คำถาม จากการบรรยาย โรงแรมโฆษะ ขอนแก่น

   วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๕

คำถาม ข้อ ๑.
อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไร? เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยและมีความรุนแรงยิ่งขึ้น ใช่หรือไม่ว่าโลกของเราจะเกิดภัยร้ายแรงในเร็ววันนี้ด้วยแกนของโลกเปลี่ยนไป หากวันนั้นมาถึง เราจะเตรียมตัวได้อย่างไร? วันนี้เราเพียรฝึกสติ แต่สติสัมปชัญญะยังไม่เกิดชนิดที่พึ่งตนเองได้ ขออาจารย์ช่ววยแนะนำวิธีลัดสั้น แต่สามารถทำได้ จะมีหรือไม่ ?

คำตอบ
ธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงเป็นความจริง ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกัน ผู้มีความรู้จริงแท้รู้ว่า มนุษย์ผู้รู้ไม่จริงแท้ ได้ใช้ความรู้ไปเบียดเบียนธรรมชาติให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วและรุนแรงยิ่งขึ้น หากผู้กลัวภัยจะมาถึงตน จึงจักป้องกันตัวเองด้วยการฝึกจิต ( สมถภาวนา ) ให้มีสติ แต่ยังเข้าไม่ถึงสติสัมปชัญญะ ก็ยังสามารถปกป้องชีวิตหน้าให้ไปเกิดเป็นรูปนามอยู่ในสุคติภพ ( มนุษย์ ) ได้ และหากจะปกป้องชีวิตปัจจุบันให้พ้นจากภยันตรายจากธรรมชาติ ต้องพัฒนาจิตให้มีธรรมคุ้มครองใจอยู่ทุกขณะตื่น ตามที่ผู้รู้จริงแท้และรู้จริงแท้ทุกสิ่งทุกอย่าง ( สัพพัญญู ) ได้ตรัสไว้ว่า " ธรรมย่อมคุ้มรักษาผู้ประพฤติธรรม " นั้นเป็นความจริงแท้แน่นอน


คำถาม ข้อ ๒.
พยายามอ่าน - ฝึกปฏิบัติตามหนังสือ หรือที่ได้ฟังมา เราสามารถเข้าถึงธรรมได้หรือไม่ หรือต้องหาครูบาอาจาารย์ ซึ่งในบางครั้งเราต้องทำมาหากิน ( หลายเล่มบอกว่าเราต้องมีครูบาอาจารย์ ) แล้วเราต้องไปหาท่าน ฝากตัวเป็นลูกศิษย์กับท่าน ใช่หรือไม่ ?

คำตอบ
อ่านหนังสือหรือฟังคำบอกกล่าวจากปากของผู้รู้จริงแท้ แล้วพิจารณาธรรมโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) ย่อมมีจิตบรรลุธรรมได้ ดังที่มนุษย์ในครั้งพุทธกาล เช่น พระนางเขมา อุปติสสะ พาหิยะ ฯลฯ ผู้มีคุณธรรมสั่งสมมามากแต่อดีต ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ส่วนคนที่มีคุณธรรมสั่งสมมาไม่มากพอ และมาเกิดเป็นมนุษย์อยู่ในครั้งปัจจุบัน ต้องแสวงหาครูบาอาจารย์ มาเป็นผู้ชี้ทางปฏิบัติให้


คำถาม ข้อ ๓.
น้องกำลังเป็นมะเร็ง แล้วข้าพเจ้าต้องคิด ต้องดูแล นี่เป็นการเอาเรื่องของคนอื่น มาทุกข์ใจใช่หรือเปล่าคะ? ถ้าไม่ดูแลน้อง จะไม่เป็นคนใจดำหรือคะ?

