สิ่งที่เสริมสร้างความสนิทสนมในชุมชน (ชยฺสาโร ภิกขุ)

คงไม่มีใครอยากจะอยู่ในชุมชนที่เต็มไปด้วยความอิจฉาพยาบาท การชิงดีชิงเด่นกัน การพูดจาที่หยาบคายหรือก้าวร้าว คงไม่มีใครชอบอยู่ด้วยความหวาดระแวงตลอดเวลา มนุษย์เราอยากอยู่อย่างไร คงไม่ต้องให้สถาบันไหนหยั่งเสียงประชาชนขึ้นอยู่กับการกระทำได้ว่าชอบและไม่ชอบอย่างไร บรรยากาศในชุมชนขึ้นอยู่กับการกระทำและการพูดของสมาชิกมากกว่าอย่างอื่น ความยากจน ความกดดันจากภายนอกอาจมีผลกระทบบ้าง แต่ปัจจัยหลักคือสมาชิกชุมชนเอง อาตมาจะขอสรุปลักษณะการกระทำและการพูดที่ตัวผู้เขียนไม่ชอบ ขอให้ผู้อ่านลองดูว่าเห็นด้วยไหม

อาตมาไม่ชอบการเบียดเบียน การทำให้ผู้อื่นทุกข์ยากเดือดร้อน การก่อกรรมทำเข็ญ การตามรังควาน การกลั่นแกล้ง การระราน การข่มเหง การทำเจ็บทำแสบ การซ้ำเติม การรุกราน การจองล้างจองผลาญ การบ่อนทำลาย การกดขี่ เป็นต้น

เขียนไปเขียนมา ที่ไม่ชอบก็เยอะเหมือนกัน เขียนมากว่านี้ก็ได้ไม่ยากแต่กลัวจะเปลืองกระดาษ แค่นี้ก็น่าจะพอเป็นตัวอย่างไม่ทราบว่าผู้อ่านจะเห็นด้วยกับอาตมาหรือเปล่า ค่อนข้างมั่นใจว่าต้องเห็นด้วย

ยังไม่ถึงการพูดที่ไม่ชอบ ขอยกมาพอเป็นตัวอย่าง คือไม่ชอบการพูดปด การพูดส่อเสียด การพูดหยาบคาย การถากถางเสียดสี การพูดลามก การพูดจ้วงจาบหยาบช้า การพูดตลบตะแลง การพูดทิ่มแทง การพูดเยาะเย้ย การนินทาลับหลัง เป็นต้น

อาตมาเชื่อว่าชุมชนไหนมีการกระทำและการพูดดังกล่าวเป็นประจำ คงไม่เจริญและคงไม่น่าอยู่ สิ่งที่น่าเสียดายก็คือการกระทำและการพูดที่ไม่มีใครชอบ (อย่างน้อยในคนอื่น) นั้นยังปรากฏอยู่ในสังคมมนุษย์อย่างเกลื่อนกลาด คำถามที่สำคัญคือ จำเป็นไหมที่จะต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป ถ้าไม่จำเป็น ทำอย่างไรจึงจะทำให้มนุษย์อยู่ด้วยกันดีกว่านี้

พระพุทธศาสนายืนยันว่ามนุษย์สามารถแก้ปัญหาของตัวเองได้ แต่ต้องตั้งใจแน่วแน่ และต้องใช้ปัญญา การใช้อริยสัจสี่เป็นหลักพิจาณาจะช่วยให้การไตร่ตรองเรื่องนี้ชัดขึ้น คือเรากำหนดตัวปัญหาสืบหาสาเหตุของปัญหา ตั้งเป้าหมายคือภาวะที่ปลอดปัญหาหรือมีปัญหาน้อยที่สุดให้แจ่มแจ้ง แล้วปฏิบัติตรงตามวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อขจัดสาเหตุของปัญหาและบรรลุถึงเป้าหมายนั้น

 

ฟังง่าย แต่ทำยากมาก

ครั้งหนึ่ง ตอนพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ เมืองสาวัตถี พระองค์ตรัสถึงหลักการอยู่ด้วยกันอย่างสนิทสนม โดยเน้นที่การปฏิบัติต่อกันในหมู่สงฆ์ พระองค์ตรัสว่า ถ้าหากพระทุกรูป

