คำถาม จากการบรรยาย ครั้งที่ ๑ ของโครงการธรรมทัศน์ ... เพื่อชีวิต

ณ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๒

 

คำถาม ข้อ ๑. การฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ตัวอย่างฆ่าปลา จำเลยที่ ๑ คือผู้ลงมือฆ่า จำเลยที่ ๒ คือผู้สมรู้ร่วมคิด ผู้ที่นำไปรับประทาน มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส จะเป็นบาปด้วยหรือไม่

คำตอบ ผู้ที่ไม่ฆ่าสัตว์เป็นผู้ไม่ประพฤติผิดศีล ข้อปาณาติบาต แต่ก่อนนำอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ไปรับประทาน หากเป็นพระสงฆ์ก่อนฉันภัตตาหาร จะกล่าวมนต์บทปฏิสังขาโยฯ หากเป็นฆราวาสผู้ประสงค์จะไม่มีบาปเกิดขึ้นจากการจองเวร ก่อนรับประทานอาหารควรกล่าวคำขมาโทษ ในความหมายที่พอจะสรุปได้ว่า เราได้พิจารณาโดยแยบคายแล้ว เราจะรับประทานอาหารนี้ ไม่เป็นไปเพื่อความสนุกสนานหรือเมามัน แต่รับประทานเพื่อให้เกิดกำลังกาย ให้กายนี้ดำรงอยู่ได้ เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์ เจ้าของเนื้อสัตว์ที่เราจะบริโภค จงอย่ามีเวรต่อกัน และจงอนุโมทนาในกุศลกรรม ที่ข้าพเจ้าได้ใช้ร่างกายนี้ เป็นเครื่องมือบำเพ็ญความดีให้เกิดขึ้น

 

คำถาม ข้อ ๒. เคยฝึกวิปัสสนากรรมฐานกับคุณแม่สิริ ปรากฏแค่ขนิกสมาธิ แต่ระยะต่อมา จิตนิ่งเหมือนไม่ได้หายใจ แล้วหลังจากนั้นไม่ได้ฝึกปฏิบัติต่ออีก เพราะมีภารกิจเนื่องจากสามีป่วยมาก (สามีจบปริญญาเอก) แต่ปัจจุบันพูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะเป็นพาร์กินสัน ไม่ทราบเขามีกรรมอะไร ทั้งๆที่บวช ๓ เดือน ที่วัดร่ำเปิง ก็ฝึกหนักกับท่านสุพรรณ อยู่กับบ้าน ควรฝึกต่ออย่างไร

คำตอบ ผู้ใดประพฤติปาณาติบาต เมื่อกรรมให้ผล พาร์คินสันจึงเป็นอกุศลวิบากประเภทหนึ่งที่ผู้ประพฤติต้องรับ ผู้ใดฝึกปฏิบัติธรรมอย่างหนัก แต่ยังมีสภาวะของจิตเป็นปุถุชน บุญกุศลที่ได้จากการฝึกฯ จึงเกิดขึ้นน้อย เมื่ออุทิศบุญกุศลที่ได้จากการฝึก เพื่อชดใช้หนี้เวรกรรมให้กับเจ้ากรรมนายเวร จึงชดใช้หนี้ได้จำนวนน้อย อกุศลวิบากที่ตนเองต้องรับ จึงยังไม่หมดไป

  ผู้ใดประสงค์จะนำวิธีการพัฒนาจิตมาฝึกต่อที่บ้าน ควรสวดมนต์ก่อนฝึก หลังสวดมนต์แล้ว จึงกำหนดการฝึกจิตตามวิธีการที่ตนเองรับเอามาจากครูสอนกรรมฐาน เมื่อกิจกรรมทั้งสองอย่างนี้แล้วเสร็จ ต้องอุทิศบุญกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวรไปเรื่อยๆ จนกว่าอกุศลวิบาก (โรคพาร์คินสัน) จะยุติลง

 

คำถาม ข้อ ๓. การรับประทานอาหารมังสวิรัติ หรืออาหารเจ สามารถลดกรรมใหม่ได้จริงหรือไม่ จะได้บุญมากกว่าคนที่รับประทานอาหารที่ปรุงด้วยเนื้อสัตว์จริงหรือไม่

คำตอบ คำว่า “ กรรม ” หมายถึงการกระทำ มนุษย์ทำกรรมได้สามทาง คือ ทำกรรมด้วยการคิด (มโนกรรม) ทำกรรมด้วยการพูด (วจีกรรม) และทำกรรมด้วยการกระทำทางกาย (กายกรรม) หากเป็นการกระทำที่ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ถือว่าเป็นการกระทำที่ดี (กุศลกรรม) หากมีพฤติกรรมเป็นไปในทางตรงข้าม ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ดี (อกุศลกรรม) ดังนั้นทุกขณะตื่น มนุษย์มีการกระทำ (กรรม) อยู่ตลอดเวลา การรับประทานอาหารเป็นกายกรรมอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะบริโภคอาหารมังสวิรัติ อาหารเจ หรืออาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ ผู้รับประทานย่อมก่อกรรมให้เกิดขึ้นเหมือนกัน จึงไม่สามารถลดกรรมใหม่ให้น้อยลงได้

ถามว่า : คนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ ได้บุญมากกว่าคนที่รับประทานอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ จริงหรือไม่

ตอบว่า : จริง หากผู้บริโภคฆ่าสัตว์ แล้วนำเอาเนื้อมาปรุงอาหาร หรือสั่งให้คนอื่นฆ่าสัตว์ หรือมิได้สั่งฆ่า แต่เห็นเขาฆ่าสัตว์เพื่อเราฯ หรือสงสัยว่าเขาฆ่าสัตว์ฯ หรือสัตว์ผู้เป็นเจ้าของเนื้อผูกเวรไว้ อย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้ ผู้บริโภคอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ ย่อมมีบาปเกิดขึ้น

ตอบว่า : ไม่จริง หากเนื้อที่นำมาปรุงอาหาร ผู้บริโภคมิได้ฆ่าด้วยตัวเอง หรือมิได้สั่งให้เขาฆ่าฯ หรือไม่เห็นเขาฆ่าสัตว์ฯ หรือขณะบริโภคไม่สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อเรา หรือ สัตว์ผู้เป็นเจ้าของเนื้อมิได้ผูกเวรเอาไว้ การบริโภคอาหารที่ปรุงจากเนื้อสัตว์ในลักษณะนี้ ไม่ถือว่าเป็นบาป

ด้วยเหตุนี้จึงมีมนุษย์ ผู้มิได้ประพฤติบริโภคมังสวิรัติ ยังสามารถพัฒนาจิตจนพ้นไปจากบาปทั้งปวงได้ อนึ่ง ยังมีพฤติกรรมอย่างอื่นอีกที่ไม่เนื่องด้วยการบริโภค แต่เป็นเหตุให้เกิดบุญหรือบาปได้

 

คำถาม ข้อ ๔. ปัญหาด้านครอบครัว
๑)  พ่อกินเหล้า เล่นการพนัน มีปัญหาทางจิตเพราะเหล้า และน้องเป็นกระเทย หูหนวก ก้าวร้าว จะแก้อย่างไรดีคะ
๒)  มีวิธีแก้กรรมจากการกระทำในชาตินี้หรือไม่
๓)  อยากทราบว่าจะปฏิบัติธรรมย่างไร จึงจะถูกกับจริตของตนเอง

คำตอบ
(๑) พระพุทธะไม่เคยสอนผู้ใดให้ไปแก้ปัญหาที่ผู้อื่น
แต่สอนให้แก้ปัญหาที่ตัวเอง ในกรณีที่บอกเล่าไป พ่อและน้องได้ประพฤติเหตุไม่ดีมาก่อน เมื่อกรรมให้ผลเป็นอกุศลวิบาก ผู้ทำเหตุไว้ไม่ดี ต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น ไปจนกว่าอกุศลวิบากจะหมดสิ้น ฉะนั้นผู้ถามปัญหาต้องแก้ที่ตัวเอง ด้วยการเอาพ่อและน้องเป็นครูสอนใจว่า การดื่มเหล้าเป็นเหตุทำให้บุคคลขาดสติ การเล่นพนันเป็นเหตุทำให้มีชีวิตวิบัติ แล้วต้องเลือกด้วยตัวเองว่าชอบแบบไหนให้ประพฤติแบบนั้น ไม่ชอบแบบไหนต้องไม่ประพฤติแบบนั้น นี่คือการแก้ปัญหาที่ตัวเอง

