ธุดงค์ ๑๓
หลังออกพรรษาก็ถึงคราที่พระภิกษุสงฆ์จะเที่ยวจาริกในที่ต่าง ๆ เพื่อหาสถานที่อันสัปปายะ เพื่อเจริญสมณธรรม รวมทั้งเผยแผ่ธรรม ซึ่งเรามักจะได้ยินว่าออก ธุดงค์ และมักจะนิยมเรียกพระสงฆ์ที่จาริกไปเช่นนี้ว่า พระธุดงค์
คำว่า ธุดงค์ นั้น พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)ได้ให้ความหมายไว้ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์และฉบับประมวลธรรมว่า
ธุดงค์ หมายถึง องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส , ชื่อข้อปฏิบัติประเภทวัตร ที่ผู้สมัครใจจะพึงสมาทานประพฤติได้ เป็นอุบายขัดเกลากิเลส ส่งเสริมความมักน้อยสันโดษเป็นต้น มี ๑๓ ข้อคือ
๑. ปังสุกูลิกังคะ องค์แห่งผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรใช้เฉพาะแต่ผ้าบังสุกุล คือไม่รับจีวรจากทายก เที่ยวแสวงหาผ้าบังสุกุลมาเย็บย้อมทำจีวรเอง
๒. เตจีวริกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้ถือไตรจีวรเป็นวัตร คือ ถือผ้าเพียงสามผืนได้แก่ จีวร สบง สังฆาฏิ อย่างละผืนเท่านั้น ไม่ใช้จีวรนอกจากผ้าสามผืนนั้น
๓. ปิณฑปาติกังคะ องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร คือ ไม่รับนิมนต์ หรือลาภพิเศษอย่างอื่นใด ฉันเฉพาะอาหารที่บิณฑบาตมาได้
๔. สปทานจาริกังคะ องค์แห่งผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตไปตามลำดับบ้านเป็นวัตร คือ รับตามลำดับบ้านตามแถวเดียวกัน ไม่รับข้ามบ้านข้ามแถว หรือเที่ยวบิณฑบาตไปตามตรอก ตามห้องแถวเรียวลำดับเรื่อยไปเป็นแนวเดียวกัน ไม่ข้ามไปเลือกรับที่โน้นที่นี่ตามใจชอบ
๕. เอกาสนิกังคะ องค์แห่งผู้ถือนั่งฉันที่อาสนะเดียวเป็นวัตร คือ ฉันวันละมื้อเดียว ลุกจากที่แล้วไม่ฉันอีกในวันนั้น
๖. ปัตตปิณฑิกังคะ องค์แห่งผู้ถือฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตร คือ ถือการฉันเฉพาะในบาตรไม่ใช้ภาชนะอื่น
๗. ขลุปัจฉาภัตติกังคะ องค์แห่งผู้ถือห้ามภัตที่เขานำมาถวายภายหลัง คือเมื่อลงมือฉันแล้ว มีผู้นำอาหารมาถวายอีก ก็ไม่รับ
๘. อารัญญิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร คือ ไม่อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านแต่อยู่ ป่าห่างจากบ้านอย่างน้อย ๒๕ เส้น
๙. รุกขมูลิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร ไม่อยู่ในที่มุงบัง
๑๐.อัพโภกาสิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร คือ อยู่เฉพาะกลางแจ้ง ไม่อยู่ในที่มุงบัง หรือแม้แต่โคนไม้ (ห้ามถือในฤดูฝน)
๑๑.โสสานิกังคะ องค์แห่งผู้ถืออยู่ป่าช้าเป็นวัตร คือ อยู่แรมคืนในป่าช้าเป็นประจำ
๑๒.ยถาสันถติกังคะ องค์แห่งผู้ถือการอยู่ในเสนาสนะตามแต่เขาจัดให้ ไม่เลือกเสนาสนะเอาตามพอใจตัวเอง
๑๓.เนสัชชิกังคะ องค์แห่งภิกษุผู้ถือการนั่งเป็นวัตร คือถือนั่ง ยืน เดิน เท่านั้นไม่นอน
ธุดงค์ไม่ใช่บทบัญญัติทางวินัย ขึ้นกับความสมัครใจ มีหลักทั่วไปในการถือว่า ถ้าถือแล้วช่วยให้กรรมฐานเจริญ หรือช่วยให้กุศลธรรมเจริญ อกุศลธรรมเสื่อม ควรถือถ้าถือแล้วช่วยให้กรรมฐานเสื่อม หรือทำให้กุศลธรรมเสื่อม อกุศลธรรมเจริญ ไม่ควรถือส่วนผุ้ที่ถือหรือไม่ถือ ก็ไม่ทำให้กรรมฐานเจริญ หรือเสื่อม เช่น เป็นพระอรหันต์แล้วอย่างพระมหากัสสปะ เป็นต้น หรือคนอื่น ๆ ก็ตาม ควรถือได้ ฝ่ายแรกควรถือในเมื่อคิดจะอนุเคราะห์ชุมชนในภายหลัง ฝ่ายหลังเพื่อเป็นวาสนาต่อไป
อนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระมหากัสสปเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้านสมาทานธุดงค์