จาคานุสติ

โดยหลวงปู่เทสก์ เทสรํสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย

จาคานุสติ ในที่นี้ท่านให้ระลึกถึง “ จาคะ ” การสละของของตนเป็นอารมณ์ เพื่อให้จิตสงบนั่นเอง หากไม่มีสติมันก็ไม่เป็นภาวนา ต้องมีสติจึงจะเป็นภาวนาคือระลึกได้ในทานที่เราสละไปตั้งนานแล้ว เมื่อมรุลึกถึงก็เกิดความปลื้มปีติขึ้นมา ทำให้จิตสงบได้อันนั้นแหละเป็นจาคานุสติ

เราทำบุญทำทานการกุศลสิ่งใด มากหรือน้อย ไม่เป็นปัญหา มันอยู่ที่อนุสติ อนุสติมีมากมันก็สงบมาก อนุสติไม่มีหรือมีน้อย ก็สงบน้อยหรือไม่สงบเลย การที่จะให้มีสติระลึกได้นั้น มันยากอยู่เหมือนกัน ต้องอาศัยปัญญาอีกด้วย ถ้าไม่เกิดปัญญา มันก็ไม่มีอนุสติและก็ไม่ระลึกถึงด้วย มันต้องเสาะแสวงหาถึงเรื่อง จาคะ การบริจาคของเรา เช่น วัตถุทานสิ่งใดที่เราให้ท่านไปแล้วนั้น อย่าเป็นเพียงแต่ว่าให้เฉย ๆ ต้องคิดถึงคุณค่าประโยชน์ในวัตถุทานด้วยว่าวัตถุทานเราได้มาโดยชอบหรือไม่ เราหามาได้โดยง่ายหรือยาก

โดยทั่วไปแล้ว การทำทานที่จะให้ได้รับผลโดยสมบูรณ์นั้นต้องครบอาการ 3 คือ ประกอบด้วย การมีศรัทธา มีวัตถุทาน และมีผู้รับทาน

บางทีการที่เราจะทำทานมันก็ยากอยู่มีศรัทธามีวัตถุทานแต่ปฏิคาหก ผู้รับทานนั้นขาดไป บาที่มีวัตถุทาน แต่ไม่มีเจตนาที่จะทำทาน มันก็ขาดไปเหมือนกัน ต้องมีวัตถุด้วยมีเจตนาด้วย แล้วก็มีผู้รับทานด้วย ถึงจะถึงพร้อมอาการ 3 แต่ว่าการที่จะมีผู้รับทานนั้น คนที่รับทานนั้นสมควรแก่ท่านของเราหรือไม่ นั่นเป็นข้อสำคัญอีกเหมือนกัน

อนึ่งท่านให้คิดถึงประโยชน์ของทานวัตถุที่เราสละไป เช่น สร้างกุฏิ วิหาร หรือศาลา ตัวอย่างเช่น ศาลาหลังนี้เราสร้างขึ้นไว้เพียง 100 บาท 1,000 บาท เท่านั้นเอง แต่ได้ใช้ประโยชน์นานมากมายตั้งหลายสิบปี ดังนั้น วัตถุที่เราทานไปจึงเป็นของมีค่ามาก หากเราจะไปซื้อวัตถุสิ่งใด เป็นอาหารการกินด้วยเงินร้อยบาท ไม่กี่วันก็หมดไป แต่เรามาจาคะให้เป็นวัตถุถาวร บุคคลอื่น ๆ อีกหลาย ๆ คนก็ได้มาพึ่งพาอาศัย ได้มาอยู่เย็นเป็นสุข นอกจากพระเจ้าพระสงฆ์แล้วยังมีผู้ที่ทำความเพียรภาวนาฝึกฝนอบรมจิตใจจนได้ผลจิตสงบเยือกเย็น อันนี้อานิสงส์มากที่สุด หากคิดอย่างนี้ พิจารณาอย่างนี้ จึงค่อยเกิดปีติเรียกว่า อนุสติ คือ มีสติระลึกได้นั่นเอง

คราวนี้มาพูดถึงเรื่อง จาคะ ด้านภาวนาดูบ้าง เมื่อพูดถึงด้านภาวนา จะเห็นว่า จาคะเป็นเรื่องของภาวนาโดยแท้ เรียกว่าเป็น อนุสติภาวนา อย่างหนึ่ง

ในขณะที่นั่งภาวนา เราจะเอาอะไรมาเป็นทานวัตถุนอกจากอารมณ์ที่เกิดจากใจเท่านั้น และการภาวนาก็ไม่ให้ส่งจิตออกไปภายนอกให้กำหนดจิตนิ่งแน่วอยู่ในที่เดียว เมื่ออารมณ์อันใดเกิดขึ้นมาที่ใจ ก็ให้สละจาคะออกไปเสีย นี่แหละจึงจะเป็นจาคะอันแท้จริง

