คำถาม จากการบรรยาย ชมรมสารธรรมล้านนา ส่วนที่เหลือ

   วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๔

    

คำถาม ข้อ ๑. ดิฉันปฏิบัติธรรมเป็นบางเวลา มีอยู่วันหนึ่งเกิดอารมณ์โมโห จึงทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ทำให้เข้าใจถึงบุคคลที่มีอารมณ์โมโหมาก และอาจทำให้ฆ่าบุคคลอื่นได้ จะทำอย่างไร ? จึงจะยับยั้ง พฤติกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากโมโห และควรปฏิบัติธรรมด้วยวิธีใด เช่น เดินจงกรม นั่งสมาธิ เพื่อให้ถูกกับจริตของตัวเอง

คำตอบ การแก้ไขอารมณ์โมโห ทำได้ ๒ วิธีคือ

(๑) ให้อภัยเป็นทาน ผู้ใดให้อภัยในทุกสิ่งที่เป็นเหตุขัดใจได้แล้ว ความเมตตา คือความรักความปรารถนาให้ผู้อื่นได้ประโยชน์และมีความสุขย่อมเกิดขึ้น และถูกเก็บสั่งสมเป็นเมตตาบารมี อยู่ในจิตวิญญาณของผู้ให้อภัย ดังที่พระโพธิสัตว์ ผู้บำเพ็ญเมตตาบารมี ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

(๒) พัฒนาจิตตนเอง (วิปัสสนาภาวนา) จนเข้าถึงปัญญาเห็นแจ้งได้แล้ว นำปัญญาที่พัฒนาได้ไปพิจารณาขันธ์ ๕ จนเห็นว่าแต่ละขันธ์ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ดับไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อแต่ละขันธ์เข้าสู่ความเป็นอนัตตา แต่ละขันธ์จึงมิใช่ตัวมิใช่ตน อัตตา คือความเห็นแก่ตัว ย่อมดับตามไปด้วยเป็นอัตโนมัติ เมื่ออัตตาดับ ความขัดใจอันเนื่องมาจากสิ่งกระทบไม่ดี ย่อมไม่สามารถทำให้เกิดเป็นอารมณ์ใดๆได้ อารมณ์โมโหย่อมไม่เกิดขึ้นกับจิตที่หมดอัตตา วิธีนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาอารมณ์โมโหได้อย่างถูกตรงที่สุด

ขณะจิตกำลังอยู่ในอารมณ์โมโห ย่อมไม่สามารถพัฒนาจิตให้เป็นสมาธิได้ เมื่อใดที่อารมณ์โมโหดับไปแล้ว จึงจะสามารถพัฒนาจิต แล้วดับอัตตาได้ ด้วยการนำเององค์บริกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งของกสิณ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ หรืออรูป ๔ มาพัฒนาจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ และพัฒนาจิต ( วิปัสสนาภาวนา ) ไปสู่การเกิดปัญญาเห็นแจ้งได้



คำถาม ข้อ ๒. บอกและสอนลูกเรื่องธรรมะ อยากให้เห็นธรรม ลูกไม่ค่อยเชื่อฟัง จะทำอย่างไร ? ทำใจหรือพยายามสอนต่อไป ลูกดูแม่เป็นคนน่าเบื่อเหลือเกิน … . ขอบคุณค่ะ

คำตอบ ตราบใดที่ความศรัทธาในธรรมะของลูกยังไม่เกิด ลูกย่อมไม่เชื่อฟังและไม่ประพฤติตามคำสอนของแม่ ดังนั้นความศรัทธาจะเกิดขึ้นกับลูกได้ แม่ต้องพัฒนาตัวเองให้มีธรรมะคุ้มครองใจให้ได้ก่อน แล้วลูกจึงจะเชื่อและทำตามคำสอนในเรื่องของธรรมะ



