คำถาม-คำตอบอาจารย์สนอง วรอุไร  

การบรรยายธรรมที่ สภากิจกรรมพนักงานเครือซิเมนต์ไทย (SCG)

เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๒

 

คำถาม ข้อ ๑
(๑) การที่เห็นคนแล้วรู้ถึงจิตใจของคนๆนั้นว่าคิดอะไร ทำกรรมอะไรไว้ อาจารย์รู้จากอะไร (จิต หรือตาที่สาม)

(๒) อาจารย์รู้อดีตชาติของแต่ละคนอย่างไร

คำตอบ
(๑) รู้จากเจโตปริยญาณ มิใช่ตาทิพย์

(๒) ไม่เคยอยากรู้อดีตชาติของใคร ผู้ใดประสงค์จะรู้อดีตชาติของคนอื่น ต้องพัฒนาจิต (สมถภาวนา) จนถึงระดับณาน แล้วนำจิตออกจากณาน ทำการอธิษฐานจิต โอกาสรู้อดีตชาติของคนอื่นจึงมีได้เป็นได้

 

คำถาม ข้อ ๒
ทางแห่งความสุขที่แท้จริงเป็นอย่างไร

คำตอบ
ทางแห่งความสุขที่แท้จริงคือ การมีจิตเป็นอิสระต่อสิ่งทั้งปวง ที่เข้ากระทบทวารทั้งหก (หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ) ในขณะที่จิตมีการทำงาน

 

คำถาม ข้อ ๓
เลี้ยงปลาในตู้หรือในบ่อ ผิดหรือเปล่าค่ะ

คำตอบ
หากเป็นปลาต้องห้ามมิให้ครอบครอง ผู้ใดนำมาเลี้ยงถือว่าผิดกฎหมาย เลี้ยงปลาตู้ด้วยสัตว์มีชีวิต เช่น ลูกกุ้ง ลูกน้ำ ตัวไรน้ำ ถือว่าผิดศีล เลี้ยงปลาแล้วปล่อยให้ปลาอดอาหารถือว่าผิดธรรม เลี้ยงปลาในที่ไม่เหมาะสม เช่น ตู้ปลาที่คับแคบ ว่ายน้ำไม่อิสระเหมือนแหล่งที่เคยอยู่ ถือว่าผิดธรรม ฯลฯ

 

คำถาม ข้อ ๔
รบกวนอาจารย์ช่วยเล่า
“การสอบอารมณ์” หน่อยครับ

คำตอบ
การสอบอารมณ์ เป็นการถามและตอบ หรือบอกเล่าระหว่างผู้ฝึกและผู้ให้การฝึกกรรมฐาน โดยผู้ฝึกจะบอกเล่าความเป็นไป (อารมณ์) ของจิตที่เกิดขึ้นในรอบวันหรือในรอบหลายวัน และครูผู้ให้การฝึกจิต จะปรับปรุงแก้ไขอารมณ์ที่เป็นเหตุขัดขวางความก้าวหน้าในการพัฒนาจิต หรือหากอารมณ์เกิดขึ้นถูกตรง ครูฝึกจะชี้แนะแนวทางปฏิบัติที่สูงยิ่งขึ้น จนถึงขึ้นที่จิตมีสติและปัญญาเห็นแจ้งเกิดขึ้น

 

คำถาม ข้อ ๕
(๑) การอยากบรรลุณาน ถือเป็นกิเลสหรือเปล่า

(๒) การไม่สำนึกในบาป เช่น ที่อาจารย์ยกตัวอย่างฆ่าลูกกุ้ง แล้วผู้ที่ฆ่าไม่สำนึกจะถือว่าไม่เป็นบาปหรือ และคนที่ทำกรรมดีแม้เพียงนิดและระลึกเสมอว่าทำดี กลับได้บุญหรือ

คำตอบ
(๑) ความอยากบรรลุณาน ถือว่าเป็นกิเลส

(๒) คำว่า “ไม่สำนึกในบาป” หมายถึงไม่รู้สึกตัวว่าได้ทำบาปให้เกิดขึ้นแล้ว ยังคงทำบาปอีกต่อไป

