ภิกษุณีธัมมนันทา ดอกเตอร์ด้านปรัชญาและศาสนาผู้มุ่งมั่นเป็นนักบวช เรื่องโดย อุษาวดี สินธุเสน รู้จักหลวงแม่ ภิกษุณีธัมมนันทา หรือที่รู้จักและเรียนขานกันว่า หลวงแม่ มีชื่อเดิมขณะเป็นฆราวาสว่า รอง ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนราชินีบน จากนั้นไปศึกษาระดับปริญญาที่มหาวิทยาลัยศานตินิเกตัน ประเทศอินเดีย สำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม แผนกปรัชญา ต่อมาได้รับทุนรัฐบาลแคนาดา ไปศึกษาวิชาศาสนาในระดับปริญญาโทและเอก ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกของท่านเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบภิกษุณีปาติโมกข์ ได้พิมพ์อออกสู่ตลาดในภาคภาษาอังกฤษในปี พ.ศ. 2524 ท่านเริ่มงานสอนที่ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ตั้งแต่ พ.ศ. 2516-2543 ต่อมาเป็นอาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์พิเศษคุมวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอก ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ท่านมีผลงานแปลพระสูตรมหายานที่สำคัญๆหลายเล่ม อีกทั้งเคยเป็นพิธีกรรายการธรรมะ ชีวิตไม่สิ้นหวัง ทางช่องสามติดต่อกันนาน 7 ปี (พ.ศ.2537-2543) รายการที่ท่านจัดให้รับรางวัลรายการธรรมะดีเด่นถึงสองปีซ้อน
อะไรทำให้ตัดสินใจบวชคะ เริ่มจากเบื่อหน่ายทางโลก สมัยก่อนใช้ชีวิตทางโลกอย่างเต็มที่ ทำผม แต่งหน้า ชอบความสวยงามมาก ทุกเช้าได้แต่งหน้าสวยแล้วแฮ๊ปปี้มาก วันนี้ไปลุยได้อีกวัน เผลอๆก็ยิ้มกับตัวเองในกระจก แต่อยู่ดีๆ วันหนึ่งแต่งหน้าเสร็จแล้วคิดขึ้นมาเองเลยว่า เราต้องแต่งอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไร บอกตัวเองว่าพอแล้ว หมายถึงการแต่งหน้าแต่งตา และวิถีทางโลก
หลวงแม่บวชตอนอายุเท่าไร การบวชของหลวงแม่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยหรือไม่ และทำไมจึงไปบวชที่ศรีลังกา ไม่บวชที่เมืองไทย หลวงแม่ออกบวชอายุ 56-57 ปี ที่เลือกไปบวชที่ศรีลังกา บวชเมืองไทยไม่ได้ เพราะการบวชต้องบวชโดยสงฆ์ 2 ฝ่าย คือบวชจากภิกษุณีสงฆ์อย่างต่ำ 5 รูป และบวชจากพระภิกษุสงฆ์อย่างต่ำ 5 รูปเช่นกัน ในเมื่อเมืองไทยยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์ จึงเริ่มต้นบวชที่นี่ไม่ได้ การเลือกไปบวชที่ศรีลังกา เพราะคณะสงฆ์ไทยเป็นลังกาวงศ์ คือมีความสัมพันธ์กันมาแต่เดิมในสมัยสุโขทัย เมื่อพระสงฆ์ในศรีลังกาหมดสายลง ก็มาสืบไปจากไทยอีกในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายอยุธยาจึงเกิดสยามวงศ์ขึ้นที่นั่น ภิกษุณีสงฆ์จากอินเดียเข้าสู่ศรีลังกา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 3 แต่มาหมดไปในพ.ศ. 1560 โดยการรุกรานของกษัตริย์ฮินดู ต่อมามีการเริ่มต้นสายภิกษุณีอีกครั้งในปี พ.ศ. 2541 เป็นการบวชที่ถูกต้องโดยสงฆ์สองฝ่าย และเพื่อให้เกิดความมั่นคงในศรีลังกา ได้มีการบวชซ้ำเฉพาะพระเถระฝ่ายเถรวาท นับเป็นการสืบสายเถรวาทอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย การที่หลวงแม่เลือกไปบวชที่ศรีลังกา ก็เพราะต้องการสืบทอดการบวชแบบเถรวาทกลับมาประเทศไทยจากสายที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยที่สุด
คนมักมองว่าผู้หญิงบวชเพราะมีปัญหาชีวิต สำหรับหลวงแม่ล่ะคะ ไม่มีค่ะ ช่วงนั้นทำงานหาเงินได้เยอะมาก มีสอนพิเศษ ทำรายการโทรทัศน์ มีรายได้ดีมากๆ ทุกอย่างดีหมดเลย แต่เกิดตระหนักว่าชีวิตเราถูกกดปุ่มนะ ยิ่งกว่านั้นมาคิดได้ว่าเราไม่ได้เป็นคนกดเองด้วยนะ คนอื่นเขากดปุ่มชีวิตเราแท้ ๆ แล้วเราก็โลดแล่นไป เป็นเหมือนหุ่นชักเชิด ก็ตกใจ แล้วใครชักเชิดชีวิตเราอยู่ล่ะ มันคือระบบของความสำเร็จ เราเองก็หลงเพลิดเพลินไป หลวงแม่รู้ว่านี่ไม่ใช่ความหมายของชีวิตเรา เพราะเมื่อไปถึงจุดสุดยอดแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรอยู่นั่นเอง ชีวิตก็ยังว่างเปล่า ไม่รู้ว่าตัวเองแสวงหาอะไร แต่เมื่อไปถึงแล้ว บอกได้ว่ามันไม่ใช่
การที่หลวงย่า (มารดาของหลวงแม่) เป็นภิกษุณีมาก่อน มีผลต่อการตัดสินใจบวชของหลวงแม่หรือเปล่าคะ น่าจะมีส่วน แต่ตอนแรกหลวงแม่ปฏิเสธและต่อต้าน เพราะคนรอบข้างมักจะบอกว่า อาจารย์เหมาะที่สุดเลย เมื่อไรอาจารย์จะบวช วิธีการพูดของเขาฟังเหมือนคาดคั้น ซึ่งหลวงแม่จะมีปฏิกิริยารุนแรงมากคิดว่านี่มันชีวิตเรานะ อย่าให้คนอื่นบอกให้เราดำเนินชีวิตอย่างที่เขาคิดว่าเราควรจะเป็น ชีวิตเราเราต้องกำหนดเอง เราจะต้องไปถูกปั่นหัวโดยคนอื่น ต่อต้านอยู่นับสิบปี ที่สุดก็มาปิ๊งเพราะเบื่อโลกเอง แต่พอเราเบื่อโลกแล้ว เวลายังเหลืออยู่ ยังไม่ตาย จะทำอย่างไรดีนั่นแหละ จึงมาเลือกหนทางนี้ แต่หลวงย่าท่านไม่เคยพูดเรื่องบวชกับหลวงแม่เลย ท่านฉลาดมาก ท่านคงรู้จักลูกท่านดี ว่าถ้าดันมากๆ เราอาจจะฉีกไปเลย ท่านรู้หลวงแม่จะไม่ยอมเป็นตามที่ใครบอกหรอก ท่านให้เราค้นพบเอง
การที่หลวงแม่ศึกษาทางด้านศาสนาและปรัชญามีส่วนทำให้เลือกเดินทางนี้ไหมคะ อาจถูกหล่อหลอม แต่ไม่มากพอที่จะเลือกเอามาเป็นวิถีชีวิตของเรา มันเป็นความสนใจ เหมือนนักวิชาการที่สนใจในเรื่องอะมีบา แต่เขาก็ไม่จำเป็นต้องอะมีบาใช่ไหม (หัวเราะ) แต่กว่าจะมาถึงจุดที่ตัดสินใจบวช เราต้องมั่นคง เพราะการบวชในบ้านเรายังมีคนไม่ยอมรับและไม่เข้าใจเยอะมาก เราต้องชัดเจนจริงๆ เพราะเรากำลังตัดสินใจทำในสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่เขายังไม่ยอมรับ แต่แรงกระตุ้นที่สำคัญคือ การประชุมที่มหาวิทยาลัยฮาร์ดวาร์ดเมื่อปี พ.ศ. 2526 เรื่อง ผู้หญิง ศาสนา และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ( Women Religion and Social Changes ) เขาพูดถึงผู้หญิงจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้อย่างไร เขาเชิญแฟมินิสต์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิเพื่อผู้หญิงมาเจอกัน เรื่องที่พูดในที่ประชุมและกระแทกอารมณ์มากๆ ฟังไป ร้องไห้ไปและคนส่วนใหญ่ก็ร้องไห้กันมาก จนเราเรียกการประชุมครั้งนั้นว่า The Weeping Conference หลังกลับจากการประชุม หลวงแม่ก็มาซักฟอกตัวเองเป็นการใหญ่ บอกตัวเองว่าเราเป็นนักวิชาการ มีความรู้อยู่เต็มกระเป๋า เป็นคนเดียวที่มีความรู้ในเรื่องภิกษุณีมากที่สุดในประเทศไทย เราสามารถนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่สังคมได้ แต่เรากลับพอใจที่จะนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ทำไมเราไม่นำความรู้ที่เรามีความสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคม
