ป๊อด โมเดิร์นด็อก คนร็อคบอกเรื่องธรรม เรื่องโดย พีรภัทร โพธิสารัตนะ

เมื่อเรานึกถึงผู้ชาวยร่างเล็กที่ชื่อ ธนชัย อุชชิน

     ชั่วชณะหนึ่งเราอาจเห็นเขาโลดแล่นอยู่บนเวทีคอนเสิร์ตในฐานะป๊อด นักร้องนำวง Moderndog แต่หลังจากนั้นเขาอาจจะอธิบบายถึงข้อดีของการรู้จักตัวเองด้วยความนิ่ง ในขณะที่อีกมุมหนึ่งเขาคือสัญลักษณ์ของคนคิดนอกกรอบ

     แม้แต่ละด้านจะดูขัดแย้งกัน ทว่าเมื่อทุกด้านมารวมอยู่ในตัวผู้ชายคนนี้ ก็กลับเป็นส่วนผสมที่กลมกลืนยิ่ง ชีวิตในวันนี้ของป๊อดจึงยังคงภาพของความเป็นร็อคสตาร์ เท่าๆกับภาพของคนที่สนใจและรักในการอ่านหนังสือธรรมะ

     แต่ไม่ว่าใครจะนิยามผู้ชายคนนี้เอาไว้เช่นไร ป๊อดก็ยังคงความเป็นตัวของตัวเองไว้ไม่เคยเปลี่ยน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกรู้จักและเข้าใจเขาในมุมไหนเท่านั้น

     และเรื่องราวในบรรทัดต่อจากนี้ เขาได้เปิดใจให้เราค้นหาความเป็นป๊อด โมเดิร์นด็อก อีกครั้ง

คุณเป็นคนมีชื่อเสียง ชอบสังคมออนไลน์ ในขณะเดียวกัน ก็ชอบการอยู่กับตัวเองและสนใจธรรมะ นี่ถือเป็นการจัดสมดุลให้ชีวิตหรือเปล่า

     ใช่ ไม่ว่าอย่างไร การจัดสมดุลให้กับชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ คือไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม เราต้องคอยเฝ้าดูว่าอะไรมากไปหรือน้อยไปหรือยัง เราคงไม่สามารถอยู่ตรงกลางได้ตลอดเวลา มันจะเหวี่ยงไปซ้ายเยอะ ไม่ก็เหวี่ยงไปขวาเยอะ แต่ขอให้เราคอยสังเกตตัวเองอยู่ตลอดจนถึงตอนนี้ สิ่งที่เราเรียนรู้มาตลอดชีวิตเห็นเป็นภาพรวม ค่อนข้างชัดพอสมควร ส่วนชีวิตที่เหลือก็ดำเนินต่อไป คือความงงมันเริ่มน้อยลง และเริ่มคลี่คลายขึ้น

 

ทราบว่าคุณถามตัวเองมาตั้งแต่เด็กว่า ความสุขอยู่ที่ไหน มูลเหตุมาจากความงงที่ว่านี้หรือเปล่า

     ผมคิดว่าอาจจะเป็นเพราะตัวเองเป็นคนเซ้นสิทีป คือเป็นคนหงุดหงิดง่ายหรือเอาแต่ใจตัวเอง ในขณะเดียวกันสมัยเป็นเด็กก็เป็นคนเรียนหนังสือเก่ง สอบได้ที่ 1 ตั้งแต่อนุบาล มันทำให้เราเป็นคนยึดมั่นถือมั่นว่าเราต้องชนะ ทำให้รู้สึกว่าล้มไม่ได้ ผมเคยนอนไม่หลับตอนอยู่ ป.4 เพราะวันรุ่งขึ้นจะประกาศผลสอบ แล้ว กลัวว่าตัวเองจะไม่ได้ที่หนึ่ง มันไม่ถึงกับว่าไม่มีความสุขหรอก แต่เมื่อไรก็ตามที่มีอะไรหนักอยู่ในอก เราก็เริ่มรู้สึกแล้วว่า เราอยากจะค้นหาคำตอบเพื่อคลี่คลายมัน

