เปรียบเทียบ มนุษย์ สวรรค์ และ อบาย

แม้ว่าตามปกติพวกมนุษย์จะถือว่าเทวดาสูงกว่าพวกตน และพากันอยากไปเกิดในสวรรค์

แต่สำหรับพวกเทวดา เขาถือกันว่า การเกิดเป็นมนุษย์เป็น สุคติ ของพวกเขา

ดัง พุทธพจน ยืนยันว่า “ภิกษุทั้งหลาย ความเป็นมนุษย์นี่แล นับว่าเป็นการไปสู่ สุคติ ของเทพทั้งหลาย”

เมื่อเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งจะ จุตุ (ตาย) เพื่อเทพชาวสวรรค์จะพากันอวยพรว่าให้ไปสู่ สุคติ คือไปเก็เป็นมนุษย์ทั้งหลาย

เพราะโลกมนุษย์เป็นถิ่นที่มีโอกาสเลือกประกอบ กุศลกรรม ทำความดีงามต่าง ๆ และประพฤติปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่ (ความชั่วหรือ อกุศลกรรมต่าง ๆ ก็เลือกทำได้เต็มที่เช่นเดียวกัน)

 

การเกิดเป็นเทวดาที่มีอายุยืนยาว ท่านถือว่าเป็นการเสียหรือพลาดโอกาสอย่างหนึ่งในการที่จะได้ ประพฤติพรหมจรรย์ (ปฏิบัติตาม อริยมรรค)

เรียกอย่างสามัญว่าเป็นโชคไม่ดี พวกชาวสวรรค์มีแต่ความสุข ชวนให้เกิดความประมาทมัวเมา สติไม่มั่น

ส่วนโลกมนุษย์มีสุขบ้างทุกข์บ้างเคล้าระคน มีประสบการณ์หลากหลายเป็นบทเรียนได้มาก

เมื่อรู้จักกำหนดก็ทำให้ได้เรียนรู้ ช่วยให้สติเจริญว่องไวทำงานได้ดี เกื้อกูลแก่การฝึกตนและการที่จะก้าวหน้าในอริยธรรม

 

เมื่อพิจารณาในแง่ระดับแห่งคุณธรรมให้ละเอียดลงไปอีกจะเห็นว่า มนุษย์ภูมิ นั้นอยู่กลางระหว่าง เทวภูมิ หรือสวรรค์ กับ อบายภูมิ มีนรก เป็นต้น

พวก อบาย เช่นนรกนั้น เป็นคนของคนบาปด้อย คุณธรรม (ธรรมเป็นคุณ ความดีงาม สภาพที่เกื้อกูล)

แม้ชาว อบาย บางส่วนจะจัดได้ว่าเป็นคนดี แต่ก็ตกไปอยู่ในนั้น เพราะความชั่วบางอย่างให้ผลถ่วงดึงลงไป

ส่วนสวรรค์ก็เป็นแดนของคนดีค่อนข้างมีคุณธรรม

แม้ว่าชาวสวรรค์บางส่วนจะเป็นคนชั่วแต่ก็ได้ขึ้นไปอยู่ในแดนนั้น เพราะมีความดีบางอย่างที่ประทุแรงช่วยผลักดันหรือฉุดขึ้นไป

ส่วนโลกมนุษย์ที่อยู่ระหว่างกลาง ก็เป็นประดุจชุมทางที่ผ่านหมุนเวียนกันไปมาทั้งของชาวสวรรค์และชาว อบาย

เป็นแหล่งที่สัตว์โลกทุกพวกทุกชนิดมาทำ มาหากรรม

เป็นที่คนชั่วมาสร้างตัวให้เป็นคนดีเตรียมไปสวรรค์ หรือ คนดีมาสุมตัวให้เป็นคนชั่วเตรียมไปนรก

ตลอดจนเป็นที่ผู้รู้จะมาสะสางตัวให้เป็นคนอิสระ เลิกทำมาหากรรม เปลี่ยนเป็นผู้หว่านธรรม ลอยพ้นเหนือการเดินทางหมุนเวียนต่อไป

พระธรรมปิฎก  (ป.อ.ปยุตฺโต)