กรรมเชื่ออย่างไรไม่งมงาย เรื่องโดย เสาวลักษณ์ ศรีสุวรรณ

     สแกนกรรม ผู้หญิงตาทิพย์ มองทะลุกรรม เมื่อดวงตาที่สามถูกเปิดขึ้น เธอจึงหยั่งรู้ชะตากรรม

     “คนเปิดกรรม ไม่มีใครแก้กรรมในอดีตชาติได้ แต่ทำให้ทุเลาขึ้นได้ แค่เพียงคุณรู้ว่ากรรมเก่าของคุณคืออะไร”

     เอกซเรย์กรรม พบกับมนุษย์ที่เปิดความลับสวรรค์ มองเห็นอดีตและอนาคต ดังคำว่าที่ “ตาทิพย์”

ในช่วงปีที่ผ่านมา เราคงผ่านตากับข้อความเหล่านี้ทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ ในอินเทอร์เน็ต ในรายการโทรทัศน์ ตามคลื่นวิทยุ รวมทั้งบนแผงหนังสือ ซึ่งมีหนังสือแนวนี้ออกมาวางจำหน่ายมากเป็นประวัติการณ์ ทั้ง แก้กรรมเก่า ตัดกรรมใหม่ หนทางเลี่ยงกรรม ตัดกรรมหนักตามรังควาน ไขรหัสบุญ เปลี่ยนรหัสกรรม 99 วิธีแก้กรรมด้วยตนเองฯลฯ

     ที่สำคัญ ได้เกิดปรากฏการณ์ “คนเห็นกรรม” ซึ่งกลายเป็นที่สนใจของคนในวงกว้างตามมาเริ่มตั้งแต่ แม่ชีธนพร หรือแม่ชีทศพร ชัยประคอง , อาจารย์เอ๋-กฤษณา สุยะมงคล , ริชชี่ พีระวัฒน์ อริยทรัพย์กมล , ตุ้ย เอ๊กซเรย์ หรือ จักรินทร์ –โกศัยดิลก และอาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ โหรชื่อดังแห่งล้านนา ที่บอกว่าตัวเองสามารถมองเห็นกรรมและเห็นอนาคต

     หลังจากที่กระแสนี้ทยอยกันออกมา ก็มีคำวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย บ้างมองว่าเป็นพุทธพาณิชย์ในรูปแบบหนึ่ง เพราะในการแก้กรรม ต้องมีฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ได้เงินและมีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียเงินเพื่อสะเดาะเคราะห์กรรมของตน

     บ้างก็มองว่า การตัดกรรม สแกนกรรม เอกซเรย์กรรม เป็นเรื่องต้มตุ๋นหลอกชาวบ้านที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ และเชื่อว่ากรรมดีหรือกรรมชั่วอยู่ที่การกระทำของเราอง จะมีก็แต่ตัวเราเท่านั้นที่รู้ว่าทำกรรมดีหรือกรรมชั่วอะไรเอาไว้บ้าง ยิ่งกว่านั้นบางคนก็ตั้งคำถามว่า “คนเห็นกรรม” เหล่านี้เป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงมองเห็นกรรมของคนอื่น และกรรมนั้นสามารถมองเห็นกันง่ายๆ ขนาดนี้เชียวหรือ

     แม้เราจะไม่สามารถพิสูจน์ให้เห็นด้วยตาว่าสิ่งที่ “คนเห็นกรรม” เหล่านี้พูดถึงจะจริงเท็จแค่ไหน แต่กระแสที่ว่านี้มีข้อดีบางประการซ่อนอยู่

     ข้อดีที่ว่านี้ก็คือ ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ทำความเข้าใจเรื่อง “กรรม” ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักในการพินิจพิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต

     อย่าปล่อยให้เรื่องของกรรมเป็นเพียงกระแส (ที่ทำให้เราสับสน) แต่ลองมาทบทวนกันดีกว่าว่าคุณเข้าใจเรื่องกรรมถูกต้องมากน้อยแค่ไหน

 

     ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ “กรรม”

     ศาสตราจารย์พิเศษเสถียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิต กล่าวว่า หลักกรรมเป็นหลักคำสอนสำคัญในพระพุทธศาสนา แต่น่าประหลาดเรากลับเข้าใจว่าตรงกับที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ว่าจะผิดโดยสิ้นเชิงก็ไม่ใช่ แต่ว่าไม่ถูกต้องสมบูรณ์ ซึ่งความเข้าใจผิดที่ว่านี้คือ