บทบาทของแอ๊คทิวิสต์ (นักรณรงค์) เริ่มต้นเมื่อไรคะ ก็เริ่มจากการพิจารณาชีวิตที่เหลือ เมื่อกลับจากการประชุมที่ฮาร์วาร์ด หลวงแม่เริ่มออกจดหมายข่าวที่จะเป็นเครือข่ายของผู้หญิงชาวพุทธทั่วโลก เป็นการเปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการมาเป็นแอ๊คทิวิสต์เต็มตัว เริ่มพบปะสังสรรค์มากขึ้น เริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้หญิงนักบวชในที่ต่างๆ พอปี พ.ศ. 2530 เราก็จัดการประชุม Buddhist Women International ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาที่มีทั้งนักบวชและบุคคลที่สนใจมาประชุมกันรวม 26 ประเทศเราได้ก่อตั้งองค์กรศากยธิดา เป็นองค์กรสตรีชาวพุทธนานาชาติ อาจจะเรียกว่าหลวงแม่ทำป่าล้อมเมืองก็ได้ ตีมาจากข้างนอก จนมาสู่การตัดสินใจของเราเองที่จะเข้าสู่เส้นทางนี้ เรียกได้ว่าช่วงเตรียมตัวใช้เวลามากกว่ายี่สิบปี
ความรู้สึกในฐานะนักบวช ความรู้สึกในวันที่ตัดสินใจโกนศีรษะบวชเป็นอย่างไรคะ ตอนบวชเสียใจเล็ก ๆ ว่าทำไมบวชช้าไป มีงานให้ทำตั้งเยอะ แต่จริงๆก็ไม่ช้าไปหรอก เพราะเราต้องสร้างฐานบารมี บารมีทางสังคม บารมีอื่นๆ อีกหลายอย่าง วันที่บวชเป็นวันที่มีความสุขมาก ในแง่ที่ว่าชีวิตสมบูรณ์ ตอนประสบความสำเร็จทางโลก เราก็ยังรู้สึกว่างเปล่า แต่ ณ วันที่บวชบอกตัวเองว่านี่คือชีวิตที่เราต้องการจริงๆ เรามาถูกทางแล้ว แม้จะมีเสียงคนด่าคนว่า แต่ตอนนี้มาถึงจุดที่เราไม่หวั่นไหวแล้ว หากเด็กกว่านี้ก็อาจจะหวั่นไหวบ้าง
กว่าจะถึงจุดนี้คงพบอุปสรรคมากมาย ไม่ทราบว่าทำใจอย่างไรคะ เราต้องรู้ว่าเราทำตรงนี้ทำไม และเราต้องรู้ข้อจำกัดของเราว่าทำได้แค่นี้ บางส่วนที่ทำไม่ได้เพราะไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา ถ้ารู้จักคิดอย่างนี้ เราจะยอมรับได้และจะมีความสงบมากขึ้น เวลาที่เราผลักดันอะไรมากๆ ตัวกู จะออกมาเยอะ แต่เราต้องเข้าใจว่า เรื่องภิกษุณีสงฆ์เป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับหลายๆอย่าง เกี่ยวโยงกับมาตรฐานของรัฐบาล ซึ่งแต่ละจุดที่เราสัมผัสมีเงื่อนไขและข้อจำกัดในตัวเอง และตัวเราเองก็มีข้อจำกัด เมื่อคิดอย่างนี้เป็น เราก็จะไม่เดือนร้อนจนเกินไป หลายครั้งที่เราต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ความถูกต้องนั้นก็ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ความเป็นจริงก็มีข้อจำกัดหลายอย่าง ขอให้ทำดีที่สุดในส่วนของเราแล้วกัน ใครจะยอมรับไม่ยอมรับเป็นเรื่องของเขา ใครจะด่า เป็นเรื่องอกุศลของเขา เราอย่าไปรับผิดชอบเลย ถ้าเขามีอคติ นั่นไม่ใช่ปัญหาของเราแล้ว ไม่อย่างนั้นเราจะต้องแบกภาระของโลก
