เบื่อจัง..ทำไงดี เรื่องโดย ฐิติขวัญ เหลี่ยมศิริวัฒนา ว่าด้วยเรื่องของ ความเบื่อ มาขอคำปรึกษา และขอใบสั่ง ยาแก้เบื่อ จากอาจารย์ดร.สนอง วรอุไร ผู้เปี่ยมประสบการณ์ทั้งทางโลกและทางธรรม เรียนอาจารย์ดร.สนอง ขออนุญาตเรียนปรึกษาปัญหาดังนี้ค่ะ ๑. ในกรณีที่รู้สึกเบื่อ อยากปลีกไปอยู่เงียบๆ คนเดียว จะมีหลักสอนใจตัวเองให้มีความสงบในการดำเนินชีวิตประจำวันบ้างไหมคะ ๒. มีความคิดที่จะเกษียณอายุราชการก่อนเวลา เมื่อทำงานครบ 25 ปี เพื่อให้มีเวลาปฏิบัติธรรมมากขึ้น ความคิดนี้เหมาะสมหรือไม่คะ อาจารย์คะ ความเบื่อเกิดขึ้นจากอะไร และเป็นความรู้สึกเซ็ง กุศลหรือกุศลกันแน่คะ ความเบื่อ หมายถึง เหนื่อยหน่าย ไม่อยาก ซึ่งมีอยู่สองอย่างคือหนึ่ง เบื่อแบบที่เป็นกิเลส กับสอง เบื่อแบบที่ไม่ใช่กิเลส ความเบื่อแบบแรกนั้น คือความเบื่อแบบที่คนส่วนมากมักรู้สึก เป็นความเบื่อที่เกิดจากการถูกกิเลสเข้าครอบงำ จิตนำเอากิเลสมาปรุงเป็นอารมณ์ ทำให้รู้สึกเบื่อ ความเบื่อแบบนี้จึงเป็นอกุศล ส่วนความเบื่อแบบที่สอง เป็นความเบื่อที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน จนกระทั่งจิตเข้าถึงวิปัสสนาญาณลำดับที่แปดเท่านั้น ซึ่งจะเกิดปัญญาญาณที่เรียกว่า นิพพิทาญาณ ขึ้น ทำให้รู้สึกเบื่อรูป เบื่อนาม ด้วยเห็นสัจธรรมของชีวิต ว่าทุกอย่างล้วนเกิด-ดับๆ ไม่รู้จบ จึงคิดจะไปให้พ้นจากสภาวะนี้ ด้วยการเร่งความเพียรในการปฏิบัติธรรมสุดๆ ความเบื่อแบบนี้จึงเป็นกุศล
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรคะอาจารย์ ว่าเบื่อแบบไหนคือเบื่อแบบดี ความแตกต่างระหว่างความเบื่อสองแบบนี้ก็คือ ความเบื่อแบบที่เป็นกุศลจะต้องเกิดขึ้นพร้อมกับความเพียร คือเมื่อเกิดนิพพิทาญาณขึ้นกับผู้ใด ญาณถัดไปที่จะตามมาในทันทีก็คือ มุญจิตุกัมยตาญาณ ซึ่งเป็นญาณที่ทำให้เกิดการเร่งความเพียรในการพัฒนาจิตวิญญาณ เพื่อให้ตนพ้นไปจากการมีรูป-นาม คือพ้นไปจากเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร ความเบื่อที่เป็นกุศลต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น
แล้วถ้าเรารู้สึกเบื่อความวุ่นวาย ต้องการหาความสงบให้กับชีวิตล่ะคะ อย่างนี้ก็เป็นอกุศล เพราะความเบื่อแบบนี้เกิดจากจิตมีสติอ่อน จึงรับสิ่งกระทบที่ไม่ดีมาปรุงเป็นอารมณ์ ทำให้รู้สึกเบื่อ ความเบื่อถือว่าเป็นโทสะอย่างอ่อนๆ ผู้ที่มีความเบื่อแบบนี้ แสดงว่าสติยังอ่อน เพราะผู้ที่ฝึกจิตจนมีสติกล้าแข็งได้แล้ว ไม่ว่าอะไรเข้ากระทบจิต จะไม่รู้สึกเบื่อ เพราะจิตเห็นสรรพสิ่งที่เข้ากระทบเป็นอนัตตา และสามารถปล่อยวางสิ่งต่างๆ ได้ จิตจึงเข้าถึงความเป็นอุเบกขา
อาจารย์มีหลักอะไรบ้างคะ สำหรับคนที่ต้องการความสงบในชีวิตประจำวัน ผู้ที่เข้าไม่ถึงปัญญาของพระพุทธะ ส่วนมากมักจะนึกว่าความสงบคือความสุขที่สุด แต่จริงๆ แล้วความคิดอย่างนี้ยังไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพราะตราบใดที่เรายังคาดหวัง ยังต้องการ แสดงว่าจิตของเรายังตกเป็นทาสของกิเลสอยู่ ดังนั้นวิธีคิดที่ถูกก็คือหยุดคาดหวัง หยุดต้องการ แล้วหันมาสร้างเหตุให้ถูกตรง ด้วยการเจริญสมถะและวิปัสสนากรรมฐานเป็นประจำ เพื่อให้จิตของเราสงบ มีสติกล้าแข็ง และเกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วเราจะไม่รู้สึกเบื่ออีกต่อไป สำหรับคนที่เบื่อหน่ายไปหมดทุกอย่างในชีวิต จนขาดแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาทำอะไรดีๆ ให้ตัวเองล่ะคะ อาจารย์มีคำแนะนำอะไรที่จะทำให้เขาหายเบื่อได้บ้างไหมคะ ลักษณะแบบนี้เป็นอาการของผู้ที่ถูกโมหะครอบงำ โมหะเป็นกิเลสที่แก้ยากที่สุด มีวิธีเดียวที่จะแก้ได้ก็คือ ต้องกระตุ้นตัวเองให้เร่งความเพียรในการเจริญจิตภาวนาให้เกิดสติสัมปชัญญะสูงสุด ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นที่ดีที่สุด เพราะว่าสติคือสิ่งที่ทำให้เราระลึกนึกได้ไม่ลืม ส่วนสัมปชัญญะคือตัวปัญญาที่ทำให้เรารู้ว่า อะไรดีแล้วทำ อะไรไม่ดีแล้วไม่ทำ นี่ละคือแรงกระตุ้นที่สุดยอดที่สุด ที่จะทำให้เราผ่านพ้นกิเลสตัวนี้ไปได้ ส่วนวิธีสร้างสติสัมปชัญญะนั้น เป็นเรื่องไม่ยาก เพียงแค่สวดมนต์เป็นประจำก่อนนอน ต่อด้วยการเจริญอานาปานสติ ลมเข้ากำหนดว่า พุท ลมออกกำหนดว่า โธ ไปเรื่อยๆ สัก 15 นาทีถึงครึ่งชั่วโมง โดยมีความเพียรและสัจจะเป็นแรงสนับสนุน เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เรามีสติมากขึ้น แล้วจิตจะสงบและไม่เบื่อ
คนที่ทำงานมานานและมีความคิดที่จะลาออกจากหน้าที่การงานทางโลก เพื่อให้เวลากับการปฏิบัติธรรม ความคิดนี้เหมาะสมไหมคะอาจารย์ นี่เป็นความเห็นที่ถูก เพราะว่า ชีวิตมนุษย์นั้นไม่ได้มีแต่งานภายนอกที่เราต้องทำให้กับสังคมส่วนรวมเท่านั้น แต่ยังมีงานภายในที่เราทุกคนต้องทำเพื่อตัวเอง เพราะเราทุกคนต้องตาย จึงต้องเตรียมปัจจัยในการเดินทาง คือบุญ หรืออริยทรัพย์เอาไว้ให้พร้อม ดังนั้นหากได้ทำงานเพื่อสังคมมามากพอแล้ว การจะลาออกจากงานภายนอก เพื่ออุทิศเวลาให้กับการทำงานภายในเพื่อเตรียมตัวเดินทางสู่ภพหน้าต่อไป จึงถือว่าเป็นความเห็นที่ถูกต้องเหมาะสม เหมือนคำสอนของศาสนาพราหมณ์ ที่สอนให้ผู้ที่อยู่ในวัยบั้นปลายชีวิต ปล่อยวางหน้าที่ทางโลกเพื่อไปพัฒนาจิตของตนเอง อย่างไรก็ตาม ถ้าเรายังอยู่ในวัยทำงาน หรือยังมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมอยู่ ซึ่งในที่นี่หมายรวมถึงสังคมที่เล็กที่สุดคือครอบครัวด้วย ตราบใดที่เรายังมีครอบครัวให้ดูแลเราก็ต้องทำหน้าที่ของเราให้สมบูรณ์ทั้งสองด้าน ในเวลาที่เราต้องทำงานเพื่อส่วนรวม เราต้องทำให้สุดความสามารถ แต่เมื่องานภายนอกของเราเสร็จเรียบร้อยแล้ว เมื่อนั้นเราจึงควรปลีกตัวเอาเวลาส่วนตัวไปทำงานภายใน เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณของเรา
แล้วการที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงละทิ้งครอบครัวเพื่อออกผนวช ทำไมถึงไม่ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ละคะอาจารย์ เพราะพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ และทรงมีพระประสงค์ที่จะช่วยคนทั้งโลก ท่านจึงทรงออกผนวช เพื่อปฏิบัติธรรมจนได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วจึงนำเอาธรรมะที่ได้มาช่วยชาวโลก แต่คนที่ไม่รู้จริงและไม่ยาวไกล มักจะมองว่าการทำเช่นนี้เป็นการละทิ้งหน้าที่ โดยหารู้ไม่ว่าหลังจากที่พระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงแสดงกตัญญูกตเวทีต่อทั้งพระบิดา พระชายา พระโอรส ตลอดจนพระญาติทุกพระองค์ที่ศรัทธา ด้วยการให้ธรรมะจนกระทั่งบุคคลเหล่านั้นสำเร็จเป็นพระอรหันต์ หรือเป็นพระโสดาบันอย่างน้อย ไม่เว้นแม้แต่พระมารดาที่สิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว ยังทรงเสด็จขึ้นไปโปรดถึงบนสวรรค์ยาวนานถึงสามเดือน เพื่อให้ธรรมะแก่เหล่าเทวดา จนกระทั่งพระมารดา (สิริมหามายาเทพบุตร) สำเร็จเป็นโสดาบัน ถือว่าพระองค์ได้ทำหน้าที่ต่อครอบครัวได้อย่างดีที่สุด เท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะทำได้ เพราะไม่มีการให้อะไรที่ยิ่งใหญ่ เท่ากับการให้ธรรมะเป็นทานอีกแล้ว เข้าใจนะลูก
|