(๒) พระพุทธะไม่เคยสอนให้บุคคลแก้กรรม แต่สอนให้บุคคลบริหารหนี้เวรกรรมดังนี้
     ๑. เมื่อหนี้เวรกรรมตามทัน ต้องยอมรับความจริงว่า ตนเองได้ทำเหตุไว้ไม่ดีมาก่อน และต้องชดใช้หนี้เวรกรรมจนกว่าจะหมดสิ้น
    ๒. เมื่อหนี้เวรกรรมตามทัน ต้องทำบุญใหญ่ (ปฏิบัติธรรม) ให้เกิดขึ้น แล้วอุทิศบุญใหญ่ชดใช้หนี้ วิธีนี้ทำให้หนี้เวรกรรมหมดไปได้เร็ว
    ๓. หนี้เวรกรรมที่ยังไม่ให้ผล ต้องคิด พูด ทำดี อยู่ทุกขณะตื่น เพื่อหนีหนี้เวรกรรมให้ห่างไกล
    ๔. หนีเข้านิพพาน หนี้เวรกรรมที่เหลือทั้งหมดเป็นอันยกเลิก (อโหสิ)

(๓) กรรมฐานที่ผู้ปฏิบัติธรรม นำมาใช้เป็นองค์บริกรรม แล้วทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ง่าย มีดังนี้
    ๑. ผู้มีราคะจริต ควรนำเอา อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ อรูป ๔ ฯลฯ มาเป็นองค์บริกรรม
    ๒. ผู้มีโทสจริต ควรนำเอา อัปปมัญญา ๔ (เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา) กสิณ ๑๐ ฯลฯ มาเป็นองค์บริกรรม
    ๓. ผู้มีโมหจริต ควรนำเอา อานาปานสติ (กำหนดลมหายใจ) กสิณอื่นที่ไม่ใช่วรรณกสิณ ฯลฯ มาเป็นองค์บริกรรม
    ๔. ผู้มีสัทธาจริต ควรนำเอาอนุสติหกข้อแรก (พุทธานุสติ ธรรมนุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติ) กสิณอื่นที่ไม่ใช่วรรณกสิณ ฯลฯ มาเป็นองค์บริกรรม
    ๕. ผู้มีพุทธิจริต ควรนำเอา มรณสติ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตววัตถาน ๔ ฯลฯ มาเป็นองค์บริกรรม
    ๖. ผู้มีวิตกจริต ควรนำเอา อานาปานสติ กสิณอื่นที่มิใช่วรรณกสิณ ฯลฯ มาเป็นองค์บริกรรม

     ผู้ใดนำสิ่งที่เสนอแนะไปปฏิบัติด้วยตัวเอง แล้วทำให้จิตตั้งมั่น เป็นสมาธิได้ง่าย นี่คือผลจากการเลือกกรรมฐานที่ถูกตรงมาบริกรรม จงเลือกองค์บริกรรมเพียงอย่างเดียว เป็นอันใช้ได้

 

คำถาม ข้อ ๕. คนไม่ดีเห็นมีแต่ความเจริญขึ้น คนทำดีแล้วทำไมไม่เห็นได้ดี

คำตอบ กรรม หมายถึง การกระทำ บุคคลสามารถทำกรรมได้สามประเภทใหญ่ คือ กรรมที่ให้ผลตามกาลเวลา กรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ และกรรมที่ให้ผลตามลำดับความรุนแรง