     คนไทยส่วนมากเข้าใจว่า กรรมคือผลของความชั่วร้ายที่เราได้กระทำแต่ชาติปางก่อน บันดาลให้เราได้มาเกิด มาเป็น อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เรื่องร้ายๆ และเรื่องใหญ่ เท่านั้นจึงเรียกว่า “กรรม” เรื่องเล็กน้อยไม่เรียกว่ากรรม ส่วนผลของความดีที่ทำไว้แต่ชาติปางก่อนเราไม่ เรียกว่า “กรรม” กลับเรียกว่า “บุญ” จึงมักมีคำพูดว่า “บุญทำกรรมแต่ง” หรือ “แล้วแต่บุญแต่กรรม”

     ความจริง คือ กรรมมิใช่ผล แต่เป็นเหตุ มิใช่เรื่องที่ล่วงไปแล้ว แต่เป็นเรื่องปัจจุบัน มิใช่เรื่องเลวร้ายอย่างเดียว เรื่องดีๆ ก็เป็น “กรรม” ด้วย และมิใช่เรื่องใหญ่ๆ อย่างเดียว เรื่องเล็กๆ ก็เป็น “กรรม” ด้วย

     กรรม คือการกระทำทางกาย วาจา และใจ ที่มีเจตนาเป็นตัวนำ เราตั้งใจทำ พูด คิดสิ่งใด ทั้งในแง่ดีและไม่ดี ก็เรียกว่า “กรรม” ถ้าเป็นกรรมดีก็เรียกว่า “กุศลกรรม” หรือ “บุญ” ส่วนกรรมไม่ดีก็เรียกว่า “อกุศลกรรม” หรือ “บาป”

      ความเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งคือ กรรมเป็นกฎตายตัวที่แก้ไขไม่ได้ ทางเดียวที่ทำได้คือยอมรับสภาพหรือ “ปลงเสียเถอะ” หรือ “เป็นกรรมของสัตว์” เช่น เกิดมายากจน ก็ยอมรับสภาพว่าเราทำกรรมไม่ดีไว้ มาชาตินี้จึงจน แล้วก็ยอมรับสภาพอยู่อย่างนั้น ไม่คิดแก้ไขพัฒนาให้ดีขึ้น มีแต่ทอดอาลัย งอมืองอเท้า

     ความจริง คือ พุทธศาสนาสอนว่ากรรมเก่ามีจริง ดังนั้นการที่เราเกิดมาจน อาจเป็นเพราะผลของกรรมเก่าที่เราทำไว้ ทำให้เกิดมายากจน แต่มิได้หมายความว่ากรรมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ เราเกิดมาจนเพราะกรรมเก่าส่งผล แต่เราก็สามารถสร้างกรรมใหม่ นั่นคือขยันหมั่นเพียรทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างสุดกำลังความสามารถ ในที่สุดเราก็อาจเปลี่ยนจากฐานะยากจนเป็นพอมีพอกินหรือมีฐานะร่ำรวยได้

     พระพุทธเจ้าสอนให้ยอมรับความจริง แต่ไม่ให้ยอมรับสภาพ ดังนั้นผู้ที่เข้าใจหลักกรรมถูกต้อง เมื่อรู้ว่าความจริงเป็นเช่นนี้ ย่อมจะต้องพยายามอุตสาหะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

     นอกจากนั้นเรามักเข้าใจกันว่า ทำกรรมอย่างไร ย่อมได้รับผลอย่างนั้น ทำกรรมดีต้องได้รับผลดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำกรรมชั่วก็ต้องได้รับผลชั่วร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง

     ความจริงคือ การพูดอะไรตายตัวร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น มิใช่แนวทางของพระพุทธศาสนา ดังในกรณีเรื่องตายแล้วเกิด ถ้าพูดในแง่เดียวว่าตายแล้วต้องเกิด หรือตายแล้วต้องดับสูญ อย่างนี้ก็ไม่ถูก เพราะปุถุชนที่ยังมีกิเลส ตายแล้วย่อมเกิดอีก เนื่องจากยังมี “เชื้อ” คือกิเลส ทำให้ต้องมาเกิดอีก ส่วนผู้ที่ตายแล้วไม่เกิดคือ พระอรหันต์ เพราะหมด “เชื้อ” ดังกล่าวแล้ว ดังนั้นจะพูดโดยแง่เดียวว่าตายแล้วต้องเกิดหมดทุกคน หรือตายแล้วไม่เกิดเลย ไม่ได้

     ส่วนที่ว่าทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่วนี่จริงแน่นอน แต่มิได้หมายความว่า “ทำอย่างไรต้องได้อย่างนั้น” เช่น นาย ก. ยิงเขาตาย เมื่อเกิดชาติหน้า ก็ไม่จำเป็นว่านาย ก.จะต้องถูกเขายิงตายเช่นกัน แต่อาจได้รับผลคล้ายๆกันนั้น หรือผลที่หนักพอๆ กับกรรมนั้น