พูดว่า ( ปรามาส ) พระอริยะ และจะขออโหสิกรรมได้อย่างไรคะ บาปมากไหมคะ ? ดิฉันสำนึกผิดแล้วค่ะ ดิฉันปรามาสหลวงตามหาบัวค่ะ

คำตอบ
พฤติกรรมใด เมื่อทำแล้วให้ผลเป็นความไม่สบายใจ พฤติกรรมนั้นเป็นเหตุให้เกิดเป็นความทุกข์ ถือว่าเป็นบาป

คนที่ดูแลผู้อื่น คิดช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ที่กำลังเสวยอยู่ เรียกผู้มีพฤติกรรมเช่นนี้ว่า เป็นผู้มีความกรุณา หากเป็นไปตรงข้าม เรียกว่าเป็นคนใจดำ ส่วนผู้ที่เข้าถึงความรู้สูงสุดได้แล้ว ย่อมมีจิตคิดช่วยเหลือผู้ความทุกข์ ด้วยการชี้แนะแนวทางนำพาชีวิตไปสู่ความปลอดจากทุกข์ โดยไม่เข้าไปก้าวล่วงในชีวิตของผู้อื่น เพราะรู้ว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นของตัวเอง

การพูดว่า ( กล่าววาจาปรามาส ) พระอริยะ เป็นอกุศลวจีกรรมที่ให้ผลเป็นบาป จะบาปมากหรือบาปน้อย ขึ้นอยู่กับคุณธรรมของพระอริยะ เช่น ปรามาสพระพุทธเจ้า บาปมากกว่าปรามาสพระอรหันต์ ปรามาสพระอรหันต์ บาปมากกว่าปรามาสพระอนาคามี ปรามาสพระอนาคามี บาปมากกว่าบุคคลผู้มีสภาวธรรมในดวงจิตเป็นปุถุชน ฯลฯ ผู้ใดประพฤติวจีกรรมปรามาสผู้ทรงคุณธรรมแล้ว ประสงค์ต้องให้พ้นจากบาปนั้น ต้องนำตัวเองไปขอขมาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการสวดมนต์บทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย และกล่าวขอขมากรรมในสิ่งที่ได้กล่าววาจาล่วงเกินไปแล้ว หลังจากนั้นต้องรักษาสัจจะ ไม่กล่าววาจาปรามาสผู้ทรงคุณธรรมอีกต่อไป ผลแห่งบาปอันเนื่องจากอกุศลวจีกรรม จึงจะพ้นไปได้


คำถาม ข้อ ๔.
เคยอ่านเจอมาว่า นิพพานจะมีเป็นสถานที่ ที่ผู้ปฏิบัติธรรมบรรลุเข้าสู่นิพพาน แล้วจะอยู่ร่วมกัน จริงหรือไม่คะ ?

คำตอบ
ไม่ทราบ เพราะผู้ตอบปัญหายังพัฒนาจิตเข้าไม่ถึงประสบการณ์ตรงเช่นนั้น


คำถาม ข้อ ๕.
(๑) การทำสมาธิ ทำให้เรียนหนังสือเก่ง จริงหรือไม่?

(๒) การทำสมาธิอย่างง่าย มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร?

คำตอบ
(๑) จริง ตามผลงานวิจัยที่ทำในต่างประเทศ

(๒) สวดมนต์บทสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยก่อนนอน หลังสวดมนต์แล้วเสร็จ ให้กำหนดลมหายใจ ( อานาปานสติ ) นานเท่าที่มีเวลา และต้องปฏิบัติสม่ำเสมอ


คำถาม ข้อ ๖.
การถือศีล ๘ เฉพาะวันพระ แล้วเผลอประพฤติผิดบางข้อ จะตกนรกมากกว่าการถือศีล ๕ หรือไม่ ถ้าใช่ ควรถือแต่ศีล ๕ ก็พอใช่ไหมคะ?

คำตอบ
ใช่ครับ เมื่อมีเหตุปัจจัยลงตัว การรักษาใจให้มีศีล ๕ คุมอยู่ทุกขณะตื่น ก็สามารถนำพาชีวิตไปเกิดในสุคติภพได้ หรือสามารถพัฒนาจิตให้เข้าถึงความเป็นพระอริยบุคคลขั้นต้นได้


คำถาม ข้อ ๗.
ท่านอาจารย์มมีวิธีชวนคุณพ่อ - คุณแม่ ให้สนใจในธรรมะอย่างไรบ้างคะ ให้ลองอ่านหนังสือ อ่านนิทาน ฟังเทป และชวนไปทำทานที่วัดบ้าง แต่ไม่ค่อยได้ผลค่ะ ท่านกลัวความตายมากค่ะ

คำตอบ
ผู้ตอบปัญหามิได้ชวน เพราะท่านทั้งสองสนใจธรรมะอยู่ก่อนแล้ว หากบุพการีของท่านผู้ใดยังมิได้สนใจธรรมะ ผู้เป็นบุตรต้องพัฒนาจิตใจให้มีธรรมะคุ้มครองใจอยู่ทุกขณะตื่น เมื่อใดที่คุณพ่อคุณแม่สนใจธรรมที่ลูกมีอยู่ ความศรัทธาในธรรมะจึงจะเกิดขึ้น หันมาปฏิบัติธรรม แล้วความไม่กลัวตายจึงจะเกิดขึ้น


คำถาม ข้อ ๘.
การทำบุญตักบาตรให้บิดา - มารดาที่ล่วงลับไปแล้ว บิดา - มารดาจะได้รับผลบุญนั้นหรือไม่ ?

