พรหมจรรย์ในศาสนา

เรายังมีความฝังใจ  กันอยู่อย่างหนึ่งว่า คำว่า ประพฤติพรหมจรรย์ หมายถึง ออกบวชเป็นพระ ซึ่งเป็นความเข้าใจถูกเหมือนกัน....แต่แคบ

ฆราวาสบางคน คิดว่าชาตินี้ ไม่มีทาง ที่จะบำเพ็ญมงคลข้อนี้ได้

ยิ่งท่านสุภาพสตรี ก็ยิ่งน่ากลุ้ม บ่น ว่าอาภัพอับโชค เอาเลยจริง ๆ ก็มี

ทั้งนี้ เป็นเพราะความฝังใจ ตามที่ว่ามาแล้ว คือเข้าใจว่าลงได้ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว ก็ต้องครองเพศ ต่างจากชาวบ้านโกนผม โกนคิ้ว             นุ่งห่มผ้าเหลือง อย่างนี้เท่านั้น

เพื่อความแน่นอนใจ ข้าพเจ้าจะยกเอาหลักฐาน มาวางไว้ ให้ท่านผู้อ่านตรวจดูเอง

ในคัมภีร์มงคลทีปนี ซึ่งเป็นคัมภีร์อธิบายพระพุทธวจนะเรื่องมงคล ๓๘ โดยตรง ท่านอธิบายไว้ เป็นคำบาลี อย่างนี้

“พรหมจะรยัง นามาะ ทานะ เวยยาวัจจะ ปัญจะสีละ อัปปะมัญญา เมถุนะวิระติ สะทาระสันโตสะ วิริยะ อุโปสะถังคะ อริยมัคคะ
             สาสะนะวะเสนะ ทะสะวิธัง โหติ
”

แปลความว่า

“ข้อวัตร ที่เรียกว่า พรหมจรรย์นั้น มี ๑๐ อย่าง คือ

๑.     ทาน

๒.    เวยยาวัจจะ

๓.    เบญจศีล

๔.    เมตตาอัปปมัญญา

๕.    เมถุนวิรัติ

๖.     สทารสันโดษ

๗.    วิริยะ

๘.    อุโบสถ

๙.     อริยมรรค

๑๐. ศาสนา


หมายความว่า ข้อปฏิบัติ สิบข้อนี้ แต่ละข้อ เรียกว่า พรหมจรรย์”

พรหมจรรย์ ทั้งสิบนี้ ถ้าแบ่งเป็นชั้น ก็ได้ ๓ ชั้น ต่ำ กลาง สูง และให้สังเกตว่า ทุกชั้น ต้องมีศีล กับธรรม ควบกันไปเสมอ ดังต่อไปนี้ 
            (ให้ดูแผนผัง)

 

ชั้นของพรหมจรรย์

๑๐.  ศาสนา  =  ปฏิบัติธรรมทุกข้อในศาสนา

                
                ชั้นสูง

๙.  อริมรรค  =  บำเพ็ญมรรค ๘ (ไตรสิกขา)

๘. อุโบสถ  =  รักษาศีลอุโบสถ                                        

๗. วิริยะ  =  ทำความเพียร


ชั้นกลาง

๖. เมถุนวิรัติ  =  เว้นเสพเมถุน

๕. สทารสันโดษ  =  พอใจแต่ในคู่ครองของตน          

๔. อัปปมัญญา  =  แผ่เมตตา แก่สัตว์ทั่วไป

             
              ชั้นต้น

๓. เบญจศี  =  รักษาศีลห้า

๒. เวยยาวัจจะ  =  ขวนขวาย ในการทำประโยชน์   

๑. ทาน  =  การสละทรัพย์ให้คนอื่น

 

ถ้าท่านจะพิจารณา รายละเอียด ในพรหมจรรย์ ๑๐ ข้อนี้ กรุณานึกไว้เสมอว่า ความมุ่งหมาย ของการประพฤติพรหมจรรย์คือการตัดโลกีย์

            ที่ว่าตัดโลกีย์ ก็คือ ให้ตัดเยื่อใย ในทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก็คือเรื่องของ กามารมณ์

