คำถาม จากการบรรยาย จากธนาคารออมสิน กรุงเทพฯ

   วันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๔

    

คำถาม ข้อ ๑. จะผ่านการง่วงนอน ขณะนั่งสมาธิไปได้อย่างไร ?

คำตอบ ในครั้งพุทธกาล พระมหาโมคคัลลานะ ปลีกวิเวกไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่ หมู่บ้านกัลลวาละ แคว้นมคธ แล้วเกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนอย่างมาก จนไม่สามารถบำเพ็ญจิตตภาวนาได้ พระพุทธโคดมได้เสด็จไปสอนวิธีแก้ง่วงให้ดังนี้

๑ . เมื่อกำหนดอย่างไรแล้วเกิดอาการง่วง ต้องพิจารณาการกำหนดนั้นให้มาก

๒ . หากยังไม่หายง่วง ควรพิจารณาธรรมะที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษา จนขึ้นใจ

๓ . หากยังไม่หายง่วง ควรท่องบ่นธรรมะที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษา โดยวิธีพิสดาร

๔ . หากยังไม่หายง่วง ควรหาวัสดุแยงหูทั้งสองข้าง และเอาฝ่ามือลูบตัว

๕ . หากยังไม่หายง่วง ควรลุกขึ้นยืน เอาน้ำลูบเปลือกตา แล้วแหงนดูดวงดาวในท้องฟ้า

๖ . หากยังไม่หายง่วง ควรกำหนดเอาแสงสว่างเป็นอารมณ์ ตั้งจิตตั้งใจว่าเป็นกลางวันตลอดเวลา

๗ . หากยังไม่หายง่วง ควรเดินจงกรม สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่ฟุ้งซ่าน

๘ . หากยังไม่หายง่วง ควรลงนอนแบบสีหไสยา มีสติสัมปชัญญะ หมายใจว่าจะลุกขึ้น ครั้งตื่นแล้วต้องรีบลุกขึ้นด้วยความตั้งใจ

ในครั้งที่ผู้ตอบปัญหาไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนเช่นเดียวกัน แต่ผ่านไปได้ด้วย การอาบน้ำเย็น เอาน้ำราดศีรษะ เอาน้ำล้างหน้า ถูตัวอย่างแรง หายใจเข้าลึกๆประมาณ ๒๐ ครั้ง และเดินจงกรมโดยกำหนดว่า ไม่หายง่วงไม่เลิกเดิน ผลปรากฏว่า แก้ปัญหาเรื่องง่วงเหงาหาวนอนได้



คำถาม ข้อ ๒.
(๑) อาจารย์เปิดคอร์สปฏิบัติธรรมที่ไหนบ้างค่ะ
(๒) แนวทางการปฏิบัติ

คำตอบ
(๑) ผู้ตอบปัญหามิได้เปิดคอร์สปฏิบัติธรรม

(๒) ใช้พองหนอ - ยุบหนอ เป็นแนวทางปฏิบัติ

 



คำถาม ข้อ ๓. การที่เราอธิษฐานให้พ่อแม่เป็นสุข ถือว่าเป็นการกตัญญูหรือไม่คะ

คำตอบ เป็นความกตัญญู



คำถาม ข้อ ๔. การแก้กรรมทำได้หรือไม่คะ

คำตอบ แก้กรรมได้หรือถูกตามที่เขาบอก แต่ผู้ที่เข้าถึงอรหัตตผล อาทิ พระพุทธโคดม พระมหาโมคคัลลานะ พระองคุลีมาล อิสิทาสีภิกษุณี อุบลวรรณษภิกษุณี ฆราวาสพาหิยะ ฯลฯ ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังแก้กรรมไม่ได้ ยังต้องชดใช้หนี้กรรมเก่า ตามที่ตนเคยประพฤติอกุศลกรรมไว้



