ความสงบอย่างยิ่ง

คือการดำรงอยู่เหนือกาลเวลา

ท่านสาธุชนผู้ใจในธรรมทั้งหลาย

          ณ บัดนี้    จะได้วิสัชนาพระธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญา ส่งเสริมศรัทธา ความเชื่อ และวิริยะความพากเพียรของท่านทั้งหลาย ที่เป็นพุทธบริษัทให้เจริญงอกงามก้าวหน้าในทางแห่งพระพุทธศาสนาของสมเด็จพระบรมศาสดา อันเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย กว่าจะยุติลงด้วยเวลา

ความสำคัญของกาลเวลา

       ธรรมเทศนาในวันนี้ เป็นธรรมเทศนาพิเศษ ปรารภถึงความหมายของวันที่สมมติกันว่า เป็นวันขึ้นปีใหม่เพราะฉะนั้นธรรมะที่เป็นเครื่องแสดงถึงความไม่ประมาทอันเกี่ยวกับเวลา ย่อมเหมาะสมสำหรับโอกาสเช่นนี้ดังจะได้ยกเอาหัวข้อพระพุทธพาษิตที่มีอยู่ว่า

อจฺเจฺนติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย เป็นอาทิ มาวิสัชนาในที่นี้

          บทว่า “อจฺเจฺนติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย”

          นั้นแปลว่า      เวลาย่อมล่วงไป

                        วันและคืนย่อมล่วงไป

                        ชั้นแห่งวัยย่อมละไป

          ข้อนี้หมายความว่า เมื่อกล่าวโดยส่วนรวมกว้างๆ ก็ว่า เวลาล่วงไป ถ้าจะให้แคบเข้ามาก็ว่าวันและคืนล่วงไป หรือจะขยายออกไปว่า วัยย่อมละลำดับ คือปฐมวัยย่อมเปลี่ยนเป็นมัชฌิมวัย และเปลี่ยนไปเป็นปัจฉิมวัยในที่สุด เป็นการละลำดับดังนี้

          ความหมายข้อแรกนี้ เป็นเครื่องยืนยันชั้นหนึ่งก่อนว่า สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้น ไม่ได้คงที่ แต่ล่วงไปๆ

          ข้อที่มีความสำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ

          “กาโล ฆสติ ภูตานิ สพฺพาเนว สหตฺตนา”

          ซึ่งแปลว่า

                   เวลาย่อมกินซึ่งสรรพสัตว์

                พร้อมทั้งตัวมันเอง

          นี้หมายความว่า เวลาไม่ได้ล่วงไปเฉยๆ แต่เวลาย่อมกินสรรพสัตว์ให้ค่อยๆสิ้นไป พร้อมทั้งตัวเวลาเองด้วย

          “เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน อถ โลกามิส ปชฺชเห สนฺติเปกฺโข”

                    เมื่อพิจารณาเห็นภัย

                ในความตายเช่นนี้แล้ว

                พึงหวังความสงบ

                ละเหยื่อในโลกนี้เสีย

นี้เป็นคำสอนข้อสุดท้าย

          ในเมื่อเห็นว่าเวลาเป็นอย่างนั้นแล้ว มนุษย์จะต้องทำอย่างไร มีใจความว่า...

          เมื่อมองเห็นว่าเวลาล่วงไป มันกินสรรพสัตว์หมายความว่าทำให้ตาย

          เมื่อเห็นภัยในความตายจะทำอย่างไรดี?

          ข้อนี้มีคำตอบอยู่เป็น ๒ อย่าง คือ คนปุถุชนธรรมดาสามัญ แม้ที่สุดแต่พวกเทวดาก็ตอบว่า กยิราถปุญฺญานิ สุขาวหานิ ซึ่งแปลว่า เมื่อมองเห็นภัยในความตายแล้ว ควรรีบกระทำบุญ อันจะนำสุขมาให้

          ส่วนพระพุทธเจ้าเมื่อได้ฟังพวกเทวดากล่าวดังนั้นท่านตรัสว่า เรายังไม่ถือว่าการกล่าวอย่างนั้นเป็นการกล่าวอย่างถูกต้อง แต่เรากล่าวว่า “เมื่อยิ่งเห็นภัยในความตายแล้ว พึงหวังความสงบ โดยละเหยื่อในโลกนี้เสีย”

          ข้อความนี้ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือคนธรรมดาสามัญที่เป็นปุถุชนนั้น เมื่อกลัวตายก็รีบทำบุญ แต่พระอริยเจ้าผู้รู้จริงและเห็นจริงในสิ่งทั้งปวงนั้น กลับกล่าวว่าเมื่อเห็นภัยในความตายแล้ว ก็จงหวังนิพพานอันเป็นธรรมเครื่องให้สงบ โดยการละเหยื่อทั้งหลายในโลกนี้เสียซึ่งย่อมจะหมายความว่า แม้แต่สิ่งที่เรียกว่าบุญ ก็ยังจัดไว้ในพวกที่เป็นเหยื่ออยู่นั่นเอง เพราะเป็นเครื่องล่อให้บุคคลหลงใหล พอใจ ด้วยความอยาก หรือความต้องการ ว่าจะได้เกิดในสุคติ เป็นสุข สนุกสนานกันอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น จึงได้เรียกว่าเหยื่อ

          สิ่งที่เรียกว่าเหยื่อ ก็มีความหมายว่าเป็นเครื่องล่อใจ ในบรรดาสิ่งเครื่องล่อใจทั้งหลาย ย่อมไม่มีอะไรยิ่งไปกว่าบุญ ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า...

          แม้สิ่งที่เรียกว่าบุญ ก็ได้ชื่อว่าเป็นอุปธิ คือเป็นเหยื่อของกิเลสเหมือนกัน ถึงกับจะเรียกว่าเหยื่อในโลกก็ยังเรียกได้ เพราะว่าบุญย่อมนำให้เกิดในโลกใดโลกหนึ่งเสมอ ไม่ในโลกมนุษย์ ก็เทวโลก หรือพรหมโลก เป็นเครื่องให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก ดังนั้นจึงได้เรียกว่าเหยื่อ

กำจัดเวลา สู่ภาวะเหนือโลก

          ถ้าเห็นภัยอันตรายที่เกิดจากเวลา ที่เคี้ยวกินสรรพสัตว์กันจริงแล้ว ก็จะต้องทำให้ยิ่งไปกว่านั้น คือหวังความสงบรำงับจาการครอบงำของเวลา เพราะว่าไม่ต้องการเหยื่อนั่นเอง

          ดังนั้นท่านจึงสรุปไว้ในขั้นสุดท้ายว่า...