คำตอบ
จะได้รับผลของบุญที่มีผู้อุทิศให้ ต่อเมื่อผู้ล่วงลับต้องไปเกิดอยู่ในภพภูมิที่เหมาะต่อการรับบุญ ต้องสื่อสารถึง และต้องมาอนุโมทนาบุญได้


คำถาม ข้อ ๙.
คนตายแล้วประมาณเดือนหนึ่ง ยังวนเวียนอยู่ โดยไปเข้าฝันคนที่รู้จัก ขอถามว่าเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะอะไร?

คำตอบ
เป็นเพราะผู้ที่ตายไปแล้ว ยังมีความหลง ( โมหะ ) สั่งสมอยู่ในดวงจิต


คำถาม ข้อ ๑๐.
(๑) จะมีหรือไม่ ที่เป็นพระโสดาบันโดยไม่รู้ตัว

(๒) จะมีหรือไม่ หากไม่ได้ฝึกสมาธิ วิปัสสนา แล้วจะได้พระโสดาบัน

คำตอบ
(๑) ไม่มีครับ

(๒) มีครับ ในกรณีที่มีบุญเก่าสั่งสมมามากแต่ครั้งอดีต เมื่อได้ฟังผู้รู้มาบอกกล่าว แล้วพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังโดยแยบคาย ( โยนิโสมนสิการ ) จิตย่อมสามารถบรรลุความเป็นพระโสดาบันได้ ดังที่อุปติสสะ ( พระสารีบุตร ) และโกลิตะ ( พระมหาโมคคัลลานะ ) ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่างอยู่ในครั้งพุทธกาล


คำถาม ข้อ ๑๑.
(๑) วิญญาณที่อยู่ตามถนน เมื่อไหร่ถึงจะได้ไปเกิด? แล้วจะไปเกิดเป็นสัตว์ ( รูปนาม ) อะไร?

(๒) เทวดาที่อยู่ต้นไม้ ( รุกขเทวดา ) ชาวบ้านไปตัดแล้ว เทวดาจะไปอยู่ที่ไหน?

คำตอบ
(๑) สัมภเวสีจะไปเกิดได้ก็ต่อเมื่อ มีอายุขัยของร่างครบตามวิบากของกรรมนำเกิด ตัวอย่างเช่น กรรมนำเกิดกำหนดให้ร่างนี้มีอายุการใช้งานนาน ๖๐ ปี แต่เมื่อเกิดมาแล้วได้ ๔๐ ปี ได้ถูกกรรมตัดรอนผลของกรรมนำเกิดหมดสิ้นไป จึงต้องไปเกิดเป็นสัมภเวสีอีกนานถึง ๒๐ ปี จึงจะได้ไปเกิดอยู่ในภพใหม่ในวัฏสงสาร ตามกฎแห่งกรรมที่ผลักดัน ส่วนจะได้ไปเกิดเป็นรูปนามอะไร ขึ้นอยู่กับแรงผลักดันของกรรมถัดไป

(๒) ต้องย้ายไปอยู่ในที่มีสภาวะเหมาะสม เช่น ย้ายวิมานไปอยู่ที่ต้นไม้อื่น


คำถาม ข้อ ๑๒.
แม่ฆ่าตัวตายเมื่อปี พ . ศ . ๒๕๒๕
(๑) แม่ต้องมีวิบากกรรมอย่างไร?

(๒) เราเป็นลูก จะช่วยท่านได้อย่างไร?

