อาสาฬหบูชา
วันแห่งชัยชนะของมนุษย์
ธรรมเทศนาในวันนี้ นับว่าเป็นธรรมเทศนาพิเศษ อาสาฬหบูชา ดังที่ท่านทั้งหลายก็ทราบดีอยู่แล้วสำหรับวันอาสาฬหบูชานี้ เป็นที่เข้าใจกันอยู่แล้วเหมือนกันว่ากระทำการบูชาเป็นที่ระลึกเนื่องในการที่พระพุทธองค์ได้ตรัสพระธรรมเทศนา ที่เป็นหัวใจแห่งพระศาสนาและเป็นครั้งแรกของการประกาศพระธรรมของพระองค์ เรียกได้ว่าเป็นวันที่พระธรรมได้ปรากฏออกมาอย่างเป็นหลักเป็นฐานในโลกนี้ ในนามที่เรียกกันว่าพระพุทธศาสนาในทุกวันนี้
ท่านทั้งหลาย ควรจะพิจารณาดูให้ดี ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกันอยู่กับมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ข้อนี้มีใจความสำคัญที่สุดอยู่ตรงที่ว่า ก่อนหน้านี้ มนุษย์ยังอยู่ในความมืด หรือว่าโลกยังอยู่ในความมืด ไม่มีแสงสว่างที่แท้จริง ที่จะทำให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เมื่อถึงวันเช่นวันนี้ เมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้วนั้น ได้มีบุคคลคนหนึ่งคือพระพุทธเจ้า ได้ประกาศสิ่งที่ควรจะเรียกได้ว่าเป็นแสงสว่างแก่มนุษย์ถ้าพร้อมกันนั้นก็เรียกว่าเป็นธรรมาณาจักรที่พระองค์ประกาศออกไป
ในฐานะที่เป็นแสงสว่างนั้น จะช่วยให้เรารู้จักความจริง เกี่ยวกับชีวิตจิตใจ เกี่ยวกับความสุข ความทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ความดับทุกข์ในฐานะที่เป็นธรร-มาณาจักรนั้นคือเป็นสิ่งที่กล่าวได้ว่า พระธรรมได้ปรากฏเป็นแสงสว่างขึ้นมาในโลก เป็นชัยชนะของมนุษย์ มนุษย์จะไม่ต้องพ่ายแพ้แก่กิเลสหรือความทุกข์อีกต่อไป
ดังนั้น วันนี้จึงเป็นวันสำคัญสำหรับมนุษย์ คือเป็นวันแห่งชัยชนะของมนุษย์เหนือความมืด กิเลสและความทุกข์ เป็นต้นนั่นเอง
ก่อนหน้านี้มนุษย์อยู่ในความมืดและความทุกข์ วันนี้เป็นวันสำหรับเปิดเผยให้ขึ้นมาจากความมืดและความทุกข์ เป็นชัยชนะของมนุษย์ที่มีต่อความมืดและความทุกข์ จึงเป็นวันสำคัญ เมื่อเผอิญมาตรงกันกับวันเพ็ญเดือนอาสาฬห เราก็เลือกเอาชื่อเดือนมาเป็นชื่อการบูชานี้ ขอให้เข้าใจกันอย่างนี้ทุก ๆ คน อย่าได้เห็นเป็นเพียงชื่อวัน ชื่อเดือน ชื่อปี แล้วก็ทำกันปีหนึ่ง ครั้งหนึ่ง อย่างนี้พอเป็นพิธี เหมือนที่ทำกันโดยมากเลย จะได้มองเห็นความลึกซึ้งและความสำคัญของสิ่งที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัตนะ คือการยังธรรมจักรให้เป็นไปของพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระองค์ทรงหมุนจักรให้เป็นไปเพื่อขยี้ความทุกข์ของมนุษย์ให้หมดสิ้นไป สิ่งที่เรียกว่าจักรนั้น หมายถึงสิ่งที่มีลักษณะกลม หมุนได้ และมีความคม ที่จะตัดสิ่งทั้งปวงให้แหละให้ขาดไปอย่างนี้ก็มี เป็นอาวุธชนิดหนึ่งที่ช่วยให้เกิดการทุ่นแรงและให้เกิดความรวดเร็วในการที่จะเคลื่อนไป แต่เราจะเอาความหายของคำว่า ธรรมจักร ในความหมายไหนก็ตาม มันใช้ได้ด้วยกันทั้งนั้น