                   ผู้ใดกำจัดความอยากเสียได้

                ผู้นั้นย่อมกินซึ่งเวลา

          เป็นของคู่กันว่า สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ตามธรรมดานั้นย่อมถูกเวลากัดกิน แต่พระอริยเจ้าผู้กำจัดความอยากเสียได้นั้น กลับเป็นผู้กินซึ่งเวลา

          หมายความว่า กำจัดเวลาเสียได้นั่นเอง

          ข้อนี้เป็นธรรมะในขั้นที่เป็น วิวัฏฏคามินีปฏิปทาคือแสดงถึงธรรมะเครื่องออกไปจากวัฏฏะ หรือนำขึ้นสู่ภาวะที่เรียกว่าอยู่เหนือโลกโดยประการทั้งปวง

          ดังนั้น เราจึงเห็นได้ว่าถ้าอยู่ในโลก อยู่ใต้โลก ก็ย่อมถูกเวลาครอบงำหรือกัดกิน แต่ถ้าอยู่เหนือโลก ก็เป็นฝ่ายที่กัดกินเวลา เวลาเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แต่ว่าสัตว์ธรรมดาที่ยังไม่อาจจะละความยึดมั่นถือมั่นในโลกได้ ย่อมมีความอยากอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงถูกกัดกินอยู่ด้วยเวลาคือความที่ไม่สมใจอยาก หรือว่าสิ่งที่ได้มาแล้วสมใจอยากมันก็ยังเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เวลาเป็นเครื่องทำให้สัตว์เดือดร้อน ทนทุกข์ทรมานอย่างนี้อยู่เสมอหมายความว่าเมื่อยังไม่ได้ ก็ร้อนใจเหมือนกับตกนรกครั้นได้มาแล้วก็กลัวจะวิบัติพลัดพรากไป และในที่สุดก็ได้

วิบัติพลัดพรากไปจริงๆ เพราะอำนาจของเวลานั้นดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า เวลาย่อมกัดกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวมันเองอยู่ตลอดเวลาดังนี้

          คนธรรมดาทั่วไป มักจะแยกสิ่งทั้งหลายทั้งปวงออกเป็น ๒ ฝ่าย ในลักษณะที่ว่า เป็นบุญหรือเป็นบาปคู่กัน เป็นนรกหรือเป็นสวรรค์ คู่กัน เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ คู่กัน เป็นคู่กันอย่างนี้เสมอไป แล้วตัวก็เลือกเอาข้างหนึ่ง แล้วก็ไม่ชอบอีกข้างหนึ่ง เช่นเลือกเอาข้างบุญไม่เอาข้างบาป เลือกเอาข้างสวรรค์ ไม่เอานรก เลือกเอาข้างความสุข ไม่เอาข้างความทุกข์ อย่างนี้เป็นต้นแล้วคิดว่านี้เป็นเพียงการทำที่เพียงพอ หรือถูกต้องแล้ว

          การทำเพียงเท่านั้นยังไม่เพียงพอ อาจจะถูกต้องสำหรับคนทั่วไปธรรมดาสามัญ แต่ไม่ถูกต้องสำหรับบุคคลที่ต้องการจะดับทุกข์โดยประการทั้งปวง เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าบุญหรือสุขนั้น ก็ยังเป็นเหยื่อของความอยากยังเป็นที่ตั้งของความอยาก โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าสรรค์ด้วยแล้ว ก็หมายถึงตัวที่เป็นเหยื่อโดยเฉพาะดังนั้นแม้จะได้บุญ แม้จะได้ไปสวรรค์ แม้แต่จะมีความสุขมันก็ยังถูกเวลากัดกินอยู่นั่นเอง จะมีความสุขในมนุษย์โลก เทวโลก พรหมโลก หรือโลกไหนก็ตาม ก็ยังถูกเวลากัดกินอยู่นั่นเอง

          ดังนั้นจึงไม่เป็นการดับทุกข์สิ้นเชิง เป็นเพียงการเสวยสุขเวทนาคือความรู้สึกสนุกสนาน เอร็ดอร่อยตามอารมณ์ของตน แล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาด้วยกันทั้งนั้น และในที่สุดก็ต้องพลัดพรากจากกันเพราะอำนาจของเวลา

          ด้วยเหตุดังนี้แหละ

          ทางฝ่ายพุทธศาสนาจึงมีหลักว่า

          ถ้าต้องการจะพ้นจากความตาย

        หรือความทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้ว

        ต้องละทิ้งสิ่งที่เป็นเหยื่อเสียให้หมด

        หวังอยู่แต่สันติบท หรือพระนิพพาน

หนทางสู่การอยู่เหนืออำนาจของเวลา

          ที่ว่า ละเหยื่อเสียให้หมดนี้ หมายถึงไม่มีอะไรซึ่งเป็นที่ตั้งของความอยาก มีจิตใจว่าง ไม่ยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดว่าน่ารักน่าปรารถนา อย่างนี้เรียกว่าหวังต่อนิพพานไม่ได้หวังนรกสวรรค์ ไม่ได้หวังบุญหวังบาป หวังสุข หวังทุกข์ แต่หวังความสงบอย่างยิ่ง ความว่างอย่างยิ่งความไม่มีทุกข์เลย

          ถ้าจะให้ง่ายๆ ก็ต้องพูดว่า คนมีบุญก็เป็นทุกข์ไปตามประสา หรือตามแบบของคนมีบุญ ส่วนคนมีบาปก็เป็นทุกข์ไปตามประสาของคนมีบาป ไม่ใช่ว่าเป็นคนมีบุญแล้วจะไม่มีความทุกข์ เพราะว่าถ้ายังหวังยังอยากใน

บุญหรืออะไรอยู่แล้ว ก็ต้องมีความทุกข์เพราะความอยาก

นั่นเอง เพราะว่าเวลามาเบียดเบียนให้ความอยากนั้นเผาผลาญบุคคลนั้นทั้งที่ได้ตามที่ตนอยาก หรือไม่ได้ตามที่ตนอยาก

          แม้ว่าได้บุญมาแล้วก็ยังกลัวว่าจะหมดสิ้นไป แต่ในที่สุดก็เป็นสิ่งที่เสื่อมสิ้นหมดไปได้จริงๆ ต้องสร้างกันใหม่ต้องทำกันใหม่ ด้วยความอยากต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นจึงกล่าวว่า คนมีบุญก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของคนมีบุญ คนมีบาปก็มีทุกข์ไปตามแบบของคนมีบาปถ้าจะให้พ้นทุกข์สิ้นเชิง ต้องไม่หวังบุญหรือบาป แต่หวังความสงบรำงับโดยประการทั้งปวง หรือความว่างโดยประการทั้งปวง จึงเรียกกันทั่วๆไปว่านิพพาน โดยการดับความอยากทั้งหลายเสียอย่าให้มีส่วนเหลือ ไม่ว่าจะเป็นความอยากชนิดไหน จะต้องขจัดเสียจากจิตใจให้หมดสิ้น เหลืออยู่แต่สติปัญญา หรือว่าอะไร ควรทำอย่างไรก็ทำไปตามนั้น ไม่ต้องทำด้วยความอยาก แต่ว่าทำด้วยสติปัญญา อย่างนี้เรียกว่าหวังแต่สันติคือพระนิพพาน โดยละเหยื่อในโลกทั้งหลายเสีย