•  ตั้งใจกระทำแต่ในสิ่งที่เกิดจากเมตตาและประกอบด้วยเมตตา

•  ตั้งใจพูดแต่ในสิ่งที่เกิดจากเมตตาและประกอบด้วยเมตตา

•  ตั้งใจมองเพื่อนพรหมจารีและคิดต่อกันด้วยเมตตา

•  ไม่เห็นแก่ตัว แบ่งปันลาภที่ได้มาอย่างสุจริต

•  มีศีลที่ดีเสมอกับหมู่เพื่อน

•  มีแนวความคิดความเห็นที่ดีเสมอกับหมู่เพื่อน

คือถ้าบำเพ็ญ สารณียธรรม ๖ ข้อนี้ จะทำให้เป็นที่ระลึกกัน คือ ใครปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้แล้ว เพื่อนจะไม่ลืม ไม่ทอดทิ้งธรรม ๖ ข้อนี้ ทำให้เป็นที่รัก เป็นที่เคารพ และทำให้ชุมชนอยู่สงบไม่มีการวิวาทกัน อยู่อย่างประสานกลมกลืน สมานสามัคคี

แม้ว่าพระสูตรนี้ ตรัสแก่พระภิกษุผู้มอบกายถวายชีวิตต่อการพัฒนาตนก็ตาม ฆราวาสผู้ครองเรือนก็สามารถเอาเป็นแนวทางได้ เพราะมีแต่ข้อ ๔ ที่มุ่งที่ชีวิตพรหมจรรย์โดยเฉพาะ

ในพระสูตรนี้คุณธรรมที่พระองค์เน้นมากที่สุดคือเมตตา เมตตาคือความหวังดี ความปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุขโดยไม่มีเงื่อนไขและไม่หวังสิ่งตอบแทน

การพัฒนาเมตตายากอยู่เหมือนกัน แต่ไม่เหลือวิสัย ที่ไม่ยากเกินไปก็เพราะว่าดินเราดี เมล็ดเรามี หมายความว่าจิตใจมนุษย์เป็นที่เกิดและที่เจริญของเมตตาที่สมบูรณ์ เรียกว่า ดินเราดี นอกจากนี้เมตตานั้นเป็นสิ่งที่เคยปรากฏในจิตของทุกคนอยู่แล้วไม่มากก็น้อย เพียงแต่ว่าคนส่วนมากไม่เคยพัฒนาอย่างเป็นระเบียบและต่อเนื่อง เรียกว่าเมล็ดเรามี เมื่อทรัพยากรเราพร้อมอย่างนี้ก็สำคัญที่เราเห็นประโยชน์ในการมีเมตตาและโทษของการขาดเมตตา เพราะกำลังใจย่อมเกิดจากการซาบซึ้งในประโยชน์

อานิสงส์ข้อแรกของเมตตาคือทำให้มีความสุขง่ายทันใจ เมตตาเกิดในใจเราเมื่อไรความสุขก็เกิดเมื่อนั้น ความสุขที่มั่นคงที่ชีวิตเราต้องการไม่เกิดลอย ๆ มันเป็นผลของการกระทำทางกาย วาจา และใจอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่เราต้องสร้างขึ้นมาเอง เราทุกคนต้องการความสุข เราก็ต้องฉลาดและขยันในการสร้างเหตุให้เกิดสุข ทำอย่างไร พูดอย่างไร คิดอย่างไรจึงจะมีความสุข พระพุทธองค์ตรัสว่าเมตตาเป็นทางลัด คือสุขทันที ไม่พยาบาทเสียอย่างก็เห็นผลแล้ว

อยากได้ความสุข ต้องให้ความสุข และไม่มีใครในโลกนี้ไม่สามารถให้ความสุขแก่คนอื่นในระดับใดระดับหนึ่ง (ถ้าใครชอบมองตัวเองในแง่ร้าย และค้านว่าฉันไม่เคยให้ความสุขกับใครเลย อาตมาขอตอบว่า แค่อ่านหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้เจ้าภาพมีความสุขแล้ว)

ผู้ที่เจริญเมตตาอย่างสม่ำเสมอ จะไม่เครียด นอนหลับดี (ประหยัดค่ายานอนหลับ) หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส (ไม่ต้องเสียเงินผ่านั่นดึงนี่ จึงจะไร้ริ้วรอย) เป็นที่รักของมนุษย์ เป็นที่รักของอมนุษย์ (ผีไม่คิดหลอก เทวดาดูแล) จิตสงบง่าย ตายมีสติ ตายแล้วไปที่ดี