 

วิธีการค้นหาคำตอบในวัยนั้นคืออะไร

     สมัยผมอยู่ ม.4 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนอยู่ใกล้ท่าพระจันทร์ ผมไปเดินเล่นแล้วเจอพวกหนังสือธรรมะ ก็เลยลองซื้อหนังสือของท่านพุทธทาสมาอ่าน เพราะจากสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเรา เห็นว่าเวลาคนที่คิดมาหรือเป็นทุกข์ เขาก็จะไปเข้าวัดสวดมนต์ไหว้พระ อะไรกันไปต่างๆ นี่คือความคิดพื้นฐาน เราก็เลยมุ่งไปทางนั้น ไม่ว่าจะเป็นหนังสือธรรมะ หนังสือประวัติโยคี ประวัติคานธี คือ หนังสือที่ออกไปทางสปปิริชวลทั้งหลาย ในความรู้สึกของเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ผมซื้อมาอ่านหมด

หนังสือประเภทนี้ช่วยได้อย่างไร

     มันก็พอได้บ้าง เพราะว่าเราก็รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่มันเหมือนเป็นการสะสม ผมอ่าน แล้วเราก็ใช้ชีวิตของเรา มีความทุกข์บ้างตอน ม.6 เพราะกลัวเอนท์ไม่ติด ซึ่งนั่นคือทุกข์ที่สุดของเด็กวัยรุ่นในประเทศไทย แล้วในตอนนั้นสำหรับผม ศัตรูตัวฉกาจที่สุดคือกังวลของตัวเอง เพราะไม่มีใครมาทำร้ายผมหรอก แต่เป็นตัวผมที่คิดทุกอย่างไปเองล่วงหน้า แต่ผมเองก็เป็นเด็กที่มีความสุขร่าเริงคนหนึ่งนะครับ กับการมีเพื่อนดีๆ กับการได้เล่นดนตรีที่ผมชอบ จนกระทั่งเริ่มทำวงโมเดิร์นด็อกและประสบความสำเร็จ ตอนนั้นเองที่ผมได้เผชิญหน้ากับทุกข์จริงๆ ด้วยความที่ผมเป็นแค่เด็กอายุ 23 คนหนึ่ง ที่ไม่รู้จะรับมือกับความคาดหวังอย่างไร รวมทั้งกลัวที่จะสูญเสียความสำเร็จไป

     ช่วงนั้นผมเกิดความกลัวขึ้นมาว่า ตัวเองจะแต่งเพลงอย่างนั้นได้อีกหรือเปล่า เพราะเราแต่งเพลงในชุดแรกด้วยสัญชาตญาณแล้วสำเร็จ แต่ผมก็ใช้ความกลัวตรงนั้นให้เป็นประโยชน์ คือเมื่อกลัวแล้วเราไม่ได้มุดหนี แต่กลับรู้สึกว่าเราต้องต่อสู้ ถ้ากลัวอะไรเราก็ไปศึกษาสิ่งนั้นเพื่อเพิ่มความมั่นใจ แล้วจะรู้ว่ามันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ผมจึงตัดสินใจออกไปศึกษาหาความรู้ในสิ่งที่เรากลัว คือเรื่องดนตรีและการเขียนเพลง ไปเรียนให้รู้เลยว่า เขามีหลักการเขียนเพลงกันอย่างไรบ้าง ตอนนั้นไปเรียนเมืองนอก ที่นิวยอร์กซิตี้คือสุดขั้วแห่งศิลปะดนตรีเลย จากนั้นพอกลับมาทำอัลบั้มสอง (ชุด คาเฟ่) เสร็จก็ตั้งใจว่าจะไปเรียนเมืองใน เพราะเราชอบอ่านหนังสือธรรมะมาตั้งแต่เด็ก แต่การอ่านหนังสือธรรมะที่ผ่านมาเป็นเหมือนเพียงทฤษฎีสอนการว่ายน้ำ ผมเลยคิดว่าการบวชนี่แหละ ที่ผมจะได้ไปว่ายน้ำในสระจริงๆ

