ธรรม...อันเป็นนิรันดร์ (พระครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร) อรัญวาสีภิกขุ
ต่อไปนี้จะได้กล่าวข้อธรรมอันเป็นคติสอนใจเพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้ทราบไว้เป็นแนวทางบำเพ็ญจิตเข้าสู่พระนิพพาน ดังนี้
· ยิ่งคิดยิ่งไม่รู้ ยิ่งดูยิ่งไม่เห็น ยิ่งทำยิ่งไม่เป็น ธรรมะนี้เหมือนเส้นผมบังภูเขา เมื่อหยุดทำ หยุดคิด หยุดดู แล้วธรรมสภาวะจะเกิดขึ้นเอง สำคัญอยู่ที่จิตดวงเดียว
· อันว่าความทุกข์สุขอยู่ที่ใจมิใช่หรือ ถ้าใจยึดถือเป็นทุกข์ไม่สุกใส ถ้าใจไม่ยึดถือก็สุขไม่ทุกข์ใจ อะไรๆ สำคัญอยู่ที่ใจของเราเอย
· ฉันมองดูแต่ไม่มีผู้เห็น ฉันฟังอยู่ไม่มีผู้ได้ยิน ฉันดมอยู่แต่ไม่มีผู้ใดกลิ่น ฉันกินอยู่แต่ไม่มีผู้ได้รส ฉันถูกต้องแต่ไม่มีผู้ได้สัมผัส ฉันคิดอยู่แต่ไม่มีผู้คิด ฉันทำงานทุกอย่างแต่ไม่มีผู้ทำ ฉันพูดอยู่แต่ไม่มีผู้พูด ฉันเดินอยู่แต่ไม่มีผู้เดิน ธรรมสภาวะนี้ใครได้สัมผัสรู้ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป ดังเส้นผมบังภูเขา ถ้าหมดความอยากก็หมดทุกข์
· จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย จิตที่สงบอยู่ภายในเป็นนิโรธ จิตที่รู้แจ้งอยู่เป็นมรรค
· นกบินไปในฟ้าไม่เห็นอากาศ ปลาว่ายแหวกอยู่ในน้ำไม่เห็นน้ำ ไส้เดือนกินดินไม่เห็นดิน คนอยู่กับทุกข์ไม่เห็นทุกข์
· เมื่อแบกก็หนักเมื่อวางก็เบา ไม่คิดถึงปรุงแต่งไปตามอารมณ์ทั้งห้า จิตก็สงบสบายไร้กังวล
· ไม่ห่วงข้างหลัง ไม่ห่วงข้างหน้า เฝ้าดูจิตปัจจุบัน มีสติทุกเมื่อเป็นทางนิพพาน
· ไม่คิดพยาบาทมาดร้ายใคร ไม่เป็นศัตรูกับใคร ไม่มีเวรต่อใคร ไม่โกรธใครให้อภัยทุกเมื่อ คนผู้นั้นย่อมอยู่ในโลกด้วยความสุขทุกเมื่อ ไม่คิดเบียดเบียนใคร ไม่ทำความลำบากให้แก่ใคร มีจิตรักทุกเมื่อ มีจิตรักเอ็นดูสัตว์ทั้งหลายทั่วหน้า บุคคลผู้นั้นย่อมอยู่ในโลกนี้ด้วยไม่มีภัย
· จงเฝ้าดูสังขารรูปนามนี้เกิดดับ ไม่มีหยุด ไหลไปเหมือนสายน้ำ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นอะไรสักอย่างในโลกนี้
· จงเฝ้าดูจิตให้สงบอยู่ภายใน ไม่ปรุงแต่งทั้งบุญทั้งบาป ทำจิตเป็นกลางอยู่ ไม่ติดโลกนี้โลกหน้า เป็นทางเข้าสู่นิพพาน
· จงเฝ้าดูพิจารณาสังขารขันธ์ห้านี้เสื่อมไปหายไป ใกล้ความตายมาทุกวัน แล้วเราได้ที่พึ่งโลกหน้าหรือยัง อย่ามัวประมาทอยู่
· จงตั้งจิต ทำความเพียรยินดีในภาวนาเถิด การเกิดมาเป็นทุกข์แท้หนอ
· พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์ และความดับทุกข์อย่างเดียวตลอดพระชนมายุ คนไม่เห็นทุกข์สัจจะแม้ว่าจะมีอายุได้ตั้งร้อยปีก็เหมือนตายแล้ว ไม่มีประโยชน์ คนที่เห็นความจริงทุกข์สัจจะ แม้นว่ามีอายุวันเดียวก็ประเสริฐกว่า