          เมื่อเป็นผู้ไม่อยากอะไรแล้ว เวลาก็ทำอะไรไม่ได้คือเวลาจะเบียดเบียนบุคคลผู้นั้นก็ไม่ได้อีกต่อไป ท่านจึงกล่าวว่าผู้นั้นเป็นผู้กินซึ่งเวลา ตรงกันข้ามจากคนธรรมดาที่ว่าเวลาย่อมกินสรรพสัตว์ คือคนธรรมดาสามัญนั่นเอง

          คนอาจจะสงสัยว่า พระอริยเจ้า หรือพระอรหันต์ในที่สุดท่านไม่ตายหรืออย่างไร ข้อนี้ต้องดูให้ดีว่าโดยร่างกายก็แตกทำลายไปตามกาลเวลา แต่ว่าโดยจิตใจหาเป็นเช่นนั้นไม่ คือเวลาไม่ได้ทำให้ท่านเดือดร้อนเป็นทุกข์ได้  ถึงแม้ว่าร่างกายจะต้องแตกต้องทำลายไป  ก็ไม่มีความทุกข์ ไม่มีความเดือนร้อน หรือแม้ว่าสิ่งเป็นที่รัก ที่พอใจทั้งหลาย จะเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของเวลาก็ไม่ได้ทำให้เดือดร้อน แปลว่าเวลาทำอะไรไม่ได้ เพราะท่านตั้งอยู่ด้วยความสงบรำงับ สามารถจะต่อต้านเวลาให้หันหลังกลับด้วยซ้ำไป คือทำอะไรท่านไม่ได้นั่นเอง

          ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่าผู้หลุดพ้นถึงปานนั้น ย่อมเป็นผู้ซึ่งกินเวลา ดังนี้

ข้อคิดเกี่ยวกับเวลา

          สำหรับเราทั้งหลาย ก็มีข้อที่จะต้องคิด เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่มากเหมือนกัน คือว่าถ้าเป็นคนประมาทแล้วย่อมมีความทุกข์เกี่ยวกับเวลานี้มากเกินไปหลายอย่างหลายทาง คือว่าในทางต้นที่สุด ทางแรกที่สุด ที่ให้รีบกระทำความดี หรือทำบุญไว้ก่อนก็ยังเป็นผู้ประมาท ยิ่งเป็นผู้ไม่หลงทำบาป ยิ่งได้รับความทุกข์มากกว่าที่ควรจะได้รับ ที่นี้ถ้าสูงขึ้นมา แม้ว่าจะเป็นผู้บำเพ็ญบุญอยู่เนืองนิต แต่ถ้าเป็นผู้ประมาทไม่รู้ตามที่เป็นจริง ไปยึดมั่นถือมั่นสิ่งเหล่านี้โดยความเป็นตัวตนของตนแล้ว ก็จะเป็นผู้มีความทุกข์อย่างลึกซึ้ง มองเห็นได้ยากไปอีกแบบหนึ่งด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะคือคนที่ยึดมั่นในเรื่องของ

สวรรค์ แม้ว่าจะได้เกลียดกลัวเรื่องของนรก นี้ก็เรียกว่าเป็นความประมาท ถ้าเป็นผู้ไม่ประมาทก็คือหมายความว่าไม่ยึดมั่นในสิ่งใดเลย

ผู้ไม่ประมาท

        ย่อมรู้ตามที่เป็นจริงว่า

        ถ้าลงได้เป็นบ่าวเป็นทาสของความอยากแล้ว

        นรกหรือสวรรค์ก็ย่อมจะเป็นทุกข์เท่ากัน

        เป็นความทุกข์เท่ากัน

        แม้ว่าจะมีรูปร่างต่างกัน

นรก หรือ สวรรค์

          คนทั่วไปเห็นว่านรกกับสวรรค์นั้นต่างกันอย่างตรงกันข้าม แต่พระอริยเจ้าเห็นว่าเหมือนกัน และยังเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ไปตามแบบของตนๆ อยู่ในนรก หรืออยู่ในสภาพของนรก ก็เป็นทุกข์ตามแบบของสัตว์นรกอยู่ในสวรรค์ หรือในสภาพที่เป็นสวรรค์ ก็เป็นทุกข์ไปตามแบบของเทวดาที่อยู่ในสวรรค์

          ความทุกข์นั้นเมื่อกล่าวโดยปริมาณแล้ว อาจจะเท่ากัน เพราะเหตุใด? เพราะเหตุว่ามันมีความอยากในปริมาณที่เท่าๆกัน แม้ว่าจะมีรูปร่างต่างกัน แม้ว่าอันหนึ่ง

จะสวยสดงดงาม อันหนึ่งจะเร่าร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ แต่ถ้า

เป็นความอยากแล้ว ย่อมเผาผลาญจิตใจเหมือนกันหมด

ดังนั้นเมื่อเกิดความอยากขึ้นในใจแล้ว ก็ขอให้เข้าใจเถอะว่านั่นเป็นนรก ไม่ควรจะเรียกว่าสวรรค์เลยหากแต่ว่าชนิดนี้มันซ่อนเร้นปิดบังเห็นได้ยาก

          ถ้ามีใครมากล่าวแม้แต่สวรรค์ก็เป็นนรกชนิดหนึ่งอย่างนี้คงจะไม่มีใครเห็นด้วย เพราะว่ามีแต่คนกล่าวว่านรกอย่างหนึ่ง สวรรค์อย่างหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น มีแต่พระอริยเจ้าที่เห็นตามที่เป็นจริงเท่านั้น ที่จะเห็นว่า นรกหรือสวรรค์ก็ตาม เมื่อยึดถือแล้วย่อมเป็นทุกข์โดยเสมอกันสวรรค์เสียอีกเป็นที่ตั้งแห่งความรัก ความยึดถือยิ่งกว่านรก

          เพราะฉะนั้นสวรรค์จึงมีส่วนที่ทำให้เกิดความทุกข์ได้มากกว่านรก แต่ว่าซ่อนเร้น มองไม่เห็น เป็นผู้สมัครเป็นทุกข์โดยชื่นตาเท่านั้นเอง ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

          นี้เรียกว่าเป็นความประมาทในชั้นสูง ซึ่งยากที่จะเข้าใจ ถ้าจะตักเตือนกันในขั้นต้นๆ ก็บอกว่ารีบเว้นบาปเสีย และรีบทำบุญเพื่อจะได้ไปสวรรค์

          แต่ถ้าจะตักเตือนกันในขั้นสุดท้ายแล้ว ก็ย่อมจะตักเตือนว่า...

