เรื่องเล่าวันพระ: วาระสุดท้ายของท่านพุทธทาสภิกขุ
พระธรรมโกศาจารย์ พุทธทาสภิกขุ สวนโมกขพลาราม
เขียนเล่าเรื่อง พระไพศาล วิสาโล



ปี ๒๕๓๔ ท่านพุทธทาสภิกขุมีอาพาธหนักด้วยโรคหัวใจ ตอนนั้นท่านอายุ ๘๕ ปีแล้ว ลูกศิษย์มีความเป็นห่วงท่านมาก โรงพยาบาลศิริราชถึงกับส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจมารักษาท่าน เมื่อนายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล ได้พบท่านเป็นครั้งแรก อย่างแรกที่แปลกใจก็คือ " สีหน้าและท่าทางของท่านอาจารย์นั้นไม่ได้สัดส่วนกันกับอาการอาพาธที่เราตรวจพบ" คือถ้าเป็นผู้ป่วยธรรมดาและมีอายุมากขนาดนี้ จะต้องมีสีหน้าและท่าทางว่าเจ็บป่วยอย่างชัดเจนกว่านี้ แต่ท่านอาจารย์กลับดูสงบ ไม่มีอาการทุกข์ร้อน เว้นแต่น้ำเสียงเท่านั้นที่อ่อนแรงและสีหน้าที่อิดโรย...."ผมยังไม่เคยเห็นการแสดงออกของผู้ป่วยแบบนี้มาก่อน"

เนื่องจากอาการของท่านหนักมาก แพทย์จึงขอให้ท่านเดินทางเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล แต่ท่านปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่า “ อาตมาอยากให้การอาพาธและการดูแลรักษานั้นเป็นไปแบบธรรมชาติ ธรรมดาๆ เหมือนกับการอาพาธของพระสงฆ์ทั่วไปในสมัยพุทธกาล ” และ ...“ ขอใช้แผ่นดินนี้เป็นโรงพยาบาล ”

คณะแพทย์พยายามชี้แจงว่าอาการของท่านนั้นหนักจนสามารถทำให้ท่านมรณภาพได้ตลอดเวลาและอย่างทันทีทันใดหากทำการรักษาอยู่ที่วัดซึ่งขาดอุปกรณ์ทางการแพทย์
แต่ท่านฟังแล้วก็ยิ้มๆ หัวเราะ หึ หึ ไม่ว่าอะไร แล้วสักครู่ก็กล่าวปฏิเสธ คณะแพทย์ไม่ละความพยายาม ต่อรองว่าหากท่านเข้าโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นที่ไหน จะไม่มีการใช้เทคโนโลยีที่เกินเลย เช่นการเจาะคอหรือใส่สายระโยงระยางต่าง ๆ แต่ท่านก็ยังปฏิเสธอย่างนิ่มนวลเช่นเคย ด้วยการหัวเราะหึ หึ และพูดคำว่า “ ขอร้อง ขอร้อง ขอร้อง ”

“ การรักษาตัวเองโดยธรรมชาติเป็นสิ่งที่เหมาะสม อาตมาถือหลักนี้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ให้ธรรมชาติรักษา ให้ธรรมะรักษา ส่วนคุณหมอก็ช่วยผดุงชีวิตให้มันโมเมๆ ไปได้ อย่าให้ตายเสียก่อน ขอให้แผ่นดินนี้เป็นโรงพยาบาล แล้วธรรมชาติก็จะรักษาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้เอง ได้เท่าไรก็เอาเท่านั้น ไม่ควรจะมีอายุมากกว่าพระพุทธเจ้า ธรรมชาติจะเป็นผู้รักษา ทางการแพทย์หยูกยาต่าง ๆ ช่วยเพียงอย่าเพิ่งตาย ”
ท่านยังกล่าวอีกว่า “ การเรียนรู้ชีวิต ใกล้ตาย ทำให้มีปัญญาที่สมบูรณ์ขึ้น เราจะศึกษาความเจ็บ ความตาย ความทุกข์ ให้มันชัดเจน ไม่สบายทุกที ก็ฉลาดขึ้นทุกทีเหมือนกัน ”
ในที่สุดคณะแพทย์ก็ยอมตามความต้องการของท่าน โดยให้การรักษาท่านที่สวนโมกข์ ในที่สุดท่านก็มีอาการดีขึ้นและสามารถเผยแผ่ธรรมได้อีกต่อไป
อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นไม่ถึงสองปี วาระสุดท้ายของท่านก็มาถึง

