ตายไม่สูญ..แล้วไปไหน

“ ตายแล้วไม่สูญ ” และ “ ตายแล้วไปไหน ” นี้ไม่น่าจะเป็นข้องใจของท่านเลยเพราะพระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วอย่างละเอียดว่าเมื่อตายจากโลกนี้ไปแล้ว ทางที่ไปก็มี 5 สาย คือ

•  อบายภูมิ ได้แก่ เกิดเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย และเป็นสัตว์เดรัจฉาน

•  เกิดเป็นมนุษย์

•  เกิดเป็นเทวดา หรือนางฟ้าอยู่บนสวรรค์

•  เกิดเป็นพรหม

•  ไปพระนิพพาน

ท่านที่ตายแล้วจะไปเกิดที่ใด พระพุทธเจ้าก็ตรัสบอกเหตุที่จะไปเกิดไว้ครบถ้วนตามกฎของกรรม คือการกระทำ ได้แก่ความประพฤติดีหรือชั่ว ในสมัยที่เกิดเป็นมนุษย์นี้เอง กฎของกรรมหรือความประพฤติดีหรือชั่ว ที่จะพาไปเกิดในที่ใดที่หนึ่งตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ 5 ทางนั้น ท่านว่าไว้อย่างนี้

 

แดนที่เกิดสายที่หนึ่งที่เรียกว่า อบายภูมิ

แดนที่เกิดสายที่หนึ่ง ที่เรียกว่า อบายภูมิ มีนรกเป็นต้นนั้นเป็นผลจากความประพฤติชั่ว คือก่อกรรมทำเข็ญในสิ่งที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่คนและสัตว์ ท่านจัดกฎใหญ่ ๆ ไว้ ๕ ประการ

•  เป็นคนที่ใจ โหดร้าย ชอบข่มเหงรังแก เบียดเบียนคนและสัตว์ให้ได้รับความเดือดร้อน โดยเข้าใจผิดคิดว่า เป็นความดีหมายถึงละเมิดศีลข้อที่ ๑

•  มือไว ชอบลักขโมยของที่เจ้าของยังไม่อนุญาต หรือฉ้อโกง เอาทรัพย์สินของคนอื่นด้วยเล่ห์กลโกง หมายถึง ละเมิดศีลข้อที่ ๒

•  ใจเร็ว ได้แก่มีจิตใจไม่เคารพในความรักของคนอื่นชอบลอบทำชู้ ภรรยา และธิดา สามีของคนอื่น ด้วยความมัวเมาในกามคุณ หมายถึง ละเมิดศีลข้อที่ ๓

•  พูดปด ได้แก่ พูดไม่ตรงต่อความเป็นจริง เพื่อหวังทำลายประโยชน์ของผู้อื่นโดยเจตนา หมายถึง ละเมิดศีลข้อที่ ๔

•  ชอบทำตนให้เป็นคน หมดสติ ด้วยการย้อมใจให้หมดความรู้สึกในการรับผิดชอบด้วยน้ำเมา หมายถึง การละเมิดศีลข้อที่ ๕

กรรม คือ ความประพฤติในกฎ ๕ ประการนี้ ท่านว่าตายจากความเป็นคนแล้วไปสู่อบายภูมิ มีตกนรก เป็นต้น

 

แดนเกิดสายที่สองคือเกิดเป็นมนุษย์

แดนเกิดสายที่สอง คือเกิดเป็นมนุษย์ ท่านว่าคนที่ตายแล้วจะมาเกิดเป็นมนุษย์ได้ ต้องมีกรรมบถ ๑๐ หรือที่รู้กันง่าย ๆ ก็คือ เป็นคนมีศีล ๕ ประจำได้แก่

•  เป็นคนมีเมตตาปราณี ไม่รังแกข่มเหงทำร้ายใครไม่ว่าคนหรือสัตว์ มีความรัก เมตตาปรานีคนสัตว์เสมอด้วยรักตนเอง