ถ้าจะเอาความหายของคำว่าจักรที่เป็นอาวุธ ก็หมายความว่ามันต้องตัดให้ขาดออกไปไม่มีอะไรต้านทานได้ ในที่นี้ก็คือตัดกิเลสและความทุกข์อย่างหนึ่ง และตัดความคิดความโง่เขลาของคนในโลกในสมัยนั้นด้วยอย่างหนึ่ง เพราะพระพุทธเจ้าทรงประกาศธรรมจักรออกไป หมายความว่า ทรงประกาศไปเพื่อทำลายมิจฉาทิฐิต่าง ๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้นให้หมดไป ให้มนุษย์มีสัมมาทิฐิ ให้มิจฉาทิฐิเป็นฝ่ายพ่ายแพ้
ธรรมจักรของพระพุทธองค์ช่วยตัดความโง่ของเราตัดความเป็นมิจทิฐิของเราให้หมดไปเหลือเป็นสัมมาทิฐิหรือความรู้ความฉลาด นี้เรียกว่าจักรในลักษณะที่เป็นของมีคม สำหรับจะฟังฝ่าไปในท่ามกลางความมืดและความทุกข์ ให้มนุษย์ได้พบกับแสงสว่าง
อีกอย่างหนึ่ง คำว่าจักรหมายถึงลูกล้อนั้น หมายถึงเคลื่อนไปโดยเร็วโดยสะดวก นี้ก็มีลักษณะของปัญญาเป็นความหมายอันสำคัญอยู่ในนั้น หมายถึงไปจากความโง่ ความหลง ไปสู่ความสว่างไสว ความเจริญรุ่งเรือง
...เพราะฉะนั้นเราจึงควรจะพากันมาชื่นชมยินดีในสิ่งที่เรียกว่า ธัมมจักกัปปวัต- นะ คือการยังธรรมจักรให้เป็นไปของพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ทรงกระทำแล้วในวันเช่นวันนี้ คือวันเพ็ญในเดือนอาสาฬห..
ในวันนั้น มีคนหนึ่งที่ได้รับผลแห่งการประกาศธรรมจักรของพระองค์ ดังที่เรารู้กันอยู่แล้วว่า พระอัญญาโกณทัญญะ ได้มีธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม โดยสรุปเป็นคำบาลีว่า ยงฺกิญฺจิ สมุทยธมฺมํ สพฺพนฺตํ นิโรธธมฺมํ ซึ่งมีใจความว่า สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา นี่แหละเป็นหัวข้อใจความของธรรมที่จะต้องเห็น...
ดวงตาเห็นธรรมมีความสำคัญอยู่ที่ว่า เป็นการเห็นสิ่งทั้งหลายเหล่าใดที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ย่อมจะมีความดับเป็นธรรมดาดังนี้ สรุปความแล้วก็คือว่า ถ้าผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นก็จะเห็นโลกนี้ว่าไม่มีอะไรนอกไปกว่าการเกิด ๆ ดับ ๆ โลกนี้มีแต่การเกิด ๆ ดับ ๆ อยู่ทุกขณะ ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ไม่เป็นการเกิดดับ
คนโดยมากหรือตัวผู้มองทั้งหลายเหล่านั้น ล้วนแต่มองเห็นโลกนี้เป็นของเที่ยงแท้ถาวร อยากจะมีนั่นมีนี่เป็นของตัว แล้วก็ยึดมั่นถือมั่นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ด้วยความยึดมั่นต่าง ๆ นานา ไม่มองเห็นว่าโลกนี้ไม่มีอะไรอื่น นอกจากการเกิดดับ
สมมติว่าเราไปที่ทะเลที่มีคลื่นจัด เราก็จะเห็นว่าทะเลนั้นไม่มีอะไรนอกจากการเกิดดับ ๆ ของลูกคลื่น ไม่มีอะไรมากไปกว่านนั้นเลย แต่สำหรับโลกทั้งโลกนั้นเราไม่ได้มีความรู้สึกอย่างนั้น เพราะไม่มีดวงตาเห็นธรรม ถ้ามีดวงตาเห็นธรรม มองไปที่อะไรก็จะเห็นเป็นเพียงการเกิดดับ ๆ จะเป็นวัตถุแท้ ๆ ก็มีการเกิดดับ แต่เราดูเป็นของหยุดนิ่ง เป็นของไม่เกิดไม่ดับ เพราะไม่ได้มองให้ลึกซึ้งว่า มันมีการเกิดและมีการดับ มีความรู้สึกแต่ชั่วขณะที่มองจึงไม่เห็นการเกิดดับ ถ้าศึกษาจนรู้จนเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นเมื่อก่อนนี้มันก็ไม่มี แล้วมันก็มา และมันก็ค่อยเปลี่ยนไป แล้วมันก็ดับลง...
