พระธรรมเทศนา โดยหลวงพ่อสุรศักดิ์ เขมรังสี

สำนักปฏิบัติกรรมฐาน วัดมเหยงคณ์ ต.หันตรา

อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

 

การรักษาสัจจะ

นะมัตถุ รัตตะนะตะยัสสะ ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย ขอความผาสุข ความเจริญในธรรม จงมีแก่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ต่อไปนี้จะได้ปรารภธรรมะ ตามหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการประพฤติปฏิบัติธรรม ก็ต้องอาศัยการฟังธรรมะบ่อยๆ เพื่อเป็นการปลุกจิตใจให้เกิดความศรัทธา ให้เกิดความพากเพียร ให้เกิดการเตือนจิตสะกิดใจ ที่เราตกอยู่ในความประมาท หรือว่ามีความท้อแท้ท้อถอยก็ดี การไม่พากเพียรพยายาม ไม่ใส่ใจ ในข้อวัตรปฎิบัติก็ดี การได้ฟัง ได้รับการสอน การเตือน การขนาบ ก็จะเป็นเหตุให้เราได้อยู่ในกรอบ ก็เพราะว่าการอยู่ในฐานะเป็นปุถุชน อินทรีย์บารมียังอ่อน จึงมักจะปล่อยจิตใจให้ไหลไปตามอารมณ์ ไหลไปตามกิเลส ถ้าไม่มีผู้คอยเตือนคอยขนาบ ก็ไหลไปเรื่อย เช่น การเข้าปฏิบัติจะต้องไม่พูด ไม่คุย ก็ยังมีผู้ละเมิดในระเบียบหลายต่อหลายท่าน

ในการอบรมรุ่นนี้ มีจำนวนมากที่ยังเก็บวาจาไม่ได้ แอบไปคุยกันบ้าง บางทียังไม่คล้อยสายตาพระอาจารย์ เสร็จจากสอบอารมณ์ ลงบันไดก็คุยกันแล้ว ยังนึกแปลกใจว่า ทำไมเขาจึงไม่รักษาสัจจะ แสดงว่าอินทรีย์อ่อนมาก ความตั้งใจมีน้อย เพียงข้อวัตรปฏิบัติเบื้องต้นก็ทำไม่ได้เสียแล้ว แล้วจะไปเอามรรคผลนิพพานที่ไหนได้ เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัยการได้รับการขนาบ การตักเตือน ก็เพื่อจะให้เข้ามาอยู่ในกรอบ ซึ่งอันนี้ก็ถือว่าเป็นส่วนของศีล สัจจะเป็นส่วนสำคัญในองค์มรรค ก็มีศีลอยู่ด้วย ข้อปฏิบัติที่จะให้เข้าถึงความดับทุกข์ จะต้องมีทั้งศีล สมาธิ และปัญญา

คำว่าศีล ก็คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นส่วนของศีล การรักษาสัจจะก็ถือว่าเป็นเรื่องของศีลเหมือนกัน เมื่อเรามีการสมาทาน มีการรักษาระเบียบไว้อย่างไร ถ้าเราไม่รักษา ก็ถือว่าผิดสัจจะ การผิดสัจจะก็ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ การรักษาสัจจะเป็นเรื่องสำคัญ การมีสัจจะทำให้เราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาต่างๆให้ผ่านไปได้ ผู้ที่จะประสบความสำเร็จนั้นต้องมีสัจจะ เป็นตายร้ายดีอย่างไรก็จะรักษาสัจจะเอาไว้ให้ได้

เพราะฉะนั้น ต้องเป็นคนจริง ยิ่งเป็นเรื่องของการปฏิบัติเพื่อมรรคผลนิพพานนั้น ต้องเป็นเรื่องของคนจริง คนทำจริง คนเอาจริง เป็นผู้ตรง อุชุปะฏิปันโน เป็นคุณธรรมของสงฆ์ ของอริยสงฆ์

สุปะฏิปันโน คือ เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ

อุชุปะฏิปันโน คือ เป็นผู้ปฏิบัติตรง

ญายะปะฏิปันโน คือ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์

สามีจิปะฏิปันโน คือ เป็นผู้ปฏิบัติสมควร

เป้าหมายของการปฏิบัติธรรม ก็คือความเป็นอริยบุคคล จากปุถุชนโอนชาติเป็นอริยบุคคล เราก็จะต้องสร้างคุณธรรมของความเป็นอริยะ ที่ต้องมีอุชุปะฏิปันโน คือเป็นผู้ตรง ซื่อตรงทั้งต่อหน้าและลับหลัง ต้องเป็นผู้ตรง เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแก่ธรรม การปฏิบัติ ต้องเป็นผู้มีความตรงไปตรงมา ไม่มีมารยาสาไถ ไม่มีความคดไปคดมา ต้องตรง ตรงในธรรม พูดจริง ทำจริง สิ่งอะไรที่ผิดก็ยอมรับว่า เราทำผิด สิ่งใดที่ไม่ถูกไม่ต้อง เราก็กล้าที่จะยอมรับกับความไม่ถูกไม่ต้อง ถือว่าเราก็ยังแก้ไขตัวเองได้