คำถาม ข้อ ๓. เวลานั่งสมาธิ รู้สึกเหมือนอยากร้องไห้ บางครั้งร้องจริงๆบ้าง บางครั้งน้ำตาไหลบ้าง สะอื้นแห้งๆบ้าง เมื่อดูจิต รู้สึกถึงความเศร้าหมอง สักระยะก็ดับไป เป็นอยู่บ่อย ควรปฏิบัติต่ออย่างไรคะ … . กราบขอบพระคุณ

คำตอบ ผู้ปฏิบัติธรรมบางคน เมื่อจิตเริ่มตั้งมั่นเป็นสมาธิ อาการตามที่บอกเล่าไปย่อมเกิดขึ้น แล้วทำให้จิตเคลื่อนออกไปจากองค์บริกรรมเดิมที่ทำอยู่ อย่างนี้เรียกว่า “สติหลุด” วิธีแก้ปัญหาคือ นำอาการที่เกิดขึ้นมาบริกรรม อาทิ อยากร้องไห้ ต้องบริกรรมว่า “อยากร้องไห้หนอๆๆๆๆ” เกิดอาการน้ำตาไหล ต้องบริกรรมว่า “น้ำตาไหลหนอๆๆๆๆ” เกิดอาการสะอื้น ต้องบริกรรมว่า “สะอื้นหนอๆๆๆๆ” ฯลฯ ไปเรื่อยๆจนกว่าอาการดังกล่าวดับไป แล้วดึงจิตกลับมาสู่องค์ภาวนาเดิม

ผู้ใดมีศีล มีสัจจะและมีความเพียร (ไม่ล้มเลิกการบริกรรม) ย่อมประสบกับความสำเร็จในการแก้ปัญหาที่กล่าวมา    



คำถาม ข้อ ๔. เนื่องจากปัจจุบัน มักจะมีบุคคลออกมาเรี่ยไร ชักชวนให้ทำบุญโดยมักจะอ้างว่า จะนำปัจจัยไปบูรณะหรือก่อสร้าง วัดวาอารามหรือองค์พระ

จึงอยากทราบว่า จะทำบุญอย่างไร จึงจะเป็นการทำบุญด้วยปัญญา และให้ทานอย่างไรจึงจะเกิดผลบุญ

คำตอบ การบริจาคทรัพย์ด้วยใจศรัทธาที่มีเหตุผลรองรับว่า ผู้ที่มาเรี่ยไร ได้นำปัจจัยไปทำกิจกรรมถูกตรงตามที่กล่าวอ้างจริง อย่างนี้จึงจะเรียกว่า ทำบุญด้วยปัญญา

การให้ทานกับปฏิคาหก (ผู้รับ) และผู้รับทานต้องไม่นำทานที่ได้ไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ผิดศีล และผิดธรรม การให้ทานในลักษณะนี้ จึงจะเกิดเกิดผลเป็นบุญ



คำถาม ข้อ ๕. การที่เราเชื่อว่า ถ้าทำบุญเยอะๆ (ทำด้วยปัจจัยคราวละมากๆ) แล้วจะรวยยิ่งๆขึ้นไป อย่างนี้ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ หรือทำบุญแล้วจะถูกหวย เช่นนี้ถือเป็นมิจฉาทิฏฐิหรือไม่ อย่างไร (ขอคำอธิบายเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิด้วยค่ะ)

คำตอบ ที่ถามไปทั้งสองแนวทาง ถือว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

คำว่า “สัมมาทิฏฐิ” หมายถึง ความเห็นถูก ซึ่งเป็นตัวปัญญา ผู้มีปัญญาเห็นถูกทางโลก ส่องนำทางการทำกิจกรรม แล้วไม่ทำให้ผิดกฎหมาย ถือว่าเป็นสัมมาทิฏฐิในทางโลก ตัวอย่างเช่น การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ ส่งขายตลาดเป็นสัมมาทิฏฐิในทางโลก ตรงกันข้าม ผู้มีความเห็นถูกตามธรรม เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะการเลี้ยงกุ้งฯ ส่งขายเป็นการประพฤติที่ผิดศีล แต่การพัฒนาจิตให้เกิดสติ แล้วนำเอาสติมาพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ หรือการพัฒนาจิตตามแนวทางมรรคมีองค์ ๘ ถือว่าเป็นสัมมาทิฏฐิในทางธรรม เพราะประพฤติแล้วไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีล และไม่ผิดธรรม



