คำถาม จากการบรรยายที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

   วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๕

คำถาม ข้อ ๑.
(๑) ท่านมีความเห็นอย่างไรกับการทำบุญและหวังผล เช่น ให้ร่ำรวยเป็นต้น และมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน

(๒) ท่านทำอย่างไรจึงบรรลุธรรม

คำตอบ
(๑) บุคคลสามารถทำบุญได้ด้วยการประพฤติตามบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ( ดู website kanlayanatam.com : ตอบคำถามจากมุกดาหารข้อ ๒ )

ผู้ใดทำบุญแล้ว บุญย่อมเกิดขึ้นกับผู้กระทำ หากทำบุญแล้วหวังผล หากมิได้เป็นไปตามที่คาดหวัง ผลที่เกิดขึ้นคือความไม่สบายใจ ( บาป ) ดังนั้นทำบุญแล้วหวังผล จึงมีโอกาสได้ทั้งบุญและบาป

การทำบุญแล้วตั้งจิตปรารถนาขอให้ร่ำรวย จากมุมมองของผู้รู้จริงแท้แล้ว ถือว่าเป็นความเห็นผิด เพราะคนจะร่ำรวยทรัพย์ได้ ต้องให้ทรัพย์เป็นทาน ดังนั้นโอกาสจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเหตุที่ทำ อนึ่ง ความร่ำรวยทรัพย์นั้น นำความหลง ( โมหะ ) มาให้ ตายแล้วมีโอกาสที่จิตวิญญาณ จะถูกโมหะผลักดันให้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ดังตัวอย่างที่โตเทยยพราหมณ์ ตายแล้วไปเกิดเป็นลูกสุนัขอยู่ในครั้งพุทธกาล

(๒) คำว่า “บรรลุ” หมายถึง สำเร็จหรือถึง เช่น ปฏิบัติสมถกรรมฐานแล้วมีจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ เรียกว่าบรรลุธรรม ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้วมีจิตเกิดปัญญาเห็นแจ้ง เรียกว่าบรรลุธรรม ใช้ปัญญาเห็นแจ้งกำจัดสังโยชน์ ๓ ( สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ) ได้ เรียกว่าบรรลุธรมที่สามารถปิดอบายภูมิได้ ฯลฯ

บุคคลจะบรรลุธรรมได้ต้องมีเหตุปัจจัยถึงพร้อม ตัวอย่างเช่น อุปติสสะ ( พระสารีบุตร ) มีบุญบารมีสั่งสมเป็นปัจจัยมามาก เมื่อได้ฟังธรรม ( เหตุ ) จากพระอัสสชิกล่าวแล้ว ใช้จิตที่สงบพิจารณาโดยแยบคาย ( โยนิโสมนสิการ ) จึงมีจิตบรรลุโสดาปัตติผล แต่เหตุปัจจัยคนที่มาเกิดอยู่ในสมัยปัจจุบันมีน้อย จะเข้าถึงปัญญาเห็นแจ้งได้ ต้องนำตัวเองเข้าปฏิบัติสมถกรรมฐาน จนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิให้ได้ก่อน แล้วจึงต่อด้วยวิปัสสนากรรมฐาน จึงจะมีโอกาสบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันได้


คำถาม ข้อ ๒.
ในขณะที่ยังต้องทำงานอยู่ จะปฏิบัติธรรมให้ถึงฌานได้อย่างไร

คำตอบ
การปฏิบัติธรรมเพื่อให้จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแน่วแน่ ( ฌาน ) ต้องหาเวลว่างจากการทำงาน มาปฏิบัติสมถภาวนาโดยมีศีล มีสัจจะ และมีความเพียรเป็นแรงสนับสนุน เอาศีลที่บริสุทธิ์ลงคุมให้ถึงใจ กาย วาจา และใจ มีศีลตรงกัน เรียกว่า มีสัจจะ เมื่อเร่งความเพียรปฏิบัติสมถภาวนา ตามกรรมฐานที่ตรงกับจริต ( ดู www.kanlayanatam.com ข้อ ๒๒๒๐ ) แล้วโอกาสที่จิตตั้งมั่นเป็นฌานย่อมเกิดขึ้นได้


คำถาม ข้อ ๓.
(๑) จะเริ่มต้นอย่างไรให้สามารถเข้าฌาน และสามารถระลึกชาติได้

(๒) เนื่องจากแต่ละวันมีงานที่จะต้องรับผิดชอบ จึงหาเวลาที่จะปฏิบัติธรรมได้ยาก อาจารย์มีคำแนะนำ

คำตอบ
(๑) ปฏิบัติตามข้อ ๒ .

(๒) สวดมนต์ก่อนนอน หลังสวดมนต์เจริญอานาปานสติ ตามเวลาที่มี เมื่อกิจกรรมทั้งสองแล้วเสร็จ ต้องอุทิศบุญกุศลให้กับเจ้ากรรมนายเวร


