คำถาม-คำตอบ จากการบรรยายที่ ชมรมแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูภาคใต้

คณะแพทยศาสตร์ และจากการบรรยายที่คณะทันตแพทยศาสตร์

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระหว่างวันที่ 15-16 สิงหาคม 2552

 

คำถาม ข้อ ๑. หนูขอเรียนถามอาจารย์ค่ะว่า การที่ผู้หญิงเป็นชาวพุทธ แล้วได้มาเป็นภรรยาคนที่สองของชายอิสลาม ซึ่งภรรยาของชายอิสลามก็ทราบดี และต่างคนต่างอยู่ไม่เคยพบหน้ากัน และไม่เคยมีปัญหาทะเลาะกัน แต่ภรรยาคนที่สองแม้จะผิดศีลข้อ ๓. แต่ก็ปฏิบัติธรรมเข้าวัดเป็นประจำ หนูจึงอยากทราบว่าภรรยาชาวพุทธ จะผิดศีลข้อ ๓. หรือไม่ แต่ชายอิสลามถือว่าไม่ผิด เพราะศาสนาของเขามีภรรยาได้ถึง ๔ คน จริงหรือไม่

คำตอบ จริงตามที่ศาสนาของเขาบัญญัติไว้เช่นนั้น แต่ต้องเลี้ยงดูภรรยาทุกคนให้ได้รับความเสมอภาคเหมือนกันทุกคน ถ้าพ่อแม่ของหญิงชาวพุทธอนุญาตและภรรยาชายอิสลาม เห็นด้วยให้มีภรรยาคนที่สองได้ ไม่ถือว่าผิดศีลข้อสามในศาสนาพุทธ

 

คำถาม ข้อ ๒. อาจารย์คะ สมัยเด็กหนูชอบกินกบ ชอบจับกบ ถ้าวันไหนจับกบได้น้อย หนูจะหักขากบเล่น ขาละหลายแห่ง จนกบขาลาก เขียวไปทั้งขาค่ะ ปัจจุบันหนูต้องรับอุบัติเหตุ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ในปีเดียวอุบัติเหตุ ๓ ครั้ง และยังมีอุบัติเหตุอีกหลายครั้งคะ รักษาที่โรงพยาบาลหายแล้ว แต่อาการปวดยังไม่หาย ตอนนี้ไปนวดบางวันก็ดีขึ้น บางวันก็ยิ่งปวด แต่ขาหนักมาก เวลานอนปวดจนต้องตื่นค่ะ

(๑)  ศีลข้อ ๑. รักษาไม่ได้ เพราะตียุงทุกวันค่ะ

(๒) หมอนวดจะร่วมรับกรรมไหมคะ ทำอย่างไรหมอจะไม่รับกรรม เพราะหมอเมตตาช่วยเหลือผู้อื่นมากมาย ค่ายกครู ๑๐๐ บาท นวดจนกว่าจะหาย

(๓)  อีกนานไหมคะ หนูจึงจะหมดกรรม เพราะทำบุญ ทำทาน ปฏิบัติธรรมบ่อย สวดมนต์ทุกวัน ทำสมาธิไม่ทุกวันค่ะ ขอวิธีแก้ด้วยค่ะ ขอบพระคุณมากค่ะ

คำตอบ

(๑)  ยังประพฤติทุศีลอยู่ทุกวัน ถือว่ายังทำเหตุให้บาปเกิดอยู่ทุกวัน เมื่อใดที่กรรมให้ผล ผู้ประพฤติปาณาติบาต ต้องได้รับผลของบาปนั้น ด้วยการเจ็บป่วยหรือมีอายุสั้น

(๒)  หมอนวดต้องร่วมรับกรรม ต่อเมื่อเจ้ากรรมนายเวรของผู้ถูกนวด จองเวรกับหมอนวด ถามว่าทำอย่างไรหมอนวดจะไม่ต้องรับกรรม ตอบว่า ตราบใดที่ยังต้องปฏิบัติอาชีพหมอนวดอยู่ ต้องทำบุญใหญ่ด้วยการปฏิบัติธรรม แล้วอุทิศบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวรไปเรื่อยๆ

(๓)  ไม่มีใครสามารถขัดขวางการจองเวรได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นกฎแห่งกรรม ที่ผู้ทำกรรมต้องชดใช้หนี้เวรกรรมจนกว่าจะหมดสิ้น การเจ็บป่วยจึงจะยุติลงได้ โปรดดูวิธีบริหารหนี้เวรกรรม จาก web site kanlayanatam.com ข้อ 728

 

คำถาม ข้อ.๓. มีอาชีพวิสัญญี ใช้ยาระงับความรู้สึกกับผู้ป่วยมาทำผ่าตัด จะเป็นบาปไหมคะ