            และโปรดสังเกต ต่อไปว่า ท่านได้วางหลักปฏิบัติ ไว้สอดคล้อง กับความมุ่งหมายดังกล่าว

            ทุกชั้น จะมีการรักษาศีล และการปฏิบัติธรรม ควบกันไปเป็นระยะ ๆ ดังจะอธิบายต่อไป

 

 

 

พรหมจรรย์ชั้นต้น

พอขึ้นต้นก็คือ การถอนความห่วงใย ในพัสดุ ของนอกตัวสละให้คนอื่นไป วิธีนี้ เรียกว่า ทาน

ที่ให้ก็ไม่ใช่หมายถึง ให้จนหมดตัว แต่ให้บั่นทอน ความมัวเมา ติดพันลง ส่วนปัจจัย เครื่องจับจ่าย ดำรงชีพ ไม่ห้าม

นอกจาก ตัดจากตัว ให้ไปแล้ว ยังช่วยขวนขวาย ทำประโยชน์ ให้คนอื่นอีกด้วย ที่เรียกว่า เวยยาวัจจกรรม

ส่วนการรักษา เบญจศีล นั้น เป็นการตัดทาง ที่จะกอบโกย เอาพัสดุของโลก มาเป็นของตน ในทางมิชอบ

           ในขันนี้ ปัญหาทางกาม ยังไม่ตัดขาด เพียงแต่ ไม่ทำผิดประเวณี เช่นไปทำชู้ กับชายหญิงต้องห้าม

 

พรหมจรรย์ชั้นกลาง

คือปฏิบัติ พรหมจรรย์ชั้นต้น นั่นเอง ให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

เช่น ในด้านการเสียสละ ในชั้นต้น เพียงให้ของ ให้แรงงาน แต่มาในชั้นกลาง ให้เมตตา

การแผ่เมตตา ในชั้นนี้ เรียกว่า อัปปมัญญา คือปรารถนาให้สรรพสัตว์ มีความสุขความเจริญ ไม่เลือกหน้า ไม่ว่าผู้นั้น สัตว์นั้น จะเป็นมิตร หรือศัตรู

ส่วนทางกามารมณ์ ท่านวางไว้ ๒ ประเด็น

คือผู้ถือบวช ให้เว้นเสพเมถุนเด็ดขาด (เมถุนวิรัติ)

ส่วนผู้ครองเรือน ให้เว้นจากการร่วมหลับนอน กับหญิงอื่นแต่จะหลับนอน กับภรรยา หรือสามีของตน ก็ได้ (สทาสันโดษ)

 

พรหมจรรย์ชั้นสูง

ต้องปรารภความเพียร ซึ่งความเพียร ในชั้นนี้ หมายถึงความเพียรพยายาม ที่จะละกิเลส เช่น นั่งสมาธิ เดินจงกรม ฟังธรรมะ พิจารณาธรรมะ

รวมความว่า ต้องใช้เวลาของชีวิตแทบทั้งหมด ในการทำความเพียร เพื่อตัดกิเลส

ทางด้านกามารมณ์ ต้องตัดขาดทั้งหมด ต้องถือศีลอย่างน้อย คือศีลอุโบสถ และประการสำคัญ คือต้องบำเพ็ญมรรคแปด

ตรงมรรคแปด นี่แหละ ที่จะทำให้บรรลุ โลกุตรภูมิ

 

พรหมจรรย์รวบยอด

พรหมจรรย์ ข้อที่ ๑๐ ข้าพเจ้ามิได้จัดไว้ ในขั้นใดขั้นหนึ่ง เพราะเป็นข้อรวบยอด ท่านหมายถึง ความสำเร็จ ในอธิสิกขา ๓ แล้ว คือ

