สิกขา สิกขาบท ลาสิกขา
ทั้ง ๓ คำนี้ คือ สิกขา สิกขาบท ลาสิกขา ชาวบ้านโดยทั่วไปมักจะรู้จักรู้ความหมาย และคุ้นเคยอยู่เพียงคำเดียวคือ ลาสิกขา เพราะพูดกันบ่อยเวลาที่พระจะสึก และบ่อยครั้งมีที่ผู้ใช้คำสับสนปนแปไปว่า ลาสิกขาบท ทั้งนี้อาจเนื่องด้วยไม่รู้ความหมายอันแท้จริงของคำแต่ละคำนั่นเอง ดังนั้นผู้เขียนจึงได้ค้นคว้าความหมายของคำเหล่านี้มาบอกเล่าไว้อีกครั้ง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
โดยใน พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต) และหนังสือ พูดจาภาษาวัด โดยกรมการศาสนา ปี ๒๕๔๔ ได้อธิบายความหมายของคำเหล่านี้ไว้ว่า
สิกขา หมายถึง การศึกษา , การสำเหนียก , ข้อที่จะต้องศึกษา , ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรม มี ๓ อย่างคือ
๑. อธิศีลสิกขา ได้แก่ การศึกษาในอธิศีล , ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมในทางความประพฤติอย่างสูง , การฝึกฝนอบรมความประพฤติทางกาย วาจา ใจ คือ ระเบียบวินัย การอยู่ร่วมกับผู้อื่นและในสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ด้วยดี ให้เกื้อกูล ไม่เบียดเบียน ไม่ทำลาย เป็นพื้นฐานแห่งการฝึกอบรมจิตใจในอธิจิตตสิกขา
๒. อธิจิตตสิกขา ได้แก่ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมจิต เพื่อให้เกิดสมาธิอย่างสูง , การฝึกฝนอบรมจิตใจให้เข้มแข็ง มั่นคง มีคุณธรรม เช่น ขันติ เมตตา กรุณา สดชื่น เบิกบาน เป็นสุข ผ่องใส เหมาะแก่การใช้ความคิดพิจารณา เป็นฐานแห่งการเจริญปัญญา
๓. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ ข้อปฏิบัติสำหรับฝึกอบรมปัญญา เพื่อให้เกิดความรู้แจ้งอย่างสูง มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง จนจิตใจหลุดพ้นเป็นอิสระปราศจากกิเลสและความทุกข์
สิกขาทั้ง ๓ นี้ รวมเรียกว่า ไตรสิกขา หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
ส่วน สิกขาบท หมายถึง ข้อศีล , ข้อวินัย บทบัญญัติข้อหนึ่ง ๆ ในพระวินัยที่ภิกษุพึงศึกษาปฏิบัติ , ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ศีล๓๑๑ แต่ละข้อ ๆ เรียกว่าสิกขาบท เพราะเป็นข้อที่จะต้องศึกษา หรือเป็นบทฝึกฝนอบรมตนของสาธุชน อุบาสก อุบาสิกา สามเณร สามเณรี ภิกษุ และภิกษุณี ตามลำดับ
สำหรับคำว่า ลาสิกขา หมายถึง การสึก หรือลาออกจากความเป็นภิกษุ สามเณร โดยการกล่าวปฏิญญาตนเป็นผู้อื่น ต่อหน้าพระภิกษุด้วยกัน หรือต่อหน้าบุคคลอื่นว่า ขอลาสิกขาเป็นคฤหัสถ์
ดังนั้นการสึกจากพระ ซึ่งมักจะมีผู้ใช้ว่า ลาสิกขาบท เป็นการใช้ไม่ถูกต้องเพราะที่ถูกต้องนั้น จะต้องใช้คำว่า ลาสิกขา
นอกจากนี้ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตันตปิฎกที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต คัทรภสูตร พระพุทธองค์ได้ตรัสถึงภิกษุผู้ไร้ไตรสิกขาว่าดุจดัลาที่ติดตามฝูงโค ความว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาติดตามไปเบื้องหลังฝูงโค มันร้องว่า แม้เราก็เป็นโค แต่สีเสียงและรอยเท้าของมันหาเหมือนของโคไม่ มันเป็นแต่เดินตามหลังฝูงโคร้องว่าแม้เราก็เป็นโค ๆ ดังนี้เท่านั้น แม้ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ฉันนั้นเหมือนกันแล ติดตามไปเบื้องหลังภิกษุสงฆ์ร้องประกาศว่า แม้เราก็เป็นภิกษุ ๆ แต่ความพอใจในการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขาของเรา หาเหมือนของภิกษุทั้งหลายไม่ เขาเป็นแต่ติดตามไปเบื้องหลังภิกษุสงฆ์ร้องประกาศว่า แม้เราก็เป็นภิกษุ ๆ ดังนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นแหละภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาว่า เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิศีลสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิจิตตสิกขา เราจักมีความพอใจอย่างแรงกล้าในการสมาทานอธิปัญญาสิกขา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงศึกษาเช่นนี้แลฯ
หนังสือ ธรรมลีลา ฉบับที่ 56 ปีที่ 5 กรกฎาคม 2548
โดย มุทิตา