คำตอบ บาปเกิดขึ้นกับผู้มีอาชีพวิสัญญีได้ ต่อเมื่อถูกจองเวรจากเจ้ากรรมนายเวรของคนไข้

 

คำถาม ข้อ ๔. มนุษย์เกิดมาเพราะกรรมนำมาเวียนว่ายตายเกิด แล้วมนุษย์คนที่เกิดครั้งแรกสุด มีกรรมอะไร มาจากไหน ในเมื่อยังไม่เคยเกิดมาก่อกรรม

คำตอบ อวิชชาเป็นกิเลสที่ผูกมัดใจ ให้ต้องเวียนตาย-เวียนเกิด อยู่ในวัฏสงสาร ความเชื่อในพุทธศาสนาเชื่อว่าี้ ไม่มีสัตว์ใดในภพต่างๆของวัฏสงสารที่ไม่เคยก่อกรรม ทุกสัตว์ล้วนทำกรรมด้วยมีอวิชชาเป็นเหตุให้เกิดกรรมทั้งสิ้น

 

คำถาม ข้อ ๕. เรียนท่าน อ.สนอง

(๑)  ถ้ามีมด แมลงสาบ แมลงต่างๆในบ้าน เจ้าของบ้านให้บริษัทกำจัดมด มากำจัด เป็นบาปหรือไม่ ถ้าบาปควรจะทำอย่างไรกับสัตว์เหล่านี้ที่รุกรานบ้าน

(๒)  มีแมว สุนัข เข้ามาอยู่ในบ้าน แล้วเราเอาไปปล่อยที่อื่นเป็นบาปหรือไม่ ถ้าเป็นบาปจะทำอย่างไรดี

(๓) สามีไปปฏิบัติธรรมสาย .....  แล้วเจอผู้หญิงอีกคนเป็นอิสลามที่มาปฏิบัติธรรมด้วย และเขาบอกว่าได้ญาณ แล้วบอกว่าสามีและผู้หญิงคนนี้เป็นคู่บารมีอธิษฐานจิตร่วมกันมา จึงแต่งงานกันโดยที่ยังมีเราเป็นภรรยาอยู่ เขาสองคนก็ไปปฏิบัติธรรมด้วยกัน เพื่อมรรคผลนิพพาน อยากทราบว่าทั้งสองคนทำถูกหรือไม่ ผลของการปฏิบัติธรรมของทั้งสองคนจะเป็นอย่างไร รบกวนถามท่านอาจารย์ค่ะ

คำตอบ

(๑)  ผู้สั่งให้บริษัทมากำจัด มด แมลงในบ้าน ถือว่าเป็นจำเลยบาปที่หนึ่ง ที่ประพฤติทุศีลข้อปาณาติบาต ผู้ทำบาปไว้แล้วประสงค์จะแก้ปัญหานี้ให้หมดไป โปรดดูวิธีบริหารหนี้เวรกรรม จาก web site kanlayanatam.com ข้อ 728

(๒)  เมื่อใดที่สุนัขและแมว จองเวรกับผู้ที่นำเขาไปปล่อย บาปย่อมเกิดขึ้น หากประสงค์ทำให้บาปนี้หมดไป โปรดดู web site ที่อ้างในข้อ (๑)

(๓)  หากผู้ถามปัญหายังถือว่า สามีเป็นสมบัติของตัวเองอยู่ และยังมิได้อนุญาตให้สามีไปมีหญิงอื่นเป็นภรรยาได้ ถือว่าสามีและหญิงอื่นประพฤติทุศีลข้อสาม เขาทั้งสองคนสามารถปฏิบัติธรรมได้ แต่ไม่สามารถพัฒนาจิต จนเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิ ที่นำสู่การเกิดปัญญาเห็นแจ้งได้

 

คำถาม ข้อ ๖. การทำพิธีตัดกรรม คว่ำบาตร พิธีกรรมนี้จะหลุดพ้นจากวิบากนั้นหรือไม่

คำตอบ ศาสนาพุทธ พระพุทธโคดมไม่เคยสอนให้พุทธบริษัททำพิธีตัดกรรมใดๆ แต่สอนภิกษุให้นำพาชีวิตไปสู่ความพ้นทุกข์ สอนฆราวาสให้อยู่กับโลกโดยมีทุกข์เท่าที่จำเป็น ด้วยการปฏิบัติตนให้มีศีล ๕ คุมใจ ประพฤติจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง ประพฤติฆราวาสธรรม ฯลฯ แต่ก่อนที่พระสมณโคดมจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์อยู่เรื่องหนึ่งว่า ให้สงฆ์ลงพรหมทัณฑ์ (ไม่ว่ากล่าว ไม่ตักเตือน ไม่พร่ำสอน) แก่พระฉันนะ การประพฤติของหมู่สงฆ์เช่นนี้ หากคนในยุคปัจจุบันคิดว่าเป็นการคว่ำบาตรแก่พระฉันนะ ก็ย่อมคิดได้ แต่พระสมณโคดมมิได้เรียกเช่นนี้ และไม่มีพิธีกรรมใดในการลงพรหมทัณฑ์