            ๑. อธิศีลสิกขา              สำเร็จศีล ชั้นยอดแล้ว

            ๒.อธิจิตตสิกขา           สำเร็จทางสมาธิ ชั้นยอดแล้ว

            ๓.อธิปัญญาสิกขา        สำเร็จ ได้ดวงปัญญา ชั้นยอดแล้ว

            หมายถึง ผู้บำเพ็ญมรรค ๘ สมบูรณ์เต็มที่แล้ว

            ความเข้าใจ ของข้าพเจ้า คิดว่า ท่านคงหมายถึง ผู้บรรลุอรหัตผล

            ผู้บรรลุขั้นนี้ ท่านเรียกว่า “กะตะพรหมจะริยัง”  หมายความว่า “พรหมจรรย์สำเร็จแล้ว”

            ที่นี้จะชี้ให้ดูแนวทางที่จะถอนตัวจากกามตามทางวินัยที่เห็นกันง่ายๆให้สังเกตดูว่าท่านมีวิธีริดรอน            
            กามารมณ์อย่างไรเฉพาะเรื่องกามอย่างเดียว

            เริ่มต้นจริง ๆ คือศีลห้า ข้อที่ ๓ ท่านห้ามทำผิด เพราะเรื่องความกำหนัดทางกาม เช่น เจ้าชู้ ฉุดคร่าอนาจาร นี่ขั้นต้นต้นจริง ๆ

                   ขอให้นึกดูง่าย ๆ ว่า สัตว์ทั้งปวง ในโลกนี้ มีความกำหนัดในทางกาม และส่วนมาก ก็ตกเป็นทาส ของความกำหนัด ที่เรียกว่า จมอยู่ในกาม             มันทำอะไร ไปตามอำเภอใจ

                 พระพุทธศาสนา เริ่มให้ข้อปฏิบัติว่า คนทุกคน จะต้องเว้นการทำความผิด เพราะความกำหนัดเสีย ไม่ได้ห้ามการเสพกามแต่ห้ามทำความผิด             ในเรื่องนี้.... ข้อห้ามนี้ คือศีลห้า ข้อที่ ๓

            แต่พอถึงขั้นรักษาศีลอุโบสถ ข้อห้ามนี้ ได้เข้มงวดขึ้นมาอีกคือห้ามเสพเมถุน เลยทีเดียว

            ที่ตัด ก็เพื่อให้ขาด จากโลกีย์

            ยิ่งไปถึง พรหมจรรย์ชั้นสูง คืออริยมรรค ยิ่งตัดละเอียดเข้าไป จนแม้แต่ ความนึกทางใจ ก็ตัด เป็นบทสุดท้าย

            พูดถึงเรื่องพรหมจรรย์แล้ว ก็ทำให้นึกถึง ข้อธรรมบางอย่าง ที่นักศึกษาธรรม ชอบคิดกระอักกระอ่วม คือเรื่องอานิสงส์ศีล ข้อที่ว่า นิพพุติง ยันติ              ที่แปลว่า ศีลเป็นเหตุ ให้บรรลุนิพพาน

            บางคนสงสัยว่า ศีลเป็นเพียง บันไดขั้นต้น ไม่น่าจะทำให้ถึงนิพพาน ต้องสมาธิ ปัญญา จึงจะถึงได้

            เสร็จแล้ว ก็หวนมาแปลงคำแปล “นิพพุติง ยันติ”  แปลว่า “ถึงความเยือกเย็น”  อย่างนี้เป็นต้น

            แต่ความจริงแล้ว ขอให้ดู ในพรหมจรรย์ ทั้ง ๑๐ ข้อนั้นท่านจะเห็นได้ว่า ศีลเป็นปัจจัยสำคัญ ในการตัด จากโลกีย์ ตั้งแต่ต้น จนตลอดเลย

            ถ้าหากจะเอาศีล เปรียบกับบันได ก็ไม่ควรเปรียบ กับขั้นบันได แต่ควรเปรียบ กับแม่บันได

            บันไดสูงเท่าไร แม่บันได ก็ต้องสูงเท่านั้น

            ปลายข้าง ของแม่บันได จดที่พื้นล่าง... อีกข้าง จดพื้นบน

            ศีลก็เหมือนกัน จำเป็น ตั้งแต่เริ่มต้น จนกระทั่งสุดเขตโลกีย์.......นี่ขอฝาก ไว้เป็นข้อคิด.