เพราะฉะนั้น การประพฤติปฏิบัติในระดับศีลนั้น ต้องมีพื้นฐานสิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าสงเคราะห์อยู่ในเรื่องศีล คือการเป็นผู้ตรงไปตรงมา การเป็นผู้มีสัจจะ มีระเบียบ ระเบียบนี้ก็ถือว่าเป็นส่วนของศีล ถ้าเรามีศีลก็เจริญ ศีลเป็นพื้นฐานของสมาธิ สมาธิเกิดขึ้นมาได้ง่าย ถ้าเราไม่มีอะไรให้เดือดเนื้อร้อนใจ แต่ถ้าเราทำผิด มันจะเดือดเนื้อร้อนใจ สมาธิก็เกิดขึ้นไม่ได้ เราผิดศีล จะเกิดวิปฏิสาร เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจ ความสงบก็เกิดขึ้นไม่ได้ สมาธิไม่มี ปัญญาก็ไม่เกิด การจะมีสมาธิต้องมีศีลเป็นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดมีสมาธิที่มีปัญญา

เพราะฉะนั้นที่เราปฏิบัติก็คือ ปฏิบัติ ศีล สมาธิ ปัญญา ในองค์มรรคแปด ประกอบด้วยสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบ อันนี้ก็เป็นส่วนของปัญญา เห็นรูป เห็นนาม เห็นสภาวะปรมัตถ์ แยกรูปแยกนามได้ เราปฏิบัติไป สติสัมผัสปรมัตถ์ ส่วนนี้เป็นรูป ส่วนนี้เป็นนาม แต่เวลาที่เข้าไปรู้รูปนามนั้น มันก็ไม่บอกว่าเป็นรูปหรือเป็นนาม นอกจากเรานำมาคิดทบทวนเอาเอง เวลาที่ปัญญาประจักษ์สภาวะธรรม มันก็เข้าไปรู้สิ่งธรรมชาติที่กำลังปรากฏ เกิดขึ้น ดับไป เปลี่ยนแปลงไป ส่วนที่ไม่สามารถจะรับรู้อารมณ์ได้ นั่นก็เรียกว่ารูปธรรม แต่เวลาปฏิบัติก็ไม่บอกว่าเป็นรูป เช่น กำหนดความเย็น ร้อน อ่อนแข็ง หย่อน ตึง ก็เห็นว่า มันก็สักแต่ว่า สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่เรา ของเรา

นอกจากสิ่งเหล่านี้ ก็ยังมีสภาพรู้ คือจิตใจ เป็นสภาพรู้ ก็ส่วนหนึ่ง เห็นรูป เห็นนาม รู้จักรูป รู้จักนาม เรียกชื่อไม่ถูก แต่ว่ามันไปประจักษ์ธรรมชาติ ธรรมชาติอะไรก็ไม่รู้ ปรากฏแล้วก็สลายไป หยิบยื่นมาให้รู้แล้วก็สลายไป ธรรมชาติชนิดหนึ่งเข้าไปรู้ เข้าไปรับรู้ต่างกัน แต่ถ้าเรามาฟังปริยัติ เราจึงได้เข้าใจ ที่ยื่นเข้ามาให้รู้แล้วก็สลายไป อย่างนี้เขาเรียกว่ารูป ตัวที่เข้าไปรู้เขาเรียกว่านาม การที่เราฟังปริยัติ เราจึงตอบได้ว่า คือรูปหรือนาม แต่เวลาที่ปัญญาประจักษ์อยู่กับธรรมชาตินั้น มันไม่รู้ ไม่รู้ว่าสิ่งที่เข้าไปรู้ ชื่ออะไร แต่มันเห็นว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วสลายไปอย่างหนึ่ง ยื่นให้รู้ แล้วก็มีสิ่งหนึ่งที่เข้าไปรู้ ไปรับรู้แล้วก็หมดไปด้วยกัน อย่างนี้ถือว่ามีปัญญาในระดับหนึ่ง เป็นปัญญาเบื้องต้น เป็นสัมมาทิฐิในขั้นของวิปัสสนาญาณที่หนึ่ง ที่เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณที่แยกรูปแยกนามได้ คือมันเห็นว่ามีสิ่งธรรมชาติอยู่ ต่างกันอยู่ สิ่งที่ยื่นให้รู้ดับไปก็ส่วนหนึ่ง สิ่งที่เข้าไปรู้ดับไปก็ส่วนหนึ่ง ไม่เหมือนกัน

