อุปสมานุสติ

อุปสมานุสติ คือ ให้ระลึกถึงความสงบ ได้แก่ พระนิพพาน บางคนอาจจะคิดว่าสูงเหลือเกินถึงพระนิพพานโน่น ความสงบของท่านไม่ได้แสดงไว้ จึงไม่ทราบว่าสงบละเอียดแค่ไหนจึงถึงพระนิพพาน แต่ท่านบอกว่าให้ระลึกถึงความสงบได้แก่พระนิพพาน ดังนี้

เราทั้งหลายพากันทำความสงบ ก็รู้สึกว่ามันวางจากสิ่งทั้งปวง ถ้าท่านหมายเอาตอนนี้ เราก็ถึงซึ่งพระนิพพานแล้วล่ะ อย่างไรก็ดี จะถึงหรือไม่ถึงก็แล้วแต่ ขอให้ระลึกถึงความสงบ พอระลึกถึงความสงบ ใจมันก็แน่วแน่แล้ว นั่นแหละท่านให้ระลึกถึงความสงบเช่นนั้นแหละ ถ้าระลึกถึงไม่สงบมันก็วุ่นวาย

เมื่อเราสงบแล้วแต่ไม่สงบมากถึงของท่าน เราได้สัมผัสพระนิพพานของท่านสักนิดเดียวก็พอใจแล้ว เอาเท่านั้นก่อน เพียงแต่สงบจากอารมณ์ สงบจากนิวรณ์ ๕ ได้ชั่วครั้งชั่วคราว การสงบจากนิวรณ์มันยังมีความโลภ ความโกรธ ความหลงอีก อนุสัยมันมีเยอะแยะเหลือเกินที่เราสงบนั้นเราไม่ทราบว่าเราสงบได้เพียงแค่ไหน แต่ก็ยังดี ท่านยังยกให้เรียกว่า สงบ

ระลึกเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ท่านว่าอย่างนั้น พระนิพพานคงจะสงบอย่างนี้กระมัง คือ ไม่มีความโลภ ความโกรธ ความหลงใหลขณะนั้น ไม่ใช่ขณะอื่น ในขณะที่สงบจากโลภ โกรธ หลง จึงมีความสงบเยือกเย็นไปเสียทุกอย่าง ท่านคงจะหมายเอาความสงบนั้นว่าเป็นพระนิพพาน ท่านจึงให้ระลึกเอาความสงบเป็นอารมณ์ พระนิพพานนั้นยากจะตัดสินว่าอะไรเป็นอะไร แต่เราก็เชื่อความสงบของเราว่าเราทำความสงบได้เพียงแค่นี้ แม้จะไม่ถึงความสงบของท่าน เราก็คงได้เฉียด ๆ พระนิพพาน หากสงบอยู่ได้นานก็ได้พระนิพพานนาน สงบประเดี๋ยวเดียวก็ได้พระนิพพานประเดี๋ยวเดียว พระนิพพานของท่านสงบเยือกเย็นเอาจริงๆ จัง ๆ จะคิดนึกก็เป็นเรื่องพระนิพพาน ท่านไม่คิดนึกส่งส่ายไปเพื่อกิเลสหากคิดนึกเป็นไปเพื่อความสงบสุขเท่านั้น

ธรรมดาจิตมันย่อมคิดนึกอยู่เสมอ แต่สติคอยควบคุมจิตใจให้เห็นจิตอยู่ทุกขณะ จิตก็ไม่ออกไปนอกขอบเขตอยู่ในบังคับของท่าน มันไม่เป็นเหตุให้เกิดกิเลสบาปกรรม เป็นแต่กิริยาคิดเฉย ๆ พวกเราควรให้เป็นอย่างท่านบ้าง ถึงแม้พวกเราเพียงแต่เกิดความสงบเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เอาเสียก่อน และจงรักษาความสงบนั้นไว้ให้มั่งคงถาวร แล้วเราจะเห็นของเราเอง ถ้าเราสงบได้นานก็ได้ความสงบสุขมาก คือได้พระนิพพานมากนั่นเอง ถ้าสงบได้ชั่วครู่ก็ได้พระนิพพานครู่หนึ่ง ถ้าไม่สงบเลย อันนั้นเป็นรกแล้ว นรกกับพระนิพพานมันตรงกันข้ามกัน มันเป็นเรื่องต่อสู้กันอยู่อย่างนั้น

แต่ไหนแต่ไรมา คนเราเกิดมาแล้วมีแต่วุ่นวายสารพัดอย่าง ปรุงแต่งต่าง ๆ นานานับไม่ถ้วน เมื่อเรามาทำความสงบแม้ประเดี๋ยวเดียว ก็รู้สึกว่าเย็นใจสบายใจเราก็ควรรักษาความเย็นอันนั้น ความสบายอันนั้นไว้ให้มั่นคงถาวรสืบไป จึงจะเป็นไปเพื่อความสุข ความสุขย่อมเป็นความปรารถนาของคนทั่วไป เมื่อได้ความสุขนั่นมาแล้วก็จงรักษาความสุขนั้นไว้ ของหาได้ง่ายแต่รักษาได้ยาก ความสุขนั้น ถ้าผู้จะได้ ทำประเดี่ยวประด๋าวก็ได้ ถ้าผู้ไม่ได้ ก็ไม่ได้เหมือนกันแหละ ครั้นทำได้แล้วที่จะรักษาไว้ให้ได้นานนั้นยากที่สุด เพราะอะไร เพราะกิริยาอาการทุกอย่างของเรามันกระทบกระเทือนอยู่ตลอดเวลาเป็นต้นว่า ยืน เดิน นั่ง นอน การพูด การคุย การกิน สารพัดทุกอย่าง เป็นเรื่องกระทบอายตนะทุกสิ่งทุกประการ จิตมันก็ส่งไปตามอายตนะ จึงว่ารักษาได้ยาก