                อนึ่งการหลุดพ้นจากวิบากของกรรม มีอยู่วิธีเดียวคือ กำจัดความไม่รู้จริง (อวิชชา) ให้หมดไปจากใจได้เมื่อใด เมื่อนั้นสัตว์บุคคลไม่ต้องนำพาชีวิตมาเวียนตาย-เวียนเกิด อยู่ในวัฏสงสารอีกต่อไป จึงจะเรียกว่าหมดกรรม หรือพ้นจากวิบากของกรรม ได้อย่างแท้จริง

 

คำถาม ข้อ ๗. นรกหรือสวรรค์อยู่ในส่วนไหนของโลกหรือจักรวาล

คำตอบ มิได้อยู่ในส่วนไหนของโลกและจักรวาล แต่สวรรค์บางส่วนเป็นมิติละเอียดที่ทับซ้อนอยู่กับโลกและจักรวาล บางส่วนอยู่ห่างไกลออกไปจากโลกและจักรวาลที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ หากผู้ถามปัญหาประสงค์พิสูจน์สัจจธรรมอันเป็นสมมุตินี้ย่อมทำได้ ด้วยการพัฒนาจิตตนเองให้เข้าถึงความตั้งมั่นระดับฌาน แล้วนำจิตออกจากความทรงฌาน ทิพพจักขุญาณอันเป็นตาทิพย์ สามารถเข้าไปรู้เห็นเข้าใจในเรื่องที่ถามได้

 

คำถาม ข้อ ๘. สวดโพชฌงค์ ๗ มี ๑๓ ข้อ ต้องสวดเรียงทุกข้อ แต่จะมีใครทำสมาธิก่อนแผ่เมตตา แผ่บุญกุศล จะขอข้ามไป แล้วทำสมาธิสุดท้ายได้มั๊ยค่ะ

คำตอบ โพชฌงค์ ๗ เป็นคุณธรรมที่มีพลังผลักดันจิต ไปสู่การตรัสรู้ ผู้ใดพัฒนาจิตยังเข้าไม่ถึง การระลึก (สติ) ในสิ่งที่เข้ากระทบจิต การสอดส่องเฟ้นธรรม (ธัมมวิจจยะ) ความเพียร (วิริยะ) ปฏิบัติธรรม ความอิ่มเอมใจ (ปีติ) ความสงบกายสงบใจ (ปัสสัทธิ) ความตั้งมั่นของจิต (สมาธิ) ที่นำสู่การเกิดปัญญาเห็นแจ้ง และความวางใจเป็นกลาง (อุเบกขา) ต่อสรรพสิ่งที่เข้าสัมผัสจิต ผู้นั้นยังไม่สามารถเข้าถึงการตรัสรู้ได้ การสวดโพชฌงค์ ๗ มิได้ทำให้จิตของผู้สวดพัฒนาเข้าสู่การตรัสรู้ แต่การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนเกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดสังโยชน์ ๑๐ ได้ นั่นคือหนทางแห่งการตรัสรู้

 

คำถาม ข้อ ๙.

(๑)  ทำไมการนั่งสมาธิ ถึงได้รับบุญมากกว่าการทำบุญอย่างอื่น

(๒)  นอนสมาธิได้มั๊ยค่ะ เพราะไม่ค่อยมีเวลา ถ้าทำก่อนนอนทุกคืนจะดีไหมคะ

(๓)  ฟังอาจารย์บรรยายแล้ว อยากปฏิบัติให้ได้ฌาน ควรเริ่มยังไงดีคะ

ขอบพระคุณค่ะ

คำตอบ

(๑)  ผู้ใดประพฤติตามบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ได้แล้ว ผู้ประพฤติย่อมมีบุญเกิดขึ้น การประพฤติภาวนาเป็นบุญใหญ่สุด ผู้ใดนั่งสมาธิจนจิตตั้งมั่นเป็นฌาน แล้วจิตหลุดออกจากร่างในขณะทรงอยู่ในฌาน จิตวิญญาณจะถูกพลังของฌานผลักดันจิตให้โคจรไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในพรหมโลก และวิปัสสนาภาวนายังส่งผลให้เข้าสู่นิพานได้ด้วย ส่วนการประพฤติบุญอย่างอื่น พลังของบุญมีน้อยกว่า แต่สามารถผลักดันจิตวิญญาณไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในสวรรค์ได้ แต่ไม่สามารถเข้าถึงพรหมโลกและนิพพาน