ในชีวิต ในสภาพนี้ เช่น ความไหวในกายก็ส่วนหนึ่ง สภาพที่เข้าไปรู้ความไหว ก็อีกอันหนึ่ง มันไม่เหมือนกัน อันที่ไหวๆ ก็มีลักษณะอย่างหนึ่ง อันที่เข้าไปรู้ๆ นั้นก็อีกอันหนึ่ง มันไม่เหมือนกัน ที่ไหวๆไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร สักแต่ว่าเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป แต่ส่วนที่เข้าไปรู้ก็ดับไปเหมือนกัน แต่มันต่างกันตรงที่ว่าไหว จะไม่รู้เรื่อง แต่สภาพรู้มันรับรู้ได้ อย่างนี้เรียกว่าเห็นรูปเห็นนามแล้ว เห็นความจริงของชีวิต และก็เห็นว่าอันที่มันเคลื่อนไหวก็ดี ตึงหย่อนก็ดี เย็นร้อนก็ดี มันสักแต่ว่าเป็นธรรมชาติ จะว่าเป็นคนก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นสัตว์ก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นตัวเราก็ไม่ใช่ จะว่าของเราก็ไม่ใช่ มันคือธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ปรากฏแล้วเสื่อมสลายไป ไหวๆขึ้นมาแล้วก็สลายไป ตึงขึ้นมาแล้วก็สลาย แข็งขึ้นมาแล้วก็สลาย เย็นร้อนขึ้นมาแล้วก็สลาย มันเห็นอยู่อย่างนั้น มันเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้วก็สลายไป ดูแล้วมันไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา อย่างนี้คือปัญญาได้เกิดขึ้น วิปัสสนาญาณเบื้องต้นได้เกิดขึ้น เรียกว่า สัมมาทิฐิ

สัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบได้เกิดขึ้น แล้วพบว่า สภาพที่เข้าไปรู้ๆๆ มันมีตัวที่เข้าไปรู้ แล้วหมดไป ไหวก็ส่วนหนึ่ง ตัวที่เข้าไปรู้ไหวก็ส่วนหนึ่ง ตัวที่ไปรู้ไหวก็หมดไป พอรู้ก็หมดไป ตัวนี้มันก็ไม่ใช่เป็นตัวเรา เห็นว่ามันก็ไม่ใช่เรา จะว่าเป็นเราก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นของเราก็ไม่ใช่ จะว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคลก็ไม่ใช่ มันสักแต่ว่าเป็นธรรมชาติ ที่มีลักษณะของการเข้าไปรับรู้แล้วก็ดับไป การเห็นอย่างนี้เรียกว่า เห็นความจริง เห็นธาตุแท้ความเป็นจริงของชีวิต ซึ่งก็คือ ธรรมชาติ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์

พอเรามาฟังคำสอนของครูบาอาจารย์ คำสอนที่พระพุทธเจ้าบัญญัติเรียกชื่อไว้ว่า ความที่ไหวๆ เรียกว่า “ รูป ” ตัวที่เข้าไปรับรู้เรียกว่า “ นาม ” เราจึงเข้าใจว่า อย่างนี้ คือรูป คือนาม ทั้งๆ ที่เราเห็นความจริงแล้ว แล้วเราก็มารู้จักชื่อมัน

ปัญญาที่เข้าไปรู้ความจริง ไม่ต้องจำ ไม่ต้องไปคิดนึกอะไร อาศัยการที่มีสติเข้าไประลึกสัมผัส สิ่งที่กำลังปรากฏ กำลังไหวๆ กำลังตึง กำลังหย่อน กำลังเย็น กำลังร้อน ที่กำลังปรากฏ ที่มีการผัสสะขึ้นมา แล้วก็เข้าไปรู้ เข้าไปประจักษ์ ว่าสิ่งเหล่านี้ ก็สักแต่ว่าปรากฏหมดไป ไหวแล้วก็หมดไป แข็งแล้วก็หมดไป เคลื่อนไหวแล้วหมดไป ไม่เป็นคนเป็นสัตว์ ไม่เป็นตัวเราของเรา

นอกจากความไหว นอกจากความเย็น ความร้อน ยังมีธาตุรู้ สภาพรู้ หรือตัวรู้ หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่ มีอยู่อีกอย่างหนึ่งที่ต่างจากความไหว เข้าไปดูไปรู้ด้วย แล้วก็หมดลง ภาษาธรรมะเรียกว่า “ จิต ” ตัวที่ไปรู้นี้คือ จิต ถ้ามาจัดเป็นรูปเป็นนามแล้ว จิตก็จัดเป็น นามธรรม ส่วนความเคลื่อนไหวจัดว่าเป็น รูปธรรม สิ่งใดที่มันเกิดขึ้นไม่สามารถจะรับรู้อารมณ์ได้ก็จัดเป็น รูปธรรม สิ่งใดที่เกิดขึ้นน้อมไปหาอารมณ์ไปรับอารมณ์ได้ ก็เรียกว่าเป็น นามธรรม ฉะนั้นจิตนี้ มาจัดโดยปริยัติแล้วเป็นนาม เพราะจิตนี้เป็นธาตุที่ไปรับรู้อารมณ์ได้ ไปรู้ไหว รู้ตึง รู้แข็ง ไปรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ได้