ที่ผู้บรรยายยกตัวอย่างของหญิงที่ลงไปอาบน้ำในลำคลอง แล้วเอามือถูตัวแต่ไปทำให้ลูกกุ้งต้องตาย แล้วผู้มีบาปได้ระลึกถึงบาปที่เกิดขึ้น จึงระมัดระวังไม่ให้เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก อย่างนี้เรียกว่า หญิงคนนั้นสำนึกในบาป

ต่างจากคำว่า “ระลึก” ซึ่งมีความหมายว่า นึกถึงหรือคิดถึง เรื่องนี้มีความสำคัญตรงที่จิตที่กำลังจะสละร่างแล้วจิตไปนึกถึงบาปที่ตนทำ พลังบาปจะผลักดันจิตวิญญาณให้โคจรไปเข้าอยู่อาศัยในร่างใหม่ ในภพที่มีความทุกข์ ความลำบาก (ทุคติภพ) ตรงกันข้าม หากจิตไปนึกถึงบุญที่ตนทำ พลังของบุญจะผลักดันจิตวิญญาณให้โคจรไปเข้าอยู่อาศัยในร่างใหม่ ในภพที่มีความสุข ความสบาย (สุคติภพ)

 

คำถาม ข้อ ๖
เคยอ่านหนังสือ
“ทำชีวิตให้ได้ดีและมีสุข” มีเรื่องที่อาจารย์บอกว่าการขอลูกสามารถกำหนดได้ อยากถามอาจารย์ว่า ที่บอกว่า “ขอให้ได้ดวงจิตที่ดีมีสัมมาทิฎฐิ มีบริวารติดตามมาด้วย” คำว่า “บริวาร” หมายความว่าอย่างไรคะ

คำตอบ
คำว่า
“บริวาร” หมายถึงผู้แวดล้อม หรือผู้ผู้ติดตาม หรือผู้รับใช้

 

คำถาม ข้อ ๗
คนที่เคยทำบาป ทำไม่ดีมาก่อน แต่เมื่อกลับใจทำความดี ทำบุญ ทำทาน ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ จะสามารถชดเชยการทำบาปที่เคยทำมาก่อนได้หรือไม่ หรือเป็นคนละเรื่องกัน

คำตอบ
คำว่า
“ชดเชย” หมายถึงใช้แทนสิ่งที่ไม่ดีหรือสิ่งที่เสียไป ในที่นี้หมายถึงบุญใช้ชดเชยบาปไม่ได้ เมื่อใดที่บุญให้ผลแล้ว ผู้มีบาปต้องรับผลบาปนั้น ตัวอย่าง พาหิยะทำความดีด้วยการฟังธรรมจากพระโอษฐ์ แล้วพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) จนจิตบรรลุอรหัตตผลในขณะยังเป็นฆราวาส กำลังเดินหาบาตรและจีวร เพื่อใช้เป็นบริขารทูลขอบวชต่อพระพุทธะ นางยักษิณีคู่เวรได้โคจรมาพบ จึงเข้าสิ่งร่างแม่โคตรงเข้าขวิดพาหิยะตายทันที จึงไม่ได้บวชเป็นพระสงฆ์ แต่เข้านิพพานไปแล้วในขณะยังมีเพศเป็นฆราวาส

บุญบางอย่างใช้ป้องกันมิให้บาปตามทันได้ เช่นผู้ที่พัฒนาจิตจนบรรลุโสดาบัน สามารถปิดอบายภูมิได้ คือไม่ต้องลงไปเกิดในภพภูมิต่ำ ดังตัวอย่างของสิริมาโสเภณีแห่งแคว้นมคธ เมื่อได้สำนึกผิดในอาชีพที่ตนทำเลี้ยงชีวิต จึงเลิกประกอบอาชีพโสเภณีอย่างเด็ดขาด แล้วหันมาบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญจิตตภาวนา จนบรรลุความเป็นโสดาบัน เมื่อตายไปแล้วได้ไปเกิดเป็น สิริมาเทพนารีโสดาบัน อยู่ในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวตี ซึ่งมีการเวียนตาย-เวียนเกิด อยู่เฉพาะในภพมนุษย์และภพสวรรค์ก่อนเข้าสู่พระนิพพาน

 