คำตอบ
(๑) จิตวิญญาณต้องไปรับอกุศลวิบากในนรก

(๒) ขณะที่จิตวิญญาณรับอกุศลวิบากอยู่ในภพนรก ผู้ที่ถูกสมมุติว่าเป็นลูก ไม่สามารถช่วยได้


คำถาม ข้อ ๑๓.
(๑) หากเจริญสมาธิจนถึงฌานแล้ว จำเป็นด้วยหรือไม่ที่จะต้องไปเกิดเป็นพรหม ( เมื่อสิ้นชีวิตแล้ว ) มีกฎอะไรรองรับครับ

(๒) กรรมสำหรับข้ามเปลือกชีวิตมีอะไรบ้าง?

(๓) มังสวิรัติ มีผลต่อการบำเพ็ญ ศีล สมาธิ มากหรือไม่ครับ

คำตอบ
(๑) ไม่จำเป็น แต่ผู้ที่ตายในขณะจิตทรงฌาน จิตวิญญาณต้องถูกพลังของฌาน ผลักดันให้ไปเกิดเป็นพรหม ตามกฎแห่งกรรม

(๒) กรรมที่สามารถทำให้ข้ามเปลือกของชีวิตได้คือ การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

(๓) มีผลมากสำหรับบางคน
  

คำถาม ข้อ ๑๔.
พระธาตุเสด็จเพิ่มขึ้น ตามพลังของคุณธรรมที่เพิ่มขึ้นในดวงจิตของผู้เก็บรักษาพระธาตุ

คำตอบ
พระธาตุเสด็จเพิ่มขึ้น ตามพลังของคุณธรรมที่เพิ่มขึ้นในดวงจิตของผู้เก็บรักษาพระธาตุ


คำถาม ข้อ ๑๕.
ภิกษุที่เดินบนกลีบกุหลาบที่โรยไว้ ถูกต้องไหมคะ?

คำตอบ
ถูกต้องของผู้มีโมหะ แต่ไม่ถูกต้องสำหรับผู้มีปัญญาเห็นถูกตามธรรม


คำถาม ข้อ ๑๖.
(๑) พระครูบาอาจารย์เคยบอกว่า พระที่จะเป็นพระอรหันต์จะต้องได้พบกับหลวงปู่เทพอุดร ทุกองค์ ( ข้อนี้มิได้ถามให้ตอบ )

(๒) ในปัจจุบันพระสุปฏิปันโน ยังมีโอกาสได้พบหลวงปู่มั่น จริงไหมคะ ?

คำตอบ
(๑) มิได้ถามให้ตอบ

(๒) คำว่า “ยังมีโอกาส” หมายถึง ยังมีช่อง, ยังมีทาง การพบหลวงปู่มั่นจะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ พระสุปฏิปันโนรูปนั้นมีคุณธรรมเสมอกับคุณธรรมของหลวงปู่มั่น และต้องเคยมีความสัมพันธ์กันมาก่อน


คำถาม ข้อ ๑๗.
(๑) อุทธัจจะในสังโยชน์เบื้องสูง ต่างอย่างไรกับ อุทธัจจกุกกุจจะ ในนิวรณ์

(๒) ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ต้องทำอย่างไร? แต่ละคนต้องปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ตนเอง ต่างกันหรือไม่?

(๓) สุขในสมาธิ เหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร กับสุขในฌาน

คำตอบ
(๑) อุทธัจจะในสังโยชน์ ๑๐ หมายถึง ความฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นในจิต อุทธัจจกุกกุจจะ ในนิวรณ์ ๕ หมายถึง ความฟุ้งซ่านและรำคาญ ดังนั้นอุทธัจจะในสังโยชน์ ๑๐ จึงมีแต่ความฟุ้งซ่านของจิต แต่ไม่มีความรำคาญ

(๒) ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม หมายถึง ธรรมใดที่ให้ปฏิบัติก่อน ต้องทำให้ได้ผลก่อน ธรรมใดที่ให้ปฏิบัติทีหลัง ต้องเอาไว้ทำทีหลัง เช่น ศีลต้องคุมใจให้ได้ก่อน เมื่อไปปฏิบัติสมถกรรมฐาน จิตจึงจะเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ ส่วนปัญญาเห็นแจ้ง ต้องเอาไปปฏิบัติภายหลังที่จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิที่สมควรแล้ว

(๓) สุขในสมาธิ เป็นความสุขที่จิตถูกสิ่งเร้าภายนอกเข้ากระทบแล้วมีอารมณ์ลดลง และร่างกายยังมีความทุกข์เกิดได้ ส่วนสุขในฌานเป็นความสุขที่มีอารมณ์ ( ภายใน ) น้อยกว่า และมิได้เกิดจากสิ่งกระทบภายนอก พร้อมทั้งมีร่างกายไม่เกิดความทุกข์ชั่วคราวขณะจิตทรงอยู่ในฌาน


คำถาม ข้อ ๑๘.
ผีข้างถนน ไม่ต้องไปพบยมบาลหรือคะ?

