ชีวิตเสรี-จิตอิสระจึงไร้ทุกข์

ให้ยอมรับแต่ต้องแก้ไข

คนเราทุกข์ใจ เพราะไปยอมรับในสิ่งที่ต้องแก้ไข และไปแก้ไข ในสิ่งที่ต้องยอมรับ ทุกคนต้องมีสิ่งที่บกพร่องไม่ประการใดก็ประการหนึ่งไม่ว่าจะเป็นข้อบกพร่องของความคิด การกระทำ คำพูด สิ่งเหล่านี้สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ อย่าพยายามให้ผู้อื่น หรือสังคมยอมรับเราท่าเดียว แต่เราต้องมีความคิด คำพูด การกระทำ ที่บริสุทธิ์ยุติธรรม ถูกต้อง อย่าไปดูว่าใครจะยอมรับหรือไม่ ให้ยอมรับตัวเองว่าเราทำดีที่สุดแล้ว จงเข้าใจและพอใจตัวเอง

คนเราต้องแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด ปัญหาใดแก้ไขด้วยการยอมรับ ก็ควรฝึกจิตใจให้ยอมรับ สิ่งนั้นให้ได้ เช่น เรื่องการพลัดพรากสูญเสียกับบุคคลหรือสิ่งของอันเป็นที่รักผูกพันหรือปัญหาถูกนินทาว่าร้ายอิจฉาริษยา หรือมีหนี้สิน กิจการล้มจนหมดตัว หรือสามีแฟนทิ้งไปมีใหม่ จงยอมรับสภาพความจริงว่า มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิตที่จะต้องพบเจอกับเรื่องดีบ้าง ร้ายบ้าง ผิดหวังบ้าง สูญเสียบ้าง อย่าตกใจให้ทำใจยอมรับกับมัน แล้วลืมมันไป ให้คิดเสียว่า จงสงบใจเข้าสู่สมาธิแล้วพิจารณาปลดปล่อยอารมณ์การยึดติด ทำจิตให้ว่างเบาสบายที่สุด อย่าไปเป็นทุกข์กับมัน

จงสลัดโยนทิ้งความคิดที่ทำให้เป็นทุกข์ออกไปจากจิตแล้วจงคิดตรงข้ามแบบใหม่ที่ทำให้ไม่เป็นทุกข์ ความคิดคือความทุกข์ถ้าคิดให้ถูกให้เป็นความทุกข์จะไม่มี

 

ฝึกอยู่คนเดียว อยู่กับความสงบ

ความสับสน วุ่นวาย ในสังคมคนรอบข้าง ทำให้เกิดเรื่องราวมากมาย การได้อยู่คนเดียวในที่สงบ จะทำให้จิตใจผ่อนคลาย สบายอารมณ์ขึ้น แล้วจงคิดทบทวนว่าควรจะทำกับมันอย่างไรให้ดีที่สุด โดยที่ใจเราไม่ต้องไปแบกมันไว้ให้หนักเปล่า ๆ

เมื่อเรามีปัญหาชีวิต เจอเหตุการณ์ที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ขอให้ท่านจงวางปัญหานั้นลงบนโต๊ะ หรือเก็บใส่ลิ้นชักเอาไว้ก่อน แล้วจงไปอยู่กันต้นไม้ภูเขา สายน้ำ หรือท้องฟ้า จงมองดูธรรมชาติ แล้วน้อมนำจิตเรา ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งแวดล้อมนั้น เมื่อดูท้องฟ้าก็จงทำใจให้ว่างเปล่าเหมือนเช่นท้องฟ้า เมื่อดูต้นไม้ ก็จงทำใจให้เหมือนเช่นต้นไม้ให้ใจร่มรื่นเยือกเย็น เป็นที่พักร้อนได้ เมื่อมองดูภูเขา จงทำใจให้หนักแน่นมั่นคงไม่หวั่นไหว เหมือนภูเขา เมื่อมองดูสายน้ำจงพิจารณาว่า สายน้ำเปรียบเหมือนกับปัญหาต่าง ๆ ที่มันไหลอยู่เรื่อย ถ้าเราไม่กระโดดลงไปในกระแสน้ำ เราก็ไม่ต้องโดนน้ำซัดพาไปให้ได้รับความทุกข์ เจ็บปวด แต่เราพิจารณาดูกระแสน้ำ หรือปัญหาอยู่บนฝั่ง ไม่กระโจนลงไป เราก็จะปลอดภัยไม่เสี่ยงอันตราย

จงมีปัญญา มองดูเหตุการณ์ต่าง ๆด้วยใจที่สงบ คิดพิจารณาปัญหาต่าง ๆ ให้ดีที่สุด จะทำให้ใจไม่เครียด ไม่กลุ้มใจแล้วเราจะมีทางออกแก้ไขปัญหาได้อย่างสบายใจ ไร้กังวล