ผู้ปฏิบัติจะประจักษ์พบว่าจิตมีธรรมชาติชนิดหนึ่งที่คอยรู้ คอยรับอารมณ์ พบว่าเป็นธรรมชาติที่รับอารมณ์แล้วหมดลงหมดลง ไม่ใช่เรา จะว่าเป็นเรา จะว่าเป็นเขา จะว่าเป็นสัตว์ จะว่าเป็นหญิงชาย ก็ไม่ใช่ สักแต่ว่าเป็นธรรมชาติ นี่คือปัญญาที่เห็นความจริงในระดับหนึ่ง เป็นสัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบ เป็นองค์มรรค เป็นข้อปฏิบัติที่จะให้เข้าถึงความดับทุกข์ เป็นองค์มรรคองค์หนึ่งในองค์มรรคแปด ที่จะต้องเจริญให้เกิดขึ้นบ่อยๆเนืองๆ องค์มรรคสัมมาทิฐิในการเข้าไปรู้จักรูปรู้จักนาม

สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ ความคิดชอบ นึกชอบ เช่น ดำริออกจากกาม ดำริออกจากการเบียดเบียน ดำริออกจากการพยาบาท ถ้าเรายังมีความพยาบาทอาฆาตมาดร้าย คอยจ้องจะเบียดเบียนเขา ก็ไปนิพพานไม่ได้ หรือยังคิดใฝ่ในเรื่องกาม ใฝ่หาในกามคุณอารมณ์อยู่ ต้องการที่จะเสพรูปสวย เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสที่น่าใคร่น่าปรารถนา อย่างนี้ก็ไปนิพพานไม่ได้ จะถึงนิพพานต้องมีสัมมาสังกัปปะ มันต้องดำริออกจากกาม คือหลุดจากความยินดีในกามคุณอารมณ์ เป็นเนกขัมมสังกัปปะ เนกขัมมะก็คือการออกจากกามคุณอารมณ์ ดำริในการออกจากการเบียดเบียน ดำริออกจากการพยาบาท เป็นองค์มรรค เป็นข้อปฏิบัติให้เข้าถึงความดับทุกข์

สัมมาสังกัปปะนี้ องค์ธรรมปรมัถต์ ได้แก่ “ วิตกเจตสิก ” ตัววิตกเจตสิกนี้ เป็นธรรมชาติเป็นเจตสิกที่ประกอบกับจิต มันจะทำหน้าที่ยกสัมปยุตตธรรมขึ้นสู่อารมณ์ คำว่าสัมปยุตตธรรม ก็หมายถึง ธรรมที่เกิดขึ้นร่วมกับจิต เวลาวิตกเกิดขึ้นในจิต มันก็มีทั้งจิตมีทั้งเจตสิกอื่นๆ เช่น มีทั้งสติ มีทั้งความเพียร มีทั้งเจตสิกหลายๆ ชนิด ตัววิตกนี้จะเป็นตัวช่วยยกธรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับเขา ให้ขึ้นสู่อารมณ์กรรมฐานไว้ อารมณ์กรรมฐานคือ รูปหรือนาม แทนที่จิตจะล่องลอยไปเรื่องอื่น ตัวนี้ก็คอยจะยกเข้ามาสู่รูปหรือนามที่กำลังปรากฎ จิตจะไหลออกไป ก็จะยกกลับเข้ามาสู่รูปสู่นามไว้ คอยมาให้ดูรูปดูนามที่กำลังปรากฏไว้ เป็นตัวยกสัมปยุตตธรรม เป็นองค์มรรคจะต้องเกิดขึ้น จะต้องมีอยู่

สัมมาสติ คือ ความระลึกชอบ เป็นองค์มรรคที่สำคัญ ถ้าขาดสัมมาสติ เป็นอันว่าหมดหวัง ไม่มีโอกาสจะดับทุกข์ได้ สติ คือ ความระลึกได้ จะต้องคอยระลึกอยู่เสมอ เป็นตัวธรรมชาติชนิดหนึ่งที่ทำหน้าที่ระลึกอยู่กับสภาวะรูปนามที่กำลังปรากฏ ตัวสติจะทำหน้าที่เข้าไประลึกรู้ ไม่เผลอ ถ้าไม่มีสติก็เผลอไป เผลอไปคิดเรื่องอื่น แต่พอมีสติก็กลับมาระลึกได้ ระลึกรูป ระลึกนาม ระลึกถึงสภาวะที่กำลังปรากฏ เรียกว่าเป็น สัมมาสติ

สัมมาวายามะ คือ ความเพียรชอบ ก็ต้องมีอยู่ ความเพียรเป็นตัวบากบั่น เป็นตัวกระตุ้น เป็นตัวที่จะต้องมุมานะไป ถ้าไม่มีความเพียรแล้วก็ประสบความสำเร็จไม่ได้ มัวแต่ท้อแท้ ท้อถอย เบื่อหน่าย ไม่พยายามพากเพียร ก็ไม่ได้ ความเพียรจะต้องเจริญขึ้น เพียรตั้งสติ เพียรละบาป เพียรระวังไม่ให้บาปเกิด เพียรให้กุศลเกิด เพียรให้กุศลเจริญขึ้น