คำตอบ
ยังไม่ต้องไปพบยมบาลในขณะเสวยอกุศลวิบากกรรมเป็นสัมภเวสี


คำถาม ข้อ ๑๙.
(๑) ปฏิบัติธรรมโดยนั่งสมาธิครั้งละ ๒๐ นาที วันละ ๔ ครั้ง สติจะพัฒนาขึ้นบ้างไหมคะ? ทำมาได้ ๓ ปีแล้ว แต่ก็ยังมักโกรธ และฉุนเฉียวอยู่เช่นเดิมค่ะ

(๒) ทำบุญแล้วอุทิศผลบุญให้กับคนที่ยังมีชีวิต เขาจะได้รับหรือไม่?

(๓) การใส่บาตร เป็นการกระทำสังฆทานหรือไม่?

(๔) เมื่อนั่งสมาธิอยู่แล้วทุกวันทั้งเช้า - เย็น จำเป็นต้องสวดมนต์อีกหรือไม่?

คำตอบ
(๑) พัฒนาสติได้ แต่ยังไม่กล้าแข็งถึงระดับที่จะระลึกได้ทันกิเลสมาร

(๒) จะได้รับผลของบุญ ต่อเมื่อผู้อุทิศบุญต้องบอกให้เขาทราบ และเขาต้องอนุโมทนาบุญที่มีผู้อุทิศให้

(๓) หากนำอาหารไปใส่ลงในบาตรแล้ว สงฆ์ผู้รับบิณฑบาตได้นำอาหารไปฉันเป็นการส่วนตัว เรียกว่าเป็น ปุคคลิกทาน แต่หากพระสงฆ์ผู้รับบิณฑบาต นำอาหารไปรวมไว้เป็นส่วนกลาง ให้สงฆ์ในอาวาสนำอาหารไปขบฉันได้ จึงจะเรียกว่าเป็นสังฆทาน

(๔) ฝึกจิตแล้วเกิดความตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ ก็ไม่จำเป็นต้องสวดมนต์ เพราะการสวดมนต์เป็นอุบายให้เกิดสติ แล้วตั้งมั่นเป็นสมาธิโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว


คำถาม ข้อ ๒๐.
พระปัจเจกพุทธเจ้าอายุ ๒๐๐ ปีกว่า อยู่ที่ไหน? และตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่? ( เห็นแต่หลวงปู่หิน )

คำตอบ
อยู่ในป่าบริเวณเทือกเขาภูพาน ขณะนี้มรณภาพไปแล้ว


คำถาม ข้อ ๒๑.
สมรสมีชู้ จะวางใจให้เป็นปรกติได้อย่างไร? เราปฏิบัติธรรมอยู่ แต่ทำไมเขาทำตรงข้ามกับเรา

คำตอบ
จะวางใจให้เป็นปรกติได้ ต่อเมื่อได้ฝึกจิตจนเกิดปัญญาเห็นแจ้งได้แล้ว ย่อมเห็นคู่สมรสเป็นอนัตตา แล้วจิตจะปล่อยวางสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนเป็นอัตโนมัติ เหตุที่เขาทำกับเราอย่างที่บอกเล่าไป เพราะเขาและเรามีปัญญาไม่เสมอกัน


คำถาม ข้อ ๒๒.
อาการเครียดและหมกหมุ่นเรื่องเดิมๆ จะปฏิบัติตัวอย่างไรดีคะ ( ถามไม่จบ )

คำตอบ
ผู้ใดฝึกจิตให้มีสติระลึกทันสิ่งกระทบได้แล้ว อารมณ์อันเป็นกิเลส ( อารมณ์เครียด ) จะไม่เกิดขึ้น


คำถาม ข้อ ๒๓.
คิดว่าธรรมะและการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เวลาอ่าน paper งานวิจัยต่างๆ อ่านแล้วไม่ค่อยสนุก ไม่มีอิทธิบาท ๔ ไม่ค่อยอยากขอ ผ.ศ., ร.ศ. เพราะจะมี Commitment เรื่องผลงานตีพิมพ์ สนใจธรรมะวิจัยมากกว่า อยากจะขอคำแนะนำจากอาจารย์ด้วยครับ

