จิตตานุภาพ    โดยท่านเจ้าคุณนรรัตน์ราชมานิต วัดเทพศิรินทราวาส

จิตตานุภาพ คืออานุภาพของจิต แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ

•  จิตตานุภาพบังคับตนเอง

•  จิตตานุภาพบังคับผู้อื่น

•  จิตตานุภาพบังคับเคราะห์กรรม

 

จิตตานุภาพบังคับตนเอง

“ ตนของตนย่อมเป็นที่พึ่งแก่ตนเอง ” เหตุนี้จึงต้องหัดบังคับตนเอง ผู้อื่นถึงจะเป็นศัตรูก็ไม่เท่าตนเป็นศัตรูต่อตนของตนเอง ถ้ายังไม่สามารถบังคับตนของตนเองให้ดีได้แล้ว ก็อย่าหวังเลยว่าจะบังคับผู้อื่นให้ดีได้

 

จิตตานุภาพบังคับตนเองมี ๗ ประการ

•  บังคับความหลับและความตื่น

การหัดนอนให้หลับสนิทเป็นกำลังสำคัญยิ่งนัก เหตุที่ทำให้นอนไม่หลับมี ๒ ประการ คือ

๑.๑ ร่างกายไม่สบายพอ

อาหารที่ย่อยยากก็เป็นเหตุให้ร่างกายไม่สบายพอ ควรนอนตะแคงข้างขวา ถ้านอนหงายก็ควรให้เอียงขวานิดหน่อย ถ้าต้องการพลิกก็ควรพลิกจากขวานิดหน่อย แล้วกลับตะแคงขวาตามเดิม นอนย่อมให้อวัยวะทุกส่วนพักผ่อน อย่าให้เกร็งตึงและไม่ควรตะแคงซ้าย

๑.๒ ความคิดฟุ้งซ่าน

เวลานอนถ้าจิตฟุ้งซ่าน ควรคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่อย่างเดียว ครั้นแล้วก็เลิกละไม่คิดสิ่งนั้น และไม่คิดอะไรอื่นต่อไปอีก กระทำใจให้หมดจดเหมือนน้ำที่ใสสะอาด

ควรบังคับตัวให้ตื่นตรงตามเวลาที่ต้องการ ก่อนนอนต้องคิดให้แน่แน่ว สั่งตนเองให้ตื่นเวลาเท่านั้น เมื่อถึงเวลาก็จะตื่นได้เองตามความประสงค์

 

•  ทำความคิดให้ปลอดโปร่ง ว่องไว ในเวลาตื่นขึ้น อย่าให้เซื่องซึม “ ต้องเอาความคิดในเวลาตื่นเช้า ไปประสานติดต่อกับความคิดที่เราทิ้งไว้เมื่อวันวานก่อนที่จะนอนหลับ ” ก่อนนอนควรจดบันทึกกิจการที่เราจะต้องทำในวันรุ่งขึ้นนั้นไว้ในกระดาษแผ่นหนึ่งเสมอ พอตื่นขึ้นมาก็หยิบดูเพื่อปลุกความคิดให้ตื่น

•  เปลี่ยนความคิดได้ตามต้องการ คือเมื่อต้องการคิดอย่างใดก็ให้คิดได้อย่างนั้น ทิ้งความคิดอื่น ๆ หมด และเมื่อไม่ต้องการคิดอีกต่อไป จะคิดเรื่องอื่นก็ให้เปลี่ยนได้ทันที และทิ้งเรื่องเก่าโดยไม่เอาเข้ามาพัวพัน คือทำใจให้เป็นสมาธิอยู่ที่กิจเฉพาะหน้า การเปลี่ยนความคิดเป็นเหตุให้ห้องสมองมีเวลาพักชั่วคราว ทำให้สมองมีกำลังแข็งแรงขึ้น

•  สงบใจได้แม้เมื่อตกอยู่ในอันตราย หรือประสบทุกข์ อย่าให้เสียใจหมดสติสะดุ้ง ดิ้นรนจนสิ้นปัญญาแก้ไข เกิดความท้อถอยไม่ทำอะไรต่อไป ความสงบไม่ตื่นเต้นเป็นเหตุให้เกิดปัญญาประกอบกิจให้สำเร็จได้สมหวัง เราจะแก้ไขเหตุร้ายที่เกิดขึ้นแก่เราได้นั้นก็มีทางจะทำอยู่ ๒ ขั้น

๔.๑ ต้องสงบใจมิให้ตื่นเต้น

๔.๒ ต้องมีความมานะพยายาม

 

วิธีสงบใจที่ดีที่สุด หายใจยาวและลึก

 