     หรือนาง ข. เอาไข่เค็มใส่บาตรทุกวัน เมื่อตายไปเกิดใหม่ ก็ไม่จำเป็นว่านาง ข. จะต้องกินไข่เค็มทุกมื้อ แต่อาจได้ผลดีอย่างอื่นที่มีน้ำหนักพอๆกันกับกรรมนั้น อย่างที่พระท่านว่า “ได้รับผลสนองคล้ายกับกรรมที่ทำ”

     สรุปก็คือ เราทำอย่างไรไม่จำเป็นต้องได้อย่างนั้น แต่เราอาจได้ผล “คล้าย” อย่างนั้น และอีกประเด็นหนึ่งก็คือ ทำดีไม่จำเป็นต้องได้ผลดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำชั่วไม่จำเป็นต้องได้ผลชั่วร้อยเปอร์เซ็นต์ คือได้รับผลแน่ๆ แต่ “ไม่ใช่ต้องได้เต็มที่” ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอย่างอื่นที่จะมาเบี่ยงเบนหรือผ่อนปรนด้วย

     เงื่อนไขที่ว่านี้ก็คือกรรมใหม่ที่เราทำนั่นเอง สมมุติว่าเราทำกรรมชั่วบางอย่างไว้ แต่เรามีโอกาสทำกรรมดีในเวลาต่อมา ได้ทำบ่อยๆ และทำมากๆด้วย กรรมชั่วที่ทำไว้ก่อนนั้น แม้จะรอจังหวะที่จะสนองผลดุจสุนัขไล่ล่าเนื้อ แต่กรรมดีใหม่ๆ ที่เราทำไว้เมื่อมีมากก็อาจทำให้กรรมเก่านั้นเบาบางหรือจางหายไป จนไม่สามรถให้ผลเลยก็ได้

     “วิบากกรรม” และ “เจ้ากรรมนายเวร”

     เมื่อพูดถึงกรรม ประเด็นต่อมาที่มักจะสนใจกับมากคือเรื่องวิบากกรรม และเจ้ากรรมนายเวร สิ่งที่ว่านี้คืออะไร ส่งผลกระทบกับชีวิตในปัจจุบันของเราอย่างไร ทันแพทย์สม สุจีรา อธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

     กรรมเก่าที่เคยกระทำไว้ในอดีตจะสนองคืนในสองรูปแบบคือ ส่งผลในรูปของภพภูมิที่ไปเกิด และส่งผลภายหลังการเกิด คือระหว่างดำรงชีวิต

     วิบากกรรม คือ ผลอันเกิดจากกรรมที่สนองโดยอาศัยทวารทั้งหกของมนุษย์ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นเครื่องมือ ทวารทั้งหกนี้เป็นสิ่งสำคัญที่มนุษย์ขาดไม่ได้ เจ้าตัวกรรมเก่ารู้ดีว่าจะมีประสิทธิภาพที่สุด ถ้าใช้ทวารเหล่านี้มาทำลายมนุษย์ผู้นั้นเสียเอง

     สำหรับ เจ้ากรรมนายเวร ไม่มีชีวิต จิตใจ ความรู้สึก แต่ก็น่าแปลกเหมือนกันที่มีพฤติกรรมคล้ายกับมีความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสามารถทำให้ใครคนหนึ่งประสบเคราะห์กรรมได้ แถมยังโหดร้ายเหลือเกิน เพราะแม้บุคคลผู้นั้นจะลืมเรื่องราวที่เคยทำไว้ในอดีตไปหมดแล้ว กรรมเก่าก็พร้อมที่จะสนองเสมอ

     การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาเป็นหลักใหญ่ของการทำกุศลเพื่อหลุดพ้นจากบ่วงกรรม แต่กุศลที่จะเกิดแก่ตัวเราได้มากที่สุดและเป็นหนทางแห่งการหลุดพ้นที่แท้จริงมาจากการ “ภาวนา” และต้องเป็นบุญกิริยาแบบ วิปัสสนากรรมฐาน เท่านั้น เพราะวิปัสสนาจะช่วยเจริญสติสัมปชัญญะและสกัดวิบากกรรมได้ดีที่สุด การทำทาน การรักษาศีล ผลที่ได้จะมาทางอ้อม ซึ่งใช้สกัดรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ไม่ทัน และการเจริญสติวิปัสสนาเป็นการฝึกตนเพื่อต่อสู้กับเจ้ากรรมนายเวรโดยตรง เป็นกรรมเหนือกรรม เป็นกรรมฝ่ายธรรมะที่สามารถหยุดยั้งกรรมฝ่ายอธรรมไม่ให้ส่งผลได้