ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะ

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ครั้งนั้น ชนทั้งหลายนั่งประชุมกันในราชสำนัก ได้ยกเรื่องเงินและทองขึ้นสนทนากันว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมยินดีและรับทองและเงิน

ในที่ประชุมนั้น มีนายบ้านชื่อมณีจูฬกะรวมอยู่ด้วย เขาได้กล่าวแก่ที่ประชุมนั้นว่า

“ นาย พวกท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะ พระสมณะไม่ยินดี และไม่รับทองและเงิน พระสมณะมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน ”

เมื่อนายบ้านได้ชี้แจงความจริงให้ที่ประชุมนั้นเข้าใจแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น และกราบทูลต่อไปว่า

“ เมื่อข้าพระพุทธเจ้า กล่าวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามพระผู้มีพระภาค ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่าพยากรณ์ธรรมอันสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางรูป ผู้กล่าวตามวาทะ ย่อมไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียนหรือพระพุทธเจ้า ”

พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

“ เอาละนายบ้าน เธอพยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามเรา ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ

ดูก่อนนายบ้าน ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะโดยแท้ สมณะไม่ยินดีทองและเงิน สมณะไม่รับทองและเงิน สมณะมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน ทองและเงินควรแก่ผู้ใด แม้กามคุณทั้งห้าก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณทั้งห้าควรแก่ผู้ใด เธอพึงจำผู้นั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า มีปกติมิใช่สมณะ มีปกติมิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร

เราจะกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ แต่เราไม่กล่าวโดยปริยายไร ๆ ว่า สมณะยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน ”

สัตตสติกขันธกะ วินัย ๗/๓๒๒