เมื่อเมตตาดีอย่างนี้ ทำไมคนเราไม่หมั่นเจริญเมตตาอย่างจริงจัง คำตอบคงจะง่าย ๆ ไม่ทำเพราะไม่เคยทำ เป็นเรื่องธรรมดาว่าผู้ที่ไม่เคยพัฒนาเมตตาธรรม ยังไม่เคยสัมผัสความสุขของจิตที่เต็มเปี่ยมด้วยเมตตา มักไม่มีแรงบันดาลใจเพียงพอ ซ้ำร้ายความเข้าใจผิดบางอย่างอาจคอยบั่นทอนความกระตือรือร้นก็ได้ คือคนบางคนเสียดายความพยาบาท โดยถือว่าเป็นกำลังภายในซึ่งป้องกันตัว ทำให้คนอื่นเกรงข้าม ไม่กล้าเอาเปรียบ

การมองว่าเมตตาทำให้เราอ่อนแอ ชวนให้คนอื่นเอาเปรียบเราได้ง่าย เกิดจากความไม่เข้าใจธรรมชาติของเมตตา เมตตาที่แท้ต้องมีปัญญาสนับสนุนเบื้องหลังอยู่เสมอ (ที่จริงไม่ใช่เมตตาเท่านั้นที่เป็นอย่างนี้ คุณงามความดีทุกประการถ้าขาดปัญญาย่อมไม่ยั่งยืน เพราะไม่ทันการบ่อนทำลายของกิเลส) ปัญญานั่นแหละเป็นตัวควบคุมเมตตาให้ไปในทางปลอดภัย ส่วนเมตตาขาดปัญญาอาจกลายเป็นการบำรุงกิเลสคนอื่นมากกว่าการให้เขาเป็นสุข เช่น เขาขออะไรจากเราแล้วเราไม่พิจารณาถึงผลที่จะตามมาจากการเอาใจเขา ให้ไปเพียงเพราะว่ารักหรือกลัวว่าขัดใจเขาแล้วเขาจะโกรธหรือไม่รักเรา ในกรณีเช่นนี้ ความคิดในใจเรา ท่านไม่เรียกว่าเมตตาเสียแล้ว มันหมดท่ามากกว่าใจอ่อนไม่ใช่ใจเมตตา

สรุปว่าเมตตา ความปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุข ต้องอิงความเข้าใจในเรื่องความสุขจึงจะถูกหลัก ต้องจับความแตกต่างระหว่างความสุขที่มีผลเป็นความทุกข์ในระยะยาว และความสุขที่มีผลคือความสุขยิ่ง ๆ ขึ้นไป อย่างแรกต้องสละ อย่างที่สองต้องทำให้มาก

กลับมาพูดถึงเรื่องพระสูตรย่อ พระพุทธองค์ตรัสว่าชุมชนจะอยู่ดีเพระเมตตาของสมาชิก พระองค์แยกเมตตาออกเป็นสามข้อคือ เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และเมตตามโนกรรม โดยกำชับว่าต้องปฏิบัติทั้งสามประการนี้ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

เมตตากายกรรม คือการกระทำที่เกิดจากความหวังดี เช่น การช่วยเหลือกัน เกื้อกูลเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ช่วยพยาบาลเพื่อนที่เจ็บไข้ ช่วยกิจธุระของส่วนรวม ทำความดีเงียบ ๆ แบบปิดทองหลังพระ มีของดีให้ส่วนรวม พยายาม “ เอา ” เป็นคนสุดท้าย (แต่ถ้าแย่งกันเป็นคนสุดท้ายแบบ “ เชิญ เชิญ ” “ ไม่เป็นไร ไม่เป็นไร เชิญ เชิญ ” จนรำคาญกันก็คือเมตตาขาดปัญญาอีกแหละ) ถ้าทำความดีแล้วไม่มีใครชมเป็นอย่างไรไหม ไม่น้อยใจ ไม่ท้อใจที่ถือว่าสอบผ่านในเรื่องเมตตากายกรรม เขาชมก็ดีใจชั่วแว่บ ไม่เป็นไร แต่อย่าเอาจริงเอาจังกับมัน เพราะเดี๋ยวจะติดใจ ช่วยคนอื่นอย่างนี้จะเคารพนับถือตัวเองมากขึ้น ไม่ต้องหวังอะไรจากคนอื่น คนเขาเคารพนับถือไปเอง เมื่อความดีปรากฏในชุมชน สมาชิกต้องเห็นว่าบรรยากาศดีขึ้น แล้วมีกำลังใจที่จะทำความดีต่อไป