     ผู้ใดทำกรรมดีที่ให้ผลรุนแรง และเป็นกรรมดีที่ให้ผลในชาติปัจจุบัน แม้เขาจะเป็นคนไม่ดี แต่กรรมดีได้ส่งผลเป็นวิบากดีทำให้ชีวิตมีความเจริญ ดังที่คนมองชีวิตในห้วงเวลาสั้นๆเห็นอยู่ แต่หากผู้ใดพัฒนาจิตจนเกิดปัญญาเห็นถูกตามความเป็นจริงแท้ ย่อมมองชีวิตได้ยาวไกลออกไป เขาย่อมเห็นความเจริญดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อใดที่ความเจริญดับลง (อนัตตา) ผลของกรรมดีย่อมหมดไป และกรรมไม่ดีถัดไปให้ผลเป็นอกุศลวิบาก เมื่อนั้นแหละคนไม่ดีต้องรับผลของกรรมไม่ดีแน่นอน

     ดังนั้นผู้มีความเห็นถูก จึงเชื่อในความเป็นจริงของกฎแห่งกรรมว่า ผู้ใดทำความดีต้องได้ดี ผู้ใดทำความชั่วต้องได้รับผลชั่วแน่นอน

 

คำถาม ข้อ ๖. เคยอ่านในหนังสือ Secret ท่านกล่าวว่า นิพพานเป็นคล้ายแดนที่มีแต่พระอรหันต์
ขอเรียนถามว่า นิพพานเป็นอย่างไร ขอท่านช่วยอธิบายให้แจ่มแจ้งด้วยค่ะ

คำตอบ ตามที่ผู้ถามปัญหาได้อ่านนิตยสาร Secret และเขียนมาถามว่า “ ท่านกล่าวว่า นิพพานเป็น คล้าย แดนที่มีแต่พระอรหันต์ ” ผู้ตอบปัญหามิได้กล่าวเช่นนั้น แต่พูดได้ในนิตยสาร Secret ฉบับที่ 22 วันที่ 26 พ.ค. 2552 หน้า 87 “ .... รู้แต่ว่า แดนนิพพานจะมีแต่พระอรหันต์ที่ไม่มีกิเลส และมีจิตเป็นอิสระจากกิเลสแล้วร้อยเปอร์เซ็นต์ .... “

ถามว่า : นิพพานเป็นอย่างไร ขอท่านช่วยอธิบายให้แจ่มแจ้งด้วยค่ะ

ตอบว่า : คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้พูดไว้ชัดเจนแล้วในนิตยสาร Secret เล่มที่อ้างถึงข้างต้น และมีระบุอยู่ในหน้า 86

 

คำถาม ข้อ ๗. ฝึกสมถกรรมฐาน ต่างชาติฝึกวิปัสสนากรรมฐานอย่างไร ถ้าจะไม่ฝึกสมถกรรมฐาน แต่ฝึกวิปัสสนากรรมฐานเลยจะได้ไหม

คำตอบ การฝึกสมถกรรมฐาน เป็นการพัฒนาจิตให้มีกำลังของสติเพิ่มมากขึ้น โดยนำเอาองค์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งในกรรมฐาน ๔๐ (กสิณ ๑๐, อสุภะ ๑๐, อนุสติ ๑๐, พรหมวิหาร ๔, อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑, จตุธาตววัตถาน ๑ และอรูป ๔) มาเป็นองค์บริกรรม เมื่อใดที่จิตมีกำลังของสติเพิ่มมากขึ้น ความมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิย่อมเกิดตามมา

     ส่วนการฝึกวิปัสสนากรรมฐาน เป็นการใช้จิตที่ตั้งมั่นเป็นสมาธิจวนแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ) มาพิจารณาสติปัฏฐาน ๔ (กาย เวทนา จิต ธรรม) ตามกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) เมื่อเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งในฐานทั้งสี่ ดำเนินไปสู่ความดับ (อนัตตา) ปัญญาเห็นแจ้งย่อมเกิดขึ้น

ถามว่า : จะไม่ฝึกสมถกรรมฐาน แต่ฝึกวิปัสสนากรรมฐานเลยจะได้หรือไม่

ตอบว่า : ได้ หากผู้นั้นเคยพัฒนาจิตจนมีความตั้งมั่นเป็นสมาธิมาก่อน จึงจะสามารถใช้จิตที่สงบเป็นสมาธินั้น มาพิจารณาสิ่งที่เข้าสัมผัสจิตโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) แล้วเห็นสิ่งกระทบดับไป (อนัตตา) ปัญญาเห็นแจ้งย่อมเกิดขึ้นได้