ถ้าพูดอย่างภาวะของการปฏิบัติ ก็คือ เพียรตั้งสติ จะต้องเพียรอยู่เสมอ ต้องมีความพากเพียรพยายาม แม้ว่าบางครั้งมันท้อถอย ไม่อยากปฏิบัติก็ต้องเพียร แม้ว่ามันไม่สงบก็ต้องเพียร ต้องทำ เพียรไปเรื่อย ทั้งๆ ที่มันไม่สงบ เพียรเดินจงกรม เพียรนั่งสมาธิ เพียรตั้งสติกำหนด เพียรระลึกรู้ คู้เหยียดเคลื่อนไหว เหลียวซ้ายแลขวา เดินหน้าถอยหลัง เพียรอยู่เรื่อย ความเพียรเมื่อมีมากขึ้นๆ ก็จะเอาชนะความเกียจคร้าน ความเกียจคร้านก็จะสิ้นไป ถ้าความเพียรนั้นมีกำลังขึ้น เมื่อมาถึงจุดนั้น บุคคลนั้นก็จะสบาย เพราะว่า อยากปฏิบัติอยู่เรื่อย เพียรอยู่เรื่อย ทำอยู่เรื่อย ทุกเวลา จนกระทั่งว่าไม่อยากหลับอยากนอน เพียรปฏิบัติอยู่เสมอ “ ชาคริยานุโยค ” การหมั่น ประกอบความตื่น (ไม่เห็นแก่นอน) พอความเพียรมีมาก ความง่วงเหงาหาวนอนก็สิ้นไป พระพุทธเจ้าจึงตรัสสรรเสริญความเพียรว่า วิริเยนะ ทุกขมัตเจติ คนจะล่วงความทุกข์ได้เพราะความเพียร

สัมมาสมาธิ คือ ตั้งมั่นชอบ จิตต้องมีสัมมาสมาธิ เวลาที่กำหนดรู้สิ่งใด ก็ให้มั่นคงอยู่ในอารมณ์นั้น เวลาที่จิตสงบ จิตว่าง กายจะเบา ลมหายใจละเอียด ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความแยบคาย คือ ละเอียดละออในการสังเกต ถ้าเราดูหยาบเกินไปก็จับไม่ออก ความไหวที่ละเอียดจะมองไม่ออก ความรู้สึกละเอียดๆ ก็จะมองข้ามไปหมด ต้องใช้ความแยบคาย เหมือนเราดูอะไรดูอย่างละเอียดละออ สังเกตดูให้ละเอียด ดูซิว่ามีความไหวๆ อยู่ไหม ความกระเพื่อมไหวๆ แม้ว่าจะเป็นเพียงนิดๆหน่อยๆ ก็รับทราบ โดยเฉพาะจิตใจต้องมีความละเอียดมาก การจะเข้าไปรู้จักจิต จะต้องมีความละเอียด ดูจิตใจให้มีความละเอียด การจะดูจิตนี้ต้องให้ทวนกระแสเข้ามา กระชั้นเข้ามา หรือให้ฉุกรู้ตัวของมันเอง ให้จิตรู้สึกตัวของมันเอง ทวนกระแสเข้ามาและรู้ ไม่ใช่ขยายออกไปๆ แต่กลับทวนเข้ามาๆ แล้วก็รู้สึกตัวเอง คือสภาพรู้นั่นแหละ กลับมารู้ที่สภาพรู้ เรียกว่าจิตเข้ามารู้ที่จิต

จิตคิดนึก ก็อันหนึ่ง จิตที่เข้าไปรู้ความคิดนึก ก็อีกอันหนึ่ง เมื่อสติเกิดขึ้นมารู้ ตัวที่เข้าไปรู้ความคิดนึก เรียกว่ารู้ที่ผู้รู้ หนึ่งรู้ความคิด สองเข้าไปรู้ตัวผู้รู้ที่กำลังไปรู้ความคิด ฉะนั้นบางครั้งคนบางคนจะมีความรู้สึกว่าเรานี้มีคนสองคน ทำไมในกายมีสองคน อย่างฝรั่งที่มาอยู่ที่นี่เขาจะมีความรู้สึกว่าเขามีสองคน ก็คือว่าจิตที่กำลังคิดๆ รับรู้อะไรนี้อันหนึ่ง และก็มีจิตอีกอันหนึ่งที่มารู้ตัวที่คิดๆ อีกอันหนึ่ง แต่เมื่อไม่มีสติรู้ทันจิตอันที่สอง มันก็เลยเหมือนกับว่าเป็นคนสองคน เมื่อเห็นว่าเป็นคนสองคนไปหนักๆ เข้า เดี๋ยวมันก็จะไปยึดในสมมติ ว่ามีมนุษย์ต่างดาวมารู้จิตหรืออย่างไร แต่ที่จริง ถ้าเขาเข้าใจ เขาจะปฏิบัติไปได้ดี เพราะว่าเขาเริ่มดูจิตเป็น รู้จักจิตใจเป็น แต่ว่ายังไม่รู้ว่าจะรู้ตัวผู้รู้ได้อย่างไร เมื่อไม่รู้ว่าจะดูตัวผู้รู้ได้อย่างไร เขาก็จะหลง ทำไม่ถูกก็จะหลงในอารมณ์ได้ง่าย หลงเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นตัวเรา เป็นตัวอีกตัวหนึ่ง หลงอารมณ์ไปได้

