จิตเดิมแท้ ของท่านพุทธทาสภิกขุ ถาม :- ผมนึกขึ้นมาได้อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับที่ใต้เท้าว่า นี่ไม่ใช่นั่นหรอก คือหัวใจของสติปัฏฐานทั้งหมด แต่ทำไมที่อื่นเขามีแต่พูดว่า เดินรู้ว่าเดิน ยืนรู้ว่ายืน นั่งรู้ว่านั่ง ฯลฯ ทำนองนี้ทั้งหมดเล่า ผมสงสัยในข้อที่ว่า เดินรู้ว่าเดิน เป็นต้น นั้น แม้แต่แมวหรือสุนัขมันก็ยังรู้ ไม่ต้องพูดถึงคนหรือถึงกับยกขึ้นเป็นบทพระกรรมฐานมิใช่หรือครับ ตอบ :- นี่เห็นได้ว่าคุณไม่เข้าใจคำในพระสูตรนั้น แมวหรือสุนัขมันรู้อย่างที่คุณว่านั้นจริง มิฉะนั้นมันก็คงเดินไปเรียบร้อยไม่ได้ แต่ที่แมวรู้นั้นเป็นเรื่องสัญชาตญาณล้วนๆ เพียงแต่เดินรู้ว่าเดินเป็นต้น เท่านั้นเอง ส่วนพระพุทธภาษิตนี้ท่านหมายความว่า สิ่งที่กำลังเดินไปนี้ไม่ใช่ตัวตน สัตว์บุคคล เราเขา เป็นเพียงกลุ่มของสิ่งที่มีเหตุปัจจัย ยังตกอยู่ใต้อำนาจบังคับของเหตุของปัจจัย เคลื่อนไปหรือกล่าวให้ถูกก็คือเปลี่ยนแปลงตามอำนาจเหตุปัจจัยนั้น ๆ หาควรยึดถือเอาว่าเป็นการเดินของเราหรือของผู้นั้นผู้นี้ไม่ แม้เมื่อยืนก็ให้เต็มอยู่ด้วยความรู้สึกอย่างนี้ แม้นอนอยู่ก็เต็มไปด้วยความรู้สึกอย่างนี้ แม้เมื่อกิน ดื่ม ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ อะไรก็ตาม ก็ให้เต็มอยู่ด้วยความรู้สึกอย่างนี้ ทำได้เช่นนี้ ท่านเรียกว่าเดินก็รู้ว่าเดิน นั่งก็รู้ว่านั่ง นอนก็รู้ว่าอะไรนอน กินก็รู้ว่าอะไรกิน ฯลฯ บริกรรมสั้นว่า เดินก็รู้ว่าเดิน นั่งก็รู้ว่านั่ง ฯลฯ นี้คือหัวใจหรือความหมายแท้ของสติปัฏฐาน และอาตมาถือเอาความกะทัดรัดสิ้นเชิงว่า กลุ่ม สังขารทั้งหมดที่กำลังเดิน นั่ง นอน ฯลฯ นี้หาใช่ นั่น ไม่ มันเป็นแต่สังขาร คือไม่ใช่วิสังขาร เราตั้งหน้าปล่อยวางกันท่าเดียว โดยไม่ต้องลังเล เมื่อทำได้ ก็จะไม่จับฉวยเอาอารมณ์หรือเวทนาอันเกิดแต่อารมณ์นั้น ๆ อันเป็นทางมาแห่งอภิชมาและโทมนัส ถาม :- กระผมภาวนาบริกรรมอยู่เสมอว่า พุทธบริษัทไม่โกรธ ถ้าโกรธไม่เป็นพุทธบริษัท คนโกรธไม่อาจเป็นพุทธบริษัท เพราะไม่อาจนั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้า ถ้าไม่อาจนั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้าก็ไม่พุทธบริษัท เพราะคำว่าพุทธบริษัทแปลว่า ผู้นั่งแวดล้อมพระพุทธเจ้า บางคนแกล้งหาเรื่องด่าผม ผมยังนึกได้และไม่โกรธ แล้วผมจะมาโกรธใต้เท้าซึ่งช่วยเป็นหมอรักษาโรคเรื้อรังให้ผม ผมก็กลายเป็นอะไรไปเสียแล้วเท่านั้นเอง ตอบ :- ก็อ้ายที่กำลังเป็นกระผม กระผมที่ถูกด่า กระผมที่พยายามจะไม่โกรธ นั่นมันก็มากอยู่ไม่น้อยเทียวนะ ถาม :- เพราะเหตุไรเล่าขอรับ? ตอบ :- เพราะนั่นก็ยังไม่ใช่ จิตเดิมแท้ ถาม :- ได้การแล้วขอรับ นี่ก็เหมือนกัน อีกคำหนึ่งที่ผมยังมืดมัว มันเข้าใจยาก ตอบ :- ไม่เห็นมืดมัวหรือเข้าใจยากที่ตรงไหนเลย ที่เขาว่านิพพานเป็นเมืองเป็นนคร เป็นศิวาลัย เป็นแก้วโชติช่วงอะไรทำนองนี้ อาตมาเห็นว่ามันเข้าใจยากกว่าจิตเดิมแท้เป็นไหนๆ จิตเดิมแท้หมายเอาตามตัวหนังสือก็แล้วกัน คือถ้ามันมีได้ ก็หมายถึงเมื่อยังไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ใครก็ต้องรับว่ากิเลสเหล่านี้มันเพิ่งจะเกิด คุณยังยึดถืออยู่ว่าคุณไม่โกรธ อาตมาว่านั่นก็ยังมิใช่จิตเดิมแท้ จิตเดิมแท้ ต้องเมื่อยังไม่มีความรู้สึกยึดถือ ว่าคุณมีตัวคุณ ถาม :- คำว่าจิตเดิมแท้มีอยู่ในพระไตรปิฎกหรือครับ? ตอบ :- เอาเถิด อาตมาจะเหวี่ยงคำว่าไม่ถือตามพระไตรปิฎกไปเสียทางหนึ่งเพื่อตามใจคุณ โดยยอมถือเอาพระไตรปิฎกเป็นเกณฑ์กันแล้ว อาตมาก็อยากจะถามคุณก่อนว่า ที่ว่านิพพานเป็นนครนั้น มันมีอยู่ในพระไตรปิฎกด้วยหรือ คุณไปค้นหาคำว่านิพพานเป็นเมืองหรือเป็นดวงแก้ว หรืออะไรทำนองนั้นในพระไตรปิฎกมาได้ อาตมาก็จะค้นหาคำว่าจิตเดิมแท้ในพระไตรปิฎกมาให้ได้เหมือนกัน ถาม :- อนาคตเป็นเครื่องตัดสินนะครับ แต่กระผมอยากจะเรียนถามต่อไปว่า การสมมตินี่มันจำเป็นด้วยหรือครับ? ตอบ :- ถ้าสมมติชนิดใดช่วยเป็นอุบายให้คนเราเข้าถึงความพ้นสมมติหรือเหนือสมมติได้โดยง่ายแล้ว ย่อมจำเป็นที่สุด อาตมาไม่รังเกียจ ในเมื่อใช้สมมติอย่างสมมติเพื่อเป็นอุบายหรือวิธีลัดให้เข้าถึงจุดมุ่งหมายโดยเร็ว และอย่าลืมว่า ในเรื่องนี้เราจะต้องเปิดประตูให้กว้างจนหมด คืออย่าถือว่าถูก แต่ที่เราสมมติขึ้น ที่เพื่อนกันสมมติมันก็ต้องถูกเหมือนกัน อาตมาสบายมากในเรื่องนี้โดยที่เปิดประตูกว้างนั่นเอง ไม่มีนิกายไม่ว่ามหายาน หินยาน พุทธศาสนาหรือมิใช่พุทธศาสนา สมมติชนิดไหนของใครมีประโยชน์ในอันที่จะเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด เพื่อปล่อยวางกันแล้ว ก็อยากให้ได้ผ่านหูผ่านตาของเพื่อนนักศึกษาด้วยกันทั้งนั้น ลางเนื้อชอบลางยา และนักศึกษาไม่จำกัดชาติ ธรรมะไม่มีชาติ พระพุทธเจ้าไม่มีชาติ นิพพานไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของชนชาติใด ขอให้เราได้มีโอกาสลิ้มรส ธรรมะอันไม่มีชาติ ทุกโอกาสที่เราจะลิ้มได้เถิด ฉะนั้น คุณอย่ารังเกียจคำสมมติ แม้ที่ไม่มีในพระไตรปิฎก หรือที่เป็นคำของชนต่างชาติ โดยเฉพาะ เช่นคำว่าจิตเดิมแท้นี้เป็นต้น ให้เหมือนกับที่คุณไม่รังเกียจคำว่านิพพาน เป็นนครอันเป็นสมมติของชาติเราเองจะดีกว่า มันจะทำให้คุณเป็นพุทธบริษัทที่แท้จริงยิ่งขึ้น คือถือตัวถือตนน้อยเข้า รักความเป็นธรรมมากเข้า มีโอกาสตีแผ่ธรรมะลงไปเป็นของกลางระหว่างชาติได้มากเข้า และนั่นแหละ คือความประสงค์ของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง มิใช่พระพุทธเจ้าตามทัศนะของบางคน ถาม :- ถ้าจะบัญญัติความหมายคำว่าจิตเดิมแท้ เพื่อเป็นหลักสำหรับศึกษากันแล้ว จะบัญญัติว่าอย่างไรขอรับ? ตอบ :- คำนี้มีที่มาในคัมภีร์ฝ่ายเหนือ คือฝ่ายมหายานเพียงพวกหนึ่ง และในระยะยุคหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นยุคที่ถือกันว่าทำผลดีให้เกิดขึ้นมากกว่ายุคอื่น เขาบัญญัติความหมายของคำนี้เหมือนคำว่า อสังขตะหรือนิพพานทุกอย่าง ผิดแต่สมมติให้เป็นรูปธรรมเช่นเดียวกับที่พวกเราสมมตินิพพานให้เป็นนครนั้นเหมือนกัน ก็คือหมายถึงสิ่งที่ไม่มีอะไรปรุง ซึ่งเมือไม่มีอะไรปรุงคือไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว ก็ไม่มีอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ซึ่งว่ากันที่จริงแล้วมันไม่เป็นจิตเดิม หรือจิตตรงกลาง หรือจิตที่หลังไปได้เลย แต่ก็ขืนสมมติเรียกให้เกิดความหมาย เพื่อให้เป็นมูลฐานที่ตั้งของการศึกษาว่า จิตเดิมแท้ ฉะนั้นอาตมาก็บัญญัติเอาตามความหมาย เพื่อประโยชน์แก่ผู้ฟังจำพวกหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ไม่น้อยเหมือนกันว่า จิตที่อะไรปรุงแต่งไม่ได้ เป็นนครแห่งวิสังขาร เป็นนครที่พระพุทธเจ้าท่านทรงค้นพบเป็นบุคคลแรก แต่คุณอย่าลืมว่าคำว่า จิต หรือ นคร ในที่นี้มันมีความหมายเฉพาะของมัน ทำนองเดียวกับคำว่านิพพานเป็นอมตมหานครหรือศิวาลัยสถาน ดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว
|