คำถาม ข้อ ๕. การวิรัติศีล การเจตนารักษาศีล จำเป็นต้องเปล่งวาจาหรือไม่

คำตอบ  มนุษย์ทำกรรมได้สามทางคือ มโนกรรม วจีกรรม และกายกรรม ผู้ใดทำกรรมให้ถึงพร้อมทั้งสามทาง เมื่อกรรมให้ผลเป็นวิบาก จะเป็นวิบากที่ถูกตรงและชัดเจนกว่าทำกรรมเพียงสองทาง ดังนั้นการงดเว้น (วิรัติ) หรือเจตนารักษาศีลจึงจำเป็นต้องทำให้ครบทั้งสามทาง สำหรับผู้มีเจตนาได้อานิสงส์ที่ถูกตรงและชัดเจน ตรงกันข้าม ผู้ไม่มีเจตนารับผลที่ชัดเจน จึงไม่จำเป็นต้องทำกรรมให้ครบทั้งสามทาง



คำถาม
ข้อ ๖.
(๑) การทวงหนี้ที่เขานำเงินของเราไป ถือเป็นการเบียดเบียนไหม
(๒) การกำจัดปลวกที่มาขึ้นบ้านเรา จะทำอย่างไรจึงจะไม่บาป ขอทราบผลกรรมของผู้จ้างและผู้รับจ้าง

คำตอบ
(๑) การทวงหนี้ไม่ถือว่าเป็นการเบียดเบียน แต่เป็นการสืบต่อหนี้เวรกรรมให้ผูกพันกันและกันต่อไป ด้วยเหตุนี้พระพุทธโคดมจึงได้ตรัสว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร”

(๒) คำว่า “กำจัด” หมายถึง ขจัด ขับไล่ หรือทำให้สิ้นไป ดังนั้นการกำจัดปลวกโดยไม่มีเจตนาฆ่าให้ตาย หรือไม่มีเจตนาเบียดเบียน จึงไม่ถือว่าเป็นบาป แต่หากมีเจตนาเป็นไปในทางตรงข้าม ถือว่าเป็นบาป บาปกรรมที่จะเกิดกับผู้จ้างและผู้รับจ้าง คือทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยและมีอายุสั้น



คำถาม ข้อ ๗.
(๑) สามีชอบเล่นไพ่กับเพื่อนๆ พอตักเตือนก็ให้เหตุผลว่า เป็นการฝึกสมอง ไม่ทราบว่าจะมีวิธีพูดหรือทำอย่างไรให้สามีเลิกเล่นไพ่ได้ค่ะ

(๒) ในบางครั้งพอตักเตือนไป ก็จะมาว่าเรา ไม่ให้ไปยุ่ง เพราะเป็นงานอดิเรกของเขาค่ะ
ปล . สามีชอบดู youtube ที่อาจารย์ไปบรรยายในที่ต่างๆมากค่ะ

คำตอบ
(๑) ประสงค์ให้สามีเลิกเล่นไพ่ ผู้เป็นภรรยาต้องพัฒนาตัวเองให้มีคุณธรรมสูงจนกระทั่งสามีเกิดความศรัทธาในคุณธรรมของภรรยาได้เมื่อใด โอกาสที่สามีจะเลิกเล่นไพ่จึงจะเกิดขึ้นได้

   พระพุทธโคดม เป็นผู้รู้แจ้ง และรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ในห้วงเวลา ๔๕ ปีที่เผยแพร่ธรรมวินัยในพุทธศาสนา พระองค์มิได้เคยเข้าไปก้าวล่วงในชีวิตของใครผู้ใด ทำได้เพียงผู้ชี้ทางเจริญและทางเสื่อมของชีวิต ผู้เป็นเจ้าของชีวิตต้องบริหารจัดการชีวิตด้วยตัวเอง

(๒) สามีพูดถูกแล้วที่ไม่ให้ภรรยาเข้าไปยุ่งกับเรื่องของเขา เพราะบุคคลมีชีวิตเป็นของตัวเอง จึงต้องบริหารจัดการชีวิตด้วยตัวเอง
  


คำถาม ข้อ ๘. ซื้อสลากกินรัฐบาลบาปไหมครับ เพราะมีสลากกาชาดด้วยครับ

คำตอบ บาป เพราะการกระทำเช่นนั้นเป็นเหตุแห่งความวิบัติของโภคทรัพย์ (อบายมุข) ส่วนเรื่องการซื้อสลากกาชาด หากมีเจตนาถูกรางวัลแฝงอยู่ ก็ถือว่าเป็นอบายมุข