ตอบว่า : ไม่ได้ สำหรับบุคคลผู้มีจิตยังไม่สงบเป็นสมาธิ ต้องปฏิบัติสมถกรรมฐานจนเกิดผลให้ได้ก่อน แล้วจึงจะฝึกวิปัสสนากรรมฐานให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งได้

 

คำถาม ข้อ ๘. มีครอบครัว มีบุตร จะนำพาไปสู่หนทางสงบได้อย่างไร

คำตอบ ชีวิตมีงานที่ต้องทำอยู่สองงาน คืองานภายนอกที่ทำให้กับสังคมส่วนรวม เช่นงานที่ต้องทำให้กับครอบครัว ต้องทำให้ดีที่สุดตามความสามารถที่ตนมี และงานอย่างที่สองคืองานภายในที่ต้องทำให้กับตัวเอง เพราะเหตุที่ชีวิตมีการสืบต่อ ต้องเตรียมปัจจัยเดินทางสู่ปรโลก เมื่อภารกิจของงานภายนอกเสร็จสิ้นลงในแต่ละวัน ผู้มีความเห็นถูก จะใช้เวลาส่วนตัวมาพัฒนาจิตตนเอง ด้วยการสวดมนต์ก่อนนอน ปฏิบัติจิตตภาวนาหลังสวดมนต์ และอุทิศบุญกุศลให้สรรพสัตว์ เมื่อสองกิจกรรมแรกเสร็จสิ้นลง ผู้ใดมีศีล มีสัจจะ มีความเพียร ปฏิบัติในแต่ละวันตามที่ชี้แนะมานี้ได้ ชีวิตย่อมดำเนินไปสู่ความสงบในวันข้างหน้า

 

คำถาม ข้อ ๙. มีแต่ลูกสาวทั้งหมดในชาตินี้ ทำให้ไม่ได้บวชลูก เป็นเพราะทำบาปอะไรในชาติก่อนหรือเปล่า

คำตอบ ผู้ใดปรารถนาในสิ่งที่ตนไม่มี ย่อมเป็นทุกข์ ตรงกันข้าม ผู้ใดพอใจในสิ่งที่ตนเป็น ตนมี ตนได้รับ (สันโดษ) ผู้นั้นย่อมเป็นสุข      ฉะนั้น หากผู้ถามปัญหาประสงค์มีชีวิตเป็นสุข ต้องทำใจให้มีสันโดษ และมีจิตระลึกอยู่แต่ปัจจุบัน อดีตผ่านไปแล้ว ไม่มีใครสามารถแก้ไขได้ ด้วยเหตุนี้ ผู้รู้จึงเอาจิตอยู่กับปัจจุบัน และทำเหตุปัจจุบันให้ดีที่สุด

 

คำถาม ข้อ ๑๐. เราจะมีวิธีใดที่ช่วยคนที่มีมิจฉาทิฏฐิ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ

คำตอบ ผู้ถามปัญหาต้องพัฒนาตัวเอง ให้เป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิระดับโลกุตตระให้ได้ก่อน เมื่อใดที่ผู้มีมิจฉาทิฏฐิศรัทธา ในตัวของผู้ถามปัญหาได้แล้ว เมื่อนั้นการจะเปลี่ยนความคิดเห็นผิดของเขา ให้กลับมาเป็นความเห็นถูกตามธรรม จึงจะเกิดขึ้นได้ ด้วยการพัฒนาจิตให้เป็นสมาธิ (สมถภาวนา) และพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง (วิปัสสนาภาวนา)

 

คำถาม ข้อ ๑๑. ในการวิปัสสนาภาวนานั้น หากหนูมีสมาธิแล้วตามดูลมหายใจเข้าออกตลอดเวลา อย่างนี้เป็นสมถสมาธิใช่ไหมค่ะ หากตามดูลมหายใจเข้าออกสั้นก็รู้ เข้าออกยาวก็รู้ แล้วคิดพิจารณามันไม่เที่ยง แปรปรวน อย่างนี้ถึงจะเป็นวิปัสสนาภาวนาใช่ไหมค่ะ