          อย่าได้หลงใหลในสิ่งใดเลย จงปล่อยความยึดมั่นถือมั่นโดยประการทั้งปวง ไม่มีส่วนเหลือเมื่อนั้นก็จะอยู่เหนือนรกและเหนือสวรรค์โดยประการทั้งปวง

          คือไม่มีความอยาก เมื่อไม่มีความอยากแล้วก็เป็นความสงบ หรือเป็นนิพพาน ไม่เกี่ยวข้องกับเหยื่อชนิดใดๆในโลกนี้อีกต่อไป นี้เรียกว่าเป็นความไม่ประมาทในขั้นสูง เป็นการตักเตือนกันในขั้นสูง

          เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะการชี้ให้เห็นชั้นหนึ่งก่อนว่า สายหรือแนวของการดับทุกข์นั้นมีอยู่อย่างไร จะไปสุดทางกันแค่ไหน เรารู้ให้หมดจดสิ้นเชิงเสียก่อน แล้วจึงค่อยมาพิจารณาดูว่าเราจะเลือกเอาอย่างไร หรือเพียงไหนกันอีกทีหนึ่ง

          สำหรับผู้ที่ไม่อาจจะเข้าใจได้ ก็มีการสอนให้พอใจในสวรรค์ ให้รีบทำบุญ อันจะนำความสุขมาให้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่สมมติกันว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่นี้ ก็จะตักเตือนซึ่งกันและกันให้ทำบุญให้มากให้ยิ่งขึ้นไปกว่าปีเก่า มันก็เป็นการถูกต้องแล้ว และถูกต้องสำหรับบุคคลประเภทนั้น

          แต่ถ้าจะให้มากไปกว่านั้น ให้สูงไปกว่านั้น ให้ประเสริฐไปกว่านั้น  อันเป็นชั้นที่พระอริยเจ้าท่านพอใจ

แล้ว เขาก็จะไม่พูดถึงเรื่องบุญเรื่องบาปเลย แต่จะพูดว่า ปีใหม่นี้ จงกินเหยื่อในโลกนี้ให้น้อยกว่าปีเก่าก็แล้วกัน คือว่าให้ละเหยื่อในโลกนี้ได้มากกว่าปีเก่าก็แล้วกัน สิ่งใดเป็นเหยื่อ สิ่งนั้นก็ต้องละให้มากขึ้น โดยมุ่งหวังต่อความสงบ สภาพของความสงบ คือความไม่ต้องกระวนกระวายไปตามเหยื่อ เป็นคนที่มีความสงบระงับอยู่ได้นั่นเอง

          การที่กล่าวดังนี้ อยากจะให้คิดดูด้วยกันทุกคนว่ามันยากเกินไปหรือไม่ ถ้าจะพูดว่าปีใหม่นี้ พยายามละเหยื่อในโลกนี้ ให้มากขึ้นกว่าปีเก่า จะฟังออกหรือไม่หรือว่าจะต้องบอกว่า ให้ทำบุญให้มากกว่าปีเก่าไปตามเดิม ตามที่เคยพูดๆ บอกๆกันมา

การตกเป็นเหยื่อของบุญ

          ถ้าผู้ใดมีการศึกษาและการปฏิบัติก้าวหน้า ผู้นั้นก็ควรแล้วที่จะมองเห็น หรือจะฟังออก หรือจะเข้าใจเพราะว่าการที่ตักเตือนซึ่งกันและกัน ให้ละเหยื่อในโลกเสียให้มากกว่าปีเก่านี้  ย่อมจะน่าฟังกว่าที่จะพูดว่าให้รีบทำบุญให้มากกว่าปีเก่า เพราะคำว่าบุญนี้ มันกำกวมยิ่งไปกว่าคำว่าเหยื่อเสียอีก

          บางคนมองบุญในแง่ที่วิเศษสูงสุด น่าปรารถนาอย่างยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวงเอาทีเดียว เพราะว่าไม่รู้จักความทุกข์ที่เร้นลับ หรือไม่รู้จักพระนิพพานซึ่งเป็นที่ดับทุกข์

อย่างสิ้นเชิง เพราะไปมองเห็นแต่เพียงว่า สิ่งที่เรียกว่า

บุญนั้นเป็นสิ่งสูงสุด แล้วไปยึดถือความหมายนี้เป็นเพียงสิ่งเดียว เป็นสิ่งสูงสุดไป ดังนี้ก็มี แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจจะมีคนบางคนที่อาจจะลังเลอยู่ เพราะได้เคยสังเกตเห็นว่าคนที่ทำบุญมากๆ ขนาดที่เรียกว่าบ้าบุญ เมาบุญอย่างนี้ ยังกลับจะเป็นทุกข์มากไปเสียกว่าคนที่อยู่เฉยๆ ก็เลยเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า บุญนี้คืออะไรกันแน่ อยู่ที่ตรงไหนแน่ ทำไม่จึงมีคนที่บ้าบุญ เมาบุญ กลับเป็นผู้ที่เดือนร้อนยิ่งกว่าคนที่อยู่เฉยๆ

          ถ้าพิจารณาดูให้ดีก็จะเห็นได้ว่า เพราะว่าคนเหล่านั้นยังไม่เข้าใจคำว่าบุญ ยังไม่เข้าใจสิ่งที่เรียกว่าบุญจึงได้หลงสำคัญเอาสิ่งที่ตนชอบที่สุดว่าเป็นบุญ มีความยึดมั่น

ถือมั่นในบุญ เพราะเคยได้ยินเขากล่าวกันว่าบุญจะนำมาให้ซึ่งสิ่งที่รัก  ที่พอใจ ที่ชอบใจ ทุกอย่างทุกประการ เพราะฉะนั้นคนจึงชอบบุญกันเป็นอันมาก ถ้าบุญมีความหมายเป็นอย่างอื่นแล้ว คนคงจะไม่ชอบบุญกันเป็นแน่