•  ไม่มือไว คือเคารพสิทธิ์ในทรัพย์สินของบุคคลอื่นไม่ยอมถือเอาทรัพย์สินของใครมาเป็นของตน ในเมื่อเจ้าของไม่อนุญาตด้วยความเต็มใจ

•  ไม่ใจเร็ว ละเมิดความรักในบุตร ธิดา ภรรยา สามีของบุคคลอื่น

•  ไม่เป็นคนไร้สัจจะ พูดแต่เรื่องที่เป็นสาระตรงต่อความเป็นจริง

•  ทำตนให้เป็นคนมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ คือ เป็นคนมีอารมณ์รับรู้ความดี ความชั่วตามกฎของกรรม ไม่ปล่อยใจให้เลื่อนลอยด้วยน้ำเมาต่าง ๆ

ท่านที่ทรงความดี ๕ อย่างนี้ ท่านว่าตายจากความเป็นคนแล้ว มีสิทธิ์กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ได้

 

แดนเกิดที่สายที่สาม ได้แก่ สวรรค์

แดนเกิดสายที่สาม ได้แก่ สวรรค์ อาการที่ทำให้คนเกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าบนสวรรค์ ท่านบรรยายไว้มาก แต่เมื่อสรุปกล่าวโดยย่อมี ๒ อย่างคือ

•  เป็นคนมีความละอายต่อความชั่ว ไม่ยอมทำชั่วในที่ทุกสถาน

•  เกรงผลของชั่ว จะทำให้เกิดความเดือดร้อน

เหตุ ๒ ประการนี้ เป็นผลทำให้ตายจากความเป็นคนไปเกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้า

 

 

แดนเกิดสายที่สี่ได้แก่ พรหมโลก

แดนที่เกิดสายที่สี่ ได้แก่ พรหมโลก พรหมกับเทวดามีดินแดนที่เกิดเป็นคนละแดนกัน พรหมท่านว่าศักดิ์สิทธิ์ดีกว่าเทวดาและมีชั้นภูมิสูงกว่า มีอำนาจมากกว่า มีความสุขดีกว่า ความสวยสดงดงามดีกว่าเทวดา แต่พรหมไม่มีเพศ คือ ไม่มีเพศหญิงหรือเพศชาย ทั้งนี้เพราะพรหมไม่มีการครองคู่ ท่านว่ามีความสุขสงบสงัด ท่านที่จะเป็นพรหมได้ ท่านว่าต้องเป็นนักกรรมฐาน และมีอารมณ์จิตสุดท้ายก่อนตาย อารมณ์จิตเป็นฌานที่เรียกว่าเข้าฌานตาย

 

แดนเกิดสายที่ห้า ได้แก่ พระนิพพาน

แดนเกิดสายที่ห้าได้แก่ พระนิพพาน แดนนี้เป็นเขตที่รู้เรื่องกันยากมาก เพราะนักปราชญ์สมัยนี้ถือว่า “ นิพพานสูญ ” กันเป็นประเพณีไปแล้ว ขอบอกไว้ย่อ ๆ ว่า คนที่จะถึงพระนิพพานได้นั้น ต้องมีความบริสุทธิ์ ๑๐ อย่างคือ

•  ไม่เมาในตนเองหรือวัตถุต่าง ๆ ที่คิดวาเป็นสมบัติของตน รู้เสมอว่าจะต้องตายและพลัดพรากจากของรักของชอบแน่นอน ไม่มีอะไรที่ห้ามความตายและความพลัดพรากได้ ทำจิตใจเป็นปกติเมื่อความตายมาถึงหรือเมื่อต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก

•  ไม่สงสัยในคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนตามความเป็นจริง ทุกอย่างในโลกนี้ไม่ว่าสิ่งที่มีชีวิตต้องทำลายตนเองลงไปในเมื่อกาลเวลามาถึง ไม่มีอะไรทรงสภาพเป็นปกติอยู่ได้ ใครทำความดี ความดีก็คุ้มครองให้มีความสุขใจ ใครทำชั่ว ความชั่วจะบันดาลความเดือดร้อนให้ แม้ผู้อื่นยังไม่ลงโทษ ตนเองก็มีความหวาดสะดุ้งเป็นปกติ

•  รักษาศีลมั่นคง ดำรงจิตอยู่ในศีลเป็นปกติ

•  ทำลายความใคร่ในกามารมณ์ให้สิ้นไปจากใจ ด้วยอำนาจความรู้ถึงความจริง ว่าความรักเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ภัยอันตรายที่มีขึ้นแกตน เพราะอาศัยความรักเป็นเหตุ

•  มีจิตใจเต็มไปด้วยความเตตาปรานี ไม่โกรธ ไม่จองล้างจองผลาญ คิดทำอันตรายใคร ไม่ว่าใครจะแสดงอาการอย่างไร จิตก็ไม่คลายจากความเมตตา

•  ไม่มัวเมาในรูปฌาน โดยคิดว่าการที่ตนทรงรูปฌานได้นี้ เป็นผู้ถึงที่สุดของความดี เมาฌานจนไม่สนใจความดีที่ตนยังไม่ได้

•  ไม่มัวเมาในอรูปฌาน โดยคิดว่าความดีเพียงเท่านี้ยังไม่เป็นทางสิ้นทุกข์

•  มีอารมณ์เป็นปกติ ไม่คิดถึงเรื่องอารมณ์เหลวไหล มีจิตใจเต็มไปด้วยความหวังดี ไม่ว่าต่อคนหรือสัตว์ ตลอดเวลาที่ตื่นอยู่

•  ไม่ถือตน ทะนงตน ว่าดีเลิศประเสริฐกว่าใคร มีอารมณ์ใจเป็นปกติ เห็นคน สัตว์ ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของธรรมดาที่จะต้องตาย จะต้องสลายไป และมีอารมณ์ไม่หวั่นไหวเมื่อเข้าสังคมสมาคมใด ๆ มีอาการเป็นเสมือนว่าสังคมนั้นสมาคมนั้น ๆ เป็นกลุ่มของคนที่ต้องตาย ไม่ทำตัวใหญ่หรือเล็กจนน่าเกลียด ทำตนพอเหมาะพอสมควรแก่สมาคมนั้น ๆ เรื่องของเขา เขาจะดีจะชั่วก็ต้องของเขา เราช่วยได้ก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็เฉยไว้ ไม่สนใจที่จะไปเบ่งบารมีทับใคร

•  ตัดความรัก ความพอใจในโลกีย์วิสัยให้หมด งดอารมณ์อยากดีอยากเด่น ทำอารมณ์เป็นพระพุทธ ในพระอุโบสถ พระพุทธท่านยิ้มเสมอ ท่านที่จะถึงพระนิพพานต้องยิ้มได้อย่างพระพุทธ ใครจะดีจะชั่วก็ยิ้ม เพราะเห็นเป็นของธรรมดามันหนีไม่ได้ไล่ไม่พ้น

เมื่อยังมีตัวตนเป็นคนมันก็ต้องพบอาการอย่างนี้ อยู่ก็สบายใจ ความตายจะมาถึงก็ไม่สะดุ้งหวาดกลัวเพราะรู้ตัวอยู่เสมอว่าจะต้องตาย มีอารมณ์ในปกติ ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่ผูกพัน ทรัพย์สินหรือสัตว์หรือบุคคลอื่น เท่านี้ก็ไปพระนิพพานได้

ทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ ที่ไม่ทำความชั่วเลยน่ะไม่มี ดังนั้น ถ้าเราจะชดใช้บาปก็คงชดใช้กันไม่ไหว มีทางเดียวในกิจของพระพุทธศาสนา คือ หนีบาป ด้วยการปฏิบัติดังนี้