เมตตาวจีกรรม คือการพูดด้วยเมตตา พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถูกกาลเทศะ พูดอย่างสุภาพอ่อนโยน แบ่งปันความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่เป็นแก่นสารแก่คนอื่น ไม่หวงวิชา ให้กำลังใจเวลาเพื่อนทุกข์ใจ เตือนสติเวลาเพื่อนประมาท ห้ามปรามเวลาเพื่อนอยากทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง เข้าไปไกล่เกลี่ยเวลาเพื่อนทะเลาะกัน

การดำรงสติในการพูดเป็นสิ่งที่ทำยาก แต่ความหวังดีต่อคนรอบข้างช่วยประคองจิตไว้ในกุศล และรักษาคำพูดเราไว้ในกรอบของสัมมาวาจาได้ดี สำหรับผู้มีกิจธุระมาก มีเวลานั่งสมาธิน้อย การพัฒนาวาจาของตนให้งาม น่าฟัง ถึงใจผู้ฟัง เป็นแนวทางปฏิบัติที่เหมาะดี

เมตตามโนกรรม คือฝึกมองกันในแง่ดี ไม่ครุ่นคิดในเรื่องไม่ดีของคนรอบข้าง ไม่คิดเพ่งโทษ หรือจับผิด ไม่คิดไปในทางแก้แค้นแต่คิดให้อภัย ปล่อยวาง คิดหาวิธีสร้างประโยชน์แก่ชุมชนเพิ่มมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือเจริญเมตตาภาวนาเป็นประจำ วิธีการหนึ่งคือนั่งนึกภาพของสมาชิกชุมชนทุกคนทีละคน และแผ่เมตตาให้เขาอย่างจริงใจ คือ หายใจออกนึกเหมือนแสงสว่างนิ่มนวลแผ่ออกจากตัวเราไปสู่ตัวเขา ถ้าเรากำลังโกรธใครเอาคนนั้นไว้สุดท้าย แต่ถ้าเป็นไปได้ต้องพยายามแผ่ให้กับทุกคนโดยไม่เอาความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบเป็นประมาณ เราแผ่เมตตาแก่คนอื่นโดยไม่ต้องชอบบุคลิกเขาก็ได้ เพราะเมตตาไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องการบรรเทาความแบ่งแยกว่าเราว่าเขาด้วยพลังแห่งพรหมวิหาร การกระทำ การพูด และการคิด ดำเนินไปในทางแห่งเมตตา ทำให้ชุมชน ตั้งแต่ครอบครัวตลอดจนถึงสังคมทั่งไปสงบลงได้ แต่ยังมีคุณธรรมข้ออื่นอีกที่ขาดไม่ได้

การเป็นสาธารณโภคี คือหลักความไม่เห็นแก่ตัว หรือการให้ทานนั้นเอง ในกรณีของพระหมายถึง การแบ่งปันเอกลาภ ไม่ใช้สอย ไม่สะสมปัจจัยสี่ไว้คนเดียว จนเป็นที่อิจฉาของเพื่อน สำหรับผู้ครองเรือนน่าจะหมายถึงการแบ่งส่วนหนึ่งของทรัพย์สมบัติให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมไม่สะสมไว้เฉย ๆ ไม่เที่ยวอวดความมั่งมี สังคมไหนมีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนกว้างและกว้างขึ้นทุกปี เป็นสังคมที่มีปัญหา แม้ในสังคมสงฆ์ซึ่งสมาชิกทุกคนกำลงพยายามชนะกิเลสของตน ความอิจฉายังเป็นปัญหาอยู่เสมอ นับประสาอะไรกับสังคมวัตถุนิยมที่ชวนให้คนไม่รวยรู้สึกต่ำต้อยและหมดหวัง

ข้อต่อไปคือการมี ศีลเสมอกัน ศีลของสมาชิกชุมชนไหนไม่เสมอกันก็อยู่กันยาก เช่นพระผู้ไม่จับเงินไปอยู่กับพระที่จับเงิน ทุกฝ่ายก็อึดอัดใจ ฝ่ายเคร่งศีลมักจะรู้สึกรังเกียจฝ่ายที่ไม่เคร่ง ฝ่ายไม่เคร่งก็เขินบ้าง แกล้งบ้าง หาว่าผู้เคร่งอวดดีบ้าง