(๒)  บุคคลสามารถพัฒนาจิตให้เข้าถึงสมาธิได้ในทุกอิริยาบถ ฉะนั้นนอนทำสมาธิจึงสามารถทำได้ ปฏิบัติได้ทุกคืนยิ่งดี และจะดีที่สุดหากทุกลมหายใจเข้า-ออก ในทุกขณะตื่นมีจิตจิตจ่ออยู่กับการเคลื่อนไหวของลม

(๓)  ผู้อยากพัฒนาจิตให้เป็นฌาน ย่อมพัฒนาได้แต่เข้าไม่ถึงฌาน เพราะความอยากเป็นตัณหา ที่คอยขวางกั้นการพัฒนาจิต หากหมดอยากได้แล้ว ทำใจให้มีศีล ๕ ครบและบริสุทธิ์คุมใจ มีความเพียร มีสัจจะและมีบุญเก่าสนับสนุน โอกาสพัฒนาจิตให้เข้าถึงความตั้งมั่นเป็นฌานย่อมเป็นได้

 

คำถาม ข้อ ๑๐.

(๑)  ใส่บาตรแล้ว จำเป็นต้องกรวดน้ำหรือไม่

(๒)  ถ้าต้องกรวดน้ำมีบทสวดย่อๆหรือไม่

(๓)  ทำไม่บางคนค้ายาเสพติด แต่อยู่สุขสบาย มีบ้านหลังใหญ่โต เมื่อไหร่จะได้รับกรรม

คำตอบ

(๑)  ผู้ใดมีบุญ แล้วประสงค์อุทิศบุญให้สรรพสัตว์ ด้วยการกรวดน้ำหรือไม่กรวดน้ำหลังใส่บาตรย่อมทำได้

(๒)  ถ้าต้องการกรวดน้ำหลังใส่บาตร บทสวดย่อคือ “อิทัง สัพพะสัตตานัง โหตุ สุขิตาโหตุ สัพเพสัตตา” ซึ่งมีความหมายว่า ขอส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง มีความสุขทั่วหน้ากันเทอญ

(๓)  กรรมจากการค้ายาเสพติดยังไม่ให้ผล ผู้ค้ายาเสพติดจึงยังไม่ต้องรับอกุศลวิบากกรรม

 

คำถาม ข้อ ๑๑. การพูดเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเป็นสุข ผิดหรือไม่ พรหมลิขิตมีจริงหรือไม่

คำตอบ การพูดเท็จเพื่อให้ผู้อื่นเป็นสุข ถือว่าผิดศีลข้อ ๕ พรหมลิขิตมีจริงตามความเชื่อของคนที่พูด แต่พระพุทธโคดมตรัสว่า กรรมคือการกระทำเป็นเหตุลิขิตชีวิตของสัตว์ให้เป็นไป ผู้ถามปัญหาลองอดข้าวอดน้ำสักสามวัน แล้วดูว่าชีวิตของตนเองเป็นอย่างไร มีความสุขสบายไหมที่ประพฤติกรรมไม่กินข้าวไม่ดื่มน้ำเช่นนั้น

 

คำถาม ข้อ ๑๒. การทำสมถสมาธิกับวิปัสสนา ต่างกันอย่างไร เริ่มต้นควรนั่งสมาธิอย่างไร

คำตอบ การปฏิบัติสมถภาวนา ผลที่เกิดถูกตรงคือ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ผลที่เกิดถูกตรงคือ จิตเกิดปัญญาเห็นถูกตามธรรม คือเห็นว่าสรรพสิ่งล้วนดำเนินไปตามกฎไตรลักษณ์ (อนิจจัง-ทุกขัง-อนัตตา) เมื่อสรรพสิ่งเป็นอนัตตา สรรพสิ่งไม่มีตัวตนแท้จริง จิตไม่ยึดเอาสิ่งที่ไม่มีตัวตน มาเป็นของตน จิตวางสรรพสิ่งและว่างเป็นอิสระต่อสรรพสิ่ง

เริ่มต้นต้องเอาศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ลงคุมให้ถึงใจ แล้วเอาจิตจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า กำหนดว่า “พุท” จดจ่ออยู่กับลมหายใจออก กำหนดว่า “โธ” ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ โดยมีความเพียรและมีสัจจะเป็นแรงสนับสนุน ทำบ่อยๆจนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วจึงไปปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง คือ เห็นถูกตามความเป็นจริงแท้

 

คำถาม ข้อ ๑๓. ถ้าสติหลุดบ่อย จะมีอุบายอย่างไรจึงจะแก้ไขได้ ขอบพระคุณค่ะ

คำตอบ ต้องพัฒนาจิตให้มีศีลบริสุทธิ์ และมีศีลอยู่ครบทุกขณะตื่นได้เมื่อใดแล้ว การเจริญสติก็จะทำได้ง่าย เร่งความเพียรในการปฏิบัติแล้วกำลังของสติจะมีมากขึ้น สติจะไม่หลุดทำให้อารมณ์ของจิตลดน้อยลงได้