ทีนี้จะมองกันถึงอีกคาถาหนึ่งที่ว่า เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา สิ่งใดมีเหตุเป็นแดนเกิด เตสํ เหตํ ตถาคโต พระตถาคตทรงแสดงเหตุแห่งธรรมนั้น เตสญฺจโย นิโรโธ จ และทรงแสดงความดับแห่งธรรมเหล่านั้นด้วยเพราะการดับไปแห่งเหตุ เอวํวาที มหาสมโณ พระมหาสมณะผู้เป็นครูของเราพูดแต่อย่างนี้ ไม่มีพูดอย่างอื่น
ลองคิดดูเถิดว่าสิ่งใดมีเหตุเป็นแดนเกิด สิ่งนั้นก็มีความดับ เพราะดับไปแห่งเหตุ พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงการที่สิ่งนั้นเกิดมาแต่เหตุ และการที่สิ่งนั้นจะต้องดับไปเพราะดับแห่งเหตุ
ทั้งหมดนี้ก็เป็นการแสดงอย่างเดียวกันให้เห็นว่าสิ่ง ทั้งหลายทั้งปวงเป็นอย่างไร เมื่อเรามองเห็นว่า โลกนี้มีการเกิด แล้วทำไมจะไม่เห็นว่ามีการดับ ทำไมจะต้องเศร้าใจในเมื่อโลกนี้จะต้องดับไป ถ้ามีความหวั่นกลัวในเรื่องการเกิดและการดับแล้ว มันหวั่นกลัวไปในทางที่ไม่อยากจะให้เกิด ไม่อยากจะให้ดับ เพราะฉะนั้น ความอยากอันนั้นเอง จึงเป็นเครื่องมือปิดบังเสียซึ่งดวงตาที่จะเห็นธรรม จึงไม่มีดวงตาที่จะเห็นธรรมได้เพราะเหตุนี้ นี่แหละคือปัญหาซึ่งกำลังเป็นอยู่ในหมู่มนุษย์โลก แม้กระทั่งที่เป็นพุทธบริษัท ที่เป็นพุทธบริษัทกันแต่ปาก หมายความว่าเป็นตามธรรมเนียมตามประเพณี พ่อแม่เป็นพุทธบริษัทลูกก็เป็นพุทธบริษัท หลานก็เป็นพุทธบริษัท เหลนก็เป็นพุทธบริษัท อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป เรียกว่า เป็นพุทธบริษัทแต่ตามธรรมเนียมประเพณีก็ไม่ได้เปรียบผู้อื่นนัก คงไม่มีดวงตาเห็นธรรมด้วยกัน นี้ก็เพราะเหตุว่าความเป็นพุทธบริษัทนั้นตกต่ำเสื่อมทรามลงไป วัฒนธรรมของพุทธบริษัทเนื่องกันอยู่กับพระพุทธศาสนาก็พากันตกต่ำลงไป ถ้าว่าพุทธบริษัทยังเป็นพุทธบริษัทอยู่อย่างถูกต้องก็จะต้องมีวัฒนธรรม ชนิดที่ช่วยให้คนในบ้านในเรือนมีดวงตาเห็นธรรมได้โดยง่าย ข้อนี้หมายความว่า ถ้าเป็นพุทธบริษัทที่รู้ธรรมะ ก็เอาธรรมะมาพูดจนเป็นของกลางบ้าน หรือประจำบ้านประจำเรือนไป กลายเป็นวัฒนธรรมประจำบ้านไปในที่สุด
...การเห็นธรรมนั้นคือเห็นว่าไม่มีอะไร นอกจากการเกิด ๆ ดับ ๆ แห่งสังขารทั้งปวง ชีวิตร่างกายนี้ก็เป็นสักว่าสังขารทั้งปวง เงิน ทอง ข้าวของ ทรัพย์สมบัติ ก็เป็นสักว่าสังขารทั้งปวง เกียรติยศ ชื่อเสียง ความสุข ความทุกข์ก็ล้วนแต่เป็นสังขารทั้งปวง เพราะฉะนั้นไม่มีอะไร นอกจากสังขารทั้งปวงที่เกิด ๆ ดับ ๆ อยู่จิตใจอย่าไปผูกพันกับสิ่งเหล่านั้น ให้เป็นจิตใจที่เป็นอิสระ เป็นปกติอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นอยู่เสมอไป
ถ้าไม่มั่วยินดียินร้าย ก็หมายความว่าไปตกต่ำอยู่ภายใต้สิ่งเหล่านั้น ให้สิ่งเหล่านั้นมันบีบบังคับ จนไม่มีความเป็นมนุษย์เหลืออยู่เลย จนกลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้นไปเสียแล้ว และจะเป็นมนุษย์ได้อย่างไรกัน เพราะคำว่า มนุษย์ แปลว่าผู้มีใจสูง ต้องมีใจสูงอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นจึงจะเป็นมนุษย์
