พุทธเจดีย์
โดย มหานาลันทา
เมื่อพูดถึงพุทธเจดีย์ หลายท่านคงนึกถึงสิ่งก่อสร้างที่ก่ออิฐถือปูน มีรูปร่างดังลอมฟ่าง มีสัณฐานทรงกลมยอดแหลม ภายในบรรจุสิ่งที่นับถือ มีพระบรมธาตุเป็นต้น
แต่ความจริงแล้ว ที่เรียกว่า พุทธเจดีย์ นั้นไม่ได้เจาะจงว่า จะต้องเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีรูปพรรณสัณฐานดังกล่าวแล้ว แม้เป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ หรือเป็นพระพุทธรูปก็จัดเป็นพุทธเจดีย์ทั้งสิ้น
ดังนั้น ท่านจึงจัดพุทธเจดีย์ออกเป็น ๔ อย่างคือ
๑.พระธาตุเจดีย์ คือพระบรมธาตุ หรือพระบรมสารีริกธาตุ ที่โทณพราหมณ์ แจกแก่กษัตริย์เมืองต่าง ๆ ๘ นคร มีพระเจ้าอชาตศัตรูแห่งมคธ เป็นต้น ได้นำไปบรรจุไว้ในสถูป เพื่อสักการบูชา จัดเป็นพระธาตุเจดีย์
๒.บริโภคเจดีย์ ได้แก่ สังเวชนียสถาน ๔ แห่ง คือ สถานที่ประสติ สถานที่ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา และสุดท้ายสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน
สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้ จัดเป็นบริโภคเจดีย์ตามพระพุทธานุญาตและเมื่อนับรวมพระสรีรังคารคือเถ้าถ่านที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระที่โมริยกษัตริย์ แห่งเมืองปิปผลิวัน องค์หนึ่งและตุมพะทะนาน ที่โทณพราหมณ์ใช้ตวงพระบรมธาตุแจกเจ้านครทั้ง ๔ มีพระเจ้าอชาตศัตรู แห่งมคธรัฐ เป็นต้น ซึ่งโทณพราหมณ์ได้รับไป โดยนำไปสร้างพระสถูปบรรจุไว้ ณ เมืองกุสินาราองค์หนึ่ง
พระสถูปทั้ง ๒ องค์นี้ก็นับเป็นบริโภคเจดีย์ เพราะเนื่องด้วยพระพุทธองค์เมื่อรวมกับสังเวชนียสถานทั้ง ๔ แห่ง จึงเป็นบริโภคเจดีย์ในชั้นแรก ๖ แห่งด้วยกัน
ต่อมาชนะชั้นหลังได้นับเอาบาตร จีวร และบริวาร มีธมกรก เป็นต้นก็ดีเสนาสนะ เตียวตั่ง และกุฏีวิหาร ที่พระพุทธองค์ทรงบริโภคก็ดี เป็นบริโภคเจดีย์ทั้งสิ้น
๓.พระธรรมเจดีย์ คือพระเจดีย์ที่บรรจุพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์กล่าวคือวิญญูชนทั้งหลายมีศรัทธาตั้งมั่นในพระพุทธศาสนา ใคร่จะบูชาบริโภคเจดีย์ และพระบรมธาตุเจดีย์ แต่พระเจดีย์ดังกล่าวอยู่ไงไกลจนไม่สามารถจะไปบูชาได้ จึงได้สร้างเจดีย์ขึ้น แต่ไม่อาจจะหาพระบรมธาตุมาบรรจุได้ หรือไม่มีพระบรมธาตุจะบรรจุ จึงถือเอาพุทธวจนะคือพระธรรม จดจารจารึกลงบนแผ่นทอง เงินและศิลา แล้วบรรจุไว้ในพระเจดีย์ พระธรรมที่มักใช้จารจารึกได้แก่ หัวใจของพระพุทธศาสนาที่ว่า
เย ธมฺม เหตุปฺปภวา เตสํ ตถาคโต (อาห) เตลัญฺจโย นิโรโธจ เอวํ วาที มหาสมโณ
แม้เมื่อมีการจดจารึกพระธรรมวินัยลงเป็นตัวอักษรแล้ว ก็นับถือคัมภีร์พระไตรปิฎกว่า เป็นพระธรรมเจดีย์ด้วย
๔.อุเทสิกเจดีย์ เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นด้วยเจตนาอุทิศต่อพระพุทธเจ้า เช่นพระพุทธปฏิมากร หรือพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รวมถึงพระพุทธบาท เป็นต้นเพื่อยังความปีติศรัทธาเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น ให้เกิดกุศลจิต จึงน้อมนำเอาเงินทอง ศิลา โลหะ และไม้แก่น เป็นต้น มาสร้างเป็นพระพุทธรูป เป็นต้น เรียกว่า อุเทสิกเจดีย์
ในบรรดาพุทธเจดีย์ทั้ง ๔ นี้ พระธาตุเจดีย์ หรือพระบรมสารีริกธาตุ นนับว่าหาได้ยากยิ่ง แต่ก็มักมีผู้อวดอ้างว่ามีอยู่มากมาย จึงขอนำมาเอาพระนิพนธ์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (สา) ในพุทธประวัติ เล่ม ๓ มาลงไว้ให้ พิจาราณากัน ความว่า
อนึ่ง ผู้ที่นำสิ่งของนั้น ๆ มีกรวดบ้าง ศิลาบ้าง มาแสดงว่าพระธาตุดั่งนี้ก็มีมากในสถานบ้านเมืองนั้น ๆ จนประชุมชนไม่ทราบว่าพระธาตุแท้นั้นอย่างไรพระสถูปที่สร้าง ๆ ขึ้นไว้ ก็มีมากหนาไป ผู้เห็นก็จืดจิต ไม่เลื่อมใส
จากหนังสือ ธรรมลีลา ปีที่ 4 ฉบับที่ 38
พิมพ์ สุวิภา กลิ่นสุวรรณ์