ถ้าหากผู้ทำได้ชำนิชำนาญคล่องแคล่วเสียแล้ว ท่านรู้เท่ารู้เรื่อง ท่านตามรู้ตามเห็นทุกสิ่งทุกประการ มันจะมาแบบไหนก็ตามรู้เรื่องของมัน จิตส่งไปก็เป็นธรรมะจะคิดนึกก็เป็นธรรมะ มันปรุงมันแต่งก็เป็นธรรมะ ถ้ารู้เท่ารู้เรื่องมันเป็นธรรมะทั้งหมดผู้ปฏิบัติจะเห็นความดีความชั่วของตนตรงนั้นแหละ มันเป็นธรรมหรือมันเป็นโลกก็เห็นมันตรงนั้นแหละ ถ้าคิดเรื่องโลกมันก็เป็นเรื่องโลกทั้งหมด ไม่มีสติควบคุมดูแลรักษาถ้าหากมันเป็นเรื่องธรรมะแล้ว ตามรู้เหตุรู้ผลมันตลอดเวลา จะให้อยู่มันก็อยู่ ถึงคิดมันก็ไม่เกินขอบเขต จะดึงเอามาให้นิ่งสงบเวลาใดก็ได้ เปรียบเหมือนกับวัวความที่เขาเลี้ยงนั่นแหละ เขาเลี้ยงไว้ในทุ่งกว้าง ๆ ก็ตามเถิด ผู้เลี้ยงเขาขึ้นต้นไม้มองดูอยู่ทุกตัว ตัวไหนมันจะไปไหนก็เห็นอยู่ตอนเย็นก็ต้อนมาเข้าคอกแล้วก็ปิดประตูคอก เจ้าของนอนสบายไม่ต้องรักษา

นี่แหละ อุปสมานุสติ ให้ระลึกถึงความสงบได้แก่พระนิพพานเป็นอารมณ์ อารมณ์ของท่านนั้นเป็นอย่างไรก็ตามเถิด ของเราเอาเพียงแค่นี้เสียก่อน ถ้าหากว่าเป็นถึงของท่านแล้วมันจะทราบได้เอง จะไปบอกกันสอนกันก็ไม่ได้ จะไปตกต่างก็ไม่ได้ ใครเห็นใครรู้ด้วยตนเอง จะไปคิดนึกตามปริยัติตามตำรามันไม่ตรงกับความเป็นจริงหรอก เมื่อปฏิบัติเป็นไปแล้ว ไปเทียบไปวัดกับปริยัติมันจึงถูกต้องไม่ผิดสักนิดเดียว

คนปฏิบัติทั้งหลายอยากได้ขั้นอยากได้ภูมิหนักหนาอยากได้โสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี หลับตาสักประเดี๋ยวเดียวก็แลเห็นแล้ว ครั้นออกจากสมาธินั้นมากิเลสยังท่วมตัวอยู่ อะไร ๆ ทั้งหมดยังมีอยู่เท่าเดิมส่วนของท่านนั้นเมื่อเห็นแล้ว ท่านไม่เกี่ยวข้องกับกิเลสทั้งหลาย กิเลสทั้งหลายก็หมดไป ท่านกล่าวไว้ว่าโสดาบันคือผู้ตกกระแสพระนิพพาน พอมองเห็นริบหรี่แต่ไม่ถึงพระนิพพาน สกิทาคามีก็เห็นแจ้งเข้าไป เห็นใกล้เข้าไปอนาคามีก็เห็นใกล้เข้าไปอีก เห็นแจ้งชัดไปมากกว่านั้นต่อเมื่อถึงพระอรหันต์ จึงเห็นแจ้งชัดขึ้นมาตามธรรมดาความเป็นจริงว่า ธรรมะที่ทำให้เป็นพระอรหันต์อย่างนี้โดยไม่ต้องเชื่อคนอื่นและคำบอกเล่าของใคร ๆ ทั้งหมดแต่ว่าไปตรงกับคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการ

คนโดยส่วนมากอยากได้ พระโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี และพระอรหันต์ โดยนึกคิดเอาว่าถ้าละกิเลสอย่างนั้น ๆ เป็นพระโสดาบัน ละอย่างนี้ ๆ เป็นพระสกิทาคามี เป็นพระอรหันต์ อยากได้อย่างท่าน แต่เราไม่ละกิเลสอย่างท่าน เอากิเลสมาอมไว้แล้วกล่าวถึงท่านมันจะถึงท่านได้อย่าไร แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ละความอยาก สมกับโบราณท่านว่าไว้ ผู้อยากย่อมไม่ได้กิน ผู้กินอยู่ย่อมไม่อยาก

 

จาก หนังสือธรรมลีลา ฉบับที่44 กรกฎาคม 2547

โดย หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย