วัดพันหลัง อ.ดอยสะเก็ด ฯลฯ     

   (๒) คำว่า “ อิทธิปาฏิหาริย์ ” หมายถึง แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น หายตัว ดำดิน เดินบนผิวน้ำ ลอยในอากาศ ฯลฯ ผู้ที่จะมีฤทธิ์และแสดงความอัศจรรย์เช่นนี้ได้ ต้องเป็นผู้ที่สามารถพัฒนาจิต (สมถภาวนา) จนเข้าถึงความทรงฌาน เมื่อนำจิตออกจากความทรงฌาน อิทธิปาฏิหาริย์ย่อมเกิดได้เป็นอัศจรรย์    ภูมิธรรมที่บุคคลสามารถแสดงฤทธิ์ได้ เรียกว่า โลกิยอภิญญา ซึ่งเกิดขึ้นได้กับปุถุชน หรืออริยบุคคลผู้เข้าฌานได้    คำว่า “ บุญญฤทธิ์ ” หมายถึง สำเร็จด้วยบุญ เช่น ผู้มีบุญปรารถนาสิ่งใดได้สิ่งนั้น เป็นใหญ่ได้เพราะบุญ มีบริวารซื่อสัตย์ก็เพราะบุญ ได้มนุษย์สมบัติ ได้สวรรค์สมบัติ ได้นิพพานสมบัติก็เพราะบุญ เป็นพุทธสาวก พุทธสาวิกาได้ก็เพราะบุญ ฯลฯ
   ผู้ที่จะมีบุญญฤทธิ์ได้ ต้องประพฤติบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ จนกระทั่งพลังของบุญให้ผล    ภูมิธรรมที่ให้ผลเป็นเช่นนี้ ต้องสั่งสมบุญไว้มาก และเกิดขึ้นได้กับปุถุชนหรืออริยบุคคลได้เหมือนกัน
  

 

 

 

 

 

 

browser stats