•  การคิดถึงคุณพระรัตนตรัย คือ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระอริยสงฆคุณ

•  ทรงศีล ๕ ไว้ให้บริสุทธิ์

•  มีพรหมวิหาร ๔ ให้ครบถ้วน

•  มีอิทธิบาท ๔ ทรงตัว

•  มีการภาวนาจิตให้ทรงตัว

•  พยายามรวบรวมบารมี ๑๐ ประการให้มีในจิตใจให้ครบถ้วน

•  พยายามตัดสังโยชน์ ๑๐ ประการให้หมด

•  จรณะ ๑๕ ปฏิบัติให้ครบถ้วน

 

สรุปหัวข้อบารมี ๑๐

•  ทานบารมี พอใจในการให้ทานอยู่เสมอ เป็นการตัดโลภะ ความโลภ

•  ศีลบารมี พยายามรักษาศีลให้ครบถ้วน เป็นการป้องกันอบายภูมิ

•  เนกขัมมะบารมี พยายามระงับนิวรณ์ในเบื้องต้น ตัดสังโยชน์ไปเสียเป็นเรื่องสุดท้าย ป้องกันความวุ่นวายของชีวิต

•  ปัญญาบารมี ทรงปัญญาไว้ให้ดี ยอมรับนับถือกฎของความจริง คือการตัดอารมณ์กลุ้ม

•  วิริยะบารมี มีความพากเพียรต่อสู้กับกิเลสและอารมณ์ของความชั่ว เป็นการค่อย ๆ ทำลายความชั่วให้พินาศไป

•  ขันติบารมี ต้องมีความอดทนใจ เพราะกำลังใจของคนเราอยู่กับกิเลสมานาน ถ้าจะห้ำหั่นมันก็ต้องมีการต่อสู้ ต้องอดทน

•  สัจจะบารมี ความตั้งใจจริง เราตั้งใจว่าจะทำอย่างอะไรก็ทำอย่างนั้น อย่าท้อถอย ไม่ยอมละ

•  อธิษฐานบารมี ตั้งใจไว้ให้ดีว่า มนุษย์โลก เทวโลกและพรหมโลก เป็นทุกข์ ตั้งใจไว้เฉพาะว่าจะไปนิพพาน

•  เมตตาบารมี ทำจิตใจของเราให้ดี มีความแช่มชื่นเห็นคนและสัตว์ทั้งโลกเป็นที่รักของเราทั้งหมด เราไม่มีเวรไม่มีภัยกับใครแล้ว

•  อุเบกขาบารมี อดทนต่อความอดกลั้นทั้งหลายต่ออุปสรรคทั้งหมด วางเฉย ไม่ต่อสู้ ไม่รุกราน ไม่หวั่นไหว สร้างกำลังใจไว้โดยเฉพาะในเรื่องร่างกาย ร่างจะเป็นทุกข์ขนาดไหนถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาของมัน

 

สรุปหัวข้อสังโยชน์ ๑๐ ต้องตัดให้หมด

•  สังกายทิฐิ มีความรู้สึกว่ากายนี้ต้องไม่ตาย และร่างกายนี้เป็นเรา เป็นของเรา ตัดสังกายทิฐิ ให้คิดว่าร่างกายนี้ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีร่างกายนี้ ร่างกายนี้ไม่มีในเรา

•  วิจิกิจฉา สงสัยคำสอนของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ตัด วิจิกิจฉา เชื่อตามคำสอนของพระพุทธเจ้าพระธรรม พระอริยสงฆ์

•  สีลัพพตปรามาส ลูบคลำศีล ไม่รักษาศีลจริงจัง ตัดสีลัพพตปรามาส รักษาศีลอย่างจริงจัง

•  กามฉันทะ พอใจในกามคุณ ตัดกามคุณ ตัดความพอใจในกามคุณ

•  ปฏิฆะ มีอารมณ์กระทบใจ จิตมีความโกรธ ตัดปฏิฆะ ตัดอารมณ์ที่มากระทบใจ จิตมีเมตตาปราณี

