ให้อภัย
มนุษย์ที่มีใจสูงย่อมรู้จักให้อภัยไม่เอาเรื่องกับสิ่งเล็กน้อย
อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ทางที่ถูกควรทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก ถ้าเป็นเรื่องเล็กอยู่แล้วก็ไม่ควรเอาเรื่องเสียเลย ปล่อยไปเสีย ทำไม่รู้ไม่เห็นเสียบ้าง ไม่บอดทำเป็นเหมือนบอด ไม่ใบ้ทำเหมือนใบ้ ไม่หนวกทำเหมือนหนวกเสียบ้าง จิตใจของเราจะสบายขึ้น
มีเรื่องแปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งในหมู่มนุ ษย์ คือ คนส่วนมากเผชิญกับเหตุการณ์ใหญ่ ๆ อย่างกล้าหาญได้ แต่กลับขาดความอดทนต่อสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ตัวอย่างเช่น ใครมาพูดเสียดสี กระทบกระเทียบเปรียบเปรย เขาทนไม่ได้ แต่กลับทนอยู่ในคุกตารางได้เป็น 20-30 ปี และยินดีรับความทุกข์เหล่านั้นไปตลอดเวลาที่ทางราชการกำหนด แม้จะไม่ยินดี ก็เหมือนยินดี เพราะไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเขายินดีรับความทุกข์เพียงเล็กน้อยเสียก่อน คืออดทนต่อคำด่าว่าเสียดสี หรืออาการทำนองที่เขาคิดว่าเป็นการดูถูกดูแคลนเพียงเล็กน้อยเสียก่อน ไหนเลยเขาจะต้องมาทนทุกข์ทรมานอันมากมายยาวนานถึงเพียงนั้น
การให้อภัยเป็นคุณธรรมสำคัญอย่างหนึ่งในมนุษย์ คนส่วนมากเมื่อจะทำทานก็มักนึกถึงวัตถุทานคือการให้วัตถุสิ่งของ ให้ได้มาก เตรียมการมาก ยุ่งมาก เขายินดีทำ แต่ใครมาล่วงเกินอะไรไม่ได้ ไม่มีการให้อภัยในความผิดพลาดของผู้อื่น ความจริงเขาควรหัดให้อภัยทานบ้าง แล้วจะเห็นว่า จิตใจสบาย ขึ้นประณีตขึ้น สูงขึ้น เป็นเทวดา ดังสุภาษิตอังกฤษบทหนึ่งว่า To err is human , to forgive diving แปลว่า การทำผิดเป็นเรื่องของมนุษย์ ส่วนการให้อภัยเป็นเรื่องของเทวดา ถือเอาความว่ามนุษย์ธรรมดาย่อมมีการทำผิดพลาดบ้าง ส่วน มนุษย์ที่มีใจสูงย่อมรู้จักให้อภัย ไม่เอาเรื่องกับสิ่งเล็กน้อย หรือแม้ในสายตาของคนอื่นจะเห็นเป็นเรื่องใหญ่ แต่สำหรับท่านผู้มีใจกรุรา ย่อมเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อย
พระพุทธเจ้าที่พวกเรานับถือนั้นมีผู้ปองร้ายพระองค์ถึงกับจะเอาชีวิตก็มี เช่น พระเทวทัตและพวกพยายามปลงพระชนม์หลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จเพราะพระองค์ไม่ร้ายตอบ ทรงให้อภัย มีคนใส่ร้ายด้วยเรื่องที่ร้ายแรงทำให้เสียเกียรติยศชื่อเสียงก็มีเช่นพวกเดียรถีย์นิครนถ์ นางจิญจมาณวิกา นางสุนทรี เป็นต้น แต่ก็ไม่ทรงทำตอบ ทรงให้อภัย ในที่สุดคนพวกนั้นก็พ่ายแพ้ไปเอง เหมือนเอาไข่ไปตอกกับหินไข่แตกไปเอง
พระเยซู ศาสดาของคริสต์ศาสนาก็ทรงมีชื่อเสียงมากในการให้อภัย ไม่ทรงถือโทษต่อผู้คิดร้ายทำร้ายต่อพระองค์ ให้อภัยผู้ทำความผิด เปิดโอกาสให้กลับตัว
อีกท่านหนึ่งคือมหาตมะ คานธี ซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลกเรื่องอหิงสา ความไม่เบียดเบียน การให้อภัยจนถึงอัลเบิร์ต ไอสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ได้กล่าวสดุดีท่านผู้นี้ไว้ว่า ต่อไปภายหน้ามนุษย์จะเชื่อหรือไม่ก็ไม่ทราบ ว่าได้เคยมีคนอย่างนี้ (ท่านมหาตมะ คานธี) เกิดขึ้นแล้วในโลก ทั้งนี้เพราะคุณวิเศษในตัวท่านนั้นยากที่คนสามัญจะหยั่งให้ถึงได้
รวมความว่า มหาบุรุษที่โลกยกย่องให้เกียรติเคารพบูชานั้น ล้วนเป็นนักให้อภัยทั้งสิ้นไม่เอาเรื่องกับสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเรื่องใหญ่ก็ทำเป็นเรื่องเล็กเสียท่านเหล่านั้นมุ่งมั่นในอุดมคติ จนไม่มีเวลาจะสนพระทัยหรือสนใจในเรื่องเล็กน้อย แต่ท่านเหล่านี้จะสนใจในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อันเกี่ยวกับสุขทุกข์ของผู้อื่นเสมอ ส่วนเรื่องร้ายที่คนอื่นกระทำแกท่าน ท่านไม่สนใจ ลองอ่านประวัติของท่านที่เอ่ย พระนามและนามมาแล้วดังกล่าวดูบ้าง จะเห็นว่าท่านน่าเคารพบูชาเพียงใด โลกจึงยอมน้อมเศียรให้แก่ท่าน