 

คำถาม ข้อ ๑๔. ทำบาปอย่างไรบ้างที่ต้องไปสู่นรก ตกนรกคือเปรตใช่หรือไม่ พระไปบิณฑบาตมาแล้ว แบ่งให้พ่อให้แม่ให้พี่ให้น้อง เอาไปกินก่อน แล้วพระจึงไปฉันอาหารร่วมกับพระองค์อื่นๆ ถามว่าถูกต้องไหม ถ้าเราเห็นอยู่ทุกวันแล้วคิดอยู่ในใจว่า ไม่ถูกต้อง ไม่สมควรทำ เราผู้เห็นจะเป็นบาปไหมที่ไปตำหนิเขาในใจ แล้วเขาผู้กินก่อนพระจะเป็นอะไรไหม เขาบอกว่าไม่เป็นไรเพราะพระให้แล้ว แล้วพระจะบาปไหม เพราะพระว่าเป็นสิทธิของพระ จะแบ่งให้ใครก็ได้ก่อนพระจะฉัน แต่คนที่เขาใส่บาตรเขาว่าพูดไม่ถูก อาจารย์ว่าถูกไหม กรุณาอธิบายค่ะ

คำตอบ สัตว์นรกมิใช่สัตว์เปรต สัตว์นรกเกิดอยู่ในภพนรก สัตว์เปรตเกิดอยู่ในภพเปรต ตัวอย่างพระเทวทัตถูกธรณีสูบลงไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในอเวจีมหานรก พระเจ้าอชาตศัตรูสวรรคตแล้วลงไปเกิดอยู่ในยมโลก ที่เรียกว่า โลหกุมภีนรก เหตุเพราะจับพ่อ (พระเจ้าพิมพิสาร) ขังจนตาย ผู้ที่ประพฤติทุศีลข้อสาม ตายแล้วลงไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในยมโลกที่เรียกว่า สิมพลีนรก ผู้ที่ดื่มสุราเสพยาเสพติด ตายแล้วลงไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในยมโลกที่เรียกว่า อโยคุฬนรก ฯลฯ  ส่วนญาติของพระเจ้าพิมพิสารในอดีต กินอาหารก่อนถวายพระและเมื่อปรุงอาหารแล้วเสร็จ ตักอาหารส่งไปให้ญาติที่บ้าน อาหารที่เหลือนำไปถวายพระ ตายแล้วลงนรก พ้นจากนรกแล้วมาเกิดเป็นเปรต ที่มาร้องขออาหารเสียงโหยหวนต่อพระเจ้าพิมพิสารในครั้งพุทธกาล

         ส่วนเรื่องพระบิณฑบาตได้อาหารมาแล้ว นำไปแบ่งให้พ่อแม่พี่น้องกินก่อน ไม่ถือว่าเป็นบาป เพราะอาหารที่ฆราวาสนำใส่ลงในบาตรแล้ว ถือว่าอาหารนั้นเป็นของภิกษุสงฆ์แล้ว จะแบ่งอาหารของตนไปให้ใครก็ได้ ไม่ถือว่าเป็นบาป และผู้ที่นำอาหารนั้นไปรับประทาน ไม่ถือว่าเป็นบาปเช่นกัน

ผู้ใดเห็นภิกษุประพฤติเช่นที่กล่าวข้างต้น แล้วคิดว่าไม่ถูกต้องไม่สมควรทำ ผู้เห็นเป็นผู้มีความเห็นผิด บาปย่อมเกิดกับผู้เห็นผิดทุกครั้งที่ไปตำหนิเขาในใจ

 

คำถาม ข้อ ๑๕. ทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นในการเกิดเป็นมนุษย์ เท่าที่มีชีวิตอยู่เกิดความเบื่อหน่ายในความเป็นอยู่ของคนในโลก ยอมเชื่อแล้วว่า มนุษย์เกิดมาเพราะกรรม แล้วทำไมมนุษย์ในปัจจุบันนี้ จึงมีแต่ความเห็นแก่ได้ เช่น การทุจริต คอรัปชั่น ฯลฯ