          เดี๋ยวนี้เพียงแต่ได้ยินว่า บุญเป็นสิ่งที่นำมาให้ซึ่งความปรารถนาทุกประการ แล้วก็เลยชอบ แต่หากได้คิดดูไม่ว่าความอยากหรือความปรารถนานั้นเป็นความทุกข์ถ้าบุญนำความอยากหรือความปรารถนามาให้ หรือก่อให้เกิดความอยาก หรือความปรารถนาแล้ว ก็คือสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ หรือความเร่าร้อนขึ้นในจิตใจโดยไม่ต้องสงสัย ถ้ามีปัญญามองเห็นได้อย่างนี้ ก็นับว่าเป็นการเข้าใจถูกต้องขึ้นมาตามลำดับ อาจจะมองเห็นว่า การเป็นอิสระ ไม่ไปเที่ยวอยากโน่นอยากนี่ ไปตามอำนาจของความอยากนั่นและดูจะเป็นสิ่งที่น่าปรารถนากว่า คือไม่มีความทุกข์ มีแต่สติปัญญารู้ว่าควรทำอย่างไรควรทำอะไร หรือควรทำอย่างไร และควรทำเพียงไหนในวันหนึ่งๆ ก็ทำสิ่งเหล่านั้นไปตามที่ควรทำ ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นถึงกับเกิดความอยากหรือความหลง ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ร้อน เพราะเวลาไม่เข้าข้างตนเพราะว่าเวลาไม่เข้าด้วยกับตน เวลาเป็นไปตามเรื่องของเวลา คนที่มีความปรารถนาจึงได้มีความทุกข์มากหรือทุกข์น้อยตามส่วนของความปรารถนานั่นเอง

อยู่เหนืออำนาจของเวลา

โดยการละความอยาก

          ถ้ามีความปรารถนามาก

        ...เวลาก็วิ่งไปเร็วมาก

        ถ้ามีความปรารถนาน้อย

        ...เวลาก็วิ่งไปช้าๆ

        ถ้าไม่มีความปรารถนาเลย

        ...เวลาก็หยุดสนิท ไม่วิ่งไป

        ดังนั้น เราจึงเอาชนะเวลาได้

        ด้วยการทำลายความอยากเสีย

        โดยประการทั้งปวง

        สิ่งที่เรียกว่านิพพาน หมายถึง ภาวะที่ปราศจากความอยากโดยประการทั้งปวง ผู้บรรลุนิพานคือพระอรหันต์ โดยเฉพาะนั้นก็คือผู้ที่กำจัดความอยากเสียได้โดยประการทั้งปวง ดังนั้นเวลาจึงหยุดหมดสำหรับบุคคลเหล่านั้น เหมือนกับว่าไม่มีเลย ไม่ว่าในโลกนี้หรือในโลกไหน ไม่มีเวลาสำหรับบุคคลผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วไม่มีความยึดมั่นถือมั่นสิ่งใดโดยประการทั้งปวง ดังนี้

          เมื่อเราพิจารณาดูตามลำดับที่กล่าวมานี้ ก็พอจะเห็นได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าเวลานั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ตายตัวเสมอไปอย่างที่คนชาวโลกเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนนอกศาสนา คือคนนอกพุทธศาสนาเขาคิดว่า เวลาเป็นสิ่งที่ตายตัว แล้วเขาก็กลัวเวลานี้มาก แข่งกับเวลามากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นทุกข์มากขึ้นเท่านั้น

          แต่ในพุทธศาสนานี้ พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เอาชนะเวลา เอาชนะเวลาให้ได้ จนเวลาหยุดสงบไปเหมือนกับไม่มี ซึ่งได้แก่ การหยุดเสียซึ่งความอยากในจิตใจของเรานั่นเอง

          หยุดความอยากเสียได้เมื่อใด

          เวลาก็หมดความหมายเมื่อนั้น

          มีความอยากความต้องการเมื่อใด

          เวลาก็มีความหมายขึ้นมาเมื่อนั้น

          อยากมาก เวลาก็วิ่งไปเร็ว

          อยากน้อย เวลาก็วิ่งไปช้า

          อยากถึงที่สุดจนขาดใจตายไป

          ...เวลาก็วิ่งเร็วถึงที่สุดจนทำให้บุคคลนั้นตายไป

          นี้เป็นสิ่งที่ต้องคิดดูให้ดีในเรื่องเกี่ยวกับเวลา

เวลากับการดำเนินชีวิต

          เรื่องปีใหม่ปีเก่านี้ก็เหมือนกัน มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับเวลา ถ้าเราทำไม่ดี ทำไม่ถูก มันก็เป็นความโง่ความหลง ทำให้ปีใหม่เป็นทุกข์มากไปกว่าปีเก่าก็ยังได้

          เด็กๆ ไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนอะไร มองเห็นได้ชัดๆพอเติบโตเป็นผู้ใหญ่ รู้จักอยากโน่นอยากนี่ ทะเยอทะยานนั่นนี่มากขึ้น มันก็เป็นทุกข์มากขึ้น แล้วจะเรียกว่าปีใหม่เป็นสุขมากว่าปีเก่าได้อย่างไร ถ้าเราเอาจิตใจของเด็กๆ มาเทียบกันดู กระทั่งถึงเด็กที่ยังอยู่ในท้องของมารดา เราพอจะเห็นว่าเด็กในท้องของมารดานั้นไม่อยากอะไรเลยเพราะฉะนั้นเวลาจึงไม่มีสำหรับเด็ก หรือสำหรับจิตใจของเด็ก แต่เมื่อเด็กรู้จักต้องการนั่น ต้องการนี่ เวลาจึงจะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งต้องการมาก เวลาก็ยิ่งมีความหมายมาก จนกระทั่งจัดให้ไม่ทันก็ร้องไห้ ต้องฆ่าตัวตาย มันก็เป็นเรื่องของเวลาที่เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างเร้นลับที่สุด

        เมื่อจะให้ปีใหม่มีความสุขที่แท้จริงยิ่งกว่าปีเก่าอาตมามีความเห็นว่า ควรจะต้องจัดการกับสิ่งที่เรียกว่าเวลานี้ให้ดี ให้ถูกต้องยิ่งกว่าปีเก่า ไม่เพียงแต่ให้พรกันว่า ให้มีอะไรมากๆ ให้ได้อะไรมากๆ หรือว่าให้ยิ่งอยากอะไรมากๆ ซึ่งมีแต่จะทำให้เป็นทุกข์ยุ่งเหยิงขึ้นไปกว่าปีเก่า ถ้าจะให้ปีใหม่ขึ้นมาจริงๆ ไม่ซ้ำกับปีเก่า ก็ต้องจัดเรื่องเวลาให้ดี ปีใหม่ซ้ำกับปีเก่า บางทีจะไม่ซ้ำอย่างเดียว กลับจะซ้ำอย่างมาก คิดซ้ำแล้วยังกลับมีน้ำหนักมากกว่าปีเก่า ไม่ได้เป็นทุกข์เท่าๆกันกับปีเก่า แต่กลับมีความทุกข์มากยิ่งขึ้นไปกว่า

          ดังนี้ทุกคนจะต้องตัดสินของตนเอง ด้วยตนเองว่ามันเป็นสุขหรือทุกข์มากกว่าปีเก่า คนอื่นจะมาช่วยดูมาช่วยรู้สึกหรือมาช่วยตัดสินให้ไม่ได้ ตนเองจะต้องดูจะต้องรู้สึก และตัดสินด้วยตนเอง และต้องฉลาดด้วยไม่ใช่กระทำไปอย่างความโง่

          แล้วต้องยุติธรรม คือไม่ลำเอียงเข้าข้างกิเลส แต่ต้องทำกันอย่างยุติธรรมไปตามหลักเกณฑ์ของพระธรรมถ้าว่าร้อนก็ต้องว่าร้อน ถ้าเป็นทุกข์ก็ต้องว่าเป็นทุกข์ ถ้าว่ากระวนกระวาย กระสับกระส่าย ก็ต้องยอมรับว่ากระวนกระวายและกระสับกระส่าย เดี๋ยวนี้กำลังมีความกระสับกระส่ายใหม่ๆเกิดขึ้นเหมือนกับที่มันเป็นวันปีใหม่นี้ด้วยหรือเปล่า ใช่หรือไม่?

