คำถาม-คำตอบอาจารย์สนอง วรอุไร  

การบรรยายธรรมที่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๒

 

คำถาม ข้อ ๑
การทำบุญแต่ไม่ได้อธิษฐาน ใช้แต่คำว่า สาธุ จะได้บุญหรือเปล่า

คำตอบ
๑ คำว่า
“อธิษฐาน” หมายถึง ตั้งจิตปรารถนาในสิ่งดีงาม หรือตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งที่ดีงาม

คำว่า “สาธุ” หมายถึง การเปล่งวาจาแสดงความเห็นว่าดีแล้ว ชอบแล้ว สาธุเป็นหนึ่งในการกระทำที่เป็นเหตุเกิดบุญ (ดูบุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ดังนั้นผู้ใดเห็นคนอื่นทำความดีแล้วเห็นชอบด้วย การกล่าวคำว่า สาธุ บุญจึงเกิดขึ้นกับผู้นั้น

 

คำถาม ข้อ ๒
(๑) ทำไมตัวผมถึงเกิดมาเป็นตัวผม ทำไมไม่เกิดเป็นอีกคน ทำไมผมต้องนั่งอยู่ที่นี้ แล้วทำไมไม่ไปอยู่ที่อื่น

(๒) เราสามารถถอดจิตไปฟังคนอื่นที่เขาอยู่ไกลๆได้ไหม

คำตอบ
(๑) แต่ละคนมีจิตวิญญาณเป็นของตัวเอง จึงเกิดเป็นคนอื่นอีกไม่ได้
เหตุที่ต้องมานั่งอยู่ที่นี้ (นั่งฟังธรรม) เป็นเพราะแรงของกรรมดีผลักดันให้มา เหตุที่ไม่ไปอยู่ที่อื่นเพราะไม่มีแรงกรรมอื่นผลักดันให้ไป

(๒) ผู้ใดพัฒนาจิต (สมถภาวนา) จนเข้าณานได้ ผู้นั้นมีความสามารถถอดจิตไปฟังคนอื่นพูดอยู่ในที่ไกลๆได้

 

คำถาม ข้อ ๓
ถ้าพบการกระทำทุจริตแล้วเราจะทำอย่างไร? เราไม่ได้มีอำนาจแต่เห็นอยู่เสมอๆจะทำเช่นไร วางเฉยหรือไม่?

คำตอบ
ผู้มีปัญญาเห็นถูกตามธรรมจะวางเฉยเมื่อเห็นผู้อื่นประพฤติทุจริต เพราะรู้ว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของตัว ผู้ใดทำกรรมอย่างใดไว้ ผู้นั้นต้องได้รับผลของกรรมนั้น ตรงกันข้าม ผู้มีปัญญาเห็นผิดไปจากธรรม เมื่อเห็นคนอื่นประพฤติทุจริต โดยตัวเองไม่มีอำนาจและหน้าที่ ย่อมเอาพฤติกรรมไม่ดี (บาป) ของเขามาเป็นทุกข์ (บาป) ให้เกิดขึ้นกับตัวเอง .... ไม่ฉลาด

 

คำถาม ข้อ ๔
ทำบุญหนึ่งบาทกับทำบุญหนึ่งล้านบาท มีค่าเท่ากันไหม?

คำตอบ
คำว่า
“ค่า” หมายถึง ราคา จำนวนเงิน หรือคุณประโยชน์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คิดเป็นเงินไม่ได้

 ฉะนั้น ทำบุญหนึ่งบาท จึงมีราคาน้อยกว่าทำบุญหนึ่งล้านบาท ทำบุญหนึ่งบาท จึงเป็นจำนวนเงินน้อยกว่าหนึ่งล้านบาท เมื่อเทียบค่าออกมาเป็นบุญแล้ว จะได้บุญมากหรือได้บุญน้อยขึ้นอยู่กับ :

เงินหนึ่งบาท หากเป็นเงินบริสุทธิ์ แล้วนำไปทำบุญ จะได้บุญล้วน

เงินหนึ่งล้านบาท หากได้มาไม่บริสุทธิ์ (คอรัปชั่น จี้ ปล้น ฯลฯ) เมื่อนำไปทำบุญ จะได้ทั้งบุญได้ทั้งบาป

เงินหนึ่งบาท ก่อนทำบุญมีศรัทธามาก ขณะทำบุญตั้งใจมาก ทำบุญแล้วเกิดเป็นความอิ่มใจมาก ย่อมได้บุญมากกว่า
เงินหนึ่งล้านบาท ก่อนทำบุญมีศรัทธาน้อย ขณะทำบุญไม่ตั้งใจ ทำบุญแล้วหวังผลตอบแทนหรือเสียดาย ย่อมได้บุญน้อยกว่า

เงินหนึ่งบาท ทำบุญกับผู้ทรงคุณธรรมสูง ทำบุญให้กับผู้กำลังเดินอยู่ในทางมรรค หรือเข้าถึงความพ้นทุกข์ ย่อมได้บุญมากกว่าเงินหนึ่งล้านบาทที่ทำบุญโดยไม่เลือกชนิดของบุญ ย่อมได้บุญน้อยกว่า ฯลฯ