พุทธภาษิต เกี่ยวกับชีวิตและความตาย

๑.  ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ สั้นนิดเดียว ลำบากยากเข็ญ มีทุกข์มาก แต่ก็ไม่มีเครื่องหมายให้รู้ว่าจะตายเมื่อใด

 

๒.  สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้วพยายามหาวิธีที่จะไม่ต้องตาย ก็ไม่สำเร็จ ถึงจะมีชีวิตอยู่ต่อไป จนชราภาพก็ต้องตายอยู่ดี เพราะธรรมดาของสัตว์โลกเป็นอย่างนี้

 

๓.  สัตว์ทั้งหลายเกิดมาแล้ว ก็มีภัยจากการที่ต้องตายเป็นนิตย์ เปรียบเหมือน ผลไม้สุกงอม แล้วก็มีภัยจากการที่ต้องร่วงหล่นไปในเวลาเช้า

 

๔.  ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ต้องแตกดับไปเป็นธรรมดาเปรียบเหมือนภาชนะดินทุกชนิด ที่ช่างหม้อปั้นแล้วในที่สุดก็ต้องแตกไป

 

๕.  ทั้งเด็ก ทั้งผู้ใหญ่ ทั้งคนโง่ ทั้งคนฉลาด ล้วนตกอยู่ในอำนาจของมฤตยู บ่ายหน้าไปสู่ความตายทั้งนั้น

 

๖.  เมื่อเหล่าสัตว์จะตาย ต้องไปปรโลกแน่นอนแล้ว บิดามารดาก็ไม่สามารถช่วยบุตรธิดาของตนไว้ได้ หรือหมู่ญาติก็ไม่สามารถจะช่วยพวกญาติของตนไว้ได้

 

๗.  จงดูเถิด ทั้ง ๆที่มีหมู่ญาติมาเฝ้ารำพึงรำพันอยู่ โดยประการต่าง ๆ แต่ผู้จะตาย กลับถูกมฤตยูคร่าตัวเอาไปแต่เพียงผู้เดียว เหมือนโคที่เขาจะฆ่าถูกนำไปแต่เพียงตัวเดียว

 

๘.  สัตว์โลกตกอยู่ในอำนาจของความแก่และความตายอย่างนี้ เพราะเหตุนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายทราบชัดถึงสภาพของสัตว์โลกแล้ว จึงไม่เศร้าโศกกัน

 

๙.  ท่านหาได้รู้ทางของผู้มา (เกิด) หรือผู้ไป (สู่ปรโลก) ไม่ เมื่อไม่เห็นปลายสุดทั้งสองด้านถึงจะคร่ำครวญไปก็ไร้ประโยชน์

 

๑๐.  ถ้าผู้ที่ทำตนให้เดือดร้อนด้วยการหลงใหลคร่ำครวญ จะทำประโยชน์อะไรให้เกิดขึ้นได้บ้าง นักปราชญ์ผู้รู้แจ้งก็คงจะทำอย่างนั้นตามไปแล้ว

 

๑๑.  การร้องไห้ เศร้าโศก ไม่สามารถทำใจของผู้คนให้สงบได้ มีแต่จะเกิดทุกข์มากยิ่งขึ้น ทั้งร่างกายก็จะพลอยทรุดโทรม

๑๒. จะเบียดเบียนตนเอง มีร่างกายซูบผอม ผิวพรรณหมองคล้ำ การร่ำไห้คร่ำครวญ ไม่ได้ช่วยอะไรแก่คนตายไปแล้ว จึงไม่มีประโยชน์อะไรเลย

 

๑๓. คนที่สลัดความโศกไม่ได้ มัวทอดถอนใจถึงคนที่ตายไปแล้ว ตกอยู่ในอำนาจของความเศร้าโศก มีแต่จะทุกข์มากยิ่งขึ้น

 

๑๔. จงดูเถิด ถึงแม้คนอื่นก็กำลังจะตายไปตามยถากรรม สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ต่างตกอยู่ในอำนาจมฤตยู กำลังพากันดิ้นรน (กลัวตาย) ด้วยกันทั้งนั้น

 

๑๕. สัตว์ทั้งหลายตั้งความหวังอยากจะให้เป็นอย่างอื่น (คือไม่ตาย) แต่ก็ไม่สมหวัง ความพลัดพรากจากกันมีอยู่เป็นประจำ ท่านจงพิจารณาดูความจริงแท้ของสัตว์โลกเถิด

 

๑๖. แม้จะมีคนอยู่ได้ถึงร้อยปี หรือเกินกว่านั้นไปบ้าง ก็ต้องพลัดพรากจากหมู่ญาติ ทิ้งชีวิตไว้ในโลกนี้อยู่ดี

 

๑๗. เพราะเหตุนั้น เมื่อได้สดับธรรมเทศนาของพระท่านแล้ว ก็พึงระงับความคร่ำครวญ ร่ำไห้เสีย ยามเมื่อเห็นคนล่วงลับดับชีวิตไป ก็ให้กำหนดรู้ว่าเขาตายไปแล้ว เราจะให้เขาฟื้นคืนมาอีกไม่ได้

 

๑๘. ธีรชนผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสียโดยฉับพลัน เหมือนเอาน้ำดับไฟ ที่กำลังไหม้ลุกลาม และเหมือนลมพัดปุยนุ่น

 

๑๙. ผู้แสวงสุขแก่ตน พึงระงับความเศร้าโศกคร่ำครวญร่ำไห้ ความโหยหาและความโทมนัส พึงถอนลูกศรคือความเศร้าโศกเสียให้ได้

 

๒๐. ผู้ถอนลูกศรนี้ได้แล้ว ก็จะมีอิสระ ได้ความสงบได้ ผ่านพ้นความเศร้าโศกทั้งปวง ไม่มีความเศร้าโศกมีแต่เยือกเย็นใจ

 

๒๑. ชีวิตนี้น้อยนัก มนุษย์ย่อมตายภายในร้อยปี ถึงใครจะอยู่เกินกว่านั้นไปบ้าง ก็ต้องตายเพราะชราเป็นแน่แท้

 

๒๒. ชนทั้งหลายเศร้าโศก เพราะสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเราทั้ง ๆ ที่สิ่งที่ยึดถือนั่น ไม่มีอะไรเที่ยงแท้เลย ผู้ที่มองเห็นว่า ความพลัดพรากจากกันจะต้องมีแน่นอนเช่นนี้แล้ว ก็ไม่ควรอยู่ครองเรือน

 

๒๓. คนที่สำคัญหมายสิ่งใดว่า “ นี้ของเรา ” ก็จะต้องจากสิ่งนั้นไปเพราะความตาย พุทธมามกะผู้เป็นบัณฑิต ทราบความข้อนี้แล้ว ก็ไม่ควรเอนเอียงไปในทาง ที่จะยึดถือว่า เป็นของเรา

 

๒๔. คนที่รักใคร่กัน ตายจากไปแล้ว ก็จะไม่ได้พบเห็นกันอีก เหมือนคนตื่นขึ้น ไม่เห็นสิ่งที่พบในฝัน

 

๒๕. (ขณะมีชีวิตอยู่) คนที่มีชื่อเรียกขาน ก็ยังพอได้พบเห็นกันบ้าง ได้ยินเสียงกันบ้าน คนที่ตายไปแล้วก็เหลือแต่ชื่อเท่านั้น ที่จะพูดถึงกันอยู่

 

๒๖. ผู้ที่พึงพอใจในสิ่งที่ยึดถือว่าเป็นของเรา ย่อมสละความเศร้าโศกความคร่ำครวญ และความหวงแหนไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น ผู้เข้าถึงธรรม (มุนี) ทั้งหลาย เห็นความปลอดโปร่ง จึงสละสิ่งที่เคยแหนหวงเที่ยวไปได้

 

๒๗. บัณฑิตทั้งหลาย กล่าวถึงผู้ไม่แสดงตนในภพ (ผู้บรรลุแล้ว) ว่าเป็นบุคคลที่สอดคล้อง เหมาะสมกับภิกษุผู้บำเพ็ญความหลีกเร้นถอนจิต (ผู้ที่ยังไม่บรรลุ) ซึ่งอยู่ในเสนาสนะที่สงัด

 

๒๘. ผู้เข้าถึงธรรม (มุนี) ไม่ติดอยู่ในสิ่งทั้งปวง ไม่ทำอะไร ๆ ให้เป็นที่รักให้เป็นที่ชัง ความรำพึงรำพันและความหวงแหน จึงมิได้แปดเปื้อน เหมือนน้ำไม่แปดเปื้อนใบบัว

 

๒๙. หยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว วารีไม่ติดบนดอกบัวฉันใด ผู้เข้าถึงธรรม (มุนี)ก็ไม่ติดในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่ทราบ ฉันนั้น

 