มีเรื่องเล่าว่าในวัดพุทธศาสนานิกายเซ็นวัดหนึ่งมีพระอยู่กันหลายรูป มีพระรูปหนึ่งมีนิสัยทางขโมยได้ขโมยของเพื่อนพระด้วยกันเสมอ ๆ จนวันหนึ่งพระทั้งหลายพากันขึ้นไปหาเจ้าอาวาสบอกว่า ถ้าพระรูปนี้ยังอยู่วัดนี้ พวกเขาจะไม่อยู่วัดนี้ ขอให้ไล่พระรูปนั้นออกไป ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า พวกคุณนั่นแหละควรจะไปได้แล้วทุกรูป ส่วนพระรูปนั้นควรจะต้องอยู่กับฉันก่อน เพราะยังไม่ดี
นี่คือเรื่องของผู้มีใจกรุณา คนที่เคยทำความผิดอันยิ่งใหญ่นั้น ถ้ากลับใจได้เมื่อใดก็มักทำความดีอันยิ่งใหญ่เหมือนกัน เพราะสลดใจในเวรกรรมที่ตนเคยสร้างไว้ ดูพระเจ้าอโศกมหาราชและขุนโจรองคุลิมาลเป็นตัวอย่าง พระองค์เสด็จไปโปรดองคุลิมาลให้กลับเป็นคนดี ก็ด้วยพระทัยกรุณานั่นเอง แม้พระเจ้าอโศกมหาราชก็เหมือนกัน ตามพระประวัติว่า ได้อาศัยพระภิกษุในพุทธศาสนารูปหนึ่ง จึงกลับพระทัยมาดำเนินชีวิตทางไม่เบียดเบียน ทรงบำเพ็ญอภัยทานเป็นอันมาก
ถ้าจะเอาเรื่องกับเด็กรับใช้ที่บ้านภารโรงที่โรงเรียนหรือสำนักงาน ก็ขอให้หยุดคิดสักนิดหนึ่งว่าก็แกแค่นั้น จะเอาอะไรกับแกนักหนา ถ้าแกดีเท่าเราหรือเฉลียวฉลาดปราดเปรื่องอย่างเรา แกจะมาเป็นคนใช้หรือเป็นภารโรงทำไมกัน ก็เพราะความคิดอ่านแกมีอยู่เท่านั้น แกก็ทำอย่างนั้น อย่างที่เรารำคาญ ๆ อยู่นั่นแหละ คิดได้อย่างนี้ก็ค่อยหายกลุ้มไปหน่อย สุภาษิตที่ว่า ความเข้าใจเป็นมูลฐานแห่งการให้อภัย นั้น ยังเป็นความจริงอยู่เสมอ เมือ่เข้าใจแล้วก็ให้อภัยเห็นว่าเขาเป็นคนอย่างนั้นเอง
พระสารีบุตรเคยแสดงแก่ภิกษุทั้งหลายว่าในการคบคนนั้น ควรถือเอาเฉพาะส่วนดีของเขาส่วนไม่ดีก็ตัดทิ้งไป บางคนการกระทำทางกายไม่ดี แต่วาจาดี บางคนวาจาหยาบแต่การกระทำทางกายดี บางคนการกระทำทางกายก็หยาบ วาจาก็หยาบ แต่ใจดี ควรถือเอาเฉพาะส่วนที่ดีนั้น ท่านเปรียบว่าเหมือนดึงผ้าออกมาจากดินโคลนเพื่อจะเอาไปปะต่อใช้สอยเห็นส่วนไหนดีก็ตัดเอาไว้ ส่วนไหนไม่ดีก็ตัดทิ้งไปถ้าทำได้อย่างนี้ก็จะช่วยให้สบายใจได้มาก
อนึ่งควรคิดว่า คนเราเกิดมาด้วยจิตที่ไม่เหมือนกัน คือพื้นฐานของจิตตอนถือปฏิสนธินั้นไม่เหมือนกัน จึงมีอุปนิสัยแตกต่างกันมาตั้งแต่เยาว์ เมื่อกระทบกับสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันอีกก็ทำให้บุคคลแตกต่างกันไปเป็นอันมาก การอยู่รวมกันของคนหมู่มากผู้มีอุปนิสัยใจคอพื้นฐานทางใจและการอบรมที่แตกต่างกัน จึงมีปัญหามาก ถ้าเราถือเล็กถือน้อยไม่รู้จักให้อภัย เราก็จะมีทุกข์มาก บางทีก็เกี่ยวกับช่องว่างระหว่างวัย ผู้ใหญ่อยากจะให้เด็กทำ พูดและคิดอย่างตน ส่วนเด็กก็อยากจะให้ผู้ใหญ่ทำ พูด คิด อย่างตนเหมือนกัน ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไปแล้วเป็นไปไม่ได้ ฝ่ายผู้ใหญ่ควรให้อภัยว่าแกเป็นเด็ก ส่วนเด็กก็ควรให้อภัยว่าท่านแก่แล้ว มาเข้าใจกันเสียคือเห็นใจซึ่งกันและกัน เมื่อเป็นดังนี้เรื่องเล็กไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่ ทุกฝ่ายอยู่กันด้วยความเห็นใจเข้าใจ มองกันอย่างเป็นมิตร ไม่เป็นศัตรูต่อกัน
นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งในการผ่อนคลายความทุกข์ในชีวิตประจำวัน
จากหนังสือ ธรรมลีลา ปีที่ 4 ฉบับที่ 46 กันยายน 2547
โดย วศิน อิทสระ