คำถาม ข้อ ๔.
อยากให้อาจารย์เล่าเรื่องใบเมเปิ้ล เพราะเรียนที่ต่างประเทศ

คำตอบ
เนื่องการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ต้องทำงานมากชั่วโมง ( ๐๘ . ๐๐ - ๒๔ . ๐๐ น .) อยู่เป็นประจำ จึงเกิดความเหนื่อยล้า วิธีแก้ปัญหาความเหนื่อยล้า คือ หลังจากทานอาหารเที่ยง ( โยเกิรต์ ฝรั่งทอด ช๊อคโกแลต ) แล้วเสร็จ ได้นั่งกำหนดจิตโดยพิจารณาความว่างไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอารมณ์ นานประมาณ ๑๕ นาที ปฏิบัติเช่นนี้ทุกวัน ผลปรากฎว่า จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้วเห็น ( ขณะลืมตา ) ใบเมเปิ้ลเปลี่ยนจากสีเขียวอ่อน เป็นสีเขียวแก่ แล้วเปลี่ยนต่อไปเป็นสีเหลือง แล้วเปลี่ยนต่อไปเป็นสีแดง แล้วเปลี่ยนต่อไปเป็นสีน้ำตาล หลังจากนั้นใบเมเปิ้ลได้ร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน แล้วย่อยสลายเป็นอณูเล็กๆแทรกซึมลงสู่ผิวดิน แล้วถูกรากของต้นเมเปิ้ลดูดเข้าสู่ลำต้น ไปโผล่เป็นตุ่มสีเขียวเล็กๆที่กิ่ง แล้วคลี่บานออกเป็นใบสีเขียวอ่อน เปลี่ยนแปรเช่นนี้อยู่สามรอบ เรียกการเห็นเช่นนี้ว่า อุคคหนิมิต ซึ่งมีผลให้คลื่นสมองเปลี่ยน และมีความจำดีขึ้น ทำให้เรียนสำเร็จได้ง่าย


คำถาม ข้อ ๕.
สถานที่ปฏิบัติธรรมที่อาจารย์แนะนำ

คำตอบ
แนะนำวัดมเหยงคณ์ จังหวัดอยุธยา


คำถาม ข้อ ๖.
อาจารย์เชื่อเรื่องมนุษย์ต่างดาว ที่ปฏิบัติธรรมจนมีจิตสูงกว่ามนุษย์โลกไหม ?

คำตอบ
จากประสบการณ์ตรง เชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวมีจริง แต่ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องการปฏิบัติธรรมของเขา


คำถาม ข้อ ๗.
ขณะเข้าปฏิบัติธรรม เวลานั่งภาวนาแล้วจะมีเสียงพระสวดมนต์ติดในหูทั้งสองข้าง ทั้งในห้องกรรมฐานและในห้องพักผ่อน กำหนดได้ยินไม่ทัน ขอคำแนะนำจากอาจารย์ด้วยนะคะ

คำตอบ
ต้องกำหนดว่า “ได้ยินหนอๆๆๆๆ” ไปเรื่อยๆ จนกว่าเสียงที่ได้ยินนั้นจะดับไป ( เสียงไม่ดับไม่เลิกกำหนด ) เมื่อเสียงดับไปแล้ว ให้ดึงจิตกลับมาสู่องค์ภาวนาเดิม วิธีนี้เป็นการเพิ่มกำลังของสติให้มีมากขึ้น


คำถาม ข้อ ๘.
ที่บอกว่าทำบุญแล้วแก้กรรมได้ มีหรือเปล่าคะ

คำตอบ
คำว่า “แก้” หมายถึง คลายจากที่ผูก หรือคลายจากที่มัดเอาไว้ จิตของสัตว์บุคคลย่อมเก็บสั่งสมผลของกรรม ( ผูกไว้ ) ดังนั้นทำบุญแล้วแก้กรรมได้ หมายความว่าทำบุญให้มีผลมากกว่าบาปหรือให้มีผลใหญ่กว่าบาป หนี้เวรกรรม ( อกุศลวิบาก ) ย่อมมีโอกาสหมดสิ้นไปได้ ดังตัวอย่างของพระวักกลิ ได้โยนิโสมนสิการธรรมะจากพระโอษฐ์ แล้วจิตเข้าถึงอรหัตตผล จึงเลิกคิดฆ่าตัวตาย หากถือว่าปรากฏการร์เช่นนี้เป็นการแก้กรรม ก็น่าจะตอบว่าเป็นไปได้ ตรงกันข้าม พระพุทธโคดมตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ยังต้องรับอกุศลวิบาก จากเศษของก้อนหินใหญ่ที่พระเทวฑัตกลิ้งลงมาจากยอดเขา หมายจะทับพระองค์ให้ตาย แต่ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยแค่ห้อพระโลหิตเท่านั้น อย่างนี้ถือว่ายังแก้กรรมไม่ได้ เว้นไว้แต่ว่าดับรูปดับนามเข้านิพพานได้แล้ว หนี้เวรกรรมที่เหลือทั้งหมดจึงถูกยกเลิกโดยปริยาย


คำถาม ข้อ ๙.
ปฏิบัติอย่างไรจึงจะมีสติตลอดเวลา และการมีสติตลอดเวลามีประโยชน์อย่างไร

คำตอบ
หากผู้ถามปัญหามีความประสงค์ให้จิตมีสติคุม ต้องประพฤติตามหลักไตรสิกขา ( ศีล สมาธิ ปัญญา ) คือ เอาศีลลงคุมให้ถึงใจ แล้วนำตัวเองเข้าปฏิบัติสมถภาวนา โดยมีความเพียรเป็นแรงสนับสนุน คือทำทุกครั้งที่นึกได้ ทำทุกครั้งที่ว่างจากงานภายนอก โอกาสที่จิตจะมีสติคุม จึงจะเกิดขึ้นได้

สติเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่งของจิต ผู้มีสติจึงระลึกได้ นึกได้ ไม่ลืม

ถาม : สติมีประโยชน์อย่างไร

ตอบ :
- สติเป็นมหากุศล
- สติทำให้เป็นผู้ไม่ประมาท
- มีสติแล้วทำให้ไม่หลงลืมเมื่อชรา
- สติเป็นบ่อเกิดแห่งคุณธรรมทั้งปวง
- มีสติแล้วสามารถป้องกันอบายภูมิได้
- มีสติแล้วทำให้เข้าถึงความสงบสุขได้
- สติเป็นพื้นฐานแห่งการพ้นทุกข์
   ฯลฯ