เคยเจออะไรที่แรงๆ บ้างคะ มีแค่ปีแรกๆ แต่พอตอนหลังก็เงียบ เงียบเพราะอะไร เพราะใครที่ให้สัมภาษณ์ต่อต้านการบวชภิกษุณีสงฆ์ กลายเป็นดาบสองคมที่กลับมาทำร้ายตัวเขาเอง ให้ตระหนักไว้เลยว่า อะไรที่เป็นอกุศลจะไม่สามารถหล่อเลี้ยงตัวเองได้ มันกินตัวเอง แต่อะไรที่เป็นกุศล มันจะหล่อเลี้ยงและทำให้เบิกบาน เติบโต ถ้าเรามั่นคงตรงนี้ ก็จะค่อยๆประคองตัวเองขึ้นมาได้ และจะทำงานของเราได้อย่างไม่อุปสรรคมากนัก
คิดว่าการต่อต้านเกิดจากอะไรคะ หลวงแม่คิดว่าเป็นเรื่องวัฒนธรรม เราคุ้นเฉพาะผู้ชายออกบวช ไม่ใช่ผู้หญิง มองกันว่าผู้หญิงดิ้นรนไปอย่างนั้นเอง ไม่จำเป็นสักหน่อย บอกกันว่าผู้หญิงไม่ต้องบวชก็ปฏิบัติธรรมได้ และบรรลุธรรมได้ด้วยเพราะฉะนั้นอย่าอ้างว่าต้องบวชแล้วถึงจะบรรลุธรรม แต่ไม่จริงหรอกลูก พระพุทธองค์ท่านตรัสไว้ว่า หนทางการบวชเป็นทางลัดตัดตรงที่ทำให้เราสามารถโฟกัสได้ชัดเจน ซึ่งหลวงแม่ก็ได้พิสูจน์จากตัวเองว่าการบวชทำให้โฟกัสได้จริงๆ ความสนใจของเราจะสอบแคบลง เราจะชัดเจนขึ้นในการใช้ชีวิต
ตอนที่หลวงแม่บวช หลวงย่าทันเห็นไหมคะ ทันได้เห็นจนกระทั่งบวชภิกษุณี เราพูดได้เลยว่าวัดนี้ไม่เคยร้างภิกษุณีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 เพราะหลวงย่าท่านบวชเป็นภิกษุณีในปีพ.ศ. 2514 ต่อมาท่านก็มรณภาพ ในปีเดียวกับที่หลวงแม่บวช หลวงแม่บวชต้นปี ท่านมรณภาพกลางปี เรียกว่าส่งไม้ต่อกันเลย
หลวงแม่กับความเป็นแม่ ลูกๆมีความเห็นอย่างไรคะ ลูกๆเข้าใจ ว่าแม่ได้ใช้ชีวิตกับครอบครัว ได้เลี้ยงดูเขามาจนเขาข้ามพันฝั่งแล้ว ถ้าแม่จะเลือกวิถีนี้ก็ควรจะให้แม่มีอิสระที่จะทำได้ บังเอิญลูกก็โตแล้ว ลูกไม่ทักท้วง แต่เขาถามคำเดียวว่า เป็นสิ่งที่แม่เลือกเองหรือเปล่า แม่แฮ๊ปปี้หรือเปล่า เขากลัวว่าแม่จะถูกบีบคั้นให้ทำ
แล้วลูกๆสนใจที่จะบวชบ้างไหม คนโตเขาบวชแล้ว เขาก็มีความสุขดี ส่วนอีกสองคนยังทำงานอยู่ ยังไม่บวช จริงๆ อยากให้เขาสัมผัสชีวิตนักบวชสักช่วงหนึ่ง อาจจะ 2 อาทิตย์ เขาจะได้แนวทางว่าชีวิตนักบวชนั้นมีอะไรมากกว่าที่คิด ถ้าไม่ได้บวช จะไม่รู้ว่ามีความหมายอย่างไร
สำหรับผู้หญิง สิ่งที่ยากที่สุดคือการตัดใจจากลูก เพราะการบวชจะทำให้ไม่ได้ใกล้ชิดลูกเหมือนเดิม หลวงแม่ล่ะคะเป็นอย่างไร หลวงแม่ว่าความทุกข์ของผู้หญิงอันสืบเนื่องจากลูก เป็นความทุกข์ที่คลี่คลายได้ยากที่สุด เพราะเราไปผูกมัดตัวเอง การเป็นแม่คน มีลูกเราก็ต้องแน่ใจว่าเขาข้ามพ้นฝั่งแล้ว เพราะเป็นความรับผิดชอบที่เราสร้างขึ้น เดี๋ยวนี้หลวงแม่เองก็ยังเป็นทุกข์อยู่ บางทีไม่มีอะไรเลยนะ แต่ก็ยังห่วงเขา หลวงแม่มีลูกเป็นผู้ชายหมด ก็เลยต้องใช้วิธีเรียกลูกสะใภ้มากอด แล้วให้เขาไปกอดลูกให้ที บางทีก็จะกอดหลานสาว แล้วบอกให้เขาไปกอดพ่อที สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเคยสอนนางวิสาขาตอนที่นางวิ่งเข้ามาเนื้อตัวเปียกปอนหมด พระพุทธเจ้าตรัสถามว่าวิสาขาไปทำอะไรมา เธอตอบว่าหลานตาย เข้าใจว่าคงเป็นหลานที่รักมากพระพุทธเจ้าตรัสว่า มีรักร้อย ก็ทุกข์ร้อย มีรักห้าสิบ ก็ทุกข์ห้าสิบ มีรักหนึ่ง ก็ทุกข์หนึ่ง เป็นอย่างนั้น นี่คือตัวกูของกูที่ไม่ยอมปล่อย แต่เมื่อผู้หญิงก้าวข้ามได้ ผู้หญิงจะมีขันติบารมีมากกว่าผู้ชาย เรื่องนี้พิสูจน์ได้ สังเกตจากผู้หญิงที่เป็นเอดส์ ทั้งๆที่ผู้ชายเป็นคนนำโรคมาให้ แต่ผู้ชายตายหมด เหลือแต่ผู้หญิง ทำไม เพราะผู้หญิงมีความรับผิดชอบต่อพ่อแม่และต่อลูก หลวงแม่พูดเพราะได้ไปดูภาพยนตร์ที่เขานำมาฉายในงานผู้หญิงที่จีน เนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงที่เป็นเอดส์ แต่ยังมีชีวิตอยู่ได้
ปัจจุบันผู้หญิงสนใจเรื่องการบวชมากน้อยแค่ไหนคะ น้อยค่ะ การบวชภิกษุณีต้องทำด้วยความเข้าใจว่าเพื่อสืบทอดพระศาสนา ไม่ใช่บวชเพราะเป็นหนทางทำมาหากิน ถ้าอย่างนั้นจะทำให้ภิกษุณีสงฆ์ล่มในที่สุด เราเป็นภิกษุณีสงฆ์คณะเล็กๆ จึงต้องพยายามเคี่ยวให้ได้คุณภาพ ให้แน่ใจว่าเรามาเพื่อให้ เพื่อรับใช้พระพุทธเจ้า อีกอย่างที่ผู้หญิงบวชน้อยเพราะส่วนใหญ่ยังติดสวยอยู่ ให้โกนหัวรับไม่ได้ ติดสบาย ต้องตื่นตีห้า บางคนก็ตื่นไม่ได้ แถมไม่กินข้าวเย็นอีกแค่สามอย่างนี้ ในสิบคนหนึ่งคนยังทำไม่ได้เลยที่จะยอมโกนหัวที่จะตื่นเช้า และไม่กินข้าวเย็น หลวงแม่มีวิธีปกครองสามเณรีหรือภิกษุรีใหม่อย่างไรคะ ที่ถามเพราะคนมักมองว่าเมื่อผู้หญิงมาอยู่รวมกันมากๆ มักมีปัญหาจุกจิกหยุมหยิม ปกครองยาก หลวงแม่สอนโดยเปิดให้ดูในเสขียวัตร ซึ่งเป็นเรื่องราวการประพฤติปฏิบัติ ตลอดจนศึกษาปาจิตตีย์ หมวดในพระวินัย ชี้ให้เห็นว่า ถ้ามาบวชต้องเคารพพระธรรมวินัย มิฉะนั้นแทนที่สืบพระศาสนาจะกลายเป็นทำลายพระศาสนาเสียเอง แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ เช่น เวลาที่เขาเอาเงินมาถวาย ควรจะรับหรือไม่รับ นี่คือปัญหาใหญ่เลย ในวัดหลวงแม่จะรับและเอาเข้าวัดเลยจริงๆ ทันทีที่รับก็อาบัติแล้ว แต่ชาวบ้านชอบถวายเงินใส่ซองกับหลวงแม่พอรับแล้ว หลวงแม่ต้องนำมาใส่เป็นกองกลางของวัดทันที หรือบางคนเขาเจาะจงถวายหลวงพี่รูปนี้เท่านั้น รับแล้วก็ต้องเอาเข้าวัดเหมือนกัน หลวงย่าท่านสอนให้ระวัง เงินเป็นงู จะฉกเอา ยิ่งเงินวัด ถ้าเราไม่รู้จักแยกแยะ งูจะฉกเอา แต่เราเป็นคณะเล็กๆ จึงตกลงกันได้ อีกประการหนึ่ง เมื่อมีคนบวชมากขึ้น จะเกิดการควบคุมกันเองโดยกลุ่ม มีรุ่นพี่ดูแลรุ่นน้อง และที่สำคัญคือ เรามีการประชุมสังฆะกันทุกอาทิตย์ ถ้ามีความขัดข้องก็พูดกันตรงๆ แล้วให้จบในที่ประชุมพร้อมทั้งทำพิธีขอขมากรรมกันด้วย ก็ช่วยให้ผ่อนคลายลงในระดับหนึ่ง ทุกเดือนพยายามให้มีการผลัดกันปฏิบัติเขาเงียบ เป็นการฝึกฝนจิตของตนเอง เพื่อการละ คลายอัตตาด้วย
ทำไมภิกษุณีต้องถือศีลถึง 311 กว่าข้อ มากกว่าภิกษุสงฆ์เสียอีกล่ะคะ (ภิกษุถือศีล 227 ข้อ) เราเป็นผู้หญิงต้องดูแลตัวเองมากกว่า จำนวนตัวเลขที่ต่างกัน เป็นเพราะการนับโดยใช้มาตรฐานที่ต่างกัน ศีลบางข้อ พระภิกษุสงฆ์นับเป็นหนึ่งข้อ ในขณะที่ข้อเดียวกันนั้นภิกษุนับแยกย่อมถึง 8 ข้อ ทำให้ดูเหมือนว่าตัวเลขศีลที่ภิกษุณีถือมากกว่าภิกษุ แต่จริงๆไม่ได้มากมายขนาดนั้น ข้อใหญ่ใจความก็คล้ายคลึงกัน