แต่ถ้าเข้าใจแล้ว จะเห็นจิตใจ ถ้ากำหนดจิตใจได้เป็น ก็จะเห็นความเกิดดับของจิต ว่าจิตนี้เกิดดับมากมาย รวดเร็ว ความคิดดับไป ตัวที่ไปรู้ความคิดดับไป ตัวที่เข้ามารู้ตัวผู้รู้ก็ดับไป มีแต่หมดไปสิ้นไป ไม่ใช่เป็นตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา

เพราะฉะนั้น บางทีถ้าเราดูจิตใจไม่เป็นก็หลงได้ บางคนหลงว่ามีคนมาคอยดักใจเรา มารู้ใจเรา เราคิดอย่างนี้เขาก็มาโต้ตอบอย่างนี้ พอคิดอย่างนี้เขาก็มาโต้ตอบอย่างนี้ ก็คือใจของตัวเอง มันถึงรู้ใจของตัวเอง ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัตินี้ ถ้าทำไม่ดีก็หลงทางผิดเพี้ยนได้ บางคนหลงนิมิต ทำไปแล้วคอยจะเห็นเป็นนิมิต แล้วก็ชอบดู อยากดู อยากรู้นิมิตนั้นๆ ทำให้เกิดความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นจริงเป็นจัง คือ การเห็นนิมิตมันเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็นนั้นไม่ใช่ของจริง บางทีเห็นเป็นพระพุทธเจ้า คุยกันได้จับมือถือแขนได้ พระพุทธเจ้ามาเทศน์ให้ฟัง เขาก็ไม่ได้โกหก เขาเห็นจริง แต่เขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาเห็นเป็นของปลอม ใครไปบอกก็ไม่เชื่อเพราะว่าเขาเห็นอย่างนั้นจริงๆ คือไม่รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นมายา เป็นสมมติสร้างขึ้นมาจากจิต จิตสร้างมโนภาพขึ้นมาได้ อย่าว่าแต่ภาพเลย เสียงก็สร้างสมมติขึ้นมาได้ บางคนก็รู้สึกว่าทำไมมีคนมาคอยบอก ปฏิบัติไปก็จะมีคนมาบอกว่าให้ทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ มีเสียงมากระซิบบอกว่าเป็นครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้ ที่จริงแล้วเป็นเรื่องจิตของตัวเอง จิตนี้สร้างนิมิตทางหูก็ได้ เกิดเป็นเสียง ซึ่งที่จริงไม่ใช่เสียงจริง แต่ว่ามันเป็นความจำ เป็นความปรุงแต่ง

เนื่องจากอำนาจของสมาธิ จึงทำให้นิมิตเหล่านั้นชัดเจนเหมือนกับว่าเป็นจริงเป็นจัง อย่างบางคนหลับตาก็เห็น ลืมตาก็เห็น อย่างนี้ใครจะไปบอกยังไงเขาก็ไม่เชื่อ เพราะเขาเห็นอย่างนั้นจริงๆ ฉะนั้นการประพฤติปฏิบัตินั้นอย่าไปใส่ใจในเรื่องนิมิต ถ้าเราหวังการหลุดพ้น หวังความบริสุทธิ์ หวังความสิ้นกิเลส อย่าไปสนใจกับพวกนิมิต นิมิตอะไรเกิดขึ้นมา วิธีแก้คือ ดูมันที่จิต สติน้อมมาที่จิตใจตัวเอง นิมิตจะหายไป บางคนก็เห็นเป็นสีเป็นแสงเป็นดวง ให้ดูมาที่จิต สติทวนมาดูที่จิตใจ มาดูที่สภาพรู้ อย่างนี้แล้วจะไม่หลงทาง พอดูที่จิตแล้วนิมิตก็จะหายไป

หรือว่าขณะที่เราปฏิบัติมีสมาธิ กายสงบ ลมหายใจสงบ มันว่างไปหมด ไม่มีอะไร ความว่างก็เป็นสมมติอย่างหนึ่ง ให้น้อมมาดูที่จิตเหมือนกัน จิตที่กำลังไปอยู่กับความว่าง ไปดูว่าง ก็คือปรมัตถ์ ความว่างเป็นอารมณ์ จิตใจที่กำลังไปรู้ความว่างเป็นปรมัตถ์ ฉะนั้น สติต้องรู้ที่สภาพรู้ หรืออย่างน้อยก็ดูอาการในจิตที่สงบ หรือเกิดปีติ หรือสุข หรือเบิกบาน ดูอย่างนี้เรียกว่าดูปรมัตถธรรม