คำตอบ การตามดูลมหายใจเข้า-ออกตลอดเวลา เท่ากับเป็นการเอาจิตไปจดจ่ออยู่กับลมหายใจเพียงอย่างเดียว ผลที่เกิดตามมาคือ มีจิตสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ

     อนึ่ง การตามดูลมหายใจเข้า-ออกสั้นก็รู้ เข้า-ออกยาวก็รู้ แล้วคิดพิจารณาว่า มันไม่เที่ยง แปรปรวน ก็ยังไม่เรียกว่าวิปัสสนาภาวนา แต่หากเมื่อใดใช้จิตที่ตั้งมั่นจวนแน่วแน่ (อุปจารสมาธิ) ตามดูลมหายใจว่า ดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อใดจิตเห็นลมหายใจดับ (อนัตตา) แล้วไม่เกิดขึ้นได้อีก ปัญญาเห็นแจ้งในลมหายใจ จึงจะเกิดขึ้นกับจิต อย่านี้จึงจะเรียกได้ว่าเป็น วิปัสสนาภาวนา

 

คำถาม ข้อ ๑๒. จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องนั่งสมาธิ สลับกับเดินจงกรม เราสามารถนั่งสมาธิอย่างเดียวได้หรือไม่

คำตอบ ถ้าหากนั่งบริกรรมเพียงอย่างเดียว แล้วทำให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิจวนแน่วแน่ได้ ก็ไม่จำเป็นต้องเดินจงกรม ตรงกันข้าม หากนั่งบริกรรมแล้ว จิตยังพัฒนาไม่ถึงความตั้งมั่นจวนแน่วแน่ จึงยังมีความจำเป็นต้องเดินจงกรม เพื่อให้มีกำลังสมาธิสูงขึ้นจนถึงระดับที่สามารถใช้เป็นฐานสู่การพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง

 

คำถาม ข้อ ๑๓.
๑) คิดมาก ทำอย่างไรให้อยู่กับปัจจุบันขณะมากที่สุด
๒) บุญ-กรรม มีจริงไหม
๓) ฌาน พัฒนาได้อย่างไรค่ะ

คำตอบ
(๑) ต้องมีศีล ๕ คุมใจ แล้วพัฒนาจิตให้มีสติเพิ่มมากขึ้น ความคิดมากย่อมหมดไปเอง องค์บริกรรมที่เหมาะแก่การพัฒนาจิตของผู้คิดมาก คือกำหนดอานาปานสติ หรือนำกสิณอื่นที่มิใช่วรรณกสิณมาเป็นองค์บริกรรม

(๒) “ บุญ ” หมายถึง ความดี กุศล ความสุข บุคคลสามารถสัมผัสได้ จึงเป็นสิ่งที่มีจริง

     “ กรรม ” หมายถึง การกระทำ บาป เคราะห์ ฯลฯ บุคคลสามารถสัมผัสได้ จึงเป็นสิ่งที่มีจริง

(๓) ฌาน เป็นสภาวะของจิตที่มีความประณีต เกิดจากการพัฒนาจิตให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ บุคคลสามารถพัฒนาฌานได้ด้วยการเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งในกรรมฐาน ๔๐ มาเป็นองค์บริกรรม โดยมีศีล มีสัจจะ มีความเพียรเป็นเครื่องสนับสนุน

 

คำถาม ข้อ ๑๔. จะแต่งปีหน้า แต่มีคนทักว่า เป็นปีเสือ ปีดุร้าย จะทำอย่างไรดีค่ะ

คำตอบ พระพุทธะตรัสในทำนองที่ว่า “ บุคคลจะเป็นอย่างไร มิได้ขึ้นอยู่กับคำพูดที่ออกจากปากของผู้อื่น แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำของตัวเอง ”

     ด้วยเหตุนี้ใครผู้ใด คิด พูด ทำดี อยู่ทุกขณะตื่น บุญย่อมเกิดและสั่งสมอยู่ในจิตวิญญาณของผู้กระทำ ผู้มีบุญคุ้มรักษาใจ ย่อมมีชีวิตสวัสดี คำพูดจากปากของบุคคลจักทำอะไรได้