คำถาม ข้อ ๗. คนแก่อยู่กับลูกหลานอึดอัด จะแก้ไขโดยไปอยู่ที่อื่น เช่น อยู่กับเพื่อนโดยแบ่งเช่าเขาอยู่ เพราะใกล้ตลาดมีถนน รถไปมาได้ หรืออยู่ในสวนคนเดียว … ขอบคุณคะ

คำตอบ ผู้รู้รู้ว่า แต่ละคนมีชีวิตเป็นของตัวเอง ผู้รู้จึงเลือกทำชีวิตด้วยตัวเอง และไม่เข้าไปก้าวล่วงในชีวิตของผู้อื่น ฉะนั้นพึงเลือกดำเนินชีวิตตามที่ชอบเถิด



คำถาม ข้อ ๘. ช่วงก่อนผมจะอยู่กับลมและความชุ่มชื่น แต่ตอนนี้มันเฉย ไม่รู้ว่าเฉยอะไร มันเฉยๆอยู่ นั่งก็เฉย เดินก็เฉย นอนก็เฉย (ถ้าเรากำหนดสติ)

ถึงจะเฉย แต่มันก็ยังมีความคิดอยู่นะครับ ทีนี้ถ้าเราส่งจิตไปดูลม มันก็จะมีอาการชุ่มชื่นอีก และถ้าย้อนมาดูจิต มันก็จะเฉยๆ มันเป็นอย่างนี้ครับ จะทำอย่างไรต่อครับ … . ขอบคุณครับ

คำตอบ ผู้รู้จริง เห็นสิ่งที่เข้ากระทบจิต (ลม) ดับไปตามกฎไตรลักษณ์ แล้วไม่ยึดเอาสิ่งที่เข้ากระทบจิตมาปรุงอารมณ์ จิตย่อมเกิดอารมณ์ว่าง (อุเบกขา) แล้วตัวรู้ คือปัญญาเห็นถูกตามธรรมย่อมเกิดขึ้น ตรงกันข้าม ผู้ใดเอาจิตไปรับสิ่งกระทบ (ลม) มาปรุงเป็นอารมณ์ชุ่มชื่น จิตย่อมเศร้าหมองด้วยมีกิเลสปรุงแต่ง ซึ่งคนรู้ไม่จริง (คนโง่) นิยมประพฤติเช่นนี้ ฉะนั้นผู้ถามปัญหาประสงค์จะเป็นคนประเภทไหน จงเลือกเอาตามที่ชอบเถิด



คำถาม ข้อ ๙. นั่งสมาธิ ๓๐ นาที บางทีเผลองีบไป ๑๐ นาที เป็นค่อนข้างบ่อย ทำอย่างไรดีคะ

คำตอบ ปฏิบัติธรรมแล้วงีบหลับไป เป็นเพราะร่างกายต้องการพักผ่อน ฉะนั้นจงปล่อยให้งีบไปเถิด ทุกครั้งที่ตื่นขึ้นและนึกได้ รวมถึงทุกครั้งที่ว่างจากงานที่ทำให้กับสังคม ( งานภายนอก ) ต้องพัฒนาจิตอยู่เสมอ หากมีสัจจะและประพฤติตามคำแนะนำนี้ การพัฒนาจิตย่อมเกิดมรรคผลก้าวหน้าได้



คำถาม ข้อ ๑๐. เวลานั่งสมาธิ บางครั้งเห็นภาพลางเลือน หรือบางครั้งเห็นแสงสว่างชัดบ้าง หรือสว่างมากบ้างน้อยบ้าง และบางครั้งยังได้ยินเสียงพูดบอก ดิฉันอยากจะรู้ว่า มันคืออะไรคะ ? เชื่อได้หรือเปล่าคะ ?