ฉะนั้นเมื่อสติระลึกเข้าสู่ปรมัตถ์ จิตจะทิ้งสมมติออกไป สมมติที่เป็นรูปร่างเป็นแขนขาหน้าตา เป็นความหมายว่านั่งอยู่ เขาจะทิ้งออกไป ผู้ปฏิบัติก็จะมีความรู้สึกว่า ร่างกายหายไป ตัวเราหายไปไหน แขนขาหายไปไหน ก็จะเกิดความกลัว เกิดความตกใจ พยายามไปค้นหาลืมตาขึ้นบ้าง อย่างนี้เพราะไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจทางเดินวิปัสสนา ไม่เข้าใจปรมัตถ์อารมณ์ คิดว่า ที่เป็นรูปร่างแขนขานั้นเป็นของจริง ที่จริงมันเป็นของปลอมที่จิตไปจำไว้นานแล้ว จิตเรานี้จำของปลอมมานานแล้ว ความเป็นรูปทรงสัณฐานนี้ ถือว่าเป็นของปลอมเกิดจากจิตสร้างขึ้นมา นึกขึ้นมา จำขึ้นมา เพราะฉะนั้นเมื่อจิตใจเข้าไปสู่ปรมัตถ์ มันไม่นึก ไม่คิด ไม่จำ มโนภาพแห่งความเป็นแขนขาหน้าตาจะหายไป ถ้าเราเข้าใจ เราก็ควรที่จะกำหนดอยู่กับความรู้สึก ไม่ต้องไปนึกถึงแขนขาหน้าตา มันหายไปถือว่าดีมากแล้ว มันหายไปก็ถือว่าจิตเขาทิ้งสมมติแล้ว แต่เราจะตามหาสมมติอย่างเก่าก็ไม่ก้าวหน้า ก็ติดอยู่กับสมมติ แต่คนที่ไม่เคย ใหม่ๆ จะตกใจจะกลัว แต่คนที่เคยแล้วจะรู้สึกเป็นธรรมดา เคยชินอยู่กับความรู้สึก กำหนดทีไรก็รู้แต่ความรู้สึก ไม่เห็นเป็นรูปร่างแขนขาหน้าตาอะไร แต่คนที่ไม่รู้จะกลัว เพราะฉะนั้นก็ต้องทำความเข้าใจว่า แขนขาหน้าตา รูปร่างสัณฐาน เป็นของสมมติ เป็นของปลอม เป็นมายา เป็นสิ่งที่จำไว้ เวลาสติระลึกอยู่กับปรมัตถ์จะไม่มีรูปร่าง เมื่อไม่มีรูปร่างจะดูอะไร ก็ให้ดูความรู้สึก ความรู้สึกในกายที่ยังไหวๆ หรือลมหายใจเข้าออก...รู้สึก กระเพื่อม...รู้สึก ไหว...รู้สึก เจ็บ...รู้สึก ตึง...รู้สึก และโดยเฉพาะก็คือมันมีจิต มีตัวรู้ มีสภาพรู้ มีความรู้สึกนึกคิด หรือมีความสงบ มีปีติ มีความสงสัย มีความตรึกนึก ให้ดูอยู่กับสิ่งเหล่านี้ โดยไม่ต้องหารูปร่าง ถึงจะเป็นวิปัสสนา ถึงจะเข้าสู่ปรมัถต์

เพราะฉะนั้นเมื่อสติอยู่กับปรมัตถธรรม จิตก็จะระลึกอยู่กับความรู้สึก ความรู้สึกที่กายเช่นความไหวๆ ความตึง ความสบาย ความไม่สบาย หรือระลึกอยู่กับจิตที่รู้ เช่นสภาพนึกคิดปรุงแต่ง ชอบ ไม่ชอบ สงสัย สงบ ไม่สงบ เขาจะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ดูสิ่งเหล่านี้เขาเกิดเขาดับ เขามี เขาหมดไปสิ้นไป จนเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดดับสิ้นไปๆ เสื่อมไป หมดไป ยิ่งขึ้น จึงรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ถ้าเราไปจำรูปร่างขึ้นมาอีก ก็เป็นฆนสัญญา ความจำเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็บังอนัตตา ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าฆนสัญญาคือความจำเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นตัวบังอนัตตา ความเป็นจริงของชีวิตเป็นอนัตตา คือไม่มีตัวตน ไม่เป็นตัวเป็นตนไม่เป็นสิ่งที่จะบังคับบัญชาได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องเพิกฆนสัญญาออกไป อย่าไปจำเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นแขนเป็นขา เป็นหน้าเป็นตา เป็นทรวดทรงเป็นรูปร่างสัณฐาน ต้องเพิกออกไปจากใจ ไปดูความรู้สึกย่อยๆ มีแต่ความรู้สึกในจุดต่างๆ ไม่เป็นแขนขาหน้าตา มันจึงทำลายอัตตา ความเป็นตัวตน จึงจะไปพบอนัตตา มีแต่เป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นต่างๆ ไม่เป็นตัวเป็นตน

อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง มีการเกิดขึ้น เปลี่ยนแปล แปรเปลี่ยน ที่ไม่เห็นเพราะสันตติบังไว้ สันตติ คือ ความสืบต่อกันอย่างรวดเร็ว การที่รูปแต่ละรูป นามแต่ละนาม มันเกิดแล้วดับไป อันนี้เกิดแล้วดับไป อันใหม่เกิดขึ้นแล้วดับไป อันใหม่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ถี่มาก ถี่ยิบมาก จนกระทั่งเห็นว่าเป็นอันเดียวกันหมด เห็นว่าไม่ได้ดับเลย ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลย คงที่อยู่อย่างนั้น เรียกว่า สันตติบังอนิจจังไว้ เมื่อผู้ปฏิบัติเจริญวิปัสสนา สติเข้าไประลึกต่อรูปต่อนามได้ต่อเนื่องในปัจจุบัน สติเขามีความคมกล้าขึ้น เขาจะเริ่มไปจับความขาดตอนของรูปนาม ที่มันถี่ยิบนี้ จะเริ่มเห็นความขาดตอนของมัน พอเห็นความขาดตอนมากขึ้นๆ ก็จะรู้สึกถึงความไม่เที่ยงไม่คงที่ แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เรียกว่าต้องไปเห็นสันตติขาดลง

