พุทธคุณ
๙
คำว่า
พุทธคุณ
เป็นคำที่ชาวพุทธคุ้นหูกันเป็นอย่างดี
แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่เข้าใจคำนี้ได้อย่างถูกต้องนัก
จึงขอนำมาอธิบายขยายความไว้ในที่นี้ โดยในพจนานุกรม พุทธศาสน์ ของรองศาสตราจารย์ดนัย
ไชยโยธา ได้ให้ความหมายไว้ว่า
พุทธคุณ ๙ คือ คุณความดีของพระพุทธเจ้า ๙ ประการ ดังที่นักปราชญ์ได้ร้อยกรอง
เพื่อให้เป็นบทสวดสรรเสริญพระคุณอันประเสริฐไว้ดังนี้
๑. อรหํ
เป็นพระอรหันต์ มีคำแปลและความหมายอย่างน้อย ๔ ประการ ดังนี้
๑.๑ เป็นผู้ควร คือ
ผู้ทรงสั่งสอนสิ่งใดก็ทรงทำสิ่งนั้นได้ด้วย เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์
๑.๒ เป็นผู้ไกล คือ ผู้ทรงไกลจากกิเลสและบาปกรรม
เพราะทรงละได้เด็ดขาดแล้วทั้งโลภ โกรธ และหลง
๑.๓ เป็นผู้หักซี่กำแพงล้อสังสารวัฏ คือ
ผู้ทรงตัดวงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏได้แล้ว
๑.๔ เป็นผู้ไม่มีข้อลี้ลับ คือ
ผู้ทรงไม่มีบาปธรรมทั้งที่ลับและที่แจ้ง เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น
และเป็นผู้ควรได้รับความเคารพของผู้อื่น
๒.
สมฺมาสมฺพุทฺโธเป็นผู้ทรงตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง คือ ทรงตรัสรู้อริยสัจ ๔ อันได้แก่ ทุกข์
สมุทัย นิโรธ มรรค เป็นการค้นพบด้วยพระองค์เอง ไม่มีครู
อาจารย์เป็นผู้สอน
๓.
วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน
เป็นผู้ทรงเพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ คือ
มีวิชชาความรู้ตั้งแต่ความรู้ระดับพื้นฐาน จนกระทั่งความรู้ระดับสูงสุด
และมีจรณะความประพฤติดีประพฤติได้ตามที่ทรงรู้ เช่น ความสำรวมในศีล
เป็นต้น
๔.
สุคโต
เป็นผู้เสด็จไปดี คำว่า ไปดี
มีความหมายหลายนัยคือ
๑.เสด็จดำเนินตามอริยมรรคมีองค์แปด
อันเป็นทางเดินที่ดี ็น็
๒.เสด็จไปสู่พระนิพพาน
อันเป็นสภาวะที่ดียิ่ง
๓.เสด็จไปดีแล้ว
เพราะทรงละกิเลสได้โดยสิ้นเชิง
๔.เสด็จไปปลอดภัยดี
เพราะเสด็จไปบำเพ็ญประโยชน์แก่สัตว์โลก
๕. โลกวิทู
เป็นผู้ทรงรู้แจ้งโลก คือทรงรอบรู้โลกทางกายภาพ เช่นโลกมนุษย์ สัตว์โลก สังขารโลก
โอกาสโลก และทรงรู้โลกภายในคือ ทุกข์และการดับทุกข์
๖. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ
เป็นสารถีผู้ทรงฝึกคนได้อย่างยอดเยี่ยม คือ พระองค์ทรงรู้นิสัย (ความเคยชิน)
อุปนิสัย(มีแวว) อธิมุตติ(ความถนัด) อินทรีย์(ความพร้อม) ของบุคคลระดับต่าง ๆ
และทรงฝึกสอนด้วยเทคนิควิธีการที่เหมาะแก่ความเคยชิน แววถนัด
และความพร้อมของเขาให้บรรลุมรรคผลเป็นจำนวนมาก
๗. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ
เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย คือ
พระองค์ทรงประกอบด้วยคุณสมบัติที่ควรเป็นครูของบุคคลในทุกระดับชั้น
เพราะพระองค์ทรงรอบรู้และทรงสอนคนได้ทุกระดับ ทรงสอนด้วยความเมตตา
มิใช่เพื่อลาภสักการะและคำสรรเสริญ
แต่ทรงมุ่งความถูกต้องและประโยชน์สุขของผู้ฟังเป็นใหญ่
ทรงสอนให้เหมาะสมกับอัธยาศัยของผู้ฟัง และทรงทำได้ตามที่ทรงสอนนั้นด้วย
๘. พุทฺโธ เป็นผู้ตื่น ผู้เบิกบาน คือ
พระองค์ทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติทั้งหลายที่ยึดถือกันมาผิด ๆ
ด้วย ทรงรู้จักฐานะ คือ
เหตุที่ควรเป็น
เปรียบได้กับคนตื่นจากหลับแล้วทรงปลุกผู้อื่นให้พ้นจากความหลงงมงายด้วย
อนึ่งพระองค์ทรงตื่นแล้วเป็นอิสระจากอำนาจของโลภ โกรธ หลง แล้ว
เมื่อทรงตื่นแล้วก็ทรงแจ่มใสเบิกบาน มีพระทัยบริสุทธิ์สะอาด
๙.
ภควา
เป็นผู้มีโชค ผู้ทรงแจกแบ่งธรรม คือพระองค์ทรงเพียบพร้อมได้ด้วยคุณธรรมทั้งหลาย
อันเป็นผลสัมฤทธิ์แห่งพระบารมีที่ทรงบำเพ็ญมา นับเป็นผู้มีโชคดีกว่าคนทั้งปวง
เพราะพระองค์ทรงทำการใดก็ลุล่วงปลอดภัยทุกประการ ส่วน ภควา
แปลว่า ทรงแจกแบ่งธรรม
หมายถึง มีพระปัญญาล้ำเลิศ จนสามารถจำแนกธรรมที่ลึกซึ้งให้เป็นที่เข้าใจง่าย
และมีพระกรุณาธิคุณจำแนกจ่ายคำสั่งสอนแก่เวไนยสัตว์ให้รู้ตาม
พระพุทธคุณทั้ง ๙ ประการนี้ สรุปลงเป็น ๓ ประการคือ
๑. พระวิสุทธิคุณ คือ ความบริสุทธิ์ อันได้แก่ พระคุณข้อที่ ๑,๓
และ ๙
๒.
พระปัญญาคุณ
คือ ปัญญา อันได้แก่ พระคุณข้อที่ ๒,๕ และ๘
๓.
พระมหากรุณาธิคุณ
คือ พระมหากรุณา อันได้แก่ พระคุณข้อที่ ๔,๖ และ
๗