คำตอบ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ มาร (กิเลสมาร) เข้ามาขัดขวางการพัฒนาจิตมิให้เจริญก้าวหน้า ผู้รู้ไม่เอาจิตเข้าไปผูกติดกับเครื่องล่อ (การเห็น แสงสว่างและเสียงพูด) ของมาร ด้วยการกำหนดว่า “เห็นหนอๆๆๆๆ” หรือกำหนดว่า “สว่างหนอๆๆๆๆ” หรือกำหนดว่า “ได้ยินหนอๆๆๆๆ” ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเครื่องล่อของมารดับไป แล้วดึงจิตกลับมาสู่องค์บริกรรมเดิม ผู้ใดมีสัจจะ มีความเพียร ประพฤติได้ถูกตรงตามคำชี้แนะ โอกาสนำจิตให้พ้นไปจากบ่วงของมาร ย่อมเกิดขึ้นได้



คำถาม ข้อ ๑๑. กราบเรียนท่านอาจารย์ ทั้งสองคำที่กล่าวว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ และวัตถุมงคลต่างๆ (แม้ชูชกก็เป็นวัตถุมงคล) มีความหมายอย่างไร ? …. ขอบคุณมาก

คำตอบ คำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” หมายถึง ความจริงบางอย่างที่เราไม่รู้ หรือมีปัญญาเข้าไม่ถึงความเป็นจริงเช่นนั้น ไม่ควรดูหมิ่น (ลบหลู่) ว่าไม่เป็นจริง เพราะหากเราไปลบหลู่แล้ว เมื่อกรรมไม่ดีให้ผล ย่อมให้ผลเป็นไปในทางที่ไม่ดี (อกุศลวิบาก) ซึ่งผู้ลบหลู่ต้องเป็นผู้รับผลที่ไม่ดีนั้น

คำว่า “วัตถุมงคล” เกิดขึ้นด้วยความเชื่อของบุคคลผู้มีความเห็นผิดว่า วัตถุเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความสุข ความเจริญ อาทิ คนเห็นผิดว่า ชูชกเป็นวัตถุมงคล ทั้งๆที่ชูชกประพฤติเบียดเบียนพระโพธิสัตว์ (พระเวสสันดร) ต่อมาได้มาเกิดอยู่ในวรรณะกษัตริย์ และบวชเป็นภิกษุอยู่ในครั้งพุทธกาล ที่มีชื่อว่า พระเทวฑัต ยังได้ประพฤติเบียดเบียนพระพุทธโคดม จนถูกธรณีสูบ ลงไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ใน อเวจีมหานรก ดังนั้นการเอารูปชูชกมาทำเป็นวัตถุมงคลให้ผู้มีความเห็นผิด นำไปกราบไหว้บูชา จึงมิได้เป็นมงคลแต่ประการใด ตรงกันข้าม ผู้รู้จริงแท้และมีความเป็นสัพพัญญูได้บอกมงคล ๓๘ ประการ (มงคลสูตร) แก่เทวดาให้นำไปประพฤติ ประพฤติได้แล้วย่อมนำความสุขความเจริญมาสู่ชีวิตของผู้ประพฤติ



คำถาม ข้อ ๑๒. ผมเข้าใจถูกรึเปล่าครับว่า พุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ มีวิธีการหาคำตอบของปัญหา โดยใช้หลักเหตุและผลเหมือนกัน แต่วิทยาศาสตร์นั้นใช้การพัฒนาอุปกรณ์ เพื่อที่จะใช้ในการสังเกตและทดลอง แต่วิธีการทางพุทธศาสนา ใช้วิธีการพัฒนาจิตของผู้สังเกต

ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงดีกว่า ในแง่ที่สามารถทำให้คนอื่นรู้ได้ง่าย แค่มีเครื่องมือช่วย แต่พุทธศาสนาดีกว่าตรงที่รู้ได้ถูกต้องถูกตรงกว่า