•  รูปราคะ หลงในรูปฌาน ตัดรูปราคะ ไม่หลงในรูปฌาน

•  อรูปราคะ หลงในอรูปฌาน ตัดอรูปราคะ ไม่หลงในอรูปฌาน

•  มานะ มีการถือตัวถือตน ตัดมานะ ไม่ถือตัวว่าดีกว่าคนอื่น วิเศษกว่าคนอื่น

•  อุทธัจจะ มีอารมณ์ฟุ้งซ่าน ตัดอุทธัจจะ ตัดอารมณ์ฟุ้งซ่าน

•  อวิชชา ไม่รู้ตามความเป็นจริงเรื่องพระนิพพาน ตัดอวิชชา เข้าใจตามความเป็นจริงเรื่องพระนิพพาน

 

อิทธิบาท ๔

•  ฉันทะ คือ ความพอใจในกิจที่จะพึงทำ

•  วิริยะ คือ ความเพียรในการต่อต้านอุปสรรค

•  จิตตะ คือ เอาจิตใจจดจ่ออยู่เสมอในกิจที่เราจะพึงทำไม่ละเลย ไม่เอาจิตให้ห่างเหิน ไม่เผลอ ให้จดจ่ออยู่แต่สิ่งที่เราจะทำให้ได้

•  วิมังสา คือ ก่อนที่จะทำอะไรทั้งหมด ให้พิจารณาใช้ปัญญาใคร่ครวญดูให้ดีเสียก่อนว่าในสิ่งที่เราจะพึงทำนี้ว่าจะมีผลดี ผลเสียอย่างไร เลือกเอาในส่วนเฉพาะที่มีผลดี ไม่เลือกเอาในส่วนที่มีผลชั่ว

ถ้ามีอิทธิบาท ๔ ครบถ้วนแล้ว จรณะ ๑๕ ก็จะมีครบถ้วนด้วย และสามารถจะควบคุมบารมีทั้ง ๑๐ ประการให้คงตัวอาการทั้ง ๓ อย่างนี้จงทรงอารมณ์ให้ครบ อย่าให้ขาด ถ้าอารมณ์ ๓ อย่างนี้บกพร่อง ความสำเร็จที่ต้องการจะไม่เป็นผลเลย ต้องพยายามควบคุมอารมณ์ให้ทรงตัว

 

 

พรหมวิหาร ๔

•  มีความรัก รักในคนในสัตว์ เสมอด้วยตัวเรา

•  สงสารเห็นใจคนและสัตว์ มีความสงสาร เสมอด้วยตัวเราเอง

•  มีจิตใจอ่อนโยน ไม่อิจฉาริษยา เห็นใครได้ดีพลอยดีใจยินดีด้วย และปฏิบัติดีตามเขา ดูเหตุของความดีว่าทำไมเขาจึงดี เราทำตามนั้นบ้าง มันก็ดี ไม่ใช่แข่งขันกับเขา