คำถาม ข้อ ๘ 
(๑) ต้องการฝึกให้เข้าฌานได้ แต่ไม่มีความรู้ ได้ยินมาว่าการฝึกเองโดยไม่มีครูแนะนำ อาจทำให้เสียสติได้ จริงหรือไม่ อยากให้อาจารย์แนะนำว่าทำอย่างไรหรือศึกษาอย่างไร อย่างเป็นขั้นเป็นตอน

(๒) เคยได้ยินว่าคนที่เคยทำบาปมาก่อน แต่ตอนจะตายจิตผูกอยู่กับเรื่องที่ดีจะไปสวรรค์ แต่คนที่ทำดีเป็นส่วนใหญ่ เคยทำบาปไว้น้อยมาก แต่ตอนตายสำนึกเรื่องบาปนั้นอยู่ กลับไปใช้กรรมที่เป็นบาป เรื่องนี้จริงหรือไม่

คำตอบ
(๑) จริงครับ หากจิตไประลึกในสิ่งที่ทำให้เกิดอารมณ์หวาดกลัว แล้วยึดอารมณ์นี้ไว้ตลอดไป เป็นเหตุให้เสียสติได้ ฉะนั้นจึงควรมีครูควบคุมการฝึกจิต เพื่อปรับแก้ไขในอารมณ์ที่ผิด แล้วแนะนำทางปฏิบัติที่ถูกต้อง อนึ่ง การพัฒนาจิตให้เข้าถึงความทรงฌาน ไม่สามารถทำได้ด้วยการอ่านจากตำราหรือคัมภีร์ แต่เข้าถึงด้วยการปฏิบัติสมถภาวนาเท่านั้น

(๒) จริงครับ

 

คำถาม ข้อ ๙
ถามว่า ก่อนที่เราจะสวดมนต์ จะมีคาถาอัญเชิญเทวดามาสวดมนต์ แต่พอเราสวดมนต์เสร็จไม่ได้สวดคาถาอัญเชิญเทวดากลับ จะมีผลอย่างไรกับเราบ้าง

คำตอบ
เชิญเทวดามาฟังบทมนต์ที่สวด ด้วยหวังให้เทวดามีความสุข มิได้เชิญเทวดามาสวดมนต์ด้วย เมื่อการสวดมนต์จบลงแล้ว เทวดากลับไปเองโดยไม่ต้องเชิญกลับหรอกครับ

 

คำถาม ข้อ ๑๐
ขอทราบการตกกระไดพลอยโจน เมื่อจิตดับ

คำตอบ
คำว่า
“จิตดับ” ไม่มี แต่หากผู้ถามปัญหาหมายถึง ดับเวทนา ดับสัญญาที่เกิดขึ้นกับจิต เรียกจิตที่มีสภาวะเช่นนี้ว่า นิโรธสมาบัติ

หรือคำว่า “จิตดับ” หากหมายถึงความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งดับ หรืออาการของจิต (เจตสิก) เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ความมีเมตตา ความมีสติ ความมีปัญญา ฯลฯ ดับและไม่เกิดขึ้นกับดวงจิตได้อีก สภาวะเช่นนี้เรียกว่า “นามดับ” แท้จริงแล้วพลังงานจิตไม่เคยดับ และไม่เกี่ยวกับการตกกระไดพลอยโจนแต่อย่างใด

 

คำถาม ข้อ ๑๑
คุณแม่เคยฆ่าเต่าเพื่อทำอาหาร อยากแก้กรรมของคุณแม่ จะทำอย่างไรดีครับ

คำตอบ
ฆ่าเต่าเป็นการประพฤติทุศีลข้อแรก ผู้บริโภคอาหารที่ปรุงจากเนื้อเต่าตัวที่ถูกฆ่า เป็นผู้มีส่วนร่วมในบาปนั้นด้วย เมื่อใดที่กรรมให้ผล ผู้ทำการฆ่าและผู้ร่วมทำกรรมต้องรับผลของบาปนั้น ผู้ใด (แม่และลูก) พัฒนาจิตจนสามารถปิดอบายภูมิได้ คืออย่างน้อยเป็นพระโสดาบัน ผลของบาปนี้จะตามให้ผลไม่ได้ครับ

 