เช้าวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๓๖ ท่านตื่นตามปกติ ประมาณ ๔.๐๐ น. จากนั้นก็ลุกขึ้นมานั่ง เตรียมงานเทศน์ ในวันเลิกอายุที่ ๒๗ พฤษภาคม แต่ทำไปได้เพียง ๑๐ นาที ท่านก็ล้มตัวลงนอน และพูดกับพระอุปัฏฐากคือพระสิงห์ทองว่า “ ทอง วันนี้เรารู้สึกไม่สบาย ” หลังจากนั้นก็ฉันยาหอมแล้วก็นอนต่อ

ประมาณ ๖.๐๐ น.ท่านบอกพระสิงห์ทอง ว่า “ วันนี้ เรารู้สึกไม่ค่อยสบาย ไปตามท่านโพธิ์(เจ้าอาวาสสวนโมกข์)มาพบที เธอไม่ต้องไป ให้คนอื่นไปตาม เพราะเราไม่สบาย ”
เมื่อท่านอาจารย์โพธิ์มาถึง ท่านพูดด้วยน้ำเสียงปกติว่า “ น่ากลัวอาการเดิม จะกลับมาเป็นอีกแล้ว ไปโทรศัพท์ ตาม"ยูร (นพ. ประยูร คงวิเชียรวัฒนะ) มาพบที ”

ตอนนั้นท่านรู้แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับท่าน จึงพูดกับพระเลขานุการคือพระพรเทพว่า “ เอากุญแจ ( กุญแจตู้เอกสารหนังสือ) ในกระเป๋านี้ไปด้วย เราไม่อยากจะตาย คากุญแจ ” ตอนนั้นท่านพรเทพไม่คิดว่า ท่านจะเป็นอะไรมาก จึงช่วยกันนวดแล้ว ให้ท่านอาจารย์นอนพัก

ประมาณ ๘.๐๐ น. ท่านก็พูดกับพระสิงห์ทองว่า “ ทอง ทอง เราจะพูด ไม่ได้แล้ว ลิ้นมันแข็งไปหมดแล้ว ” ต่อจากนั้น ท่านพูดไม่ชัด เมื่อพระอาจารย์โพธิ์มาพบท่าน ท่านพยายามพูดกับอาจารย์โพธิ์ ประมาณ ๔-๕ ช่วง คล้ายจะสั่งเสีย แต่ไม่มีใครฟังออก จับความไม่ได้ ไม่รู้เรื่อง เนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตกทำให้สมองที่ควบคุมการพูดเสียไป

เมื่อพระแสดงปฏิกิริยาว่า รับรู้ไม่ได้ ท่านก็หยุดพูด จากนั้น ท่านก็สาธยายธรรม ซึ่งพระองค์อื่น ก็ฟังไม่ออก แต่ท่านอาจารย์โพธิ์ พอจับความในช่วงที่สั้นๆว่า ยตฺถ เนว ปฐวี น อาโป น เตโช น วาโย , ว่านี้คือ “ นิพพานสูตร ” ท่านอาจารย์ ท่านสาธยาย ทบทวนไป ทบทวนมา หลายครั้ง

หลังจากนั้นท่านก็ไม่รู้ตัว แพทย์จึงนำท่านไปรักษาที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ และในที่สุดก็นำท่านไปที่โรงพยาบาลศิริราช ทุกคนรู้ว่าการทำดังกล่าวเป็นการขัดความประสงค์ของท่าน แต่ก็จำยอมต้องทำเพื่อเชื่อว่าจะช่วยให้ท่านหายได้ แต่หลังจากใช้ความพยายามเต็มที่กว่า ๔๐ วันก็ยอมรับความล้มเหลว ในที่สุดจึงพาท่านกลับมายังสวนโมกข์เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ไม่กี่นาทีที่ท่านถึงสวนโมกข์ ท่านก็หมดลม

 


 

 

คลิกดูสาระธรรมทั้งหมด