ถ้ามีจิตใจตกต่ำอยู่ภายใต้สิ่งเหล่านั้นแล้วมันก็ไม่ใช่มนุษย์ และสิ่งเหล่านั้นมันก็เหยียบย่ำบุคคลนั้นให้สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปในที่สุด แล้วไปเป็นอะไร ลองคิดดูมันก็เป็นนรก เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย นั่นเอง ในรูปร่างอย่างนี้ที่เห็น ๆ อยู่กันนี่แหละ เป็นสัตว์นรก เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นเปรต เป็นอสุรกาย เมื่อไรก็ได้ วันหนึ่งกี่ครั้งกี่หนก็ได้ เมื่อใดมีความใจร้อนเหมือนไฟเผาเมื่อนั้นคนนั้นเป็นสัตว์เดรัจฉาน เมื่อใดคนนั้นหิวกระหายทางจิตวิญญาณมีวิตกกังวลไม่มีที่สิ้นสุด เมื่อนั้นคนนั้นเป็นเปรตและเมื่อใดมีความขี้ขลาดหวาดกลัวไปเสียหมดอย่างไม่ควรจะขลาด เมื่อนั้นคนนั้นแหละเป็นอสุรกาย
นี่แหละคิดดูเถอะว่าการตกต่ำอยู่ภายใต้สังขารเหล่านั้น มันทำให้เป็นอะไร มันทำให้สูญเสียความเป็นมนุษย์และไปเป็นสัตว์นรก เป็นเปรต เป็นอสุรกาย ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่า คนเหล่านั้นไม่มีดวงตาเห็นธรรม
....ขอให้เรานึกถึงความจริงข้อนี้โดยไม่ต้องเข้าใครออกใคร ไม่ต้องเข้ากับตัวเราเอง ให้เห็นแก่ความจริงแล้วตัดสินพิพากษาวินิจฉัยลงไป ให้มันจริงว่าเรากำลังเป็นอะไร เมื่อรู้ว่าอะไรเป็นอย่างไรแล้ว ก็พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ควรจะเป็น ให้เป็นแต่สิ่งที่ควรจะเป็น เช่นเป็นมนุษย์หรือเป็นพุทธบริษัทดังนี้เป็นต้น เป็นมนุษย์ก็มีจิตใจสูงอยู่เหนือสิ่งเหล่านี้ เป็นพุทธบริษัทก็มีความสว่างไสวรุ่งเรืองอยู่ เพราะมีธรรมะเหนือสิ่งใดหมด
นี่แหละคือปัญหาเฉพาะหน้า ที่เราจะต้องนึกสำหรับเราทุกคนที่เป็นพุทธบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันอาสาฬหปุณมีเช่นวันนี้
...เราควรไดพิจารณากันต่อไปอีกถึงข้อที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า สิ่งใดมีเหตุเป็นแดนเกิด สิ่งนั้นก็ดับไปเพราะการดับแห่งเหตุ เพราะมีคำพูดว่าสิ่งใดมีเหตุเป็นแดนเกิดสิ่งนั้นดับไปเพราะเหตุ ก็กับเหตุ มันก็ต้องหมายความว่ามีบางสิ่งที่ไม่ได้เกิดจากเหตุ เมื่อไม่ได้เกิดจากเหตุก็คือไม่มีเหตุ เพราะฉะนั้นมันไม่ต้องดับ ไม่ต้องดับไปเพราะความดับแห่งเหตุ
นี่แหละคือสิ่งที่เราจะต้องรู้ จะต้องเข้าใจ จะต้องมีดวงตาเห็น และเข้าถึงให้ได้หลังจากที่ได้มองเห็นสิ่งที่มีเหตุเป็นแดนเกิดและดับไปเพราะเหตุ นั้นคือความทุกข์และก็เห็นสิ่งที่ดับทุกข์ก็คือสิ่งที่ไม่ต้องเป็นไปตามเหตุ ถ้าจิตใจเป็นไปตามเหตุก็เป็นจิตใจที่เป็นทุกข์ ถ้าเป็นจิตใจที่เข้าถึงธรรมะที่อยู่เหนือเหตุจิตใจนั้นก็ไม่เป็นทุกข์นั้นคือเข้าถึงนิพพาน สิ่งที่เรียกว่านิพพานนั้นอยู่เหนือเหตุ ไม่มีเหตุ แต่เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมชาติอันสูงสุดอย่างหนึ่ง มีอยู่ในฐานะเป็นของตรงกันข้ามจากสิ่งทั้งหลายที่มีเหตุ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุ นิพพานอย่างเดียวไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเหตุ สิ่งทั้งหลายดับไปเพราะดับแห่งเหตุ แต่นิพพานก็มิได้ดับไปเพราะดับแห่งเหตุเพราะว่าไม่มีเหตุ ดังนั้นจึงเป็นของอนันตกาล คือเป็นของไม่เปลี่ยนแปลงไม่เกิดดับ เป็นของนิรันดรซึ่งในพระพุทธศาสนาเรียกว่า อมตธรรม คือสิ่งที่ไม่รู้จักตาย