คำตอบ
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอาศัยสังคม ชีวิตจึงจะอยู่รอดได้ จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาทางโลก ( สุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา ) ให้มากเท่าที่ทำได้ และใช้ปัญญาทางโลกแก้ปัญหาให้กับสังคม มนุษย์ตายแล้วต้องไปเกิดใหม่จึงต้องพัฒนาปัญญาทางธรรม ( ภาวนามยปัญญา ) เพื่อใช้ส่องนำทางชีวิตไปสู่สุคติปรภพ


คำถาม ข้อ ๒๔.
ขอเรียนถามว่า ควรจะเผากระดาษเงิน กระดาษทอง บ้านช่อง รถยนต์ ข้าทาสบริวาร ฯลฯ ไม่ทราบว่า ใช้ได้ในปรภพจริงหรือไม่? ควรทำหรือไม่ครับ?

คำตอบ
พุทธศาสนาสอนพุทธบริษัทให้เชื่อในสิ่งที่เป็นความจริง มีเหตุผลรองรับ ตลอด ๔๕ พรรษาที่เผยแพร่ธรรม พระพุทธโคดมไม่เคยสอนพุทธบริษัทให้เข้าถึงกุศลวิบาก ด้วยการเผาสิ่งต่างๆดังกล่าวตามที่เขียนบอกเล่าไป ตรงกันข้าม พระพุทธะสอนพุทธบริษัท ให้ประพฤติเหตุให้ถูกตรงกับผลที่ปรารถนาจะได้รับ เป็นต้นว่า บุคคลจะมีทรัพย์มาก มีบริวารมาก ต้องประพฤติตนเป็นผู้ให้ทรัพย์ ให้สิ่งดีงามแก่ผู้อื่น เมื่อกรรมให้ผลเป็นกุศลวิบาก สิ่งดีงามตามที่ตนปรารถนาจึงจะเกิดขึ้นได้


คำถาม ข้อ ๒๕.
เนื่องจากอยู่ในเพศฆราวาส พระอาจารย์ให้รักษาศีล ๘ แต่บางข้อทำได้ บางข้อทำไม่ได้ ผิดหรือเปล่าคะ?

คำตอบ
ไม่ผิดสำหรับผู้ทุศีล แต่ผิดสำหรับผู้มีศีล ที่ปรารถนาความก้าวหน้าในการพัฒนาจิตให้มีคุณธรรม


คำถาม ข้อ ๒๖.
ยังต้องหาเงิน ทำอย่างไรกับทางธรรม?

คำตอบ
ต้องประพฤติตนให้เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศชาติ อาทิ มีศีลธรรม ไม่พร่าเวลาให้สูญเปล่า มีน้ำใจสงเคราะห์ ทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ นำชีวิตด้วยสติปัญญา สุภาพอ่อนโยน เผื่อแผ่แบ่งปัน ฯลฯ


คำถาม ข้อ ๒๗.
อยากให้แนะนำวิธีการทำสมาธิ ทำอย่างไรจะเกิดสมาธิ?

คำตอบ
วิธีการทำสมาธิให้ได้ผล ต้องประพฤติตนให้มีศีล ๕ คุมกาย วาจา ใจ หลังจากนั้นสวดมนต์ก่อนนอน หลังสวดมนต์แล้วเสร็จต้องเจริญสติภาวนา ตามกรรมฐานที่ถูกกับจริต เช่น เอาจิตจดจ่ออยู่กับลมที่หายใจเข้าออก เอาจิตไประลึกถึงความตาย ( มรณสติ ) อยู่เสมอ เอาจิตจดจ่ออยู่กับความว่างไม่มีที่สิ้นสุด ฯลฯ ผู้ใดมีศีล มีสัจจะ แล้วเร่งความเพียร ประพฤติตามที่ชี้แนะ ทำทุกครั้งที่นึกได้ ทำทุกครั ้ งที่ว่างจากงาน แล้วจิตย่อมมีโอกาสตั้งมั่นเป็นสมาธิได้


คำถาม ข้อ ๒๘.
(๑) การจัดสรรเวลาชีวิตที่ดี ควรจะแบ่งเวลาอย่างไร?