อึดอัดไหมคะที่ต้องถือศีลตั้งสามร้อยกว่าข้อ ไม่อึดอัดค่ะ ศีลเป็นเครื่องดูแลกาย วาจา ธรรมเป็นเครื่องดูแลใจ ถ้าใจเรามั่นคงกับธรรมะแล้วจะไม่อึดอัด และถ้าเราฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว กาย วาจา ใจก็สอดคล้องกันโดยปริยาย เหมือนการเดินนั่นแหละ ถ้าปกติเราเป็นคนที่เดินตรงอยู่แล้ว ใครจะมาขีดเส้นหรือไม่ขีดเส้นให้ เราก็เดินตรงอยู่ดี
กิจวัตรของหลวงแม่ทุกวันนี้มีอะไรบ้างคะ ทุกวันจะตื่นตีห้า สวดมนต์ตีห้าครึ่งประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วจึงทำวัตร ทำสมาธิอีกครึ่งชั่วโมง วันไหนมีบิณฑบาตก็ออกบิณฑบาต เราบิณฑบาตวันพระกับวันอาทิตย์ ไม่ออกทุกวัน เพราะชาวบ้านข้างวัดไม่ได้มีฐานะมาก นักถ้าเราออกทุกวัน จะไปรบกวนเขา ที่นี่มีครัวทำกันเอง มีฆราวาสเป็นแม่ครัว อาหารที่ได้จากการบิณฑบาตเยอะมาก พอสำหรับทั้งวัน บางบ้านเขาก็ถวายของสำหรับทำในวันรุ่งขึ้น เป็นอาหารสด เป็นผัก เต้าหู้ แต่เราก็ยังต้องซื้อเองบ้างเหมือนกัน ส่วนตอนเย็นจะทำวัตรเย็นทุ่มหนึ่งถึงทุ่มครึ่ง แล้วทำสมาธิถึงสองทุ่ม บางวันเราก็จะคุยกันต่อ เหมือนคุยในครอบครัว อาจมีการดุ อบรม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
เดี๋ยวนี้หลวงแม่ยังสอนหนังสืออยู่หรือเปล่าคะ เมื่อวันก่อนหลวงแม่ไปสอนนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ แต่ไม่ได้รับสอนเป็นวิชา นอกจากเขาจะนิมนต์เป็นครั้งเป็นคราวไป ถ้าจะให้ไปรับผิดชอบสอนวิชาเป็นวิชาๆ เหมือนที่เคยทำมาคงไม่รับ เพราะจะไม่กลับไปติดกับอีกแล้ว มันติดกกับง่ายนะถ้าเราไม่ฉุกคิด
ทำไมถึงคิดว่าการทำงานในระบบเป็นกับดักล่ะค่ะ เพราะทันทีที่เราเข้าไปนั่งตรงนั้น ชีวิตก็เป็นแพตเทิร์นเดิมๆ ไปสอนเวลานั้นเวลานี้ ต้องให้เกรดนักศึกษา ให้คะแนน มีคนได้คนตก หลวงแม่อยากออกมาแสวงหาอย่างอื่นมากกว่า ชีวิตแบบนั้น ถ้าไม่มีศาสนาพุทธ ไม่มีคำสอนในศาสนาพุทธเป็นพื้นฐาน จะทุกข์เยอะ
หลวงแม่คิดว่ามีวิธีใดที่จะช่วยให้ภิกษุณีไทยได้รับการยอมรับมากขึ้น หนึ่ง ให้ความรู้ ให้ข้อมูลว่าการบวชที่ถูกต้องเป็นอย่างนี้และเป็นไปได้ ใครก็ตามที่มีข้อจำกัดในเรื่องความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เรายินดีที่จะให้ข้อมูล สอง ฝึกอบรมสามเณรีให้ถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัย สาม เตรียมการบวชให้มีการบวชที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยเป็นขั้นๆ ตั้งแต่การบวชสามเณรี ไปจนถึงภิกษุณี ล่าสุดหลวงแม่กำลังช่วยสร้างสังฆะในพะเยา เวลานี้ที่นั่นมีความสนใจที่จะบวชสามเณรี เราไปช่วยเขาว่าจะทำอย่างไรให้ออกมางดงาม ถูกต้อง รักษาวัฒนธรรมล้านนา รักษาวัฒนธรรมพุทธ นี่ก็จะเป็นก้าวย่างต่อไป