 

เข้าใจธรรมชาติ เข้าใจชีวิต

เราควรจะหาเวลาว่าง ๆ ไปอยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น ไปนั่งดูสายน้ำที่กำลังไหล ระลอกคลื่นที่กระทบกันเข้ากับแสงแดดส่งประกายระยิบระยับ หรือมองดูฝูงนกที่กำลังโผบินออกจากสุมทุมพุ่มไม้ พากันส่งเสียงร้อง จงมองดูชื่นชมธรรมชาติ ให้ใจไหลเข้าสู่ความบริสุทธิ์ เป็นหนึ่งเดียวกันและอยู่กับปัจจุบันขณะนั้น นับว่าเป็นช่วงเวลาอันประเสริฐสุขสงบยิ่ง

ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราควรเรียนรู้ ควรเข้าใจกฏเกณฑ์และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะชีวิตเรากับธรรมชาติที่แวดล้อมล้วนแต่มีคุณค่าที่เท่าเทียมกันจึงควรสนใจศึกษาให้ถ่องแท้ โดยไม่ต้องไปสนใจกับพวกลาภยศชื่อเสียง ฯ ซึ่งเปรียบประดุจความฝัน มันไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไรที่เราจะไปหมายมั่นยึดถือเป็นเจ้าของ

การฝึกจิตปฏิบัติธรรม นอกจากเรามีสติแล้วจะต้องมีสัมปชัญญะด้วย คือการมีความรู้สึกตัวทั่วถึง ว่าในขณะนั้น ๆ กำลังทำ พูดหรือคิดอะไรเป็นการรู้เท่าทันการณ์แล้วพิจารณาว่า จะเอาไว้หรือสลัดออกไปจากจิต

การดำเนินชีวิต ต้องประพฤติธรรมไปด้วย เพื่อเวลาที่เราฟังอะไรจะได้ยิน ดูอะไรจะได้เห็น ไม่ปล่อยจิตใจให้ล่องลอยไป โดยขาดสติสัมปชัญญะ เมื่อเราปฏิบัติอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ย่อมแลเห็นความงดงาม ความอัศจรรย์ใจซึ่งประจักษ์อยู่ต่อหน้าเรา เหมือนยืนอยู่บนภูเขา ย่อมมองเห็นได้กว้างไกลและชัดเจน

ไม่ว่าจะเป็นน้ำค้างที่จับเกาะตามใบไม้ หญ้า ดวงอาทิตย์ ที่กำลังขึ้นหรือลับจากขอบฟ้า ระลอกน้ำที่ถูกกระแสลมพัดพริ้วไหว เราจะเห็นความแตกต่างระหว่างจิตที่นำความสับสน เป็นทุกข์มาให้ และจิตที่นำความสงบสุขไร้ทุกข์มาให้ แล้วเราจะได้เลือกทางดำเนินชีวิตได้ถูกว่าจะเอาอย่างไร จะไปทางไหนดี ต้องดู รู้ เห็นมันด้วยปัญญา

จงอยู่กับธรรมชาติบ่อย ๆ แล้วท่านจะเกิดปัญญา รู้จักเข้าใจชีวิตมากขึ้น จนมีแนวทางดับทุกข์ทางใจได้ เมื่อมีปัญหาชีวิต จงน้อมจิตเข้าสู่ความสงบ แล้วพิจารณาปัญหาด้วยปัญญาแก้ไขให้ดี ถูกต้องที่สุดโดยที่ไม่หนี ไม่สู้ ไม่อยู่ ไม่ไป ไม่ปรุงแต่ง ทำจิตให้ว่างเปล่า ปล่อยวางทุกสิ่ง สิ่งสูงสุดและความสำเร็จจะเกิดขึ้นภายในใจของท่าน

 

ทุกสิ่งเป็นมายาลวง ไม่ควรยึดถือ

ตามธรรมดาจิตใจของคนเรา ชอบเอาเรื่องเก่าที่ผ่านไปแล้วมาคิดและฟุ้งซ่านคิดเรื่องข้างหน้าที่ยังมาไม่ถึง ธรรมชาตจิตชอบคิดอยู่แบบนี้แต่ผู้มีปัญญาจะไม่เข้าไปคิดปรุงแต่ง ไม่ไปยึดถือเอาจริงเอาจังกับความคิดนั้น จะรู้เท่าทันว่าธรรมชาติของจิตมันต้องคิด เราก็ฝึกจิตให้คิดอยู่ในปัจจุบันมันจะได้ไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวายให้ความคิดอยู่กับการกระทำคำพูดในขณะปัจจุบันนั้น จะได้สติ สมาธิ ตามธรรมชาติที่จิตมันอยู่กับสิ่งนั้น