๓๐. ผู้ห่างไกลจากกิเลส ผู้มีปัญญา ไม่สำคัญหมายในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน และอารมณ์ที่รับทราบ ไม่ปรารถนาความบริสุทธิ์ด้วยวิธีการอื่น ทั้งไม่ยินดียินร้าย

 

๓๑. บุคคลใด ประพฤติชั่วร้าย ไม่มีความคิด ถึงจะมีชีวิตตั้งร้อยปี ชีวิตของเขา ก็หาประเสริฐไม่ ส่วนบุคคลใด มีศีล มีความคิด แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวก็เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่า

 

๓๒. บุคคลใด เกียจคร้าน มีความเพียรทราม ถึงจะมีชีวิตอยู่ตั้งร้อยปี ชีวิตของเขา ก็หาประเสริฐไม่ ส่วนบุคคลใด มุ่งหน้าทำความเพียรอย่างมั่นคง แม้มีชีวิตอยู่เพียงวันเดียว ก็เป็นชีวิตที่ประเสริฐกว่า

 

๓๓. บุคคลพึงสละทรัพย์เพื่อจะรักษาอวัยวะ พึงยอมสละอวัยวะเพื่อจะรักษาชีวิต และยอมสละทุกอย่างทั้งอวัยวะ ทรัพย์ และแม้ชีวิต เพื่อรักษาธรรม

๓๔. อายุสังขารจะพลอยประมาทไปกับมนุษย์ทั้งหลาย ที่ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ก็หาไม่

 

๓๕. เพราะฉะนั้น ในชีวิตที่ยังเหลืออยู่นี้ คนเราควรทำกิจหน้าที่ของตนและไม่พึงประมาท

 

๓๖. ดอกไม้ที่สุมกันอยู่เป็นกอง นายช่างที่ฉลาด สามารถนำมาร้อย เป็นพวงมาลัย มีคุณค่ามากได้ฉันใด ชีวิตคนเราที่เกิดมานี้ ก็ควรจะใช้ ประกอบกุศลกรรม ความดีให้มาก ฉันนั้น

 

๓๗. บุญเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ในปรโลก

 

๓๘. ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจ เราจักทอดทิ้งกายนี้อย่างมีสติ สัมปชัญญะ มีสติมั่น

 

๓๙. ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ ชีวิตเราก็มิได้ติดใจ เรารอคอยเวลาเหมือนคนรับจ้าง ทำงานเสร็จแล้วรอรับค่าจ้าง

 

๔๐. วันคืนล่วงไป ชีวิตของคนก็พร่องลงไป จากประโยชน์ที่จะทำ

 

๔๒. วันคืนไม่ผ่านไปเปล่า ๆ

 

๔๓. กาลเวลาล่วงไป วันคืนผ่านพ้นไป วัยก็หมดไปทีละตอน ๆ ตามลำดับ

 

๔๔. รูปกายของสัตว์ย่อมร่วงโรยไป แต่ชื่อและโคตรไม่เสื่อมสลาย

 

๔๕. เมื่อจะตาย ทรัพย์แม้แต่น้อยก็ติดตามไปไม่ได้

 

๔๖. กาลเวลาย่อมกลืนกินสัตว์ทั้งหลาย พร้อมกับตัวมันเอง

 

๔๗. ถ้าบุคคลจะเศร้าโศกถึงคนที่ไม่มีอยู่แก่ตนคือ คนที่ตายไปแล้ว ก็ควรจะเศร้าโศกถึงตนเอง ซึ่งตกอยู่ในอำนาจของพญามัจจุราชตลอดเวลาเช่นกัน

 

๔๘. วัยย่อมเสื่อมลงไปเรื่อย ทุกหลับตา ทุกลืมตา

 

๔๙. เมื่อวัยเสื่อมสิ้นไปอย่างนี้ ความพลัดพรากจากกันก็ต้องมีโดยไม่ต้องสงสัย หมู่สัตว์ที่ยังเหลืออยู่ควรเมตตาเอื้อเอ็นดูกัน ไม่ควรจะมัวเศร้าโศกถึงผู้ที่ตายไปแล้ว

๕๐. ผู้ที่เศร้าโศกถึงคนตาย ก็เหมือนเด็กร้องไห้ขอพระจันทร์ที่โคจรอยู่ในอวกาศ คนตายถูกเผาอยู่ย่อมไม่รู้ว่าญาติคร่ำครวญถึง เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงไม่เศร้าโศก เขาไปแล้วตามวิถีทางของเขา

 

๕๑. ตอนเช้า ยังเห็นกันอยู่มากคน พอตกเย็น บางคนก็ไม่เห็นกัน เมื่อเย็นยังเห็นกันอยู่ มากคน ตกถึงเช้า บางคนก็ไม่เห็นกัน

 

๕๒. จะตายก็ไปคนเดียว จะเกิดก็มาคนเดียว ความสัมพันธ์ของสัตว์ทั้งหลาย ก็เพียงแค่ มาพบปะเกี่ยวข้องกันเท่านั้นเอง

 

๕๓. วันคืนผ่านไป อายุก็เหลือน้อยเข้าทุกที

 

๕๔. แม่น้ำเต็มฝั่ง ไม่ไหลทวนขึ้นสู่ที่สูงฉันใด อายุของมนุษย์ทั้งหลายย่อมไม่เวียนกลับมาสู่วัยเด็กได้อีกฉันนั้น

 

๕๕. ผู้เข้าถึงธรรม ไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ฝันเพ้อถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ดำรงอยู่กับปัจจุบัน ฉะนั้นผิวพรรณจึงผ่องใส

 

๕๖. คืนวันผ่านไป ไม่มีอะไรให้เราเดือดร้อน ไม่เห็นมีอะไรที่เราสูญเสียในโลก ฉะนั้นเราจึงนอนสบายใจคิดแต่จะช่วยปวงสัตว์

 

๕๗. เวลาแต่ละวัน อย่าให้ผ่านไปเปล่า ๆ จะน้อย หรือมาก ก็ให้ทำอะไรไว้บ้าง

 

๕๘. เร่งทำความเพียรเสียแต่วันนี้ ใครจะรู้ว่าพรุ่งนี้จะตายหรือจะอยู่

 

๕๙. คนขยันทั้งคืนวัน ไม่ซึมเซา เรียกว่า มีแต่ละวันนำโชค

 

๖๐. จะมีชีวิตอยู่ก็ไม่เดือดร้อน ถึงจะตายก็ไม่เศร้าโศก ถ้าเป็นปราชญ์ มองเห็นที่หมายแล้ว ถึงอยู่ท่านกลางความเศร้าโศก ก็ไม่เศร้าโศก

 

 

 

 

 

 

อาจาริโยวาทเกี่ยวกับความตาย

๑. ผู้มีโภคทรัพย์ภายนอก มัวแต่หวงไว้ ไม่ใช้เพื่อประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่นตามสมควร ก็ทำทรัพย์ให้ไม่มีประโยชน์เหมือนเศษดิน ในที่สุดก็ต้องละทรัพย์นั้นไปด้วยความตาย

(สมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงวชิรญาณวงศ์)

 

๒. ถ้าใครกลัวตายเสียดายทุกข์ ชอบถือเอาความสนุกในการเกิดว่าเลิศเลอ ผู้นั้นต้องจัดว่าลืมตัวมัวประมาท และชอบผัดเพี้ยนเลื่อนเวลา ว่า เช้า สาย บ่าย เย็น ไม่อยากบำเพ็ญความดีสำหรับตน ในเวลาที่มีฐานะพอทำได้อยู่ ความประมาทยังจะพาให้หลั่งน้ำตาด้วยความทุกข์ในสงสาร ไม่อาจประมาณได้ว่า ยังอีกนานเท่าไหร่จึงจะผ่านพ้นแหล่งกันดารอันเป็นที่ทรมานไปได้

(หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต)

 

๓. คนเราเวลาตาย ทำให้คนร้องไห้เศร้าใจ

แต่เวลาเกิด ทำให้คนหัวเราะชอบใจ ดีใจ

คนที่หัวเราะก็หลง คนที่ร้องไห้ก็หลง ไม่รู้อะไรเป็นเหตุเป็นผล

ความจริง “ ตายและเกิด ” ก็อันเดียวกันนั่นเอง

เพียงแต่ว่าเขาเปลี่ยนกันทำหน้าที่เท่านั้นเอง

(หลวงปู่ตื้อ อาจลธมฺโม)

 