· จงดับความโลภ โกรธ หลงให้ได้ในปัจจุบัน เพื่อความดับไปแห่งกองทุกข์ทั้งหลายดังนี้แล
· ไม่ดูแล้วเมื่อไรจะได้เห็น ไม่ฟังแล้วเมื่อใดจะรู้ ไม่ทำแล้วเมื่อไรจะเป็น ไม่เดินแล้วเมื่อใดจะถึง จงตั้งจิตปฏิบัติวิปัสสนาตั้งแต่ในวันนี้ จะได้ไม่ต้องเป็นทุกข์อยู่ร่ำไป
· ยารักษาความโลภหมั่นให้ทาน ยารักษาความโกรธให้รักษาศีล มีจิตเมตตา ยารักษาความหลงให้หมั่นภาวนาวิปัสสนา
· จงเอาสตินำหน้าเหมือนนายเรือจับหางเสือ จงเอาปัญญาเป็นประทีปนำทาง เอาความเพียรเป็นเสบียงอาหาร เอาธรรมสติปัฏฐานเป็นแพข้ามฟาก เอาความสงบกิเลสเป็นนิพพาน
· ดูกายให้เห็นกาย ดูเวทนาให้เห็นเวทนา ดูจิตให้เห็นจิต ดูธรรมให้เห็นธรรม ไม่มี ไม่เอา ไม่ได้ ไม่เป็น ปล่อยวางทุกอย่างแล้วก็สบายใจ
· อันความสุขทางโลกมีอยู่ชั่วคราว ความสุขยืนยาวต้องเข้าหาพระธรรม ความสุขอยู่ไม่ไกลเมื่อใจเรามีสติทุกเมื่อ
· ธรรมะของจริงอยู่ในกาย กว้างศอก ยาววา หนาคืบ นี้ มีให้เราเห็นทุกๆ อย่างในกายนครนี้ ใครหมั่นพิจารณาจะได้เข้าสู่นิพพานเอย
· กินน้อยตายยาก กินมากตายง่าย ไม่กินเลยก็ตาย ให้เดินทางสายกลางเป็นทางนิพพาน
· ในตัวคนเรามีแต่ขี้ทั้งนั้น นับตั้งแต่หัวถึงเท้าเป็นขี้หมด มีขี้รังแค ขี้ตา ขี้หู ขี้มูก ขี้ฟัน ขี้เล็บ ขี้ไคล ขี้ในท้องแล้วยังไม่พอยังมีขี้ในใจอีก ขี้เกียจ ขี้กลัว ขี้ลัก ขี้หึง ขี้เอา มีแต่ขี้ทั้งนั้นนับไม่ถ้วน ให้พิจารณาให้เกิดความเบื่อหน่าย หายความรักความชังเสียเถิด แล้วจะเกิดปัญญาก็เกิดขึ้นมาเอง
· ธรรมะทุกอย่างรวมกันเป็นความไม่ประมาท ถ้าประมาทเหมือนคนตายแล้ว
· เกิดเป็นคนให้มีดีสามอย่าง หนึ่งใจดี สองพูดจาดี สามทำแต่สิ่งดีๆ แล้วเราจะได้ของดี อย่ามัวเมามาขอแต่ของดีจากพระ จงทำดีเอาคนเดียว ธรรมมะ ทุกอย่างรวมอยู่ที่จิต เจตสิก รูป นิพพาน ให้หมั่นศึกษาปฏิบัติจะได้รู้แจ้งอันว่า สัจจะความจริงนี้มีในโลก ใครรู้แจ้งพ้นโศกโลกสงสาร ใครไม่รู้แจ้งแทงปัญญาพาให้เกิดเอากำเนิดไม่รู้จบ พบทุกข์ในสงสาร ไม่ถึงพระนิพพาน นานหนักเอย
· ใจเป็นนายกายเป็นบ่าว ใช้ให้ทำทุกอย่างตามตัณหาความอยากไม่มีที่สิ้นสุด ดับตัณหาความอยากได้เป็นสุขในโลก แม่น้ำเสมอดังตัณหาไม่มี
· พระพุทธเจ้ากล่าวว่า อุปมาคนเรานี้ มีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ท่านว่าตาเราเหมือนงู หูเราเหมือนจระเข้ จมูกเราเหมือนนก ปากลิ้นเราเหมือนหมาบ้าน ตัวเราเหมือนหมาป่า ใจเราเหมือนลิง มีความจริงตามพระพุทธเจ้ากล่าวทุกอย่าง ท่านอุปมาเปรียบเทียบอย่างนั้น
· ตาเราชอบดูเข้าออกไปมาเหมือนงู หูเราชอบฟังเสียงดีๆ เย็นเหมือนจระเข้อยู่น้ำ จมูกเราชอบอากาศดีๆ เหมือนนกบินไปในอากาศ ปากลิ้นเราชอบกินนั้นกินนี่อยู่ตลอด เหมือนหมาบ้านชอบอยู่แต่ในครัวเตาไฟ ตัวเราเหมือนหมาป่าชอบนอนอยู่ที่สงัดสบายที่ในป่า ใจเราเหมือนลิงชอบคิดนั้นคิดนี่ตลอด กระโดดไปกระโดดมาไม่อยู่นิ่ง พระพุทธองค์เจ้าสอนให้เจริญสติปัฏฐานสี่ ภาวนากรรมฐานจึงจะมัดจิตใจนี้ได้ให้สงบยินดีซึ่งพระนิพพานแล
· พระพุทธเจ้าเปรียบเทียบขันธ์ห้าเรานี้ว่า รูปนี้เหมือนฟองน้ำ เวทนานี้เหมือนพยับแดด สัญญานี้เหมือนมายากล สังขารเหมือนต้นกล้วย วิญญาณเหมือนของยืมมา ไม่มีแก่นสารน่าเบื่อหน่ายที่สุดในขันธ์ห้า ไม่จีรังยั่งยืน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
· เห็นก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินก็สักแต่ว่ายิน ได้กลิ่นก็สักแต่ว่ากลิ่น ลิ้มรสก็สักแต่ว่ารส เมื่อถูกต้องกระทบทางกายก็สักแต่ว่าถูกต้อง เมื่อคิดธรรมารมณ์ก็สักว่าคิด ไม่ติดไม่ข้อง ไม่หลงไม่ไหลไปตามกระแสตัณหามานะทิฏฐิ ทุกสิ่ง ทั้งปวงเกิดดับเป็นเช่นนั้นเอง เมื่อมีสติเฝ้าดูจิตอยู่เห็นแจ้งตามเป็นจริงแล้ว ไม่น่าเอาไม่น่าเป็นอะไรสักอย่าง จิตย่อมเบื่อหน่ายรูปธาตุ นามธาตุ มีจิตยินดีซึ่งนิพพาน ไม่ต้องเป็นทุกข์อีกต่อไป เท่านี้เราก็เข้าถึงสัจะธรรมแล้ว
ท้ายที่สุดนี้เราขอเมตตาให้ทุกท่านจงเป็นผู้มีสติมีปัญญาพาตนให้พ้นทุกข์ ในวัฏฏะสงสาร ให้ถึงพระนิพพานอันเป็นอมตะสุขยิ่ง ตราบใดยังไม่ถึงพระนิพพานได้เวียนว่ายตายเกิดทุกภพทุกชาติ ขอให้ได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนา พบพ่อแม่ครูบาอาจารย์ที่ดีเป็นบัณฑิต ขอให้ได้สร้างบารมีธรรมให้เต็มเปี่ยม ให้ทำประโยชน์ตน ประโยชน์แก่ญาติแก่สังคม ประโยชน์แก่ชาวโลก ให้สำเร็จสมความปรารถนาทุกประการด้วย เทอญ เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แล สาธุ สาธุ สาธุ
· จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง การฝึกจิตดีแล้วเป็นสุขอย่างยิ่ง
· ธัมมะจารี สุขขัง เสติ ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข
ข้อธรรมทั้งหมดนี้ ข้าพเจ้าครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร ได้เขียนบันทึกเมตตาไว้
ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ขณะที่ได้เข้าจำพรรษา ณ ถ้ำมหาโพธิสัตว์ราชคฤห์ เมืองงาว จังหวัดลำปาง ถ้าหากว่าข้อธรรมตรงไหนผิดถูกขาดตกบกพร่องไป ก็ขอให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายให้อภัย ด้วยประสงค์เมตตาเผยแผ่ธรรมะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นธรรมทานสำหรับพุทธศาสนิกชนทุกคน โดยมีความตั้งใจอันเป็นมหากุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในมหามงคลวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบแปดสิบพรรษา จึงขออาราธนาบูชาธรรมได้ดังกล่าวมานี้....
ด้วยมุทิตา..ครูบาเจ้าบุญชุ่ม ญาณสํวโร
อรัญวาสีภิกขุ