คำตอบ จะหลุดพ้นจากความเป็นมนุษย์ได้ชั่วคราว ต้องทำเหตุให้ถูกตรง เช่นทำใจให้อยู่ใต้อำนาจของโทสะ โลภะ โมหะ ตายแล้วมีโอกาสหลุดจากความเป็นมนุษย์ ลงไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในอบายภูมิ ประพฤติศีล ๕ และบำเพ็ญทานอยู่เสมอ หรือประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ อยู่เสมอ ตายแล้วมีโอกาสหลุดจากความเป็นมนุษย์ ขึ้นไปเกิดเป็นสัตว์ (เทวดา) อยู่ในเทวโลก ปฏิบัติสมถภาวนาจนเข้าถึงความทรงฌาน แล้วตายในฌาน ต้องไปเกิดเป็นสัตว์อยู่ในพรหมโลก หรือประสงค์ไม่เกิดเป็นสัตว์ในภพภูมิใดในวัฏสงสาร ต้องปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดอวิชชาให้หมดไปจากใจ ก็ไม่จำเป็นต้องมาเกิดอีก ทั้งหมดที่กล่าวไว้ต้องทำเหตุให้ถูกตรง แล้วความหลุดพ้นจากการเกิดเป็นมนุษย์ก็จะสมความปรารถนา

 

คำถาม ข้อ ๑๖.

(๑)  มีโต๊ะหมู่บูชาพระพุทธรูปหลายองค์ การจุดธูปบูชาต่างจากการไม่จุดธูปบูชาหรือไม่คะ เพราะบางคนบอกว่า มีพระพุทธรูปแต่ไม่จุดธูปบูชาเหมือนตัวตุ๊กตาเฉยๆ แต่บางคนบอกว่าอยู่ที่ใจ

(๒)  สวดมนต์จนจบ มีบทกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล ถ้าสวดมนต์แต่ไม่ได้กรวดน้ำได้หรือไม่ ต่างกันหรือไม่

คำตอบ

(๑)  การจุดธูปบูชาเป็นอามิสบูชา การไม่จุดธูปจึงไม่ถือว่าเป็นอามิสบูชา คนที่บอกว่าไม่จุดธูปบูชาพระพุทธรูปเป็นเหมือนตุ๊กตา เป็นความเห็นถูกของคนบอก แต่ไม่ถูกของผู้รู้ที่ว่า พระพุทธรูป เป็นรูปสมมุติที่ทำขึ้นแทนองค์พระพุทธเจ้า ส่วนตุ๊กตาเป็นรูปสมมุติที่ทำขึ้นแทนสัตว์อื่นที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้า เทวดา และพรหม ส่วนคนที่บอกว่าการบูชาอยู่ที่ใจนั้น ถูกต้อง เพราะใจมีหน้าที่รู้ คิด นึก

(๒)  การกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล หมายความว่า อุทิศบุญ เช่น ที่เกิดจากการสวดมนต์ ให้กับรูปนามอื่นตามที่ผู้อุทิศปรารถนาจะให้ บุญที่เกิดจากการสวดในมนต์ แล้วมีจิตอุทิศบุญให้กับรูปนามอื่นโดยมิได้กรวดน้ำ ก็ให้ผลเป็นอย่างเดียวกัน คือรูปนามอื่นที่อยู่ในสภาวะมาอนุโมทนาบุญได้ ก็จะได้รับบุญจากการอุทิศนั้น

 

คำถาม ข้อ ๑๗. เรียนท่านอาจารย์

(๑)  ทำอย่างไรจึงจะไม่มีความอยาก

(๒)  เข้าฌานให้ได้ต้องทำอย่างไร

คำตอบ

(๑)  ผู้ใดประสงค์หมดความอยาก หรือไม่มีความอยาก ต้องพัฒนาจิตให้เกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วดับอนัตตา ด้วยการพิจารณาขันธ์ ๕ ตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อใดที่ขันธ์ ๕ ดับ อัตตาหรือตัวตนที่เป็นเหตุให้เกิดความอยาก ย่อมดับตามไปด้วย

(๒)  ต้องปฏิบัติสมถภาวนา จนจิตเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ (อัปปนาสมาธิ) แล้วความทรงฌานของจิตจึงจะเกิดขึ้นได้

 

คำถาม ข้อ ๑๘. กรณีไม่ค่อยได้เข้าวัดหรือทำบุญตักบาตร แต่ทำทานอยู่เป็นประจำ ถามว่า จะครบหลักสูตรการไปสู่สวรรค์หรือเปล่า

คำตอบ เกือบครบหลักสูตรการทำเหตุไปสู่สวรรค์ ผู้ใดเพิ่มเหตุด้วยการบำเพ็ญทานอยู่เนืองนิตย์ พร้อมทั้งมีศีล ๕ คุมใจอยู่ทุกขณะตื่น หรือประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ อยู่เป็นประจำ ตายแล้วมีโอกาสที่พลังบุญ ผลักดันจิตวิญญาณไปเกิดเป็นรูปนามในสวรรค์ได้

 

คำถาม ข้อ ๑๙. เป็นคนที่มองโลกในแง่ลบ ชอบคิดว่า คนที่อยู่ข้างบ้านพยายามใช้เสียงรบกวนประสาทตลอด จะแก้ไขอย่างไรครับ