          ขอให้ลองสังเกตดูให้ดีๆด้วยกันทุกคน ทั้งพระ ทั้งฆราวาส ไม่ใช่ว่าเป็นพระหรือเป็นบรรพชิตแล้ว จะพ้นไปจากอำนาจของเวลา เพราะยังสังเกตเห็นอยู่ว่า แม้เป็นพระเป็นพรรพชิตแล้วก็ยังอยาก ยังทะเยอทะยานไม่แพ้ฆราวาส หรือยิ่งมากไปกว่าฆราวาสก็ยังมี เวลาไม่ยกเว้นให้ว่าสำหรับเป็นพระ หรือไม่ใช่จะแกล้งให้มีฤทธิ์ มีพิษ มีเดชมากสำหรับฆราวาส โดยเฉพาะแล้วมันเหมือนกันทั้งนั้น เพราะมันขึ้นอยู่กับความอยากความอยากของฆราวาส หรือว่าของบรรพชิต มันก็ล้วนแต่เป็นความอยาก เพราะตกเป็นทาสของอารมณ์ที่ตนอยาก ดังนั้นเวลาจึงกระทำต่อบุคคลเหมือนกันทั้งที่เป็นบรรพชิตและที่เป็นฆราวาส มันจึงกัดกินแม้ผู้ที่เป็นบรรพชิตเช่นเดียวกับที่กัดกินพวกที่เป็นฆราวาส

          บรรพชิตจึงไม่ควรประมาทให้มากไปกว่าฆราวาสเพราะว่าตัวอยู่ในฐานะที่เป็นบรรพชิต ควรจะมีอะไรดีกว่างดงามกว่า น่าดูกว่า หรือสูงกว่าการเป็นฆราวาส และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการเอาชนะเวลานี้ บรรพชิตควรจะทำตัวอย่างที่ดีให้ฆราวาสดูว่าเป็นผู้ที่ชนะเวลาได้อย่างไร

          แต่ว่าเรื่องนี้ต้องเป็นสิ่งที่เข้าใจถูกต้อง ตามที่เป็นจริงเท่านั้นจึงจะสำเร็จประโยชน์ ถ้าสมภารเจ้าวัดดีแต่นอนเหมือนกับเวลาไม่มีค่า อย่างนี้จะเรียกว่าเป็นผู้ที่เอาชนะเวลาไม่ได้ กลับเป็นผู้พ่ายแพ้แก่เวลาอย่างใหญ่หลวง เพราะมีความอยากมากในการนอน หรือการแสวงหาความสุขจากการนอน อย่าได้ไปเข้าใจว่าคนที่ได้นอนมากๆนั้นเป็นคนชนะเวลา คนที่นอนมากเท่าไหร่เป็นผู้พ่ายแพ้แก่เวลามากขึ้นเท่านั้น เพราะหลงใหลในการนอน จึงได้เป็นทาสของความสุขในการนอน จึงได้เป็นทาสของเวลา คนที่ให้เวลาอำนวยความสุขในการนอนให้แก่ตนดังนี้ อย่างนี้เป็นได้ชัดว่าไม่ใช่เราจะเอาชนะเวลาได้ด้วยการนอน ยิ่งนอนมากเท่าไหร่ มันก็ยิ่งพ่ายแพ้แก่เวลามากขึ้นเท่านั้น

          เพราะฉะนั้นเราจะต้องจัดการอย่างอื่น คือจัดการที่จิตใจ จัดการตรงที่มีความอยาก หรือไม่มีความอยากอยู่ที่จิตใจ ให้จิตใจสงบรำงับปราศจากความอยาก เวลาจึงจะทำอะไรไม่ได้ จะตื่นอยู่ก็ตาม จะหลับอยู่ก็ตาม ถ้าปราศจากความอยากแล้ว ก็ย่อมจะเอาชนะเวลาได้ สิ่งที่จะต้องพินิจพิจารณาศึกษาให้มากที่สุด จึงอยู่ที่การเอาชนะความอยากนั่นเอง

ผู้ไม่ประมาท

ย่อมอยู่เหนืออำนาจของเวลา

          เมื่อเป็นดังนี้ ท่านจะเห็นได้ทันทีทีเดียวว่า ใจความสำคัญทั้งหมดของพุทธศาสนาเรา ก็คือเรื่องเอาชนะเวลาให้ได้นั่นเอง เพราะว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาทั้งหมดทั้งสิ้นนี้ ล้วนแต่เป็นไปเพื่อเอาชนะความอยากคือตัณหาหรือกิเลส ตัณหา อุปาทานเสียให้ได้ จะต้องเอาชนะกรรมเสียให้ได้ทั้งหมด ทุกอย่างทุกประการ จึงจะเรียกว่าชนะเวลา

          การเอาชนะกิเลสตัณหานั้น เห็นอยู่ชัดทีเดียวว่ามันขึ้นอยู่กับเวลาโดยตรง และถึงการเอาชนะกรรมก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่อยากอะไรเลยกรรมก็หมดไป เวลาก็หมดไป กรรมเก่าก็ไม่มี กรรมใหม่ก็ไม่มี ชาตินี้ก็ไม่มีชาติหน้าก็ไม่มี กรรมทั้งหลายหมดสิ้นไป เพราะการยกเลิกของเวลา ซึ่งยกเลิกได้ด้วยอำนาจที่กำจัดความอยากเสียได้ กำจัดความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตน ว่าของตนเสียได้ ไม่มีความอยากสิ่งใดเป็นตัวตน หรือเป็นของของตน ดังนี้ นี้คือใจความของพระพุทธศาสนาทั้งหมดซึ่งถ้านำเข้าเทียบในทางที่เกี่ยวกับเวลาแล้ว ก็พูดได้เหมือนกันว่าพุทธศาสนาสอนให้เราเอาชนะเวลาให้ได้โดยประการทั้งปวง ถ้าเราไม่อยากพูดอย่างอื่น หรือว่าเราอยากจะพูด อย่างนักคำนวณทางคณิตศาสตร์ หรือจะพูดอย่างนักวิทยาศาสตร์ หรืออะไรก็สุดแท้ เราก็ยังอาจจะพูดได้ว่า เอาชนะเวลาให้ได้เท่านั้น ก็เป็นอันหมดเรื่องของพระพุทธศาสนา