ในบ้าน สามีชอบกินเหล้าเมา ภรรยาไม่กิน ไม่นานก็ระหองระแหงกัน พูดไม่รู้เรื่อง ถ้าการไม่รักษาศีลเป็นที่ยอมรับของทุกคนในชุมชนอาจจะสามัคคีกันได้ แต่จะเป็นความสามัคคีของโจรผู้ร้าย หรือจะกลายเป็นว่าเธอไม่ว่าฉัน ฉันจะไม่ว่าเธอ ทุกคนหาผลประโยชน์ตามใจชอบ ของใครของมัน บ้านนั้น สังคมนั้นย่อมไม่น่าอยู่

ศีลที่จะนำไปสู่การอยู่กันอย่างมีความสุข และความเอ็นดูต่อกันพระพุทธองค์ทรงขยายความว่า

•  ต้องไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย คือรักษาอย่างพิถีพิถันเห็นโทษในความย่อหย่อนแม้แต่เล็กน้อย คือรักษาตรงตามตัวหนังสือ (ถูกพยัญชนะ)

•  ต้องมีปัญญาป้องกันไม่ให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นในศีลด้วยความคิดเห็น (เช่นถือว่าพระเคี้ยวหมากเป็นพระอริยเจ้าไม่ได้) หรือตัณหา (เช่นรักษาศีลเพราะอยากสร้างภาพพจน์ว่าเป็นคนดี เพื่อผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง)

•  ต้องเป็นศีลที่พระอริยเจ้าชื่นชม คือ งดงาม หมดจด

•  ต้องเป็นศีลที่นำไปสู่สมาธิ คือ ตรงตามวัตถุประสงค์ในไตรสิกขา (ถูกอรรถะ)

บทบาทของศีลในพระพุทธศาสนาไม่ได้จบอยู่ในตัวของมันเอง การควบคุมกายวาจาด้วยสติ ภายในกรอบของสิกขาบทต่าง ๆ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชีวิต ฉะนั้นชาวพุทธเราต้องมุ่งมั่นในการใช้ศีลช่วยสร้างฐานแห่งความเรียบร้อยดีงาม เพื่อความสะดวกในการเจริญในมรรคต่อไป

ผู้ที่ชอบหาทางเลี่ยงศีลบางข้อ เช่น ยืนยันว่าทานเหล้าไม่เมา ไม่น่าจะผิด คงไม่เข้าใจในจุดนี้ คือไม่มองศีลเหมือนกฎหมาย และการผิดศีลบางประการเหมือนผิดกฎหมายบ้างเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องสำคัญพอที่จะต้องถูกปรับหรือติดคุก แต่ศีลไม่เป็นกฎหมายเช่นนั้น และไม่มีใครจะผู้ที่ไม่สามารรับประโยชน์จากศีลข้อนั้น ซึ่งมีผลทำให้การปฏิบัติเนิ่นช้า เพราะทุกครั้งที่ใครผิดศีลเขาย่อมเพิ่มกำลังของกิเลสที่ทำให้ละเมิดไม่มากก็น้อย

ศีลเป็นสารณียธรรม เพราะชุมชนแห่งผู้มีศีลจะมีบรรยากาศแห่งความไว้วางใจซึ่งกันและกัน และความเคารพนับถือกัน ถ้าเรามั่นใจว่าใครไม่เป็นอันตรายต่อเรา จะไม่เบียดเบียนเราเป็นอันขาด ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เราจะต้องชอบเขา และทุกคนน่าจะอยู่กันได้อย่างมีความสุข

ข้อสุดท้ายคือข้อที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นคุณธรรมที่รองรับข้ออื่น ๆ การมีสัมมาทิฐิเสมอกัน ทำให้สมาชิกของชุมชนมีเป้าหมายอันเดียวกัน เมื่อทุกคนมีความเชื่อมั่นในกฎแห่งกรรม เชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง คำสอนของพระองค์คือความจริง ผู้ที่ตรัสรู้ตามพระองค์มีจริง นโยบายอันใดของชุมชนน่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกคน เมื่อทุกคนเห็นด้วยว่าชีวิตดีงามเกิดจากการพัฒนากาย วาจา ใจ ตามหลักศีล สมาธิและปัญญา วิถีชีวิตของทุกคนต้องเข้ากันได้ และทุกคนมีโอกาสเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน

สรุปว่าครอบครัวก็ดี ชุมชนก็ดี จะเจริญก็ด้วยมีความเชื่อถือค่านิยม อุดมการณ์อันเดียวกัน การกระทำทางกาย วาจา ที่ถูกต้องตามหลักศีล และประกอบด้วยเมตตาธรรม