เป้าหมายในอนาคต เป้าหมายในการทำงานของหลวงแม่คืออะไรคะ การสร้างฐานองค์ความรู้ เพราะการที่หลวงแม่ออกบวช ผู้หญิงก็เฝ้ามองอยู่ หลายคนชื่นชม หลายคนอยากทำตาม แต่ก็ยังคอยดูว่าเมื่อไรหลวงแม่จะถูกจับ เพราะถ้าหลวงแม่ไม่ถูกจับ ฉันก็ทำได้สิ ท่านธัมมนันทายังบวชได้ ก็ไปบวชกันบ้าง เขารู้ว่าหลวงแม่ไปบวชที่ศรีลังกา เขาก็ไปบวชที่ศรีลังกา เวลานี้มีภิกษุณีที่บวชแล้ว 18 รูป ประมาณแบบต่ำสุด และมีสามเณรี 30 กว่ารูป กระจัดกระจายกันอยู่แต่ที่เยอะมากคือที่เชียงใหม่ สำหรับที่นี่ หลวงแม่คิดจะสร้างฐานโดยการบวชสามเณรี บวชแล้วปล่อยๆ เป็นการสร้างฐานให้ผู้หญิงได้เข้าใกล้พระพุทธศาสนามากขึ้น บวช 9 วัน แล้วสึกก็จริง แต่อย่างน้อยผู้หญิงที่เข้าหลักสูตรจะมีความเข้าใจศาสนาพุทธมากขึ้น เวลานี้คนเชื่อในเรื่องอิทธิฤทธิ์เครื่องรางของขลังกันเยอะ เรื่องเหล่านี้จะได้ตัดทอนลง
ขอย้อนถามว่าทำไมถึงตั้งชื่อว่า วัตร ทรงธรรมกัลยาณีคะ และทำไมจึงเลือกสถานที่ตรงนี้ ที่ใช้ ตร สะกดเพราะภาษาบาลีไม่มี ด เด็กค่ะ เราตั้งตามภาษาบาลี ถ้ารู้บาลีจะรู้ว่าเราเขียนถูก แต่ตอนนี้เห็นป้ายใหม่ไหม เราเปลี่ยนชื่อเป็น ทรงธรรมกัลยาณีภิกษุณีอาราม ชัดเจน ไม่ต้องสงสัยแล้ว ส่วนที่หลวงย่าเลือกตรงนี้ เพราะเงินเรามีแค่นี้ ถ้าซื้อที่ดินในกรุงเทพฯ ก็ได้ที่แค่แมวดิ้นตาย สร้างวัดไม่ได้ สมัยก่อนจะสร้างวัดต้อง 6 ไร่ ตามกฎหมาย ด้วยเงินจำนวนนั้น หลวงย่าท่านก็เลยมาจับตรงนี้ ที่ประมาณ 9 ไร่ ออกมาจากกรุงเทพฯไม่ไกลมากนัก พอจะไปมาได้ไม่ลำบากมากนัก
โครงการของวัตรทางธรรมกัลยาณีมีอะไรบ้างคะ ตอนนี้มีทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศที่สนใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่นี่ค่อนข้างจะเป็นศูนย์ที่ชาวต่างชาติเข้ามา ปัจจุบันอาคารยังสะเปะสะปะ อยากสร้างตรงไหนก็ว่ากันไปเลย ไม่มีระบบที่มาตรฐาน หลวงแม่มีโครงการจะทำอาคารไอเลิฟยู สำหรับเป็นที่พักของภิกษุณีและสามเณรี โดยจะสร้างอาคารแรกเป็นอาคารตรงๆ เป็นอาคารไอ ถ้ามีเงินก็จะต่ออาคารแอล มีเงินเพิ่มก็ค่อยต่ออาคารยู และจะให้สมบูรณ์โดยการเชื่อมสองข้างเป็นอาคารโอ เราทำตามฐานกำลังเงิน เราสร้างหนึ่งชั้นก่อน ถ้ามีเงินก็สร้างชั้นสองของอาคารไอนั่นแหละ ตั้งใจว่าจะมีสามชั้น ชั้นสามเป็นที่ตากผ้า จะได้ไม่ต้องไปตากอยู่บริเวณข้างหน้า ตอนนี้อยู่ระหว่างสำรวจที่ดินว่าจะใช้เนื้อที่ตรงไหน ต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ปัจจัยช่วยเหลือได้มาจากไหนคะ เรามีหนังสือ มีจดหมายข่าวว่าเราจะทำอะไรบ้าง มีผ้าป่า กฐิน วัดนี้สามัคคีหมด ไม่มีเจ้าภาพหลักแต่บางวัดเขาจะมีเจ้าภาพหลักกี่ล้านก็ว่ากันไป แต่ของเรามาจาก 5 บาท 10 บาท ไม่มีเจ้าภาพ บางครั้งมีเจ้าภาพใหญ่ก็จะอึดอัดใจ ฐานกำลังตอนนี้มาจากลูกๆ ที่เคยบวช เขาทราบก็จะกระจายกันไปบอกบุญตามหมู่เพื่อนหมู่ญาติ
หากใครสนใจจะทำบุญ สามารถมาร่วมสมทบทุนที่วัดได้ไหมคะ ได้ค่ะ เรากำลังจะสร้างห้องสมุด เพราะวัดเราเป็นศูนย์การศึกษา เราจำเป็นต้องมีห้องสมุด ห้องสมุดของเราน้ำท่วม สูญเสียหนังสือไปนับร้อยเล่ม เลยต้องเร่งทำห้องสมุดด่วน ถึงห้องสมุดของเราจะเล็กแต่ได้มาตรฐาน และเราใช้เป็นห้องเรียนรู้ด้วย สอนได้ 50-70 คน จุดเด่นของเราคือชั้นเรียนพระพุทธศาสนา ทั้งในพรรษาและนอกพรรษา การบวชสามเณรีทุกครั้ง เราจะมีชั้นเรียนเพื่อให้เขากลับไปพร้อมองค์ความรู้ที่ถูกต้อง แม้ 9 วัน อาจจะดูเป็นหลักสูตรที่แออัดยัดเยียด แต่ก็เต็มที่