คำตอบ ผู้ถามปัญหาเข้าใจเกือบถูก วิทยาศาสตร์ยอมรับความจริง (เหตุผล) ชั่วคราว ที่ระบบประสาทสามารถสัมผัสได้ หรือเครื่องมือที่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สร้างขึ้น เพื่อใช้ตรวจวัดความจริงชั่วคราว (สภาวสัจจะ) และรับรู้ด้วยประสาทสัมผัสได้ ตรงกันข้าม พุทธศาสนายอมรับความจริงแท้ (ปรมัตถสัจจะ) ที่จิตของผู้พัฒนาดีแล้วเท่านั้น สามารถสัมผัสได้



คำถาม ข้อ ๑๓. ที่อาจารย์เคยตอบปัญหาในเว็บไซต์กัลยาณธรรมที่ว่า ทำบุญให้ทำด้วยปัญญามากกว่าทำด้วยศรัทธา ขอความกรุณาช่วยขยายความด้วย

คำตอบ ทำบุญด้วยปัญญา หมายถึง การทำบุญต้องมีเหตุผลสนับสนุน ส่วนการทำบุญด้วยศรัทธา หมายถึง การทำบุญด้วยอารมณ์อยากทำ โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุน



คำถาม ข้อ ๑๔. เรียน ดร . สนอง ที่เคารพ หนูอยากทราบว่า ถ้าเราเป็นห่วงพ่อ อยากให้พ่อมีสัมมาทิฏฐิให้เลิกเหล้า ( พ่อหไม่เชื่อเรื่องตายแล้วเกิดใหม่ ) และพ่อชอบดื่มเหล้ามาก เราควรจะทำยังไงดี ปล่อยวาง ? หรือควรจะทำยังไง ปฏิบัติตัวอย่างไรกับพ่อ หรือควรห่วงตัวเองก่อน ( แต่ก็อยากให้พ่อมีความเห็นถูกต้อง ทำยังไงดีคะ )
   

คำตอบ ผู้เป็นลูกต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นผู้มีธรรมะ คุ้มครองใจให้ได้ทุกขณะตื่น เมื่อใดที่พ่อหันมาศรัทธาในความดีของลูกแล้ว พ่อจึงจะยอมเชื่อ และทำตามคำแนะนำของลูก ตรงกันข้าม หากพ่อยังไม่มีศรัทธาในตัวลูก ย่อมไม่ประพฤติตามคำแนะนำที่ลูกบอก ผู้เป็นลูกต้องปล่อยวาง เพราะบุคคลมีชีวิตเป็นของตัวเอง ผู้รู้ย่อมไม่เข้าไปก้าวล่วงในชีวิตของผู้อื่น



คำถาม ข้อ ๑๕. เรียนท่าน อ . สนอง ดิฉันมีปัญหาแก้ไม่ได้ ทั้งๆที่รู้วิธีดับ แต่ทำไม่ได้ซักที ปัญหามีอยู่ว่า ปฏิบัติสมาธิหรือเวลานอน จิตไม่สงบฟุ้งซ่าน บางทีเหมือนพูดในใจกับตัวเอง เรื่องโน้นเรื่องนี้ ไม่มีความสุขเลย บอกตนเองให้หยุดคิด ก็ไม่ยอมฟังเลย ขอเมตตาท่านอาจารย์ช่วยด้วยค่ะ

คำตอบ เรื่องที่บอกเล่าไปมีต้นเหตุมาจากจิตขาดสติ ผู้ใดประพฤติตนมีศีลคุมใจ มีสัจจะ และมีความเพียรในการเจริญสมถภาวนาอยู่ทุกขณะตื่นที่ระลึกได้ ทุกขณะตื่นที่ว่างจากการทำงานของสังคม โอกาสปัญหาจิตฟุ้งซ่านย่อมหมดไปได้



คำถาม ข้อ ๑๖. การทานเนื้อสัตว์ผิดศีลข้อ ๑ ไหมคะ

คำตอบ การทานเนื้อสัตว์ไม่ผิดศีลข้อที่ ๑ ต่อเมื่อกายและวาจา ต้องเว้นประพฤติฆ่าสัตว์ เพื่อเอาเนื้อมาบริโภค