ถ้าเรามองเห็นสิ่งที่รู้จักตาย ต้องหมายความว่า เรามองเห็นสิ่งที่ไม่รู้จักตายด้วย การเห็นแต่เรื่องรู้จักตายหรือมีเหตุดับเหตุอย่างเดียวอย่างนี้ ยังไม่เรียกว่าเห็น ต้องเห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามด้วย จึงจะเห็นทั้งสองสิ่งอย่างถูกต้อง ถ้าเห็นทุกข์ก็ต้องเห็นความดับทุกข์ด้วย จึงจะเรียกว่าเห็นทุกข์
เดี๋ยวนี้เราเห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่ในด้านเดียวเสมอไปไม่เห็นทั้งสองด้าน จึงไม่เรียกว่ามีดวงตาเห็นธรรม แม้คำบาลีจะกล่าวแต่เพียงว่า สิ่งใดมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดาสิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา ก็มิได้หมายความว่าให้เห็นแต่สิ่งนั้น คือจะต้องเห็นสิ่งที่ตรงกันข้ามด้วย คือสิ่งที่มิได้มีการเกิดเป็นธรรมดาและมิได้มีการดับเป็นธรรมดาด้วย นั่นแหละคือการเห็นนิพพานหรือความดับทุกข์
...พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสว่า โลกนี้ก็ดี เหตุให้เกิดโลกนี้ก็ดี ความดับแห่งโลกนี้ก็ดี ทางให้ถึงความดับแห่งโลกนี้ก็ดี ตถาคตบัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่งนี้อันมีทั้งสัญญาและใจ คือในร่างกายที่ยังเป็น ๆ ยังมีชีวิตยังมีความรู้สึกนึกคิดอยู่ได้นี้แหละ ให้มองให้ดีมีอยู่ทั้งสังสารวัฏและนิพพานโลก และเหตุให้เกิดโลกนั้นคือสังสารวัฏ ความดับสนิทแห่งโลกและทางถึงความดับสนิทแห่งโลกนั้นเป็นฝ่ายนิพพาน ค้นหาได้ในร่างกายนี้ เราต้องหาความดับทุกข์ที่ความทุกข์ เพราะเราต้องการจะดับทุกข์ ดับตัวทุกข์ที่ไหนความดับทุกข์มันก็มีที่นั่นเพราะฉะนั้นต้องเห็นความดับทุกข์ในตัวความทุกข์นั่นเอง..
ถ้ามีการยึดถือมากก็ต้องเป็นทุกข์มาก ดับความยึดถือเสียได้มันก็ไม่มีความทุกข์ การดับความยึดถืออย่างสูงสุดเสียได้มันก็ได้นิพพานมา คือความดับอย่างยิ่ง ถ้าเรารู้จักแสวงหาความดับทุกข์ในตัวความทุกข์แล้วก็เรียกว่าเป็นผู้รู้ธรรมะ หรือมีดวงตาเห็นธรรมแล้วเป็นแน่นอน
...วันอาสาฬหบูชาเป็นวันแห่งชัยชนะของมนุษย์ เป็นวันที่มนุษย์มีชัยชนะเหนือความทุกข์และกิเลส ดังที่ได้กล่าวแล้ว ดังนั้นวันนี้เป็นสัญลักษณ์ของแสงสว่าง เป็นวันแห่งแสงสว่าง เราต้องมีแสงสว่างที่จะรู้จักสิ่งเหล่านั้นตามที่เป็นจริง
(หมายเหตุ : เรียบเรียงจากหนังสือ อาสาฬหบูชาเทศนา ซึ่งเป็นธรรมเทศนาในโอกาสวันอาสาฬหบูชาวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๑ ณ สวนโมกขพลาราม อ .ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี)
จาก หนังสือธรรมลีลา ฉบับที่44 กรกฎาคม 2547
โดย พุทธทาสภิกขุ