๔. “ ความเกิดมีแล้ว ความแก่ ความตายมันก็มีอยู่ ไม่มีใครพ้นตาย ตายก็ตายเต็มแผ่นดินอยู่ เกิดก็เกิดเต็มแผ่นดิน เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดอยู่นี้แหละ สัจจธรรมข้อนี้ใคร ๆ ก็พ้นไปไม่ได้ นั่งอยู่ก็ตาย นอนอยู่ก็ตาย กินอยู่ก็ตาย ไม่กินก็ตาย เจ็บป่วยก็ตายได้ ไม่เจ็บป่วยก็ตายได้ ความตายมีอยู่ทุกฐานะสถานที่ ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันครอบงำเราอยู่ทุกเมื่อ

เราต้องหาที่พึ่งอันประเสริฐไว้เสียแต่บัดนี้ แต่ยังมีชีวิตอยู่อย่างนี้ ยังแข็งแรงอยู่อย่างนี้ ถ้าร่างกาย จิตใจมันไม่อำนวย แล้วจะไม่คิดถึงอะไร จะไปยึดไปถือเอาอะไร เป็นที่พึ่งมันยาก ”

(หลวงปู่แหวน สุจิณโณ)

 

๕. แท้ที่จริง จิต วิญญาณ มันมิใช่ของแตกของทำลาย แลไม่ใช่ของสูญหาย .. ดังนั้น ใครอยากสวย ให้รักษาศีล อยากรวยให้ทำทาน อยากปัญญาชาญให้ภาวนา

(หลวงปู่ฝั้น อาจาโร)

 

๖. เราเกิดขึ้นมากี่ภพกี่ชาติ ก็มาหัดสติตัวเดียวนี้ แต่ไม่สมบูรณ์กันสักที เหตุนั้นควรที่พวกเราจะพากันรีบฝึกหัดสติแต่บัดนี้ เราจวนจะตายอยู่แล้ว ไม่ทราบว่าจะตายวันไหน ควรที่จะฝึกหัดสติให้อยู่ในเงื้อมมือของตนให้ได้ อย่าให้จิตไปอยู่ในเงื้อมมือของความหลงมัวเมา ผู้ใดจิตไม่อยู่ในอำนาจของตนก็ได้ชื่อว่า เราเกิดมาเสียเปล่า ได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าเสียเปล่า ตายไปก็เปล่าจากประโยชน์

(หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)

 

๗. โลก คือ รูป นาม กาย ใจ ของเรา ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้แน่นอน ความไม่เที่ยง มีอยู่ที่ไหน ความเป็นทุกข์ ก็มีอยู่ที่นั้น และความตายก็ไม่มียกเว้นแก่คนใด คนหนึ่ง เรามีสิทธิ์ตายได้ทุกเวลา

(หลวงปู่สิม พุทธาจาโร)

 

๘. เมื่อเราเกิดมา ก็คือ เราตาย นั่นเอง ความแก่กับความตายมันก็คืออันเดียวกันนั่นแหละเหมือนกับต้นไม้ เมื่อมีโคน มันก็มีปลาย เมื่อมีปลายมันก็มีโคน ไม่มีโคน ปลายก็ไม่มี มีแต่ปลาย โคนก็มีไม่ได้ ดังนั้น เกิดนั่นแหละคือตาย ตายนั้นละคือเกิด

(หลวงพ่อชา สุภทฺโท)

 

๙. เวลามีชีวิตอยู่ เราพึ่งอะไร เวลาตายไปเราจะพึ่งอะไร เวลาตายไปโลกหน้าไม่มีการทำไร่ ทำนา หรือว่าทำไร่ ทำสวน ซื้อถูก ขายแพง แต่อาศัยคุณงามความดีที่สร้างไว้ เป็นอาหารทิพย์ เป็นเครื่องเสวย นั่นแหละให้เราสร้างเอาไว้ นั่นแหละเป็นแก้วสารพัดนึกอย่างหนึ่ง และเป็นคู่พึ่งเป็นพึ่งตนหนึ่งพึ่งไปตลอดจนถึงอวสาน ได้ถึงนิพพาน ก็เป็นอันว่าหมดปัญหา เป็นผู้พึ่งตัวเองได้โดยสมบูรณ์

(หลวงปู่มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน)

 

๑๐. ความตายนี้ ใครจะเสียใจก็ตาม ไม่เสียใจก็ตาม ใครจะชอบก็ตาม ไม่ชอบก็ตาม ใครจะยินดีก็ตาม ไม่ยินดีก็ตาม เมื่อถึงวาระมีอันเป็นไป ก็จะต้องเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ตราบใดที่เรายังปฏิเสธความจริงหรือกฎธรรมชาติ เราก็เป็นทุกข์ตราบนั้น

(หลวงพ่อพุธ ฐานิโย)