(๒) การตัดสินใจปฏิเสธ ( การตัดปัญหา ) ทำไมเป็นเรื่องที่ยากจัง ซึ่งเราต้องมาทุกข์อยู่ฝ่ายเดียว ควรทำอย่างไร?

คำตอบ
(๑) สำหรับฆราวาสผู้ครองเรือน ควรแบ่งเวลาเป็นสามช่วงเท่าๆกัน คือ ประมาณ ๘ ชั่วโมง ใช้ในการนอน ประมาณ ๘ ชั่วโมง ใช้ทำงานให้กับสังคมส่วนรวม และอีก ๘ ชั่วโมง ใช้ในการพัฒนาจิตตนเอง

(๒) ทำได้ยากเพราะจิตขาดสติ และมีความเห็นผิดไปจากธรรม ผู้ใดพัฒนาจิตให้มีกำลังสติ และมีกำลังของปัญญาเห็นแจ้งได้แล้ว การบริหารจัดการปัญหาของผู้นั้น ย่อมทำได้ง่าย


คำถาม ข้อ ๒๙.
คนที่มีหนี้มาก เคยทำกรรมอะไร?

คำตอบ
กรรมที่ทำให้คนเป็นหนี้มาก เพราะใช้ปัญญาเห็นผิด ส่องนำทางให้กับชีวิต เช่น บริโภคใช้สอยสุรุ่ยสุร่าย ( มักมาก ) คือ เกิดความจำเป็นของชีวิต บริโภคใช้สอยทั้งสิ่งที่เป็นประโยชน์ ( สาระ ) และไม่เป็นประโยชน์ ( อสาระ ) และแสวงหากามสุขที่ต้องลงทุนมาก


คำถาม ข้อ ๓๐.
เวลาสวดมนต์หนูจะนอนสวดมนต์ ไม่ทราบว่าต้องลุกหรือไม่คะ?

คำตอบ
ถูกต้อง เพราะการสวดมนต์สามารถสวดได้ในทุกอิริยาบถที่เหมาะสมกับผู้สวด แต่ไม่ถูกต้องสำหรับคนที่มีความเห็นผิด มีจิตยึดมั่นถือมั่น


คำถาม ข้อ ๓๑.
การนั่งสมาธิที่จิตแน่วแน่ ที่เรียกว่าดิ่งกับสมาธิ แต่จิตขณะนั้นไม่คิด ไม่มีบริกรรมใดๆ เป็นอยู่อย่างนั้น ๑ - ๒ ชั่วโมง จะเรียกได้ว่า จิตเข้าถึงฌานหรือเปล่า?

คำตอบ
จิตเข้าถึงฌานครับ


คำถาม ข้อ ๓๒.
จิตใจต้องการจะสวดมนต์ทุกคืน ( ประจำ ) แต่มีบางคืน ( หลายคืน ) จิตใจว้าวุ่น ไม่ค่อยมีสติเท่าไหร่ ถ้าสวดมนต์แล้วจะสวดแบบไม่มีสติ คิดนอกเรื่องตลอดเลย คิดจะไม่สวดมนต์เพราะกลัวบาป ทำถูกต้องหรือไม่คะ?

คำตอบ
ถูกต้องสำหรับคนที่ไม่มีสัจจะ คือคิดสวดมนต์ทุกคืนแล้วไม่ประพฤติตามที่คิด แต่ไม่ถูกต้องสำหรับคนที่มีสัจจะคิดสวดมนต์ทุกคืน และสวดมนต์ได้ตรงตามที่ตั้งใจไว้


คำถาม ข้อ ๓๓.
(๑) ถ้าสวดมนต์และท่องพุทโธแล้ว แต่ใจยังไม่สงบ ยังมีความโกรธ หรือฟุ้งซ่านถึงเรื่องอดีตอยู่ ควรทำอย่างไรให้การปฏิบัติธรรมเจริญก้าวหน้าขึ้นคะ?

(๒) ถ้าพ่อแม่มีมิจฉาทิฏฐิ แล้วลูกเถียง ลูกจะบาปไหมคะ?