คำถาม ข้อ ๙.
(๑) เด็กอดอยากที่เอธิโอเปีย ถือเป็นภพภูมิใด
(๒) เปรตและเทวดา เราต่างมองไม่เห็น แล้วอยู่กันอย่างไร

คำตอบ
(๑) เขาอยู่ในภพมนุษย์ แต่เป็นประเภท มนุสฺสเปโต

(๒) เปรต เป็นสัตว์กายทิพย์ มีชีวิตอยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน จากความหิวกระหาย (ไม่มีอาหารกิน ไม่มีน้ำให้ดื่ม) ยกเว้นเปรตปรทัตตูปชีวี สามารถรับส่วนบุญที่ญาติมิตรของตนอุทิศให้

เทวดา เป็นสัตว์ที่มีรูปนามเป็นทิพย์ มีความสุขจากการเสพกามที่เป็นทิพย์ มีทั้งที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน (ภุมมเทวดา) อาศัยอยู่บนต้นไม้ (รุกขเทวดา) และลอยอยู่ในอากาศ (อากาศเทวดา)



คำถาม ข้อ ๑๐. กรณีก่อนสวดมนต์ภาวนาหรือทำทานทุกครั้ง เราอัญเชิญเทวดาประจำตัว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ บิดามารดา ญาติผู้ล่วงลับ เจ้ากรรมนายเวร ให้มาร่วมอนุโมทนาบุญ เป็นการกระทำที่ถูกหรือไม่คะ

คำตอบ ผู้มีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) เห็นว่าการกระทำในลักษณะนั้นเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ตรงกันข้าม ผู้มีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องงมงาย



คำถาม ข้อ ๑๑.

(๑) การที่เราไม่ระลึกถึงสิ่งที่ผ่านมาแล้วในอดีต ไม่คาดหวังสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นในอนาคต มีสติอยู่แต่กับปัจจุบัน ใช้ชีวิตในแต่ละวันให้ดีที่สุด จัดเป็นสัมมาทิฏฐิหรือไม่ครับ แต่ถ้าเราทำอดีตมาเป็นบทเรียน และวางแผนล่วงหน้าให้กับชีวิตได้เดินต่อไป จะถือว่าใช้ได้หรือไม่ครับ

(๒) วิจิกิจฉา สักกายทิฏฐิ และสีลัพพตปรามาส ควรละตัวใดก่อนครับ และต้องใช้วิปัสสนากรรมฐานในการละเท่านั้น ใช่หรือไม่ครับ

(๓) ปกติจิตจะนึกถึงบทเพลงต่างๆ ต่อมาเรามีสติรู้ทันว่ากำลังนึกถึงบทเพลง แล้วหันมานึกถึงบทสวดพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณแทน จะถูกต้องหรือไม่ครับ และจัดเป็นการเจริญสมถกรรมฐานหรือไม่ครับ

(๔) ขณะที่เรากำลังเจริญสมถกรรมฐาน แล้วจิตนึกถึงบทสวดมนต์ที่เพิ่งจะสวดจบไป แทนที่จะจดจ่ออยู่กับอาการยุบหนอ - พองหนอที่หน้าท้อง แปลว่าจิตเรายังไม่มีสติใช่หรือไม่ครับ และเราจะทราบได้อย่างไรครับ ว่าเราเจริญสมถภาวนาจนถึงขั้นได้ฌาน และวิตก วิจาร คืออะไรครับ

คำตอบ
(๑) สัมมาทิฏฐิ และใช้ได้ครับ

(๒) ต้องละสักกายทิฏฐิให้หมดไปจากใจให้ได้ก่อน แล้วจึงจะละวิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส ให้หมดไปตามลำดับ ในการละกิเลสที่ผูกมัดใจ (สังโยชน์) มิได้ใช้วิปัสสนากรรมฐาน แต่ใช้ปัญญาเห็นแจ้งที่เกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน มาเป็นตัวกำจัดกิเลสดังกล่าว ให้หมดไปจากใจ