          ทีนี้คนพวกอื่นอาจจะงง เพราะว่าคนพวงอื่น ลัทธิอื่น หรือว่าศาสนาอื่นนั้น อาจจะไม่เคยคิดว่าเราจะเอาชนะเวลาได้ หรือเคยสอนกันให้เอาชนะเวลา มีแต่ให้กลัวเวลาอยู่ด้วยกันทั้งนั้น นี่แหละคือข้อที่พระพุทธศาสนาไปได้ไกล ไปได้สูงกว่าศาสนาเป็นอันมากในโลกนี้ เพราะว่าสอนให้เอาชนะเวลาให้ได้ กำจัดเวลาเสียให้หมดอำนาจ และตัวเองเป็นผู้กินเวลา ไม่ใช่เวลากินตัวเรา

          ลองคิดดูเถิดว่า จะเป็นความดี วิเศษ สูงสุดสักเท่าไร ถ้าเรามีอำนาจอยู่เหนือเวลา เราควรจะขอบคุณพระพุทธศาสนาของพระพุทธเจ้าสักเท่าไร ที่เสนอให้เราเป็นอย่างนี้ได้

          หวังว่าท่านทั้งหลายทั้งปวง จะได้นำเอาเรื่องนี้ไปพินิจพิจารณา ในฐานะเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องทั้งหมดของพระพุทธศาสนา ให้สมกับว่าวันนี้เป็นวันปีใหม่ มาฟังเทศน์กันที่หนึ่ง ปีหนึ่งฟังเทศน์ครั้งเดียวก็ยังดี ขอให้คิดดูใหม่ คำนวณดูใหม่ว่าปีหนึ่งฟังเทศน์ครั้งเดียวก็ยังดี เป็นเวลาตั้งปี ฟังเทศน์ครั้งเดียวก็ยังดี ถ้าหากว่าฟังแล้วเข้าใจ ถ้าหากว่าสามารถที่จะให้ปีใหม่นี้ผิดแผกไปจากปีเก่าได้โดยความมีความทุกข์น้อยลงนั่นเอง หรือกล่าวโดยสำนวนโวหารก็ว่า เราชนะเวลา วัน คืน เดือน ปี นี้มีได้มากขึ้นทุกที ยิ่งกว่าปีที่แล้วมา

          ปีเก่าๆที่แล้วมาเราแพ้มันเท่าไร แต่ปีต่อไปเราจะชนะเวลามากขึ้นๆทุกปี นี่แหละคือความสุขปีใหม่ที่แท้จริง ไม่ใช่ลมๆแล้งๆ อย่างที่เขียนกันในบัตรส่งความสุขปีใหม่ให้เปลืองสตางค์ ให้เปลืองสตางค์ ให้เปลืองเวลา ทั้งเป็นการพ่ายแพ้แก่เวลามากยิ่งขึ้นไปอีก

          หวังว่าท่านทั้งหลายจะได้ฟังด้วยความตั้งใจคิดตั้งใจนึกให้เข้าใจในวิธี ที่เราจะเอาชนะเวลาให้ได้ โดยนัยดังที่แสดงมา มองดูที่ตัวเอง แล้วให้รู้จักตามที่เป็นจริงว่ามันซ้ำซากเหลือเกินแล้ว มันควรจะลืมหัวลืมตากันเสียทีว่า คนเราขึ้นสวรรค์หรือลงนรกในชาติหนึ่งๆนี้มากมายนับครั้งไม่ไหว

          ฟังดูให้ดี ขณะนี้กำลังบอกแก่ท่านทั้งหลายว่าเกิดมาชาติหนึ่งนี้ ได้ตกนรกและได้ขึ้นสวรรค์ นับครั้งไม่ไหวคราวใดร้อนใจอยู่ด้วยอำนาจของเวลา คราวนั้นก็ตกนรกคราวใดสบายใจอยู่ด้วยอำนาจของเวลา คราวนั้นก็ขึ้นสวรรค์

          วันหนึ่งก็ตกนรกตั้งหลายหน ขึ้นสวรรค์ก็หลายหนเดือนหนึ่งก็ยิ่งตกนรกหลายสิบหน ขึ้นสวรรค์ตั้งหลายสิบหน ปีหนึ่งหรือหลายๆปีมันก็ยิ่งมีการตกนรกหลายครั้งหลายหมื่นครั้งหลายแสนครั้ง และก็ขึ้นสวรรค์หลายหมื่นครั้งหลายแสนครั้งเช่นเดียวกัน ทำไมจึงมัวหลับหูหลับตาไม่รู้จักว่านรกสวรรค์อยู่ที่ตรงไหนกันเสียเล่า? ถ้าได้มองเห็นสิ่งเหล่านี้อย่างถูกต้องแล้ว ไม่นานเลยก็จะรู้เท่าทันเวลา ไม่หลงใหลขึ้นสวรรค์ของเวลา ไม่เผลอตกนรกของเวลา

          คนที่ไม่ขึ้นสวรรค์ ไม่ตกนรกของเวลาอีกต่อไปนั่นแหละจึงจะเอาตัวรอดได้ เดี๋ยวนี้ความโง่มีมาก ถึงกับไปคิดว่าตายแล้วจึงจะตกนรกหรือจะขึ้นสวรรค์ ให้เขาจับใส่โลงเผาไฟไหม้หมดแล้วจึงจะไปลงนรกหรือไปขึ้นสวรรค์ ไม่รู้เลยว่าวันหนึ่งๆก็ตกนรกหรือขึ้นสวรรค์อยู่ตั้งหลายครั้งแล้ว ทำไม่จึงโง่มากถึงอย่างนั้น แล้วทำไมจึงได้ทะเยอทะยานว่าจะได้ความสุขปีใหม่ให้มากยิ่งขึ้นไปอีกทั้งๆที่ได้ๆอยู่แล้ว มีอยู่แล้ว ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นอะไร

          นี้แหละคือคนที่ตาบอดหูหนวก ตามวิสัยของปุถุชนที่เรียกว่าอยู่ในโลกนี้ แต่มองไม่เห็นโลกเลย เหมือนไส้เดือนสกปรกจมอยู่ในดิน ดำอยู่ในดิน ก็หาเห็นดินไม่เหมือนหนอนอุจจาระที่อยู่ในหลุมส้วม ก็หาได้เห็นอุจจาระนั้นไม่ แม้ที่สุดแต่ว่าฝูงปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำตาของมันก็หาได้เห็นน้ำไม่ และนกที่บินอยู่บนฟ้าในอากาศก็หาได้เห็นฟ้าไม่ นี้เพราะไม่มีความรู้