คำตอบ
(๑) ควรเปลี่ยนไปใช้อิริยาบถใหญ่ เช่น เดินจงกรม แล้วเอาจิตจดจ่ออยู่กับเท้าที่ย่างก้าว

(๒) หากลูกเถียงพ่อแม่ แล้วเกิดความไม่สบายใจขึ้นกับพ่อแม่ และ / หรือลูก ถือว่าพฤติกรรรมนั้นให้ผลเป็นบาป


คำถาม ข้อ ๓๔.
ทางสายเอกที่ท่านพูดมานี้ โปรดสรุปให้พวกเราสั้นที่สุด จะขอบพระคุณยิ่ง

คำตอบ
สรุปลงที่พัฒนาจิตตามหลักไตรสิกขา ( ศีล สมาธิ ปัญญา )


คำถาม ข้อ ๓๕.
(๑) ถ้าจิตปล่อยวางได้ จะทำให้พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ได้จริงหรือ?

(๒) สมาธิ, ปัญญาทางโลก แตกต่างจาก สมาธิ, ปัญญาทางธรรม ใช่หรือไม่? มีลักษณะชัดเจนอย่างไร?

คำตอบ
(๑) ไม่จริง หากจิตปล่อยวางกิเลส ( นิวรณ์ ๕ ) ได้ชั่วคราว เมื่อจิตยังทรงอยู่ในฌาน

    จริง หากจิตปล่อยวางกิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์ ( สังโยชน์ ๑๐ ) ได้ ดังที่เห็นได้จากจิตของพระอรหันต์

(๒) ตอบว่า ใช่ ลักษณะที่ชัดเจนทางสมาธิทางโลก เป็นสมาธิระดับตื้นประเดี๋ยวประด๋าว ( ขณิกสมาธิ ) ส่วนปัญญาทางโลก ( สุตมยปัญญาและจินตามยปัญญา ) สามารถรู้ เห็น เข้าใจความจริงได้ด้วยระบบประสาทสัมผัส และเป็นความจริงที่เกิดขึ้นชั่วคราว ( สภาวสัจจะ ) สมาธิในทางธรรมเป็นสมาธิที่มีจิตตั้งมั่นจวนแน่วแน่ ( อุปจารสมาธิ ) ส่วนปัญญาในทางธรรม ( ภาวนามยปัญญา ) สามารถรู้ เห็น เข้าใจความจริง ได้ด้วยจิตที่พัฒนาดีแล้วสัมผัส และเป็นความจริงแท้แน่นอน ( ปรมัตถสัจจะ )


คำถาม ข้อ ๓๖.
ทำอย่างไรจึงจะละจิตว่าเป็นของเราได้ ทราบว่าจิตมีเกิดและมีดับ เหมือนดวงไฟจากเทียน แต่ก็ยังไม่เข้าใจดีค่ะ

คำตอบ
ต้องพัฒนาจิต ( วิปัสสนาภาวนา ) จนเกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งตามดูจิตตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อใดที่จิตดำเนินไปสู่ความเป็นอนัตตา จิตเห็นแจ้งว่า จิตที่มีกิเลสไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ( อนัตตา ) จึงไม่เอาจิตที่มีกิเลสปนเปื้อนมาเป็นของตน


คำถาม ข้อ ๓๗.
สิ่งใดที่ปิดบังไม่ให้เราเข้าใจ เข้าถึงตัวตนที่แท้จริงมากที่สุด

คำตอบ
มีมิจฉาทิฏฐิ ย่อมเห็นจิตว่าเป็นตัวตน ( อัตตา ) ตรงกันข้าม ผู้มีสัมมาทิฏฐิ ย่อมเห็นจิตว่าไม่ใช่ตัวตน ( อนัตตา ) ดังนั้นสัมมาทิฏฐิในมรรคมีองค์ ๘ จึงเป็นเครื่องป้องกัน ( ไม่ใช่ปิดบัง ) ไม่ให้เราเห็นผิดไปจากธรรม


คำถาม ข้อ ๓๘.
(๑) อยากให้อาจารย์ได้เล่าเรื่องการระลึกชาติของอาจารย์ให้ฟังหน่อยครับ

(๒) ยมบาลมีจริงหรือไม่ครับ? ทุกคนมีเทวดาประจำตัวจริงไหม? ทำไมบางครั้งเทวดาไม่ค่อยช่วยเลยครับ?

คำตอบ
(๑) ขออภัยไม่เล่า เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่ทำให้ชีวิตพ้นไปจากทุกข์

(๒) ยมบาลมีจริง สัมผัสได้ด้วยทิพพจักขุ และเฉพาะคนที่มีศีลมีธรรมเท่านั้น ที่มีเทวดาคุ้มครองตน