•  เปลี่ยนนิสัยความเคยชินของตัวจากร้ายเข้ามาหาดี การขืนใจตัวเองชั่วขณะหนึ่งอาจเป็นผลดีแก่ตัวเองตลอดชีวิต แต่การทำตามใจตัวขณะเดียวก็อาจเป็นผลถึงการทำลายชีวิตของเราได้เหมือนกัน

•  ตรวจตราตัวของตัวเป็นครั้งคราวโดยสม่ำเสมอ ให้ทราบว่ากำลังใจมั่นคงขึ้นหรือไม่ ฝ่ายกุศลเจริญขึ้นหรือไม่ ฝ่ายอกุศลลดน้อยเบาบางหมดสิ้นไปหรือไม่ ใจยังสะดุ้งดิ้นรนหวั่นไหวอยู่หรือไม่

•  ป้องกันรักษาตัวด้วยจิตตานุภาพ การสะดุ้งตกใจหรือเสียใจ ความกลัว เป็นเหตุให้เกิดโรคและโรคกำเริบ และเป็นเหตุให้คนดี ๆ ตายได้ คนไข้ถ้าใจดีหายเร็ว ความไม่กลัวตายรอดอันตรายได้มากกว่ากลัวตาย ความพยายามและอดทนเป็นเหตุให้สำเร็จสมประสงค์

 

จิตตานุภาพบังคับผู้อื่น

จิตตานุภาพอย่างอ่อน สามารถใช้สายตา น้ำเสียงและด้วยกระแสจิตประกอบคำพูด ซึ่งจะเป็นเครื่องจูงใจคนให้เชื่อฟัง ลักษณะไม่หวาดหวั่นครั่นคร้ามต่อใคร ๆ นั้นไม่ใช่ชีวิตหัวดื้อบึกบึนซึ่งไม่นับว่าเป็นจิตตานุภาพ ต้องเป็นคนสุภาพสงบเสงี่ยม เคารพนบนอบต่อบุคคลที่ควรเคารพ แต่ทว่าหัวใจของคนชนิดนั้นไม่หวาดหวั่นเกรงกลัวใคร และสามารถแสดงให้เห็นว่าตัวเป็นมนุษย์คนหนึ่งอยู่ในโลก และเป็นมนุษย์ที่รู้จักคิด รู้จักพูด รู้จักทำ

คนที่สามารถเป็นนายตนเอง ไม่ตกเป็นทาสของหัวใจคนอื่น และสามารถดึงดูดหัวใจคนเข้ามาเชื่อฟังเกรงกลัวนั้น ถ้าสังเกตให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่ามีลักษณะ ๔ ประการ

•  สายตาแข็ง มีอำนาจในตัว

•  เสียงชัดแจ่มใส

•  ท่าทางสงบเสงี่ยมและเป็นสง่า

•  รู้จักวิธีชักจูงหัวใจคนให้หันมาเข้าในคลองความคิดของตัว

พยายามอ่านหนังสือหน้าหนึ่งโดยไม่กะพริบตาเลยทำให้สายตาแข็งได้ อ่านหนังสืออย่างช้า ๆ ให้ชัดถ้อยคำทุก ๆ ตัวและให้ได้ระยะเสมอกันทำให้เสียงชัดแจ่มใส

เวลาพูด พยายามพูดให้เป็นจังหวะอย่าให้ช้าบ้างเร็วบ้างและให้ชัดถ้อยคำเสมอ ไม่ให้อ้อมแอ้มหรือกลืนคำเสียครึ่งหนึ่ง เป็นการฝึกหัดให้เสียงชัดเจนแจ่มใส

บุคคลที่มีสง่า คือคนที่บังคับร่างกายให้อยู่ในอำนาจหัวใจได้เสมอ มีท่าทางสงบเสงี่ยมเป็นสง่าไม่แสดงอาการโกรธ เกลียด กลัว รัก ขมขื่น ตกใจ สะดุ้ง เศร้าโศก ให้ปรากฏ ไม่ทำอิริยาบถเคลื่อนไหวอันใดโดยไม่จำเป็น และโดยบอกความกำกับของใจ มีหน้าตาแจ่มใส อิริยาบถสงบเสงี่ยมเป็นสง่าอยู่ทุกขณะ การเคลื่อนไหวทุกอย่างทำด้วยความหนักแน่นมั่นคง อย่าให้รวดเร็วจนเป็นการหลุกหลิก หรือผึ่งผายจนเป็นการเย่อหยิ่ง หรืออ่อนเปียกจนเป็นการเกียจคร้าน ในเวลายืนให้น้ำหนักตัวถ่วงอยู่ทั่วตัวเสมอ ไม่ให้ถ่วงแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง

รู้จักใช้วิธีชักจูงหัวใจคนให้หันเข้ามาในคลองความคิดของเรา

•  หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดมีสิ่งที่จะชักจูงให้เขาละทิ้งข้อแนะนำของเรา

