เงินและทองเป็นมลทินของภิกษุ

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน นครราชคฤห์ ครั้งนั้น พระอุปนนทศากยบุตร เป็นพระประจำของตระกูลหนึ่ง ท่านรับบิณฑบาตที่บ้านนั้นเป็นประจำ เขามักจะแบ่งอาหารไว้ถวายท่านในวันรุ่งขึ้นประจำ

เย็นวันหนึ่ง บ้านนั้นมีเนื้ออยู่ชิ้นหนึ่ง เขาตั้งใจว่าจะเอาไว้ถวายพระอุปนนท์ แต่พอเช้ามืดวันรุ่งขึ้น เด็กเล็กตื่นนอนขึ้นมา แลเห็นเนื้อเข้าก็ร้องไห้จะเอา ทำอย่างไรก็ไม่ยอม สามีจึงบอกภรรยาว่า จงให้ชิ้นเนื้อแก่เด็กไปเถิด แล้วค่อยซื้อสิ่งอื่นถวายท่าน

พอสว่างพระอุปนนท์ถือบาตรมาบ้านนั้น พ่อบ้านได้เล่าเรื่องชิ้นเนื้อถวาย ว่าได้ให้เนื้อแก่เด็กไปแล้ว ตอนนี้จะหาซื้ออะไรไม่ทัน ท่านจะให้ทำอย่างไรดี เนื้อนั้นมีค่าหนึ่งกหาปณะผมแยกเงินไว้แล้ว

พระอุปนนท์ได้บอกว่า ถ้าเช่นนั้นก็ไม่ต้องซื้ออะไร เอาเงินหนึ่งกหาปณะนั้นแหละมาให้ท่านแทน สามีจึงได้ถวายเงินหนึ่งกหาปณะแก่พระอุปนนท์ พอถวายไปแล้วก็เพ่งโทษติเตียนว่า พระสมณะรูปนี้รับเงินทองเหมือนพวกชาวบ้าน

เมื่อข่าวการรับเงินของพระอุปนนท์รู้ไปถึงหมู่ภิกษุ พวกภิกษุต่างพากันรังเกียจ จึงนำความขึ้นกราบทูลพระพุทธองค์ จึงทรงประชุมสงฆ์ตำหนิการกระทำนั้น แล้วบัญญัติเป็นสิกขาบทห้ามภิกษุรับเงินทองเอง หรือใช้ให้คนอื่นรับ เพื่อเก็บไว้สำหรับตน ซึ่งสิกขาบทนี้ยังใช้อยู่จนทุกวันนี้

โกสิยวรรค วินัย ๒/๑๓๐

ขยายความ ความมุ่งหมายในการบัญญัติวินัยข้อนี้ในชั้นแรกทีเดียวนั้น ก็มุ่งความติเตียนของชาวบ้านเป็นเกณฑ์

แต่ถ้าจะพิจารณากันให้ตลอดสาย ทั้งอดีตและปัจจุบันจะเห็นพระอนาคตังสญาณ ของพระพุทธองค์อย่างแจ่มชัด คือนอกจากทรงมุ่งชาวบ้านตำหนิแล้ว ยังทรงมุ่งมิให้พระสะสมและแก้ปัญหาต่าง ๆ อันเกิดขึ้นจากเงินเป็นเหตุอีกมากมาย

แม้ในวินัยเอง ก็ยังทรงให้ยินดีสิ่งของ อันเกิดจากเงินได้ (เมณฑกานุญาต ๕/๑๑๓) แต่มิได้หมายความว่า ให้รับเงินเอง เก็บเอง ใช้เอง นั่นเป็นในสมัยพุทธกาล

ในสมัยปัจจุบันนี้ พระควรใช้เงินหรือไม่ ตามความเห็นของผู้จัดทำ ต้องดูกันที่ “ กาละ เทศะ และบุคคล ” นั่นก็คือการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระวินัย ควรจะมาเป็นอันดับแรก ไม่รับไม่เก็บเอง หรือให้เขาเก็บไว้เพื่อตน แต่ควรจะมีผู้เก็บไว้เป็นกองกลาง (ของสงฆ์)

อันดับสอง ถ้าทำไม่ได้ตามข้อแรก ควรจะรับเอง เก็บเองและใช้เองได้ แต่ต้องดูสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้าชาวบ้านรังเกียจก็ไม่ควรจะทำ ควรจะถามความมุ่งหมายของชาวบ้านดู ว่าจะให้พระทำอย่างไร ชาวบ้านจะร่วมมือ ให้พระได้เอื้อเฟื้อพระวินัยได้เพียงไร ถ้าชาวบ้านรับภาระได้ก็หมดปัญหา

อันดับสุดท้าย ถ้าไม่มีผู้สนอง และชาวบ้านไม่รังเกียจก็รับ เก็บ และใช้เองได้ แต่จะต้องยึดหลักไม่สะสม และจะใช้ในสิ่งที่ควรแก่สมณะเท่านั้น ต่อไปเมื่อมีผู้รับสนอง ก็ควรจะงดเสีย

อย่าหลับตาด่าพระเรื่องเงินกันต่อไปอีกเลย จะให้พระเคร่งครัดวินัย แต่ท่านไม่เคยช่วยพระเลย อย่างนี้แล้ว ท่านจะได้ชื่อว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกา ทีมีเมตตาได้อย่างไร