ของที่เราจะจาคะมีมากมายเหลือเกิน เช่น โลภ โกรธ หลง ล้วนแต่เป็นสิ่งที่น่าจาคะทั้งนั้น จาคะ หมายความว่า “ สละ ” เข้ากับศัพท์บาลีที่ท่านว่า “ จาโค ปฏินิสุสฺคฺโค มุตฺติ อนาลธย ”

จาโค ปฏินิสุสฺค สละคืนของเดิมไป

มุตฺติ อนาลโย ไม่มีอาลัยในสิ่งที่เราจาคะแล้ว

ลองพิจารณาดูว่า จาคะตรงนั้นจะจาคะอะไร ก็จาคะสิ่งที่มีอยู่ที่ใจของเรานั่นเอง ใจมันผูกพันในสิ่งใด สละให้ไปจะเป็นวัตถุสิ่งของก็ได้ จะเป็นอารมณ์ต่าง ๆ ก็ได้ เช่นเรามาอยู่วัด คิดถึงบ้านมีความกังวลต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ จาคะไปคิดถึงลูกหลายก็ค่อยจาคะไป ความรัก ความชั่ง ความเกลียด ความโกรธก็ค่อยจาคะไป จาคะไปทีละเล็กทีละน้อยมันก็ค่อยหมดไป

บางคนอาจสงสัยว่าจาคะให้ใคร พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ ปฏินิสฺสคฺโค มุตฺติ อนาลโย ” คืนของเก่าไปแล้ว ก็ไม่มีอาลัยอีก ทุกสิ่งเป็นของเก่าทั้งหมด ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความรัก ความชั่ง เป็นของเก่าทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัตถุ มันเป็นนามธรรม คราวนี้ใครเล่าจะเป็นผู้รับเอาก็นามธรรมนั่นแหละรับเอาไปบุคคลใดยังถือว่าเราว่าเขาอยู่บุคคลนั้นก็รับเอาไปครองไว้ในจิตของตน พระพุทธเจ้าและพระอริยสงฆ์สาวกของพระองค์ ท่านสละทิ้งไว้ในโลกนี้แล้วเข้าสู่พระนิพพาน

...แท้ที่จริงจิตใจของเราเป็นของใสสะอาดบริสุทธิ์ แต่เราไปยึดเอาความโกรธ ความโลภ ความหลงมาใส่ มันก็เลยขุ่นมัวไปหมดถ้าหากใจเป้นของไม่ใสสะอาดแต่เดิมแล้วพระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายจะทำให้บริสุทธิ์ได้อย่างไร ใจต้องเป็นของใสสะอาดอยู่แต่เดิม ท่านจึงสามารถทำความบริสุทธิ์ให้กับใจได้ โดยที่ท่านขำระส่วนเปลือกย่อยที่มันลอยขึ้นมาติดอยู่ที่เปลือก เปลือกคืออายตนะทั้งหกของท่านซึ่งเป็นของบริสุทธิ์แต่เดิม

พิจารณาดูเถิด ที่เราต้องชำระอยู่นี้ ล้วนแล้วแต่เป็นของเก่าทั้งนั้น

ความโลภ ที่เราอยากได้นั่นอยากได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุดก็เป็นของเก่า มันใช้ให้เราและคนอื่น ๆ ทะเยอทะยาน ดิ้นรนกระเสือกกระสน อยากได้ไม่พอสักที

ความโกรธ ก็เป็นของเก่า มันทำให้เราและคนอื่นๆ ตกนรกทั้งเป็น หัวโขนหัวนี้ใครสวมเข้าแล้วทำหน้าตาให้เป็นยักษ์เป็นมารเหมือนกันหมด

ความหลง ก็เช่นเดียวกัน เป็นของเก่า เมื่อความหลงเกิดในบุคคลใดแล้วจะทำให้บุคคลนั้นไม่รู้จักผิดจักถูกเห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิดไปหมด

เมื่อเราไม่โลภมันก็เฉย ๆ เมื่อเราไม่โกรธมันก็เฉย ๆ เมื่อเราไม่หลงมันก็เฉย ๆ คราวนี้เมื่อไปโลภ ไปโกรธ ไปหลงขึ้นมา มันก็มีในตัวเรานั่นเอง มันไม่หมดไม่สิ้นกันสักที กิเลสเหล่านี้ไม่ตายไปจากโลกสักที

...ถ้าเราพิจารณาดู รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะว่าเป็นของเก่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทิฐิมานะว่าเป็นของเก่า เป็นของมีมาแต่ไหนแต่ไรอยู่ในโลกนี้แล้ว มิใช่ของเพิ่งเกิดในตัวของเรา เพราะฉะนั้น ขอทุกคนจงภาวนากำหนดพิจารณาจาคานุสติ โดยนัยที่อธิบายมานี้

 

จากหนังสือ ธรรมลีลา ปีที่ 4 ฉบับที่ 41.

พิมพ์ สุวิภา กลิ่นสุวรรณ์