(๓) ถูกต้อง แต่สติมาค่อนข้างช้าไป การกระทำในลักษณะนี้ถือว่าเป็นการเจริญสมถกรรมฐานได้

(๔) เมื่อสวดมนต์จบแล้ว จึงมาบริกรรมพองหนอ - ยุบหนอ แล้วจิตหวนกลับไประลึกถึงบทสวดมนต์อีก แสดงว่าขณะบริกรรมฯ จิตขาดสติ

   ผู้ใดเจริญสมถภาวนาจนจิตเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิระดับฌานได้แล้ว จิตย่อมไม่มีกิเลสเข้ามาขัดขวางมิให้คุณธรรมก้าวหน้า (นิวรณ์ ๕) หดหู่ซึมเซา จิตไม่ฟุ้งซ่านรำคาญ และจิตไม่เกิดความลังเลสงสัย จิตคงมีแต่อารมณ์ของรูปฌานหรืออารมณ์อรูปฌานเท่านั้นที่เกิดขึ้น

   คำว่า “วิตก” หมายถึง ความตรึก ความคิด ร้อนใจ กังวล ส่วนคำว่า “วิจารหรือวิจารณ์” หมายถึง ติชม ตรวจตรา ใคร่ครวญ สืบค้น



คำถาม ข้อ ๑๒.

(๑) จิตที่พัฒนาดีแล้วประกอบด้วยอะไร ? (มีอะไรเป็นปัจจัย)

(๒) ปัญญาเห็นถูกตามธรรมคืออย่างไร ?

คำตอบ
(๑) จิตที่พัฒนาดีแล้ว หมายถึง จิตที่กำลังของสติกล้าแข็ง และมีกำลังของปัญญาเห็นถูกตามธรรมกล้าแข็ง .

(๒) ปัญญาเห็นถูกตามธรรม หมายถึง จิตที่รู้ เห็น เข้าใจ ความจริงหรือเหตุผล ที่เป็นความจริงแท้ (ปรมัตถสัจจะ) เช่น รู้ เห็น เข้าใจว่า ทำดีได้ ทำชั่วได้ชั่ว มรรค ๘ เป็นหนทางสู่ความพ้นทุกข์ ตราบใดที่จิตมีกิเลสอยู่ภายใน สัตว์บุคคลยังต้องเวียนตาย - เวียนเกิดในวัฏฏะ ฯลฯ



คำถาม ข้อ ๑๓. ลูกเห็นภาพวิญญาณ ชายบ้างหญิงบ้าง เกิดจากอะไร ? และจะทำอย่างไรที่จะไม่ให้เห็น

คำตอบ เกิดจากปฏิกิริยาร่วมระหว่าง สัญญาที่เก็บบันทึกไว้ในดวงจิต กับความถี่คลื่นจิตอยู่ในสภาวะที่ทำให้เกิดเป็นภาพ (นิมิต) ขึ้น

ผู้ใดปรารถนาไม่ให้เห็นนิมิต สามารถทำได้สองทางคือ พัฒนาจิตให้มีกำลังสติกล้าแข็ง หรือเมื่อนิมิตเกิดขึ้นแล้ว ต้องอุทิศบุญกุศลให้กับสัตว์ (รูปนาม) ที่ปรากฏในนิมิต



คำถาม ข้อ ๑๔. การสร้างกุศล แล้วเราจะอุทิศกุศลให้ญาติ เจ้ากรรมนายเวร เทวดา สรรพสัตว์ทั้งหลายเช่นนี้ การอุทิศกุศลให้เทวดาตามที่บรรยาย ก็ไม่ต้องอุทิศให้ใช่ไหมคะ
   

คำตอบ ไม่ใช่ครับ เทวดาที่จิตของเราสามารถสื่อถึงได้ควรต้องอุทิศบุญกุศลให้ แม้เทวดาไม่ต้องการบุญเพราะเขาเสวยบุญอยู่แล้ว แต่ผู้อุทิศบุญจะได้ความเป็นเพื่อนจากเทวดาที่อยู่ต่างมิติ