          นี้เรียกว่า แม้ว่าจะได้จมแช่อยู่กับสิ่งใด แต่ก็หาได้เห็นหรือได้รู้จักสิ่งนั้นๆไม่ แล้วจะไปรู้เรื่องของเวลาได้อย่างไรกัน ในที่สุดก็จะมัวหลับหูหลับตาจมอยู่ในดินเหมือนไส้เดือน หรือว่าจมอยู่ในคูถเหมือนหนอนทั้งหลายด้วยเหตุที่อารมณ์อันเป็นเหยื่อในโลกนี้มันล่อใจ ให้หลงติดอยู่ในเหยื่อไม่มีวันเสื่อมคลาย เป็นไปตามอำนาจของเวลาไม่มีที่สิ้นสุดอยู่ด้วยกันอย่างนี้

          คิดดูเถิดมันน่าหัวเราะสักเท่าไร น่าสงสารสักเท่าไรถ้าคนเหล่านี้จะมาเผยปากพูดว่า เราได้รับความสุขปีใหม่มันใหม่ที่ตรงไหน? มันใหม่ตามแบบตามประสาของคนหูหนวกตาบอดใช่หรือไม่? ในที่สุดก็จะสงสารตัวเองขึ้นมาบ้าง สมเพชเวทนาสงสารตัวเองนั่นแหละ เขาเรียกว่าความไม่ประมาท จงได้รู้จักความไม่ประมาทกันในลักษณะเช่นนี้เถิด จะได้มีความเป็นมนุษย์มากขึ้น คือมีจิตใจสูงขึ้นๆ เหนือการครอบงำของเวลา เป็นผู้ที่หลุดพ้นจากอำนาจของเวลาได้ ในโอกาสข้างหน้า ไม่วันหนึ่งก็วันใด โดยไม่ต้องสงสัยเลย อย่ามัวแต่ตกนรกขึ้นสวรรค์วันหนึ่งตั้งหลายๆครั้ง แล้วก็ยังไม่รู้สึกกันอยู่เช่นนี้เลยดูให้ดีเถิดว่า ถ้าเป็นทาสของความอยากเสียแล้ว นรกก็เป็นทุกข์ สวรรค์ก็เป็นทุกข์  เพราะถูกเวลาบีบคั้นด้วยกันทั้งนรกและทั้งสวรรค์ แม้ว่าการบีบคั้นจะต่างกัน มันก็ให้ความทุกข์เหมือนกัน เหมือนกับเราหัวเราะมันก็เหนื่อย เราต้องร้องไห้มันก็เหนื่อย ไม่ต้องดีใจ ไม่ต้องเสียใจ จึงจะไม่เหนื่อย ดีใจก็เหนื่อยเพราะดีใจ เสียใจก็เหนื่อยเพราะเสียใจ ไม่ดีใจไม่เสียใจจึงจะไม่เหนื่อย มันก็เหมือนกับที่ว่าไม่ต้องตกนรก ไม่ต้องขึ้นสวรรค์นั่นแหละจึงจะไม่เหนื่อย ถ้ามัวตกนรกขึ้นสวรรค์กันอยู่ มันก็ยังเหนื่อยอยู่นั่นเอง

ความสงบอย่างยิ่ง

คือการดำรงอยู่เหนือกาลเวลา

          การเหน็ดเหนื่อยระส่ำระสายนี้ ไม่เรียกว่าสันติไม่เรียกว่าความสงบระงับ ไม่เรียกว่าพระนิพพาน จงละทิ้งสิ่งเหล่านี้เสีย แล้วหันหน้าหรือบากหน้าไปสู่สิ่งที่เรียกว่าความสงบ หรือสันติ หรือนิพพาน ด้วยการเอาชนะเวลาให้ได้ คือ อย่าไปเที่ยวอยากในเหยื่ออย่างนั้นอย่างนี้นั่นเอง

          เมื่อไม่อยาก ไม่ต้องการมันแล้ว ก็ไม่มีการได้ไม่มีการเสีย ไม่มีได้ไม่มีเสียนั่นแหละประเสริฐที่สุด ถ้ายังมีได้มีเสียอยู่แล้วมันก็ยังต้องหัวเราะ ต้องร้องไห้ และยังจะต้องเหนื่อยอยู่นั่นเอง อย่าไปหวังได้หวังเสีย ที่เสียนั้นไม่เอาก็ถูกแล้ว แต่ที่ได้นั้นก็ไม่เอาจะดีกว่า เพราะว่าจะได้ไม่เหนื่อย

                   การอยู่ด้วยความสงบนั้น

                คือเราอยู่ด้วยสติปัญญา

          แม้จะมีการได้การเสียเกิดขึ้น ก็หัวเราะได้ทั้งนั้นเมื่อมีการได้เกิดขึ้นมา ก็จัดการไปตามที่ควร มีการเสียเกิดขึ้นมา ก็จัดการไปตามที่ควร แต่จิตใจของเราไม่รู้สึกว่าได้ ไม่รู้สึกว่าเสีย เราเป็นผู้ไม่มีการได้หรือการเสียอีกต่อไป เพราะเราอยู่เหนืออำนาจของเวลาดังที่กล่าวมาแล้ว นี่เหละจึงจะเอาชนะเหยื่อในโลกนี้ เอาพระนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า เวลาไม่สามารถจะฉุดกระชากเราไว้ได้ เราเป็นอิสระไปจากเวลา ไปสู่สภาวะที่อยู่เหนือโลก เหนือทุกข์โดยประการทั้งปวง เป็นผู้กัดกินซึ่งเวลา ไม่ถูกเวลากินอีกต่อไป แล้วจะมีความทุกข์ที่ตรงไหน ความทุกข์ย่อมดับไปโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุที่มีอำนาจเหนือเวลาโดยนัยที่ได้วิสัชนามา และเป็นการสมควรแก่โอกาส แก่สมัย ที่สมมติกันว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่

          ขอให้ท่านทั้งหลาย ได้จัดการกับวันปีใหม่นี้ ให้ถูกต้องตามที่เป็นจริง ให้เกิดความสุขใหม่ขึ้นมาให้ได้จริงๆ ให้เป็นปีใหม่ไม่ซ้ำปีเก่าให้ได้จริง จึงจะไม่เสียทีที่เรียกว่า มาทำบุญขึ้นปีใหม่ด้วยกันทุกคน

                   ธรรมเทศนาสมควรเวลา

                เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้