คำตอบ ผู้ใดมองคนในแง่ลบ ผลที่เกิดตามมาคือ บาปได้เกิดขึ้นกับผู้มอง หากประสงค์มองคนในแง่บวก ต้องเจริญเมตตาและปฏิบัติจิตตภาวนา จนเข้าถึงสติและปัญญาเห็นแจ้งได้แล้ว ทุกครั้งที่มองคนย่อมเกิดบุญเสมอ หากมองคนไม่ดี ก็จะรู้ว่าเขาเป็นครูสอนเรา มิให้ทำตามคนไม่ดี แล้วบุญก็จะเกิดขึ้น หากมองคนดีก็จะรู้ว่าเขาเป็นครูสอนเรา ให้ทำตามแบบเขาแล้วบุญก็จะเกิดขึ้น

 

คำถาม ข้อ ๒๐. ขอเรียนถามว่า ที่วางของเซ่นไหว้ให้แก่เทพเทวดา หรือบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว ท่านเหล่านั้นจะมารับหรือไม่

ขอบพระคุณค่ะ

    คำตอบ พระพุทธโคดมมิได้สอนให้พุทธบริษัทประพฤติเซ่นไหว้ จึงต้องขออภัยที่ไม่บังอาจแสดงความคิดเห็นได้

 

คำถาม ข้อ ๒๑. กราบเรียนถาม ดร.สนอง วรอุไร

(๑)  วิธีที่จะทำไม่ให้ความโลภ โกรธ หลง มีอำนาจเหนือใจทำได้อย่างไร?

(๒)  การที่จะพ้นทุกข์โดยไม่ได้อภิญญาใดๆ มีวิธีอย่างไร? กรุณาเล่ารายละเอียด และวิธีการปฏิบัติให้เข้าใจด้วยค่ะ

(๓)  การที่จะคิด ทำ พูด ให้ดีทุกขณะตื่น อยู่ที่ความคิดเป็นต้นเหตุ ถ้าเราคิดไม่ดีไปแล้ว เรามีสติระลึกได้ แล้วเราจะบาปจากการคิดไม่ดีนั้นหรือไม่ หากเป็นบาปจะแก้ไขอย่างไรให้มีสติไวเท่ากับจิตที่คิดอกุศลนั้น

คำตอบ

(๑)  ผู้ใดประสงค์ไม่ให้ความโลภมีอำนาจเหนือใจต้องดับอัตตา ประสงค์ไม่ให้ความโกรธมีอำนาจเหนือใจ ต้องเจริญเมตตาให้เกิดขึ้นกับใจ และประสงค์ไม่ให้ความหลงมีอำนาจเหนือใจ ต้องเจริญวิปัสสนาภาวนา แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดอวิชชาให้หมดไปจากใจ ดังที่พระอรหันต์ได้ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง

(๒)  ต้องปฏิบัติสมถภาวนา จนจิตเข้าถึงความตั้งมั่นเป็นสมาธิไม่เกินอุปจารสมาธิ แล้วต่อด้วยการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา จนเกิดปัญญาเห็นแจ้ง แล้วใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดอวิชชาให้หมดไปจากใจได้เมื่อใด ความพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงย่อมเกิดขึ้นได้

(๓)  ผู้ใดมีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นแล้ว ผู้นั้นย่อมมีบาปเกิดขึ้นและถูกเก็บไว้ในใจแล้ว ประสงค์แก้ไขบาปต้องประพฤติตามคำแนะนำที่บอกไว้ใน web site ข้อ 728 และประสงค์จะให้มีสติไวรับทันสิ่งกระทบ ต้องเจริญสมถภาวนาจนมีกำลังของสติกล้าแข็งได้แล้ว ความคิดอกุศลจะไม่เกิดขึ้น

 

คำถาม ข้อ ๒๒. ที่บ้านเลี้ยงสุนัข กลางคืนจับสุนัขมาผูกไว้กับเสา ส่วนกลางวันปล่อยตามสบายและให้อาหาร เราจะบาปไหมคะ ถ้าเป็นบาปช่วยบอกวิธีแก้กรรมด้วยค่ะ

คำตอบข้อ บาปครับ แก้ไขปัญหาเรื่องบาป ดู web site ข้อ 728

 

คำถาม ข้อ ๒๓. มีเพื่อนเป็นมะเร็งปอด เร็วๆนี้หมอนัดฉีดคีโม ครั้งที่ ๑ เราจะมีวิธีแนะนำ การนำธรรมะมารักษาจิตและกายอย่างไร หากเราทำบุญจะอุทิศบุญให้เพื่อนได้หรือไม่ อย่างไร? ขอบคุณค่ะ

คำตอบ ประสงค์จะแนะนำเพื่อให้เอาธรรมะมารักษาจิตและกาย สามารถแนะนำได้ หากคนไข้มีความศรัทธาแล้วประพฤติตามคำแนะนำ คือ ปฏิบัติสมถะและวิปัสสนากรรมฐาน จนเข้าถึงธรรมที่ปฏิบัติ คนไข้จึงจะรับธรรมะเข้ามารักษากายใจได้ เท่าที่บุญจะให้ผล อนึ่งหากผู้ถามปัญหาทำบุญให้เกิดขึ้นแล้ว สามารถอุทิศบุญให้เพื่อนได้ แต่เพื่อนจะได้รับอานิสงค์ของบุญก็ต่อเมื่อ เพื่อนต้องรับทราบ และอนุโมทนาในบุญที่มีผู้อุทิศให้นั้น

 

คำถาม ข้อ ๒๔.