ระวังรักษาจิต ไม่ให้ไปสร้างความอยากขึ้นมา ว่าอยากจะได้ดี มี เป็น แม้ชีวิตเราจะเกิดเรื่องเลวร้าย เช่นมีคนนินทาว่าร้าย เกิดความสูญเสียพลัดพรากจากกัน หรือเกิดเรื่องที่เราไม่ต้องการ ไม่ปรารถนา เราต้องทำใจยอมรับสภาพว่า มันเป็นธรรมดาของชีวิตที่ใคร ๆ ต้องเจอแบบนี้กันทุกคน มันเป็นหน้าที่ของเราจะต้องฝึกจิตให้ปกติอยู่เสมอ มีสติเฝ้ามองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยใจที่สงบ แล้วพิจารณาถึงกฎไตรลักษณ์ซึ่งทุกชีวิตจะต้องพบเจอกับมัน ไม่อยากได้ก็ต้องได้ ไม่อยากเจอก็ต้องเจอ นั่นคือทุกคนต้องพบเจอกับสิ่งไม่แน่นอน ต้องเปลี่ยนแปลง ไม่มีอะไรยั่งยืนมั่นคง ถ้าไปยึดถือเอามาเป็นของเราก็จะเกิดความทุกข์ขึ้นมาทันที แล้วในที่สุด ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา มันก็เสื่อมสลายหมดไปไม่เหลืออะไรเลย แม้แต่ชีวิตร่างกายเรา ก็ต้องถูกเอาไป เผาหรือถูกฝังด้วย จึงเรียกว่าไม่มีตัวตนที่แท้จริง มีได้เพียงสมมุติชั่วคราวเท่านั้น

 

รู้เหตุแห่งทุกข์ จึงรู้วิธีดับทุกข์

พระพุทธเจ้าสอนว่า ความรู้ใดเป็นความรู้ในเหตุให้เกิดทุกข์ รู้ในความทุกข์ รู้ความดับทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เรียกว่า สัมมาทิฏฐิซึ่งพวกเราจะต้องมีความเห็นให้ถูกต้อง ตาม ๔ ข้อนี้ แล้วต้องหาทางแก้ไขปัญหาชีวิตและความทุกข์ใจตามแนวทางนี้ ไม่ใช่มัววิ่งหาตัวบุคคลหรือสิ่งภายนอกอื่น ๆ ไปอธิษฐาน อ้อนวอนขอให้ได้ตามใจเราตามความอยากได้เมื่อไม่รู้สาเหตุของการเกิดทุกข์ จึงไปหลงเชื่อสิ่งอื่น หรือตัวบุคคลที่สอนผิด ๆ ให้เราลุ่มหลงมัวเมางมงายทำให้ต้องเสียเวลาถูกหลอกให้เสียเงิน ปัญหาความทุกข์ก็แก้ไขไม่ได้ จึงโง่ต้องตกเป็นเหยื่อให้เขาหลอก เพราะไม่รู้จักชีวิตตัวเองตามที่เป็นจริง

แม้มีความรู้ทางโลกมากมาย หรือเป็นใหญ่เป็นโต ก็ยังไม่รู้จักแนวทางพุทธธรรมดับทุกข์ที่ถูกต้อง การศึกษา ปฏิบัติธรรม ฝึกจิตใจ ทำเพื่อให้เราได้รู้จักชีวิตตัวเรานั่นเอง เป็นการเรียนรู้ว่า แท้ที่จริงแล้ว ทั้งชีวิตตัวเรานั่นเอง เป็นการเรียนรู้ว่า แท้ที่จริงทั้งชีวิตมันไม่มีอะไรเป็นแก่นสารสาระมั่นคงยั่งยืนเลย ก่อนที่เราจะเกิดมาก็ไม่มีอะไร พอเกิดมาก็มาแต่ตัวเปล่าเปลือย ที่เรารู้สึกว่ามีอะไรมากมายในชีวิตก็เพิ่งมาหาเอาใหม่ เพิ่งมามีทีหลังนี้เอง(แต่เดิมมาก็ไม่มี)

เราต้องวิ่งวุ่นดิ้นรนแสวงหากันทั้งชีวิต ด้วยความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า หาสิ่งของภายนอก แล้วเป็นทุกข์วุ่นวายไม่สิ้นสุด ความทุกข์มีมากกว่าความสุข แต่ถ้าท่านหาของภายในให้มาก คือ หาความสุขสงบทางใจ แล้วลดละความอยากได้ออกไปให้มากที่สุด รู้จักหยุด รู้จักพอเมื่อนั้นจิตใจของท่านก็จะเกิดความสุขที่แท้จริง จิตจะเป็นอิสระไม่มีเรื่องราวต่าง ๆ มาทิ่มแทงใจ

จากหนังสือ ชีวิตเสรี-จิตอิสระจึงไร้ทุกข์

ของพระอาจารย์ยุทธนา เตชปัญโญ