คำถาม ข้อ ๑๒
การนั่งภาวนา นั่งสมาธิ นั่งเวลาตี ๒ ขึ้นไป แต่มีอาการง่วงนอนอยู่แต่นั่งประจำ จะได้ธรรมะไหมคะ

คำตอบ
ได้ธรรมะเท่าที่มีขณะจิตระลึกอยู่กับคำบริกรรมที่นำมาใช้นั่งภาวนา

 

คำถาม ข้อ ๑๓
สังเกตดูว่า เวลาไปทำบุญที่วัด จะมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะเหตุใดคะ และเคยได้ยินว่า ผู้หญิงมีกรรมมากกว่าผู้ชาย จริงหรือไม่ค่ะ

คำตอบ
เมื่อไปทำบุญที่วัด แล้วเห็นว่ามีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เพราะผู้หญิงส่วนมากนิยมทำบุญมากกว่านิยมทำบาป

อนึ่ง ผู้ถามปัญหาพูดว่า “เคยได้ยินว่า ผู้หญิงมีกรรมมากกว่าผู้ชาย” คำว่า “กรรม” หมายถึงการกระทำ มนุษย์สามารถทำกรรมได้สามทางคือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ทำกรรมดีให้ผลเป็นบุญ ทำกรรมชั่วให้ผลเป็นบาป ผู้ตอบปัญหาจึงตอบว่า ชายและหญิงมีโอกาสทำกรรมพอๆกัน แต่กรรมที่ทำอาจจะเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันก็ได้

 

คำถาม ข้อ ๑๔
เทวดา ลงนรกได้อย่างไร

คำตอบ
เทวดาที่ประพฤติทุศีล ก็สามารถลงไปเกิดเป็นสัตว์นรกได้ เช่น นันทยักษ์ (เทวดา) ใช้กระบองตีศีรษะพระสารีบุตร ขณะนั่งเข้านิโรธสมาบัติ ผลธรณีสูบลงนรกทันที หรือเมื่อเทวดาหมดอายุขัยแล้วบาปผลักดันจิตวิญญาณให้โคจรลงไปเกิดเป็นสัตว์นรก

 

คำถาม ข้อ ๑๕
ในเชิงจิตวิทยาของตะวันตก สอนให้ทุกคนตั้งเป้าหมายไปตลอดชีวิต แต่ของตะวันออกจะสอนให้เราละกิเลส ดิฉันคิดว่าในการดำรงชีวิตในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูงมาก เราควรต้องดำเนินชีวิตอย่างไร

คำตอบ
ผู้ใดใช้ตาเนื้อตาหนังมองชีวิต ย่อมตั้งทัศนะหรือวางเป้าหมายชีวิตได้เพียงชาตินี้ ตรงกันข้าม ผู้ใดเห็นว่าชีวิตมีการสืบต่อ คือตายแล้วต้องไปเกิดอีก เป็นสัตว์อยู่ในภพภูมิต่างๆอย่างไม่รู้จบ ดังที่ผู้เข้าถึงความรู้สูงสุดได้เห็น จะวางงานของชีวิตแยกออกเป็นสองอย่างคือ

งานของชีวิตอย่างที่หนึ่ง เป็นงานภายนอกที่ทำให้สังคม การจะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้ ต้องพัฒนาตัวเองให้เป็นคนเก่ง คือมีความรู้และมีความสามารถ พร้อมทั้งพัฒนาคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แล้วการทำงานให้กับสังคมย่อมเข้าถึงความสำเร็จได้

งานของชีวิตอย่างที่สอง เป็นการทำงานเพื่อเตรียมปัจจัยเดินทางในชีวิตหน้า ด้วยการพัฒนาตนเองให้มีสติ (สมถภาวนา)  และพัฒนาตนเองให้มีปัญญาเห็นแจ้ง (วิปัสสนาภาวนา) ให้สติและปัญญาเห็นแจ้งสั่งสมบุญ สั่งสมบารมี และกำจัดกิเลสให้หมดไปจากใจได้แล้ว โอกาสที่จะทำให้การสืบต่อของชีวิตหดสั้นเข้า จึงจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นผู้รู้จึงแบ่งการทำงานให้กับชีวิตออกเป็นสองแนวทาง ดังที่กล่าวมาข้างต้น