ต้องกล่าวว่าอิริยาบถปิดบังทุกข์ อิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน บังทุกข์ไว้ ต้องเปลี่ยนกันอยู่เรื่อยเพราะว่าเป็นทุกข์ ทีนี้เวลาเราเปลี่ยน เราไม่ได้พิจารณา ก็เลยไม่เห็นทุกข์สักทีหนึ่ง เปลี่ยนไปด้วยตัณหาความอยาก อยากจะไปเสวยความสุขอีกอิริยาบถหนึ่ง ถ้าเราตั้งใจพิจารณาสักหน่อยว่า เราจะอยู่เฉยๆไม่ได้หรือเพราะอะไร ก็เพราะทุกข์บีบคั้น ก็รู้จักทุกข์ แต่นี้ก็เป็นเพียงทุกขเวทนา

ทุกขสภาวะ ก็คือ ความเกิดดับ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ถ้าเราดูเป็นรูปร่าง เป็นอิริยาบถ เราดูเป็นนั่ง เป็นยืน เป็นเดิน เป็นนอน เราก็ไม่เห็นความเกิดดับ ไม่เห็นทุกข์จริงๆ จะไปดูเป็นอิริยาบถตลอดไปไม่ได้ ดูได้เฉพาะเบื้องต้นที่นำมาทำสมาธิ เช่นดูท่าทางของกายว่ายืน ว่าเดิน ว่านั่ง นั่งท่าทางอย่างไร นอนท่าทางอย่างไร ยืนท่าทางอย่างไร เพื่อให้เกิดความสงบ ให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ต่อไปเราก็กำหนดให้ย่อยลงไปถึงความรู้สึก ไม่ต้องนึกถึง ยืน เดิน นั่ง นอน ท่าทางของกาย จึงจะไปสัมผัสทุกขสัจจะ ทุกขสภาวะคือความเกิดดับ ถ้าอยู่ที่ท่าทางเรื่อยไป ไม่เห็นความเกิดดับ ไม่ใช่ว่านั่งเปลี่ยนเป็นยืน นั่งดับไปเป็นยืนเกิดขึ้น ยืนดับไปเป็นเดิน เดินดับไปเป็นนั่ง นั่งดับไปเป็นนอน อันนี้มันไม่ใช่เกิดดับจริง เป็นเรื่องสมมติ

ความเกิดดับของรูปนามนั้นเร็วมาก ไม่ใช่เปลี่ยนอิริยาบถทีหนึ่งถึงจะดับ อย่างนี้มันไม่ใช่แล้ว ขณะนั่งอยู่เฉยๆ ก็เกิดดับอย่างรวดเร็ว ถึงจะไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวกาย สภาวะของรูปของนามนี้เกิดดับถี่มาก เพราะฉะนั้นต้องกำหนดเจาะลึกลงไปถึงสภาวะ ให้จรดสภาวะ ไม่ใช่ติดอยู่แค่รูปร่างท่าทาง ยืน เดิน นั่ง นอน เท่านั้น ต้องระลึกให้จรดสภาวะของปรมัตถธรรม

นี่ก็เป็นแนวทางของการประพฤติปฏิบัติ ที่ได้บรรยายมาก็ขอให้ฟัง และทบทวนให้เข้าใจ แล้วก็นำไปฝึกฝนอบรมประพฤติปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป ก็จะเกิดปัญญาญาณ เกิดสัมมาทิฐิ (ความเห็นชอบ) เกิดสัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) เกิดสัมมาวาจา (กล่าววาจาชอบ เว้นจากวจีทุจริตสี่) เกิดสัมมากัมมันตะ (ทำการงานชอบ เว้นจากกายทุจริตสาม) เกิดสัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ หรือเว้นจากวจีทุจริตสี่ กายทุจริตสาม) เกิดสัมมาวายามะ(ความเพียรชอบ) เกิดสัมมาสติ (ความระลึกชอบ) เกิดสัมมาสมาธิ (ความตั้งมั่นชอบ) เจริญองค์มรรคแปดนี้เรื่อยไป ดูรูปดูนามดูสภาวะเรื่อยไป จนกว่าองค์มรรค ๘ จะสมบูรณ์ เกิดพร้อมกันเป็นมรรคสมังคี จึงจะประหารอนุสัยกิเลส เข้าไปรู้แจ้งทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์ เจริญองค์มรรคได้เต็มที่ ก็จะเข้าถึงซึ่งความดับทุกข์ได้

ตามที่แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลา ก็ขอยุติไว้แต่เพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรมจงมีแก่ทุกท่าน เทอญ

 

 


 

 

คลิกดูสาระธรรมทั้งหมด