(๑)  ทำไมเทพบุตรต้องมีนางฟ้าเป็นบริวาร ในเมื่อมีบุญบารมีเท่าเทียมกัน

(๒)  ทำบุญพร้อมกับอธิษฐานอยากได้หรืออยากเป็น ถือเป็นกิเลสหรือไม่? จะได้บุญหรือไม่?

(๓) การปฏิบัติธรรมจะช่วยป้องกัน หรือรักษาหวัด 2009 ได้อย่างไร?

คำตอบ

(๑)  บุญบารมีเท่าเทียมกันในภพที่เกิด แต่ไม่เท่าเทียมกันในสถานภาพ

(๒)  กิเลสคือสิ่งที่ทำให้ใจเศร้าหมอง ผู้ใดทำบุญแล้วตั้งปรารถนาบรรลุสิ่งดีงาม พร้อมกับทำเหตุให้ถูกตรง ถือว่าเป็นบุญเพราะใจไม่เศร้าหมอง

(๓)  บำบัดรักษาได้ด้วยกำลังของสมาธิ และยิ่งเป็นสมาธิที่นำสู่การเกิดของปีติได้แล้ว การบำบัดรักษาจะให้ผลรวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะปีติทำให้เลือดในกายผ่องใส ทำให้อวัยวะภายในผ่องใส

 

คำถาม ข้อ ๒๕.

(๑)  หนึ่งพุทธันดรกี่ปีคะ ในโลกมนุษย์เหมือนหนึ่งพันปีทิพย์หรือเปล่าค่ะ

(๒)  สัตว์นรกแตกต่างจากสัตว์เดรัจฉานอย่างไร? อะไรบาปหนักกว่า?

(๓)  ญาณ ๑-๑๖ มีอะไรบ้าง? อธิบายสั้นๆ

คำตอบ

(๑)  หนึ่งพุทธันดรยาวนานกว่าหนึ่งพันปีทิพย์ และไม่สามารถคิดเป็นปีมนุษย์ได้ แต่ให้หลักคิดไว้ว่า เมื่อเอาเลข ๑ ไว้ข้างหน้า แล้วเอา ๐ ตามหลังอีกหนึ่งร้อยสี่สิบตัว ความยาวนานเช่นนี้เรียกว่าหนึ่งอสงไขยปี ทุกหนึ่งร้อยปีลดลงหนึ่งปี ลดลงไปเรื่อยๆจนถึงสิบปีแล้วจะไม่ลดอีกต่อไป หลังจากนั้นทุกหนึ่งร้อยปีเพิ่มขึ้นหนึ่งปี เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆจนถึงหนึ่งอสงไขยปี หนึ่งรอบของการลดและการเพิ่ม เรียกว่าหนึ่งอันตรกัป สองร้อยห้าสิบหกอันตรกัปยาวนานเท่ากับหนึ่งกัป (มหากัป) แต่ละพุทธันดรมีความยาวนานไม่เท่ากัน อาทิ พุทธันดรที่เชื่อมต่อระหว่างพระธัมมทัสสีกับพระสิทธัตถะพุทธเจ้า ยาวนานยี่สิบสี่กัป พุทธันดรที่เชื่อมต่อระหว่างพระเวสสภูกับพระกกุสันธะพุทธเจ้า ยาวนานสามสิบเอ็ดกัป พุทธันดรที่เชื่อมต่อระหว่างพระวิปัสสีกับพระสิขีพุทธเจ้ายาวนานหกสิบกัป พุทธันดรที่เชื่อมต่อระหว่างพระปทุมุตตระกับพระสุเมธะพุทธเจ้า ยาวนานสามหมื่นกัป ฯลฯ

(๒)  สัตว์นรกเสวยทุกข์ล้วนในรูปแบบต่างๆด้วยการถูกทรมาน ส่วนสัตว์เดรัจฉาน ทุกข์มากจากความหวาดกลัวภัย มีสุขจากการเสพกามเพียงเล็กน้อย ฉะนั้นสัตว์ในภพนรกจึงบาปหนักกว่า

(๓)  ขออภัย โปรดดูญาณ ๑๖ ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ที่รจนาโดย พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)