•  จูงใจเขาให้หันเข้ามาในทางที่เราต้องการทุกที

 

วิธีป้องกันตัวไม่ให้จิตตานุภาพของผู้อื่นบังคับเราได้

ให้ทำมโนคติให้เห็นประหนึ่งว่า กระแสดวงจิตของเราแผ่ซ่านป้องกันอยู่รอบตัวเรา จิตตานุภาพของผู้อื่นไม่สามารถจะเข้าถึงตัวเราได้ ให้ทำเวลาเข้านอนครั้งหนึ่ง และขณะที่อยู่ใกล้บุคคลที่เราระแวงว่าเขาจะใช้จิตตานุภาพบังคับเรา

 

จิตตานุภาพบังคับเคราะห์กรรม

เครื่องมือที่จะชักนำเอาเคราะห์ดีเข้ามา คือ ความพยายามเข้มแข็งไม่ท้อถอยหนักแน่นระมัดระวัง เชื่อแน่ในความพากเพียรบากบั่นของตัว มักจะเป็นคนเคราะห์ดีอยู่เสมอ และมีคุณสมบัติอย่างอื่นอีกคือ ความมุ่งหมายและอย่าให้นึกถึงเคราะห์ร้าย ตั้งความมุ่งหมายถึงผลอันใดในชีวิตไว้เท่านั้น เพื่อให้ก้าวหน้ามุ่งตรงไปจนบรรลุสมประสงค์

ความมุ่งหมายจำต้องให้สูงไว้เสมอ เพื่อจะได้มีความพยายามอย่างสูงด้วย แต่การก้าวไปสู่ที่มุ่งหมายนั้น ต้องก้าวอย่างระมัดระวังไม่ก้าวให้ผิด “ ควรมีความปรารถนาให้สูงอยู่เสมอ แต่จะต้องระมัดระวังมิให้เดินพลาด ”

การไม่ยอมแพ้เคราะห์ร้าย เป็นเหตุให้เคราะห์ร้ายพ่ายแพ้เองเมื่อประสบเคราะห์

•  จะต้องไม่ให้ใจเสีย เชื่อมั่นในความรู้ความสามารถของตัว รวบรวมกำลังให้พรั่งพร้อม

•  ตั้งความมุ่งหมายให้ดีและตกลงแน่ว่าจะมุ่งไปทางไหน

•  ใช้ความระมัดระวังให้มากขึ้น กุมสติให้มั่น อย่างไรก็ดีจะปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ทำการต่อสู้ดังกล่าวแล้วนั้นไม่ได้เป็นอันขาด

 

 

การต่อสู้กับเคราะห์

•  จะต้องสงบใจ ไม่ตื่นเต้น ไว้ใจตัวและเชื่อแน่ว่า เรามีจิตตานุภาพเป็นเครื่องมือรวมกำลังสติปัญญาของเราให้พรั่งพร้อม เช่นเดียวกับนายเรือที่ไม่รู้จักเสียใจ รวบรวมกำลังเรือและกำลังคนให้บริบูรณ์

•  ต้องยึดที่หมายให้แน่น กล่าวคือระลึกถึงผลที่เราต้องการบรรลุนั้นให้แน่วแน่ยิ่งขึ้น เปรียบเสมือนนายเรือที่ตั้งเข็มทิศให้ตรง และให้รู้แน่ว่าจะต้องการให้เรือบ่ายเบี่ยงไปทางไหน

•  ใช้ความระมัดระวังให้มากยิ่งกว่าเมื่อก่อนจะเกิดเหตุร้ายอีกหลายเท่า และความวินิจฉัยที่ถูกต้อง ทำทางปฏิบัติของเราเหมือนอย่างหางเสือเรือ ที่จะช่วยให้เรือบ่ายเบี่ยงไปทางทิศที่ต้องการจะไป

•  ไม่สามารถจะก้าวไปข้างหน้าได้ก็อย่าถอยหลัง ให้หยุดอยู่กับที่

•  ให้รู้สึกว่าเคราะห์นั้นทำให้เราดีขึ้น เป็นครูของเรา เป็นผู้เตือนเรา เป็นผู้ลวงใจเรา อย่าเห็นว่าเคราะห์กรรมเป็นของเลว ไม่น่าปรารถนา ควรคิดว่าเป็นของดีที่ทำให้เราเข้มแข็งมั่นคงขึ้น ให้รู้สึกเสมอว่าเราเกิดมาเรียนทั้งเคราะห์ร้ายและเคราะห์ดี เคราะห์เป็นบทเรียนของเรา ที่จะทำให้เราแจ้งโลกแล้วจะได้พ้นโลก ดังนี้ จะไม่รู้จักเคราะห์ร้ายเลยในชีวิต