คาดหวังอะไรกับการบวชครั้งนั้น

     คาดหวังความเข้าใจในชีวิต เข้าใจในวิถีแห่งความสุข ซึ่งผมก็ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติในวินัยอย่างเต็มที่จริงๆ แล้วด้วย ลักษณะวัดป่าที่ไป ก็เป็นวัดที่มีวิถีที่จริงจัง (วัดป่าสุนันทวนาราม จังหวัดกาญจนบุรี) ส่งเสริมให้เราได้เรียนรู้ตัวเองมาก

    แต่ด้วยกิจกรรมของพระในตอนนั้นทำให้เราต้องไปเผชิญหน้ากับภารกิจมากมาย และต้องต่อสู่กับสิ่งต่างๆ อยู่ดี ไม่ใช่ว่าเข้าไปอยู่ในวัดแล้วจะได้รับความสงบ ความเบา ความโล่งโปร่งสบายทันทีเปล่าเลย เราต้องเข้าไปต่อสู้กับกิเลสของเราอยู่ดี เช่น ต้องฉันมื้อเดียว ต้องเดินบิณฑบาตเท้าเปล่าลงจากเขา 4 กิโลเมตร หรือว่าต้องล้างส้วม โดยมีอุปกรณ์แค่สก๊อตซ์ไบรต์อันเดียว ทุกอย่างเป็นกิจกรรมที่เราต้องต่อสู้กับความรู้สึกตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ไปแล้วนอนสบาย ปลอดโปร่ง

 

สี่เดือนครึ่งนั้นทำให้อ่านหนังสือธรรมะเข้าใจมากขึ้นไหม

     บางทีก็ไปหยิบมาอ่านบ้าง แต่ท่านอาจารย์บอกว่า “พอได้แล้ว หยุดอ่านได้แล้ว มาอ่านจิต อ่านใจตัวเองดีกว่า” แล้วท่านก็ชี้ทางให้เราว่าให้หันมาดูตัวเอง ดูความเคลื่อนไหวของตัวเองดีกว่า ถ้าเรารู้จักตัวเอง เราก็จะรู้จักคนอื่น เพราะจริงๆ เราและเขาก็ไม่ต่างกัน ทุกคนก็มีความรู้สึกทุกอย่างเหมือนๆกัน มีทั้งโกรธ มีโลภ มีรัก น้อยใจ อิจฉา ครบรส

 

หนึ่งในกิจกรรมที่ได้อยู่กับตัวเองที่คุณชอบคือโยคะ ประโยชน์ของโยคะคืออะไร

     โยคะเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้สัมผัสตัวเอง เราต้องรู้จักกำหนดลมหายใจในทุกการเคลื่อนไหว เพราะฉะนั้นนั่นคือการที่เรากลับมาสัมผัสตัวเองจริงๆ ทุกมูฟเม้นท์จะมีลมหายใจกำกับอยู่ เพราะฉะนั้นโยคะคือการมีสติอยู่กับลมหายใจและการเคลื่อนไหวของตัวเอง ทำให้เราเห็นความนิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในภาวะนั้น มันอาจจะต่างจากกีฬาทั่วไป ที่มุ่งไปข้างหน้า ในขณะที่โยคะทำให้เราหันมามองตัวเอง หันมามองลมหายใจ หันมามองร่างกายที่เคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ

     ผมสังเกตตัวเองได้ชัดเจนมาก ตอนที่ผมทำท่า Head Stand หรือยืนด้วยศีรษะ แล้วผมไม่ยอมล้ม ซึ่งทำให้ต้องเกร็งมาก พยายามออกแรงแขนเต็มที่ เพราะเราไม่ได้อยู่ในจุดที่สมดุลแล้ว ในขณะที่ครูบอกว่าล้มไปเถอะล้มไป แล้วจะรู้ว่ามันไม่เจ็บอย่างที่คิด จากจุดนั้นก็เลยทำให้ผมได้เห็นอย่างชัดเจนว่าตัวเองมีความยึดติด

     เมื่อผ่านตรงนั้นมา ผมจึงไม่ค่อยกลัวที่จะล้ม รวมถึงการทำงานที่ความกลัวหลังจากชุดแรกมันค่อยๆหายไป เมื่อเราพยายามทำงานทุกชิ้นอย่างเต็มที่ และไม่ไปคาดหวังกับมัน ว่ามันจะต้องเป็นงานมาสเตอร์พีช ตอนนี้ความสำเร็จในความหมายของผมเปลี่ยนไปแล้ว มันกลายเป็นว่าเรามีความสุขและสนุกกับงาน กับกิจกรรมทุกชิ้นที่กำลังทำ ผมถือว่านั่นคือความสำเร็จแล้ว ผมเริ่มมีความสุขง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน คืออยู่กับแต่ละขณะของชีวิตจริงๆ

ถ้าเป็นเช่นนั้น ประเด็นเรื่องความสุขอยู่ที่ไหน ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไปแล้ว

     มันก็ยังเป็นประเด็นที่สำคัญ เพียงแต่เราเริ่มทำความเข้าใจแล้วว่าในการดำเนินชีวิต เราต้องคอยดูตัวเองอยู่เรื่อยๆ คือพัฒนาตัวเองให้มีสติเท่าทันอารมณ์และความคิดที่ผุดขึ้นมา หรือการเฝ้าดูลมหายใจและร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหว แล้วเราจะเริ่มเข้าใจมากขึ้น ว่าอารมณ์ความรู้สึกหรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นแค่เพียงสภาวะชั่วคราว จากนั้นความรู้สึกยึดติดแบบเดิมก็จะเบาบางลง

ภาพของป๊อดตอนอายุ 60 ที่ตัวคุณเองอยากให้เป็นคือภาพแบบไหน

     ผมตั้งใจไว้ว่า ยิ่งเราอายุเยอะขึ้นเรื่อยๆ เราควรจะมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเราน่าจะผ่านการเรียนรู้มามากขึ้น ในขณะที่ไอ้ความยึดติดความยึดมั่นถือมั่น ก็ควรจะน้อยลงไปเรื่อยๆ เราไม่ควรเป็นคนแก่ที่ยังขี้หวง ยังขี้โกรธ ยังขี้น้อยใจอยู่ ชีวิตมันควรจะสอนเรา ทำให้เราผ่อนคลายลง แล้วก็หัวเราะงายขึ้น

     ชีวิตเรามีไว้ใช้ เพียงแต่ว่าจะใช้แบบไหนเท่านั้น สำหรับผมคิดว่าเราควรใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์และมีคุณค่า โดยเราต้องสร้างคุณค่าให้กับตัวเองก่อน เหมือนกับการปั้นงานชิ้นหนึ่ง ที่เราควรปั้นตัวเองให้เป็นสิ่งที่มีความหมาย มีคุณค่า ให้เกิดการพัฒนาขึ้นในฐานะที่เป็นมนุษย์ จากนั้นจึงค่อยขยายคุณค่าออกไปสู่สายตาโลกภาพนอกอย่างสร้างสรรค์

เมื่อจิตมีอุปาทาน ยึดมั่นถือมั่น เพื่อจะถอนอุปาทาน ต้องพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

     (จากสอนคนขี้บ่น โดยพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโกแห่งวัดป่าสุนันทวนาราม)