คำถาม ข้อ ๑๗. เรียนอาจารย์ค่ะ

(๑) เวลานั่งสมาธิ ถ้าสงบนิ่ง มันจะลงติดไปที่นิ่งหากนั่งนานๆ บางครั้งปรากฏเป็นสีขาว บางครั้งปรากฏเป็นสีม่วง สงบนิ่งไปเรื่อยๆ ก็ดูไปเรื่อยๆ ถูกไหมคะ

(๒) พระโสดาบัน ต้องมาเกิดอีก ๗ ชาติ แล้วถ้าชาติที่มาเกิดใหม่ ทำกรรมดีบ้าง ทำกรรมไม่ดีบ้าง ไม่มีผลหรือคะ

ไม่ได้ใกล้ชิดกับแม่ เพราะเขาทิ้งเราไป พอเราโตขึ้นได้โทรศัพท์คุยกันและขออโหสิกรรมกัน โดยไม่ได้เจอกัน มีผลไหมคะ

คำตอบ ( ๑ ) ไม่ถูก เมื่อจิตนิ่งแล้ว ปรากฏเป็นสีขาวหรือสีม่วงเกิดขึ้น ต้องกำหนดว่า “ขาวหนอๆๆๆๆ” หรือกำหนดว่า “ม่วงหนอๆๆๆๆ” ไปเรื่อยๆ จนกว่าสีดังกล่าวจะอันตรธานหายไป

( ๒ ) เมื่อใดที่จิตบรรลุสภาวธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว เมื่อไปเกิดใหม่ย่อมไม่ประพฤติกรรมชั่วที่ตนละได้แล้ว

การโทรศัพท์ไปขออโหสิกรรม และฝ่ายที่ถูกร้องขอ ได้ให้อภัยแล้ว กรรมที่เคยทำไว้ต่อกันย่อมถูกยกเลิก



คำถาม ข้อ ๑๘. สุนัขที่เลี้ยงไว้ถูกรถชนตาย เนื่องจากไม่รู้ว่าสุนัขยังไม่ได้เข้าบ้าน แต่ได้ปิดประตูรั้วบ้านไปแล้ว กรณีแบบนี้ถือว่าเราบาปไหมคะ คือทุกวันนี้คิดโทษตัวเองว่า หากเราเช็คให้รอบคอบก่อน สุนัขคงไม่ตาย แล้วเราจะทำบุญให้สุนัขได้ไหมคะ

คำตอบ หากเจ้าเของสุนัขมีความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ถือว่าเจ้าของสุนัขยังมีบาป ส่วนเรื่องความประสงค์จะทำบุญ แล้วอุทิศบุญให้กับสุนัขที่ตายไป ย่อมทำได้ แต่จิตวิญญาณของสุนัขจะได้รับบุญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความลงตัวของปัจจัยทั้งสามคือ มีผู้อุทิศบุญ มีบุญที่อุทิศ และมีผู้มาอนุโมทนาบุญ



คำถาม ข้อ ๑๙. คนๆหนึ่ง จะรับวิบากกรรมได้ด้วยปัจจัยใด ระหว่าง

(๑) เป็นผู้กระทำกรรมเอง โดยเจตนาต่อบุคคลที่สอง

(๒) เป็นผู้ถูกบุคคลที่สองจองเวร ผูกพยาบาท โดยเขาอาจจะไม่ได้ทำอะไรใคร อาจจะเป็นการเข้าใจผิด หรือถูกใส่ความ

คำตอบ (๑) ผู้ใดทำกรรมต่อบุคคลอื่น โดยเจตนาหรือไม่ก็ตาย เมื่อกรรมให้ผลเป็นวิบาก ผู้ทำกรรมย่อมต้องเสวยผลแห่งวิบากนั้น

(๒) พุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งเหตุและผล ดังนั้นคำว่า “อาจ” จึงไม่มีในพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ การเข้าใจผิดหรือถูกใส่ความ จึงเป็นอกุศลวิบาก ซึ่งเกิดจากเหตุไม่ดีที่บุคคลผู้รับวิบากได้ทำกรรมไม่ดีมาก่อน