แล้วเวลาเจ็บป่วยทำอย่างไรคะ ในเมื่อภิกษุณีไม่มีโรงพยาบาลรองรับเหมือนภิกษุสงฆ์ เราส่งโรงพยาบาลนครปฐมค่ะ เพราะอยู่ใกล้ ถ้าเป็นโรงพยาบาลเอกชนต้องเสียเงินก็จะลำบากนิดหนึ่ง แต่เป็นปัญหาที่เรายังแก้ไขได้เรื่องแบบนี้เป็นโครงสร้างทางสังคมซึ่งคงจะตามมาทีหลัง เรามาบวชตอนแรกจะไปคาดหวังให้ทุกอย่างราบรื่นมันเป็นไปไม่ได้ เราต้องแก้ปัญหาของเราเองค่ะ สังคมรอบข้างให้การช่วยเหลือสนับสนุนดีไหมคะ สังคมดูแลดีค่ะ ไม่ลำบากเลย คือถ้าเขาไม่มอง เราก็ต้องรับสภาพอย่างนี้ไปในขั้นเรา เมื่อประชาชนเห็นว่า ภิกษุณีมีคุณูปการต่อสังคมยอมรับ สนับสนุน การดูแลก็จะตามโดยธรรมชาติ การที่เราเข้ามาปั๊บจะเรียกร้องโน่นนี่ เหมือนพนักงานเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ยังไม่ได้พิสูจน์ตัวเองเลย แต่เรียกร้องว่าต้องมีโต๊ะอย่างดี อินเทอร์เน็ตอย่างดี ต้องอย่างนั้น อย่างนี้ คนก็ชักจะหมั่นไส้นะ คนที่เข้ามาช่วงแรกต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่ความยากลำบากนั้นจะเป็นตัวทดสอบ ทั้งตัวเราเองและสังคม ถ้าเราอยู่รอดได้ สังคมก็จะดูแล สังคมไม่ได้ตาบอด คนไทยไม่ตาบอด รู้ว่าอะไรควรสนับสนุน อะไรไม่ควรสนับสนุน
เราเคยมีแต่พระพุทธเจ้าที่เป็นผู้ชาย เราจะมีโอกาสได้เห็นพระพุทธเจ้าที่เป็นผู้หญิงไหมคะ เรามีความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ เหมือนกับความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงเป็นมารไม่ได้ ผู้หญิงเป็นพระอินทร์ พระพรหมไม่ได้ แต่โลกมันเปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้ผู้หญิงเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ผู้หญิงเป็นควีนก็ได้ ควีนที่ไม่ได้แปลว่าภรรยาของคิงนะ ในอดีตเรามีแต่พระพุทธเจ้าที่เป็นผู้ชายใช่ไหม แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าในอนาคต จะไม่มีพระพุทธเจ้าที่เป็นผู้หญิง นี่องค์ทะไลลามะตอบเองนะคะ
สุดท้าย ขอถามว่าชีวิตนักบวชดีอย่างไร น่าจะถามว่าชีวิตนักบวชไม่ดีอย่างไร (หัวเราะ) อย่างน้อยที่สุดชีวิตหลวงแม่สมัยที่ยังใช้ชีวิตทางโลก ความคิดจะฟุ้งกระจาย อยากทำอะไรตั้งห้าร้อยอย่าง และอยากไปตั้งห้าร้อยที่ ซึ่งในความเป็นจริงทำไม่ได้ แต่พอเราบวชปั๊บ ก็จะถูกจำกัด หลายๆที่ก็ไปไม่ได้แล้ว อีกอย่าง การบวชทำให้ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น มีความสุขมากขึ้น และเมื่อเรามีความสุขมากขึ้น เราก็เผื่อแผ่ความสุขให้คนอื่นได้มากขึ้น แต่วิถีการบวชก็ไม่ใช่วิถีสำหรับผู้หญิงทุกคนหรอกนะคะ วิถีนี้เหมาะกับคนบางคนที่ทำได้จริงๆ เท่านั้น ซึ่งมีจำนวนน้อย แต่สำหรับคนไหนที่เขาทำได้ ก็ให้เขาทำเถอะ (หัวเราะ) การบวชเป็นภิกษุณี เราควรตั้งใจบวชจริงๆ เพื่อแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า ทำในส่วนที่พระองค์ท่านทรงได้มอบหมาย ไม่ใช่ว่าผู้หญิงจะเป็นภิกษุณีได้มากมาย เพียงแต่โอกาสควรจะเปิดให้เขาได้เลือกที่จะใช้ชีวิตบนทางเส้นนี้
|