•  อุเบกขา การวางเฉย เห็นใครเพลี่ยงพล้ำ จิตพร้อมจะช่วยอยู่เสมอถ้ามีโอกาส

นี่คือลักษณะของพรหมวิหาร มี ๔ อย่างแบบนี้ได้บอกไว้แล้วคนที่จะให้ทานต้องมีพรหมวิหาร ๔ เมื่อพรหมวิหาร ๔ มีแล้วศีลก็มีได้ เมตตาความรักก็มี กรุณาความสงสารก็มี จิตใจอ่อนโยนก็มี อุเบกขา การเฉยก็มี เพราะอย่างสัตว์พอที่จะฆ่าได้เราก็ไม่ฆ่า ปล่อยไป จัดเป็นอภัยทาน เห็นของพอที่จะขโมยได้เราก็ไม่ขโมย อุเบกขาก็เฉย เห็นคนที่น่ารักพอที่จะยื้อแย่งความรักเขาได้เราก็ไม่ทำ คนพอที่จะโกหกได้เราก็ไม่โกหก เฉยหรือว่าดื่มสุราเมรัย มันล่ออยู่ข้างหน้า เราก็ไม่ดื่ม เฉย อย่างนี้ก็ได้ หรือมีความรักเสียอย่างหนึ่ง โกรธเขาไม่ได้ ทรมานเขาไม่ได้ มีความรักเสียอย่างหนึ่ง แย่งความรักเขาไม่ได้ โกหกมดเท็จก็ไม่ได้ คนรักกันจะโกหกอย่างไร นี้คือลักษณะของคนที่มีพรหมวิหาร ๔ ดีอย่างนี้

ฉะนั้น การรักษาศีลก็เป็นการรักษาไม่ยาก ถ้ามีพรหมวิหาร ๔ แล้ว ศีลไม่ยาก อยู่กับตัวแน่นอน หากขาดพรหมวิหาร ๔ ประการนี้แล้ว ก็เป็นว่า ท่านหาความดีอะไรไม่ได้ ทั้งนี้เพราะอะไรเพราะว่าความชั่วมันจะหลั่งไหลเข้ามาสู่ใจ เป็นปัจจัยให้เกิดความทุกข์ก็มีทั้งปัจจุบันและสัมปรายภพ

 

ทาน

การบริจาค เป็นการกำจัด โลภะ ความโลภของจิต แล้วคนที่จะให้ทานได้ ก็ต้องประกอบไปด้วยความเมตตากรุณา ตกอยู่ในอำนาจของพรหมวิหาร ๔ ถ้าคนใด จิตจับอยู่ในอำนาจของพรหมวิหาร ๔ วันหนึ่ง สักชั่วขณะจิตเดียว พระพุทธเจ้ากล่าวว่า “ หน้าบุคคลผู้นั้นเป็นผู้ไม่วางจากฌาน ” แล้วคนใดที่มีเมตตาจิตอยู่แล้ว องค์สมเด็จพระประทีปแก้วกล่าวว่า เขาผู้นั้นเป็นผู้มีอภัยทาน มีอานิสงส์มาก ตกนรกไม่เป็น

 

“ สูงสุดคือวิหารทาน ”

ทำทานกับคนไม่มีศีล ๑๐๐ ครั้ง

มีอานิสงส์ไม่เท่ากับทำทานกับคนมีศีล ๑๐๐ ครั้ง

ทำทานกับคนมีศีล ๑๐๐ ครั้ง

มีอานิสงส์ไม่เท่ากับถวายทานแต่พระมีศีล ๑ ครั้ง

การถวายทานแด่พระมีศีล ๑๐๐ ครั้ง

มีอานิสงส์ไม่เท่ากับการถวายทานแด่พระอรหันต์ ๑ ครั้ง

การถวายทานแด่พระอรหันต์ ๑๐๐ ครั้ง

มีอานิสงส์ไม่เท่ากับการถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑ ครั้ง

การถวายทานแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง

ก็มีอานิสงส์ไม่เท่ากับการถวายทาน แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑ ครั้ง

การถวายทาน แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑๐๐ ครั้ง

ก็มีอานิสงส์ไม่เท่ากับการถวายสังฆทาน ๑ ครั้ง

มีอานิสงส์มาก

เป็นอันว่า วัตถุทานจริง ๆ ที่มีอานิสงส์ คือการถวายสังฆทาน แต่วัตถุทานอีกอย่างหนึ่งก็คือ

ถวายสังฆทาน ๑๐๐ ครั้ง มีผลไม่เท่ากับการถวายวิหารทาน ๑ ครั้ง ก็รวมความว่า วัตถุทานอันดับ ๒ คือสังฆทาน วิหารทาน เป็นอันดับ ๑